Agony Uncle * Hema

Agony Uncle * Hema

ถึงหน้าทุเรียนแล้ว ไม่ชอบกลิ่นทุเรียนเลยค่ะ ทำไงดี สาวออฟฟิศศาลาแดง

หาทางให้คนรอบตัวดีกว่ารู้ว่าคุณไม่ชอบทุเรียน ไม่ใช่ปล่อยให้เพื่อนที่ทำงานซื้อชะนีไข่ลูกละเจ็ดร้อยบาทมาลงแขกกินในแพนทรี ส่งผลให้คุณต้องเลี่ยงออกไปอ้วกในห้องน้ำราวกับสาวน้อยแพ้ท้อง หาโอกาสเนียนๆ บอกให้เขารู้ครับ อย่างน้อยคุณจะได้ตั้งรับทัน ไม่ก็พกวิกติดตัว แล้วใช้วิกป้ายจมูกทุกครั้งที่เข้าเขตอันตราย คือถ้าวิกใช้ได้กับเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพซึ่งเสียชีวิตมาแล้วสามวัน มันก็น่าจะพอกลบกลิ่นทุเรียนได้ อีกอย่างทุเรียนนี่มันเหม็นในใจด้วย ถ้าเราไม่คิดถึงมันกลิ่นจะไม่หนักหนาสาหัส (พูดยากเสียด้วยเพราะลุงชอบกินทุเรียน) หรือไม่ก็ย้ายไปฟินแลนด์จนกว่าจะหมดสิ้นเดือนกรกฎาคม

 

ทำไมประเทศนอกจึงไม่ใช้น้ำล้างก้น แต่ใช้กระดาษเช็ด มันจะสะอาดได้ยังไง วาสิตา

หลังจากค้นข้อมูลและพูดคุยกับผู้รู้ จึงมีโอกาสตอบคุณวาสิตาดังนี้ (และลุงจะพยายามเขียนถึงเรื่องการขับถ่ายให้ชวนแหวะน้อยที่สุดนะ ถ้าไงก็ขออภัยด้วย) ที่ฝรั่งไม่ล้างก้นนั้นน่าจะเป็นเพราะซีกโลกเหนืออากาศมันเย็น ถ้าคุณเคยไปเมืองนอก แล้วที่พักไม่ได้ทันสมัยอะไรมาก คือไม่มีระบบทำความร้อนชนิดทั่วถึงทุกซอกทุกมุม ยามเช้าตื่นมาแล้วจะทำธุระแล้วเจอความเย็นเจี๊ยบของทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นโถส้วม พื้นกระเบื้อง ก๊อกน้ำ ฯลฯ การที่ก้นอันบอบบางจะมาโดนน้ำเย็นๆ ชวนสะดุ้งนี่มันไม่ค่อยจะน่าพิสมัย อนึ่งการเช็ดก้นด้วยกระดาษชำระนั้นมีเทคนิคเล็กน้อย คือต้องเช็ดจากด้านหน้าไปหลัง หมั่นเช็ดไปเรื่อยๆ จนกว่ากระดาษจะไม่มีเปื้อน ว่างั้น คนที่เคยเจอความอุ่นตูดอันอลังการของส้วมไฮเทคของญี่ปุ่นจะเข้าใจดีว่าลุงกำลังพูดถึงเรื่องอะไร

ถามว่าเมืองร้อนนี่เราไม่เช็ดก้นกันหรือ คำตอบว่าในสมัยที่ยังไม่มีน้ำประปา น้ำท่าใช่ว่าจะไขมาจากก๊อกง่ายๆ เหมือนสมัยนี้ คนเมืองร้อน (เอาตัวอย่างคนไทยก่อนก็แล้วกัน) ก็เช็ดก้นนะครับ คุณอเนก นาวิกมูล กูรูด้านของเก่าและความเป็นอยู่ของคนไทยสมัยก่อน เคยบอกลุงอย่างอารมณ์ดีว่าเพิ่งจะสั่งให้คนทำ “ไม้แก้งก้น” เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานว่าคนไทยเราเคยใช้ของแบบนี้ ซักถามได้ความว่าสมัยก่อนจะมีส้วมซึม คนไทยขับถ่ายกันเรี่ยราด เสร็จแล้วไม่ล้างก้นด้วย หากใช้ไม้แก้งก้นนี้เขี่ยเศษอุจจาระให้หลุด ก่อนจะเช็ดก้นอีกทีด้วยกระดาษหรือใบไม้ตามแต่จะหาได้ คุณอเนกบอกอีกว่าสมัยก่อนเขาจะสั่งทำไม้แก้งก้นนี้ไว้ถวายพระในช่วงเข้าพรรษา ใช้ไม้ไผ่ (หาได้ง่าย) เหลาออกมายาวเท่าตะเกียบ รูปร่างแบนๆ ใช้แล้วทิ้ง  เรื่องใช้แล้วทิ้งนี่ถือว่าคนไทยยังอนามัยดีกว่าชาวโรมันโบราณซึ่งชอบนักเรื่องเรื่องส้วมหรือโรงอาบน้ำสาธารณะนี่ วิกิพีเดียพูดไว้ถึงไม้ก๊อมป์ (gompt) เป็นไม้ปลายผูกฟองน้ำแช่น้ำเกลือไว้ในโถให้ราษฎรชาวโรมันไว้ใช้เช็ดถูและล้างก้น ใช้เสร็จก็แช่โถน้ำเกลือไว้รอราษฎรโรมันท่านต่อไปหยิบมาใช้งาน (แหวะ)

หยั่งเสียงดูแล้วพบว่าฝรั่งรู้สึกตะขิดตะขวง จนเข้าขั้นขยะแขยงเรื่องการล้างก้นโดยเอามือสัมผัสโดยตรง ถือว่าการเอามือมาโดนก้นหลังถ่ายเสร็จใหม่ๆ แม้จะมีน้ำคอยราดอยู่เป็นเรื่องรับไม่ได้เลย ขณะเดียวกันคนไทยหรือชาวเมืองร้อนก็รู้สึกว่าไอ้การเช็ดก้นนี่มันก็แห้งแสบๆ ไม่น่าจะหมดจด อย่างคนมุสลิมนี่เขากำหนดให้ชำระล้างด้วยการล้างก้น (ขนาดเป็นวัฒนธรรมที่กำเนิดมาจากแดนทะเลทรายนะเนี่ย) โรงแรมไหนอยากรับแขกตะวันออกกลางห้องน้ำจะต้องมีสายชำระ ไม่งั้นจะโดนแขกโวย อดทิปแน่

ในที่สุดโลกเราก็วิวัฒน์มาถึงยุคของสายชำระซึ่งใช้งานง่าย ประหยัดกว่าโถบิเด้ต์ (bidet) ซึ่งคล้ายโถสุขภัณฑ์แต่ใช้ล้างก้นอย่างเดียว ลุงเองซึ่งพอมีโอกาสฝึกวิชาเช็ดก้นให้เกลี้ยงในช่วงเดินทางและเข้าพักในโรงแรมแบบฝรั่ง เช็ดก้นอยู่หลายวันบอกเลยว่าคิดถึงการล้างก้น คิดถึงสายชำระบ้านเราครับ

ผมเป็นผู้บริหารระดับกลาง นายใช้ให้ไปงานเลี้ยงที่เกี่ยวกับการตลาดแทนนาย เป็นงานหรูไฮโซเลยนะ นายยื่นบัตรเชิญให้แล้วบอกให้ดูเดรสโค้ดด้วย ผมพอรู้นะว่า Business Lounge หมายถึงใส่สูทผูกไท ถ้า smart casual คือไม่ต้องผูกไท แต่ว่าก็ว่าเถอะ วันๆ ผมอยู่ในโรงงาน ใส่เสื้อช้อปของบริษัท อยู่ดีๆ จะให้ไปแต่งตัวขนาดนั้น อยากรู้ว่าเราไม่ทำตามเดรสโค้ดนี่ได้ไหมครับ – วิศวกร (อนาคตไกล)

ไหนๆ ก็เรียกตนว่าเป็นคนมีอนาคตไกล ลุงว่าแต่งตัวตามเดรสโค้ดไว้ก่อนดีกว่านะคุณ

ลุงอยากให้มองงานแบบนี้ว่าเป็นงานสังคม และสิ่งใดที่เราทำนั้นคิดเสียว่าทำไปเพื่อคนอื่น ไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่งตัวก็ไม่ใช่เพื่อจะได้แต่งหล่อแล้วไปเซลฟี (ก็ได้นะถ้าคุณชอบเพราะเดี๋ยวนี้ใครๆ เขาก็ทำกันจนมันไม่ใช่เรื่องปัญญาอ่อนอีกต่อไป แต่การแต่งตัวเพื่อคนอื่นควรจะเป็นเหตุผลหลักของเราเวลาไปงาน)

ถามว่าทำไมจะต้องบังคับกะการให้แต่งตัวเวลาไปงาน คำตอบมีตั้งแต่เป็นการให้เกียรติเจ้าภาพ เป็นโอกาสพิเศษที่เราควรจะแต่เนื้อแต่ตัวให้รู้สึกพิเศษกับเขาสักวัน ไปจนถึงเหตุผลทางสุนทรียะว่าแขกเหรื่อก็เป็นเหมือนองค์ประกอบชิ้นหนึ่งซึ่งจะทำให้งานดูดีสวยงามสมศักดิ์ศรี มีคนเคยบอกว่าสังเกตงานเลี้ยงหรูๆ สิ เวลายังไม่มีแขกมากับเวลามีแขกแต่งตัวมาเต็มๆ นี่ งานสวยผิดกันจริงๆ ลุงว่าเจ้าภาพจะจัดงานอะไรทีมันเหนื่อยก็เหนื่อย ตังค์ก็เสีย แค่ขอให้เราแต่งตัวไปงานเขา มันก็ไม่ใช่เรื่องยากขนาดคอขาดบาดตายมิใช่หรือ

เว้นแต่ว่าคุณเป็นอดีตนักการเมืองระดับผู้ยิ่งใหญ่ในภูธร แล้วตอนนี้ก็มาเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลชื่อดัง ผลงานของคุณในเรื่องการผลักดันกีฬาท้องถิ่น ช่วยล้างภาพนักการเมืองภูธรคนเดิมไป (เกือบ) หมดสิ้น ถ้าคุณควอลิฟายขนาดนั้น จะแต่งชุดนักบอลไปงานที่ทุกคนใส่สูทและเสื้อนอกทุกงาน จะยืนใส่ขาสั้นเสื้อฟุตบอล (ซึ่งใส่ให้ดูดียากมากถ้าคุณไม่ใช่เบ็คแฮม) อยู่หลังแบ็คดรอปมีภาพมาลงข่าวสังคมจนเป็นซิกเนเจอร์ มันก็เป็นเรื่องของคุณแล้ว

ลุงไม่เกี่ยว

 

เรียนภาษาอังกฤษหรือภาษาจีนดีฮะ ปิ๋ว

สมัยนี้กลยุทธ์ที่ส่งเสริมให้เราหันมาทำมาค้าขายกับจีน (หรือชาติที่ไม่ใช่ชาติตะวันตก) กำลังมาแรง หลายคนคงมองว่าการเรียนภาษาจีนน่าสนใจ รู้ไว้เผื่อจะทำมาค้าขายกับเขา แต่ลุงขอเตือนว่าภาษาที่เราใช้มันมีหลายระดับ ตั้งแต่รู้ไว้พอคุยกับคนขายของ ถามทาง จีบเด็กเสิร์ฟ ไปจนถึงภาษาเขียนดีขนาดร่างจดหมายราชการได้ พูดจามีน้ำหนักเป็นหลักเป็นฐาน สนทนาที่โต๊ะอาหารก็มีการอ้างวรรคทองจากวรรณกรรมหรือภาษิตชนิดไฟแลบ ซึ่งถ้าจะเรียนกันให้ได้ขนาดนั้นคุณต้องทุ่มเทและที่สำคัญคือต้องรักภาษาและวัฒนธรรมจีนด้วย ถ้าคุณคิดว่าอินกับอะไรที่เป็นจีนอย่างสุดๆ ก็ไปให้ให้สุด แม้นั่นจะทำให้คุณกำลังละเลยภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาสากลก็ตาม

อยากจะบอกว่าบรรดานักธุรกิจจีนที่มาทำมาค้าขายเขาใช้ภาษาอังกฤษกันแล้ว ลุงเคยคุยกับเถ้าแก่คนหนึ่งเรื่องภาษาจีนตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ถามว่าเออตลาดจีนเปิดแล้ว เรียนภาษาจีนกันดีมั้ย เถ้าแก่หัวเราะแล้วบอกว่าภาษาจีนมันไม่ได้ง่ายขนาดเรียนปีสองปีแล้วใช้คล่องนะโว้ย ลื้อมีเงินลื้อจ้างล่ามเก่งๆ ดีกว่ามั้ย หรือเอาเวลามาศึกษาวิธีค้าขายให้เก่งเท่าคนจีนดีกว่า ประโยคนั้นทำให้ลุงใบ้ภาษาจีนมาจนทุกวันนี้

แต่ก็นั่นแหละ ถ้าคุณชอบภาษาจีนมากก็เรียนเถิด เพราะเรื่องภาษานี้จะเรียนให้ได้ดิบได้ดีมันต้องใจรักด้วยอย่างที่บอก

พอภาษาอังกฤษคุณดีแล้วจะเรียนภาษาจีนเป็นภาษาที่สาม เราก็ไม่ว่ากันแล้วตอนนั้น เพราะรู้มากย่อมดีกว่าเสมอ

 

*Agony Uncle หมายถึงชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป คู่กับ Agony Aunt ซึ่งเป็นฝ่ายหญิง ลุงเฮม่ามาตอบปัญหาในโลกยุคใหม่ที่เราทึกทักเอาเองว่าไร้กฎเกณฑ์ แต่ว่าถ้ามันไร้กฎเกณฑ์ขนาดนั้น เราคงอยู่ร่วมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ไม่ได้มั้ง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save