fbpx
Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา

ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ เรื่อง

Q : ลุงครับ ผมชอบใส่เสื้อลินินมาก อันนั้นพูดถึงวันธรรมดา แต่เวลาจะแต่งตัวไปงาน ใส่เชิ้ตลินินข้างในแล้วแจ็กเก็ตลินินด้วยนี่ มันจะลินินเกินไปไหม – เอ๊ดดี้

ลินิน

A : ตอบคุณเอ๊ดดี้

ก่อนอื่นขอบคุณที่ให้ความไว้วางใจลุงตอบคำถามเรื่องการแต่งตัว และที่จะตอบต่อไปนี้ไม่ใช่กฎระเบียบนะ หรือไม่ได้จะกระแหนะกระแหนใครในเรื่องเดรสโค้ด หากแค่อยากจะบอกเล่าลูกเล่นที่ควรรู้ จะได้ไม่พลาด และอาจช่วยให้คุณแต่งตัวสนุกขึ้นเท่านั้น

สำหรับลุง เสื้อผ้าลินินนี่เป็นเหมือนสวรรค์ส่งมาให้ผู้ชายอยากแต่งตัวแต่ขี้ร้อน เพราะเส้นใยที่ทอมาค่อนข้างห่างกว่าเนื้อผ้าอื่นทำให้อากาศถ่ายเทได้ดี ใส่แล้วเย็นสบาย ท่านว่าให้กัดฟันซื้อของแพงไว้ก่อน ซึ่งจะได้แก่ผ้าลินินไอร์แลนด์และฝรั่งเศส เพราะมันยิ่งเก่าก็ยิ่งสวย ส่วนของราคาถูกๆ นั้นยิ่งเก่าก็ยิ่งโทรม นอกจากสบายตัวแล้ว ผ้ายังให้ความสบายใจแก่ผู้สวมใส่โดยเฉพาะเวลาเรามองคนอื่นสวมชุดผ้าวูลยืนเหงื่อแตกพลั่กในช่วงที่ยังไม่ได้เข้าห้องแอร์

แต่บางคนก็ไม่ชอบเสื้อผ้าลินินนะ โดยเฉพาะพวกบ้านคนจีน มีเพื่อนคนหนึ่งบอกลุงว่า สมัยหนุ่มๆ ซื้อเสื้อลินินขาวมาใส่ แล้วโดนอาม่าด่าว่ามึงจะแช่งกูหรือ เอาเสื้อผ้างานศพมาใส่ทำไม…มันก็จริงของอาม่า

ตอนนี้เพื่อนเป็นผู้ใหญ่ อยากใส่อะไรก็ไม่มีอาม่ามาคอยขัดคออีกแล้ว

คุณเอ๊ดดี้เข้าใจถูกแล้ว ลินินทั้งเชิ้ตทั้งเสื้อนอก มันลินินเกินไป คือลินินนี่มีเท็กซ์เจอร์และความยับเป็นลายเซ็น เป็นหนึ่งในความเท่ของผ้าลินิน เนื้อผ้าสวยๆ ดูสบายๆ ไม่ใส่ใจสิ่งใด แต่ขณะเดียวกันความยับถ้ามากเกินไปมันก็แทบจะแยกไม่ออกจากความซกมก เสื้อนอกยับแล้วเชิ้ตข้างในซึ่งเป็นลินินยังยับอีก มันเสี่ยงต่อการยับเยินจนเกินงาม ถ้าเป็นไปได้ สวมเชิ้ตผ้าฝ้าย หรือถ้าเป็นฝ้ายปนลินินได้ยิ่งดี (เพราะจะได้รีดแล้วยังเรียบ ขณะเดียวกันก็มีเท็กซ์เจอร์กลมกลืนกับเสื้อนอกที่สวมอยู่)

เอาเป็นว่าลุงอยากให้คุณเลือกเป็นเสื้อนอกลินิน ส่วนเชิ้ตข้างในควรจะเป็นฝ้าย เลือกเนื้อผ้าของเชิ้ตที่ไม่ต้องเรียบกริบ เอาให้ดูสบายๆ อยู่กับเนื้ออยากยับของลินินแล้วดูไม่ผิดที่ผิดทาง

ถ้าจะต้องผูกไท ก็น่าจะเป็นเนคไทชนิดถัก ซึ่งดูสบายๆ มีเท็กซ์เจอร์มากกว่าเนคไทผ้าไหมแบบที่ชาวออฟฟิศเขาผูกกัน เสื้อผ้าลินินเปิดช่องให้เราเล่นกับลุคแบบสบายๆ เนคไทถัก เข็มขัดแบบถัก ลุคแบบเห็นข้อเท้าโผล่ออกมาโดยไม่สวมถุงเท้า เป็นตัวอย่างของลุคแบบสบายๆ ที่ว่า

สำหรับ accessory อย่างผ้าเช็ดหน้าเหน็บกระเป๋าเสื้อนอก หรืออย่างที่ในวงการเรียกว่า pocket square นั้น ถ้าใช้กับเสื้อนอกเนื้อวูลปกติเราจะเหน็บผ้าเช็ดหน้าเนื้อแพรๆ ให้แลบออกมาหน่อย (ผ้าเล็กๆ ผืนเดียวนี้เพิ่มความหล่อได้มหาศาล เพราะมันจะช่วยเติมสีให้ตัดกับเสื้อนอก มองมาแล้วอกไม่ตัน มีสิ่งที่เรียกว่า focus point มองมาปั๊บก็เห็นปุ๊บ (ถัดจากหน้าคุณ) และดูเป็นผู้ชายที่ใส่ใจเรื่องการแต่งตัว (ขนาดบางคนอาจมองว่าเราเป็นเกย์ไปเลย ก็แล้วแต่ความหัวโบราณของแต่ละคน) ลุงอยากให้เลือกผ้าเช็ดหน้าเนื้อฝ้าย เนื้อลินิน หรือไหมเนื้อหยาบๆ จะเข้ากับเสื้อนอกลินินที่สวมอยู่

จากคำถาม พอบอกได้ว่าคุณเอ๊ดดี้ใส่ใจเรื่องแต่งตัวพอสมควร เพราะผู้ชายทั่วไปเขาไม่มาถามกันหรอกว่าลินินทับลินินจะเป็นอะไรไหม

มีคำถามเกี่ยวกับการแต่งตัวของผู้ชายนี่ รีบตอบเลย เพราะนานๆ จะมีคนถามซักที

สนุกกับการแต่งตัวต่อไปนะครับ

Q : เมื่อคืนโกรธเพื่อนมาก ไปกินข้าวด้วยกัน ร้านดังแหละ หนูหิวมาก รออาหาร พออาหารมา เพื่อนขอถ่ายรูปอาหารก่อน เท่านั้นไม่พอมันยกจานไปอีกโต๊ะ บอกว่าแสงสวยกว่า ยกไปต่อหน้าต่อตาเลย หนูงี้ถือช้อนค้าง บอกว่าคราวหน้าไม่ต้องมาชวนกินข้าวด้วยกันอีกนะ เบื่อ ทำไงกับมันดีคะ หรือมีกติกากำหนดไหมว่าควรถ่ายรูปอาหารให้เสร็จภายในกี่นาที– สาธิฯ

ถ่ายรูปอาหาร

A : ตอบคุณสาธิฯ

หายโมโหหิวแล้วเนอะ

การรอให้เพื่อนร่วมโต๊ะถ่ายรูปอาหารเสร็จเพื่ออัพโซเชียล เป็นเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้วในสมัยนี้ ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ยกมือถือขึ้นถ่ายรูปอาหารทันทีที่มันทัชดาวน์บนพื้นโต๊ะ เรื่องนี้ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่ในกลุ่มเพื่อนทุกกลุ่มจะมีอยู่คนหนึ่งเสมอที่พิถีพิถันกับการถ่ายรูปอาหารมากกว่าชาวบ้าน มุมก้มมองดิ่งฉากดุจใช้โดรนก็ถ่ายแล้ว ถ่ายเจาะให้เห็นอาหารอย่างมุมมองของมดและแมลงสาบก็ถ่ายแล้ว ไม่เปิดแฟลชแล้วลองใช้ไฟส่อง จานตัวเองอาหารจัดมาไม่สวย เอื้อมมือมาหยิบของคนอื่นไปถ่าย อีกนัยหนึ่งคือถ่ายๆๆ จนอาหารเย็นชืด แล้วจึงจะได้กินกัน

แบบนี้นานๆ จะเจอสักคน

เป็นเพื่อนกันลุงว่าบอกกันตรงๆ ดีกว่าว่า เธอถ่ายรูปนานไปแล้ว ฉันหิว ตอนแรกคงมีโกรธบ้าง แต่ถ้าเป็นเพื่อนกันจริง เดี๋ยวก็คงหาย

คำถามของคุณตอนแรกไม่รู้จะตอบยังไงเลยนะครับ คือนึกสงสัยเหมือนกันว่ามันควรจะมีมาตรฐานเวลาสำหรับการถ่ายรูปอาหารก่อนกินหรือไม่ เท่าที่ทดลองดูกับเพื่อนฝูงในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นอาหารไทย (สำหรับช่างภาพแล้วคืออาหารที่ถ่ายรูปไม่ขึ้น สู้อาหารชาติอื่นอย่างฝรั่งหรือญี่ปุ่นไม่ได้ เมื่อถ่ายออกมาสวยยาก จึงต้องใช้เวลานานกว่าปกติ)

ลุงก็เลยลองจับเวลา หาระยะเวลามาตรฐานของการถ่ายรูปอาหารก่อนกินกัน

จากการลองจับเวลา พบว่า

15 วินาที…เรียกว่าเร็วทันใจชนิดไม่ต้องรอเลย แต่สงสารคนถ่ายรูปเพราะต้องรีบมากจนมือสั่น แถมรูปยังออกมาเน่า ไม่สวย

30 วินาที…ถือว่ายังเร็ว มีเวลาเลือกมุมอีกเท่าตัว แต่ยังไม่พอ (ใจ) อยู่ดี

45 วินาที…อย่าไปยุ่งกับมันเลย เหลือเศษ จับเวลายาก

60 วินาทีหรือหนึ่งนาทีเต็มนี่กำลังสวย มีเวลาเลือกมุม คุณเองก็อาจเตะถ่วงด้วยการจิบไวน์สวยๆ รินน้ำ หรือตักข้าวสวยให้ตัวคุณและเพื่อนตัวดี หรือเรียกหาน้ำปลาพริก (หรือพริกน้ำปลากันแน่นะ) จากน้องๆ เสร็จธุระก็คงได้ลงมือกินพอดี

แต่ใครมันจะใจดำมานั่งจับเวลาเพื่อนถ่ายรูปเนอะ อยากจะคบกันนานๆ ลุงอยากให้ถ้อยทีถ้อยอาศัย อย่าเสียเพื่อนเพราะเรื่องอาหารเลย ลืมๆ เรื่องการจำกัดเวลาในการถ่ายรูปอาหารเสียบ้าง

ขณะเดียวกันก็อย่าลืมบอกให้เพื่อนรู้ก็แล้วกันว่าฉันไม่ชอบเวลาต้องรอเธอถ่ายรูป

โมโหหิวแล้วอย่าหาว่าไม่เตือน

*Agony Uncle หมายถึงชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป ลุงเฮม่าตอบปัญหาในโลกยุคใหม่ที่เราทึกทักเอาเองว่าไร้กฎเกณฑ์ แต่ถ้าโลกมันไร้กฎเกณฑ์ขนาดนั้น เราคงอยู่ร่วมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ได้ลำบาก

** ส่งคำถามของคุณมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save