fbpx
Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา

ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ เรื่อง

Q : ถึงลุงเฮม่า

ดิฉันและเพื่อนร่วมงานในมิวเซียมศิลปะร่วมสมัยแห่งหนึ่ง  (ขอสงวนนาม) กำลังมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่ง มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ปัญหามันเกี่ยวกับการใช้อำนาจเกินขอบเขตของอำนาจหน้าที่ ยกตัวอย่าง  1) นางตัดสินใจเอาช่างภาพมาถ่ายภาพงานที่จัดแสดงทั้งที่มีการกำหนดช่างภาพไว้แล้ว โดยนี่ไม่ใช่หน้าที่ของนาง  2) ในช่วงที่มีการติดตั้งงาน ศิลปินขอร้องไม่ให้มีการเผยแพร่งานก่อนเปิดการแสดง นางก็ถ่ายภาพการติดตั้งซึ่งยังไม่เสร็จ แล้วก็อัพขึ้นไอจีส่วนตัว เพื่อนร่วมงานนางก็เอาภาพที่ว่าไปขึ้นเว็บไซต์ของมิวเซียม เป็นการละเมิดสัญญาและศิลปินก็ฉุนขาด นางแก้ตัวว่านี่มันไอจีส่วนตัวของฉัน แล้วทำเฉยซะงั้น  3) เวลาประชุม เจ้าหน้าที่บางคนไม่ยอมเข้าประชุมเพราะรำคาญที่นางพูดคนเดียวและไม่ยอมฟังคนอื่นเลย  4) นางยืมเครื่องมือดิฉันแล้วไม่ยอมคืน  5) นางตัดสินใจถอนบทความอดีตเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งออกจากแคตตาล็อกงาน ทั้งที่เป็นโอกาสในการตีพิมพ์ผลงานครั้งแรกของอดีตเพื่อนร่วมงานคนนั้น

ปล. ลูกน้องนางสองคนเพิ่งลาออกเพราะไม่อยากทนประสาทเสียกับผู้หญิงคนนี้ อีกคนกำลังหว่านใบสมัครหางานใหม่อย่างจริงจัง

เอ๋

การใช้อำนาจเกินขอบเขตของอำนาจหน้าที่

A : ตอบคุณเอ๋

เรื่องราวที่คุณเล่ามานั้นอ่านแล้วน่าเห็นใจมาก เพราะในที่ทำงานนั้นปัญหาอะไรก็ไม่กัดกร่อนหัวใจเราเท่าปัญหาคน (อาจมีเรื่องเจ้านายไม่รักอีกอย่าง แต่นั่นก็ปัญหาคนอยู่ดีหรือเปล่า) ขณะที่กำลังพลิกตำราเอชอาร์หัวแทบแตกว่าจะตอบคุณเอ๋อย่างไรดีนั้น ก็นึกถึงครั้งที่ไปดื่มเหล้าคืนหนึ่ง คืนนั้นบาร์เทนเดอร์เป็นหญิงสาวชาวเกาหลีหน้าตาสวยแต่ฟอร์มมืออาชีพมาก บาร์ของเธออยู่ที่ฮ่องกง และพอรู้ว่าเธอเคยทำงานเป็นตำรวจที่ฮ่องกง (ชนิดพาร์ทไทม์) ลุงก็รีบถามเลยว่า มีประสบการณ์อะไรตอนทำงานตำรวจที่นำมาใช้ในงานบาร์บ้าง โดยหวังว่าจะได้ฟังเรื่องบู๊ๆ แบบต้องใช้วิชายูยิตสูบิดแขนขี้เมาไม่ให้อาละวาด อะไรทำนองนั้น แต่คำตอบของเธอกลับเป็น “เรื่องกฎระเบียบและขั้นตอนค่ะ เป็นวิธีคิดแบบตำรวจเลย คือต้องให้แน่ใจก่อนว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้น หรือที่เราทำ ถูกตามกฎระเบียบและขั้นตอน คือไม่มีช่องโหว่ (ซึ่งจะทำให้เสียสำนวนคดี) จากนั้นจึงค่อยดำเนินการตามกฎหมายต่อไป…”

ไม่เคยได้ยินอะไรแบบนี้จากตำรวจไทยบ้างเลยเนอะ

ที่เล่าเรื่องนี้เพราะการไปมีเรื่องกับผู้หญิงคนนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด (จากเรื่องที่เล่ามาลุงเดาว่านางรู้ตัวดีว่าคนทั้งมิวเซียมชังนาง แต่ก็ต้องทนหน้าด้านอยู่ต่อ) ลุงอยากให้คุณคิดแบบตำรวจ คือดูให้ละเอียดก่อนว่าอะไรผิดอะไรถูก แล้วจึงค่อยลงมือ อย่างเรื่อง 1) เรื่องช่างภาพที่นางเอาเข้ามาเสียบในงานเดิมให้วุ่นวายนั้นนางน่าจะผิดเต็มประตู แต่ลุงก็ไม่แน่ใจเรื่องอำนาจหน้าที่ของนางว่ามีมากน้อยแค่ไหน  เรื่อง 2) ภาพในไอจีส่วนตัวนั้นนางก็ผิด แถมยังมาทำเป็นไม่รู้เรื่อง ทั้งที่เป็นหน้าที่ของนางที่จะต้องไปมอบช่อดอกไม้ (หรือไม่ก็แชมเปญสักลัง) ไปขอขมาศิลปินด้วยซ้ำ ส่วน 3) 4) และ 5) นั้นลุงไม่ค่อยแน่ใจ แต่เป็นข้อมูลที่ทำให้เชื่อและมั่นใจว่าผู้หญิงคนนี้นิสัยเสียมาก

เรื่องที่นางทำผิด รวบรวมข้อมูลหรือพยานหลักฐานเตรียมไว้ สักวันจะมีประโยชน์แน่นอน

มีเรื่องหนึ่งที่ลุงอยากจะบอกคุณเอ๋คือ คนแบบนี้มีในทุกที่ทำงาน ทุกซอย ในรถไฟระบบสาธารณะทุกคัน เรื่องของเรื่องก็คือคนเรามักคิดอะไรเหมือนๆ กัน คือเราต่างเกลียดนางเหมือนกัน เพียงแต่เขาไม่ได้พูดออกมา ลุงเข้าใจว่าตอนนี้อีกหลายคนที่มิวเซียมก็กำลังเอือมกับผู้หญิงคนนี้ คิดเหมือนที่คุณกำลังคิดว่าเมื่อไหร่มันจะไปตกนรกหมกไหม้ซะที (หรืออย่างน้อยก็ออกจากมิวเซียมแห่งนี้ไปโดยไม่หวนคืนกลับมา) แต่คนอย่างผู้หญิงคนนี้มักจะอยู่ที่ไหนไม่ได้นาน (ยกเว้นเขาเป็นเจ้าของมิวเซียมเอง ซึ่งคงจะไม่ใช่) สิ่งที่แนะนำได้อย่างสมเหตุสมผลคือ คุณเอ๋ใจเย็นๆ นะครับ สักวันธรณีจะเปิดออกแล้วสูบร่างของผู้หญิงคนนี้ลงไปใช้เวรใช้กรรมในขุมนรกเอง เพียงแต่เราไม่รู้ว่าเวลานั้นจะมาถึงเมื่อไหร่เท่านั้น

เพราะไม่มีอะไรอยู่ค้ำฟ้า บิตช์ในออฟฟิศก็เช่นกัน

ระหว่างนี้อย่าลืมไปทวงอุปกรณ์คุณคืนด้วยล่ะ

Q : นี่ลุง ผมถามไรหน่อย เรายืนฉี่อยู่ในห้องน้ำสาธารณะแล้วเผลอตดออกมา (ไม่มีเสียงนะ) มันเสียมารยาทมั้ย แล้วจำเป็นต้องทำอะไรเปล่า ชัย

** ขออภัยที่ลุงทำเมลของคุณหาย (คอมพ์ฯ ล่มน่ะครับ กู้อะไรไม่ได้สักอย่าง) จำได้แต่เนื้อความที่คุณถาม ชื่อคุณลุงก็ลืม ต้องขออภัยอีกครั้ง

ห้องน้ำสาธารณะแล้วเผลอตดออกมา

A : ตอบคุณชัย

ห้องน้ำสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องน้ำชายเป็นสถานที่ซึ่งกิจกรรมดำเนินไปอย่างราบรื่นโดยต้องมีกฎเกณฑ์อะไรบางอย่าง ยกตัวอย่าง ถ้าทำได้ให้เลือกโถฉี่ที่ไม่ติดกับโถซึ่งมีคนกำลังใช้ หรือไม่ส่งเสียงดังอึกทึกในห้องแคบๆ เสียงก้องๆ อย่างห้องน้ำ หรือใช้ห้องน้ำแล้วกดชำระตามทุกครั้ง อันนี้เป็นกฎสามัญระดับเด็กชั้นประถม

ส่วนเรื่องการตด ซึ่งเกิดจากการที่แก๊สจากลำไส้ใหญ่ของเราต้องระบายออกมาทางทวารจนเกิดเสียงและกลิ่นนั้น ก็มีโพรโตคอลของมันเช่นกัน เช่น ถ้าคุณปวดตดแต่มีคนอื่นอยู่ในห้อง ให้อ้างโน่นอ้างนี้แล้วเลี่ยงออกมาตดข้างนอก หรือถ้าอยู่ในลิฟต์แล้วตดก็จงทำเฉยเสีย ไม่ต้องยกมือบอกชาวบ้านว่าผมตดเองครับ หรือถ้าอยู่กับใครสองต่อสองแล้วคุณตดมีเสียง ก็กล่าวขอโทษ รู้จักกันก็ขอโทษ ไม่รู้จักกันก็ขอโทษ ทั้งสองกรณีถ้าตามด้วยเสียงหัวเราะแบบอารมณ์ดีแก้เขิน ก็จะดีไม่น้อย

การขอโทษเป็นเรื่องน่ารัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยนี้ที่เราขอโทษกันไม่ค่อยจะเป็น การขอโทษเป็นเรื่องน่ารักแต่ก็อาจจะรุ่มร่ามได้เพราะว่าบางเรื่องยิ่งขอโทษจะยิ่งไปกันใหญ่

การตดไม่มีเสียงในพื้นที่ซึ่งมีคนมากกว่าหนึ่งคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องน้ำซึ่งอากาศไม่บริสุทธิ์อยู่แล้ว ลุงแนะนำให้ทำเฉยเสีย เพราะ  1) เราอยู่ในห้องน้ำไม่นาน เดี๋ยวก็แยกย้ายกันแล้ว  2) การขอโทษกลิ่นตดในห้องน้ำโดยที่ตดก็ไม่มีเสียง มันเป็นเหตุการณ์ที่ซับซ้อนเกินกว่ามนุษย์ที่ไม่เคยรู้จักกันจะมานั่งอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น  3) เข้าใจว่าคุณตดขณะกำลังยืนฉี่ อันนี้คิดให้หนักเลยเพราะท่านว่าบุรุษไม่ควรเอ่ยคำสนทนากับบุรุษอีกคนซึ่งตนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน โดยมือของบุรุษทั้งสองต่างกุมไอ้จ้อนของตนอยู่ในมือ

จบข่าว

*Agony Uncle หมายถึงชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป ลุงเฮม่าตอบปัญหาในโลกยุคใหม่ที่เราทึกทักเอาเองไว้ไร้กฎเกณฑ์ แต่ถ้าโลกมันไร้กฎเกณฑ์ขนาดนั้น เราคงอยู่ร่วมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ได้ลำบาก

** ส่งคำถามของคุณมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save