fbpx
Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา

ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ เรื่อง

 

Q : ลุงคะ ผู้ชายไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มอาชีพ ทหาร ตำรวจ วิศวกร มีอัตตาสูงมาก และน้อยคนที่จะมีความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศสภาพ ทำให้ทำงานด้วยยากมาก การใช้  feminine power ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการทำงาน แต่ถ้าเอาจริงๆ แล้ว มันไม่ถูกต้องหรอก ในสายตาของเฟมินิสต์

ลุงมีคำแนะนำว่าจะทำงานกับคนเหล่านี้อย่างไรให้ราบรื่นได้ผลสำเร็จดีคะ

อย่าเอ่ยชื่อหนูนะคะ ไม่อยากมีปัญหา

หนู

 

A : ตอบคุณหนู

ฟังดูเหมือนงานของหนูจะแมนมาก และต้องทำงานกับผู้ชายซึ่งอัดแน่นด้วยอัตตา ชนิดไม่ฟังใครและทำท่าว่าไม่อยากฟังด้วย คือไม่ให้เกียรติหรือมองไม่เห็นหัวคนด้วยกันนั่นเอง (โดยไม่คำนึงถึงเพศสภาพ แต่ถ้าเป็นลุงโบราณๆ ผู้หญิงที่ทำงานด้วยก็จะโดนเยอะหน่อย) ขณะเดียวกันดูเหมือนหนูจะรู้จักการใช้สิ่งที่หนูเรียกว่า feminine power เป็นอย่างดี ตามที่ลุงเข้าใจมันก็คือ “การใช้ความเป็นผู้หญิงให้เป็นอำนาจ” ลุงเห็นผู้หญิงใช้เครื่องมือที่ว่านี้คลึงอัตตาผู้ชายให้เชื่อง จนพูดจากันพอรู้เรื่อง โดยคลึงอัตตาชายอย่างมีสติทุกวันในทุกวงการ เพื่อแก้ปัญหาให้ลุล่วง ลุงเห็นผู้หญิงเหล่านี้วางตัวดี มีทั้งเสน่ห์และความแสบ (ซึ่งคงจะเหนื่อยพิลึก กลับถึงบ้านคงอยากนอนเฉยๆ) ลุงว่าผู้หญิงเขาคงฝึกปรือการใช้อำนาจแบบเนียนๆ อย่างนี้มาในระบบ เพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต

คืองานที่ทำมันก็หนักหนาพออยู่แล้ว ไหนจะต้องดีลกับอีโก้ผู้ชาย ทำงานก็ยากเพราะเจอแต่อีโก้ แล้วนี่ยังต้องมาแคร์ “สายตาของเฟมินิสต์” อีกหรือ

ลุงว่าใช้ feminine power หรือวิธีการใดๆ ก็ตามที่มันได้ผลไปก่อนเถอะครับ

คือบ้านเรามันเป็นสังคมอำนาจนิยม แผ่นดินซึ่งคนบ้าอำนาจอยู่ได้อย่างชิลๆ แล้วอำนาจนี่ก็คือปุ๋ยอย่างดีของอีโก้ อยากให้หนูใช้ feminine power ไปก่อนเนอะ ถือหลัก “แมวสีอะไรไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ” (วาทะของเติ้งเสี่ยวผิงเมื่อจะเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจีน) ส่วนในเรื่องของ “สายตาของเฟมินิสต์” นั้น ขอให้ถือคติของฌอง เจอเนต์ นักเขียนบทละครชาวฝรั่งเศส ซึ่งกล่าวว่า “ในความมืด แมวทุกตัวล้วนสีดำ”

ใช้อำนาจของหนูไปก่อนนะครับ จนกว่าบ้านเมืองจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อไหร่

 

Q : ได้ยินว่าเวลาชนแก้ว เขาไม่ให้ชนกันจริงๆ (เพราะแก้วดีๆ มันแพง) เห็นลุงตอบเรื่องชนแก้วคราวที่แล้ว เลยขอถามต่อว่า เขาให้ชนจริงๆ หรือเปล่า – (ไม่ได้ลงชื่อ)

 

A : ตอบนะครับ

ขออภัยที่คราวก่อนตอบไม่ละเอียด เพราะมัวไปสนใจเรื่องการประสานสายตาของคุณคนที่ถามกับหญิงสาวต่างชาติคนนั้น

จะตอบเป็นข้อๆ ให้อ่านกันง่ายๆ เลยนะ

1. เวลามีคนชวนชนแก้ว มันอยู่ที่อินเนอร์ของเรามากกว่าอยู่ที่เหล้าในแก้ว คือถึงเขาเติมเหล้าให้เราไม่ทัน แต่ได้เวลาอวยพร คุณก็ชูแก้วยินดีกับเขาไปทั้งแก้วเปล่าๆ นั่นแหละ หรือถ้าคุณไม่ดื่มเหล้า จะดื่มอะไรที่ไม่เมาก็คงไม่มีใครว่า (แต่คงโดนเหล่นิดหน่อย)

2. คราวนี้ก็มาถึงเรื่องที่คุณถาม เสียงกิ๊ง! เวลาชนแก้วตามคติโบราณท่านว่ามันช่วยขับไล่ผีร้าย การตัดสินใจว่าจะชนจริงหรือไม่ชนจริงนี่ ก) ดูที่แก้วเลยครับ ถ้าเป็นของดีมีราคา เป็นแก้วคริสตัลใบละอย่างน้อยก็หลายร้อยบาท ทำท่าชนก็พอ ถ้าเป็นแก้วถึกๆ ตามร้านเหล้าก็…เอ้า…ชน! ข) ดูที่ความสนิทสนมของคนในวง ถ้าเป็นวิญญูชน รู้จักกาลเทศะ รู้จักยั้งมือ แม้จะใช้แก้วราคาแพงก็…เอ้า…ชน! ค) ถ้าคุณมีเงินพร้อมจ่ายชดใช้ค่าแก้วคริสตัล (ราคาน่าจะเริ่มต้นที่ใบละห้าร้อยบาท ไม่รวมมูลค่าทางจิตใจของเจ้าของแก้ว) และพร้อมจะยอมให้เศษแก้วบาดมือเลือดสาดจนหายเมาก็…เอ้า…ชน!

สรุปว่าชนแต่เบาๆ ถ้าแน่ใจ หรือถ้าไม่มั่นก็จงออกแต่ท่าเฉยๆ

3. การชนแก้วเป็นธรรมเนียมโบราณ (นึกถึงฉากเชือดเฉือนหักเหลี่ยมในหนังอย่าง Game of Thrones) ในสมัยที่เหล่าเจ้าขุนมูลนายและนักรบต่างพรรคต่างพวกมาเจอกันแล้วดื่มในงานชุมนุม เขาจึงบังคับให้คุณต้องเทไวน์ในแก้วคุณใส่ในแก้วของอีกคนและเทไวน์ของเขาใส่ในแก้วคุณเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่มีการวางยาพิษกันแน่ ธรรมเนียมนี้ต่อมาก็พัฒนาเป็นการชนแก้ว

 

Q : ลุงๆ เห็นชอบสอนให้แต่งตัวไปงานให้ตรงกับเดรสโค้ด ผมไปงานหนึ่งมาเป็นงานใหญ่ ก่อนไปเห็นในบัตรเชิญเขาระบุว่า black tie ก็ไปวิ่งหาของมาจนครบนะ เสื้อนอกสีดำปกกำมะหยี่ กางเกงดำเข้าชุด โบว์ไทดำ เชิ้ตขาวซ่อนกระดุมไว้ในสาบเสื้อ ขัดรองเท้าดำมันปลาบ (ขี้เกียจไปหาซื้อรองเท้าหนังแก้ว) อย่างหล่อ … พอไปงานแล้วไงรู้มั้ย ผู้ชายมีใส่ทักซ์อยู่ไม่ถึงห้าคน นอกนั้นใส่เสื้อนอก บางคนไม่ผูกไทอีกต่างหาก ผู้หญิงที่ว่าต้องเป็นชุดราตรีก็ก้ำๆ กึ่งๆ ผมงี้อายมาก แต่เราควรจะอายมั้ย คือเรื่องมันแล้วไปแล้ว แต่ผมก็ยังสงสัยอยู่ดี

หลานรัก

 

 

A : ตอบหลานรัก

ก่อนอื่นอย่าอายเลยครับ เพราะเราทำถูก แต่ก็ไม่ต้องไปกะเกณฑ์ให้คนอื่นเขาทำเหมือนเรา คือไปถึงงานแล้วก็ต้องเลยตามเลย ควรทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้ารู้สึกอัดอั้นตันใจมากก็อาจบ่นนิดหน่อยเรื่องแต่งตัวมาเต็ม (แต่เก้อเพราะไม่มีใครแต่งมาเลย) บ่นเบาๆ กับคนที่สนิทๆ สักคนสองคนก็พอ ไม่ต้องเที่ยวบอกคนทั้งงานเหมือนกลัวเขาไม่รู้ว่าคุณแต่งตัวมาถูก

ฝรั่งที่เป็นมนุษย์เจ้าธรรมเนียมรวมทั้งผู้ชายสายแต่งตัวเขามีคติเกี่ยวกับการแต่งตัวไปงานว่า “ถ้าไม่แน่ใจ ให้เล่นใหญ่ไว้ก่อน” เพราะการแต่งตัวไปออกสังคมนี่ โดยหลักการคือแต่งเพื่อคนอื่น ให้เจ้าภาพ ไม่ได้แต่งเพื่อตัวคุณเองนะครับ ที่เขาแต่งตัวกันเต็มที่อย่างที่เราเห็นในข่าว (หรือพรมดงพรมแดงอะไรนั่น) ก็เป็นการแต่งตัวเพื่อเจ้าภาพและเพื่องานทั้งนั้น

เมื่อออกจากงาน กลับบ้านไปก็ไม่ต้องลงฟีดลำเลิกเรื่องตัวเองแต่งถูกแต่คนอื่นไม่ยอมแต่ง เพราะเราแต่งก็เพื่อเจ้าภาพ และเขาจะจำได้ว่าคุณอุตส่าห์ให้เกียรติในงานของเขา เขาจะประทับใจโดยคุณไม่จำเป็นต้องมาถึงงานในรถคันโต หรือใช้มือถือเครื่องละแสน หรือพูดจาอย่างคนบุญหนักศักดิ์ใหญ่ (แต่น่าเบื่อ)

เราทำถูก ขอให้พอใจในความถูกต้องของเรา

แค่นั้นพอ

 

*Agony Uncle หมายถึงชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป ลุงเฮม่ามาตอบปัญหาในโลกยุคใหม่ที่เราทึกทักเอาเองว่าไร้กฎเกณฑ์ แต่ว่าถ้ามันไร้กฎเกณฑ์ขนาดนั้น เราคงอยู่ร่วมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ไม่ได้มั้ง

** ส่งคำถามของคุณมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save