fbpx

ประชากรญี่ปุ่น เด็กเกิดน้อย คนแก่เยอะ

ภาพปกจาก YOSHIKAZU TSUNO/AFP

ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับสองปัญหาใหญ่ด้านประชากร คือประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างมาก กลายเป็น ‘สังคมสูงวัย’ (高齢化社会) มิหนำซ้ำยังเข้าสู่ยุคสมัยที่ ‘ประชากรมีอายุเกิน 100 ปี’(人生百年時代)เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย ในปี 1963 ทั่วประเทศมีผู้อายุเกิน 100 ปี เพียง 153 คนเท่านั้น แต่ละเมืองจะฉลองวันเกิด มอบโล่ มอบของขวัญให้ผู้สูงอายุท่านนั้นๆ อย่างเอิกเกริก ต่อมาในปี 1998 ก็เริ่มไม่ตื่นเต้นกันแล้ว เพราะว่ามีผู้สูงอายุเกิน 100 ปีเพิ่มขึ้นเกิน 10,000 คนแล้ว และเมื่อเข้าสู่ศตวรรษ 21 ก็ยิ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและกำลังจะแตะ 100,000 คนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ กำลังเป็นภาระหนักในอนาคตของคนวัยทำงานในวันนี้

อัตราประชากรสูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2020 มีผู้สูงวัย 28.6% คาดว่าในปี 2065 จะเพิ่มขึ้นเป็น 38.4% หรืออีกนัยหนึ่ง มีประชากรสูงวัยถึง 40% ทีเดียว โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่สมดุล ขณะที่เด็กเกิดใหม่ลดฮวบลง ดังนั้นภาระหนักด้านภาษีเพื่อนำมาจ่ายเบี้ยบำนาญ ค่ารักษาพยาบาล ในระบบประกันสังคมให้แก่ผู้สูงวัย  จึงตกอยู่ที่คนวัยทำงานอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในปี 1970 คนสูงวัย 1 คน เป็นภาระให้คนทำงาน 9.8 คน แต่ในปี 2020 คน 2.1 คนต้องช่วยกันเลี้ยงดูคนชรา 1 คน และคาดว่าในปี 2065 จะตกเป็นภาระหนักให้คนทำงาน 1.3 คน หรือเกือบจะเป็นอัตรา 1:1 ทีเดียว

ในอีก 40 ปีข้างหน้า หากอัตราการเกิดยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น หมายความว่าเด็กที่เกิดในวันนี้มีภาระหนักขึ้น ต้องเลี้ยงดูคนสูงวัยหนึ่งคนในอนาคตนั่นเอง เมื่อถึงวันนั้นระบบประกันสังคมจะยังมีอยู่ให้เด็กในวันนี้ได้พึ่งพิงในยามที่ตัวเองแก่ชราลงได้อีกหรือไม่? เป็นคำถามที่น่าตกใจทีเดียว

ส่วนอีกด้านคือมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างมาก ตามสถิติของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นระหว่างปี 1947-1949 เป็นช่วงเบบี้บูมยุคแรกของญี่ปุ่น มีเด็กเกิดใหม่ปีละประมาณ 2.7 ล้านคนติดต่อกัน หลังจากนั้นค่อยๆ ลดจำนวนลงจนต่ำกว่าสองล้านคนช่วงปี 1971-1974 เป็นเบบี้บูมยุคที่สอง จึงกลับมาแตะสองล้านคนอีกครั้ง หลังจากนั้นแล้วก็มีแต่ลดลงๆ ถึงปี 2022 ทำสถิติต่ำสุด เด็กเกิดใหม่เพียง 799,728 คน นับเป็นตัวเลขที่สร้างความวิตกกังวลใจแก่รัฐบาลญี่ปุ่นอย่างมาก  เพราะเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าแปดแสนคน ซึ่งมาถึงเร็วกว่าที่คาดไว้เกือบสิบปี

อัตราการเจริญพันธุ์ (合計特殊出生率  TFR) จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่หญิงวัย 15-49 ปี จะให้กำเนิดบุตรได้ในช่วงเบบี้บูมคิดเป็น 4% แต่ในปีที่ผ่านมา ลดลงต่ำกว่า 1.3% มีการคาดการณ์กันว่าหากยังเป็นอยู่อย่างนี้ต่อไป คาดว่าในปี 2040 คืออีก 17 ปีข้างหน้านี้ ผู้หญิงวัย 20-30 ปี ที่อาศัยอยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ 896 แห่ง จะลดจำนวนลงถึงครึ่งหนึ่ง และในอนาคตก็เป็นไปได้ว่าในเขตชนบทจะยิ่งมีประชากรน้อยลงกว่าปัจจุบันมาก จนต้องยุบหน่วยงานส่วนท้องถิ่นลง จำนวนผู้หญิงที่จะให้กำเนิดบุตรลดลง ประชากรไม่เพิ่มขึ้นหรือไม่มีผู้คนอาศัยอยู่มากพอที่จะเสียภาษีบำรุงท้องถิ่นของตนนั่นเอง

หากเป็นเช่นนั้นจริง จะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง?

เมื่อเก็บภาษีท้องถิ่นไม่ได้ก็ไม่มีเงินบริหารหน่วยงานในปกครองที่ล้วนเกี่ยวข้องกับชีวิต ประจำวันทั้งหลาย อาทิ โรงเรียน โรงพยาบาล รถโดยสาร รถไฟ การกำจัดขยะ การรักษาความสะอาดเรียบร้อยและความปลอดภัยในท้องถิ่นนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากไม่มีโรงเรียนในพื้นที่ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นสถานศึกษาเท่านั้น แต่ยังถูกกำหนดให้เป็นที่รวมพล หลบภัย เมื่อเกิดภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว สึนามิ ลมพายุไต้ฝุ่น เป็นต้น

ลองนึกภาพดูจะเกิดความวุ่นวายเพียงใด…       

ตามสถิติ ณ วันที่ 1 มกราคม 2022 ญี่ปุ่นมีประชากรทั้งหมด 125.92 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 7.2 แสนคน จำนวนนี้มากหรือน้อยเพียงใด อาจเทียบได้กับจำนวนประชากรทั้งจังหวัดของจังหวัดโทคุชิมะ(徳島県)บนเกาะชิโคคุ(四国) ถ้าประชากรลดลงเทียบเท่าปีละหนึ่งจังหวัดเช่นนี้ต่อเนื่องไปทุกปีจะเป็นอย่างไร? แน่นอนว่าจำนวนผู้หญิงที่จะให้กำเนิดบุตรในอนาคตก็ลดลงตามไปด้วย       

มีหลายสาเหตุที่ทำให้เด็กเกิดน้อยลง แต่สาเหตุหลักคือจำนวนคนแต่งงานลดลง กล่าวคือตั้งแต่ปี 1972 ที่มีคู่แต่งงานทำสถิติสูงสุดเกินหนึ่งล้านคู่ หลังจากนั้นก็ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งเหลือเพียงห้าแสนกว่าคู่ในปี 2022 หมายความว่าคนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่อยากแต่งงาน ในญี่ปุ่นคนที่เลือกมีบุตรโดยไม่สมรสให้ถูกต้องมีจำนวนน้อยมาก ทั้งนี้ 28% ของชายวัย 50 ปี และ 18% ของหญิงวัยเดียวกันยังไม่เคยแต่งงานเลย ทั้งชายและหญิงครองตัวเป็นโสดมากขึ้น 

คำถามต่อมาคือ ทำไมคนที่ไม่แต่งงานจึงมีจำนวนเพิ่มขึ้น?

ปัญหาเรื่องรายได้และความไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ไม่กล้าคิดจะแต่งงานมีคู่ เพราะไม่อยากมีภาระเพิ่มขึ้นอีกนั่นเอง

ลองมาดูความสัมพันธ์ของอัตราการแต่งงานกับลักษณะการจ้างงาน พบว่าผู้ชายวัย 30-34 ปีที่มีหน้าที่การงานมั่นคงและเป็นพนักงานประจำ มี 59% ที่แต่งงานแล้ว ขณะที่คนวัยเดียวกันแต่เป็นพนักงานจ้างมีเพียง 22% เท่านั้นที่แต่งงานแล้ว มีความต่างกันเกินเท่าตัวทีเดียว ที่น่ากังวลคือภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ค่าเงินเยนอ่อนตัว ค่าครองชีพสูงขึ้น เป็นต้น ธุรกิจต่างๆ จึงมีแนวโน้มจ้างพนักงานชั่วคราวเพิ่มมากขึ้น

จากสถิติของกระทรวงกิจการภายใน(総務省)ปี 2021 พบว่า 22% ของผู้ชายวัยทำงานเป็นพนักงานชั่วคราว ส่วนผู้หญิงทำงานมากกว่า 50% เป็นพนักงานชั่วคราว ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ชายที่ยิ่งอายุน้อย คือ 25-34 ปี เป็นพนักงานชั่วคราวถึง 14% ความหวังที่จะได้รับบรรจุเป็นพนักงานประจำก็ยิ่งน้อยลง อาจกล่าวได้ว่ายิ่งเป็นชายที่มีฐานะการงานมั่นคง ตำแหน่งสูง รายได้ดี ก็ยิ่งมีโอกาสแต่งงานได้มากขึ้น หลายคนอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าการแต่งงานเป็น ‘ของฟุ่มเฟือย’ ชนิดหนึ่งไปเสียแล้ว  เมื่อสำรวจความคิดเห็นของคนหนุ่มสาววัย 20-30 ปี ที่ไม่คิดจะแต่งงาน มากกว่า 40% ตอบว่า “ไม่มั่นใจในการใช้ชีวิตแต่งงาน เพราะรายได้และหน้าที่การงานไม่มั่นคง” 

ในความเป็นจริง เมื่อแต่งงานแล้วมีลูกก็จะยิ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นแน่นอน ค่าใช้จ่ายที่พ่อแม่รู้สึกเป็นภาระคือค่าการศึกษา ปัจจุบันมีนักศึกษามหาวิทยาลัยประมาณครึ่งหนึ่งต้องขอรับทุนการศึกษาที่ต้องใช้คืนเมื่อจบการศึกษา ชีวิตการทำงานเริ่มต้นพร้อมกับมีหนี้ก้อนโตติดตัวมาด้วย อย่างนี้แล้วใครจะอยากหาภาระที่เพิ่มขึ้นจากการแต่งงานอีก หรือหากแต่งงานก็มักเลือกที่จะไม่มีลูก

นอกจากความกังวลเรื่องรายได้ซึ่งผู้ชายส่วนใหญ่รู้สึกแล้ว มาดูเหตุผลที่ผู้หญิงไม่อยากแต่งงานดูบ้าง ในบรรดา 29 ประเทศพัฒนาแล้ว ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 28 เกือบรั้งท้ายเกี่ยวกับสภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการทำงานของผู้หญิง ยิ่งเป็นผู้หญิงแต่งงานแล้วหรือมีบุตรด้วย ก็ยิ่งเป็นเหตุให้ไม่เอื้อต่อการทำงาน เนื่องจากภาระหน้าที่งานบ้าน เลี้ยงลูก หรือดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า ฯลฯ ล้วนตกเป็นหน้าที่ของผู้หญิงทั้งสิ้น ไม่มีสถานดูแลเด็กก่อนวัยเรียนจนกว่าจะถึงเวลาเลิกงาน แม้หลังลาคลอดแล้วกลับไปทำงานก็ทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำงานล่วงเวลาไม่ได้ มีเหตุขอลากลับก่อนเพื่อไปรับลูก หรือลางานเพราะลูกป่วย เป็นต้น หัวหน้างานย่อมไม่สบอารมณ์แน่นอน ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานไม่ต้องหวังเลย งานที่เอื้อให้ผู้หญิงมีเวลาทำงานพร้อมๆ กับดูแลลูกไปด้วยมีน้อยมาก ในที่สุดก็ต้องลาออกจากงาน จำใจเป็นแม่บ้านเต็มตัว

สังคมญี่ปุ่นกำหนดชัดเจนว่า ‘ผู้ชายทำงาน  ผู้หญิงเลี้ยงลูก’ และเมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไป ลักษณะครอบครัวใหญ่ที่อยู่ร่วมกับพ่อแม่ เปลี่ยนเป็นครอบครัวเดี่ยวที่ส่วนใหญ่เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ทำให้ไม่มีปู่ย่าช่วยดูแลลูกเล็ก นอกจากนี้การตั้งครรภ์และคลอดบุตรยังเป็นภาระทั้งด้านร่างกายและจิตใจของผู้หญิงที่ผู้ชายคงเข้าใจยาก ในปัจจุบันหญิงสาววัย 20-30 ปี กว่า 39% ไม่อยากรับภาระหนักเหล่านี้ ไม่อยากเสียโอกาสก้าวหน้าในการงาน อยากมีชีวิตอิสระและมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้                 

อัตราการเจริญพันธุ์ของแต่ละจังหวัดของญี่ปุ่น ปี 2019 พบว่าโอกินาวา มีอัตราสูงเป็นอันดับหนึ่ง (1.82%) จังหวัดที่อยู่ท้ายๆ มักเป็นจังหวัดที่มีเมืองใหญ่ๆ ส่วนมหานครโตเกียวรั้งท้ายสุดเป็นอันดับที่ 47 (1.15%)  ข้อมูลนี้เฉลยว่าจังหวัดที่มีปัจจัยเอื้อต่อการมีบุตร ล้วนเป็นพื้นที่ที่มีอัตราส่วนของคนมีบ้านของตัวเองสูง ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนแน่นแฟ้น อยู่เป็นครอบครัวใหญ่ มีพ่อแม่ ปู่ย่า ญาติพี่น้อง และคู่แต่งงานต่างก็มีการงานที่มั่นคง เป็นต้น ซึ่งเอื้อต่อการเลี้ยงดูเด็กนั่นเอง 

มูลนิธิญี่ปุ่น(日本財団)สำรวจพบว่าคนหนุ่มสาววัย 17-19 ปี  46% ตอบว่าตั้งใจว่าจะมีลูกในอนาคต  23% ตอบว่าจะไม่มีลูกแน่นอน และอีกราว 30% ยังไม่แน่ใจ ซึ่งในอนาคตอาจเปลี่ยนใจกันได้อีก จากข้อมูลปัจจุบันพบว่าคนวัยเจริญพันธุ์ราว 1 ใน 5 คน ไม่อยากมีลูก ก็คาดได้ว่าจำนวนเด็กที่จะเกิดใหม่ก็ยิ่งลดน้อยลงอีก จะย้อนกลับไปยุคหลังสงครามโลกที่พ่อแม่มีลูก 5-6 คนเป็นเรื่องธรรมดา ก็คงไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว

อย่าว่าแต่การมีลูกแล้วเลี้ยงลูกเป็นภาระหนักเลย แม้แต่ชีวิตปัจจุบันของคนญี่ปุ่นทั่วไปต่างก็ต้องดิ้นรนทั้งหญิงและชาย ผู้ชายต้องทำงานหนักติดต่อกันนาน ไม่ได้พักผ่อน จนเสียชีวิตจากการทำงาน(過労死)ก็มีข่าวอยู่บ่อยๆ ผู้หญิงก็ต้องทำงานบ้านและหารายได้เสริมจากงานพิเศษมาจุนเจือ ประหยัดรายจ่ายทุกวิถีทาง มีหนี้ผ่อนบ้านและดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วยและออมเงินเพื่อรับวัยชราของตัวเองด้วย การใช้ชีวิตของผู้ใหญ่ยังหนักหนาขนาดนี้… 

กล่าวได้ว่าสภาพสังคมบีบบังคับให้มีชีวิตรอด ไม่เอื้อให้มีภาระอื่นใดเพิ่มอีก ต่อจากนี้ไปจึงเป็นหน้าที่ของคนในสังคมที่จะช่วยกันคิดว่าจะปรับสมดุลให้ใช้ชีวิตกันง่ายขึ้นได้อย่างไร สร้างสังคมที่คนทุกวัย ทารกแรกเกิดจนถึงวัยชรามีความสุขได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเด็กวันนี้ได้กลายเป็น ‘สมบัติล้ำค่า’ ของสังคม การมีลูกไม่ใช่ความสุขของพ่อแม่ที่อยากมีลูกเท่านั้น แต่เป็นการทำหน้าที่ของชายและหญิงเพื่อสังคมและประเทศชาติไปเสียแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น คนในสังคมต้องมีส่วนช่วยกันอุ้มชูสมาชิกน้อยๆ ให้เติบโตและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขด้วย ไม่ใช่ภาระและหน้าที่ของชายและหญิงที่ให้กำเนิดเท่านั้น  

โจทย์ไม่ยาก แต่วิธีทำให้สัมฤทธิ์ผลไม่ง่ายแน่นอน…

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save