fbpx
เปิดโจทย์ใหม่ สังคมสูงวัยยุคหลัง COVID-19 กับ วรเวศม์ สุวรรณระดา

เปิดโจทย์ใหม่ สังคมสูงวัยยุคหลัง COVID-19 กับ วรเวศม์ สุวรรณระดา

ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์

พันธิตรา ภูผาพันกานต์ เรียบเรียง

 

 

ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ สังคมไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย (aging society) หรือสังคมที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุ (คนอายุ 60 ปีขึ้นไป) เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ มาตั้งแต่ปี 2547 แล้ว ปัจจุบันตามข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคน คิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด เข้าใกล้การเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (aged society) หรือสังคมที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเกิน 20 เปอร์เซ็นต์เต็มที และคาดว่าอีก 20 ปีนับจากนี้ สังคมไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 20 ล้านคน กลายเป็นสังคมสูงวัยแบบสุดยอด (super aged society) หรือสังคมที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด

โจทย์เรื่องสังคมสูงวัยจึงเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ น่าสนใจว่าในยุค COVID-19 โจทย์เรื่องนี้เปลี่ยนไปอย่างไร วิกฤตครั้งนี้คลี่ให้เราเห็นปัญหาอะไรเกี่ยวกับสังคมสูงวัย และสังคมไทยต้องคิดใหม่หรือคิดต่อเรื่องอะไรบ้าง

101 สนทนากับ ศาสตราจารย์ ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการที่ศึกษาวิจัยเรื่องสังคมสูงวัยมาอย่างต่อเนื่อง

 

4 โจทย์ใหญ่สังคมสูงวัย

 

โจทย์เรื่องสังคมสูงวัยที่สำคัญมีอยู่ 4 เรื่อง ได้แก่ เรื่องแรก การทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่ดีในมิติต่างๆ ได้แก่ มิติทางเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม และสภาพแวดล้อมทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน ตลอดจนสภาพแวดล้อมของเมือง เรื่องที่สอง การเตรียมความพร้อมของกลุ่มผู้สูงอายุในอนาคต เพื่อให้มีความพร้อมในการเข้าสู่สังคมสูงวัยในมิติต่างๆ เรื่องที่สาม การสร้างความกระปรี้กระเปร่า (vitality) ในสังคมเศรษฐกิจไทยยุคสูงวัย  ทำอย่างไรให้คนรุ่นหนุ่มสาวที่มีสัดส่วนลดลงมีพลังสร้างเศรษฐกิจเพื่อรับมือสังคมสูงวัย และเรื่องสุดท้าย การสร้างระบบการเงินการคลังที่จะรองรับสังคมสูงวัย ทั้งในแง่ความครอบคลุมและความยั่งยืน

โจทย์สังคมสูงวัยไม่ใช่โจทย์ของผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรทั้งหมด ทั้งในด้านจำนวนและสัดส่วน ในขณะที่ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จำนวนประชากรหนุ่มสาวหรือวัยอื่น ๆ ก็อาจคงที่หรือลดลงกว่าเดิม ดังนั้น สังคมสูงวัยจึงหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของคนทุกรุ่นและส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม

เมื่อก่อนเราชอบใช้คำว่า ‘สังคมผู้สูงอายุ’ ซึ่งเป็นการสื่อสารที่ชวนให้เข้าใจผิด เพราะคิดว่าเป็นปัญหาของผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน หน่วยงานราชการและแวดวงวิชาการหันมาใช้คำว่า ‘สังคมสูงวัย’ หรือ “สังคมสูงอายุ” กันมากขึ้น ซึ่งสื่อความหมายว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของคนทุกคนได้ดีกว่า

 

ตรวจการบ้านรัฐไทย: เรารับมือสังคมสูงวัยได้ดีแค่ไหน

 

จริงๆ ต้องบอกว่ารัฐไทยมีความพยายามที่จะรับมือกับสังคมสูงวัยมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างองค์ความรู้ การออกแบบนโยบาย และการลงมือปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่นโจทย์เรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ ซึ่งในระดับนานาชาติให้ความสำคัญอยู่ 3 เรื่องหลักคือ (1) หลักประกันทางการเงินในยามชราภาพและระบบบำเหน็จบำนาญ (2) การรักษาพยาบาล และ (3) การดูแลผู้สูงอายูในยามที่ดูแลตัวเองไม่ได้ ทั้งสามเรื่องนี้ประเทศไทยทำได้ดีพอสมควร

เรื่องหลักประกันทางการเงินยามชราและระบบบำเหน็จบำนาญ ประเทศไทยมีอยู่หลายระบบย่อย เช่น ระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ระบบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ ระบบประกันสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นหลักประกันทางการเงินสำหรับผู้สูงวัย ถือว่าเราอยู่ในจุดที่แทบจะเรียกได้ว่ามี ‘Universality of protection’ คือทุกคนมีหลักประกันในเรื่องนี้ ถ้าไม่ได้เป็นข้าราชการบำนาญ ไม่ได้เงินเดือนจากรัฐ เมื่ออายุครบ 60 ปีก็จะได้รับเบี้ยยังชีพ

ส่วนการรักษาพยาบาล เรามีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ แม้จะมีเงื่อนไขเรื่องของความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบอยู่บ้าง แต่ในแง่ของการเข้าถึงบริการสุขภาพก็ยังนับว่าทำได้ดี

 

ระบบเบี้ยยังชีพ: เพียงพอ ครอบคลุม?

 

อัตราเบี้ยยังชีพปัจจุบันอยู่ที่ 600-1,000 บาทต่อเดือน อัตราเป็นขั้นบันไดปรับตามอายุ ซึ่งก็มีเสียงสะท้อนอยู่เหมือนกันว่า จำนวนเท่านี้ไม่เพียงพอ แต่การจะสรุปว่าเพียงพอหรือไม่ ควรเป็นเท่าไหร่ ต้องดูภาพรวมของระบบสวัสดิการทั้งระบบ

ในเรื่องของความครอบคลุม จากการสำรวจประชากรสูงอายุโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตอนนี้มีผู้ได้รับเบี้ยยังชีพประมาณ 9 ล้านคน ในส่วนที่ยังตกหล่นจริงๆ ก็มีอยู่ เช่น ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่โดยลำพัง ไม่มีคนดูแลเรื่องการรับสิทธิ์ เพราะเบี้ยยังชีพเป็นระบบที่ต้องลงทะเบียน ดังนั้นผู้สูงอายุที่ไม่ได้ลงทะเบียนก็ทำให้ไม่ได้รับเบี้ยยังชีพ อาจมีบางส่วนที่ตั้งใจเลือกไม่ลงทะเบียน เช่น ผู้สูงอายุที่มีฐานะดี

อย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่า วิธีคิดเรื่องเบี้ยยังชีพของไทยมีกลิ่นอายของการสงเคราะห์มาก่อน เริ่มจากการเป็นระบบคัดเลือกผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาส ก่อนเปลี่ยนมาเป็นการให้บนพื้นฐานของสิทธิ โดยกันกลุ่มที่ได้รับเงินจากรัฐ (เงินเดือน เงินบำนาญ) ในเรื่องนี้ก็มีการถกเถียงกันว่าควรมองให้เป็นเรื่องเงินบำนาญพื้นฐานเพื่อดำรงชีวิตในยามชราภาพเลยดีไหม อย่ามองว่าเป็นแค่เบี้ยเพื่อการยังชีพ

 

สู่ ‘ระบบบำนาญที่มีเอกภาพ’

 

ปัจจุบันระบบบำนาญของไทยเป็นระบบที่ในทางวิชาการเรียกว่า Multi-layer / Multi-pillar pension system ความหมายคือเป็นระบบที่มีหลายชั้น อย่างตัวผมเองเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่ข้าราชการ เมื่อผมอายุครบ 60 ปี ก็จะได้รับเบี้ยยังชีพประมาณ 600 บาท ได้เงินจากกองทุนประกันสังคมประมาณ 5,250 บาทจากการเป็นสมาชิกมาตั้งแต่อายุ 30 ปี และได้เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ทางมหาวิทยาลัยทำให้ในฐานะนายจ้าง สุดท้ายแล้วผมจะมีรายรับรวมทั้งสิ้น 3 ชั้นด้วยกัน

ส่วนข้าราชการจะได้รับเงินบำนาญข้าราชการกับเงินก้อนจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ทางด้านกลุ่มคนที่ไม่ใช่ลูกจ้างและไม่ใช่ข้าราชการ เช่น วินมอเตอร์ไซค์ คนขับแท็กซี่ เกษตรกร นอกจากจะได้รับเบี้ยยังชีพแล้วก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ได้อีก ดังนั้น ระบบบำนาญของไทยจึงไม่ได้เป็นเอกภาพ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในระบบก็เป็นการทำงานแบบต่างคนต่างคิด

ขั้นตอนแรกของการปฏิรูปให้มีการทำงานร่วมกันมากขึ้น คือการหาเจ้าภาพที่จะมารับผิดชอบการกำหนดทิศทางในภาพรวม เช่น การผลักดันให้คณะกรรมการบำนาญแห่งชาติเป็นคณะกรรมการนโยบายเพื่อพิจารณาภาพรวมว่าควรจะขยับทิศทางอย่างไร ความยากคือในแต่ละระบบย่อยมีลักษณะแหล่งที่มาของเงินต่างกัน เช่น ระบบเบี้ยยังชีพ ระบบบำนาญข้าราชการ มาจากภาษีประชาชน ส่วนระบบประกันสังคมมาจากการส่งเงินสมทบของลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล ด้านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาจากการออมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ในขณะที่กองทุนการออมแห่งชาติ แหล่งที่มาของเงินมาจากการออมของประชาชนกับรัฐบาล

เราจำเป็นต้องหาสมดุลในการทำงานร่วมกันของระบบต่างๆ ให้น้ำหนักไปที่แต่ละระบบอย่างพอเหมาะพอดี หากเราให้ความสำคัญกับระบบการออมมากเกินไปก็อาจไม่ตอบโจทย์จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต หรือหากให้ความสำคัญกับเบี้ยยังชีพหรือเงินบำนาญมากเกินไปก็อาจกระทบถึงงบประมาณแผ่นดินในอนาคต ดังนั้น การมองภาพรวมและกำหนดทิศทางการปฏิรูปทั้งระบบไปด้วยกันจึงเป็นคำตอบของเรื่องนี้

 

ความ (ไม่) มั่นคงทางการเงินของผู้สูงอายุ

 

ผู้สูงอายุไทยที่มีอิสระทางการเงิน (อยู่ได้ด้วยตัวเอง) มีจำนวนน้อยมากผลจากการสำรวจประชากรสูงอายุในระดับชาติชี้ว่าอยู่ได้ด้วยเงินออมและดอกเบี้ยไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ ต้องพึ่งลูกหลาน

โจทย์เรื่องความมั่นคงทางการเงินของผู้สูงอายุไทยจึงถือว่าเป็นปัญหาอยู่และต้องการเวลาเปลี่ยนผ่านอีกสักระยะ ผู้สูงอายุไทยในปัจจุบันก็คือกลุ่มคนที่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาในอดีต ส่วนใหญ่เรียนหนังสือได้ไม่นานก็ออกมาทำงาน แต่งงาน สร้างครอบครัวเลยและมีลูกมาก เงินส่วนใหญ่จึงลงทุนกับการเลี้ยงลูก ไม่ได้เก็บออมไว้สำหรับตนเอง แต่คาดหวังให้ลูกเข้ามาดูแลเมื่อตนแก่ชรา

นอกจากนี้ เครื่องมือทางการเงินในระยะยาวก็เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน คนที่เข้าถึงเครื่องมือทางการเงินเหล่านี้น่าจะอยู่ในรุ่นอายุ 40-60 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการศึกษา รู้จักวิธีออม มีลูกน้อย เงินที่เหลือจึงสามารถเก็บออมไว้สำหรับตนเองในยามชราได้

ทางออกหนึ่งในเรื่องนี้คือการจ้างงานผู้สูงอายุ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะในแง่การบังคับให้จ้างงาน รัฐอาจต้องเข้าไปออกแบบมาตรการที่จูงใจให้เอกชนจ้างงานผู้สูงอายุ เช่น แรงจูงใจทางภาษี เป็นต้น

อีกทางออกหนึ่งที่ทำได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในยุค COVID-19 คือ การจ้างงานต่อเนื่อง เช่น การขยายอายุเกษียณและสัญญา หรือการจ้างกลับมาทำงานต่อ เราคงต้องยอมรับด้วยว่า โดยทั่วไปเมื่ออายุสูงขึ้นประมาณหนึ่ง การปรับตัวเพื่อเรียนรู้งานใหม่ทำได้ยากขึ้น นายจ้างอาจเห็นว่าควรจ้างคนหนุ่มสาวแทนดีกว่า

 

ผู้สูงอายุในยุค COVID-19

 

COVID-19 ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับสังคมสูงวัยในหลายเรื่อง เช่น หลักประกันทางการเงินในยามชราภาพ COVID-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของผู้สูงอายุ เช่น อาจตกงาน ขายของไม่ได้ รวมถึงส่งผลกระทบต่อรายได้ของลูกหลาน ในสถานการณ์เช่นนี้แหล่งรายได้ที่เหลือ เช่น เงินออมหรือเงินบำนาญ จะช่วยประคับประคองค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้มาก ในแง่หนึ่ง COVID-19 ทำให้เราเห็นว่า แหล่งรายได้เหล่านี้สำคัญมาก แม้แต่เงินเบี้ยยังชีพที่หลายคนบอกว่าน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับการที่ไม่มีแหล่งรายได้เลย ก็ยังนับว่าไม่แย่ ดังนั้น ในอนาคต การให้ความสำคัญกับการออมจะสำคัญมากขึ้น ทั้งในเรื่องของการออมเงินเพื่อเลี้ยงชีวิตในยามชราภาพและการใช้จ่ายยามฉุกเฉิน

นอกจากนี้ COVID-19 ยังทำให้เห็นถึงความสำคัญของความสามารถในการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ และการพัฒนาทักษะใหม่ๆ เช่น ถ้าเราไม่สามารถขายของในรูปแบบปกติได้ ก็อาจหันมาขายออนไลน์ เราเห็นความจำเป็นในเรื่องการพัฒนาทักษะเพื่อให้สามารถทำงานได้หลายประเภท และรองรับสถานการณ์ต่างๆ ได้

อย่างไรก็ตาม ภาระต่างๆ ไม่ควรตกอยู่ที่ปัจเจกบุคคลเท่านั้น สังคมควรมีระบบรองรับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถปรับตัวได้ ทั้งในแง่การช่วยเหลือและการสร้างโอกาส

 

โจทย์วิจัยใหม่ในโลก COVID-19 

 

ผมนึกถึงโจทย์วิจัยใหม่เกี่ยวกับสังคมสูงวัย 2 เรื่องที่น่าสนใจ โจทย์แรกเกี่ยวกับการ work from home ถ้าระบบนี้สามารถถูกออกแบบให้มีประสิทธิภาพได้ เช่น มีระบบประเมินที่ชัดเจน อิงผลผลิตและผลลัพธ์ วัดผลได้ จนถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ก็จะเป็นประโยชน์ในการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านได้ไม่น้อย เป็นการช่วยเหลือคนทำงานที่มีข้อจำกัดในการดูแลพ่อแม่หรือผู้สูงอายุในครอบครัวได้ ส่วนในแง่ของการสร้างโอกาสใหม่ในการทำงานของผู้สูงอายุก็อาจขึ้นอยู่กับทักษะและความสามารถของตัวผู้สูงอายุเอง

โจทย์ที่สอง คิดต่อมาจาก ‘รถพุ่มพวง’ หรือ รถกระบะที่พ่อค้าแม่ค้าใช้ขนของเข้าไปขายตามชุมชนต่างๆ ความต้องการอย่างหนึ่งของสังคมสูงวัยคือบริการที่มาถึงบ้าน เพราะผู้สูงอายุส่วนมากอาศัยอยู่แต่ในบ้าน หากเราเติมมิติทางสังคมเข้าไปในรถพุ่มพวง ไม่ใช่แค่ขายของอย่างเดียว ก็จะสามารถนำบริการเชิงสังคมเข้าไปหาผู้สูงอายุถึงบ้านได้

 

สังคมสูงวัยกับโอกาสของเศรษฐกิจไทย

 

สังคมสูงวัยเป็นโอกาสใหม่ของเศรษฐกิจไทยผ่าน 3 ช่องทางหลัก

หนึ่ง การพัฒนาธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสังคมสูงวัย ที่ผ่านมารัฐมองเห็นแต่ด้านสุขภาพเท่านั้น ทั้งที่มีอีกหลายธุรกิจที่มีความสำคัญในสังคมสูงวัย เช่น การศึกษา สันทนาการ รวมถึงเครื่องมือที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพา ซึ่งต้องการนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาและตอบโจทย์คนสูงวัยจำนวนมาก

สอง การส่งออกนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์สู่ประเทศในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากสังคมในภูมิภาคนี้มีลักษณะทางประชากรคล้ายๆ กัน หากเราสามารถพัฒนานวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสังคมสูงวัยภายในประเทศได้แล้ว ก็น่าจะลองขยายตลาดโดยส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย

สาม การใช้ COVID-19 ให้เป็นประโยชน์ โดยออกแบบมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการวางโครงสร้างพื้นฐานหรือการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อตอบโจทย์ผู้สูงวัยในอนาคตไปด้วยพร้อมกับการแก้วิกฤตในระยะสั้น

 

ชุมชนและท้องถิ่น: หัวใจสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุ

 

สิ่งดีงามที่เราเห็นจากวิกฤต COVID-19 คือ บทบาทของท้องถิ่นและชุมชนในการดูแลผู้สูงอายุ เห็นชัดเลยว่า สังคมไทยใช้ประโยชน์จากความเป็นชุมชนและจิตอาสาค่อนข้างมาก

หากศึกษาบทเรียนจากประเทศที่ผ่านประสบการณ์ในการจัดการสังคมสูงวัย เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จะเห็นว่าท้ายที่สุดแล้วไม่ว่ารัฐบาลกลางจะมีบทบาทมากแค่ไหนก็จะกลับมาใช้หน่วยงานระดับพื้นที่ในการรับมือและการจัดการอยู่ดี  ดังนั้นการให้อำนาจและทรัพยากรแก่ท้องถิ่นเพื่อดูแลเรื่องผู้สูงอายุ จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมาก ความท้าทายใหญ่ของประเทศไทยคือ การแบ่งบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลกลางและท้องถิ่นในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุให้ชัดเจน การให้พันธกิจ อำนาจ และทรัพยากรแก่ท้องถิ่นเพื่อดูแลเรื่องผู้สูงอายุจะเป็นเรื่องสำคัญในอนาคต

นอกจากนั้น ปัญหาและความท้าทายของสังคมสูงวัยจะยิ่งมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต ลำพังแค่รัฐคงไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการทั้งหมดได้ ดังนั้น ภาคเอกชนทั้งองค์กรที่แสวงหาผลกำไรและไม่แสวงหาผลกำไร จึงมีความสำคัญในการมีส่วนร่วมรับมือสังคมสูงวัยไม่แพ้กัน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save