fbpx

Aggretsuko โลกห่วยๆ ที่บังคับให้เราอยู่รอดด้วยการเกรี้ยวกราด

ภาพตัวการ์ตูนแพนด้าแดงหน้าตาน่ารักคือภาพจำแรกของเรื่อง Aggretsuko (2018-2023) ควบคู่กันไปนี้เองอีกภาพที่ปรากฏคือแพนด้าแดงตัวเดียวกันนี้กลายเป็นนักร้องเดธเมทัลร้องเพลงอย่างเกรี้ยวกราด

Aggretsuko คือซีรีส์การ์ตูนของบริษัทซานริโอ (Sanrio) ซึ่งในตอนแรกถูกสร้างเป็นการ์ตูนสั้นตอนละหนึ่งนาทีฉายช่วงปี 2016-2018 และต่อมาถูกสร้างเป็นซีรีส์ฉายทาง Netflix โดยปล่อยซีซันแรกในปี 2018 ต่อเนื่องมาถึงซีซัน 5 เป็นซีซันสุดท้ายที่เพิ่งปล่อยออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ซีรีส์เรื่องนี้เล่าเรื่องชีวิตพนักงานบริษัทในญี่ปุ่น โดยตัวละครเป็นสัตว์นานาชนิดที่ใช้ชีวิตแบบมนุษย์ ตัวเอกคือ ‘เร็ตสึโกะ’ แพนด้าแดงสาวโสดวัย 25 ทำงานแผนกบัญชีในบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งชอบแอบไปปลดปล่อยความเครียดด้วยการร้องเพลงเดธเมทัลในร้านคาราโอเกะ

และชื่อเต็มของเรื่องนี้คือ Aggressive Retsuko

นอกเหนือจากรูปลักษณ์เหนือจริงของตัวละครที่เป็นสัตว์หน้าตาน่ารักน่าชังแล้ว ซีรีส์เรื่องนี้สะท้อนสภาพชีวิตจริงของหญิงสาวในญี่ปุ่นที่เจอความกดดันรอบด้าน ทั้งจากเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย ครอบครัว ไปจนถึงสังคม ซึ่งแน่นอนว่าคนที่จะอินไปด้วยคือคนวัยทำงาน โดยเฉพาะเหล่ามนุษย์ออฟฟิศ

เมื่อมองไปที่ซานริโอซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิต หากนำตัวการ์ตูนต่างๆ ที่ซานริโอเคยสร้างไว้มาวางเรียงกัน ไม่แปลกที่ Aggretsuko จะดูแปลกแยกออกมาจากตัวการ์ตูนสีหวานแหววอื่นๆ ของค่ายเดียวกัน ด้วยเนื้อเรื่องที่โตกว่าชัดเจน แต่หากลองนึกว่าคาร์แรกเตอร์หลักของค่ายอย่าง Hello Kitty ถูกสร้างขึ้นมาเกือบห้าทศวรรษ แล้วแฟนคลับคิตตี้ในปัจจุบันจะอยู่ในช่วงวัยไหนบ้าง

เพราะโลกจริงไม่ได้มีสีพาสเทล เด็กหญิงที่เคยถือตุ๊กตาคิตตี้ในวันนั้น โตขึ้นมาเจอชีวิตจริงในโลกห่วยๆ ตัวละครแมวเหมียวในชุดสีชมพู ไร้ปากจะโต้ตอบ คงไม่ใช่ตัวละครในดวงใจของหญิงสาววัยทำงานผู้ซัฟเฟอร์กับชีวิตอีกต่อไป เช่นเดียวกันกับที่การเป็นคนสุภาพเรียบร้อย นุ่มนวล ใจดี ช่างเห็นอกเห็นใจคนอื่น ไม่ใช่ลักษณะของคนที่จะเอาตัวรอดจากโลกการทำงานแบบชายเป็นใหญ่ได้

ตัวละครเร็ตสึโกะจึงเกิดขึ้นมาเพื่อแหกปากตะโกนใส่ชีวิตห่วยๆ ของมนุษย์ออฟฟิศเพื่อบอกว่า “ไม่ไหวแล้วโว้ย!”

บริบทเรื่อง Aggretsuko เจาะจงไปที่สังคมการทำงานในญี่ปุ่นซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความกดดัน อันเต็มไปด้วยค่านิยมไม่พึงประสงค์จำนวนมาก โดยเฉพาะกับผู้หญิงที่โดนกดทับอย่างมากในสังคมที่ทำงาน มีแต่ผู้ชายที่ขึ้นสู่ตำแหน่งสูง ผู้หญิงไม่มีปากมีเสียง ถูกคาดหวังเพียงให้ทำงานเล็กๆ น้อยๆ ชงชา ทำงานเอกสาร และไม่พ้นต้องหาผู้ชายที่จะแต่งงานด้วยและออกจากอาชีพการงานในท้ายที่สุด

ปัญหาซ้ำซากนี้ไม่ได้มีแค่ที่ญี่ปุ่น แม้ในปัจจุบันที่หลังแต่งงานแล้วผู้หญิงก็ยังต้องทำงานไม่แตกต่างจากผู้ชาย แต่สังคมรอบข้างก็คาดหวังให้ผู้หญิงดูแลครอบครัว ห้ามทำงานบกพร่อง ห้ามดูแลครอบครัวตกหล่น ขณะที่ในที่ทำงานก็ไม่มีใครคาดหวังว่าผู้หญิงจะเติบโตในหน้าที่การงาน (แม้ในปัจจุบัน ผู้หญิงที่อยู่ในตำแหน่งสูงขององค์กรก็ไม่ได้หาง่ายนัก) วิธีคิดเหล่านี้ทำให้เสียงของผู้ชายดังกว่าเสมอ การเสนอไอเดียธรรมดาๆ ของผู้ชายถูกจดจำมากกว่าจากหัวหน้าผู้ชายที่สนิทสนมกันด้วยการคุยเรื่องกอล์ฟหรือเรื่องฟุตบอลแมตช์เมื่อคืน ยิ่งเรื่องทั้งหมดนี้เจอกับสังคมที่มีลำดับขั้น เรื่องก็ยิ่งเลวร้ายลง

อาจฟังดูเป็นเรื่องที่ช่างเชยเหลือเกิน นี่มันปี 2023 แล้ว เราพูดกันมากเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ความเท่าเทียมในที่ทำงาน หลายองค์กรก็ออกตัวสนับสนุนความเท่าเทียม – ใช่ มันยิ่งน่าเบื่อที่ปัญหาไม่ถูกแก้เพียงเพราะผู้ชายท่องเป็นนกแก้วว่าตัวเองส่งเสริมความเท่าเทียมอย่างไร ก้าวหน้าอย่างไร แต่ยังเลือกปฏิบัติ ‘โดยไม่รู้ตัว’ เช่น การบอกว่าตัวเองไม่เลือกปฏิบัติ แต่เพียงแค่ไม่ถนัดทำงานกับผู้หญิง หรือไม่เห็นว่ามีผู้หญิงคนไหนเก่งพอ

เร็ตสึโกะจึงเกิดขึ้นมา ไม่ใช่เพื่อมาต่อสู้พิชิตคนเฮงซวย แต่เพื่อมาบอกว่าฉันไม่ไหวแล้วโว้ย เร็ตสึโกะไม่ใช่ตัวเอกผู้เก่งกาจ หรือฮีโร่ผู้มีความสามารถเลิศเลอ กลับกันคือเธอเป็นคนโลเล ไม่กล้าตัดสินใจ พยายามอยู่กับโลกอนุรักษนิยมทั้งที่ตัวเองไม่พอใจ เร็ตสึโกะคือภาพแทนคนธรรมดาที่ไม่ใช่คนนิสัยแย่ ไม่ทะเยอทะยานอยากเป็นดาวเด่น แต่เพียงแค่อยากมีชีวิตที่มีความสุข ซึ่งเธอเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าความสุขของเธอคืออะไร

เรื่องน่าเศร้าคือ ความเป็น ‘คนธรรมดาที่ไม่ใช่คนนิสัยแย่’ ทำให้เธอถูกมองข้าม การเป็นคนอดทน ใส่ใจคนอื่น ทำให้เธอเป็นคนไม่มีปัญหา กระทั่งถูกมองว่าไม่ต้องสนใจเธอก็ได้ จนคนอื่นตัดสินใจไม่ยากนักที่จะโยนเรื่องไม่ดีมาให้ เพียงเพราะเธอเป็นคนธรรมดาที่คนอื่นไม่สนใจว่าเธอรู้สึกอย่างไร

เร็ตสึโกะมีชีวิตแบบผู้หญิงชนชั้นกลางในเมืองของสังคมญี่ปุ่น ก้มหน้าโดนหัวหน้าผู้ชายด่าหยาบคายเพียงเพราะชงชาได้ไม่ดี ถูกเพื่อนร่วมงานนิสัยแย่โยนความผิด ครอบครัวกดดันเรื่องไม่มีแฟน พื้นที่สบายใจของเธอคือการมีเพื่อนรุ่นพี่ผู้หญิง (กอริและวาชิมิ) คอยให้คำปรึกษานอกเวลางาน คล้ายสมาคมลับอันมีสถานที่นัดพบคือห้องคาราโอเกะที่เร็ตสึโกะใช้พ่นความอึดอัดใจ

Aggretsuko อาจไม่ใช่สุดยอดการ์ตูนที่มีเนื้อเรื่องซับซ้อน สะท้อนมุมมองต่อสังคมอย่างคมคาย หรือวิพากษ์สังคมชายเป็นใหญ่อย่างเผ็ดร้อน แต่หน้าที่ของเรื่องนี้สร้างความรู้สึก ‘เข้าอกเข้าใจ’ ในปัญหาที่คนรุ่นใหม่เผชิญ น่าสนใจว่าในซีซัน 5 เนื้อเรื่องขยับออกจากปัญหาสังคมออฟฟิศไปยังเรื่องที่ใหญ่ขึ้นและโฟกัสเรื่องชีวิตเร็ตสึโกะน้อยลง คือการผลักให้เร็ตสึโกะไปลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างจับพลัดจับผลู (หลังจากที่เคยเป็นไอดอลใต้ดินชื่อดังมาแล้วในซีซันก่อนๆ) นั่นทำให้ตัวละครมีโอกาสพูดถึงปัญหาสังคมอย่างตรงไปตรงมา

ในซีซัน 5 ซึ่งเป็นซีซันสุดท้ายนี้เองได้ขมวดปมความอัดอั้นตันใจที่สะสมมาใน 4 ซีซันก่อนหน้าผ่านชีวิตของเร็ตสึโกะ รวมมาเป็นการสะท้อนความอัดอั้นตันใจร่วมของคนรุ่นใหม่ที่ต้องอาศัยอยู่ในโครงสร้างสังคมที่คนรุ่นก่อนสร้างเอาไว้ ประเด็นหนึ่งที่ถูกยัดเข้ามา (แบบฉีกออกจากทุกซีซัน) คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ไร้บ้านที่อาศัยอินเทอร์เน็ตคาเฟ่เป็นที่ซุกหัวนอน ด้วยไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยราคาแพงในโตเกียวและมีงานที่มั่นคงทำได้ นอกจากกลุ่มคนที่ชีวิตล้มลุกคลุกคลานเข้าไม่ถึงโอกาสแล้ว ยังมีกลุ่มคนที่เลือกเดินออกจากชีวิตที่มั่นคงเอง เพราะไม่เห็นว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือนถือว่าเป็นชีวิตที่ดีกว่าตรงไหน

เมื่อตัดภาพไปมองที่คนรุ่นใหม่ทั่วโลก สิ่งที่เผชิญไม่แตกต่างกันนักคือการอยู่กับชีวิตที่ไม่มั่นคง โดยเฉพาะคนที่ไม่มีทรัพยากรจากครอบครัวมาช่วยสนับสนุน ความฝันมีบ้านของตัวเองเป็นเรื่องไกลตัว โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ซึ่งที่ดินแพงเป็นบ้าเป็นบอ คล้ายว่าทรัพยากรต่างๆ ในสังคมถูกแบ่งกันไปหมดแล้วในคนรุ่นก่อนและส่งต่อให้ลูกหลานตัวเองไม่กี่หยิบมือ ส่วนมนุษย์เงินเดือนชนชั้นกลางค่อนล่างที่ขยันทำงานตัวเป็นเกลียวเพื่อความมั่งคั่งของบริษัท ก็หวังได้แค่ว่าสักวันหนึ่งจะได้เป็นเจ้าของห้องแคบๆ ในคอนโดที่ต้องยืนทำกับข้าวอยู่ข้างเตียงนอน

น่าหดหู่ไปกว่านั้นคือ คนรุ่นใหม่ (ผู้ถดถอย ท้อแท้ และสิ้นหวังกับชีวิตไปแล้ว) ถูกคนแก่ (ผู้มีอิทธิพลและความมั่งคั่งจากอดีต) ดูถูกดูแคลนว่าไม่ขยัน ไม่อดทน ไม่วางแผนชีวิต ไม่ได้เรื่อง พร้อมสั่งสอนว่าตัวเองประสบความสำเร็จและร่ำรวยมาได้อย่างไร

โลกแบบนี้จะให้อยู่ต่อไปอย่างไรโดยไม่เกรี้ยวกราด

Aggretsuko ปิดฉากซีรีส์โดยไม่ได้ชวนปฏิวัติปลดแอกและไม่มีคำตอบให้ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นคือตัวละครอื่นๆ ที่มีอำนาจเหนือกว่าเร็ตสึโกะจะหันมาฟังเธอ ต่อเมื่อเธอพูดถึงปัญหาด้วยความเกรี้ยวกราด ซึ่งสุดท้ายก็อาจนำไปสู่ทางออกของปัญหาหรือไม่ก็ได้

อย่างน้อยที่สุดคนที่อัดอั้นตันใจกับสังคมก็ได้รู้สึกว่า ไม่ได้มีคุณคนเดียวที่อยากเกรี้ยวกราด แต่โลกแบบนี้หล่อเลี้ยงความโกรธของผู้คนไว้เรื่อยๆ ปะทุออกบ้างเป็นครั้งคราว และยังไม่รู้ว่าจะไปจบที่ตรงไหน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save