fbpx
กับดักของฮีโร่

กับดักของฮีโร่

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

 

-1-

ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนคงได้ดูหนังสารคดีเรื่อง ‘2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว’ ที่บันทึกเรื่องราวของ ‘พี่ตูน บอดี้สแลม’ ที่ออกวิ่งจากเบตง ถึงแม่สาย รวมระยะทาง 2,215 กิโลเมตร เพื่อระดมทุนช่วยเหลือโรงพยาบาล 11 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว

แม้จะเป็นแฟนเพลงพี่ตูนมาตั้งแต่อัลบั้มแรกๆ แต่สารภาพตามตรงว่า ผมไม่ได้รู้สึกอินกับการ ‘ก้าว’ ของพี่ตูนเท่าไหร่ แน่นอนว่าผมชื่นชมกับความมุ่งมั่นตั้งใจดี แต่ก็มีความรู้สึกลึกๆ ว่า ความตั้งใจดีครั้งนี้อาจเป็นเพียงสายลมที่พัดมาวูบเดียวแล้วหายไป และถึงที่สุดแล้ว มันอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดเท่าไหร่นัก

อย่างไรก็ดี การได้ดูสารคดีเรื่องนี้ นอกจากจะทำให้เข้าใจวิธีคิดและตัวตนของพี่ตูนมากขึ้นแล้ว ยังกระตุกใจให้คิดอะไรต่อไปได้อีกหลายอย่าง โดยเฉพาะกระบวนการก่อร่างสร้างความเป็นฮีโร่ให้กับพี่ตูน เช่นเดียวกับฮีโร่ของคนไทยอีกหลายต่อหลายคน

ในหนัง มีช่วงหนึ่งที่พี่ตูนให้สัมภาษณ์ทำนองว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจออกวิ่งเพื่อหาเงินบริจาคให้โรงพยาบาล เพราะเขาเห็นว่ามีคนเจ็บป่วยที่รอความช่วยเหลืออยู่ทุกวัน และ “การมานั่งเถียงกันมันไม่ช่วยอะไร” ฉะนั้นเขาจึงรู้สึกว่า “ถ้าทำอะไรได้ก็ทำเถอะ”

เรื่องนี้ผมเห็นด้วยกับพี่ตูนเต็มร้อย แต่อีกใจหนึ่งก็นึกสงสัยว่า เหล่าบรรดาคณะผู้นำประเทศที่มาร่วมให้การสนับสนุน หรือออกมาร่วมชื่นชมกับการวิ่งของพี่ตูนนั้น พวกเขารู้สึกกระดากหรือละอายใจบ้างไหมเวลาเผยยิ้มต่อหน้ากล้อง หรือมันกลายเป็นกิจวัตรทางการเมืองที่พวกท่านทำจนคล่องไปเสียแล้ว

แล้วในฐานะที่มีอำนาจอยู่เต็มมือ พวกเขาจะปล่อยให้พี่ตูนวิ่งไปเรื่อยๆ อย่างนี้หรือ

ยังไม่นับว่า ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ล้วนเป็นกลุ่มบุคคลที่เข้ามาสู่อำนาจโดยอวดอ้างความเป็นฮีโร่ อาสาเข้ามาทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยให้กับประเทศ แต่ถึงวันนี้ ผมไม่แน่ใจนักว่าพวกเขายังสามารถพูดว่าตัวเองเป็นฮีโร่ได้อย่างเต็มปากหรือไม่ และมีคนอีกจำนวนมากน้อยแค่ไหนที่ยังมองว่าพวกเขาเป็นฮีโร่

 

-2-

รู้ที่จะเรียนหยุดยั้ง รู้ที่เคยผิดพลั้ง วันที่เมฆบดบัง ทางเดินชีวิต

ล้มคือธรรมดา ต้องหยุด ฟื้นกำลังวังชา

รับทุกบทเรียนจากฟ้า รับว่าใจเหนื่อยล้า ยังศรัทธาและคอยที่จะเรียนรู้

แพ้คือธรรมดา เข้าใจ หากยังมีพรุ่งนี้ อีกไกล…

 

ประโยคข้างต้นคือส่วนหนึ่งจากเนื้อเพลง ‘แสงสวรรค์’ บทเพลงล่าสุดจากวงบอดี้แสลม ที่เพิ่งปล่อยออกมาเมื่อไม่นานนี้ และเป็นเพลงที่เป็นเหมือนบทสรุปของหนังสารคดีเรื่องที่ว่ามา

ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของเพลงนี้ว่า มาจากวันที่พี่ตูนต้องหยุดพักตามคำสั่งแพทย์ ราวปลายเดือนพฤศจิกายน 2560 ระหว่างที่กำลังทำภารกิจวิ่งจากเบตงสู่แม่สาย นั่นคือวันแรกและวันเดียวตลอดการวิ่ง 55 วัน ที่พี่ตูนต้องเบรกกลางคันเพราะเจ็บขา

“ช่วงที่ตัดต่อ 2,215 พอเราตกลงปลงใจกันว่าบิ๊กไอเดียของหนังคือ จะเล่าตัวตนพี่ตูนผ่านเนื้อเพลง งั้นถ้าวิ่งถึงเส้นชัยแล้วมีเพลงที่สะท้อนความรู้สึกจากการวิ่งครั้งนี้ได้ น่าจะเป็นบทสรุปที่สมบูรณ์แบบของหนังเลย เราได้แต่แอบหวังลึกๆ ในใจว่าเพลงนี้จะเกิดขึ้นจริง จนกระทั่งได้ฟังเดโม่เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษแรกสุดเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์…

“เช้าวันนั้นที่โรงแรมริมทะเล ผมวิ่งจ๊อกกิ้งผ่านหน้าบ้านพัก เห็นพี่ตูนมานอนอ่านหนังสือ เลยไปเอากล้องมาตั้งถ่าย ครู่หนึ่งแกก็กลับเข้าบ้าน พวกเราจึงล้มเลิกและกลับไปนอน ใครจะไปคิดว่าหลังจากนั้นห้านาที แกจะเอากีต้าร์ออกมาแต่งเพลงที่พูดถึงความรู้สึกของการต้องฝืนใจหยุดพักเพราะคำสั่งหมอ เพลงๆ เดียวที่หนังของพวกเราเฝ้ารอ…”

แม้เพลง ‘แสงสวรรค์’ จะเป็นเพลงที่เข้ามาเติมเต็มหนังเรื่องนี้ได้อย่างลงตัว ดังที่ผู้กำกับได้กล่าวอ้างไว้ ทว่าโดยส่วนตัวแล้ว ผมรู้สึกว่าเพลงที่สะท้อนหัวใจของหนังเรื่องนี้ รวมถึงตัวตนของพี่ตูน ได้ชัดและลึกยิ่งกว่า คือเพลงที่ชื่อว่า ‘คราม’

 

-3-

ทะเลแสนไกลไม่มีสิ้นสุด สีครามหมายความเหมือนใจมนุษย์ ลึกเกินจะรู้

เธอจะอยู่หรือไป สักวัน ถ้าคนที่เธอเคยไว้ใจ

ถึงตอนสุดท้ายไม่เป็นอย่างฝัน มันไม่มีอะไรสวยงาม…

 

ก่อนจะเข้าไปดูหนังเรื่องนี้ ผมมีความคาดหวังส่วนตัวอยู่ลึกๆ ว่า ผู้กำกับคงไม่นำเสนอพี่ตูนออกมาในลักษณะที่เป็นดูเป็นซูเปอร์ฮีโร่จนเกินไป สิ่งที่ผมอยากเห็นคือด้านที่เป็นมนุษย์ของพี่ตูน ซึ่งคนทั่วไปอาจไม่เคยเห็นหรือสัมผัส

เพราะที่ผ่านมา พูดได้ว่านับตั้งแต่พี่ตูนออกวิ่ง แม้จะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้างประปราย แต่โดยรวมแล้วสื่อทั้งหลายที่เกาะติดการวิ่งของพี่ตูนครั้งนี้ ล้วนนำเสนอในแง่มุมของการเป็นผู้เสียสละ เป็นฮีโร่ ตามติดสถานการณ์และยอดบริจาคแบบรายวัน รายชั่วโมง ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอย่างใด ทว่าสิ่งที่ควรทำนอกเหนือจากนั้น เช่น การต่อยอดประเด็นเรื่องระบบสาธารณสุขซึ่งเป็นต้นตอปัญหา หรือการตามไปดูว่าเงินที่ได้รับบริจาคมาถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร กลับแทบไม่มีให้เห็น

ว่าไปแล้ว นี่อาจเป็นจุดบอดอย่างหนึ่งของการยกย่องฮีโร่แบบไทยๆ โดยเฉพาะจากภาพที่เราเห็นในสื่อต่างๆ คือเมื่อใครคนหนึ่งลุกขึ้นมาทำความดี หรือทำประโยชน์บางอย่างอันเป็นที่ประจักษ์แก่ส่วนรวม เรามักจะเชื่อว่าคนนั้นเป็น ‘คนดี’ ไปโดยปริยาย ในความหมายของการเป็นคนดีแบบสุดโต่ง โดยละเว้นการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ กระทั่งมองข้ามข้อบกพร่องหรือด้านที่ไม่ดีของฮีโร่คนนั้นไป ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี

โชคดีที่หนังเรื่องนี้ทำออกมาในแบบที่ผมคาดหวังไว้ มิหนำซ้ำยังไปไกลและลึกกว่าที่คิด

กล่าวคือแม้ในหนังจะมีฉากที่ทำให้พี่ตูนดูเป็นฮีโร่อยู่มากมาย แต่อีกด้านก็พยายามวิพากษ์วิจารณ์พี่ตูนไปด้วยในตัว ผ่านอิริยาบถและคำพูดบางอย่างของพี่ตูนที่เราคาดไม่ถึง ควบคู่ไปกับคำวิจารณ์ผ่านปากคำของคนรอบข้าง

ประโยคอย่าง “แม่ง…โคตรดื้อเลย” ที่ทีมงานแอบนินทาพี่ตูนลับหลัง ให้ทั้งความรู้สึกตลกและเจ็บปวดในเวลาเดียวกัน เพราะนั่นคือสิ่งที่เราต่างทำและถูกกระทำกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน คือยกข้อเสียของคนอื่นมานินทา พอเผลอก็ตกเป็นเหยื่อของการนินทาเสียเอง

ผมไม่แน่ใจนักว่า ตอนที่พี่ตูนได้ดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรก เขารู้สึกอย่างไร เจ็บปวดแค่ไหนเวลาเห็นภาพที่ตัวเองดูไม่ค่อยดีนัก แต่หากยึดตามจากสิ่งที่ผู้กำกับเขียนบันทึกไว้ เขาบอกว่าตอนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรก พี่ตูนไม่ชอบใจเท่าไหร่ แต่สุดท้ายก็ยอมรับการตัดสินใจทั้งหมดของผู้กำกับ โดยไม่แก้ไขเลยแม้แต่นิดเดียว

สำหรับผม นี่เป็นสิ่งที่น่านับถืออย่างยิ่ง ขณะเดียวกันก็ต้องชื่นชมผู้กำกับและทีมงานที่ทำสารคดีเรื่องนี้ด้วย ที่กล้าหาญพอที่จะเล่าแง่มุมเทาๆ ของฮีโร่ที่คนทั่วประเทศรัก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่นัก

ตอนที่ผมรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ และคิดว่าเป็นแก่นที่ช่วยทำให้หนังเรื่องนี้มิติ คือช่วงที่ ขจรเดช พรหมรักษา หรือ ‘กบ บิ๊กแอส’ โปรดิวเซอร์คู่บุญของวงบอดี้สแลม ผู้เป็นเสมือน ‘ร่างทรง’ ที่เขียนเพลงฮิตมากมายให้พี่ตูนร้อง บอกเล่ามุมมองที่เขามีต่อน้องรัก ตั้งแต่เรื่องนิสัย ทัศนคติในการใช้ชีวิต ไปจนถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้พี่ตูนออกวิ่ง

ช่วงหนึ่งเขาบรรยายว่า ยิ่งพี่ตูนได้รับการชื่นชม ยกย่องเป็นฮีโร่มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งอันตราย เพราะเราไม่มีทางเดาได้เลยว่า หากพี่ตูน ‘พลาด’ ขึ้นมา จะเกิดอะไรขึ้น

ลองจินตนาการเล่นๆ ว่า ถ้าหากคนที่เรายกย่องชื่นชม ไม่ว่าจะในฐานะฮีโร่ ไอดอล หรืออะไรที่สูงส่งกว่านั้น เกิดทำเรื่องผิดพลาดขึ้นมา กระทั่งไม่ได้ใสสะอาดอย่างที่เราคิด ภาพจำอันสูงส่งรวมถึงความรู้สึกดีๆ ที่เรามีต่อเขา ย่อมถูกสั่นคลอน และความรู้สึกที่ตามมาอาจกลับตาลปัตร แปรเปลี่ยนจากความรักเป็นความเกลียดชังได้อย่างไม่ยากเย็น

ตัวอย่างในอดีตมีให้เห็นมาแล้วนักต่อนัก โดยเฉพาะบรรดาฮีโร่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าภาวะที่ว่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากเราไม่ยกพวกเขาเหล่านั้นขึ้นไปไว้บนหิ้งตั้งแต่ต้น เชิดชูจนเกินเหตุ เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนต่างเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ ที่มีดี มีร้าย และสามารถทำสิ่งผิดพลาดได้เสมอ

ไม่มีมนุษย์คนไหนหรอกที่เพอร์เฟกต์เลิศเลอในทุกมิติ—ไม่มี

 


ภาพประกอบจากเพจ ‘ก้าว’

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save