fbpx
โลกนี้นี่ดูช่างดูยอกย้อน

โลกนี้นี่ดูช่างดูยอกย้อน

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

-1-

“รู้จักไพบูลย์ บุตรขัน มั้ย” นักเขียนรุ่นพ่อโยนคำถามลงกลางวงสุรา ขณะท่วงทำนองเนิบหวานแว่วผ่านลำโพง

สมาชิกรุ่นลูกที่นั่งกันอยู่ 4-5 คนพากันหลบตา นิ่งฟังบทเพลงอ้อยอิ่งพลางพิจารณาและค้นความจำ

“นักร้องลูกทุ่งเหรอครับ” ใครบางคนพ่นคำตอบคล้ายหยั่งเชิง

ชายวัยห้าสิบกว่ายิ้มมุมปาก ส่ายหน้าเบาๆ แล้วยกแก้วจิบ

ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่โตมากับเพลงป็อปยุคเก้าศูนย์ หัดเล่นกีต้าร์ในสมัยที่พี่ตูน บอดี้สแลม ออกอัลบั้มแรก คลั่งไคล้วงดนตรีร็อคขาเดฟแบบเข้าเส้น และเพลงลูกทุ่งจัดเป็นหมวดหมู่ท้ายๆ ที่สนใจ ไม่แปลกอะไรที่ผมจะไม่รู้จักไพบูลย์ บุตรขัน

ทว่าข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งซึ่งทั้งลักลั่น และชวนให้ประหลาดใจ คือการรับรู้เมื่อไม่นานมานี้ว่า ผมสามารถร้องเพลงที่ไพบูลย์ บุตรขัน เป็นผู้แต่ง ได้หลายต่อหลายเพลง หนึ่งในนั้นคือเพลงที่หัดร้องมาตั้งแต่ประถมอย่าง ‘ค่าน้ำนม’

และยิ่งประหลาดใจหนักเข้าไปอีก เมื่อได้ยินใครบางคนยกย่องไพบูลย์ บุตรขัน ให้อยู่ระดับเดียวกันกับบ็อบ ดีแลน ศิลปิน-นักแต่งเพลงระดับตำนาน ผู้ได้รับการจารึกชื่อในรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม

แวบแรกที่ได้ยินผมรู้สึกขำ แล้วจึงสำเหนียกในภายหลังว่าตัวเองช่างไร้เดียงสา

-2-

“สี่ปีกว่าที่ต้องพลัดที่นา คาที่อยู่ ย่อมคิดถึงบ้าน แต่ผมไม่คิดกลับบ้าน บ้านเมืองที่ป่าเถื่อน เพียงคนคิดต่าง ก็ถูกไล่ออกจากบ้านเป็นหมูหมา และขนาดหนีออกจากบ้านแล้ว ยังตามไล่ล่า…”

ข้อความข้างต้นปรากฏอยู่ในจดหมายของ วัฒน์ วรรลยางกูร ส่งตรงจากนอกราชอาณาจักรไทย ถึงผู้คนที่มาร่วมงานรำลึก 100 ปีชาตกาลไพบูลย์ บุตรขัน พร้อมเปิดตัวหนังสือ ‘คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน’ ฉบับปรับปรุงใหม่ ซึ่งวัฒน์เป็นผู้เขียน

“ความคิดอยากกลับบ้านเพิ่งมาเกิดขึ้นสอง-สามวันนี้ เมื่อได้เห็นหมายงาน 100 ปี ชาตกาลครูไพบูลย์ และ 20 ปี หนังสือคีตกวีลูกทุ่ง ดูรายการ นึกคาดหมายภาพบรรยากาศน่าสนใจและน่าสนุก ทั้งภาคสาระและบันเทิง รวมทั้งสถานที่จัดงานคือร้านเฮมล็อก ผมเคยมานั่งตั้งแต่เปิดร้านใหม่ๆ สมัยเขียนคอลัมน์ประจำอยู่แถวๆ นี้

“รู้สึกอกจะแตกครับ เหมือนเพื่อนเล่นบอลรออยู่ที่ลานวัด แต่เราไปไม่ได้เพราะต้องช่วยย่าขุดหลุมปลูกกล้วย อยากได้ฟังเพลงมนต์รักแม่กลองสดๆ ร่วมกับท่านทั้งหลาย ไม่ใช่ฟังอยู่คนเดียวขณะทำกับข้าวอยู่ในแคมป์ลี้ภัยอย่างที่เป็นมาหลายปี…”

เย็นย่ำวันที่ 14 กรกฏาคม บรรยากาศบนชั้นสองของร้านเฮมล็อก ถนนพระอาทิตย์ อัดแน่นด้วยแฟนเพลง-แฟนหนังสือ ราวๆ ห้าสิบชีวิต มีตั้งแต่รุ่นคุณลุง ไล่ลงมาจนถึงวัยรุ่นอายุยี่สิบต้นๆ

งานเริ่มต้นด้วยการบรรเลงเพลงฮิตจากปลายปากกาของไพบูลย์ บุตรขัน ต่อด้วยวงเสวนากับนักเขียน-นักแต่งเพลง ผู้มีเพลงของไพบูลย์คอยหล่อเลี้ยงชีวิตและหัวใจ ซึ่งช่วยไขความกระจ่างได้เป็นอย่างดี ว่าเหตุใดใครหลายคนจึงยกย่องไพบูลย์ บุตรขัน (และมักจะเรียกกันติดปากว่า ‘ครูไพบูลย์’) ถึงเพียงนี้

ค่าน้ำนม มนต์รักลูกทุ่ง มนต์รักแม่กลอง มนต์เมืองเหนือ โลกนี้คือละคร บุพเพสันนิวาส แม่ค้าตาคม กลิ่นโคลนสาบควาย ฝนเดือนหก น้ำตาเทียน ฯลฯ คือตัวอย่างเพียงเสี้ยวเดียวที่ออกมาจากปลายปากกาของครูไพบูลย์ หลายเพลงจุดประกายให้นักร้องมากมายดังเป็นพลุแตก สืบทอดความอมตะจากการนำมาขับร้องและบันทึกเสียงใหม่โดยศิลปินรุ่นถัดๆ มา ถึงวันนี้หลายเพลงมีอายุไม่ต่ำกว่า 60-70 ปี

“เรียกว่าตายไปเลย แดดิ้นเลย เวลาเราฟังจะรู้สึกว่า คิดได้ยังไง คำนี้ เมโลดี้นี้” คือคำสารภาพของ สมพงศ์ ศิวิโรจน์ ศิลปินผู้อยู่เบื้องหลังเพลงฮิตมากมายของวง ‘มาลีฮวนน่า’

เขาเป็นแฟนตัวยงของเพลงครูไพบูลย์ ได้วิธีคิดและแรงบันดาลใจในการเขียนเพลงจากครูไพบูลย์มาเต็มๆ

“สายตาของครูไพบูลย์ ไม่เหมือนคนทั่วไป เป็นสายตาของคนพิเศษ เหมือนเวลาที่ฝนตกแล้วน้ำขังเป็นแอ่ง จะมีสักกี่คนที่มองเห็นเป็น แอ่งน้ำตา นี่คือสายตาของคนพิเศษ เหมือนสายตาของแวนโก๊ะ คนทั่วไปจะมองไม่เห็นสายลมเป็นเส้นอย่างนั้นหรอก แต่แวนโก๊ะมองเห็น ครูไพบูลย์ก็เช่นกัน”

สมพงศ์บอกว่าจุดเด่นสำคัญที่ทำให้เพลงของครูไพบูลย์ติดหู คือการยกธรรมชาติมาเปรียบเปรยกับอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ โดยใช้คำเรียบง่าย เนื้อหาคมคาย และมีสัมผัสไพเราะ

“เพลงครูไพบูลย์นี่ฮุคตลอดเวลา ฮุคตั้งแต่ท่อนแรก ฮุคตั้งแต่ยังไม่ถึงท่อนฮุค…” พูดพลางหัวเราะ “หมายถึงว่าคุณต้องคอยฟังต่อ เหมือนเล่นจิ๊กซอว์ ขึ้นต้นเพลงมา เราจะรู้สึกว่ามีชิ้นส่วนที่ขาดไป พอฟังไปสักพัก จะมีชิ้นส่วนที่เข้ามาต่อลงล็อคพอดี ทั้งคำ ทั้งเนื้อหา มันจะเล่นความรู้สึกกับคนฟังว่า คำนี้แหละที่รออยู่ ส่วนเนื้อหาก็คมคาย เลือดซิบตลอดเวลา…”

“อย่างเช่นเรื่องรักไม่สมหวัง แกก็เปรียบเปรยว่า ห้องจะกลายเป็นรังหนู เรือนหอที่รอรักอยู่ จะกลายเป็นเรือนร้าง ข้าว ที่มองเห็นอยู่เต็มฉาง ก็เหมือนก้อนดินที่วางอยู่ตามท้องนา (จากเพลง น้ำค้างเดือนหก) นี่คือรักไม่สมหวังของครูไพบูลย์ หรืออย่างเพลงแม่ค้าตาคม แล่นเรือด่วนวิ่งไป เหมือนหัวใจพี่ตกหลุม แกเอามาเปรียบได้หมด จะใช้สัญลักษณ์แบบนี้เยอะมาก แล้วก็เป็นสัญลักษณ์ที่ได้ผล ส่งผลต่อคนฟัง”

นอกเหนือจากเนื้อหาและท่วงทำนอง สมพงศ์บอกว่าเพลงของครูไพบูลย์ยังสอดคล้องกับสถานที่ต่างๆ ด้วย เป็นต้นว่า

“เวลาเรานั่งรถผ่านท่าเตียน เพลงแม่ค้าตาคมจะดังแว่วในหัวทันที ผ่านที่นั่นที่นี่ เพลงของครูไพบูลย์ก็จะดังขึ้นมาทันที เห็นทุ่งนา เพลงมนต์รักลูกทุ่งก็ลอยมาเลย หรือเวลาขึ้นเหนือ ไปเชียงใหม่ ก็จะนึกถึงมนต์เมืองเหนือ”

หลังจากบรรยายกลวิธีเขียนเพลงมาพอประมาณ สมพงศ์ทิ้งท้ายอย่างรู้งานว่า “จริงๆ แล้วเรื่องพวกนี้ผมไม่ควรอธิบายอะไรมากหรอกครับ มันต้องเอามานั่งฟัง ฟังไปเรื่อยๆ แล้วเราจะซึมซับไปเอง ผมเชื่อว่าถ้าฟังเพลงครูไพบูลย์เยอะๆ คุณจะเป็นนักแต่งเพลงได้”

คล้อยหลังงานเสวนา ผมหนีบหนังสือเล่มหนากลับบ้าน เปิดอ่านคลอไปกับเพลย์ลิสต์ของครูไพบูลย์ บุตรขัน

หลายเรื่องราวในหนังสือสั่นสะเทือนหัวใจพอๆ กับเพลงที่ก้องอยู่ในหู

-3-

โลกนี้นี่ดูยิ่งดูยอกย้อน เปรียบเหมือนละคร ถึงบทเมื่อตอนเร้าใจ บทบาทลีลาแตกต่างกันไป ถึงสูงเพียงใด ต่างจบลงไปเหมือนกัน…

ประโยคข้างต้นอยู่ในเนื้อเพลง ‘โลกนี้คือละคร’ แต่งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2496 นอกจากจะเป็นเพลงที่คุ้นหูมาแต่เด็กและร้องตามได้แล้ว ผมคิดว่าเพลงนี้น่าจะเป็นเพลงหนึ่งซึ่งสะท้อนชีวิตของคนสามัญ รวมถึงชีวิตของครูไพบูลย์ บุตรขัน ได้อย่างแจ่มชัด ดังที่วัฒน์ วรรลยางกูร เขียนไว้ในคำนำหนังสือคีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน ว่า

“ผมพบว่า ชีวิตและงานครูไพบูลย์เป็นเสมือนนวนิยายที่มี theme แข็งแกร่ง คือ theme ว่าด้วยความรักของแม่กับลูก และความรักอันสูงส่งของชายหนุ่มหญิงสาว บวกเข้ากับเนื้อหาเพลงที่เข้มข้นด้วยคุณค่าสาระทางการเมือง และสังคมชนชั้น มันช่างอุดมสมบูรณ์ลงตัวอะไรขนาดนี้ เป็นชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย หรือไม่ก็เป็นนวนิยายที่พระเจ้าเขียนอย่างสุดแสนจะกล่าว

“แม่ซึ่งรักลูกวัยหนุ่มที่นอนป่วย มีเลือดน้ำหนองไหล แต่ไม่เคยรังเกียจ หญิงสาวสวย เก่ง แม้ชายคนรักจะป่วยเป็นโรคน่ารังเกียจ แต่เธอเห็นคุณค่ากวีแก้วในบทเพลงของเขา เธอจึงยังรักเขาจนไม่ยอมไปแต่งงานกับใครกระทั่งแก่ชรา…”

หนังสือ 'คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน' ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ The Writer's secret
หนังสือ ‘คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน’ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ The Writer’s secret

นอกจากคุณูปการในฐานะครูเพลงคนสำคัญ ผู้เป็นเสมือนรากแก้วของวงการเพลงลูกทุ่ง-ลูกกรุง ในยุคบุกเบิกแล้ว แง่มุมชีวิตของครูไพบูลย์ก็มีความน่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน ตั้งแต่การเติบโตขึ้นมาในช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ชีวิตรักอันลุ่มๆ ดอนๆ ไปจนถึงการประสบ ‘โรคเรื้อน’ ตั้งแต่วัยหนุ่มแน่น และทุกข์ทนอยู่กับโรคร้ายนี้ไปอีกเกือบยี่สิบปีจนกระทั่งเสียชีวิต โดยที่ระหว่างนั้นยังสามารถสร้างผลงานเพลงออกมาอย่างไม่ขาดสาย

ผู้อ่านที่สนใจสามารถไปหาอ่านอย่างละเอียดได้ในหนังสือเล่มที่ผมอ้างถึง ซึ่งวัฒน์ วรรลยางกูร ได้บันทึกไว้อย่างครบถ้วนในรูปแบบของสารคดีที่อ่านเพลิน แต่ในที่นี้ ผมขอยกบางบทตอนที่เป็นคำสัมภาษณ์ของ ไพบูลย์ บุตรขัน ว่าด้วยแรงบันดาลใจและวิธีคิดในการเขียนเพลงมาให้อ่านกัน

ขั้นแรกเกิดใจรักก่อนครับ เพราะว่าในทางด้านกวีหรือว่าโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ผมก็มีนิสัยรักมาตั้งแต่เรียนหนังสืออยู่ ชอบการเขียนกลอนเล่น ชอบอ่านหนังสือประเภทโคลงกลอน แม้กระทั่งหนังสือลำตัด ผมก็ซื้อมาอ่าน เลยรู้สึกฝังหัวในทางด้านเขียนบทกลอน

นอกจากท่านจะขีดๆ เขียนๆ กลอนใส่ทำนองลงไปแล้ว ท่านยังจะต้องสอดใส่แนวคิดอันเป็นวิวัฒนาการของกลุ่มก้าวหน้าลงไปด้วย และเมื่อท่านสมัครใจที่จะเป็นนักแต่งเพลงโดยแท้จริงแล้ว ท่านจะต้องมีใจหนักแน่นเยือกเย็นพอที่จะรับฟังข้อวิจารณ์ผลงานที่ท่านผลิตออกไป

การเป็นนักแต่งเพลงเปรียบเสมือนผู้ที่รับใช้ส่วนรวม คือผลิตอาหารทางใจออกมา ถ้าท่านต้องการให้ผมเป็นนักแต่งเพลงที่ดีต่อไป ก็ให้ข้อคิดเห็นวิจารณ์มา ผมยินดีรับฟัง เราไม่ใช่ว่า ฉันแต่งเพลงเก่งแล้ว แต่งมานานแล้ว ฉันไม่ยอมรับฟังใครทั้งนั้น เราไม่ใช่อย่างนั้นครับ…

ผมเคยมีอุดมคติอยู่ว่า เราเป็นนักแต่งเพลงหรือนักเขียนซึ่งมีอิทธิพลต่อผู้ฟังอยู่เหมือนกัน หมายความว่าเราจะให้ยาพิษกับผู้ฟังหรือประชาชนซึ่งหลงใหลผลงานเรา ก็เรียกว่าบาปอย่างหนึ่งเหมือนกัน นักวิจารณ์ทุกท่านอย่าได้ย่อท้อเหนื่อยต่อการทำหน้าที่ของท่าน ถูกต้องแล้ว ใครผิดควรเตือน ใครดีควรชมเขาบ้าง การแต่งเพลงด้วยอารมณ์ประการเดียวยังไม่พอ จำต้องใช้ปัญญาเข้าสอดแทรกด้วย

จะเห็นได้ว่า นอกจากทัศนคติที่เปิดกว้างต่อคำวิจารณ์แล้ว ครูไพบูลย์ยังสะท้อนให้เห็นถึงการสอดแทรกความคิดก้าวหน้าลงไปในบทเพลงด้วย

ผมนึกถึงข้อสังเกตที่บินหลา สันกาลาคีรี บรรณาธิการของหนังสือเล่มนี้พูดในงานเปิดตัวหนังสือว่า นอกจากปีนี้จะเป็นวาระ 100 ปีชาตกาลของครูไพบูลย์ บุตรขัน ยังมีศิลปินเลื่องชื่อคนอื่นๆ ที่เกิดในปีเดียวกันนี้อีก อาทิ นายผี, เสนีย์ เสาวพงศ์, มงคล อมาตยกุล, อิงอร ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นศิลปินที่มีความคิดก้าวหน้า

“ประเทศไทยหลังปี 2475 เป็นช่วงที่คนเหล่านี้เติบโตเป็นคนหนุ่มพอดี ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีอิทธิพลบางอย่างที่คนเหล่านี้ได้เรียนรู้ ทั้งในแง่อุดมการณ์ ความกล้าหาญทางความคิด รวมถึงความมีสุนทรียะ จนตกผลึกออกมาเป็นงานศิลปะที่มีคุณค่าในที่สุด

“ผมเชื่อว่าสังคมไทยในวันนี้ อาจไม่ต่างจากช่วง 80-90 ปีที่แล้วนัก คือเป็นช่วงเวลาที่ทำให้คนหนุ่มคนสาวเรียนรู้และเติบโตจากความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสังคม แล้ววันหนึ่งที่เขาเติบโตทางความคิดอย่างเต็มที่ ผมเชื่อว่าเราจะได้เห็นอะไรดีๆ จากคนรุ่นนี้เช่นกัน”

-4-

สำหรับผม การได้ย้อนกลับไปฟังเพลงและศึกษาชีวิตของครูไพบูลย์ในช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้ค้นพบหัวใจสำคัญข้อหนึ่งในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ว่าสุดท้ายแล้วคนทำงานศิลปะทุกคนไม่อาจหลีกพ้นอิทธิพลของสภาวะบ้านเมืองที่เราดำรงอยู่ แต่งานที่จะคงอยู่เหนือกาลเวลาได้นั้น นอกเหนือจากความสมบูรณ์ในแง่สุนทรียะแล้ว ยังต้องยึดโยงและจรรโลงสังคมในทางใดหนึ่งด้วย

หากมองในแง่นี้ การเปรียบเทียบครูไพบูลย์ บุตรขัน กับบ็อบ ดีแลน จึงไม่ใช่เรื่องเกินจริงหรือเพ้อฝันแต่อย่างใด

“ปีนี้ครบ ‘100 ปี ชาตกาล ครูไพบูลย์’ น่าแปลกว่าช่างเงียบงันเหลือเกิน ไม่มีข่าว ไม่มีองค์กรใดแสดงตัวออกมาเลย ที่จะรำลึกเชิดชูเกียรติบุคลากรอันเป็นทรัพย์สินเลอเลิศของแผ่นดิน เย็นชาอะไรปานนั้น ดูดายอะไรปานนั้น…” คือคำตัดพ้อสั้นๆ ของวรพจน์ พันธุ์พงค์ หนึ่งในตัวตั้งตัวตีในการจัดงานรำลึกครั้งนี้

สอดคล้องกับคำที่สมพงศ์กล่าวไว้อย่างติดตลกว่า “ทรัพยากรมนุษย์แบบนี้ ร้อยปีถึงมีครั้งนึง ไม่ใช่ว่าจู่ๆ จะโผล่มา มันไม่เหมือนมะม่วงออกผลใหม่ทุกปี”

“เราต้องสร้างฮีโร่ให้เยอะกว่านี้ ในความหมายของฮีโร่จริงๆ นะครับ เมืองไทยเรามีคนเก่งเยอะ แต่คนเหล่านั้นกลับไม่ถูกยกย่องให้เห็นชัด ทุกวันนี้ฮีโร่ที่เห็นๆ กันอยู่จะเป็นอุปทานหมู่เสียเยอะ ไม่ใช่ฮีโร่ที่ถูกยกย่องจากตัวผลงานอย่างแท้จริง”

อย่างไรก็ดี ในสังคมที่เต็มไปด้วยความยอกย้อน ลักลั่น และให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรมเพียงผิวเผิน อาจไม่แปลกอะไรที่เรื่องราวของครูไพบูลย์ บุตรขัน จะมีให้เห็นเพียงประปราย กระจัดกระจาย ซ้ำร้ายยังขาดการเหลียวแลจากภาครัฐอย่างที่ควรจะเป็น

ยังไม่นับว่า บันทึกเกี่ยวกับชีวิตของไพบูลย์ บุตรขัน ที่ถือว่าครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดชิ้นหนึ่งนั้น เป็นผลงานสร้างสรรค์ของนักเขียนชั้นครูที่ยังคงต้องลี้ภัยอยู่นอกประเทศเพียงเพราะความคิดต่าง.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save