fbpx
สิ้นแสงดาว : เริงร่าท่ามกลางการต่อสู้

สิ้นแสงดาว : เริงร่าท่ามกลางการต่อสู้

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์ ภาพ

-1-

19 มิถุนายน 2561

บนดาดฟ้าใจกลางกรุง หลังคืนฝนกระหน่ำ วันนี้ฟ้าใสกระจ่าง จันทร์เสี้ยวเปล่งแสงนวลผ่านริ้วเมฆจาง ดาวบางดวงเรืองแสงอยู่ไกลๆ

ชั่วขณะหนึ่ง ใจผมลอยไปถึงเชียงใหม่

ภาพของชายแก่ร่างเล็ก ตาใสแป๋ว มีแก้วไม้ไผ่เสมือนอาวุธคู่กาย ใครต่อใครเรียกขานกันว่า ‘อ้าย’ พลันปรากฏในมโนสำนึก

“เมื่อกี๊เพิ่งรับโทรศัพท์ เป็นหลานอ้ายแสงดาว โทรมาแจ้งว่าเมื่อคืน อ้ายกลับจากสุดสะแนน เกิดหกล้มหน้าบ้าน เลือดคั่งในสมอง ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้เพราะเลือดไหลไม่หยุด เนื่องจากปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือด…”

สลับกับท้องฟ้าและแก้วเบียร์ตรงหน้า ผมจ้องข้อความในหน้าจอซ้ำๆ กระวนกระวายกับข่าวร้ายที่มิตรสหายแจ้งผ่านเฟซบุ๊ก

ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเป็นที่รักของผู้คนมากมาย แต่ ‘อ้ายแสงดาว’ หรือ ‘แสงดาว ศรัทธามั่น’ คือหนึ่งในนั้น

ทันทีที่ข่าวแพร่กระจาย มิตรสหายพากันเข้ามาส่งกำลังใจผ่านหน้าวอลล์ บางคนที่อยู่ใกล้รีบรุดไปเฝ้าไข้ที่โรงพยาบาล มิตรน้ำหมึกรุ่นหลานบางคนไม่อาจทนร้อนใจ จับรถไฟรอบดึกจากกรุงเทพฯ มุ่งสู่เชียงใหม่โดยพลัน

หากวัดกันด้วยอายุ อ้ายแสงดาวนับเป็นปู่ของผม แต่หากวัดกันด้วยวิถีชีวิตและจิตใจ อ้ายแสงดาวนับเป็นผู้ใหญ่เพียงไม่กี่คน ที่มีสถานะเป็นทั้งเพื่อนที่สนิทใจ และผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ

นั่นคือเหตุผลที่คนมากมายรู้สึกใจหายกับข่าวร้ายในค่ำคืนนี้

-2-

ราวสองปีก่อน ตอนที่ผมประจำการอยู่ที่ร้าน The Writer’s secret ควบคู่กับการเป็นมดงานของนิตยสารและสำนักพิมพ์ไรท์เตอร์ เป็นช่วงเวลาที่ผมพบเจออ้ายอยู่หลายหน

ท่ามกลางภาวะบ้านเมืองที่อึดอัด คณะรัฐประหารกุมอำนาจมาสองปี อ้ายขยันแวะเวียนมาพบปะน้องนุ่งที่กรุงเทพฯ ปรากฏตัวในวงเสวนาวิชาการ งานเปิดตัวหนังสือ ก่อนจะไปปักหลักตั้งวงที่โรงเหล้าป่าใจกลางพระนคร

หนอนหนังสือและนักเขียนมือใหม่อย่างผม แม้จะเคยได้ยินกิตติศัพท์มาบ้าง เคยเห็นหน้าค่าตากันห่างๆ เมื่อคราวไปเยือนร้านสุดสะแนน ทว่าเมื่อได้พบปะพูดคุยอย่างจริงจัง ก็สัมผัสได้ตั้งแต่ครั้งแรกว่าอ้ายเป็นคนน่ารัก จริงใจ ไร้อากัปถือตัวหรือวางมาดโอ่อ่าเช่นศิลปินรุ่นใหญ่หลายคน

“อ้ายคุยได้หมดแหละ เพราะอ้ายมันลูกทุ่งไง” คือคำตอบง่ายๆ จากชายที่เป็นทั้งกวีและนักเคลื่อนไหว เป็นทั้งชาวบ้านและปัญญาชน สถาปนาตนเป็นขบถโรแมนซ์ ต่อกรกับความอยุติธรรมในสังคมด้วยจิตวิญญาณเสรี

อ้ายแสงดาวไม่ใช่นักเขียนหรือศิลปินประเภทที่สร้างผลงานระดับขึ้นหิ้ง และยิ่งห่างไกลจากการเข้าชิงรางวัลยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ จึงไม่แปลกอะไรที่คนวงนอกจะไม่คุ้นเคยกับชื่อเสียงเรียงนามนี้

ทว่ากับคนที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงนักเขียน นักเคลื่อนไหว โดยเฉพาะกลุ่มศิลปินที่ปักหลักอยู่ทางเหนือ ย่อมรู้ดีว่าผลงานของอ้ายนั้นถูกจารึกไว้ในกวีหลายร้อยบท ในทุกการเคียงบ่าเคียงไหล่พี่น้องผู้ถูกกดขี่ และในน้ำมังสวิรัติหลากดีกรี ที่กลั่นออกมาเป็นความปรารถนาดีและมิตรภาพอันงดงาม

จำได้ว่าครั้งแรกที่ได้ร่วมวงกับอ้ายแบบยาวๆ ผมและชาวไรท์เตอร์อีก 4-5 ชีวิต ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานทั้งสิ้น นั่งดื่มกินกับอ้ายแบบไหล่ชนไหล่ บทสนทนาไหลคล่องพอๆ ของเหลวในแก้ว ชายอายุเจ็ดสิบปีไร้วี่แววเหนื่อยล้า คนหนุ่มอย่างผมทั้งอิจฉาและสงสัย

“ทำยังไงให้แข็งแรงแบบนี้ครับอ้าย”

“ก็อ้ายเป็นคนร่าเริงไง” อ้ายพูดพลางหัวเราะ “แล้วก็หายใจลึกๆ”

ง่ายแบบนี้เลยเนี่ยนะ ผมคิดในใจ คนหนุ่มสาวอีก 4-5 ชีวิตก็คงคิดไม่ต่างกัน

เมื่อเห็นน้องๆ พร้อมใจกันเงียบงัน อ้ายก็หันมากระซิบกับผมเบาๆ

“อะไรสาวๆ นะอ้าย” ผมถามย้ำ

“หญิงสาวไง… อ้ายชอบนึกถึงใบหน้าหญิงสาว” ว่าแล้วก็หัวเราะคิกๆ วงสนทนากลับมาคึกคักอีกครั้ง “แต่หญิงสาวเขาไม่นึกถึงเราหรอกนะ แต่แค่เรานึกถึงเขา เราก็สดชื่นแล้วไง เนอะ น้องใหญ่เนอะ”

หลังจบบทสนทนาสัพเพเหระ ผมชวนอ้ายคุยเรื่องบ้านเมือง อยากรู้ว่านักเคลื่อนไหวยุคบุกเบิกคิดอย่างไรกับสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานี้ ที่ปกครองโดยคสช. มาสองปีเต็ม

“เราไม่ได้อยู่ในรัฐบาลทหารอย่างเดียวนะน้องใหญ่ แต่เราอยู่ในรัฐบาลศักดินา หมายความว่าเขาพึ่งพิงกัน ฉะนั้นศักดินานี่สำคัญมาก…”

“ยังไงอ้ายก็ไม่เอา dictator อยู่แล้ว นักการเมืองห่าเหวเรายังด่ามันได้ไง ไอ้ทักษิณ อีปู เราด่ามันได้ตั้งแต่หัวยันตีน แต่ dictator เราด่ามันไม่ได้”

“อ้ายดีใจเน้อ ได้เจอน้องๆ คนรุ่นใหม่ๆ ที่ออกมาต่อสู้ อ้ายอยากมาให้กำลังใจ”

แม้จะเข้าสู่โหมดจริงจัง แต่อ้ายยังฉะฉาน บอกเล่าความคิดอ่านได้ชัดเจน และแม้ว่าในมือจะถือแก้วอยู่ตลอดเวลา แต่ใช่ว่าจะกระดกพร่ำเพรื่อ เสือสุราย่อมรู้อัตราการดื่มของตัวเอง

“แต่อ้ายยังมีหวังใช่ไหมครับ” ผมถามต่อ

“เราต้องมีหวังสิครับน้องใหญ่ อ้ายแก่ขนาดนี้ยังมีหวังเลย แล้วคนหนุ่มจะหมดหวังได้ยังไงเล่า”

“แต่เราอย่าไปคิดว่าต้องสำเร็จวันนั้นวันนี้ คิดแค่ว่า กูต้องสู้กับมัน ต้องเริงร่าท่ามกลางการต่อสู้”

“น้องใหญ่เชื่ออ้ายเถอะว่า โลกมันหมุนไปแล้ว แต่เราเหมือนถูกขังไว้อยู่ที่เดิม เหมือนหนังสือที่เพิ่งได้ซีไรต์ไง ไส้เดือนตาบอดน่ะ…”

ก่อนแยกย้าย อ้ายหยิบกระดาษเปล่าออกมาจากย่าม บอกให้ทุกคนในโต๊ะนั่งนิ่งๆ จากนั้นจึงลงมือสเก็ตช์ลายเส้นให้ชาวไรท์เตอร์เป็นที่ระลึก พร้อมจารึกบทกวีที่ช่วยกันแต่งคนละวรรค

 หัวใจเธอสดใส

ค่ำคืนนี้มีพลังใจ

เริงร่าสว่างไสว

We love all of you!

 

หลังจากคืนนั้นเป็นต้นมา อ้ายแสงดาวก็กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ผมผูกพันโดยไม่รู้ตัว แม้นานๆ จะเจอกันที แต่ทุกครั้งที่เจอหน้า อ้ายจะโผเข้ามากอด พร้อมเอ่ย “บุญฮักษา”

ใครเล่าจะคิดว่าอ้อมกอดของชายชราตัวเล็กๆ จะอุ่นได้เพียงนั้น แล้วใครเล่าจะทันคิด ว่าชายชราผู้เริงร่าจะด่วนจากลาอย่างกะทันหันเพียงนี้

-3-

22 มิถุนายน 2561

สามวันหลังการพักฟื้นที่โรงพยาบาล อ้ายหลับใหลตลอดกาล แสงดาวกลับคืนสู่ดิน

ในงานศพ มิตรสหาย กวี ศิลปิน พร้อมใจกันมาส่งอ้ายเดินทางไกล เป็นงานศพที่มีเสียงหัวเราะมากกว่าหยาดน้ำตา มีเสียงดนตรีขับกล่อมเคล้าบทกวียาวนานกว่าเสียงสวด เช่นเดียวกับขวดเมรัยที่ถูกเปิดถี่กว่าน้ำเปล่า สมดังปรารถนาสุดท้ายที่อ้ายแสงดาวกำชับไว้

“งานศพอ้าย ขอให้ทุกคนอย่าโศกเศร้า ให้แต่ละคนหิ้วน้ำมังสวิรัติมากินกัน ร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน และไม่ต้องใส่เสื้อดำ ให้ใส่เสื้อสีสันสดใสกันตามสบาย…”

สำหรับผม หากจะมีสักคำที่ใช้นิยามความเป็นอ้าย คงไม่มีคำใดเหมาะสมไปกว่าวลีคลาสสิคที่ว่า ‘Forever Young’

แสงดาว ศรัทธามั่น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save