fbpx

“Thank you for finding me” คืนสุดท้ายที่โรงหนังโรมานซ์

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

ธิติ มีแต้ม / กิตติ พันธภาค ภาพ

-1-

“ภาพยนตร์เป็นสิ่งไม่จีรัง ที่อยู่ในใจคนนั้นมีเพียงแค่หยิบมือ ส่วนที่ถูกหลงลืมนั้นมีมากมายพอๆ กับดวงดาวบนฟ้า แต่ว่า…มันมีค่าเพียงเท่านั้นจริงหรือ”

ประโยคข้างต้นคือใจความสำคัญจากภาพยนตร์เรื่อง ‘Tonight at Romance Theater’ หนังเรื่องล่าสุด และสุดท้าย ที่ผมจะได้เข้าไปชมในโรงภาพยนตร์ลิโด้

สารภาพว่าก่อนเข้าโรง ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร เพราะความตั้งใจแรกคือการไปตามเก็บบรรยากาศในวาระสุดท้ายของโรงภาพยนตร์เก่าแก่แห่งนี้ ขณะที่อีกใจหนึ่ง ก็อยากตีตั๋วเข้าไปดูหนังสักเรื่องเป็นการส่งท้าย—เรื่องอะไรก็ได้

หลังจากต่อคิวยาวเหยียด ผมได้ตั๋วเรื่องนี้มาแบบฉิวเฉียดก่อนโรงจะเต็ม คุณป้าคนขายตั๋วบอกว่านี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ที่มีคนเต็มเกือบทุกรอบขนาดนี้ และคงเป็นครั้งสุดท้ายที่คุณป้าจะได้เห็นภาพแบบนี้เช่นกัน

ด้านหน้าโรง ลุงหม่อง-ชายร่างสูงโปร่ง หน้าคม ผมหยักศก ยืนประจำการอยู่ในชุดสูทสีเหลืองสด เขาทำงานที่นี่มาสามสิบปีเต็ม ทำหน้าที่ตั้งแต่ฉีกตั๋ว เดินตั๋ว ไปจนถึงการเฝ้าเวรในยามค่ำคืน กินนอนอยู่ในห้องเก็บของเล็กๆ ด้านหลังจอฉายหนัง

วันนี้ลุงหม่องหล่อเนี้ยบเป็นพิเศษ ลูกค้าคนแล้วคนเล่าผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาขอถ่ายรูปคู่ คุณลุงยืนตรงแหน่ว มือไพล่หลัง ใบหน้าเรียบนิ่งสะท้อนความเขินมากกว่าเย็นชา

ห่างออกไปไม่ไกล ป้ารัตน์ ป้าตุ้ม ปักหลักขะมักเขม้นอยู่ในซุ้มป๊อปคอร์น อายุงานของทั้งคู่สูสีกับลุงหม่อง คลุกคลีอยู่ในโรงหนังตั้งแต่ยังเป็นสาว ยึดอาชีพเดียวแล้วยิงยาวถึงปัจจุบัน และอาจล่วงเลยไปจนบั้นปลายชีวิต หากโรงหนังไม่ปิดลงเสียก่อน

“แล้วถัดจากนี้จะทำอะไรต่อครับป้า” ผมสงสัย

“คงกลับไปตั้งหลักที่บ้านก่อนน่ะลูก อายุปูนนี้แล้ว ได้พักบ้างก็ดี…” ป้าตุ้มตอบเสียงใส แต่ไม่อาจกลบเกลื่อนแววตาหม่น

สำหรับคนที่อยู่กับอาชีพเดียวในสถานที่เดิมมาค่อนชีวิต การคิดฝันหรือเริ่มต้นสิ่งใหม่ในวัยที่เริ่มโรยรา ย่อมเป็นเรื่องยากเกินจินตนาการ หลังได้คุยกับคุณลุงคุณป้าหลายคน ผมค้นพบว่าในความโหยหาอาลัย ยังมีความสับสนเคว้งคว้างปนอยู่บางๆ

-2-

สองทุ่มเศษ ผมและผู้คนนับร้อยทยอยเดินเข้าโรง นี่คือรอบสุดท้ายของวันก่อนสุดท้าย หนุ่มสาววัยละอ่อนหลายคนมาเยือนที่นี่เป็นครั้งแรก ต่างจากคุณลุงคุณป้าอีกหลายคนที่ผูกพันตั้งแต่ยังแรกรุ่น

ความอบอุ่นลอยอวลในบรรยากาศ โรงขนาด 243 ที่นั่งถูกจับจองครบทุกที่ แสงไฟนีออนดับลง แล้วเรื่องราวโรแมนซ์แฟนตาซีก็ปรากฏขึ้นบนจอ

เป็นความบังเอิญอย่างประหลาด เมื่อพบว่าภาพยนตร์ที่กำลังนั่งดูอยู่นั้น คือหนังโรแมนติกแฟนตาซีสัญชาติญี่ปุ่น เดินเรื่องอยู่บนความผันผวนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในยุคเปลี่ยนผ่าน โรงหนังเก่าซบเซาร้างไร้ผู้คน ฟิล์มภาพยนตร์จำนวนมากถูกยัดเข้ากรุแบบถาวร สุ่มเสี่ยงต่อการหลงลืมมากกว่าจดจำ

ในภาพรวม นี่คือหนังรักชั้นดีที่มีครบรส ตัวละครเอกนามว่า ‘เคนจิ’ เป็นผู้ชายซื่อๆ ที่ทำงานอยู่ในกองถ่ายภาพยนตร์ชื่อดัง ความสุขของเขาคือการเหมาโรงในช่วงกลางคืนเพื่อดูหนังเรื่องโปรดที่ชื่อว่า ‘เจ้าหญิงจอมแก่น กับ 3 อสูร’ หนังขาวดำที่นำแสดงโดยมิยูกิ ดาราสาวรูปงามซึ่งเขาหลงใหลถึงขั้นที่ใฝ่ฝันว่าอยากได้เธอเป็นคนรัก

เคนจิดูหนังเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งวันสุดท้ายที่ฟิล์มม้วนนี้กำลังจะถูกขายให้นักสะสมของเก่า เหตุการณ์ประหลาดก็เกิดขึ้น เมื่อจู่ๆ โรงหนังถูกฟ้าผ่าจนไฟดับ ก่อนจะกลับมาสว่างอีกครั้ง พร้อมด้วยเจ้าหญิงมิยูกิที่ทะลุมิติออกมาจากจอ—ในสภาพที่เป็นขาวดำ

สำหรับผม การได้ดูหนังเรื่องนี้ ที่โรงนี้ ในวาระแบบนี้ เป็นประสบการณ์เฉพาะตัวที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง คล้ายกับตอนที่นอนอ่านหนังสือเรื่อง ฝนตกตลอดเวลา ของปราบดา หยุ่น ท่ามกลางเสียงฝนที่หล่นกระทบหลังคาตลอดคืน อาจต่างกันหน่อยตรงที่ว่า การดูหนังครั้งนี้มีสักขีพยานอีกเป็นร้อยคน

“ขอบคุณที่หากันจนเจอ” เจ้าหญิงมิยูกิเอ่ยถึงเหตุผลที่เธอตัดสินใจข้ามจากโลกภาพยนตร์มาสู่โลกความจริง เพื่อจะได้พบกับเคนจิ ชายคนเดียวและคนสุดท้ายที่เฝ้ามองดูเธอผ่านหน้าจอ

จากฟิล์มหนังไร้ค่าที่ไม่มีใครเหลียวแล ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางม้วนฟิล์มเก่าที่ไม่มีใครจดจำ แต่แล้วจู่ๆ ใครบางคนก็ทำให้ภาพในฟิล์มม้วนนั้นกลับมามีชีวิตอีกครา ท่ามกลางยุคสมัยที่ต่างออกไป

การที่เจ้าหญิงมิยูกิตัดสินใจข้ามมิติมาสู่โลกความจริง โลกที่เต็มไปด้วยสีสัน นอกจากจะทำให้เธอได้สัมผัสความงดงามของโลกใหม่แล้ว ตัวเธอเองก็งดงามขึ้นด้วยเช่นกัน

“นั่นเรียกว่าอะไร” เจ้าหญิงมิยูกิเอ่ยถาม เมื่อเหลือบไปเห็นแถบสีงดงามเป็นแนวโค้งข้ามขอบฟ้า

“รุ้งกินน้ำครับ” เคนจิตอบ “หากวันไหนโชคดี เราอาจได้เห็นรุ้งกินน้ำขึ้นซ้อนกันสองวง ว่ากันว่าถ้าอธิษฐานสิ่งใด คำอธิษฐานนั้นจะเป็นจริง”

สิ้นประโยค สายตาของเจ้าหญิงเป็นประกาย บางทีเธออาจใช้คำอธิษฐานนี้เพื่อคลายคำสาปอันโหดร้าย คำสาปที่ขวางกั้นเธอจากไออุ่นของคนรัก

ไม่รู้เพราะบรรยากาศ หรือเพราะเรื่องราวอันกินใจ ทำให้คนใจแข็งอย่างผมหลั่งน้ำตาออกมาในฉากท้ายๆ ความเจ็บปวดที่สุดของหนังเรื่องนี้ คือการที่เราเห็นสิ่งของหรือคนรักกำลังสูญสลายลงตรงหน้า แต่ทำอะไรมากไปกว่านั้นไม่ได้

-3-

31 พฤษภาคม 2561 ผมกลับมาที่ลิโด้อีกครั้ง ตั๋วรอบสุดท้ายถูกจองเต็มล่วงหน้าไปหลายวันแล้ว ทว่าผู้คนมากมายยังพร้อมใจกันมาร่วมงานอำลาโดยมิได้นัดหมาย

ท่ามกลางความพลุกพล่านวุ่นวาย ผมกับเพื่อนช่างภาพเดินหลบมาสูบบุหรี่ตรงมุมตึก ห่างออกไปไม่ไกลเป็นช่องเล็กๆ มืดๆ สำหรับเดินทะลุไปด้านหลังโรง ด้านหน้ามีป้ายเหล็กวางกั้นพอให้รู้ว่าเป็นพื้นที่เจาะจง เบื้องหลังป้ายเหล็กนั้น สูทสีเหลืองตัวหนึ่งแขวนอยู่บนกำแพง

ด้วยความสงสัย พวกเราเดินเข้าไปสำรวจใกล้ๆ ก่อนจะพบหญิงสาวร่างเล็กคนหนึ่งกำลังนั่งแพ็คข้าวของใส่ลังกระดาษ พอเหลือบเห็นเราสอง เธอส่งยิ้มใสเห็นฟันหลอ เป็นมิตรมากพอให้เราเยื้องย่างเข้าไปด้านใน จากนั้นบทสนทนาก็ไหลออกมาอย่างพรั่งพรู

เธอแทนตัวเองว่าป้าแจ๊ด สวมเสื้อยืดกางเกงขาสั้นรองเท้าแตะ แวบแรกเราหลงคิดว่าเธอเป็นแม่บ้านที่ปักหลักอยู่ที่นี่ ทว่าเมื่อคุยไปสักพัก จึงกระจ่างว่าเธอคือภรรยาของลุงหม่อง

“เจอกันที่เฉลิมไทย ตอนนั้นป๊าแจ๊ดก็ไปดูหนังตามปกตินี่แหละ ยังจำได้เลย หนังเรื่องผู้พันเรื่องพ่วง” ป้าแจ๊ดย้อนความหลังเมื่อสามสิบปีก่อน

“ตอนนั้นลุงหม่องยังอยู่ที่เฉลิมไทย เป็นคนเดินตั๋ว กว่าป้าจะไปถึงหนังก็จะเริ่มแล้ว ได้นั่งแถวเกือบหน้าสุดเลย ทีนี้พอหนังเริ่มฉาย ลุงหม่องแกก็ตามเข้ามา สะกิดบอกป้าให้ไปนั่งแถวหลัง ยังเหลือที่ว่างอยู่ที่นึง…” ป๊าแจ๊ดเล่าไปยิ้มไป ผมในฐานะคนรุ่นลูกได้แต่ฟังแล้วอมยิ้มตาม

“โห เห็นนิ่งๆ อย่างนี้ ลุงหม่องแกโรแมนติกเหมือนกันครับเนี่ย” ผมหยอก

“เออ ป้ามารู้ทีหลังว่าแกเห็นป้าตั้งแต่ก่อนเข้าโรงแล้ว พอรู้ว่าป้านั่งแถวหน้า แกก็เดินตามเข้ามา ร้ายจริงๆ”

ราวกับเป็นโลกคู่ขนาน หลังจากที่ผมเข้าไปดูหนังรักข้ามภพฉบับแฟนตาซี บัดนี้ผมได้พบคู่รักที่อยู่นอกโรงในฉบับเฉลิมไทย

“แล้วได้ดูหนังด้วยกันบ่อยมั้ยครับ” ผมถามต่อ

“ไม่เคยเลยเหอะ เรื่องนั้นแหละ เรื่องเดียว…”

ทุกวันนี้ป้าแจ๊ดทำงานเป็นผู้ช่วยกุ๊กอยู่ที่โรงแรมเอเชีย พอเลิกงานตอนสี่โมงเย็นก็จะมาหาลุงหม่องที่นี่ หาข้าวหากับให้กิน ตกดึกก็เข้านอนพร้อมกันในห้องเก็บของด้านหลังโรง เช้าวันใหม่ก็ต่างแยกย้ายกันไปทำงาน นานๆ ครั้งจึงจะกลับไปนอนที่บ้านย่านนนทบุรี

ป้าแจ๊ดเล่าว่าทุกวันนี้เงินเดือนของสองคนรวมกันราวๆ หมื่นแปด ของป้ามากกว่าของลุงอยู่นิดหน่อย ถือว่าพอกินพอใช้ในแต่ละเดือน ส่วนลูกสองคนก็โตพอจะหาเลี้ยงตัวเองได้แล้ว จึงไม่เป็นภาระมาก

“แต่ก็ไม่ได้เป็นโล้เป็นพายอย่างพวกเธอหรอกนะ” ป๊าแจ๊ดพูดแล้วยิ้มหยัน รู้ทันความคิดของคนเงินเดือนหลักหมื่นอย่างผม

“แล้วหลังจากนี้ล่ะป้า เอายังไงกันต่อ” ผมเบี่ยงประเด็น

“ป้าก็ยังทำงานโรงแรมอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้กระทบอะไร ส่วนของลุงหม่องก็ต้องรออีกสี่เดือน ระหว่างนี้เขายังจ้างต่อ รอจนกว่าจะเคลียร์ของออกไปหมด” ของในทีนี้คือทุกอย่างที่เกี่ยวกับโรงหนัง ตั้งแต่เก้าอี้ในโรงไปจนถึงเครื่องฉาย พูดง่ายๆ คือเตรียมพร้อมสำหรับการรื้อถอน ก่อนผู้เช่ารายใหม่จะเข้ามา

“ตอนแรกที่มีข่าวว่าจะปิด ป้าก็ยังเฉยๆ นะ แต่พอถึงเวลาจริงๆ ก็เศร้าเหมือนกัน เพราะมันเหมือนบ้าน อยู่กันอย่างนี้มาเป็นสิบปี ทุกคนที่นี่ก็เหมือนคนในครอบครัว”

โดยส่วนตัว ผมอาจไม่ได้มีความผูกพันกับโรงหนังแห่งนี้อย่างใครหลายคน ทว่าเมื่อได้ฟังเรื่องเล่าจากคุณลุงคุณป้าทั้งหลาย ก็อดเศร้าใจไม่ได้เมื่อตระหนักว่าสถานที่แห่งนี้กำลังจะกลายเป็นเพียงตำนานบทหนึ่ง

-4-

ห้าทุ่มกว่า ได้เวลาที่หนังรอบสุดท้ายฉายถึงตอนจบ ผู้บริหารพร้อมพนักงานครบทีม พร้อมใจกันมายืนส่งผู้ชมออกจากโรงเป็นครั้งสุดท้าย

ดอกกุหลาบในมือแทนคำขอบคุณ ป้ายโพสต์อิทหลากสีแทนความในใจ ทั้งผู้ชมและผู้ให้บริการต่างยิ้มทั้งน้ำตา บ้างโผเข้ามาโอบกอดกัน ฉากจบของจริงที่ชวนให้ตื้นตัน อิ่มเอม

มีภาพยนตร์มากมายที่สูญหายจากความทรงจำของผู้คน เช่นเดียวกับโรงหนังเก่าๆ ที่โรยล้าลงตามยุคสมัย ผมได้แต่สงสัยว่าหากโรงหนังมีชีวิต และรู้ตัวว่ากำลังจะตาย คำพูดแบบไหนกันที่จะถูกเอื้อนเอ่ยเป็นคำสุดท้าย

คล้อยหลังความพังทลาย คุณค่าของมันจะจางหายไปด้วยจริงหรือ…

“ขอบคุณที่หากันจนเจอ” ผมนึกถึงคำพูดของเจ้าหญิงมิยูกิ เธอเอ่ยคำนี้กับเคนจิถึงสองครา ครั้งแรกเมื่อแรกเจอ และอีกครั้งเมื่อรู้ว่าจะต้องจากลา

นีออนหลากสียังเรืองแสง สวยราวสายรุ้ง น่าเสียดายที่มันจะดับลงในไม่ช้า

นอกจากคำขอบคุณและคำลา ผมเอ่ยคำอธิษฐานในใจ

“ขอให้พบกันอีก”

โรงภาพยนตร์ลิโด้ สูทเหลือง

โรงภาพยนตร์ลิโด้

โรงภาพยนตร์ลิโด้ ป๊อปคอร์น

โรงภาพยนตร์ลิโด้ พนักงาน

โรงภาพยนตร์ลิโด้

โรงภาพยนตร์ลิโด้

โรงภาพยนตร์ลิโด้

MOST READ

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

22 Jun 2022

อ่านประวัติศาสตร์ ‘สาธิตจุฬาฯ’ เรื่องเล่าลบเลือนของศิษย์เก่าผู้เกือบจะได้เป็นเจ้าฟ้า (?)

เรื่องเล่าการค้นหาประวัติการศึกษาที่หายไปของ หม่อมเจ้าวัชเรศร มหิดล (วัชเรศร วิวัชรวงศ์) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงที่เคยศึกษาที่สาธิตจุฬาฯ

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

22 Jun 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save