fbpx

After Yang ผีเสื้อ ต้นไม้ ใบชา

อยู่มาวันหนึ่ง หยางก็จากไป 

ทุกอย่างเรียบง่าย แค่เขาไม่ตื่นขึ้นมาอีก ราวกับแค่นอนหลับไปอยู่อย่างนั้น ราวกับเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่จู่ๆ ก็ไปจากโลก แต่เขาไม่ใช่เด็กหนุ่ม เขาเป็นหุ่นยนต์​ หุ่นยนต์ในร่างเด็กหนุ่มชาวจีนที่ถูกซื้อมาจากร้านมือสองเพื่อใช้เป็น ‘พี่เลี้ยง’ เด็กหญิงชาวจีนที่ถูกอุปการะเข้ามาในครอบครัว มีเด็กชาวจีนจำนวนมากถูกครอบครัวอเมริกันอุปการะหลังสงคราม เพื่อให้พวกลูกๆ มีชีวิตไม่ตัดขาดจากรากวัฒนธรรมเดิม หุ่นยนต์เหล่านี้จึงถูกประดิษฐ์ขึ้น 

ครอบครัวสี่คนนี้ประกอบขึ้นจากคุณพ่อคนขาวที่เปิดร้านขายชาแบบโบราณ หมายถึงใบชาอบแห้งที่รอเวลาจะเบ่งบานยามเทน้ำร้อนลงไป ร้านของคุณพ่อไม่มีชาสกัดที่ผู้คนนิยมดื่มกันในเวลานั้น คุณแม่เป็นคนดำ ทำงานอะไรสักอย่างที่ดูเหมือนยุ่งตลอดเวลา พวกเขานับหยางเป็นบุตรชายคนโต ส่วนเด็กหญิงมิกะ เป็นบุตรสาวคนเล็ก

เจคคนพ่อมีหน้าที่ดูแลบ้าน ขณะที่มายาคนแม่ออกไปทำงาน เจคมีหน้าที่พามิกะไปส่งโรงเรียน แล้วอุ้มหยางไปหาทางซ่อมก่อนที่ร่างกายของหยางจะเริ่มเสื่อมสภาพ เพื่อนบ้านที่เจคไม่ชอบหน้าแวะผ่านมา บอกให้เจคเอาไปซ่อมกับช่างคนหนึ่งที่อยู่นอกการควบคุมของบริษัท Brothers & Sisters ที่สร้างหุ่นยนต์นี้ขึ้นมา เจคส่งซ่อมตามระบบไม่ได้เพราะเขาไม่ได้ซื้อมาโดยตรง แต่ซื้อจากร้านมือสอง เขาลองกลับไปร้านเดิมในไชน่าทาวน์เพื่อจะพบว่ามันกลายเป็นร้านขายปลาตู้ไปแล้ว ลองพาไปซ่อมที่ศูนย์บริการเครือข่าย แต่พวกเขาซ่อมได้จำกัดตามขอบเขตที่บริษัทแม่ระบุไว้ แต่เขาส่งรีไซเคิลให้ได้ เจคอาจจะได้เสียงของหยางมาใช้เป็นเสียงตอบของข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน อะไรแบบนั้น เจคจึงต้องพาไปพบช่างคนดังกล่าว ที่เป็นมนุษย์สายต่อต้านรัฐและบรรษัท ช่างรัสบอกว่าในตัวหุ่นพวกนี้มีสปายแวร์ มีกล้องคอยบันทึกสอดส่อง ถ้าเจคเอาหุ่นพวกนี้ไปรีไซเคิล พวกบรรษัทจะรู้ข้อมูลส่วนบุคคลของคนทั้งครอบครัว เขาแกะชิ้นส่วนหนึ่งให้เจค บอกว่านี่เป็นกล้อง เป็นเครื่องสอดแนม เขาพาชิ้นส่วนนั้นไปยังพิพิธภัณฑ์เทคโนซาเปียนส์ ที่ศึกษาหุ่นยนต์เหล่านี้โดยเฉพาะ หญิงสาวนักวิศวกร นักมานุษยวิทยาและภัณฑารักษ์บอกเจคว่านั่นคือ memory bank ต่างหาก มันคือความทรงจำของหยาง ที่บันทึกภาพได้วันละหนึ่งนาที เธอมอบเครื่องมือให้เจค เพื่อให้เขากลับเข้าไปในความทรงจำของหยาง และในคลิปสั้นๆ เหล่ามีเรื่องราวมากมายบรรจุอยู่ 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงชั้นที่หนึ่งของเรื่องเล่า ที่ดูเหมือนมีเรื่องอยู่เพียงบางเบาเรื่องนี้ เรื่องเล่าที่อยู่ชั้นนอกเคลือบด้วยเรื่องของการเมืองแห่งโลกอนาคต ขณะที่เรื่องเล่าในชั้นที่ลึกลง อยู่ในกล่องบรรจุความทรงจำของหยาง เรื่องของเขา หญิงสาวโคลน เรื่องของต้นไม้ ใบชา และผีเสื้อ

โลกอนาคตในหนังเรื่องนี้ชวนให้นึกถึงสิ่งที่เคยเป็นแก่นแกนหนึ่งในหนังของอิงมาร์ เบิร์กแมนในยุคหลัง หนังที่ว่าด้วยผู้คนในสังคมสแกนดิเนเวียที่อิ่มเต็มในทางวัตถุ พวกเขาอยู่ในสังคมปัญญาชน ไม่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ถึงพร้อมไปด้วยเทคโนโลยี พวกเขาอยู่บนปลายสุดของห่วงโซ่แห่งสังคมทุนนิยม แต่พวกเขาก็ยังไร้สุข และบอกไม่ได้ว่าทำไมพวกเขาจึงไร้สุข

ภายใต้ท่าทีเรียบ เงียบงาม และพุ่งความสนใจไปยังปัจเจกชนของหนัง อันที่จริง มีความเป็นการเมืองซ่อนตัวอย่างเงียบเชียบแนบเนียนอยู่ตลอดทาง หนังเต็มไปด้วยดีเบตทางการเมืองทั้งเรื่องของการมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางไปจนถึงรัฐและการสอดส่อง โลกอนาคตใน After Yang อาจไม่มีอะไรเหมือนโลกแห่งความเย็นชาปวดร้าวที่ผู้คนเกลียดชังกันเองแบบในหนังของเบิร์กแมน ในทางตรงกันข้าม มันเป็นโลกที่เต็มไปด้วยความสุขสงบอบอุ่น โลกไปพ้นจากสุดปลายของทุนนิยมอีกขั้นด้วยการไปสู่สุดปลายของสังคมพหุวัฒนธรรม ครอบครัวที่ข้ามทั้งเพศ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ครอบครัวของเจคและมายา กลายเป็นครอบครัวที่ก้าวข้ามเชื้อชาติสีผิว เช่นเดียวกันกับครอบครัวอื่นในหนัง ในฉากเต้นของครอบครัวสี่คนต้นเรื่อง เราเห็นครอบครัวหลากหลายรูปแบบ ราวกับฝันที่เป็นจริงของชาวเสรีนิยมผู้สนับสนุนความถูกต้องทางการเมือง เรามีครอบครัวข้ามเชื้อชาติ มีครอบครัวที่มีแต่ผู้หญิงแบบคู่รักเลสเบี้ยนและเหล่าลูกสาว ครอบครัวที่มีคนวัยเดียวกัน ครอบครัวที่มีแต่พ่อและลูกๆ ที่เป็นมนุษย์โคลน

หากกระทั่งในยูโทเปีย ความขัดแย้งแบบเดิมก็ยังดำรงคงอยู่ เพียงยักย้ายถ่ายเทรูปแบบเป้าหมายไป พวกเขาไม่มีปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ แต่อคติย้ายจากสีผิวไปสู่ความเป็นมนุษย์แท้หรือไม่แท้ เจคไม่ชอบเพื่อนบ้านเพราะเขามีอคติกับลูกสาวมนุษย์โคลน เขาอาจจะยอมรับหยางเพราะหยางเป็นหุ่นยนต์ที่ไม่มีทางเป็นมนุษย์ เขาถึงกับเชื่อว่า ลึกๆ แล้วหยางอาจจะอยากเป็นมนุษย์ กลายเป็นว่าสำหรับเจคความเป็นมนุษย์กลายเป็นจุดสูงสุดให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทำตาม แบบเดียวกันกับที่คนขาวเคยเป็นจุดสูงสุดของการเป็นมนุษย์เจ้าอาณานิคม

อีกหนึ่งข้อขัดแย้งสำคัญคือข้อถกเถียงถึงความทรงจำของหยาง ในขณะที่สำหรับรัฐทุน หยางเป็นเพียงสิ่งของที่เสียก็ซ่อม ซ่อมไม่ได้ก็ซื้อใหม่ ส่วนที่ยังใช้ได้ก็นำมารีไซเคิล แต่สำหรับเจคที่มองหยางในฐานะที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางด้วยการวางตำแหน่งในฐานะส่วนหนึ่งของครอบครัวที่ไม่สามารถรีไซเคิลหรือแทนที่ได้ (กระทั่งมุมมองเช่นนี้ก็ไม่ใช่มุมมองของการเปิดรับหุ่นยนต์ แต่คือมุมมองที่อนุญาตให้หุ่นยนต์เป็นส่วนหนึ่ง ‘ถ้า’ หุ่นยนต์ เรียนรู้ที่จะเป็นมนุษย์ หรือ ‘อยาก’ เป็นมนุษย์ นำมาซึ่งดีเบตเล็กๆ ของเจคกับอาดา เด็กสาวโคลนที่หยางผูกสัมพันธ์ด้วย)

ในอีกทางหนึ่งหนังบรรจุมุมมองอีกสองแบบต่อหุ่นยนต์เอาไว้ ชิ้นส่วนบรรจุความทรงจำของหยางจึงเป็นทั้ง ‘สปายแวร์’ที่รัฐ/ทุน ใช้สอดส่องประชาชน เก็บข้อมูลส่วนบุคคล ที่อยู่ รสนิยม ข้าวของที่ใช้เพื่อจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ต่อ ในอีกฝั่งหนึ่งกลับมองว่านี่คือ ‘กล่องความทรงจำ’ ที่หยางเป็นผู้คัดสรรเอง ท่าทีเชิงบวกและลบต่อหุ่นยนต์เป็นดีเบตใหญ่เสมอ เราจึงมีนิยายวิทยาศาสตร์สองแบบที่แบบหนึ่งหุ่นยนต์จะครองโลก ปัญญาประดิษฐ์จะล้มล้างมนุษย์ และนิยายวิทยาศาสตร์ที่มองหุ่นยนต์ในฐานะเครือญาติในฐานะผู้ช่วยผู้รับใช้ที่จะทำให้สังคมก้าวหน้าขึ้น การที่หนังเหวี่ยงไปมาระหว่างช่างซ่อมของรัฐ ช่างซ่อมต่อต้านรัฐ และช่างซ่อมกึ่งนักมานุษยวิทยา (เธอศึกษาหุ่นยนต์ในฐานะสายพันธุ์ใหม่ของสิ่งมีชีวิตที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Techno Sapiens) ยังช่วยเปิดเผยให้เราเห็นถึงความสำคัญของมานุษยวิทยา /สังคมศาสตร์ ที่อาจจะจำเป็นต่อโลกไม่แพ้วิศวกรรมหรือการแพทย์ (แต่มันก็ชวนกลับไปตีกันใหม่เมื่อสาขาวิทยาการศึกษานี้มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง – แต่เราอาจจะใช้คำนี้ไปพลางๆ ก่อนเพราะเรายังไม่มีนิยามสำหรับรูปแบบชีวิตใหม่ๆ) 

เราอาจบอกได้ว่าหนังอีกเรื่องเริ่มต้นขึ้นหลังจากเจคเปิดกล่องความทรงจำของหยาง หลังจากนี้หนังเดินดิ่งลึกลงไปใน ‘ความทรงจำของปัญญาประดิษฐ์’ สิ่งซึ่งแตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ภาพที่ดูเหมือนไม่ความหมาย เงาต้นไม้บนผนัง คู่รักกอดประคอง เด็กน้อยเล่นในสวน ใบหน้าหันข้างของผู้หญิงที่แอบชอบ ใบชาร่วงหล่นลงในน้ำที่กำลังเปลี่ยนสี และการมองกระจก จ้องมองเข้าไปในตัวเอง

หนังประกบความทรงจำของหยางเข้ากับความทรงจำของคนที่เหลือในบ้าน จากบทสนทนาสามชิ้นที่พูดถึงต้นไม้ ใบชา และผีเสื้อ

หยางคุยกับมิกะเรื่องต้นไม้ เรื่องของการตัดต่อเอากิ่งของต้นอื่นมางอกในต้นใหม่ บทสนทนาของเด็กโดดเดี่ยวสองคนที่เป็นปลาผิดน้ำ ความแปลกแยกในฐานะคนเอเชียในสังคมคนขาว ที่แม้ว่าโลกไปไกลเพียงไหน ความแปลกแยกโดดเดี่ยวนี้ก็ดำรงคงอยู่ ในทางหนึ่งต้นไม้ฉายภาพของการมีชีวิต หรืออย่างน้อยก็ความกระเสือกกระสนที่จะมีชีวิตในรากของคนอื่น ดินของคนอื่น หรือจะพูดให้ถูกต้องคือร่างของคนอื่น 

สิ่งนี้ยังชวนให้ตระหนักถึงตำแหน่งแห่งที่ของหยางในโลกนั้น หยางเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเป็นเพื่อนให้เด็กเอเชียที่ถูกรับมาเลี้ยง หนังพูดเป็นนัยๆ ถึงสงครามระหว่างอเมริกากับจีน และอดีตของการเหยียดเชื้อชาติ (ในฉากหนึ่งหนังฉายภาพโปสเตอร์ว่าไม่มีสีเหลืองในธงชาติ) หยางกลายเป็นภาพแทนของการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดอคติ เชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน โดยไม่ทำลายรากเหง้าดั้งเดิมของแต่ละชนชาติ ราวกับนี่คือขั้นสูงสุดของการพยายามลดทอนอคติใดๆ ในโลก แต่หยางที่เป็นตัวเชื่อมประสาน บรรจุความรู้จากโลกเก่าและความทรงจำของโลกใหม่ เป็นไม่ได้แม้แต่กิ่งปักชำของต้นไม้ ในทางหนึ่งหยางทำลายความเป็นเชื้อชาติ อีกทางเขาทลายความเป็นชนชั้นด้วยการทำหน้าที่แทนคนรับใช้ ที่มีสถานะเป็นคนชั้นต่ำกว่า ทั้งเป็นและไม่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว หยางเป็นทั้งอุปกรณ์ผ่อนแรงแม่บ้านในการเลี้ยงลูก ดูแลการงาน เป็นแม่บ้านที่สมบูรณ์แบบ เป็น ‘ผู้ถ่ายภาพ’ ครอบครัวที่จะเข้าฉากได้เมื่อครอบครัวต้องการให้เขาอยู่ในฉาก ในฐานะส่วนหนึ่งของครอบครัวเท่าๆ กับอุปกรณ์ประกอบฉาก สถานะของหยางจึงทั้งทดแทนอย่างสมบูรณ์และแปลกแยกอย่างสมบูรณ์เมื่อเขาไม่ใช่แม้แต่มนุษย์ 

หยางคุยกับเจคเรื่องชา คุยถึงหนังสารคดีที่เจคเคยดูและ ‘รสชาติของโลก’ ที่บรรจุอยู่ในใบชา เจคเล่าถึงรสชาติของชาที่ลึกซึ้งละเอียดลออ หยางบอกว่าเขาไม่อาจเข้าใจถึงสิ่งที่เจคพูด เพราะสำหรับโปรแกรมของเขาถูกบรรจุและจำกัดอยู่ที่ ‘ข้อเท็จจริง’ เกี่ยวกับชา ไม่ใช่สัมผัสของมัน

ในฉากนี้หยางสำรวจตรวจสอบข้อจำกัดของมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์​ผ่านบทสนทนาเกี่ยวกับผัสสะ เจคยืนยันตัวตนในความเป็นมนุษย์ของตนอยู่ผ่านผัสสะเหล่านี้ ที่ซึ่งปัญญาประดิษฐ์ไปไม่ถึง (แต่กับมนุษย์โคลนอาจจะอีกเรื่อง) เจคขายใบชาอันเป็นรสชาติพื้นฐานดั้งเดิมจากโลกและดิน ไม่ใช่ชาผลึกที่เป็นเพียงสารเคมี การผูกพันกับผืนดินธรรมชาติที่ไม่ใช่แค่ข้อมูล แต่คือประสบการณ์และความรู้สึกที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยภาษา

อย่างไรก็ตาม เมื่อเจคค้นลึกลงไปในภาพฉายกล่องทรงจำของหยาง ที่ซึ่งเขาและครอบครัวเป็นเพียงข้อมูลส่วนน้อยลำดับที่สาม หยางมีความทรงจำนานนับนานก่อนหน้านั้น เขาเรียนรู้ผ่านความทรงจำไฟล์อัลฟ่าที่มีขนาดใหญ่ ความทรงจำของหยางและประวัติศาสตร์ของหยางนั้นต่างจากประวัติศาสตร์ที่เขาถูกโปรแกรมไว้  การตระหนักรู้ตัวตนและการดำรงอยู่ของตนเองของหยางผ่านภาพการมองกระจกครั้งแล้วครั้งเล่า เขานำเอาตัวตนที่ไร้ชีวิตเมื่อมองจากมนุษย์เข้าไปปะทะกับประวัติศาสตร์และเวลา ความทรงจำส่วนบุคคลนี้ต่างหากที่ปลุกปั้นเขา เปลี่ยนเขาจากปัญญาประดิษฐ์ไปยังปัญญาของสิ่งมีชีวิต มันไม่ได้ก้าวกระโดดจากการรับข้อมูลมหาศาลในแบบเดียวกับเอไอ ซาแมนธาใน Her (2013, Spike Jonze) หากคือสายธารของการสั่งสมทีละเล็กละน้อย จนในที่สุดมันก่อรูปสิ่งใหม่ขึ้นมา การตามหาอาดา มนุษย์โคลนที่อาจจะเป็นเหลนของหญิงสาวที่หยางเคยอยู่ด้วย อาจจะเป็นอะไรคล้ายๆ ความรัก คล้ายๆ การกลับชาติมาเกิด แต่เช่นเดียวกับตัวหยาง มันยังไม่มีชื่อเรียกในตอนนี้ ในแง่นี้หยางจึงค่อยๆ เปลี่ยนจากหุ่นยนต์ไปเป็นมนุษย์ ในแง่ของการมีความรู้สึกนึกคิด มีความรู้สึก และอาจจะมีความรักความอาลัย 

หากหนึ่งในข้อถกเถียงที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งของนักวิชาการสาย ’หลังมนุษยนิยม’ คือการมอง ‘ร่างกาย’ ในฐานะขีดจำกัดของมนุษย์ นักวิชาการสายหลังมนุษยนิยมมีข้อเสนอว่าหากวิทยาการก้าวหน้ามากพอ เราอาจสามารถย้ายความรู้สึก ความคิด และตัวตนของมนุษย์ออกจากร่างกายของมนุษย์ได้ อาจจะเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ ในหุ่นยนต์ ในร่างกายชนิดอื่นที่ไม่บุบสลาย ถ้าปัญญาประดิษฐ์สามารถลอกเลียนการตอบโต้ของมนุษย์แต่ละคนมากพอ มนุษย์จะไม่เหลือนิยามแบบเดิมอีก มนุษย์เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของความประสานสอดคล้องของสารสื่อประสาท ปริมาณขึ้นลงของฮอร์โมน และกระแสไฟฟ้าในเซลล์ ในอีกไม่นาน ร่างกายอาจจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นและเป็นเพียงข้อจำกัดเดียวที่กั้นมนุษย์ออกจากความเป็นอมตะ ซึ่งในทางตรงกันข้าม เราอาจบอกได้ว่าเมื่อลดรูปมนุษย์ลงเหลือเพียงเท่านี้ มนุษย์กับสัตว์ก็ไม่ได้แตกต่างกันอีกต่อไป มนุษย์ไม่ได้เป็นจุดสูงสุดของสิ่งมีชีวิตอีกต่อไปแล้ว โลกไม่ได้มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง มนุษย์ไม่สำคัญขนาดนั้น

ความตายของหยางจึงเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับแนวคิดนี้อย่างยิ่ง เหมือนปัญญาประดิษฐ์หยุดการทำงาน ร่างกายของหุ่นยนต์ที่เสื่อมสลายได้ หนังพูดถึงทางเลือกในการเปลี่ยนหยางไปสู่ส่ิงอื่น ไปเป็นเสียงของเครื่องใช้แบบ smart home ในบ้าน เป็นเสียงแทนของ siri หรือเก็บความทรงจำของเขามาใช้ในพิพิธภัณฑ์ในแบบความเชื่อหลังมนุษยนิยม แต่สิ่งที่หยางอยากเหลือไว้กลับเป็นเพียงคลิปสั้นๆ บรรจุความทรงจำของเขา  

ความตายของหยางนำพาไปสู่บทสนทนาเกี่ยวกับผีเสื้อสตัฟฟ์ของหยางกับมายา หยางบอกว่าเมื่อหนอนตาย โลกจะได้ผีเสื้อ ความตายกลายเป็นเพียงการเปลี่ยนรูปแบบ (เช่นเดียวกับแนวคิดหลังมนุษย์) หากผีเสื้อที่เขาสตัฟฟ์ไว้กลับคือการทำให้ร่างกายกลายเป็นนิรันดร์โดยไร้วิญญาณ สำหรับมนุษย์หากร่างกายคือข้อจำกัดต่อการมีชีวิตนิรันดร์ หุ่นยนต์อย่างหยางได้แสดงให้เห็นว่าทำให้ข้อจำกัดกลายเป็นรางวัล แนวคิดเวียนว่ายตายเกิดควรกลับไปสู่หนทางดั้งเดิมของมัน ความตายกลายเป็นสิ่งงดงาม เราควรได้โอกาสที่จะจบลง ไม่ถูกสตัฟฟ์ไว้ดังเช่นผีเสื้อ ในทางตรงกันข้าม ไม่กลายไปเป็นเครื่องใช้ในบ้านหรือผู้ช่วยในโทรศัพท์ 

การครุ่นคิดของหยางและชีวิตของครอบครัว ‘หลังหยาง’ ซึ่งจะเรียก After Yang หรือ Post-Yang ก็ได้ จึงเป็นเรื่องของการกลับไปใคร่ครวญถึงข้อจำกัดของมนุษย์ ความอหังการและความต่ำต้อยของมนุษย์ คุณค่าของแสงแดด เงาไม้ หรือการดื่มด่ำชีวิต ที่ที่ความทรงจำคือ ‘ความรู้’ และความตายคือ ‘รางวัล’ มนุษย์ที่ยังไม่มีชื่อของวันพรุ่งนี้ ยังมีเรื่องราวให้ต้องถกเถียง รู้จัก สัมผัส เรียนรู้ และทบทวนอีกไม่รู้จบ 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save