fbpx
แชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล : เมื่อเสพสื่อดิจิตอลจนล้า คนจะกลับมาอ่านหนังสือเล่ม

แชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล : เมื่อเสพสื่อดิจิตอลจนล้า คนจะกลับมาอ่านหนังสือเล่ม

เป็นนักเขียนหนุ่มไฟแรงที่น่าจับตาอีกคนหนึ่งในเวลานี้ สำหรับ แชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ซึ่งนอกจากจะมีผลงานเขียนเกี่ยวกับเทรนด์ใหม่ๆ ของโลก รวมถึงเกร็ดความรู้สารพัดด้าน IT ล่าสุดเขายังรับหน้าที่เป็นหัวหอกแห่งสำนักข่าวออนไลน์ ‘The Matter’

 

แม้การงานและการอยู่หน้าจอจะรัดตัวเพียงใด หนังสือเล่มกลับเป็นสิ่งที่เขาขาดไม่ได้ เขามองว่าเป็นการ ‘พักสายตา’ จากหน้าจอคอมฯ-มือถือ ที่เต็มไปด้วยฟีดข่าวและแอปพลิเคชันอันเลื่อนไหลตลอดเวลา เขาบอกว่า การได้ใช้เวลากับตัวหนังสือหรือเนื้อหาบนกระดาษที่ไม่สามารถเคลื่อนไหว หรือมีอะไรเด้งขึ้นมารบกวน ทำให้สามารถจดจ่อและครุ่นคิดอย่างเต็มที่ ที่สำคัญ แชมป์คิดว่ายังไม่มีการอ่านแบบไหนที่มาทดแทนการอ่านหนังสือเล่มได้

ต้องแอบกระซิบกันว่า แชมป์คือกรรมการ ‘ความน่าจะอ่าน’ ของ 101.world ที่ ‘อายุน้อย’ ที่สุด (ต้องกระซิบเพราะเกรงใจคนอื่นๆ!)  เขาจึงเป็นเสมือนตัวแทนของคนที่สร้างสีสันการอ่านที่สดใหม่ และมุมมองที่เขามีต่อการเขียน-การอ่านของคนไทยในปัจจุบันนั้น ก็น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

เห็นปัญหาอะไรในการอ่านของคนไทยบ้าง

ปัญหาที่เห็น จะเป็นปัญหาของการอ่านในโซเชียลมีเดียมากกว่า คือการที่คนอ่านแล้วใช้อารมณ์ส่วนตัวหรืออคติเข้าไปตัดสิน ก่อนที่จะอ่านจบ หรือก่อนที่จะใช้เวลาคิดกับมันให้มากกว่านั้น ผมคิดว่าปัญหานี้มันสามารถแก้ได้โดยการอ่านสื่ออื่นๆ ด้วย เพื่อให้เป็นฐานของวิธีคิด โดยเฉพาะการหนังสือเล่ม ซึ่งน่าจะช่วยให้เราอ่านสื่อในอินเทอร์เน็ต หรือข่าวสารต่างๆ ได้ดีขึ้น

พูดได้ไหมว่า การอ่านในอินเทอร์เน็ต ยังเป็นเรื่องที่ฉาบฉวยอยู่

เนื่องจากอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อที่เร็ว มันจึงส่งเสริมให้เกิด feedback ที่เร็วขึ้นด้วย ทุกอย่างไปเร็วมาเร็ว พอเราพิมพ์ปุ๊บ เดี๋ยวก็มีคนมาตอบแล้ว มันส่งเสริมวิธีการอ่านแบบเร็วๆ และไม่ได้ใช้เวลาคิดกับมันมาก แต่ขณะเดียวกัน หนังสือเล่ม มันไม่ได้ interactive กับเรามาก จึงทำให้เราเกิดวิธีคิดที่ลงลึกมากกว่า

เมื่อพูดถึงการวิจารณ์หรือการรีวิวหนังสือ สมัยก่อนอาจดูเป็นเรื่องที่จริงจัง และมีรูปแบบที่เคร่งครัดมากกว่าปัจจุบัน คุณมองความเปลี่ยนแปลงนี้ยังไง

เรื่องนี้เป็นปัญหาที่มีการถกเถียงกันหนักมาก ว่าคนที่ไม่มีดีกรีหรือความรู้ในด้านนั้นๆ กับคนที่ศึกษามาอย่างจริงจัง สามารถแสดงความเห็นต่อสิ่งสิ่งหนึ่งโดยไม่ได้ชี้ทางแก้ไข หรือโดยไม่ต้องรับผิดชอบสิ่งที่แสดงความเห็นออกไปได้มั้ย ส่วนตัวผมคิดว่าได้นะ เพราะทุกคนก็ควรมีอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็น เพียงแต่ตัวคนอ่านเองก็ต้องประเมินได้ด้วยว่าบทวิจารณ์หรือรีวิวนั้นมันให้อะไรกับเรารึเปล่า

ทุกคนพูดได้หมดแหละว่าชอบหรือไม่ชอบหนังสือเล่มไหน ซึ่งส่วนตัวก็สนับสนุนให้คนออกมาพูดกันเยอะๆ แต่เวลาที่เราอ่าน เราก็อาจต้องคิดด้วยว่า เราอ่านมันเพื่ออะไร แล้วได้อะไรจากมันไหม

ในโปรเจ็กต์ ‘ความน่าจะอ่าน’ คุณใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกหนังสือ

ส่วนใหญ่จะอ่านพวก non-fiction เป็นส่วนใหญ่ fiction ก็อ่านบ้าง ดังนั้นผมจะเลือกหนังสือที่คิดว่านำไปใช้ได้จริง อ่านแล้วสามารถเอาไปทำงานได้ สามารถเอาไปเขียนต่อหรือศึกษาต่อได้ ส่วนใหญ่หนังสือที่เลือกก็จะมีลักษณะแบบนี้

นอกจากนั้นก็ดูวิธีการเขียนของเขาด้วยว่า เส้นตรรกะต่างๆ มันดำเนินไปอย่างถูกต้อง หรือทำให้เราเชื่อถือได้ ส่วนหนังสือที่เป็น fiction ที่เลือกมา ส่วนใหญ่จะเลือกจากวิธีเล่าเรื่อง

ถ้าพูดถึงวงการหนังสือของไทยในภาพกว้าง คุณมองว่ามันคึกคักขึ้น ซบเซาลง หรือว่าคงที่

ผมมองว่าคึกคักขึ้นนะครับ โดยที่ไม่ได้มองเฉพาะหนังสือเล่ม คือถ้าเป็นวงการอ่านเขียน ผมว่าคึกคักขึ้นแน่นอน เพราะปัจจุบันก็จะเห็นว่าทุกคนเป็นนักเขียนได้หมด ทุกคนเขียนสเตตัสเฟซบุ๊ก และไม่ว่าคุณจะเป็นใคร คุณก็ต้องมีเรื่องที่ตัวเองรู้ดีอยู่แล้ว เช่น ผมเองไม่รู้เรื่องระบบการขนส่งเลย แต่ก็ได้รู้เพราะมีวิศวกรที่เข้าใจเรื่องขนส่ง เขียนอธิบายให้เราได้รู้เรื่องนั้นอย่างละเอียด ฉะนั้น ผมมองว่ามันคึกคักมากกว่าขึ้นอยู่แล้ว แต่อาจเป็นการเขียนในลักษณะของบทความหรือข้อเขียนที่สั้นๆ มากกว่า ส่วนหนังสือเล่ม คิดว่าคนอาจมีปฏิสัมพันธ์กับมันน้อยลง เพราะว่าสายตาก็ไปอยู่กับจอเสียส่วนใหญ่

แล้วตัวคุณเอง เมื่อเทียบระหว่างเมื่อก่อนกับตอนนี้ อ่านหนังสือเล่มมากขึ้นหรือน้อยลง

ผมว่ามากขึ้นนะ เพราะมันเริ่มรู้สึกล้าๆ กับการเสพสื่อทางดิจิทัลเหมือนกัน ทุกวันนี้ผมอ่านหนังสือเล่มจบเร็วกว่าอ่านหนังสือที่เป็นอีบุ๊ค  แต่สำหรับผม ผมมองว่ามันเป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะที่ ก็คือเหมาะกับการอ่านในบางสถานที่เท่านั้น เช่น เมื่ออยู่ที่บ้าน แล้วนั่งอ่านบนโซฟา อย่างเดี๋ยวนี้ผมก็ไม่ค่อยพกหนังสือไปข้างนอกเหมือนแต่ก่อนแล้ว ทำให้โอกาสที่จะอ่านในหลายๆ สถานที่มันลดลง

แต่ทุกๆ วันก็พยายามจะอ่านหนังสือเล่มอยู่ครับ โดยรวมถือว่าอ่านมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะเราใช้ทำงานด้วย อีกส่วนก็คืออ่านเพราะอยากพักจากจอด้วย

เหมือนว่าการที่เราเสพโซเชียลมีเดียมากๆ ก็ทำให้ล้าเหมือนกัน

ใช่ สำหรับผมมันล้านะ แต่ถ้าเป็นหนังสือเล่ม คำหรือประโยคที่มันอยู่บนกระดาษ มันก็จะคงอยู่แบบนั้น ไม่เปลี่ยน ไม่เคลื่อนไหวหรือตอบโต้ ซึ่งแง่หนึ่งมันก็ให้ความสบายใจกับบางอย่างเรา

เมื่อมองถึงเรื่องรางวัลวรรณกรรมต่างๆ คุณมองว่ายังได้ผลอยู่ไหมกับการส่งเสริมการอ่านในปัจจุบัน

คิดว่ายังได้ผลอยู่นะ อย่างน้อยก็ในเชิงการสนับสนุนนักเขียน ซึ่งอาจเป็นการส่งผลแบบระยะยาวต่ออาชีพนักเขียน ที่เขาจะสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ในเส้นทางที่ไม่ได้มีเงินอะไรมากมายอย่างที่เรารู้ๆ กัน คิดว่ามันก็ยังคงทำหน้าที่สนับสนุนวงการได้อยู่ ซึ่งถ้าเรายิ่งมีรางวัลเหล่านี้เยอะ นักเขียนน่าจะยิ่งมีกำลังใจในการเขียนเยอะ แต่อีกแง่ สิ่งที่รางวัลเหล่านี้มันไม่ปรับตัวตามยุคสมัยในมุมของผม ผมรู้สึกว่ามันไม่ค่อยเชื่อมโยงกับคนในวงกว้างแล้ว เช่น

เวลาที่เราพูดถึงรางวัลใหญ่ๆ บางรางวัล เราจะรู้สึกว่ามันเป็นรางวัลที่อยู่บนหิ้ง เข้าถึงค่อนข้างยาก และหลายๆ ครั้งก็รู้สึกว่าหนังสือที่ได้รางวัล มันไม่ได้สัมผัสกับเชื่อมโยงกับชีวิตของเรามากขนาดนั้น

ฉะนั้น ผมจึงมองว่าความหลากหลายของตัวรางวัล จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก แล้วสังคมก็ควรจะให้ความสำคัญกับรางวัลในเวทีอื่นๆ ด้วย เช่น อาจมีสักเวทีที่เป็นประกวด non-fiction อย่างเดียวเลย หรือเป็นหนังสือแปลอย่างเดียวเลย ถ้ามันสามารถไปถึงระดับนั้นได้ ก็น่าจะทำให้คนที่เขาอยากอ่านหนังสือหมวดนั้นๆ ได้มีทางเลือกในการอ่านที่หลากหลายมากขึ้น

ในฐานะนักเขียนและคนผลิตคอนเทนต์ คิดว่าคอนเทนต์ที่เหมาะกับคนไทยในช่วงเวลานี้คืออะไร

ผมรู้สึกว่าคนในปัจจุบัน พอมมีโซเชียลมีเดียต่างๆ แล้ว สิ่งหนึ่งที่เขาต้องการมากขึ้นก็คือความสำเร็จรูป สังเกตว่าหนังสือที่ขายดี มักเป็นหนังสือที่อย่างน้อยมีความสำเร็จรูปในแง่ใดแง่หนึ่งเสมอ เช่น อ่านเล่มนี้แล้วจะมีความฝัน อ่านเล่มนี้แล้วคุณจะลดความอ้วนได้ อ่านเล่มนี้แล้วจะเก่งภาษาอังกฤษ ฯลฯ คือหนังสือที่จะไปได้ดีในตลาด ต้องเป็นหนังสือที่สามารถ promise บางอย่างให้กับคนอ่าน แล้วสามารถ deliver สัญญานั้นได้จริง ต่อให้เป็นหนังสือนิยาย คุณก็ต้องดึงจุดขายของมันออกมาให้ได้ว่า อ่านเล่มนี้แล้วจะได้อะไร

พูดได้ไหมว่า คนสมัยนี้ชอบเสพอะไรง่ายๆ

อาจไม่ง่ายก็ได้นะ แต่อย่างน้อยแค่บอกว่าเราจะได้อะไร หมายความว่า อาจเป็นหนังสือที่อย่างน้อย มันสามารถอธิบายกับเราได้ว่า อ่านแล้วได้อะไร อย่างไม่ซับซ้อน นั่นคือความแตกต่างสำคัญระหว่างหนังสือที่จะขายดีกับขายไม่ดี

แล้วถ้าถามในอีกมุมหนึ่ง หนังสือบางประเภทที่ไม่ค่อยมีความสำเร็จรูปเท่าไหร่ อ่านไม่ง่ายเท่าไหร่ เช่น วรรณกรรม หรือหนังสือแนววิชาการ มันสามารถเข้าถึงผู้อ่านได้มากกว่าที่เป็นอยู่ไหม

ใช่ครับ สำหรับผม เวลาจะแนะนำหนังสือสักเล่ม เราอาจไม่ได้แนะนำสิ่งที่ตลาดต้องการมาก เพราะเรารู้สึกว่าสิ่งที่ตลาดต้องการ มันถูกพรีเซนต์จนอิ่มตัวแล้ว ดังนั้น เราอยากที่จะบอกหรือนำเสนอหนังสืออื่นๆ ที่มันเป็นทางเลือกให้กับตลาดมากขึ้น

อย่างหนังสือของสำนักพิมพ์ openworlds จริงๆ ก็ถือว่าป๊อปนะ แต่ผมรู้สึกว่า เวลาเราเห็นพื้นที่ในร้านหนังสือ เรารู้สึกว่าพื้นที่เหล่านี้มันไม่ถูกใช้กับหนังสือพวกนี้มากพอ ซึ่งในมุมของเจ้าของร้านก็อาจมองต่างออกไป แต่ในฐานะคนอ่านแบบเรา เราคิดว่ามันก็คงจะดี ถ้าหนังสือเหล่านี้ได้รับความสนใจและมีพื้นที่ในสังคมเพิ่มมากขึ้น

ถ้าจะมีข้อเสนอแนะสักอย่างในเรื่องการอ่านการเขียนของคนไทย อยากเสนออะไร

เวลาเลือกอ่านอะไรสักอย่าง ส่วนตัวผมจะรู้สึกว่า ถ้าเราชอบหนังสือแนวไหน หรือชอบศาสตร์อะไรสักอย่าง เราอ่านเรื่องนั้นให้ลึก ให้รู้จริงไปเลยสักเรื่องหนึ่ง ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็อ่านด้วย แต่อ่านกว้างๆ พอ สำหรับผมจะใช้วิธีอ่านเป็นรูปตัว G คืออ่านลึกไปเลยสักเรื่อง แล้วมันจะทำให้คุณรู้เรื่องนั้นมากกว่าคนอื่นๆ ขณะเดียวกัน เรื่องเหตุบ้านการเมืองต่างๆ ก็ควรจะรู้ด้วย เพราะมันจะมีส่วนช่วยเชื่อมโยงตรรกะของเรากับศาสตร์ที่เราอ่าน แล้วมันจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจ

อีกอย่างก็คือการอ่านภาษาอังกฤษ ผมคิดว่าสำคัญมากในโลกปัจจุบัน เพราะถ้าคุณยังอ่านแต่ภาษาไทยอย่างเดียว แปลว่าคุณต้องเชื่อ gate keeper เชื่อคนที่เป็นคนผลิตหรือแปลสารนั้นมาให้คุณอ่านอีกที ถ้าเป็นวงการหนังสือ คุณก็ต้องเชื่อรสนิยมของบ.ก. มากๆ ถึงอ่านเฉพาะหนังสือภาษาไทย ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ในโลกแบบนี้ เช่น ในบางวงการ อย่างวงการเทคโนโลยี ถ้าคุณอยากรู้เรื่อง Deep learning แล้วคุณรอให้มีหนังสือแปลออกมา ก็อาจช้าไปแล้ว ซึ่งกว่าที่มันจะแปลออกมา หรือกว่าคุณจะอ่านจบ โลกก็เคลื่อนไปอีกสเต็ปหนึ่งแล้ว ฉะนั้น ไม่มีทางเลยที่คุณจะไม่รู้ภาษาอังกฤษ แล้วจะไปได้ดีในโลกที่มันขับเคลื่อนไปเร็วอย่างทุกวันนี้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save