fbpx
ทำความรู้จักสหภาพแอฟริกา: เรื่องจริงหรือเพียงอุดมคติ?

ทำความรู้จักสหภาพแอฟริกา: เรื่องจริงหรือเพียงอุดมคติ?

ลลิตา หาญวงษ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

“ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นคนแอฟริกันเพียงเพราะข้าพเจ้าเกิดในแอฟริกา แต่ยังเป็นเพราะแอฟริกาเกิดในตัวข้าพเจ้าด้วย”

– ควาเม เอนกรูมา, ประธานาธิบดีคนแรกของกานา –

วันที่ 25 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันสำคัญวันหนึ่งสำหรับทวีปแอฟริกา เพราะเป็นวันแห่งแอฟริกา (Africa Day) และวันรำลึกการสถาปนาสหภาพแอฟริกา (African Union หรือ AU) ขึ้นชื่อว่าเป็นการร่วมกลุ่มในแบบสหภาพ ทุกคนอาจนึกถึงสหภาพยุโรป ที่เป็นต้นแบบการร่วมกลุ่มในลักษณะสถาบันแบบเหนือรัฐ (Supranational Institution) ที่ใหญ่และมีความเป็นมาเก่าแก่ที่สุดในโลก และบ้างอาจนึกถึงประชาคมอาเซียน ที่เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทั้งทางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมในหมู่ประเทศสมาชิก ขณะที่สหภาพแอฟริกาเพิ่งถือกำเนิดขึ้นในปี 2001 ที่กรุงแอดดิส อาบาบา (Addis Ababa) เมืองหลวงของเอธิโอเปีย และมีการประชุมกลุ่มผู้นำประเทศในแอฟริกาเพื่อจัดตั้งสหภาพแอฟริกาในอีก 1 ปีต่อมา ณ เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ ปัจจุบันสหภาพแอฟริกามีสมาชิกทั้งหมด 55 ประเทศ หรือประเทศในแอฟริกาทั้งหมด รวมทั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยอาหรับซาฮะราวี (Sahrawi Arab Democratic Republic) อันเป็นรัฐที่ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากองค์การสหประชาชาติ แต่เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพแอฟริกามาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง

สหภาพแอฟริกาเป็นองค์กรระดับภูมิภาคที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป และด้วยความที่มีชาติสมาชิกมากที่สุด ทำให้สหภาพแอฟริกามีประชากรรวมกันเกือบ 1,200 ล้านคน (สถิติปี 2015)[1] มากเป็นอันดับ 2 รองจากทวีปเอเชีย และยังมีอัตราการเติบโตของประชากรสูงมากกว่าทวีปอื่นๆ เนื่องจากยังมีประชากรเพศหญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์สูง เช่นเดียวกับคนวัยทำงานที่ยังมีปริมาณมากเช่นกัน หรือหากกล่าวในมุมทางเศรษฐกิจ แอฟริกาโดยเฉพาะแอฟริกาเขตใต้ทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง ด้วยจำนวนประชากรวัยแรงงาน และปริมาณทรัพยากร อย่างไรก็ดี แอฟริกาก็เหมือนกับทุกภูมิภาคที่กำลังพัฒนาทั่วโลก ที่มีปัญหาทั้งทางด้านการเมือง สังคม และด้านเศรษฐกิจ ที่ไม่เอื้อให้แอฟริกาพัฒนาได้เต็มที่

 

ประเทศสมาชิกสหภาพแอฟริกา

 

จากยุคอาณานิคมสู่สงครามเย็น: ที่มาของการรวมกลุ่มในแอฟริกา

 

แอฟริกาอาจต่างจากภูมิภาคอื่นๆ ในโลก เพราะการรวมกลุ่มอย่างสหภาพแอฟริกาตั้งอยู่บนพื้นฐานของเชื้อชาติ สีผิว และประสบการณ์ที่ทุกประเทศเคยอยู่ภายใต้ระบอบอาณานิคมตะวันตกมายาวนาน ทำให้ความรู้สึกร่วมของความเป็นคนแอฟริกันทั้งผอง (Pan-Africanism) มีสูงมากในหมู่ชาวแอฟริกันทั้งทวีป รวมถึงผู้สืบเชื้อสายชาวแอฟริกันในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก เมื่อพิจารณาในรายละเอียด แอฟริกามีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา และศาสนา ไม่ต่างจากที่อื่น แต่เมื่อกล่าวถึงแนวคิดทางการเมือง และอารมณ์ร่วมแบบภูมิภาคนิยม ชาวแอฟริกาน่าจะมีความรู้สึกร่วมมากกว่า ปรากฏการณ์นี้มีที่มาที่ไป และเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของทวีปภายใต้ระบอบอาณานิคม ซึ่งผู้เขียนจะทยอยนำเสนอในโอกาสต่อๆ ไป

ก่อนสหภาพแอฟริกาถือกำเนิดในปี 2001 มีองค์กรที่เป็นตัวแทนของชาวแอฟริกันมาก่อนแล้ว เป็นที่รู้จักในชื่อองค์กรแอฟริกาสามัคคี (Organisation of African Unity หรือ OAU) ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่กลางปี 1963 ในขณะนั้น มีผู้นำประเทศในแอฟริกาที่เพิ่งได้รับเอกราช 32 ประเทศไปรวมตัวกันที่กรุงแอดดิส อาบาบา และร่วมกันลงนามในปฏิญญาเพื่อตั้งองค์กรในระดับภูมิภาคที่มีจุดประสงค์เพื่อการรวมประเทศในแอฟริกาเข้ามา และร่วมสร้างภูมิภาคที่เปี่ยมด้วยเอกราช เสรีภาพ และความยุติธรรม โดยเน้นว่าชาวแอฟริกาต้องเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของตนเอง จุดกำเนิดของ OAU เป็นการโต้กลับระบอบอาณานิคมตะวันตก และส่งข้อความออกไปว่า แอฟริกาสามารถเจริญงอกงามได้ด้วยตนเองผ่านความร่วมมือภายในภูมิภาค และภราดรภาพในหมู่ชาวแอฟริกัน (African Brotherhood) ลบภาพความต่ำต้อยของอาณานิคมที่เคยเป็นแหล่งแสวงหาประโยชน์ของเจ้าอาณานิคม เพื่อปลดแอกแอฟริกาจากอิทธิพลของระบอบอาณานิคมและการแบ่งแยกสีผิว (apartheid) อย่างถาวร

 

ควาเม เอนกรูมา ประธานาธิบดีคนแรกของกานา

 

ในความเป็นจริง แนวคิดแอฟริกาทั้งผองเริ่มเป็นที่พูดถึงภายนอกแอฟริกามาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ในสหรัฐอเมริกา โดยประกาศกผิวสีชาวอเมริกัน เช่น มาร์ติน เดลานี (Martin Delany) และอเล็กซานเดอร์ ครัมเมล (Alexander Crummel) ที่พยายามเชื่อมโยงชาวอเมริกันผิวสีกับชาวแอฟริกัน โลกในอุดมคติของปราชญ์ชาวแอฟริกัน-อเมริกันในยุคนี้คือการสลัดออกมาจากเงื้อมเงาของสหรัฐอเมริกา หลุดออกจากการกดขี่และการแบ่งแยกสีผิว มิชชันนารีแอฟริกัน-อเมริกาจึงเริ่มเข้าไปบุกเบิกการสอนศาสนาและตั้งองค์กรการกุศลขึ้นในหลายประเทศทั่วแอฟริกา แนวคิดว่าด้วยแอฟริกาทั้งผองเป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วยงานเขียนของดับเบิ้ลยู.อี.บี. ดู บัว (W.E.B. Du Bois) นักวิชาการผิวขาวผู้เชี่ยวชาญการศึกษาสังคมชาวแอฟริกัน-อเมริกัน และผู้เชื่อมั่นในแนวคิดแอฟริกาทั้งผองอย่างหนักแน่น ชาวแอฟริกัน-อเมริกันบางกลุ่มเริ่มรณรงค์ให้ชาวแอฟริกัน-อเมริกันกลับไปแอฟริกา แต่ก็ถูกกีดกันจากทั้งรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลอาณานิคมของอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี โปรตุเกส และเบลเยี่ยม ในแอฟริกา

แม้แนวคิดแอฟริกาทั้งผองจะมีจุดกำเนิดภายนอกแอฟริกา แต่แนวคิดนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้นำชาตินิยม-ภูมิภาคนิยมคนสำคัญๆ ในภุมิภาค ได้แก่ ควาเม เอนกรูมา (Kwame Nkrumah), จูเลียส เญเรเร (Julius Nyerere), อาห์เหม็ด เซกู ตูเร (Ahmed Sékou Touré) แห่งกิเนีย และเคนเนธ คาอุนดา (Kenneth Kaunda) ประธานาธิบดีคนแรกของกานา, แทนซาเนีย, กิเนีย และแซมเบีย ตามลำดับ แนวคิดแอฟริกาทั้งผองเป็นรูปเป็นร่างขึ้นหลังการหารือของผู้นำจากแอฟริกา ซึ่งในช่วงแรกจัดกันตามเมืองต่างๆ ในอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา แต่ต่อมาก็ได้ย้ายไปจัดตามเมืองในแอฟริกา (การประชุมแอฟริกาทั้งผองครั้งที่ 8 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุด จัดที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ในปี 2014) ผู้นำแอฟริกันเล็งเห็นว่า ความจำเป็นเร่งด่วนของความร่วมมือในระดับภูมิภาคคือการผละแอฟริกาออกจากระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาทรัพยากรอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นระบบที่ประเทศอาณานิคมสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเอง แต่ในขณะเดียวกันก็กดขี่ชาวแอฟริกันอย่างรุนแรง

ในบรรดาผู้นำแอฟริกันที่กล่าวมา ควาเม เอนกรูมา อาจเป็นผู้ได้รับการยกย่องและได้รับการเชิดชูให้เป็นบิดาแห่งสหภาพแอฟริกา ไม่ใช่เพียงเพราะเขาเป็นชาวแอฟริกันคนแรกๆ ที่นำแนวคิดแอฟริกาทั้งผองมาใช้ แต่ยังนำแนวคิดนี้ และเป้าหมายการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ‘ทั้งผอง’ ในแอฟริกามาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายของกานาในยุคหลังเอกราช เรียกได้ว่าเอนกรูมามีเลือดของชาวกานาและชาวแอฟริกันอย่างเต็มเปี่ยม ดังที่สะท้อนออกมาจากคำกล่าวอมตะของเขา:

 

“เอกราชของกานาไม่มีความหมายใดเลยหากทั้งทวีปนี้ยังไม่ได้เป็นอิสระสมบูรณ์”

 

กานาเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้รับเอกราชในปี 1957 วิสัยทัศน์ของเอนกรูมาในขณะนั้นคือ เขาต้องการช่วยให้ประเทศอื่นๆ ในแอฟริกาได้รับเอกราชให้เร็วที่สุด จึงไม่ผิดนักหากจะยกว่าเอนกรูมาคือบิดาของสหภาพแอฟริกา ความฝันอันสูงสุดของเอนกรูมาคือการเห็นทุกประเทศในแอฟริการวมกลุ่มกันเป็นสหรัฐแอฟริกา (United States of Africa) แต่ก็ถูกต่อต้านจากนักชาตินิยมแอฟริกันในหลายประเทศ แน่นอนว่าทวีปขนาดใหญ่อย่างแอฟริกาย่อมมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา คติและความเชื่อ แต่อุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ความฝันของเอนกรูมาไม่สามารถเป็นจริงขึ้นมาได้คือภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ ในขณะที่ประเทศที่มีประวัติการต่อสู้เพื่อเอกราชอย่างยาวนาน เช่น กานา, อัลจีเรีย, กิเนีย, มาลี, ลิเบีย, โมรอคโค และอียิปต์ เห็นด้วยกับแนวคิดแอฟริกาทั้งผองอย่างเต็มที่ ประเทศอื่นๆ ยังสงวนท่าที และไม่ต้องการให้ใครพรากอำนาจอธิปไตยของตนไป แม้แต่ผู้นำคนสำคัญสายก้าวหน้า เช่น เญเรเรแห่งเคนยา และอาบูบากา ตาฟา บาเลวา (Abubakar Tafa Balewa) นายกรัฐมนตรีคนแรกของไนจีเรีย ก็ยังไม่ ‘ซื้อ’ แนวคิดก้าวหน้าสุดขั้วที่เคล้ากลิ่นอายแบบสังคมนิยมของเอนกรูมา

 


ผู้นำชาติในแอฟริกาถ่ายรูปร่วมกันในการประชุมเพื่อก่อตั้งองค์กรแอฟริกาสามัคคี
(OAU) ค.ศ.1963

[จูเลียส เญเรเร (แถวบน คนที่ 3 จากซ้าย), ควาเม เอนกรูมา (แถวบน คนที่ 4 จากซ้าย) และกษัตริย์เฮลี เซลาสซีที่ 1 แห่งเอธิโอเปีย (แถวล่าง คนที่ 3 จากซ้าย)]

 

คำถามต่อแนวคิดแอฟริกาทั้งผองและการรักษาผลประโยชน์ของชาติไว้อย่างแน่นหนักเป็นอุปสรรคหลักที่ทำให้การรวมกลุ่มประเทศในแอฟริกาเป็นไปได้ยาก และยิ่งยากขึ้นในปัจจุบัน โครงสร้างของ OAU ประกอบไปด้วยหลายภาคส่วนที่อยู่ภายใต้สำนักเลขาธิการ (The Secretariat) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงแอดดิส อาบาบา ประเทศเอธิโอเปีย และยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ประเทศในแอฟริกาที่เพิ่งได้รับเอกราช และแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนมีคณะกรรมการที่ให้ความช่วยเหลือกับขบวนการชาตินิยมในประเทศที่กำลังเรียกร้องเอกราชในขณะนั้น และร่วมฟื้นฟูประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราช และยังตั้งคณะกรรมการเพื่อให้คำปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจ และช่วยบุกเบิกองค์กรด้านการพัฒนาเศรษฐกิจทั่วทั้งแอฟริกา พัฒนาการด้านเศรษฐกิจที่มี OAU (ต่อมากลายเป็นสหภาพแอฟริกา) เป็นหัวหอกนี้เป็นจุดกำเนิดของคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจแห่งแอฟริกา ที่มีข้อตกลงว่าจะพัฒนาแอฟริกาไปสู่การรวมกลุ่มกันทางเศรษฐกิจให้ได้ภายในปี 2019 (แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน)

ความฝันที่จะเห็นแอฟริกาที่เป็นปึกแผ่นเริ่มห่างไกลออกไปเมื่อทุกประเทศทยอยได้รับเอกราชในทศวรรษ 1960-1970 แต่ละประเทศเผชิญกับปัญหาถาโถมเข้ามา ทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ การทุจริตคอร์รัปชัน การแย่งชิงทรัพยากร ตลอดจนรัฐบาลที่อ่อนแอ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้การพัฒนาที่ต่อเนื่องทำได้ยาก ต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าแต่ละประเทศจะเริ่มตั้งหลักได้ และในหลายประเทศก็เผชิญกับความขัดแย้งทางเชื้อชาติระลอกใหญ่ๆ จนนำไปสู่การสังหารหมู่ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา (1994) หรือการสังหารหมู่ที่เป็นที่รู้จักน้อยกว่าในบูรุนดี (1972), ซูดาน (2003-ปัจจุบัน), คองโก (1998-2003) และยูกันดา (1971-1979)

องค์กรแอฟริกาทั้งผองเริ่มขับเคลื่อนอีกครั้งในปี 1991 เมื่อเกิดประชาคมเศรษฐกิจแอฟริกา (AEC) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเขตการค้าเสรี ธนาคารกลาง สหภาพศุลกากร และเป้าหมายปลายทางคือการสร้างค่าเงินกลาง และการขับเคลื่อนไปสู่สหภาพเศรษฐกิจและการเงิน โดยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากธนาคารโลก และองค์กรให้ทุนอื่นๆ แต่กลับก่อปัญหาหนี้ และปัญหาเศรษฐกิจอื่นๆ ตามมามากมาย ผู้นำแอฟริกันบางประเทศปฏิเสธไม่ยอมจ่ายหนี้ และกล่าวย้อนไปถึงยุคอาณานิคม เมื่อชาติตะวันตกเข้าไปหาประโยชน์ในแอฟริกา

ปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจที่รุมเร้าแทบทุกประเทศในแอฟริกายุคหลังเอกราชทำให้หลายชาติไม่ต้องการให้ OAU เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของตน และนโยบายของ OAU เองก็ใกล้เคียงกับทั้งสหภาพยุโรปและอาเซียน ที่ไม่เข้าไปแทรกแซงอำนาจอธิปไตยของชาติสมาชิก OAU จึงไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะห้ามปรามไม่ให้เกิดรัฐประหาร การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และแก้ปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมืองภายในแอฟริกาได้ ผู้นำสายก้าวหน้าผู้ก่อตั้ง OAU ทั้งเอนกรูมา, กษัตริย์ฮัลลี เซลาสซี แห่งเอธิโอเปีย, บาเลวา แห่งไนจีเรีย และเซกู ตูเร จากกิเนีย ล้วนถูกโค่นล้มโดยคณะรัฐประหารในทศวรรษ 1960 และ 1970 ในช่วงเวลาเกือบ 40 ปีตั้งแต่มีการสถาปนา OAU แอฟริกาเป็นทวีปที่เกิดรัฐประหารถี่ที่สุด ประเทศในแอฟริกาจำนวนมากตกอยู่ภายใต้เงาของระบอบเผด็จการมาอย่างยาวนาน และอีกหลายประเทศอยู่กับสงครามกลางเมืองที่ไม่มีทีท่าจะจบสิ้น

จิตวิญญาณของ OAU ในฐานะหน่วยงานที่ช่วยชาติสมาชิกต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม และการฟื้นฟูประเทศหลังได้รับเอกราช หมดความสำคัญลงไปเมื่อทุกประเทศในแอฟริกาได้รับเอกราช ประเทศสุดท้ายที่ปลดปล่อยตนเองออกมาได้คือแอฟริกาใต้ เมื่อเนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของแอฟริกาใต้ สิ้นสุดยุคฝันร้ายภายใต้รัฐบาลถือผิว (Apartheid Regime) ที่ปกครองแอฟริกาใต้มาตั้งแต่ปี 1948 เมื่อวาระของแอฟริกาไม่ใช่การปลดแอกจากระบอบอาณานิคมแล้ว วาทะของเอนกรูมาและแนวคิดแอฟริกาทั้งผองดูจะหมดความสำคัญลงไป ในฐานะองค์กรระหว่างประเทศ OAU ก็อ่อนแอลงตามลำดับ เพราะนอกจากเงินช่วยเหลือที่เป็นเงินให้เปล่าจากสหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรป องค์การสหประชาชาติ และหน่วยงานให้ทุนอื่นๆ แล้ว ชาติสมาชิกส่วนใหญ่ที่มีปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจรุมเร้าก็ไม่สามารถจ่ายค่าสมาชิกได้ OAU จึงขาดสภาพคล่องตามธรรมชาติ ความฝันเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองเพียงอย่างเดียวไม่สามารถขับเคลื่อนองค์กรระดับชาติได้ จึงเริ่มมีข้อเสนอออกมาว่าควรมีการยกเครื่อง OAU ใหม่ทั้งหมด และให้ความสำคัญกับประเด็นที่ชาติสมาชิกสนใจจริงๆ ได้แก่ ประเด็นด้านเศรษฐกิจและปากท้อง

เมื่อมีการประชุมกลุ่มผู้นำ OAU ที่เมืองเซิร์ต (Sirte) ประเทศลิเบีย ในปี 1999 มูอัมมาร์ อัล กาดาฟี (Muammar Al Qathafi) ผู้นำลิเบีย เป็นผู้เสนอต่อที่ประชุมให้ยุบ OAU และตั้งสหภาพแอฟริกาขึ้นเพื่อตอบรับกับความท้าทายใหม่ๆ ทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ที่ทั้งแอฟริกาและทั่วโลกต้องประสบ ขับเคลื่อนสหภาพแอฟริกาให้เป็นสหภาพที่ขับเคลื่อนแอฟริกาในประเด็นด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ภายใต้สหภาพแอฟริกา แนวคิดแอฟริกาทั้งผองและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของแอฟริกา (African Unity) ยังคงอยู่ แม้ที่ผ่านมาจะถูกโจมตีว่าแนวคิดดังกล่าวมาจากมันสมองของผู้นำ ‘อีลีท’ แอฟริกันสายที่เป็นเพียงนักฝัน มากกว่านักปฏิบัติที่เข้าใจสภาพความเป็นไปและปัญหาของแอฟริกาที่แท้จริง

หลังแนวคิดแอฟริกาทั้งผองของเอนกรูมา ผู้นำในแอฟริกาที่มีอิทธิพลทางความคิดสูงสุดคือกาดาฟี ความฝันในการรวมแอฟริกาให้เป็นปึกแผ่นของกาดาฟีต่างจากเอนกรูมาแบบสุดขั้ว แต่ก็ตั้งอยู่บนรากฐานเดียวกันคือการกันชาติตะวันตกออกไป และการสร้างแอฟริกาให้เป็นปึกแผ่น เพื่อที่แอฟริกาจะได้พัฒนาต่อไปได้อย่างเป็นอิสระและยั่งยืน เนื่องจากลิเบียเป็นประเทศที่มั่งคั่งด้วยมีปริมาณน้ำมันสำรองสูง กาดาฟีใช้บ่อน้ำมันของลิเบียเป็นจุดขายของการตั้งสหรัฐแอฟริกา และการตั้งรัฐบาลกลางเพื่อกำกับดูแลชาติสมาชิก[2] แต่ต้องผ่านการสร้างสถาบันที่เป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากการสร้างประชาคมเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Economic Communities หรือ RECs) แต่ความพยายามจากผู้นำทั้งในสายอุดมคติ และในสายปฏิบัติ ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลในหลายๆ ประเทศที่มีนโยบายชาตินิยมแบบสุดขั้ว การเคลื่อนย้ายแรงงานภายในทวีปแอฟริกาเกิดขึ้นได้ยาก แต่ละประเทศยังเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่าในราคาสูงลิ่ว และมีกฏหมายเข้าเมืองที่เคร่งครัด เพราะต่างหวาดระแวงว่าแรงงานภายนอกจะเข้าไปแย่งงานคนในประเทศ ในสถานการณ์ที่แต่ละประเทศก็มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่

แอฟริกาเป็นเสมือนดินแดนสนธยา นอกจากจะมีขนาดกว้างใหญ่ไพศาลแล้ว ยังมีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา และการเมืองอย่างสุดขั้ว ความน่าสนใจของภูมิภาคนี้จึงอยู่ที่ความขัดแย้งอันเกิดจากความหลากหลายดังที่ได้กล่าวมา โดยคำถามที่นักวิชาการและคนที่ทำงานในสายการพัฒนาพยายามหาคำตอบมาเนิ่นนานคือ อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้แอฟริกาเป็นทวีปที่มีการพัฒนาน้อยที่สุดในโลก และมีปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศที่ยังไม่มีทีท่าจะจบง่ายๆ ซึ่งผู้เขียนจะพยายามนำประเด็นและข้อถกเถียงเกี่ยวกับแอฟริกามานำเสนอในโอกาสต่อๆ ไป เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจและรู้จักภูมิภาคที่มีความน่าสนใจแห่งนี้มากขึ้น


อ้างอิง

[1] The European Union and the African Union: A Statistical Portrait. Luxembourg: Eurostat, 2016, p.10.

[2] Emmanuel Kisiangani. AU and pan-Africanism: Beyond rhetoric. Nairobi: Institute for Security Studies: เข้าถึงได้ที่ https://issafrica.org/amp/iss-today/au-and-pan-africanism-beyond-rhetoric

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save