fbpx
อ่านแอฟริกา กับ ลลิตา หาญวงษ์

อ่านแอฟริกา กับ ลลิตา หาญวงษ์

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล สัมภาษณ์และเรียบเรียง

ภาพประกอบ The MATTER

 

 

 

สงคราม ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ความรุนแรง ความยากจน คือภาพจำของทวีปแอฟริกา แต่ความเข้าใจและมายาคติเหล่านี้ ตรงกับความเป็นจริงของทวีปแอฟริกาหรือไม่

มรดกอาณานิคมยังคงตกทอดมาถึงแอฟริกาในปัจจุบันหรือไม่ ความขัดแย้งทางเชื้อชาติยังคุกรุ่นอยู่หรือเปล่า การเมืองเผด็จการครอบครองทวีปแอฟริกาอยู่หรือไม่ การพัฒนาเศรษฐกิจในแอฟริกาเป็นอย่างไรบ้าง แล้วทำไมไทยต้องสนใจทวีปแอฟริกา

101 สนทนากับอาจารย์ ลลิตา หาญวงษ์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อตอบคำถามข้างต้น พร้อมสาระว่าด้วยการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ประวัติศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทวีปแอฟริกาอย่างครบรส ในรายการ 101 One-On-One Ep.155 อ่านแอฟริกา กับ ลลิตา หาญวงษ์ (ออกอากาศเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2563)

 

ผ่ามายาคติแอฟริกา

 

เวลาเรานึกภาพแอฟริกา หลายคนมักมีภาพจำว่าทุกประเทศในทวีปแอฟริกาเหมือนกันหมด ราวกับทั้งทวีปคือประเทศเดียว แต่แน่นอนว่าทวีปขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประเทศทั้งหมด 55 ประเทศ ย่อมมีความแตกต่างหลากหลายในหลายมิติ ทั้งระบอบการปกครอง เศรษฐกิจ ชาติพันธุ์ ศาสนา และภาษา

 

ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์

ภาพจำที่คนส่วนมากมีต่อคนแอฟริกันคือ ทุกคนเป็นคนผิวสี เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทวีปแอฟริกามีความหลากหลายทางชาติพันธุ์มาก และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็ขัดแย้งกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งความขัดแย้งทางชาติพันธุ์นับว่าเป็นลักษณะสำคัญของการเมืองสมัยใหม่ของแอฟริกาในยุคหลังอาณานิคม รวมทั้งยังเป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจและความยากจนในแอฟริกา

ภาพที่เราเห็นว่าหลายประเทศมีความขัดแย้งทางการเมืองจนนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมือง ที่จริงแล้ว ใจกลางของความขัดแย้งทางการเมืองเหล่านั้น ก็มีความขัดแย้งทางชาติพันธุ์เป็นรากฐาน ความขัดแย้งที่รู้จักกันทั่วโลก และรุนแรงมากจนความขัดแย้งยกระดับไปถึงขั้นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างเป็นระบบ คือเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ซึ่งมูลเหตุของความขัดแย้งนั้นพัฒนามาจากความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มชาติพันธุ์ คือ กลุ่มฮูตู (ชนกลุ่มใหญ่) และทุตซี (ชนกลุ่มน้อย) ที่ฝังรากลึกมานานตั้งแต่สมัยอาณานิคม อันเนื่องมากจากเจ้าอาณานิคมเบลเยียมปกครองสองกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยความไม่เท่าเทียม จนปะทุกลายเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างสองเผ่าพันธุ์หลังจากการปลดปล่อยอาณานิคม

ความขัดแย้งชุดนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นแค่ในรวันดาเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในประเทศข้างเคียงอย่างยูกันดาด้วย จนทำให้มีคนเสียชีวิตถึง 3 แสนกว่าคน หรืออาจถึง 5 แสนกว่าคนเสียด้วยซ้ำ เพียงแต่สปอตไลต์ไม่ได้ฉายไปที่ความขัดแย้งในยูกันดามากเท่าความขัดแย้งในรวันดาเท่านั้น

นอกจากนี้ กรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในซูดานใต้ ก็นับว่าเป็นอีกความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ซึ่งเกิดจากกลุ่มคนอาหรับพยายามจะกวาดล้างกลุ่มคนซูดานที่เป็นคนผิวสี อีกกรณีความขัดแย้งทางชาติพันธุ์หนึ่งที่น่าสนใจ คือ ความขัดแย้งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ซึ่งเป็นคนละประเทศกับสาธารณรัฐคองโก) รุนแรงมากจนมีคนเสียชีวิตเกือบ 6 ล้านคน

เผด็จการ vs ประชาธิปไตย

หลังจากมีการต่อต้านเจ้าอาณานิคมและเรียกร้องเอกราชโดยขบวนการชาตินิยม ท้ายที่สุดหลายประเทศในแอฟริกาก็มีผู้นำทางการเมืองของตนเอง ปกครองตนเองได้โดยไม่ถูกครอบงำอีกต่อไป

แต่การเลือกใช้ระบบการปกครองก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ภูมิภาคแอฟริกา นับว่าเป็นภูมิภาคที่การเมืองแบบเผด็จการลงหลักปักฐานอย่างแน่นหนา หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น โดยเฉพาะความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งพยายามครองและรักษาอำนาจของตนอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้แก่ประเทศ นี่คือลักษณะสำคัญของการเมืองแบบเผด็จการในแอฟริกา

หนึ่งในผู้นำเผด็จการในแอฟริกาที่มีชื่อเสียงมาก คือ อดีตประธานาธิบดีโรเบิร์ต มูกาเบ (Robert Gabriel Mugabe) ซึ่งเป็นผู้นำเผด็จการของซิมบับเวที่ครองอำนาจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1980 จนถึงปี 2017 ก่อนจะถูกรัฐประหารยึดอำนาจโดยกองทัพ

ไม่เพียงแค่ซิมบับเวเท่านั้น แต่หลายประเทศในแอฟริกาก็ต้องเผชิญกับรัฐประหารบ่อยครั้ง ในหลายประเทศ ทหารมีบทบาทสูงมากในการกำกับ ควบคุม ดูแลทั้งการเมืองและชีวิตของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในภูมิภาคแอฟริกาก็มีการเมืองแบบประชาธิปไตยเช่นกัน แต่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยเต็มใบสมบูรณ์แบบ ไม่ได้มีการเลือกตั้งที่โปร่งใส 100% และการเลือกตั้งมักนำไปสู่การที่มีฝ่ายการเมืองฝ่ายเดียวชนะการเลือกตั้งอยู่ตลอด (competitive authoritarianism) กรณีคลาสสิกที่สุดคือ กรณีของรวันดา หลังจากสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พอล คากาเม (Paul Kagame) ซึ่งเคยเป็นผู้นำทหารชาวทุตซีได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี เริ่มฟื้นฟูประเทศที่แตกสลายจากสงคราม พัฒนาประเทศโดยมีจุดมุ่งหมายให้ประเทศดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างมั่นคง ประชาชนกินดีอยู่ดี และมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพแบบสิงคโปร์ จนมีคนตั้งฉายาให้รวันดาเป็น ‘สิงคโปร์แห่งแอฟริกา’

กรณีที่การเมืองประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์แบบเช่นนี้ ไม่ได้เป็นกรณีพิเศษที่เกิดขึ้นเพียงแค่ในแอฟริกาเท่านั้น แต่เป็นปรากฎการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นใน ‘กลุ่มประเทศซีกโลกใต้’ (‘Global South’) ไม่ว่าจะเป็นไทย อินโดนีเซีย หรืออย่างในบราซิลและประเทศละตินอเมริกาอื่นๆ ก็ล้วนแต่มีการเมืองลักษณะเช่นนี้

 

เศรษฐกิจ

แอฟริกาเป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่มาก แน่นอนว่าความแตกต่างทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่งถูกกำหนดด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ส่วนหนึ่งของทวีปแอฟริกาซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณทะเลทรายซาฮาร่า อย่างเช่นมาลี ไนเจอร์ ซูดาน หรือแชด มีทรัพยากรค่อนข้างจำกัด เนื่องจากไม่มีทางออกทางทะเล แม้ว่าจะมีความต้องการพัฒนาเศรษฐกิจก็ตาม

แต่ประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ก็มีทรัพยากรที่ค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเฉพาะประเทศแถบแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใต้ทะเลทรายซาฮาร่า (Sub-Saharan Africa) โดยประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกาก็นับว่าเป็นกลุ่มประเทศใต้ทะเลทรายซาฮาร่าเช่นกัน แต่ตัวอย่างประเทศที่เราคุ้นเคยกันดี ได้แก่ ไนจีเรีย เอธิโอเปีย รวันดา หรือแอฟริกาใต้ เป็นต้น

ประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมก็มีเป็นส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจประเทศในทวีปแอฟริกาเป็นอย่างมาก ประสบการณ์ภายใต้อาณานิคมหล่อหลอมและมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของแอฟริกาพอสมควร ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก อย่างเซเนกัล แกมเบีย กินี บูกีนาฟาโซ (ชื่อเดิมคืออัปเปอร์วอล์ตา) ไอวอรีโคสต์ (หรือที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า โกตดิวัวร์) ซึ่งเป็นบริเวณที่ใกล้กับทวีปยุโรปมากที่สุดและเคยถูกปกครองโดยฝรั่งเศส ก็มีความต่างทางโครงสร้างเศรษฐกิจจากกลุ่มประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

ส่วนประเทศอดีตอาณานิคมอังกฤษก็เต็มไปด้วยประเทศที่เป็นแหล่งทรัพยากรขนาดใหญ่ ประเทศอย่างบอสวานา ซิมบับเว แอฟริกาใต้ หรืออดีตอาณานิคมขนาดใหญ่ซึ่งมีความสำคัญสูงสุดในสหภาพแอฟริกาในปัจจุบันอย่างกานา (สมัยก่อนเรียกว่าประเทศโกลด์โคสต์) ล้วนเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเหมืองทองและเหมืองเพชรในยุคอาณานิคม รวมทั้งเป็นแหล่งปลูกพืชทางเศรษฐกิจ (cash crop) เมื่อประเทศเจ้าอาณานิคมนำวิธีทำการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเข้ามาในทวีปอีกด้วย

แม้ว่าเศรษฐกิจแอฟริกาในยุคอาณานิคมจะสร้างความมั่งคั่งให้กับหลายๆ ประเทศจนถึงปัจจุบัน อย่างโกโก้ก็ยังคงเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของกานาอยู่จนถึงทุกวันนี้ พืชอย่างยาสูบ ฝ้าย หรือแม้แต่พืชราคาแพงมากอย่างวานิลลา ก็เป็นพืชที่เจ้าอาณานิคมตะวันตกนำเข้าไปเผยแพร่ในแอฟริกาและในหมู่เกาะทั่วโลก แต่เราไม่สามารถกล่าวได้ว่านี่คือคุณูปการสำคัญของระบอบอาณานิคมที่ทำให้แอฟริกาเจริญเติบโตหรือพัฒนาได้ เพราะแน่นอนว่าการปกครองระบอบอาณานิคมนั้นมาพร้อมกับการกดขี่คนพื้นเมือง ความไม่เท่าเทียมและความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่เรื้อรังหลังการปลดปล่อยอาณานิคม อย่างอุตสาหกรรมเหมืองเพชรในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นแหล่งขุดเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็สร้างความมั่งคั่งให้กับประชากรคนขาวในแอฟริกาเป็นอย่างมาก จนกระทั่งนำไปสู่ความขัดแย้งจากการแบ่งแยกสีผิว (apartheid) ในยุคร่วมสมัยกับเนลสัน แมนเดลา หรืออย่างที่เราคุ้นเคยกันดีว่าเจ้าอาณานิคมทั้งชาติยุโรปและสหรัฐฯ ค้าทาสผิวสีอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายร้อยปี นำทาสผิวสีเข้าไปเป็นแรงงานในประเทศของตนเอง

นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทวีปแอฟริกาเป็นทวีปที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง จุดแข็งอยู่ตรงที่แอฟริกานั้นมีอัตราการเจริญเติบโตของประชากรสูงที่สุดในโลก และยังมีประชากรวัยหนุ่มสาวในสัดส่วนที่มากที่สุดในโลก ในขณะที่มีสัดส่วนประชากรคนอายุ 60 ปีขึ้นไปเพียง 19%-20% เท่านั้น

มีการประมาณการออกมาว่าในปี 2050 แอฟริกาจะมีประชากรเพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 1,200 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 2,500 ล้านคน และในปี 2100 จำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หมายความว่าแอฟริกาจะมีจำนวนประชากรมากกว่าจีนและอินเดียรวมกัน ศักยภาพเช่นนี้สวนกระแสกับเทรนด์ประชากรโลกซึ่งเกิดน้อยลงเรื่อยๆ และมีประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในอนาคตหากจำนวนประชากรในเอเชียลดลง ซึ่งหมายความว่ามีแรงงานน้อยลงไปด้วย แอฟริกาก็อาจกลายเป็นอนาคตทางเศรษฐกิจของโลก

 

สหภาพแอฟริกา

 

หากเปรียบเทียบสหภาพแอฟริกา (African Union) กับการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคในภูมิภาคอื่นอย่างสหภาพยุโรปและอาเซียน ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ  การรวมบรรดาประเทศในแอฟริกาเพื่อสร้างความร่วมมือในภูมิภาคแอฟริกานั้นมีจุดเริ่มต้นจากความรู้สึกร่วมระหว่างคนแอฟริกัน หรือที่เรียกว่า ‘ภราดรภาพในหมู่ชาวแอฟริกัน’ (‘African brotherhood’) ว่าแอฟริกาสามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองได้ และต้องปลดแอกตนเองจากอิทธิพลของระบอบอาณานิคมที่กดขี่คนแอฟริกันมาอย่างยาวนาน เพื่อให้ภูมิภาคเปี่ยมไปด้วยเอกราช เสรีภาพ และความยุติธรรม ในขณะที่จุดเริ่มต้นในการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมของอาเซียนเริ่มต้นมาจากความกลัวภัยคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น หรือจุดเริ่มต้นของสหภาพยุโรปที่เริ่มจากความต้องการยุติความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมนีที่กัดกินสันติภาพในภูมิภาคมายาวนาน

ความรู้สึกร่วมในความเป็นแอฟริกันจึงเป็นฐานในการรวมแอฟริกาในปี 1963 ภายใต้ชื่อ Organization of African Unity หรือ OAU (เปลี่ยนไปใช้ชื่อสหภาพแอฟริกันภายหลังในปี 2002) นำโดยนักชาตินิยมแอฟริกัน 4 คน ซึ่งนักชาตินิยมที่โดดเด่นที่สุดคือ ควาเม เอ็นกรูมา (Kwame Nkrumah) ประธานาธิบดีประเทศกานาในยุคนั้น เขาเป็นผู้ผลักดันแนวคิดดังกล่าว โดยได้กล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้เกิดเป็นคนแอฟริกันเพียงเพราะเกิดในแอฟริกา แต่แอฟริกาเกิดในตัวข้าพเจ้าด้วย” ชี้ให้เห็นว่าแอฟริกามีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในภูมิภาคสูงมาก และความรู้สึกนี้ไม่ได้ขัดแย้งกับความรู้สึกชาตินิยมในความเป็นชาติตนเอง คนแอฟริกันจะรู้สึกภูมิใจในความเป็นแอฟริกาควบคู่กับความเป็นชาติของตนเองได้ อย่างในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า ในหมู่คนแอฟริกันจะทักทายกันราวกับว่ารู้จักกัน เป็นเพื่อนผองน้องพี่กันมาก่อนเหมือนกับว่ามีแหล่งกำเนิดร่วมกันแม้ว่ามาจากคนละประเทศกันก็ตาม ซึ่งถ้าเทียบกับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราไม่มีความรู้สึกร่วมเช่นนี้เวลาเราเจอคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากชาติอื่น

อย่างไรก็ตาม หากจะรวมประเทศแอฟริกาทั้งหมด 55 ประเทศเพื่อสร้าง ‘สหรัฐแอฟริกา’ (United States of Africa) ให้เป็นไปตามฝันของเอ็นกรูมานั้นเป็นเรื่องทะเยอทะยานมาก การสร้างเขตการค้าเสรีอาจมีความเป็นไปได้ในอนาคต จากการที่หลายประเทศสมาชิกสหภาพแอฟริกาให้สัตยาบันข้อตกลงเขตการค้าเสรีทวีปแอฟริกา (African Continental Free Trade Agreement) แล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดในปัจจุบัน การที่ประเทศสมาชิกสหภาพแอฟริกาจะยกระดับความร่วมมือ ตกลงลดกำแพงภาษีร่วมกันทั้งหมด 55 ประเทศเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่ หลายประเทศต่างก็ยังมองเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติของตนเป็นหลัก ไม่อยากจะลดกำแพงภาษีหรือประนีประนอมเรื่องการค้าระหว่างกัน หรือยอมให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานภายในภูมิภาคอย่างเสรี

ดังนั้น สหภาพแอฟริกาก็ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในสร้างเขตเศรษฐกิจเสรีพอสมควร รวมถึงการยกระดับรวมกลุ่มในการไปสู่การเป็นตลาดร่วม (common market) หรือสหภาพการเงิน (monetary union) ที่ใช้สกุลเงินร่วมกันอย่างสหภาพยุโรปด้วย แม้ว่าสหภาพแอฟริกาจะตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับที่แนบแน่นยิ่งขึ้นไปอีกก็ตาม

 

แอฟริกาในสมรภูมิ COVID-19

 

แอฟริกานับได้ว่าเป็นทวีปที่มีการบริหารจัดการการระบาดของโควิด-19 ได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก จนหลายฝ่ายมองว่าแอฟริกาเป็น ‘เรื่องราวของความสำเร็จ’ (‘success story’) เพราะมีจำนวนผู้เสียชีวิตในอัตราส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อ รายงานเชิงสถิติชี้ว่า ทั้งทวีปแอฟริกามีผู้ติดเชื้อถึง 270,000 เคสโดยประมาณ เสียชีวิตทั้งทวีป 7,426 คน (สถิติ ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2563) ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ส่วนมากเป็นประเทศขนาดใหญ่ อย่างประเทศที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุดในทวีป คือแอฟริกาใต้ พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 83,890 เคส รองลงมาคืออียิปต์ ไนจีเรีย กานา และอัลจีเรีย

แม้ว่าทวีปแอฟริกาจะมีความเสี่ยงมากกว่าทวีปอื่นๆ เพราะมีข้อจำกัดทางสาธารณสุข มีประชากรจำนวนมาก และอยู่กันอย่างแออัดในหลายพื้นที่ แต่ปัจจัยสำคัญที่แอฟริกามีการแพร่กระจายของโควิด-19 ค่อนข้างต่ำกว่าภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ได้แก่ ประการแรก แอฟริกาใต้มีสัดส่วนประชากรหนุ่มสาวมากที่สุดในโลก อย่างมาลี ไนเจอร์ หรือแชดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยมาก ก็เพราะอยู่ในกลุ่มประเทศมีประชากรอายุน้อยกว่า 25 ปีกว่า 60% ในขณะที่มีประชากรสูงวัยเพียงแค่ 19% แต่อย่างในประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งมียอดผู้เสียชีวิตมากกว่าที่อื่น เพราะมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีมากที่สุดในทวีป

ประการที่สอง ประเทศในแอฟริกาบางประเทศอย่างคองโก เคยผ่านประสบการณ์ในการจัดการโรคระบาดมาแล้วในช่วงปี 2014-2016 ซึ่งเกิดการระบาดของไวรัสอีโบลา

ประการที่สาม แอฟริกาเป็นภูมิภาคที่ไม่ได้มีการเดินทางระหว่างประเทศมาก เกือบหนึ่งส่วนสามของทวีปเป็นประเทศไม่มีทางออกทะเล นอกจากนี้ หลายประเทศในแอฟริกามีมาตรการป้องกันที่รัดกุม ตัดสินใจประกาศปิดประเทศตั้งแต่ช่วงต้นของการระบาดและยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพียงแค่หลักหน่วย ประเทศแรกที่ประกาศปิดประเทศเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2020 คือรวันดา หรืออย่างเอธิโอเปียก็เป็นประเทศต่อมาที่ประกาศล็อกดาวน์ตั้งแต่ยังมีผู้ติดเชื้อเพียงแค่ 40 เคสเท่านั้น

ความสัมพันธ์ไทย-แอฟริกา

 

ที่จริงแล้ว กระทรวงการต่างประเทศและมหาวิทยาลัยในไทยกับประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกามีความร่วมมือระหว่างกันอย่างต่ำประมาณ 20-30 ปีมาแล้ว เพียงแค่อาจยังไม่เป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางในหมู่สาธารณชน กรอบความร่วมมือใหญ่ระหว่างไทยและแอฟริกาส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนา อย่างคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็มีการริเริ่มโครงการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงปลานิล มีการเข้าไปทำโครงการแนะนำการขุดบ่อปลานิลให้แก่เกษตรกรในประเทศโมซัมบิก หรือกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ ก็มีการให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาชาวแอฟริกันเข้ามาศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในไทยปีละจำนวนหลายทุน

แต่ในไทยยังขาดศูนย์กลางเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจ และผลิตองค์ความรู้เกี่ยวกับแอฟริกาให้สาธารณชนคนไทยรับรู้ หรือช่วยให้ชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาวแอฟริกันหรือชาวต่างชาติชาติอื่นๆ รับรู้ว่าไทยและแอฟริกามีความร่วมมือหลายด้าน หลายฝ่ายที่ทำงานร่วมกับแอฟริกาจึงเล็งเห็นว่าควรเริ่มมีหน่วยงานที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว

ในอีกมุมหนึ่ง เราต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า ไทยและแอฟริกาสามารถและเปลี่ยนความรู้ เรียนรู้จากกันและกัน สร้างองค์ความรู้ร่วมกันได้ ไม่ใช่แค่เพียงไทยจะให้ความช่วยเหลือแอฟริกาแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือไทยจะหวังผลตอบแทนจากแอฟริกาเท่านั้น อย่างในด้านการเกษตร ก็มีมิติที่ไทยอาจอาศัยองค์ความรู้จากแอฟริกาได้ เช่นในด้านการเกษตร ไทยอาจเรียนรู้การปลูกอะโวคาโดให้มีคุณภาพดีได้จากประเทศยูกันดาได้ เป็นต้น

ส่วนในด้านองค์ความรู้ทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ แม้ว่าจะมีงานศึกษาเปรียบเทียบแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแวดวงการศึกษาระดับโลกจำนวนหนึ่ง แต่งานลักษณะนี้ยังไม่ค่อยมีในไทย รวมทั้งยังไม่มีงานที่เปรียบเทียบแอฟริกากับไทย ศูนย์เอเชีย-แอฟริกาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU-AAC) ตั้งใจไว้ว่าอยากสนับสนุนงานวิชาการที่ศึกษาแอฟริกาและไทยในเชิงเปรียบเทียบได้ สามารถนำองค์ความรู้เชิงเปรียบเทียบไปใช้จริงในการพัฒนา หรือยกระดับการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นกว่าที่เป็นในปัจจุบัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save