fbpx

“ทำบุญสวยชาติหน้า ฉีดหน้าสวยชาตินี้” การเติบโตของคลินิกความงามท่ามกลางอิทธิพลอินฟลูฯ และความสวยที่มาพร้อมความเสี่ยง

โบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ แฟต มาเด้ เมโส ไฮฟู่ อัลเทอร์ร่า เทอร์มาจ ฯลฯ

หลากศัพท์แสงที่เป็นชื่อเรียกหัตถการความงามเหล่านี้อาจสร้างความงงงวยให้ผู้พบเห็นที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงความสวยงาม ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็มักจะเจอป้ายโฆษณาคลินิกความงามตั้งตระหง่านอยู่แทบจะทุกระยะ 500 เมตรในเขตเมือง บนสื่อสังคมออนไลน์ก็ไม่ต่างกัน โฆษณาคลินิกและโปรโมชันฉีดหน้าปรากฏมาให้เห็นเป็นระยะ คอนเทนต์รีวิวการทำหัตถการความงามโดยอินฟลูเอนเซอร์หรือผู้ใช้บริการคลินิกความงามก็ได้รับความนิยมและมียอด engagement เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ความเฟื่องฟูของการทำหัตถการความงามสะท้อนได้จากยอดนำเข้ายาความเสริมงาม เช่น โบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ ที่ติดอันดับ 1 ใน 5 สินค้านำเข้าสูงสุดในไทยในในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2566 จากการเปิดเผยโดยกรมศุลกากร

อิทธิพลจากสื่อเหล่านี้ทำงานได้ดีอย่างยิ่งในสังคมที่ให้คุณค่ากับมาตรฐานความงาม (beauty standard) โดยเฉพาะในสังคมเอเชียที่ความสวยยึดโยงอยู่กับการมีผิวขาว รูปร่างผอม ใบหน้าเรียวเล็ก แลดูเยาว์วัย แม้ความสวยงามเป็นเรื่องอัตวิสัย สวยสำหรับคนหนึ่ง อาจไม่สวยสำหรับคนอื่น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสวยตามมาตรฐานส่งผลต่อการได้รับโอกาสในชีวิตหลายๆ ด้าน และแม้ว่ามาตรฐานเหล่านี้ค่อยๆ ถูกทำลาย ผู้คนโอบรับความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น แต่หากเลือกได้มนุษย์ก็ปรารถนาจะมีรูปลักษณ์ตามมาตรฐานที่สังคมประกอบสร้าง

ในสังคมพุทธไทยที่อะไรๆ ก็เป็นเรื่องบุญ-กรรม ไม่เว้นเรื่องรูปร่าง หน้าตา คุณผู้อ่านคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่าคนที่เกิดมาสวย-หล่อ (ตามมาตรฐาน) ชาติที่แล้วเป็นผู้รักษาศีล ทำทานด้วยใจบริสุทธิ์ ชาตินี้จึงเกิดมาเพียบพร้อมด้วยรูปลักษณ์ แต่ปัจจุบันโลกหมุนไปเร็วมากจนความสวยเป็นเรื่องที่รอชาติภพหน้าไม่ได้ วิทยาการการแพทย์สมัยใหม่ทำให้การเสริมความงามและชะลอความเยาว์วัยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดศัลยกรรมเท่านั้น แต่สามารถทำได้ด้วยการฉีดสารหรือใช้เครื่องยกกระชับหน้า ที่ใช้เวลาทำหัตถการและเวลาพักฟื้นไม่นาน คลินิกความงามและเวชศาสตร์ชะลอวัย (aesthetic and anti-aging) จึงเป็นจุดหมายปลายทางของหนุ่มสาวที่ประสงค์จะเสริมสวย เสริมหล่อ ไม่เว้นแต่วงการพระสงฆ์ที่เพิ่งมีข่าวพระเข้าคลินิกเพื่อฉีดโบท็อกซ์และฉีดกลูต้า

เพราะการเกิดมาสวยก็เหมือนถูกหวยทางพันธุกรรม แต่ไม่ใช่ทุกคนจะได้รางวัลนั้น การปั้นแต่งความงามตามมาตรฐานจึงต้องพึ่งมือหมอ 101 ชวนทำความรู้จักกับธุรกิจเวชศาสตร์ชะลอวัย ในความหมายของการดูแลผิวพรรณเพื่อความงาม ในยุคสมัยที่การไล่กวดความงามและความเยาว์วัยอาจมาพร้อมกับความเสี่ยง ผู้บริโภคควรรู้อะไรบ้างก่อนตัดสินใจทำหัตถการความงาม ฟังเสียงจากผู้ใช้บริการจริงและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ในบทความนี้

ขาขึ้นของธุรกิจความงามและสุขภาพในไทย

การเข้ารับบริการทางการแพทย์เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์เข้ามาอยู่ในการรับรู้ของสังคมกระแสหลักมานานกว่าทศวรรษแล้ว อย่างน้อยที่สุดคุณผู้อ่านก็น่าจะรู้จักการทำศัลยกรรมเสริมความงาม เช่น เสริมจมูก ทำตาสองชั้น เหลาคาง ก่อนหน้านี้เมื่อพูดถึงการทำศัลยกรรมแปลงโฉม คนไทยมักจะนึกถึงเกาหลีใต้เป็นแห่งแรก เพราะว่ากันว่าหมอเกาหลีเนรมิตความสวยหล่อออกมาได้เป็นธรรมชาติที่สุด อุตสาหกรรมความงามเกาหลียังถูกผลักดันอย่างแนบเนียนไปพร้อมกับอุตสาหกรรมบันเทิง ประเทศไทยที่รับเอาอิทธิพลจากเกาหลีจากหลายทิศทางก็เริ่มโอบรับค่านิยมการทำศัลยกรรมเพื่อความงามมากขึ้น

แต่อุตสาหกรรมเวชศาสตร์ความงามที่เราเข้าใจกันนี้ ไม่ได้หมายถึงแค่การศัลยกรรมตกแต่งเพียงเท่านั้น แต่รวมถึงเวชปฏิบัติแบบ noninvasive procedure ที่สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทยอธิบายไว้ว่าคือ “การใช้ยากินหรือยาฉีด การนวด การกดจุด การฝังเข็ม โดยแพทย์ทั่วไปหรือบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ที่ได้รับอนุญาต สามารถทําได้ในคลินิกทั่วไป” ปัจจุบันหัตถการประเภทนี้มาแรงจนใกล้แซงการทำศัลยกรรม โดยเฉพาะการฉีดหรือใช้เครื่องมือยกกระชับ ซึ่งทำเพื่อชะลอวัยผิวพรรณ ให้ยังดูเต่งตึงและเปล่งปลั่ง การฉีดโบท็อกซ์ (Botox) และฉีดสารเติมเต็ม (filler) เพื่อปรับรูปหน้า แก้ปัญหาริ้วรอย และร่องลึก เป็นหัตถการที่ไม่ใช่การศัลยกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ณ ขณะนี้ อย่างไรก็ตามคำว่าเวชศาสตร์ชะลอวัยในความหมายกว้างๆ คือการป้องกันและชะลอความเสื่อมของร่างกายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยการรักษาหรือดูแลทั้งภายในและภายนอกด้วยวิธีต่างๆ แต่ในความหมายที่แวดวงความงามมักจะกล่าวถึงนี้คือการดูแลผิวพรรณโดยใช้เครื่องมือหรือการฉีดสารบางอย่างเข้ามาช่วย

ในยุคสมัยที่โลกทั้งใบเชื่อมต่อกัน นวัตกรรมการแพทย์ด้านความงามต่างๆ สามารถถ่ายทอดและเรียนรู้จากกันและกันได้ ธุรกิจเวชศาสตร์ความงามในไทยได้รับการพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว หนุ่มสาวที่ต้องการทำหล่อ ทำสวย ไม่จำเป็นต้องบินลัดฟ้าไปถึงเกาหลีอีกต่อไป ฝีมือหมอไทยและการบริการยังได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ อีกทั้งมีราคาที่ไม่แพงจนเกินไป หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ราคาการรับบริการด้านความงามในไทยถูกกว่าสิงคโปร์ 3 เท่าและถูกกว่าที่มาเลเซีย 2 เท่า

ธุรกิจเพื่อความงามเหล่านี้ล้วนอยู่ในขบวนยุทธศาสตร์ของรัฐที่ต้องการผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เผยว่าตลาดธุรกิจบริการสุขภาพในไทย มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนรายได้จากผู้รับบริการชาวไทยต่อชาวต่างชาติ ราวร้อยละ 75:25

เมื่อพิจารณาเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์ความงามไทย Grand View Research (GVR) บริษัทวิจัยด้านการตลาดในสหรัฐอเมริกาและอินเดีย ประมาณการมูลค่าตลาดในไทยเมื่อปี 2021 ไว้ที่ 1,520 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 52,000 ล้านบาทไทย) และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.7% รายงานเมื่อปี 2021 ของสมาคมศัลยศาสตร์ตกแต่งเสริมสวยนานาชาติ (International Society of Aesthetic Plastic Surgery) เผยให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีการทำหัตถการเพื่อความงามมากเป็นอันดับที่ 15 ของโลก สถิติที่ผ่านมาและการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญหรือสถาบันวิจัยหลายสำนักล้วนให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าธุรกิจความงามจะยังทำกำไรได้อีกเรื่อยๆ ในอนาคต เป็นเรื่องที่ล่อตาล่อใจให้หลายคนอยากเข้ามาจับจองพื้นที่แข่งขันในสนามธุรกิจนี้

คลินิกฉีดหน้า: การเติบโตที่ขาดการตรวจตรา และภาษาของอินฟลูฯ

กระแสความงามที่อยู่ในช่วงขาขึ้นเช่นนี้ ดึงดูดให้หลายคนกระโดดเข้าสู่ธุรกิจเสริมความงาม ทั้งจากแวดวงนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ แพทย์ รวมไปถึงอินฟลูเอนเซอร์ที่มีอิทธิพลในโซเชียลมีเดียที่ผันตัวมาเปิดคลินิกเอง ธุรกิจคลินิกเสริมความงามจัดว่ามีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดต่ำ (low barrier to entry) เพียงแค่มีเงินลงทุนก็สามารถเข้าสู่สนามนี้ได้ และอีกธุรกิจหนึ่งที่เติบโตมาพร้อมกันคือบริการรับดำเนินการเปิดคลินิกความงาม ที่ช่วยวางแผน เตรียมเอกสาร และเดินเรื่องขอใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลให้เสร็จสรรพ ข้อมูลจากการสำรวจของ GVR เผยว่าประเทศไทยมีคลินิกที่ให้บริการด้านความงามราว 1,400 แห่ง คิดเป็น 13% ของคลินิกการแพทย์ทุกประเภทในไทย การขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นนี้มาพร้อมกับความน่ากังวลเรื่องการควบคุมคุณภาพและตรวจสอบมาตรฐานที่อาจจะยังไม่ทั่วถึง

ดังที่ได้กล่าวไปว่าใครก็สามารถเปิดคลินิกความงามได้ขอเพียงมีเงินทุน และองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการขอใบอนุญาตเปิดคลินิกจำเป็นต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ของ ‘หมอ’ จึงเป็นจุดกำเนิดของอาชีพ ‘หมอแขวนป้าย’ ซึ่งหมายถึงแพทย์ที่อนุญาตให้คลินิกหรือสถานพยาบาลนำชื่อและใบประกอบวิชาชีพไปแขวน แลกกับค่าจ้างรายเดือน โดยที่หมอไม่ต้องเข้าตรวจเอง

เมื่อสามปีที่แล้วมีหมอจำนวนหนึ่งออกมาเปิดเผยผ่านเพจเฟซบุ๊กชื่อดังเพจหนึ่งว่าค่าแขวนป้ายอยู่ที่ประมาณ 30,000-40,000 บาทต่อเดือน ในปีเดียวกันนั้น เลขาธิการแพทยสภาได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อเตือนหมอจบใหม่ที่แขวนใบประกอบฯ ให้คลินิกแล้วไม่ได้ตรวจรักษาเองว่าเป็นเรื่องผิดจริยธรรม ผิด พ.ร.บ.สถานพยาบาล โทษอาจถึงเพิกถอนใบอนุญาตและถูกจำคุกได้

ฉะนั้นแล้วการเลือกเข้าคลินิกที่มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องก็ไม่ได้เป็นสิ่งการันตีว่าจะได้รับบริการจากหมอจริงๆ เสมอไป เราจึงได้เห็นข่าวบุกจับหมอเถื่อนในคลินิกที่มีใบอนุญาตอยู่บ่อยครั้ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตำรวจสอบสวนกลางร่วมด้วยเจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพและคณะกรรมการอาหารและยา เข้าตรวจค้นคลินิกแห่งหนึ่งย่านศรีนครินทร์ที่มีใบประกอบกิจการสถานพยาบาล ซึ่งได้รับเบาะแสมาว่าผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นแพทย์และทำการฉีดหน้าให้ผู้มารับบริการนั้นไม่ได้เป็นแพทย์ โดยผู้ต้องหาสารภาพว่าเรียนจบนิเทศศาสตร์ แต่เคยทำงานเป็นผู้ช่วยในคลินิกความงาม จึงจดจำวิธีฉีดโบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ และร้อยไหมมาประกอบอาชีพ ที่น่าตกใจคือผู้ต้องหารับงานในคลินิกมาแล้วกว่า 5 ปี ให้บริการลูกค้าไปมากกว่า 100 คน เมื่อปลายปีที่แล้วก็มีข่าวบุกจับหมอปลอมที่เรียนฉีดหน้าจาก YouTube

นอกจากความเสี่ยงในการเจอหมอปลอม การตัดสินใจทำหัตถการโดยได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียวก็เป็นความเสี่ยงอีกประเภทเช่นกัน ในสนามธุรกิจที่มีผู้แข่งขันจำนวนมาก หลายคลินิกต้องทำการตลาดด้วยการออกโปรโมชัน และดึงดูดลูกค้าโดยให้อินฟลูเอนเซอร์ช่วยรีวิวและขายให้เนียนๆ หลายรีวิว หลากคำเชิญชวนบนโลกอินเตอร์เน็ตจึงปรากฏแต่เพียงข้อมูลด้านบวก หลายโพสต์ก็ยากจะแยกออกว่าเป็นรีวิวจริงหรือได้รับค่าโฆษณามา ยกตัวอย่างหัตถการที่มีความเสี่ยงอย่างการฉีดฟิลเลอร์เพื่อแก้ไขปัญหาใต้ตาคล้ำ ซึ่งเป็นจุดที่มีความเสี่ยงต่อการอุดตันเส้นเลือด หากมีการอุดตันเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงลูกตาจะทำให้ตาบอดได้ แน่นอนว่าผู้โชคร้ายจากการฉีดหน้าอาจไม่ได้มีบ่อยๆ แต่การรีวิวในทำนองที่ว่านอนดึก ใต้ตาคล้ำ ต้องกำเงินเข้าคลินิกไปฉีดฟิลเลอร์ หรือทุกปัญหาแก้ได้ด้วยปลายเข็ม ก็ไม่ใช่คำแนะนำที่ดูรับผิดชอบต่อผู้บริโภคนัก

นอกจากนี้กระแสบนโซเชียลมีเดีย กำลังประกอบสร้างค่านิยมการฉีดหน้าเพื่อประคองความเยาว์วัย ที่ว่ากันว่าเริ่มไวเท่าไหร่ยิ่งดี เมื่อหลายเดือนก่อนมีผู้ใช้ทวิตเตอร์โพสต์ถึงสิ่งที่ต้องทำก่อนอายุ 30 ปี ซึ่งประกอบไปด้วยหัตถการความงามนานาประเภทตั้งแต่การฉีดไปจนถึงเทคโนโลยีเครื่องยกกระชับราคาเฉียดแสน หลายคนมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ว่าทำตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ บางคนตั้งคำถามว่าการดูแลสุขภาพพื้นฐานอย่างการกิน การนอน และออกกำลังกายให้เหมาะสมก็เพียงพอแล้ว ถึงกระนั้นกระแสการเข้าคลินิกทำหน้าก็ยังไหลเวียนอยู่ในโลกออนไลน์ตลอด ไม่มากก็น้อย โพสต์รีวิวเหล่านี้สร้างแรงกดดันทางอ้อมว่าความสวยคือสิ่งจำเป็นของยุคสมัย และใครๆ ก็สวยได้ถ้ามีเงินทำหน้า

ปรากฏการณ์ใหม่ที่เราเริ่มเห็นก็คือผู้เข้ารับบริการคลินิกเสริมความงามมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ผลวิจัยและสำรวจจาก McKinsey ที่เก็บข้อมูลในประเทศที่ตลาดธุรกิจการแพทย์เพื่อความงามขยายตัว พบว่าช่วงวัยของลูกค้าที่ใช้บริการคลินิกความงาม โดยทำหัตถการแบบฉีด ขยายจากกลุ่มผู้หญิงวัยกลางคนที่มีกำลังซื้อไปสู่ผู้หญิงในช่วงวัย 20 มากขึ้น ประกอบกับราคาการเข้ารับบริการที่มีให้เลือกหลากหลาย เช่น ราคาโบท็อกซ์ในไทยที่ตอนนี้มีให้เลือก 7-8 ยี่ห้อ ขนาด 100 Unit มีตั้งแต่ราคาประมาณ 7,000-15,000 บาท ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ ในไทยเองก็เริ่มเห็นกลุ่มผู้สนใจฉีดหน้ากลุ่มใหม่ๆ หากลองเข้าไปดูกลุ่มปิดที่แบ่งปันเรื่องความสวย-ความงามในเฟซบุ๊กจะเริ่มมีเยาวชนที่เป็นสมาชิกมาตั้งคำถามว่า อายุ 15-16 ปี ฉีดโบท็อกซ์ได้หรือยัง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจเพราะอยู่ในวัยที่ยังห่างไกลจากความแก่ แต่ก็สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าอิทธิพลของโซเชียลมีเดียเปลี่ยนทัศนะที่มีต่อความสวย ความงามในปัจจุบันไว้มากเพียงใด

นอกจากนั้นรีวิวจากผู้รับบริการในด้านที่คลินิกไม่พึงปรารถนา หรือเรียกกันว่า ‘เคสหลุด’ หมายถึงผู้รับบริการที่เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียง มักจะถูกคลินิกขอให้ลบหรือขู่ว่าจะฟ้องหากไม่ลบโพสต์ เมื่อผู้สนใจเข้ารับบริการค้นหารีวิวก็จะเจอแต่ด้านที่ดีจนตกลงปลงใจนัดวันทำสวยได้โดยง่ายดาย เป็นที่เข้าใจได้ว่าการอยู่รอดทางธุรกิจนั้นสำคัญ แต่จริยธรรมการให้บริการควรจะสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด

เพื่อให้เข้าใจความเป็นไปในแวดวงความสวยและความเยาว์วัยที่ปลายเข็ม 101 พูดคุยกับ ศุทธิณี ดงขาว นักศึกษาจบใหม่จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ที่ทำหัตถการเพื่อความงามตั้งแต่อายุ 20 ย่าง 21 ปี เริ่มจากการฉีดโบท็อกซ์กรามให้หน้าเรียว ซึ่งจะฉีดซ้ำทุก 6 เดือน เมื่ออายุ 22 ปีก็ฉีดโบท็อกซ์ลดริ้วรอย เพราะเริ่มมีริ้วรอยบนหน้าผาก โดยจะฉีดซ้ำทุก 4 เดือน และการฉีดโบท็อกซ์ครั้งล่าสุดของเธอคือเพื่อยกกรอบหน้าและยกคิ้วขึ้น นอกจากนี้ศุทธิณียังเคยฉีดฟิลเลอร์ใต้ตา ฉีดร่องแก้ม และฟิลเลอร์เสริมโหนก และทำไฮฟู่ จากการทำหัตถการหลายแบบและจิ้มหน้าไปหลายครั้งจนเรียกตัวเองว่า ‘เป็นเพื่อนกับโบทอกซ์’ ศุทธิณีกล่าวว่ายิ่งทำเยอะยิ่งต้องตรวจสอบเยอะเพื่อให้แน่ใจว่าการทำหัตถการแต่ละครั้งนั้นปลอดภัย

“เราหาข้อมูลนานมากเพราะอยากทำตั้งแต่อยู่มัธยมเลย ก็เลยอ่านรีวิวคลินิกเยอะมาก เพราะเราก็กังวลเรื่องความปลอดภัย ต้องยอมรับว่าหลายคลินิกให้ผู้ช่วยพยาบาลฉีดหน้าให้เรา ซึ่งเราก็เลือกจะไม่ไปคลินิกแบบนี้ จะไปคลินิกที่มีหมออยู่ตลอด เราจะทักแชทไปถามว่าวันนี้คุณหมออยู่ไหม แต่ส่วนใหญ่จะเลือกไปคลินิกที่ไว้ใจได้ว่าเป็นหมอจริงๆ ที่ฉีดให้ และเราจะเสิร์ชชื่อหมอก่อนตัดสินใจทำทุกครั้ง แล้วเวลาเราฉีดโบท็อกซ์เราจะทักไปถามว่าขอสแกน QR Code ข้างขวดก่อนได้ไหมว่าของแท้หรือเปล่า แต่ส่วนใหญ่เราจะเลือกเหมาขวด แล้วนำขวดกลับมา เพราะว่ามันจะมีหลายที่ที่ฉีดเป็น CC หนึ่งขวดก็อาจจะใช้หลายคนกว่าจะหมด”

“เรื่องราคาก็มีผลในการเลือกนะ ถ้าโบท็อกซ์ราคาถูกๆ จะเริ่มคิดแล้วว่าของปลอมหรือเปล่า อีกอย่างคือ ไม่มากก็น้อย ราคามันบ่งบอกบริการที่เราจะได้รับ เช่น มีคลินิกฉีดหน้าชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพที่ราคาถูกมาก แล้วคนชอบไปฉีดหน้าที่นี่ แต่พอลูกค้าเยอะ เขาต้องแข่งกับเวลา พอฉีดแล้วไม่มีการให้นั่ง 5 นาทีแล้วคอยมาถามอาการ แต่ให้กลับบ้านเลย แต่ถ้าคลินิกที่แพงขึ้นมาหน่อย ลูกค้าน้อยกว่า เขาจะให้เรานั่งพักก่อนเพื่อรอดูว่ามีผลค้างเคียงอะไรเกิดขึ้นไหม”

ศุทธินีกล่าวว่าปัจจัยที่ทำให้คนเข้าคลินิกฉีดหน้ามากขึ้นเพราะกระแสในโซเชียลมีเดีย และด้วยการรับรู้ของสังคมที่เปลี่ยนไป จากที่แต่ก่อนคนไม่ยอมรับการศัลยกรรมหรือความสวยที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติ แต่เดี๋ยวนี้คนยอมรับมากขึ้น และประการสำคัญคือราคาการเข้ารับบริการที่เอื้อมถึงและมีให้เลือกหลากหลาย เธอกล่าวว่า “ตอนนี้คลินิกผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเลย พอเปิดเยอะมันก็พ่วงมากับการตัดราคาแข่งกัน คนก็เลยมีทางเลือกเยอะขึ้น มีหลายราคาให้เลือก สมัยก่อนถ้าจะฉีดฟิลเลอร์ทีต้องมีเงินอย่างน้อย 20,000-30,000 แต่เดี๋ยวนี้ราคาลดลงไปกว่าครึ่ง ราคาพอรับได้ คนเลยเข้าคลินิกกันตั้งแต่เป็นนักศึกษา” ศุทธิณีบอกว่าหลังทำหัตถการเหล่านี้แล้วได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ เธอรู้สึกมั่นใจมากขึ้น และคิดว่าจะทำต่อไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามเธอย้ำว่าสำหรับเธอแล้วความปลอดภัยต้องมาก่อน หากได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนจะไม่ตัดสินใจทำ

ฟังเสียงจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยเส้นแบ่งจริยธรรมแพทย์ความงาม และความปลอดภัยผู้ใช้บริการ

นอกจากประเด็นความปลอดภัยที่เจ้าของธุรกิจหรืออินฟลูเอนเซอร์อาจให้ข้อมูลได้ไม่ครบ แพทย์ผู้ทำหัตถการความงาม หรือแพทย์บางคนอาจจะเป็นเจ้าของคลินิกก็อาจจะพบตัวเองอยู่บนทางแพร่งของจริยธรรม ที่ด้านหนึ่งต้องแข่งขันในตลาดผู้เล่นหลายราย ต้องเป็นหมอที่เป็นนักขายมืออาชีพ แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องรักษาจริยธรรมและปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบข้อกำหนดของแพทยสภา อีกทั้งหมอฉีดหน้ายังเป็นที่กังขาในวงการแพทย์ว่าเป็นศาสตร์สีเทา

ศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา อาจารย์ประจำภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แพทย์ผู้ศึกษาวิจัยภาวะดื้อโบท็อกซ์มานานกว่า 10 ปี ได้ให้สัมภาษณ์กับ 101 ว่าปัจจุบันเวชศาสตร์ชะลอวัยยังไม่ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรที่แพทยสภารับรองและยังเป็นสาขาที่จัดว่าเป็นศาสตร์ทางเลือก

“ศาสตร์ที่หมอยอมรับว่าเป็นการรักษาแบบมาตรฐาน จะต้องเริ่มจากการทำวิจัย มีผลวิจัยรับรอง และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าวิธีนี้รักษาได้ดีจริง ไม่ว่าหมอคนไหนจะรักษาด้วยวิธีนี้ก็จะได้ผลเหมือนกัน แต่ศาสตร์ anti-aging ยังเป็นการรักษาทางเลือกอยู่เพราะยากที่จะควบคุมตัวแปรในการศึกษาวิจัย เช่น บอกว่านางสาว A กินอาหารเสริมชนิดหนึ่งแล้วเด็กลง แต่ความจริงวัดผลไม่ได้เพราะไม่มีนางสาว A อีกคนที่ไม่กินอาหารเสริมนี้แล้วมาเทียบกันว่าแก่หรือไม่แก่ เช่นเดียวกับการที่บอกว่านางสาว A ฉีดโบท็อกซ์แล้วหน้าเด็กลง แต่ถ้าไม่ฉีดจะแก่แน่ อันนี้พิสูจน์ได้ยาก เพราะคนเราต้องแก่อยู่แล้ว แต่แก่แบบฉีดกับไม่ฉีดมันต่างกันแค่ไหนก็วัดยาก เพราะไม่มีเราอีกคนไว้เทียบ” อย่างไรก็ตาม รังสิมาเชื่อว่ามีโอกาสที่เวชศาสตร์ชะลอวัยจะกลายเป็นศาสตร์กระแสหลักได้ในอนาคต หากมีคนทุ่มเทวิจัยจนทำให้ผลลัพธ์จากการรักษาสามารถพิสูจน์ได้

สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวแปรในการพิจารณาว่าจะทำหัตถการชะลอวัยที่คลินิกไหนคือหมอ เนื่องจากทุกวันนี้คลินิกความงามมีให้เลือกหลากหลายมาก แต่ส่วนใหญ่หมอประจำคลินิกมักจะเป็นหมอทั่วไป เมื่อถามว่าจำเป็นไหมที่ควรจะเลือกหมอที่จบเฉพาะทางด้านผิวหนัง รังสิมาตอบว่า “หมอเชื่อว่าทุกวันนี้ 80-90% ของหมอความงาม (aesthetic) 80-90% เป็นหมอทั่วไป และยังมีหมอเฉพาะทางสาขาอื่นที่ข้ามมาทำก็มี แต่ถามว่าจำเป็นไหม หมอว่าขึ้นอยู่กับความต้องการของคนไข้ เราไม่จำเป็นต้องรักษาหวัดกับหมอหู คอ จมูกฉันใด ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดหน้ากับหมอผิวหนังฉันนั้น คนไข้ต้องพิจารณาเองว่าจำเป็นต้องพบหมอที่เชี่ยวชาญจริงๆ ไหม คุณมีโรคประจำตัวบางอย่างที่ต้องการการดูแลเป็นเฉพาะหรือเปล่า แน่นอนว่าหมอเฉพาะทางที่ผ่านการฝึกฝนอย่างเป็นระบบย่อมได้เรียนมากกว่าและกว้างกว่า อย่างหมอที่จบด้านตจวิทยามาโดยเฉพาะ มาฉีดโบท็อกซ์ ถ้ามีผลข้างเคียงอะไรเกิดขึ้น เราจะรู้วิธีการแก้ไขได้ละเอียดกว่าหมอที่ผ่านการอบรมระยะสั้นๆ แต่ถึงจะจบอะไรมา ตราบใดที่เป็นหมอก็ควรศึกษาวิธีรักษาให้ดี” อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากังวลกว่าหมอจบจบไม่ตรงสาขาเฉพาะทางคือหมอกระเป๋า หรือหมอปลอม ที่ยังไม่เห็นความพยายามจากรัฐในการปราบปรามอย่างจริงจัง

ดังที่ได้กล่าวไปว่าหมอที่ผันตัวมาเปิดคลินิกความงามต้องแข่งขันกับเหล่าอินฟลูเอนเซอร์เจ้าของคลินิก ทำให้หมอต้องผันตัวมาโฆษณาบริการของคลินิก ซึ่งขัดกับจริยธรรมแพทย์ รังสิมามีความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า “หมอว่ามันมีพื้นที่สีเทาบางๆ ระหว่างการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่ให้ความรู้ กับการเป็นอินฟลูเอนเซอร์เพื่อการตลาด ซึ่งความจริงแบ่งกันยาก ส่วนตัวสนับสนุนให้หมอที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีจริยธรรมในการตรวจคนไข้ออกมาสื่อสารกับสังคมมากขึ้นเพราะจะเป็นการสร้างสมดุลกับการสื่อสารแบบการโฆษณาที่เขาเสนอแต่ด้านดีๆ อยู่แล้ว ฉะนั้นหมอเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้ในแง่ที่ว่าต้องให้ข้อมูลอย่างเป็นกลาง”

รังสิมาย้ำว่าสิ่งที่หมอพึงระวังคือการโฆษณาให้แบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ หมอจะแนะนำได้ได้บนฐานของงานวิจัย ไม่สามารถสรุปไปเองว่าอะไรดีที่สุด รังสิมายกตัวอย่างการให้ความรู้แก่ประชาชนที่หมอทำได้ เช่น การเอางานวิจัยมาช่วยเปรียบเทียบประสิทธิภาพเครื่องยกกระชับ ที่บริษัทวิจัยมาว่าได้ผล 80% แต่ศิริราชทำได้ผลแค่ 30% การสื่อสารเช่นนี้อยู่ในกรอบที่หมอให้ความรู้ประชาชนได้ แต่ไม่สามารถพูดได้ว่าเครื่องไหนดีที่สุด

รังสิมาปิดท้ายว่ามีข้อ 3 สิ่งที่อยากให้ผู้ที่กำลังสนใจเข้าคลินิกฉีดหน้าพิจารณาก่อนตัดสินใจทำ

ประการแรก ควรตรวจสอบชื่อแพทย์ผ่านเว็บไซต์ของแพทยสภาว่าเป็นแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพหรือไม่

ประการที่สอง ตรวจสอบให้แน่ใจว่าสถานที่ที่จะทำหัตถการนั้นปลอดภัยและอยู่ในที่ปิดเหมาะสมหรือไม่ การเลือกฉีดกับหมอกระเป๋าที่บ้านนั้นมีความเสี่ยงมาก เพราะไม่มีเครื่องช่วยชีวิต หากเกิดอาการแพ้จนหัวใจหยุดเต้นอาจจะช่วยไว้ได้ไม่ทัน

ประการสุดท้าย อยากให้ผู้รับบริการไตร่ตรองให้ดีว่าสิ่งที่กำลังจะทำมีประโยชน์จริงหรือเปล่า และมีข้อมูลครบถ้วนเพียงพอในการตัดสินใจหรือไม่ เพราะหลายคนเห็นนวัตกรรมใหม่มาก็อยากลองเลย แต่ควรฉุกคิดสักนิดว่าเมื่อเป็นสิ่งใหม่แล้วมีการวิจัยหรือรายงานมากพอว่าปลอดภัยไหม เพราะไม่มีใครอยากเป็นคนแรกที่เจอผลข้างเคียงจากการทำหัตถการ และการถามตัวเองให้ดีว่าสมควรทำหรือไม่จะช่วยให้เลือกทำหัตถการความงามอย่างมีขอบเขต ไม่มากจนเกินไป

ถึงที่สุดแล้ว ทุกคนทราบดีว่าสังขารมนุษย์นั้นไม่จีรัง ความสวยงามก็เช่นกัน วิทยาการทางแพทย์เหล่านี้จึงควรถูกพิจารณาเป็นทางเลือก มากกว่าทางรอด เพราะการดูแลรักษากายใจจากภายในก็ยังเป็นวิธีประคองความเยาว์วัยที่ยั่งยืนที่สุด และในโลกทุนนิยมที่ทุกอย่างคือการทำกำไร ผู้เสพสื่อควรถอยหลังกลับมาถามตั้งคำถามก่อนว่าข้อมูลที่ได้รับนั้นน่าเชื่อถือเพียงใด และจำเป็นแค่ไหนที่จะไหลตามกระแสสังคม เพราะเทรนด์ความสวยงามมาแล้วก็ไป แต่คนที่ต้องอยู่กับผลลัพธ์จากการตัดสินใจคือตัวเราเอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save