fbpx

พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา “เจ้าที่รักชาติ…เป็นเยี่ยงอย่างแก่เจ้าอื่นๆ ได้”

เมื่อคณะราษฎร ‘พลิกแผ่นดิน’ เปลี่ยนแปลงการปกครอง ล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สถาปนาระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น นับเป็นห้วงเวลาที่เจ้านายในพระบรมราชจักรีวงศ์ต้องเผชิญกับความยากลำบากต่างๆ กัน บ้างต้องลี้ภัยออกไปประทับในต่างแดน บ้างต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ราชการ คงมีเพียงเจ้านายจำนวนน้อยที่เจริญก้าวหน้าในชีวิตราชการภายใต้ระบอบการปกครองใหม่ 

พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่สามารถทำงานร่วมกับคณะราษฎรได้ จนได้ขึ้นสูงสุดถึงการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 เมื่อพระชนมายุเพียง 30 พรรษา และเป็นเจ้านายที่คณะราษฎรกล่าวสรรเสริญว่า “เป็นเจ้าที่รักชาติพระองค์หนึ่ง สมควรเป็นเยี่ยงอย่างแก่เจ้าอื่นๆ ได้

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา
(24 กรกฎาคม 2447 – 19 พฤษภาคม 2489)

เจ้าชายผู้กำพร้า


หม่อมเจ้าอาทิตย์ทิพอาภาประสูติเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2447 เป็นพระโอรสของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์  

เมื่อหม่อมเจ้ารังษิยากร พระอนุชามีพระชันษาเพียง 1 ปี พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ก็เสวยยาพิษปลงพระชนม์พระองค์เอง เมื่อปี พ.ศ. 2451 โดยเหตุที่ทรงกำพร้าพระมารดาตั้งแต่เล็กๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นพระอัยกา จึงทรงเอ็นดูหม่อมเจ้าอาทิตย์ทิพอาภาเป็นพิเศษ ให้ติดตามโดยเสด็จใกล้ชิดพระยุคลบาทอยู่เสมอ 

ต่อมาเมื่อพระชนมายุ 5-6 พรรษา หม่อมเจ้าอาทิตย์ทิพอาภาตามเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปพระราชวังบางปะอิน วันหนึ่งทรงเล่นน้ำแล้วพลั้งพลาดจมลงไป เผชิญมีผู้ช่วยเหลือไว้ได้  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงทำขวัญ พระราชทานน้ำมหาสังข์ ทรงเจิม และผูกข้อพระกร แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาฐานันดรศักดิ์เป็น “พระหลานเธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา”

ครั้นผลัดแผ่นดินแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับอุปการะ “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา” สืบต่อมา ปฏิบัติหน้าที่รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทอยู่เป็นนิจ ทรงเป็นผู้มีไหวพริบดี เฉลียวฉลาด และปฏิบัติตามพระราชประสงค์ได้โดยไม่ผิดพลาด

เมื่อถึงกำหนดโสกันต์ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงแต่งพระองค์พระราชทานโดยใช้เครื่องอาภรณ์อย่างชั้นเจ้าฟ้าเป็นพิเศษเลยทีเดียว

สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
ทรงอุ้มพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เมื่อพระชนมายุได้ 73 วัน

การศึกษา


เมื่อ พ.ศ. 2460 พระชนมายุได้ 13 พรรษา เข้าศึกษาที่โรงเรียน Fessenden สหรัฐอเมริกา จากนั้นเมื่อสงครามในยุโรปสงบแล้ว จึงย้ายมาศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ โดยใน พ.ศ. 2464-2466 ทรงศึกษาวิชาทหารเรือ และเข้าประจำการในราชนาวีอังกฤษ จากนั้นด้วยเหตุที่ประชวร จึงลาออกมา แล้วศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และในปี พ.ศ. 2470 ทรงจบหลักสูตรวิชาปกครอง ได้ปริญญา B.A. และ M.A. จึงเสด็จกลับประเทศสยาม

ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์นั้นเอง ได้ศึกษากับศาสตราจารย์จอห์น ฮอลแลนด์-โรส ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสและนโปเลียน จึงเป็นเหตุให้เมื่อภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ทรงเป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้บรรยายในเรื่องนี้ และทรงพระนิพนธ์หนังสือ ประวัติศาสตร์สมัยการปฏิวัติร์ฝรั่งเศส และสมัยนโปเลียน โบนาปารฺต ภาคที่ ๑ (พ.ศ. 2477) โดยมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ประธานสำนักวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแห่งราชบัณฑิตยสถาน เป็นผู้เขียนคำนำให้

หนังสือเล่มนี้เองที่ เทพ บุญตานนท์ วิเคราะห์ไว้ว่า “ทำหน้าที่เล่าประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสในฐานะประวัติศาสตร์คู่ขนานการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยใน พ.ศ. 2475

พลิกแผ่นดินสยาม


เมื่อกลับมารับราชการใน พ.ศ. 2470 แล้ว ทรงรับราชการในกระทรวงมหาดไทย ในยุคที่มีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์เป็นเสนาบดี และเจริญก้าวหน้าตามลำดับ ได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ตั้งแต่ พ.ศ. 2473 จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ ฝ่ายคณะราษฎรกราบบังคมทูลฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ “ได้ใช้ถ้อยคำอันเป็นเสี้ยนหนามแก่ความสงบ…เสียดสีคณราษฎรด้วยอาการอันไม่สมควร” จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นทรงรับจะช่วยปรับความเข้าใจกัน

จากเหตุนี้พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาจึงเสด็จมารีบมอบพระองค์กับคณะราษฎร และให้คำมั่นว่าจะไม่คิดร้ายกับคณะราษฎรด้วยประการทั้งปวง ต่อมาได้ส่งสุนทรพจน์เรื่อง การปกครองในระบอบใหม่ ที่พระองค์ประทานแก่ราษฎรจังหวัดนครปฐมให้คณะราษฎรทราบ ปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบมาก คณะราษฎรถึงกับกล่าวสรรเสริญว่า “เป็นเจ้าที่รักชาติพระองค์หนึ่ง สมควรเป็นเยี่ยงอย่างแก่เจ้าอื่นๆ ได้

พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ได้มีหนังสือชมเชยในการนี้ และกระทรวงมหาดไทยได้สั่งให้จังหวัดต่างๆ ชี้แจงอบรมข้าราชการให้เข้าใจถึงการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ ตามแนวทางที่พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาได้ประทานพระโอวาทไว้แก่ชาวนครปฐมอีกด้วย

หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2476 พระองค์ทรงเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และรักษาการแทนสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต จากนั้นได้เป็นราชเลขานุการในพระองค์ (แทนที่หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกุล ที่ถูกปลดภายหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช) แต่รับงานในตำแหน่งใหม่ได้ไม่นาน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จต่างประเทศ โดยมีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาได้ปฏิบัติหน้าที่จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยแก่สมเด็จกรมพระยาพระองค์นั้นเป็นอย่างยิ่ง

และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสละราชสมบัติ ผลัดแผ่นดินเข้าสู่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาก็ได้รับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2477 (ปฏิทินเก่า)


ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ต่อมาเมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สิ้นพระชนม์ สภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งให้พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาดำรงตำแหน่งนี้สืบแทน ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2478 เมื่อมีพระชนมายุเพียง 31 พรรษาเท่านั้น

ทั้งนี้เพราะอาศัยเหตุที่พระองค์เคยได้รับใช้ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาถึง 3 รัชกาล รอบรู้กิจการภายในราชสำนักได้เป็นอย่างดี และปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยความเรียบร้อยตามหลักทศพิธราชธรรมตลอดมา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 สมัยที่มีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี พระองค์ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา”

กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม


ในระหว่างดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นี้ พระองค์มีความสัมพันธ์ที่ ‘ดี’ กับฝ่ายรัฐบาล เช่น การเสด็จไปเป็นประธานเปิดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ การสนับสนุนนโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงขนาดทรงพระนิพนธ์ “ลิลิตรัฐนิยม” เลยทีเดียว เป็นต้น 

กับจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาดูจะ ‘เกรงใจ’ อยู่มาก เช่น เมื่อกองทัพไทย ‘ชนะ’ สงครามอินโดจีนใน พ.ศ. 2484 กองทัพไทยมีหนังสือกราบบังคมทูลขอเลื่อนยศจอมพล ป. ซึ่งในเวลานั้นเป็น ‘พลตรี’ ให้เป็น ‘พลเอก’ ปรากฏว่าทรงตัดสินพระทัยพระราชทานยศ ‘จอมพล’ ให้เลยทีเดียว

และในปีเดียวกันนั้นเอง พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาทรงงานหนักจนถึงกับเป็นลมไป ดังที่ทรงเล่าไว้ว่า “ในปีนั้น มีการขอพระราชทานสายสะพายกันมากมาย ตลอดจนพวกเมียของข้าราชการก็ให้ตราด้วย ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่า ในประวัติศาสตร์ชาติไทยไม่เคยมีการให้สายสะพายผู้ชายและให้ตราผู้หญิงกันมากมายถึงเช่นนี้ จนถึงกับข้าพเจ้าผู้ครองสายสะพายให้นั้นเป็นลมหน้ามืดไป

หลังจากดำรงตำแหน่งเกือบ 10 ปี พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาทรงลาออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคม 2487 แล้วนั้น สภาผู้แทนราษฎรมีมติเลือกนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน จอมพล ป. จึง ‘ขู่เข็ญและจูงใจ’ มิให้พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาลงพระนาม เพราะอ้างว่าทางทหารที่เวลานั้น จอมพล ป. เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่ ไม่รับรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะเกิดความวุ่นวาย พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาหลงเชื่อ และไม่มีทางเลือกอื่นที่จะไม่ลงพระนาม จึงทรงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2487

ในพระประวัติที่นายเมืองเริง วสันตสิงห์ ผู้ที่เคยรับใช้ใกล้ชิดพระองค์และเคยรับตำแหน่งเลขานุการประจำพระองค์ขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งดังกล่าวนี้ ได้เรียบเรียงขึ้นด้วยความจงรักภักดีนั้น อธิบายเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า  “ทรงเห็นแก่ความปลอดภัยของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง แต่เมื่อพระองค์ท่านก็ทรงเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดา การวินิจฉัยกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงไป ก็ย่อมจะเกิดจากการคาดผิดได้ แต่หากผลอันเกิดจากการคาดผิดนี้ได้เกิดจากน้ำพระทัยอันดี ซึ่งทรงเจตนามุ่งหวังต่อความปลอดภัยของประเทศชาติแล้ว เมื่อเหตุการณ์ได้เป็นไปโดยเรียบร้อย ก็สมควรที่จะได้รับอภัย” (เน้นโดยผู้อ้าง)

อย่างไรก็ดี เมื่อจอมพล ป. พ้นจากอำนาจไปแล้ว พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาทรงวิจารณ์จอมพลผู้นี้อย่างรุนแรงว่า “จอมพล ป. นั้นกระทำการเพื่อจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง แล้วภรรยาของจอมพล ป. ก็มีความมักใหญ่ใฝ่สูงทำนองเดียวกัน…นอกจากนี้ยังได้นำเครื่องสำอางของพระเจ้าแผ่นดินและของสมเด็จพระราชินีไปใช้ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้ายืนยันว่า ขุนนิรันดรชัย (ผู้ทำหน้าที่เลขานุการในพระองค์ฯ) เป็นผู้นำเอาไปให้  ข้าพเจ้าเคยขอเปลี่ยนตัวขุนนิรันดรชัย แต่จอมพลไม่ยอม

บางส่วนจาก “ลิลิตรัถนิยม” พระนิพนธ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา
อ่านได้ฟรีทาง http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:168741

ฉากจบแห่งพระชนม์ชีพ


ในด้านชีวิตส่วนพระองค์ สมรสกับหม่อมกอบแก้ว ธิดาพระยาสุรินทรราชา (นกยูง วิเศษกุล) กับคุณหญิงเนื่อง เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2472

นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดการประพันธ์บทกวี สามารถแต่งได้ทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย มีผลงานพระนิพนธ์ เช่น หะซัน ซึ่งทรงดัดแปลงเรื่องจากภาษาอังกฤษของเจมส์ เอลรอย เฟลกเกอร์ ออกมาเป็นกลอน และยังมีบทละครเรื่อง ดารนี และ วาสันตี  รวมถึง ลิลิตรัฐนิยม ที่กล่าวถึงแล้วข้างต้น

อนุสรณ์ในทางวรรณกรรมของพระองค์ชิ้นสุดท้าย ทรงประพันธ์โคลงรับสั่งให้นางพยาบาลเป็นผู้จดขณะที่แพทย์ทำการเจาะเข้าไปในพระยกนะ 3 เข็ม เพื่อเอาพระโลหิตไปตรวจตามอาการประชวรโรคตับอักเสบของพระองค์ ดังนี้

ครั้นถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2489 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการอันสงบ รวมอายุได้ 41 ปี 9 เดือน 26 วัน


บรรณานุกรม

  • แถมสุข นุ่มนนท์. ละครการเมือง 24 มิถุนายน 2475. พิมพ์ครั้งที่ 3 แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2565 (กำลังจะตีพิมพ์).
  • เทพ บุญตานนท์. ทหารของพระราชากับการสร้างสำนึกแห่งศรัทธาและภักดี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2565.
  • ปรีดี พนมยงค์. บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2563.
  • อาทิตย์ทิพอาภา, พระเจ้าวรวงส์เธอ พระองค์เจ้า. ลิลิตรัถนิยม. ประธานคนะผู้สำเหร็ดราชการแทนพระองค์ซงพิมพ์แจกไนการพระราชทานเพลิงสพ พนะท่าน พลเอก อุ่ม พิชเยนทรโยธิน ผู้สำเหร็ดราชการแทนพระองค์ พ.ศ. 2485.
  • หะซัน. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 8 มิถุนายน 2489 – ซึ่ง “พระประวัติ” ในหนังสือเล่มนี้ นายเมืองเริง วสันตสิงห์ เป็นผู้รวบรวมและเรียบเรียง โดยพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงตรวจและแก้ไขเพิ่มเติม.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save