fbpx
คุยกับ นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ : เมื่อเด็กและครอบครัวคือจุดเปราะบางท่ามกลางวิกฤต

คุยกับ นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ : เมื่อเด็กและครอบครัวคือจุดเปราะบางท่ามกลางวิกฤต

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

แม้ว่ารัฐจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ให้ทีละนิด แต่ดูเหมือนว่าแผลที่เกิดขึ้นแล้วกับสังคมไทย ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ กำลังค่อยๆ ปะทุตามหลังเชื้อ COVID-19 ที่ระบาดไปก่อนหน้านั้น

ตั้งแต่เศรษฐกิจทรุด ธุรกิจล้ม คนตกงาน โรงเรียนปิด กระทั่งข่าวฆ่าตัวตายที่ปรากฏขึ้นรายวัน

คำถามคือความเครียดของผู้คนจากผลพวงเหล่านี้ เมื่อมันต้องอยู่ร่วมกับคนในบ้านเป็นเวลานาน อะไรจะเกิดขึ้น

ครอบครัวที่เคยถูกนิยามว่าจะอบอุ่นเมื่ออยู่กันพร้อมหน้าจะยังอบอุ่นเหมือนเดิมไหม ถ้าต้องอยู่ร่วมกันนานกว่าที่คิด

เด็กที่เคยมีพื้นที่วิ่งเล่น-เรียนรู้ เมื่อต้องอยู่กับผู้ปกครองที่ไม่พร้อมดูแลในช่วงวิกฤตจะเป็นอย่างไร

จะว่าไปวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้อาจสะท้อนว่าจุดที่ดูเหมือนจะเข้มแข็งที่สุด เหนียวแน่นที่สุดอย่างสถาบันครอบครัว อาจจะเป็นจุดที่เปราะบางที่สุดก็ได้

เพื่อให้เห็นภาพร่วมกัน 101 สนทนากับ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และ ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เพื่อการันตีว่ายังมีความหวัง ไม่ให้จุดเปราะบางแตกร้าวลง

 

เมื่อ COVID-19 มาเคาะประตูบ้าน

 

COVID-19 ทำให้ยิ่งเห็นว่าสังคมไทยที่มีความเปราะบางทางสถาบันครอบครัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จะยิ่งลำบากมากขึ้น

เราวิเคราะห์กันมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวไทยหรือครอบครัวทั่วโลก เรากำลังเผชิญกับวงจรการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนในทุกด้าน และย่อมส่งผลกระทบต่อครอบครัวโดยตรง

มีปัจจัย 4 อย่างที่ทำให้สถาบันครอบครัวอ่อนแอลง ได้แก่ 1. ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เน้นการแข่งขันทางเศรษฐกิจเป็นหลัก 2. ปัจจัยในข้อแรกก่อให้เกิดความยากจนและความเหลื่อมล้ำทวีคูณไปเรื่อยๆ

เราเคยทำวิจัยของครอบครัวที่มีฐานะยากจนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลกว่า 300 ครอบครัว ครอบครัวที่มีพ่อแม่เสพยา และเคยก่ออาชญากรรม พบว่าส่วนใหญ่เด็กที่เกิดและเติบโตจากครอบครัวเหล่านี้ เมื่อเขาเติบโตและออกไปสร้างครอบครัวใหม่ เขาก็จะเป็นครอบครัวที่ยากจนและมีปัญหาส่งผลในครอบครัวรุ่นถัดไปเรื่อยๆ

ปัจจัยที่ 3 คือสิ่งแวดล้อม ปัจจัยนี้อาจดูเหมือนเป็นแค่ปัญหาทางกายภาพ แต่ในความเป็นจริงเป็นความรุนแรงต่อเด็กโดยตรง ไม่ใช่แค่เรื่องพ่อแม่ที่ตีลูก มีงานวิจัยพบว่าเด็กที่เกิดใกล้โรงงานกำจัดขยะ พบสารตะกั่วในสมองสูงทำให้มีไอคิวต่ำ ทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ เป็นโรค LD (learning disorder) นี่เป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงทางสังคม

ปัจจัยที่ 4 คือปัญหาการบริโภค ตั้งแต่การโฆษณา ค่านิยมทางโซเชียลมีเดีย

ไม่ว่าประเทศไหนก็มีการวิเคราะห์ออกมาคล้ายกันว่า เราไม่สามารถเดินบนเส้นทางการพัฒนาแบบเดิมได้ ความสุขในชีวิตของมนุษย์ทั้งสุขภาวะทางกายและใจควรจะเป็นเป้าหมายของรัฐบาลทุกประเทศมากกว่าสิ่งอื่น ความสุขของมนุษย์เริ่มจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ไม่ได้เริ่มจากเทคโนโลยี

แม้ว่าโลกจะมีการคุยกันเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG-sustainable development goals) แต่ในทางปฏิบัติไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะแต่ละประเทศก็สนับสนุนการพัฒนาเพื่อการแข่งขันเป็นหลัก และเราไม่เคยได้ข้อยุติเรื่องความสมดุลเลย

เมื่อ COVID-19 เข้ามาดิสรัปต์สังคมไทย แล้วสถาบันครอบครัวที่เคยเชื่อกันว่าเป็นปราการอันแข็งแกร่ง รองรับแรงกระแทกจากปัจจัยภายนอกได้ดีที่สุดจะยังแข็งแกร่งอยู่ไหม นี่เป็นสิ่งที่พวกเรากำลังเผชิญร่วมกัน

มันมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน แน่นอนว่าครอบครัวได้เจอกันมากขี้น ได้อยู่ร่วมกันมากขึ้น แต่นั่นเป็นจุดอ่อนในตัวด้วย

 

ระเบิดเวลา

 

ผมคิดว่าจุดที่เปราะบางมากๆ ในสถานการณ์นี้คือครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ผู้ปกครองที่ไม่มีทักษะในการดูแลเด็ก จากที่ปกติตอนเช้าไปส่งลูกเข้าโรงเรียนหรือศูนย์เลี้ยงเด็ก แล้วตอนเย็นค่อยไปรับ อาจจะทำให้เด็กได้รับการดูแลที่ไม่เหมาะสม

โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ขาดรายได้ในหลายอาชีพ ลูกก็จะซึมซับความเครียดของพ่อแม่ไปด้วย และหากพ่อแม่หรือคนในครอบครัวเกิดใช้ความรุนแรงต่อกันและต่อเด็กด้วย สิ่งที่ตามคือภาวะบาดเจ็บทางใจหรือทรอม่า (trauma) หากเกิดขึ้นแล้วมันจะติดตัวไปในระยะยาว

มีงานวิจัยในสหรัฐฯ ที่ยืนยันผลกระทบกับคนที่เคยได้รับความกระทบกระเทือนทางใจในวัยเด็กว่า มีผู้ร่วมการทดลองจำนวนมากและพบว่าพวกเขามักประสบความล้มเหลวในการเรียน หากเป็นวัยรุ่นก็มีแนวโน้มที่จะมีลูกก่อนวัยอันควร ติดยา หรือก่ออาชญากรรม ส่วนในวัยกลางคน งานวิจัยระบุว่ามีแนวโน้มสูงที่ไม่ประสบความสำเร็จในการทำงาน มีบุคลิกที่ไม่เป็นมิตรกับผู้คนในชุมชน

ที่น่าสนใจที่สุดคือคนกลุ่มนี้มักเป็นกลุ่มที่มีโรคไม่ติดต่อติดตัวมา เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน เส้นเลือดในสมองแตก เพราะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสมองในวัยเด็ก เมื่อเด็กได้รับความเครียดจากภาวะวิกฤตในบ้าน เช่น เห็นพ่อแม่ตีกัน หรือลูกถูกตี พ่อแม่เสพยา สมองเด็กจะหลั่งสาร stress hormone ออกมา สมองที่หลั่งสารดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลานาน โครงสร้างสมองจะเปลี่ยนไป สมองจะอยู่ในโหมดเรื่องความอยู่รอด ไม่หนีก็สู้ ไม่สู้ก็เฉย มากกว่านั้นคือ โกหก ขโมยของ หรืออยากวิ่งหนีตลอดเวลา ภาวะแบบนี้ทำให้ร่างกายป่วยได้

 

เคส

 

เราเคยทำการศึกษากลุ่มเด็กที่เป็นกลุ่มเคยได้รับประสบการณ์ความเลวร้ายในวัยเด็ก เป็นเด็กปฐมวัย เช่น เด็กที่ต้องถูกไล่ที่ พ่อแม่เสียชีวิต หรือมีภาวการณ์เลี้ยงดูไม่เหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนแออัด มีภาวะยากจน

สถาบันฯ จะมีศูนย์การเรียนรู้ที่มีเด็กเข้ามาอยู่ในความดูแลประมาณ 200 กว่าคน มีคุณครูที่มีความรู้ความเข้าใจและสร้างพฤติกรรมเชิงบวกกับเด็กได้ ใช้การเล่นเป็นฐานในการเรียนรู้ เราพาเด็กที่มีภาวะบาดแผลทางใจเข้ามาเรียนร่วมกันเพื่อพัฒนาโปรแกรมการเรียนการสอนไปด้วย

เราพบว่าเด็กที่มีภาวะบาดแผลทางใจจะมีความเครียดสูง เนื่องจากเขาเคยอยู่ใน toxic space จะมีความกลัว ไม่พูดไม่จา เมื่อในช่วงที่เรารับเขาเข้ามาแรกๆ จะเงียบ ไม่ยอมพูด เวลาเราตรวจร่างกายหรือไปเยี่ยมที่บ้านพักเขาจะนั่งมุมห้อง

อีกประเภทหนึ่งก็จะมีลักษณะเอะอะโวยวาย มีพฤติกรรมต่อสู้ แต่พอมาอยู่ที่ศูนย์เด็กฯ ได้เรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อนๆ เราสังเกตว่าหลายคนเมื่อได้รับการปฏิบัติด้วยความรักความอบอุ่น เขาก็จะนิ่งขึ้น เขารู้สึกว่าอยู่ที่นี่ปลอดภัย ไม่มีใครทำร้ายหรือดุด่าแบบโหดเหี้ยม

แต่ที่เรากังวลคือ เมื่อสถานการณ์ COVID-19 มา เด็กหลายคนจะไม่มีเพื่อน ไม่มีครูพี่เลี้ยงที่เข้าใจกระบวนการฟื้นฟู ไม่มีพื้นที่ปลอดภัย

ยังมีเด็กกลุ่มที่เรามีแผนที่จะไปช่วยเหลือเขาในชุมชนและแต่ยังไม่ได้พาเขาออกมา พอการมี COVID-19 เลยกระทบไปหมด ต้องยอมรับว่าพวกเราก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน

เรื่องการเรียนรู้ของเด็ก ที่ผ่านมาเรามียุทธศาสตร์คือการเพิ่มพื้นที่เล่นให้กับเด็กมากขึ้น แต่ตอนนี้เด็กที่จะไปวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่นหรือในหมู่บ้านก็ทำแบบเดิมไม่ได้ จะไปวิ่งเล่นกับเด็กในชุมชนกันเองก็เสี่ยง เพราะเชื้อ COVID-19 บางรายไม่แสดงอาการ และเด็กอาจเป็นพาหะได้ ถ้าไม่อยากให้เด็กเป็นตัวแพร่โรค ไม่อยากให้เด็กรับความเสี่ยง เด็กก็ต้องไม่ออกจากบ้าน

 

แผนฉุกเฉิน

 

เราต้องยอมรับว่านี่เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่มีใครคิดมาก่อน และเราต้องมาช่วยกันคิดว่าจะมีวิธีดูแลครอบครัวและเด็กอย่างไร สำหรับองค์กรเรา มี 3 สเต็ปที่ต้องทำ

อย่างแรก บุคลากรของเราเป็นส่วนที่ให้ความรู้กับสังคม เพราะฉะนั้นเราต้องไม่สร้างปัญหาในสถานการณ์นี้เสียเอง เรามีการรักษาระยะห่าง มีการแบ่งชุดทำงานและให้ทำงานที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ คนที่จะมาที่ทำงานต้องไม่เกิน 20% ของพนักงาน แต่ละคนต้องสลับกันมา

อย่างที่สอง เราพยายามสร้างกระบวนเรียนรู้ให้สังคมอยู่ เราสร้างชาแนลขึ้นมา เช่น กรุ๊ปไลน์ เป็นห้องแลกเปลี่ยนของครอบครัวและเยาวชน มีตัวแทนภาคประชาสังคมคอยให้ข้อมูลในการระวังและปรับตัว

อย่างที่สาม เราต้องเรียนรู้เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงโดยมีภาพของความเลวร้ายที่สุดเป็นแผน (worst case scenario)

ถ้าหากเด็กต้องเรียนออนไลน์ต่อไปอีก 2-3 ปี เราจะจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างไร หรือถ้าหากว่าจะจัดให้เด็กมาเรียนรู้ข้างนอกพื้นที่บางส่วน เราจะต้องจัดการเตรียมความพร้อมของสถาบันอย่างไร นี่เป็นโจทย์ระยะยาว

สำหรับศูนย์เด็กฯ เมื่อเอาธรรมชาติของเด็กเป็นตัวตั้ง เราอาจแบ่งการเรียนรู้ที่บ้านส่วนหนึ่งและการมาทำกิจกรรมร่วมกันอีกส่วนหนึ่ง หมายความว่าเด็กจะต้องได้เล่นสนุกสนานบนความเข้าใจของการรักษาระยะห่าง เราต้องจำลองแผนเหล่านี้ไว้ก่อน

พ่อแม่ต้องรับผิดชอบกับความเสี่ยงของตัวเด็ก ถ้าหากตัวพ่อแม่มีความเสี่ยง ต้องแจ้งเราโดยตรง งดเอาเด็กมา เราต้องอาศัยความเชื่อใจพ่อแม่ก่อนอันดับแรก

ยิ่งกว่านั้นคือเราต้องรับประกันให้ได้ว่าลูกของคุณจะไม่มีทางติดเชื้อจากศูนย์เด็กฯ ของเรา บุคลากรของเราต้องปรับวิธีการทำงาน

ตอนนี้เรากำลังวางแผนว่าคนที่จะดูแลเด็กได้ต้องมากักตัวอยู่ที่โรงเรียน 14 วันก่อนเริ่มการเรียนการสอนกับเด็กเป็นต้น

เราต้องยอมรับกันว่าวิถีชีวิตแบบเว้นระยะห่าง มันตลกไม่ได้ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป การเรียนการสอนก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย

 

ติดอาวุธ สร้างภูมิคุ้มกัน

 

ถ้าโรคสงบไปก็ดี แต่ถ้าไม่มีการค้นพบวัคซีน เราก็ต้องอยู่กันไปอย่างนี้อีกนาน ตอนนี้เราเริ่ม ‘โครงการเยาวชนไทยสู้ภัย COVID-19’ เป็นความร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ

เราต้องการให้เป็นเครือข่ายของกลุ่มเยาวชนที่จะเข้ามาเรียนรู้ รวมถึงให้คนที่จะต้องดูแลผู้สูงอายุได้มาพูดคุยกัน กลุ่มเยาวชนที่มาร่วมโครงการอาจจะมีภาพว่าขับรถซิ่งบ้าง มั่วสุมบ้าง แต่ถ้าเราเข้าใจว่าพวกเขาเป็นวัยรุ่นที่ฮอร์โมนกำลังพุ่งพล่าน ก็เป็นเรื่องปกติ

เราต้องการจะสื่อสารกับวัยรุ่นเหล่านี้ว่า ณ เวลานี้ สังคมเกิดภาวะวิกฤตจริงๆ ถ้าคุณเป็นวัยรุ่น มีโอกาสตายได้ 2 ใน 1000 แต่ผู้สูงอายุมีโอกาสตาย 150 ใน 1000 เท่ากับว่าคนแก่มีความเสี่ยงกว่าคุณถึง 70 เท่าตัว และคนที่เสี่ยงมากก็เป็นพ่อแม่ปู่ย่าตายายของพวกเขาเอง

หากเกิดภาวะที่มีการระบาดรุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ขึ้นมาจริงๆ เราต้องสร้างองค์ความรู้กับวัยรุ่นตั้งแต่ตอนนี้ เป็นการตั้งหลักให้พร้อมเพื่อเขาจะสามารถมาเป็นจิตอาสาได้ โครงการนี้เปิดให้สมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ

เราทำให้เขาเรียนรู้กับสภาวะนี้โดยทำให้เขาเข้าใจว่าคนรุ่นเขาสามารถมีส่วนร่วมแก้ปัญหาได้ เราสร้างหลักสูตรให้เขาเข้ามาเรียนและนำไปปฏิบัติกับคนในบ้านก่อน เพื่อให้เขารู้จักกระบวนการปกป้องเบื้องต้น เราเริ่มโครงการนี้ตั้งแต่ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศให้คนอยู่บ้าน

เราสอนตั้งแต่วิธีการคุยกับผู้สูงอายุ วิธีเข้าถึงตัวผผู้ป่วยเป็นคอร์สขั้นต้น ปัจจุบันมีสมาชิก 2,009 คนทั่วประเทศ

เราสอนตั้งแต่วิธีการใส่ชุด PPE สอนการวางแผนงานร่วมกับชุมชน เราใช้โมเดลจากอู่ฮั่น เราพบว่าภายในโรงพยาบาลมีบุคลากรทางการแพทย์ แต่ภายนอกนั้นขับเคลื่อนสังคมไปได้ด้วยเครือข่ายอาสาสมัคร ตั้งแต่การเข้าไปรับส่งยาและอาหาร

 

เชื่อมั่นกับคนหนุ่มสาว

 

บรรดาโรคอุบัติใหม่ (emerging diseases) ในทางสาธารณะสุขมันถูกพูดมามากแล้วว่าโรคจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ถ้าเรายังมีการพัฒนาในลักษณะที่ไม่ยั่งยืน จะเกิดโรคระบาด รวมถึงการตายจากอุบัติเหตุใหม่ๆ มากขึ้น หรือเกิดจากภัยธรรมชาติมากขึ้น มันมีความเสี่ยงในการล่มสลายของสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง

ดังนั้นถ้าพูดแบบรวบรัดที่สุด วันนี้ COVID-19 อาจจะเป็นภาพเริ่มต้นของวิกฤต เดี๋ยวมันก็จะต้องมีภัยใหม่ๆ ที่รุนแรงมากขึ้นตามมา วัยรุ่นอายุ 18-19 วันนี้ สามารถเตรียมความพร้อมและเรียนรู้ได้ เมื่อเขาโตขึ้น วันข้างหน้าที่วิกฤตเกิดขึ้นอีก เขาก็จะมีความพร้อมรับมือ ผู้ใหญ่รุ่นผมก็จะตายไปหมด

สิ่งที่พวกเราทุกคนต้องทำแน่ๆ คือการฟื้นฟูสังคม ในความสูญเสียไม่ว่ามากหรือน้อย สุดท้ายแล้วถ้าคุณล้มและยังมีชีวิต ยังไงคุณก็ต้องลุกขึ้น และคนที่ไม่เรียนรู้อะไรเลย เมื่อเกิดความสูญเสียก็จะยิ่งสูญเสียไปกันใหญ่

ระหว่างรอวัคซีนหยุดไวรัส เราทำอะไรได้บ้าง ข้อดีของสังคมไทยคือ มันมีความพยายามที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหมู่ประชาชน มันทำให้เราผ่านภัยพิบัติต่างๆ มาได้เยอะ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราควรรักษาไว้ เพราะมันเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้พลเมืองที่จำต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ

ผมหวังว่าไม่ใช่แค่เชื้อโรคที่เรารอให้มีวัคซีนมากำจัดมัน แต่ความเหลื่อมล้ำด้วยที่เราต้องช่วยกันกำจัด

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save