fbpx
ทำไมเผด็จการไม่ยอมลงจากอำนาจง่ายๆ ?

ทำไมเผด็จการไม่ยอมลงจากอำนาจง่ายๆ ?

นำชัย ชีววิวรรธน์ เรื่อง

ชินธิป เอกก้านตรง  ภาพประกอบ

 

เคยสงสัยอย่างน้อยสักแว่บหนึ่งไหมว่า ทำไมผู้นำเผด็จการที่ขึ้นสู่อำนาจแล้ว จึงหาคนที่ยอมลงจากอำนาจเองได้ยากเย็นแสนเข็ญเสียเหลือเกิน ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ผมก็อดสงสัยเรื่องนี้ไม่ได้จริงๆ พลอยทำให้อยากรู้ว่ามีงานวิจัยมากน้อยแค่ไหนที่เกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง มีคำอธิบายดีๆ บ้างหรือไม่ เมื่อลองค้นดูก็พบว่า มีคำอธิบายที่ละเอียดลออและสลับซับซ้อนไม่เบาทีเดียว

ร่างกายของมนุษย์เรานี่มหัศจรรย์มากนะครับ ‘ความสุข’ ทั้งหลายทั้งปวงที่คนส่วนใหญ่ใฝ่หากันนักหนา ไม่ว่าจะจะผิวเผินหรือลึกซึ้งเพียงใด ไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ล้วนแล้วแต่ไปเกี่ยวข้องกับสมองส่วนที่เป็น ‘ศูนย์กลางความสุข’ เดียวกันทั้งหมด

ไม่ว่าจะเป็นความสุขจากการกินอาหารเลิศรส มีเซ็กซ์ที่เร่าร้อน ได้พนันเดิมพันสูงๆ ดื่มด่ำกับสิ่งเสพติด ดื่มเครื่องดื่มมึนเมา หรือแม้แต่ช้อปปิ้ง ต่างก็กระตุ้นสมองส่วนที่ว่านี้เหมือนกันหมดทั้งนั้น!

สมองส่วนที่ว่ามีชื่อจำยากๆ ที่ไม่ต้องจำก็ได้ว่า ‘นิวเคลียส แอกคัมเบนส์’ (nucleus accumbens) ที่ตั้งอยู่บริเวณสมองส่วนกลางๆ ลึกเข้าไป และครอบคลุมสมองทั้งสองซีกครับ

มีงานวิจัยที่ชี้ว่า คนเราสามารถเสพติดความร่ำรวยและอำนาจได้แบบเดียวกับสิ่งเสพติดอื่นๆ ทุกอย่าง และแน่นอนครับ กลไกการเสพติดก็อยู่ที่สมองส่วนศูนย์กลางความสุขที่ว่านี่เอง

 

อำนาจบันดาลสุขสุดๆ ในหัว

 

สมองส่วนที่ว่ามาข้างต้น ทำให้เรารื่นรมย์จนเสพติดได้อย่างไร?

กลไกการเสพติดอธิบายได้ไม่ยากนัก และอย่างที่กล่าวข้างต้น คือ ‘เหมือนกันไปหมด’ ไม่ว่าจะใช้อะไรเป็น ‘ตัวกระตุ้น’ ก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในสมองส่วนนี้ก็คือ เมื่อเราได้รับ ‘ตัวกระตุ้น’ นั้นมา ซึ่งในที่นี้คือ ‘อำนาจ’ สมองส่วนนี้ก็จะหลั่งฮอร์โมนออกมาชนิดหนึ่งครับ

เป็นฮอร์โมนดังชื่อคุ้นหูเสียด้วยครับ คือ โดพามีน (dopamine)

โดพามีนนี่ มีประโยชน์ตามธรรมชาติมากนะครับ คือช่วยให้เรามีพลังใจและแรงกระตุ้นให้ทำสิ่งต่างๆ ที่ธรรมชาติคัดสรรมาแล้วว่าจำเป็นต่อความอยู่รอดและสืบเผ่าพันธุ์ เช่น การมีเซ็กซ์ ส่วนอย่างอื่นนั้นเป็นผลพลอยได้เกินมาแค่นั้น หรือไม่แน่ธรรมชาติอาจจะสนับสนุนให้เรามีความสุข สนุกสบาย จะได้เอาตัวรอดและเพิ่มลูกหลานได้ดียิ่งขึ้น…ก็เป็นได้

พอมีโดพามีนหลั่งออกมา ก็ติดใจกันสิครับ เหมือนเราเห็นน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลสูงลิ่วแล้วน้ำลายหกนั่นแหละครับ มีการทดลองที่ออกจะโหดร้ายสักหน่อยกับหนูทดลอง คือทำให้หนูทดลองสร้างโดพามีนไม่ได้ ผลที่ตามมาก็อเนจอนาถมาก หนูเบื่ออาหาร ไม่วิ่งหาอาหาร และไม่กินอาหารเลย

จนกระทั่งขาดสารอาหารตาย!

ฉะนั้น ท่านที่เห็นอาหารแล้วยังมีความอยากอาหารอยู่ ก็จงดีใจได้ว่าจะไม่ตายเพราะเหตุผลว่าร่างกายขาดโดพามีนเป็นแน่

จุดอ่อนของระบบแบบนี้ในสมองของเราก็คือ มันแยกแยะไม่ได้ว่าตัวกระตุ้น หรือพฤติกรรมนั้นๆ เป็นเรื่องดีหรือร้ายกับเจ้าตัว พูดง่ายๆ คือ หากทำอย่างไหนหรือได้อะไรแล้วมีความสุขสุดๆ เราก็จะติดหนึบกับมันไม่มีข้อยกเว้น

 

ไม่มีเส้นขอบฟ้าของอำนาจ

 

คนเราตอบสนองต่อสารเสพติดคล้ายๆ กัน แต่ก็ไม่เหมือนกันทีเดียว นั่นก็คือเหตุผลว่า ทำไมบางคนจึงติดยาง่ายกว่าอีกคน การเสพติดอำนาจก็แบบเดียวกันครับ เมื่อได้รับอำนาจมา ก็ไม่ต่างอะไรกับการได้เสพยาเสพติด บางคนก็จะติดอย่างง่ายดาย แต่บางคนกลับไม่ค่อยติดเท่าไหร่

คนที่เสพติดอำนาจ พอติดแล้วก็จะอยากได้อำนาจ และแสดงอำนาจนั้นแบบ ‘หนักข้อ’ มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต่างจากอาการติดยาที่ต้องเพิ่ม ‘โดส’ ให้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะร่างกายจะค่อยๆ ปรับตัวจนชาชินกับโดสต่ำๆ คนจำนวนมาก (ไม่แน่ว่าอาจจะส่วนใหญ่) เมื่อได้อำนาจมาแล้ว จึงใฝ่หาอำนาจเพิ่มอีกเรื่อยๆ

ไม่ว่าจะต้องใช้วิธีการอย่างไรก็ตาม

มีทฤษฎีชื่อจำยากที่ไม่ต้องจำ (อีกแล้ว) ชื่อว่า emotional amoral egoism ที่ชี้ว่าในคนส่วนใหญ่นั้น แรงขับทางอารมณ์ (emotional drive) จะปรับเปลี่ยนไปได้แทบตลอดเวลา โดยได้รับผลกระทบอย่างมากจากสิ่งแวดล้อม โดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้งและความต้องการเอาตัวรอดเป็นหลัก เพราะธรรมชาติสร้างมาให้มุ่งไปทางนั้นอยู่แล้ว

พูดง่ายๆ คือ คนส่วนใหญ่เห็นแก่ตัวและเห็นว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลนั่นเอง

มีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้นำเผด็จการในอดีต ไม่ว่าจะเป็นฮิตเลอร์ สตาลิน หรือนโปเลียน ต่างก็มีพฤติกรรมการเสพติดอำนาจ จนถึงขึ้นละเลยหรือไม่สนใจต่อชีวิตหรืออารมณ์ความรู้สึกของผู้ใต้บังคับบัญชา จนสามารถสั่งเดินทัพให้ไพร่พลจำนวนมากมายล้มตายได้ โดยไม่รู้สึกรู้สาอะไรด้วยเลยแม้แต่น้อย

 

เสียอำนาจแล้วจะลงแดงตาย

 

คนเรามีธรรมชาติที่สร้างมาให้เสพติดโดพามีน ไม่จากตัวกระตุ้นแบบใดก็แบบหนึ่ง คนส่วนใหญ่ยากที่จะยอมรับว่า ตัวเอง ‘เสพติด’ การยอมรับนับถือจากผู้อื่นหรือหลงใหลไปกับการใช้อำนาจตามอำเภอใจ

อันที่จริงมีข้อสังเกตที่พบเห็นตรงกันทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศคือ คนที่มีตำแหน่งหน้าที่ระดับสูงและต้องเกษียณอายุไปนั้น หากเป็นคนที่บ้าอำนาจแล้ว หลังเกษียณก็จะไม่ค่อยมีใครไปมาหาสู่ และเกิดอาการ ‘ฝ่อห่อเหี่ยว’ จนมีหลายรายที่เสียชีวิตไม่นานหลังจากนั้น ทั้งๆ ที่สุขภาพโดยทั่วไปแล้วก็ยังดูแข็งแรงดี

หรือนี่จะเป็นอาการ ‘ลงแดง’ กะทันหันแบบหนึ่ง?

ที่น่าสนใจคือ อำนาจในระดับที่เหมาะสมช่วยกระตุ้นและส่งเสริมความคิดความอ่านได้นะครับ แต่ในทางกลับกัน ก็มีด้านลบที่ต้องระมัดระวังด้วยคือ ไปกระตุ้นความหุนหันพลันแล่น ความใจเร็วกล้าเสี่ยง และทำให้ใส่ใจกับอารมณ์ความรู้สึกหรือความคิดเห็นคนรอบข้างน้อยลงด้วย

หากเสพจนติดอำนาจมากขึ้นไปอีก ระดับโดพามีนที่สูงมากๆ จะไปกระตุ้นความคิด ความเชื่อเฉพาะตนบางอย่างที่ฝังอยู่ให้เผยออกมาด้วย เช่น เกิดคิดไปเองว่าตนได้รับบัญชาสวรรค์ให้มารับหน้าที่นี้ (ในสมัยโบราณทั้งจักรพรรดิ ทั้งกบฏ ก็อ้างแบบนี้กันทั้งนั้น) หรือไม่ก็ ตนเป็นผู้มาปลดปล่อย เป็นศาสดาของอุดมการณ์ หรือลัทธิ หรือแม้แต่ศาสนาใหม่ก็มี

พอถึงขั้นนี้ก็จะยั้งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่แล้วครับ เพราะจะทำทุกอย่างเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ กลายเป็นคนบ้าอำนาจเต็มตัว หรือมีพฤติกรรมโหดเหี้ยมอำมหิตต่างๆ

 

       อำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดจึงอันตรายต่อตัวคนผู้นั้น และผู้คนรอบข้างยิ่งนัก

 

เคยมีรายงานว่าอดีตประธานาธิบดีจอร์จ บุช เคยพูดกับประชาชนว่า พระเจ้าบัญชาให้เขาเปิดสงครามกับอิรัก และพระองค์ยังสนับสนุนเขาในสงครามดังกล่าวอีกด้วย ไม่ต่างอะไรกับอดีตนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ ที่เชื่อว่า พระเจ้ามีประสงค์ให้เขานำประเทศเข้าสู่สงครามต่อสู้กับความชั่วร้าย

เรียกว่ากู่กันไม่กลับทั้งคู่เลยทีเดียว

ไม่เพียงแค่นั้นนะครับ นอกจากจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลแล้ว คนที่เสพติดอำนาจยังมีอาการขวัญผวาพารานอยด์ (paranoid) ติดตามมาได้อีกด้วย อันนี้อาจจะเป็นผลมาจากการหลอกตัวเองในยามที่ต้องเผชิญหน้ากับคำแนะนำให้ “เบาๆ เอาไว้บ้าง” หรือ “ไปผิดทางแล้วลูกพี่” จากคนใกล้ตัว

 

ถอนอำนาจยากพอกับเลิกยา

 

ในทางการเมืองแล้ว คนที่เสพติดอำนาจแบบที่ไม่มีการคานอำนาจใดๆ เรียกว่า ทำได้ตามอำเภอใจนั้น มักจะตัดสินใจโดยขาดสติอยู่บ่อยๆ การมีระบบการเมืองที่ขาดสมดุลอำนาจ จึงเป็นบ่อเกิดของเผด็จการไปทั่วโลกในทุกยุคสมัย

แต่การจะตัดอำนาจทิ้งไปอย่างปุบปับ ก็ไม่ต่างอะไรจากการปล่อยให้ผู้ป่วยติดยาอย่างหนักต้องอดยาอย่างปุบปับ จึงมักจะเกิดอาการต่อต้านอย่างถึงที่สุด เพราะจะลงแดงนั่นเองครับ

อำนาจจึงไม่ต่างจากอารมณ์ความรู้สึกของคนเราทั่วไปนี่แหละครับ เพราะเป็นเรื่องของกลไกการทำงานทางสรีรวิทยาของสมอง (แน่นอนว่าอันนี้ยังไม่รวมแรงผลักกับแรงถีบจากคนรอบข้างด้วย และปัจจัยทางสังคมอื่นๆ) และระบบการเมืองที่ใช้การไม่ได้ ไม่มีการคานอำนาจอย่างแหมาะสม เป็นตัวปลดปล่อย ‘ปีศาจร้าย’ คือ ความบ้าอำนาจที่พร้อมจะออกมาอยู่แล้ว แถมยากที่จะไล่ให้ไปเสียด้วย

โดยจะมีอาการข้างเคียงสำคัญคือ การหลงตัวเองและความหวาดระแวง

นี่แหละครับคือคำตอบว่าเหตุใด เผด็จการทั้งหลายจึงไม่ยอมลงจากอำนาจเอง โดยสมัครใจเป็นส่วนใหญ่ และมักตัดสินใจทำอะไรแบบที่คนทั่วไปต้องงุนงงอยู่เสมอว่า ทำไมจึงต้องทำอะไรแบบนั้น เพราะอำนาจนั้น หากได้ลองใช้จนติดซะแล้ว ก็…เลิกยากมากๆ ไม่แพ้ยาเสพติดจริงๆ นั่นเอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save