fbpx

นิติธรรมของการขอตำแหน่งวิชาการ

ตำแหน่งวิชาการ

ตำแหน่งวิชาการ

สัปดาห์ที่แล้วมีเรื่องน่าตื่นเต้นในหมู่อาจารย์มหาวิทยาลัย คืองานบรรยายของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล สองชิ้นติดกัน หัวข้อหลักคือวิพากษ์สภาพการบริหารของมหาวิทยาลัยไทยผ่านประสบการณ์ของผู้พูดเองซึ่งได้สัมผัสกับสถาบันอุดมศึกษาระดับสากลมาแล้ว

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามหาวิทยาลัยไทยนั้นอยู่ในสภาวะใกล้ล่มสลายเต็มที ข่าวคราวแต่ละชิ้นที่ได้ยินล้วนไม่มีอะไรดีขึ้น สภาพการทำงานเป็นพิษ การบริหารไม่อยู่บนหลักเหตุผล การข่มขู่คุกคามเพื่อนร่วมงานเกิดขึ้นบ่อย คนรุ่นใหม่ไม่อยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย บุคลากรที่มีอยู่หมดขวัญกำลังใจ แต่นานๆ ได้ฟังคนนอกวิจารณ์ระบบที่เป็นอยู่ก็พอให้กระชุ่มกระชวยได้เหมือนกัน

รายละเอียดผู้สนใจอาจหาฟังย้อนหลังได้ แต่โดยสรุปรวบรัดที่สุด อาจารย์ธงชัยจี้ไปที่จุดเจ็บปวด (pain point) ที่สุดของมหาวิทยาลัย คือการแข่งขันจะไประดับโลก กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ตราขึ้นมาก็เพื่อเฆี่ยนตีให้อาจารย์มหาวิทยาลัยผลิตงานวิชาการระดับโลก จะได้ขยับการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันนี้ มีหลายเจ้าแข่งกันจัดให้เลือกได้หลายตารางการแข่งขันตามอัธยาศัย

ยิ่งขับเคี่ยวเพื่อจะเข็นอุดมศึกษาไทยไปอุดมศึกษาโลก คุณภาพการศึกษายิ่งตกต่ำ

ต้องยอมรับว่ายุคทองของอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยผ่านไปแล้ว ครั้งหนึ่งเคยมีคณบดีคณะนิติศาสตร์ในระดับโลกบรรยายสภาพอาจารย์มหาวิทยาลัยและความยากในการเป็นคณบดี เพราะ “อาจารย์ทุกคน เป็นพระราชาในมุมเล็กๆ ของตัวเอง (everyone is a little king of their own)” แม้แต่ผู้บังคับบัญชาโดยตรงก็สั่งไม่ได้ ใครจะกล้าสั่งศาสตราจารย์ผู้คงแก่เรียนเหล่านั้น เหมือนคำพังเพยไทยที่เตือนให้ระวังทิฐิพระ มานะครู

อีกครั้ง อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ของไทย เล่าถึงความประหลาดใจเมื่อไปรับตำแหน่งการเมือง เพราะพบว่าตนเองมีอำนาจล้นพ้นจะเรียกข้าราชการประจำมาประชุมเช้าแค่ไหนก็ได้ “ถ้าผมสั่งประชุมทั้งคณะตอนแปดโมงเช้า รับรองได้ว่ามีแต่คณบดีมาประชุม” ท่านสรุปภาพความดื้อของเหล่าคณาจารย์ได้ดี

สภาพนี้ผ่านไปแล้ว ปัจจุบัน ชะตาชีวิตของอาจารย์รุ่นใหม่อยู่ที่ผลการประเมินจากผู้บริหารเพื่อหวังจะได้ต่อสัญญาอีกสามปีห้าปี กฎเกณฑ์มากมายที่ถาโถมเข้าใส่ ไม่ทำก็ตายเพราะเขาไม่ต่อสัญญา ไม่ให้เลื่อนตำแหน่งทางวิชาการ แต่ทำก็คงเฉาตายในอีกไม่นาน damned if you do, damned if you don’t

ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะปล่อยอาจารย์ให้ทำงานตามอำเภอใจไปเรื่อยๆ แต่การควบคุมเข้มงวดที่เป็นอยู่นี้ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพวิชาการหรือไม่นั่นต้องคิดกัน

เฉพาะเรื่องการพัฒนาคุณภาพวิชาการนั้น ลองมาดูกฎว่าด้วยการขอตำแหน่งวิชาการกัน ในรอบห้าปีที่ผ่านมา คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (กพอ.) ออกประกาศมาแล้วหกครั้ง ปี 2560 หนึ่งครั้ง ปี 2561 หนึ่งครั้ง ปี 2563 สามครั้งและปี 2564 อีกครั้งหนึ่ง

ความไม่แน่นอนของหลักเกณฑ์การขอตำแหน่งนี้เป็นปัญหารุนแรง งานวิชาการชั้นดีนั้นใช้เวลาตีพิมพ์ไม่เร็ว ไม่ว่าจะหนังสือ หรือบทความวิชาการ ต้องรอคิวจากสำนักพิมพ์ หรือกระบวนการตีพิมพ์ต่างๆ นานา การแก้กลับไปกลับมาจนกว่าผู้ประเมินจะพอใจ บางครั้งอาจจะใช้เวลาสองถึงสามปีนับตั้งแต่เริ่มเขียนจนออกมาเป็นรูปร่าง

ก็พอดีเกณฑ์เปลี่ยน จากเดิมที่ให้มีผู้ประเมินสองท่าน ก็กลายเป็นสามท่าน จากเดิมที่ใช้วารสารในกลุ่มนั้นๆ นี้ๆ ก็เปลี่ยนว่าใช้ไม่ได้แล้ว ต้องใช้อันดับสูงขึ้นไปอีก จากเดิมที่ไม่ต้องขออนุญาตอะไรใคร อาจจะต้องขวนขวายไปขอรับรองจริยธรรม นิยามของงานวิจัยและวิธีการเผยแพร่ก็อาจจะเปลี่ยนไปแล้วด้วย

เฉพาะปัญหาเรื่องวิธีการออกกฎเกณฑ์ อาจารย์หลายคนน้ำตาตก หลังพบว่าผลงานที่อุตสาหะมาแรมปี เมื่อถึงจุดหมาย กพอ. ก็ขยับบันไดหนีขึ้นไปอีกสองสามขั้นแล้ว ที่สำคัญ จะชักบันไดหนีก็ไม่มีการบอกล่วงหน้าจนกว่าเกณฑ์จะประกาศออกมา

รอบการได้รางวัลของงานวิชาการนั้นใช้เวลามากกว่างานอื่นหลายชนิด เพราะใช้เวลาหลักปีกว่าจะถึงจุดที่เก็บเกี่ยวรางวัล สร้างความพึงพอใจได้ และผลตอบแทนก็น้อยมากอยู่แล้วเมื่อเทียบกับการไปทำงานเป็นเทคโนแครตให้ภาครัฐและเอกชนต่างๆ การชักบันไดหนีจึงมีผลต่อขวัญกำลังใจอาจารย์รุนแรง    

Lon Fuller นักนิติปรัชญากำหนดลักษณะของกฎหมายที่ดี (morality of law) ว่า ต้องมีความมั่นคงแน่นอนพอสมควร ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่กฎหมายจะต้องไม่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วจนผู้ได้รับผลกระทบสับสนเดือดร้อน Lord Bingham ยืนยันว่า กฎหมายที่ดี ต้อง predictable ความมั่นคงแห่งกฎหมายและความคาดหวังอันชอบธรรมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรม

ในส่วนของเนื้อหา เกณฑ์ต่างๆ ถูกตราขึ้นบนพื้นฐานของความไม่ไว้วางใจ จึงมีแต่จะเคี่ยวเค้นให้อาจารย์ผลิตงานให้สูงที่สุดจนเกือบจะเป็นไปไม่ได้

เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

กฎเกณฑ์ที่มีผลกระทบบุคลากรมากมายขนาดนี้ กลับถูกตราขึ้นโดยผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมน้อยมาก ส่วนใหญ่รับรู้กันก็เมื่อเกณฑ์กำลังจะประกาศหรือประกาศใช้แล้ว ถึงตอนนั้นก็สายเกินไปที่จะทำอะไรได้

แต่ปัญหาใหญ่กว่าแค่การขาดการมีส่วนร่วม เพราะเมื่อถึงคราวต้องเตรียมเกณฑ์ใหม่ กพอ. ก็ทำผิดซ้ำเดิมได้เรื่อยๆ และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ความเปลี่ยนแปลงของเกณฑ์ยิ่งแยกห่างจากสภาพความเป็นจริงของชีวิตพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ

ดังนั้นที่ใหญ่กว่าปัญหาการขาดการมีส่วนร่วม คือปัญหาการลอยนวลพ้นผิดของผู้ออกกฎเกณฑ์เหล่านี้ จนถึงวันนี้ ไม่มีใครชี้ให้ชัดได้ว่า ใคร ชื่ออะไร ที่เป็นต้นคิดในแต่ละเรื่องที่เกิดขึ้น เมื่อความผิดพลาดไม่มีผลกระทบอะไรต่อผู้คิดนโยบาย ผู้คิดนโยบายจึงสามารถทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้ภายใต้ข้ออ้างของความปรารถนาดี ทั้งกระบวนการกฎที่ขาดความโปร่งใส และการมีส่วนร่วม ทั้งเนื้อหากฎที่ไม่สมเหตุสมผล ไม่อาจปฏิบัติตามได้ หรือปฏิบัติตามได้ยากยิ่ง

ชนชั้นนำไทยนั้นชอบมีข้ออ้าง exceptionalism ว่าประเทศไทยพิเศษ ไม่เหมือนที่อื่นบนโลก จึงต้องใช้กฎเฉพาะตัวที่ไม่ตรงตามมาตรฐานสากล ในกรณีนี้ คือเกณฑ์ประหลาดต่างๆ แต่เกณฑ์เหล่านี้เป็นไปเพื่อพาประเทศไทยไปสู่สากล กล่าวคือ เพื่อจะทำให้มหาวิทยาลัยไทยไปเหมือนมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ จำนวนมาก แทนที่จะพิจารณาว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้มหาวิทยาลัยเหล่านั้นกลายเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำได้ และเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำมาก่อนหน้าการจัดอันดับนานแล้วด้วย กลับใช้เกณฑ์เฉพาะตัวโดยหวังจะได้ผลลัพธ์แบบเดียวกับคนอื่น

ปัญหาที่เกิดกับมหาวิทยาลัยไทยนั้น ถ้าไม่มีส่วนได้เสียก็เป็นเรื่องตลกดีเหมือนกัน ตลกร้ายแบบขำไม่ค่อยออก แต่เมื่อเกิดขึ้นกับตัวเองนั้น ต้องนับว่าเป็นโศกนาฏกรรม

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save