fbpx

มหา’ลัยมีไว้ทำไม: เสรีภาพทางวิชาการโลก รอดได้อย่างไรในห้วงวิกฤต

เสรีภาพทางวิชาการทั่วโลกกำลังตกอยู่ในวิกฤต

ไม่ต่างจากไทยมากนัก ที่วันดีคืนดีการโต้แย้งเห็นต่างบนข้อเท็จจริงทางวิชาการ กลายร่างไปเป็นการฟ้องร้องคดีความเอาผิดเอาถูกระดับขึ้นโรงขึ้นศาล แทนที่จะจบลงที่การแลกหมัดอภิปรายด้วยข้อเขียนตามขนบโลกวิชาการ — โลกที่กำลังหมุนอยู่ในบรรยากาศการเมืองผันผวนจากความเฟื่องฟูของเผด็จการ วิกฤตประชาธิปไตย และการแบ่งขั้วทางการเมืองมากที่สุดยุคหนึ่งก็กำลังเผชิญความท้าทายเช่นกัน หรืออาจรุนแรงระดับที่เรียกได้ว่าเป็นภัยคุกคามเสรีภาพการแสดงออกทางวิชาการเสียด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะจากอำนาจแทรกแซงที่กำหนดความรู้ จำกัดกรอบการแสวงหาความจริง เซ็นเซอร์ ทั้งที่ถูกเซ็นเซอร์และเซ็นเซอร์ตัวเอง ปิดปากไม่ให้เสนอความรู้หรือข้อเสนออันแหลมคม หรือในบางครั้ง มหาวิทยาลัยที่ควรทำหน้าที่ผู้พิทักษ์เสรีภาพทางวิชาการก็กลับกลายเป็นผู้บ่อนทำลายเสียแทน

ซ้ำสภาวะทางการเมืองที่ปั่นป่วนยิ่งสั่นคลอนให้เส้นหลักเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพทางทางวิชาการเริ่มพร่าเลือน และเป็นที่ถกเถียงได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดในโลกวิชาการว่า ขอบเขตของเสรีภาพทางวิชาการนั้นอยู่ตรงไหนกันแน่? (แต่แน่นอนว่าในเบื้องต้น เสรีภาพทางวิชาการต้องอยู่บนฐานของหลักสิทธิมนุษยชน)

อาจเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับได้ แต่แม้ในห้วงเวลาแห่งความยากลำบากของโลกวิชาการ กระทั่งสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘มาตรฐานทอง’ ในการรักษาหลักเสรีภาพทางวิชาการก็ไม่รอดจากสภาวะเช่นนี้ อย่างเมื่อไม่นานมานี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและพรินซ์ตันเองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเซนเซอร์ตนเองจากการวิพากษ์จีนอย่างตรงไปตรงมาในคลาสเรียน หรือสภามลรัฐเท็กซัส รัฐที่ขึ้นชื่อว่าเป็นบ้านของฝ่ายอนุรักษนิยมก็เริ่มร่างกฎหมายเพื่อจำกัดการสอนทฤษฎีเชื้อชาติเชิงวิพากษ์ (Critical Race Theory) ในรั้วโรงเรียน

แต่ก็ไม่เป็นเฉกเช่นนั้นเสมอไป มีไม่น้อยที่เสรีภาพทางวิชาการยังคงรอดจากกระแสการเมืองอันเชี่ยวกราก

แล้วเสรีภาพทางวิชาการดำรงอยู่ได้อย่างไรในห้วงเวลาเช่นนี้?

1

เมื่อเดือนเมษายน 2021 ที่ผ่านมา Hussman School of Journalism and Media แห่งมหาวิทยาลัย North Carolina at Chapel Hill ที่สหรัฐฯ ได้เสนอให้นิโคล แฮนนาห์-โจนส์ (Nikole Hannah-Jones) นักเขียนหญิงผิวดำจาก New York Times Magazine เจ้าของรางวัลพูลิซเซอร์ประจำปี 2020 จากผลงาน ‘The 1619 Project’ – โปรเจ็กต์รื้อแนวเล่าประวัติศาสตร์อเมริกาผ่านมุมมองประวัติศาสตร์ทาสที่เคยหล่นหายไป — เข้ามาดำรงตำแหน่ง Knight Chair in Race and Investigative Journalism

ท่ามกลางความตื่นรู้ต่อความอยุติธรรมทางเชื้อชาติในสังคมสหรัฐฯ แน่นอนว่าการเชิญแฮนนาห์-โจนส์มาดำรงตำแหน่งในครั้งนี้ ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับชาวคณะวารสารศาสตร์อย่างมาก เพราะนั่นหมายความว่า บรรดาอนาคตของวงการสื่อจะได้ร่วมงาน และผ่านการเคี่ยวกรำจากสื่อตัวจริงเสียงจริงที่ผู้คลุกคลีอยู่กับประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติมาอย่างยาวนาน

แต่แล้วเรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อคณะกรรมการมหาวิทยาลัยตัดสินใจคัดค้านการเสนอแต่งตั้งแฮนนาห์-โจนส์ของคณบดีและอธิการบดี ผิดวิสัยปกติที่คณะกรรมการจะทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ตรายางเท่านั้น การตัดสินใจครั้งนั้นนำไปสู่ข้อกังขาและความไม่พอใจอย่างมากในรั้วมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในคณะวารสารศาสตร์

ในโลกความรู้ แน่นอนว่าเป็นเรื่องปกติที่แนวเล่าประวัติศาสตร์ทวนกระแสของ 1619 Project จะนำมาสู่การดีเบต อภิปรายถกเถียง และวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน อย่างที่กลุ่มนักประวัติศาสตร์อนุรักษนิยมลุกขึ้นมาเขียนข้อวิจารณ์ลงหนังสือพิมพ์ New York Times ถึงความเที่ยงตรงทางประวัติศาสตร์ ส่วนในโลกจริง ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักที่ ‘ประวัติศาสตร์อันไม่น่าสะดวกใจ’ จะสร้างความไม่พอใจต่อกลุ่มอนุรักษนิยม

แต่ความไม่พอใจไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ว่ากันว่าการคัดค้านของคณะกรรมการครั้งดังกล่าวหนีไม่พ้นเงาอิทธิพลของสภามลรัฐนอร์ธแคโรไลนาที่ครองโดยพรรครีพับลิกันและวอลเทอร์ อี. ฮัสแมน (Walter E. Hussman) เจ้าของสำนักหนังสือพิมพ์และผู้บริจาครายใหญ่ ผู้วิพากษ์ว่างานของแฮนนาห์-โจนส์นั้นตั้งอยู่บนแรงขับเคลื่อนทางการเมืองมากกว่าข้อเท็จจริงและความเป็นกลาง  

คำถามที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้คือ นี่คือการปกป้องหรือปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ? หรือหากว่านี่คือการปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ การปฏิเสธไม่ให้แฮนนาห์-โจนส์รับตำแหน่ง ซึ่งย่อมมาพร้อมกับการปฏิเสธความคิดของเธอ คือหนทางในการปกป้องเสรีภาพทางวิชาการอย่างแท้จริงหรือไม่?

เสียงตั้งคำถามและเสียงทัดทานการตัดสินใจของคณะกรรมการมหาวิทยาลัยจากนักวิชาการและนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ปะทุกลายเป็นข้อพิพาทที่กินเวลานานร่วมเดือนกว่า จนในท้ายที่สุด คณะกรรมการมหาวิทยาลัยเลิกประวิงเวลาและกลับลำการตัดสินใจ ยอมให้แฮนนาห์-โจนส์รับตำแหน่งศาสตราจารย์ตามที่คณะวารสารศาสตร์ยื่นเสนอ พร้อมประกาศว่า “เราโอบรับและสนับสนุนเสรีภาพทางวิชาการ การถกเถียง และความเห็นต่างที่สร้างสรรค์”

อาจจะเสียหลักไปบ้าง แต่นี่คืออีกครั้งสำคัญที่มหาวิทยาลัยแสดงให้เห็นว่า ไม่มีอะไรที่สำคัญไปยิ่งกว่า ‘หลักเสรีภาพทางวิชาการ’ ในโลกวิชาการ

2

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2020 ที่ผ่านมา พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์หลายสำนักในสหราชอาณาจักรต่างพาดหัวในทำนองว่า “เคมบริดจ์ลงคะแนนโหวตปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก”

ในโลกวิชาการที่การอภิปรายถกเถียงเพื่อขยายขอบฟ้าความรู้คือลมหายใจ เสรีภาพในการคิดและแสดงออกย่อมแยกไม่ออกจากเสรีภาพทางวิชาการ และหากเสรีภาพทางวิชาการจะทำงานได้ดี ยิ่งต้องอาศัยการคิดและแสดงออกที่แหลมคม เพื่อท้าทายความรู้ที่หยุดนิ่งไปแล้ว

แต่เมื่อโลกตกอยู่ในยุคแตกแยกแบ่งขั้ว สิ่งน่ากังวลที่ตามมาในแวดวงวิชาการคือ พื้นที่ปลอดภัยของความคิดหลากแนว ที่มักนำไปสู่การถกเถียงอย่างหนักหน่วงแต่ขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ค่อยๆ หดแคบลง ถูกกดทับและทำให้เงียบเสียงลง – การเติบโตของความคิดอันหลากหลายค่อยๆ ตายลง พร้อมกับการผงาดขึ้นมาของ cancel culture – สภาวะเช่นนี้ไม่นำไปสู่การปะทะกันทางความคิดอย่างมีคุณภาพในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างที่ควรจะเป็นแต่อย่างใด

เมื่อเสรีภาพในการแสดงออกถูกท้าทาย สตีเฟน ทูป (Stephen Toope) รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จึงตัดสินใจเสนอปรับแก้นโยบายเสรีภาพในการแสดงออกของมหาวิทยาลัยเพื่อพิทักษ์การดีเบตในโลกวิชาการไว้ ร่างนโยบายที่จะออกมากำหนดให้นักวิชาการ คณาจารย์และนักศึกษาเคมบริดจ์ต้อง ‘เคารพ’ (respect) ความเห็นและความหลากหลายทางอัตลักษณ์ของผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม ร่างของทูปถูกวิพากษ์ว่าไม่สามารถพิทักษ์เสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างแท้จริง ซ้ำร้ายอาจนำไปสู่การตัดตอนเสรีภาพทางวิชาการ – เพราะการ ‘เคารพ’ บางสิ่งบางอย่างอาจนำไปสู่การเซนเซอร์อย่างไร้ขอบเขต และนั่นหมายความว่าเสรีภาพในการคิดไม่ได้เกิดขึ้นจริงตามเจตนารมณ์ของนโยบาย

ด้วยเหตุนี้ อารีฟ อาเหม็ด (Arif Ahmed) ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาจึงออกมาเสนอร่างค้าน ให้ปรับร่างของทูป 3 จุด จุดที่สำคัญที่สุดคือการเสนอให้แก้คำว่า ‘เคารพ’ ไปเป็น ‘อดทนอดกลั้น’ (tolerant) เพราะการอดทนอดกลั้นยังคงเปิดช่องว่างให้ความคิดที่ไม่ว่าจะ ‘เรียกทัวร์’ ขนาดไหน มาจากฝ่ายไหน หรือจากใครก็ตามยังคงถูกท้าทายได้เสมอโดยไม่ถูกแบนไปเสียก่อน  — และในวันลงคะแนน กว่า 86.9% ของ governing body โหวตรับร่างค้านของอาเหม็ด – คะแนนโหวตจากเคมบริดจ์คือสัญญาณว่าหลักเสรีภาพในการแสดงออกทางวิชาการยังคงเป็นหัวใจสำคัญของมหาวิทยาลัย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสรีภาพทางวิชาการทั่วโลกไม่ได้ถูกปกป้องเสมอไป และจะยังต้องฝ่าฟันความท้าทายที่ไม่อาจหยั่งรู้ได้บนหนทางข้างหน้าอีกยาวไกล แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า หลักเสรีภาพการแสดงออกทางวิชาการและเสรีภาพในการคิดจะอยู่รอดได้ ตราบเท่าที่มหาวิทยาลัยยังคงไม่หลงลืมพลังในการปกป้องเหตุผลการดำรงอยู่ของตน และหนักแน่นในการแสวงหาและผลิตความรู้และความจริงอย่างถึงที่สุด

MOST READ

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save