ณัฐดนย์ โกศัยธนอนันท์ เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ
หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ที่เอาผิดกับการยุติการตั้งครรภ์ ขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพเหนือร่างกายของหญิง-ชายที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และวินิจฉัยให้มีการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ที่ว่าด้วยข้อยกเว้นความผิดกับการยุติการตั้งครรภ์ ให้สอดรับเหมาะสมกับสภาพการณ์ โดยให้มีผล 360 วันหลังคำวินิจฉัย[1] แม้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญจะส่งผลต่อแนวทางปฏิบัติเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ในสังคมไทยอย่างไร แต่คำวินิจฉัยดังกล่าว ก็ได้ทำให้ประเด็นเรื่องการยุติการตั้งครรภ์กลับมาเป็นที่สนใจของสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง
ในสถานการณ์เช่นนี้คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้หลายคนอาจเกิดคำถามลึกๆ ในใจว่า ตกลงแล้วการเปิดให้มีการยุติการตั้งครรภ์แบบถูกกฎหมายเป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่กับสังคมไทย ผู้เขียนอยากชวนให้ผู้อ่านที่มีคำตอบอยู่แล้วหรืออาจยังไม่มีคำตอบในตอนนี้ ได้ลองตรวจสอบความเห็นที่เรารับรู้ต่อประเด็นเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ว่า เวลาที่เราและสังคมไทยมองเรื่องการยุติการตั้งครรภ์นั้น เป็นการได้ ‘เห็น’ ประเด็นการยุติการตั้งครรภ์โดยตัวมันเองจริงๆ หรือเป็นการมองเรื่องการยุติการตั้งครรภ์แล้ว ‘เห็น’ เป็นประเด็นเรื่องอื่นกันแน่
คำถามนี้มีความสำคัญยิ่ง เพราะแม้คนเราจะ ‘มอง’ เรื่องเดียวกันกลับสามารถ ‘เห็น’ ว่าเป็นคนละเรื่องได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจที่จะเป็นฐานในการตัดสินว่าเรื่องดังกล่าวถูกต้องเหมาะสมหรือไม่แตกต่างกัน
ขอยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายขึ้นด้วยรูปภาพ ‘หญิงสาวหรือหญิงชรา?’ ที่ผู้อ่านน่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว (ผมไม่รู้ว่าภาพนี้ชื่ออะไร จึงขอเรียกแบบนี้ไปพลางๆ ก่อน) จากภาพนี้ผู้อ่านมองเห็นเป็นภาพอะไรระหว่างหญิงสาวหรือหญิงชรา? หากเพียงรูปภาพเดียวยังสามารถถูกมองเห็นแตกต่างกันได้ ฉะนั้นเมื่อย้อนกลับมาที่เรื่องของเรา ก่อนจะตัดสินว่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ผมจึงอยากให้เราทุกคนลองตรวจสอบวิธี ‘มอง’ เรื่องยุติการตั้งครรภ์ว่าตกลงเรากำลัง ‘เห็น’ มันเป็นเรื่องอะไรกันแน่ เพราะบางทีการ ‘เห็น’ ของเราก็อาจเป็นไม่เป็นธรรมเพียงพอที่จะตัดสินได้ว่า ‘เรื่อง’ นั้นๆ เป็นอย่างไร

ถ้าเช่นนั้นเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ได้ถูก ‘เห็น’ เป็นอย่างไรบ้างในสังคมไทย การย้อนกลับไปดูที่กฎหมายหลักของรัฐและการโต้เถียงกันระหว่างฝ่ายที่ต้องการให้แก้ไขกฎหมายกับฝ่ายที่ต่อต้านการแก้ไขกฎหมายในประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305) น่าจะช่วยให้เราเข้าใจในเบื้องต้นได้ว่า เวลาที่ผู้คนในสังคมไทย ‘มอง’ เรื่องการยุติการตั้งครรภ์ พวกเขา ‘เห็น’ มันเป็นเรื่องอะไรบ้าง
ปรากฏว่ารัฐไทยมองเรื่องการยุติการตั้งครรภ์แล้วเห็นว่าเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา ที่มีเงื่อนไขยกเว้นไม่เอาผิดไว้ 2 ประการ ได้แก่ กรณีที่ผลกระทบของการตั้งครรภ์จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้หญิง และกรณีที่การตั้งครรภ์เป็นผลมาจากการกระทำผิดอาญาอย่างการข่มขืน โดยแพทย์จะต้องเป็นผู้ดำเนินการยุติการตั้งครรภ์ให้เท่านั้น[2]
ในเบื้องต้นก็ฟังดูดี เพราะกฎหมายไทยไม่ได้ห้ามการยุติการตั้งครรภ์ในทุกกรณี แต่เปิดช่องทางกฎหมายให้สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ในเงื่อนไขที่จำเป็น ถ้าเช่นนั้นแล้วทำไมสังคมไทยจึงได้มีการโต้เถียงกันในประเด็นเรื่องการยุติการตั้งครรภ์อย่างยืดเยื้อยาวนาน ตั้งแต่ พ.ศ.2523-ปัจจุบัน (2563) และมีแนวโน้มน่าจะยังคงโต้เถียงต่อไปเรื่อยๆ อีกในอนาคตด้วย
คำตอบดูเหมือนง่ายแต่มีรายละเอียดที่ซับซ้อนมาก เพราะถึงแม้ว่ากฎหมายไทยจะเปิดช่องให้สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ใน 2 เงื่อนไขที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น แต่เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดนั้น ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงอีกหลายกรณีที่การยุติการตั้งครรภ์อาจเป็นเรื่องจำเป็นต่อผู้ที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าว เช่น การท้องต่อจนคลอดอาจจะเป็นปัญหาต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของทารกที่จะเกิดมา[3], การคุมกำเนิดที่ผิดพลาด, เงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคมในการเลี้ยงดูบุตร[4] ฯลฯ ด้วยเหตุนี้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องและมองเห็นข้อจำกัดของกฎหมายดังกล่าว จึงได้มีการเคลื่อนไหวต่อสู้ร่วมกัน เพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 โดยขยายเงื่อนไขในการยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกกฎหมาย ให้กว้างขวางเพียงพอที่จะสามารถโอบรับกับสถานการณ์ชีวิตของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมได้มากยิ่งขึ้น
การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ในปี 2523 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเถียงกันเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ที่ยืดเยื้อยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน และผลของการโต้เถียงกันนั้นได้ส่งอิทธิพลต่อการ ‘เห็น’ เรื่องการยุติการตั้งครรภ์ของสังคมไทยอย่างมีนัยยะ เพราะในเวลานั้น ร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านขั้นตอนต่างๆ ในสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียงที่ท่วมท้น และความเห็นของประชาชนในสังคมไทยกว่า 72.7% เห็นด้วยกับร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร มีเพียงประชาชน 20.8% เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว[5] เหลือเพียงแค่ให้วุฒิสภาเห็นชอบรับรองร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เท่านั้น เงื่อนไขในการยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกกฎหมาย ก็จะถูกขยายออกให้สอดรับกับสถานการณ์ของผู้หญิงที่ตกอยู่ในสถานการณ์ท้องไม่พร้อมทันที
แต่ทันทีที่ประเด็นเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ถูกทำให้คนในสังคมไทย ‘เห็น’ ผ่านมุมมองเรื่องอื่นๆ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
พันเอกจำลอง ศรีเมือง เลขาธิการนายกรัฐมนตรีและวุฒิสภา (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ได้ประกาศต่อต้านการแก้ไขร่างกฎหมายอาญา มาตรา 305 และเชื่อมโยงร่างแก้ไขกฎหมายการยุติการตั้งครรภ์เข้ากับประเด็นศีลธรรมที่อิงอยู่กับหลักการทางศาสนา ซึ่งเมื่อประกอบกับลักษณะเฉพาะของระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบในเวลานั้น ก็ได้ทำให้ร่างแก้ไขกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรและได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนอย่างท่วมท้น ไม่ผ่านการรับรองจากวุฒิสภาไปในที่สุด[6]
นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ทุกครั้งที่จะมีการพูดถึงหรือเสนอแก้ไขใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายการยุติการตั้งครรภ์ในสังคมไทย เรื่องแรกที่จะเข้ามากำกับการ ‘เห็น’ ของสังคมไทยต่อประเด็นดังกล่าวคือ เรื่องศีลธรรมที่อิงอยู่กับหลักการทางศาสนาอย่างคับแคบ ที่มองเห็นแต่เพียงว่าการยุติการตั้งครรภ์คือรูปแบบวิธีหนึ่งของการทำลายชีวิต โดยที่ไม่พิจารณาองค์ประกอบด้านอื่นๆ ที่ห้อมล้อมการตัดสินใจของผู้หญิงที่ตกอยู่ในสถานการณ์ท้องไม่พร้อม ด้วยการมองเช่นนี้ การยุติการตั้งครรภ์จึงไม่อาจถูก ‘เห็น’ เป็นอย่างอื่นได้นอกจากเรื่องผิดบาป และผู้หญิงที่ตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ถูกเห็นเป็น ‘แม่ใจยักษ์’ ที่สามารถฆ่า ‘ลูก’ ตัวเองได้อย่างเลือดเย็น ซึ่งก็ได้ปูทางไปสู่อีกเรื่องสำคัญที่คอยกำกับการ ‘เห็น’ ประเด็นการยุติการตั้งครรภ์ของสังคมไทย คือ เรื่องสิทธิในการมีชีวิตจากมุมของตัวอ่อนในครรภ์ของผู้หญิง ซึ่งทำให้สิทธิในการเลือกเจริญพันธุ์หรือไม่เจริญพันธุ์ในสถานการณ์ต่างๆ ของผู้หญิงกลายเป็นความผิดโดยปริยาย
ผลลัพธ์ของการ ‘เห็น’ เรื่องการยุติการตั้งครรภ์ภายใต้กรอบคิดเรื่องทางศีลธรรมที่อิงอยู่กับหลักการทางศาสนาอย่างคับแคบ และกรอบคิดเรื่องการปะทะกันเชิงสิทธิ (ระหว่างสิทธิในการมีชีวิตจากมุมของตัวอ่อนในครรภ์ของผู้หญิง vs. สิทธิในการเลือกเจริญพันธุ์หรือไม่เจริญพันธุ์ในสถานการณ์ต่างๆ ของผู้หญิง) ได้ลดทอนความซับซ้อนของการท้องไม่พร้อมลงไปอย่างมาก จนกลายเป็นเพียงเรื่อง ‘หญิงใจแตก-ความมักง่าย-ศีลธรรมเสื่อม’ [7] ในแบบที่ถูกสื่อมวลชนกระแสหลักนำเสนอแก่สังคมไทยมาเป็นเวลานาน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องราวของผู้หญิงที่ตกอยู่ในสถานการณ์ท้องไม่พร้อม มีความหลากหลายเป็นอย่างมาก ในหลายกรณีผู้หญิงที่ตกอยู่ในสถานการณ์ท้องไม่พร้อมไม่ใช่วัยรุ่นที่ใจแตก ไม่ได้ท้องไม่พร้อมเพราะการไม่คุมกำเนิด และไม่ได้ยากจนถึงขนาดจะท้องต่อไม่ได้เสมอไป
การลดทอนความซับซ้อนของปรากฏการณ์ท้องไม่พร้อมให้กลายเป็นเพียงเรื่องที่ผิดศีลธรรมและละเมิดกฎหมาย ได้ทำให้ในหลายๆ ครั้ง ‘เสียง’ และความต้องการเฉพาะของผู้หญิงที่กำลังเผชิญสถานการณ์ท้องไม่พร้อมต้องเงียบลง เพื่อหลบหลีกจากการตีตราประนามทางสังคม (social stigma) ในหลายกรณีเป็นการบีบให้ผู้หญิงที่ตกอยู่ในสถานการณ์ท้องไม่พร้อม จำเป็นต้องหันไปใช้บริการยุติการตั้งครรภ์เถื่อนที่ไม่ปลอดภัย และเป็นเหตุนำไปสู่การเสียชีวิตในแต่ละปีจำนวนไม่น้อย
ถึงตรงนี้คงพอมองเห็นแล้วว่า เรื่องการยุติการตั้งครรภ์เป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนในตัวเองสูงมาก การ ‘เห็น’ เรื่องการยุติการตั้งครรภ์ จากแค่เฉพาะแง่มุมเชิงศีลธรรมที่อิงอยู่กับศาสนา และแง่มุมสิทธิทางกฎหมาย ได้กลายเป็น ‘กับดัก’ สำคัญที่ทำให้สังคมไทยตกอยู่ในวังวนของการโต้เถียงกันในเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ โดยมองไม่เห็น ‘เสียง ใจ และเงื่อนไขเฉพาะ’ ที่ทำให้ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยเห็นว่า การยุติการตั้งครรภ์เป็น ‘ทางเลือกหนึ่ง’ ในการจัดการกับสถานการณ์ท้องไม่พร้อมของตนเอง
การติดอยู่ในกับดักดังกล่าว อาจทำให้สังคมไทยมีความความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อเรื่องการยุติการตั้งครรภ์อยู่ไม่น้อย เพราะอาจจะไม่ได้กำลังเห็นเรื่องการยุติการตั้งครรภ์อย่างที่มันเป็นจริงๆ
ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่จะใครมีคำตอบหรือปักใจเชื่อในคำตอบใดๆ ว่า การยุติการตั้งครรภ์แบบถูกกฎหมายเป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสมกับสังคมไทยหรือไม่ จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้แน่ใจก่อนว่าได้สังคมไทยได้ ‘เห็น’ เรื่องการยุติการตั้งครรภ์อย่างเป็นธรรมเพียงพอหรือยัง เพราะการยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ ‘ใจ’ ของผู้หญิงที่ตกอยู่ในสถานการณ์ท้องไม่พร้อมอย่างมาก สังคมไทยไม่ควรเข้าไปติดกับดักแบบเดิมๆ ด้วยการปล่อยให้มุมมองเชิงศีลธรรมและสิทธิ มาบดบังสถานะของการยุติการตั้งครรภ์ในฐานะที่เป็น ‘ทางเลือกหนึ่ง’ ของผู้หญิงที่ตกอยู่ในสถานการณ์ท้องไม่พร้อม ที่ควรจะมีสิทธิเข้าถึงบริการสุขภาพนี้ได้อย่างเท่าเทียม ปลอดภัยและถูกกฎหมาย
บางทีภาพ ‘หญิงสาวหรือหญิงชรา?’ ที่ได้ยกตัวอย่างมาแล้วในตอนต้น อาจเป็นเครื่องเตือนสติที่ดีให้ระมัดระวัง ‘กับดัก’ ในการมองหรือคิดเกี่ยวกับเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ในสังคมไทย แม้จะเป็นภาพที่สามารถถูกเห็นได้แตกต่างกัน แต่คนที่รู้ดีที่สุดว่าภาพนี้คือหญิงสาวหรือหญิงชรา ก็คือศิลปินเจ้าของภาพวาด ถ้าวันหนึ่งเจ้าของภาพวาดบอกว่าเขาเลือกที่จะทำให้ภาพนี้เป็นภาพของหญิงชรา คนอื่นๆ ในสังคม แม้ลึกๆ ในใจอาจจะยังมองเห็นเป็นหญิงสาวเหมือนเดิม หรือยังไม่อาจคล้อยตามทางเลือกของศิลปินมากนัก แต่อย่างน้อยก็ควรจะที่จะเคารพในทางเลือกของศิลปินเจ้าของภาพ มากกว่าที่จะก่นด่าประณามเพียงเพราะทางเลือกของเขาไม่ตรงใจเรา
เพราะคงไม่มีใครรู้จักทางเลือกของตัวเองได้ดีไปกว่าผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องเลือก
หมายเหตุผู้เขียน: ประเด็นต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในบทความ ผู้เขียนได้รับการจุดประกายมาจาก ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์. เถียงกันเรื่องแท้ง. คบไฟ: กรุงเทพฯ, 2561. ผู้ที่สนใจเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ในแง่มุมต่างๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือเล่มนี้
อ้างอิง
[1] มติชนออนไลน์. “มติศาลรธน.เสียงข้างมาก ชี้วิอาญาม.301 ทำแท้งผิดกม.ขัดรธน. แนะแก้สอดคล้องสภาพการณ์.” สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563. https://www.matichon.co.th/politics/news_1987837.
[2] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์. เถียงกันเรื่องแท้ง. คบไฟ: กรุงเทพฯ, 2561. หน้า 92.
[3] เรื่องเดียวกัน. หน้า 96.
[4] เรื่องเดียวกัน. หน้า 222.
[5] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์. เถียงกันเรื่องแท้ง. คบไฟ: กรุงเทพฯ, 2561. หน้า 107.
[6] เรื่องเดียวกัน. หน้า 108.
[7] เรื่องเดียวกัน. หน้า 135.