fbpx
สมภาร เดอ เลเป (Abbé de l’Épée): ผู้คืนคุณค่าความเป็นมนุษย์แด่คนหูหนวก

สมภาร เดอ เลเป (Abbé de l’Épée): ผู้คืนคุณค่าความเป็นมนุษย์แด่คนหูหนวก

อติเทพ ไชยสิทธิ์ เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

“…นามของ ‘สมภาร เดอ เลเป’, ผู้ก่อตั้งสถาบันแห่งนี้,
จะถูกบันทึกไว้ในทำเนียบของพลเมืองผู้มีคุณงามความดียิ่งต่อมนุษยชาติและต่อประเทศชาติ…” [1]

สมัชชาแห่งชาติ, วันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1791

 

หลังเหตุการณ์ทลายคุกบาสตีย์[2] (Prise de la Bastille) ได้เพียงไม่กี่เดือน แม้สถานการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสในปารีสยังคงคุกรุ่น แต่ในวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ.1789 สภาผู้แทนแห่งเมืองปารีส (L’assemblée des représentants de la commune de Paris) ได้ร่วมกันประชุมถึงวาระที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับ ‘การเมือง’ นัก นั่นคือญัตติว่ารัฐบาลเมืองปารีสควรสนับสนุนกิจการของโรงเรียนสอนคนหูหนวกที่ก่อตั้งโดยสมภารชาร์ลส์-มิเชล เดอ เลเป (Abbé Charles-Michel de l’Épée) ให้มั่นคงและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น (‘plus solid et plus stable’)

ต่อมาในวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ.1791 หรือเพียง 3 วันหลังการสังหารหมู่ที่ทุ่งพระอังคาร[3] (Fusillade du Champ-de-Mars) สมัชชาแห่งชาติ (Assemblée nationale)[4] ซึ่งเป็นรัฐสภาในสมัยปฏิวัติได้ตราพระราชบัญญัติยกระดับโรงเรียนสอนคนหูหนวกแห่งนี้ให้เป็น ‘สถาบันของรัฐในระดับชาติ’ โดยมาตรา 1 ของพระราชบัญญัติยังยกย่องให้สมภาร เดอ เลเปเป็น ‘พลเมืองผู้มีคุณงามความดียิ่งต่อมนุษยชาติ’ อีกด้วย – เหตุใดฝรั่งเศสในสมัยปฏิวัติจึงให้ความสนใจสืบสานภารกิจและยกย่องคุณูปการของสมภาร เดอ เลเปไว้มากถึงเพียงนี้?

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพาไปสำรวจบริบททางสังคมและทัศนคติต่อคนหูหนวกในศตวรรษที่ 18 รวมทั้งชีวิตและผลงานของสมภารชาร์ลส์-มิเชล เดอ เลเป ผู้บุกเบิกการเรียนการสอนเด็กหูหนวกด้วย ‘ระบบสัญญาณมือ’[5] (signe méthodique) ที่เขาคิดค้นขึ้นจากการผสมผสานภาษามือที่มีใช้อยู่แล้วในชุมชนคนหูหนวกของฝรั่งเศส เข้ากับโครงสร้างไวยากรณ์แบบภาษาฝรั่งเศส

คุณูปการของสมภารเดอ เลเปไม่ใช่แค่การก่อตั้งโรงเรียนสอนคนหูหนวกโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเป็นแห่งแรกของโลก หรือเพราะการคิดค้นระบบการสื่อสารด้วยมือแบบใหม่ขึ้นมา แต่เป็นเพราะเขากล้าท้าทายความเชื่อของยุคสมัย เดินฝ่าเข้าไปในชุมชนคนชายขอบที่ยากจน และหยิบยื่นกุญแจคือการศึกษาให้คนหูหนวกได้เปิดประตูสู่การกอบกู้คุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ถูกริบไปกลับคืนด้วยตัวพวกเขาเอง

 

หูหนวก-ใบ้: สภาวะที่ (เคย) พรากความเป็นมนุษย์

 

“…Of these faculties [seeing and hearing], for the mere necessities of life and in itself, sight is the more important, but for the mind and indirectly hearing is the more important. […] Consequently, of those who have been deprived of one sense or the other from birth, the blind are more intelligent than the deaf and dumb….”

(Aristotle 1964: I, 437a)[6]

 

อะไรทำให้ ‘เรา’ เป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์? อะไรทำให้เราไม่ใช่แค่ ‘สัตว์’ ?

อริสโตเติลมองว่า ‘มนุษย์’ ต่างจาก ‘สัตว์อื่น’ ตรงที่เราสามารถใช้เสียงสื่อสารออกมาเป็นภาษา ในขณะที่สัตว์ทำได้เพียงส่งเสียงที่สะท้อนความพึงพอใจและความเจ็บปวดได้เท่านั้น การใช้เสียงสื่อสารเป็นภาษานี่เองที่ทำให้มนุษย์สามารถรู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี[7]

การจำแนกมนุษย์และสัตว์เช่นนี้นำไปสู่คำถามที่ว่า แล้วคนหูหนวก-ใบ้ (deaf-mute) ซึ่งไม่สามารถใช้เสียงสื่อสารออกมาเป็นภาษาควรถูกจัดอยู่ในฐานะใด? พวกเขาสามารถแยกแยะผิดชอบชั่วดีได้หรือไม่? แล้ว ‘ภาษา’ จำต้องมาในรูปของ ‘เสียง’ เท่านั้นหรือ?

‘คนหูหนวก-ใบ้’ คือกลุ่มคนที่มีอาการหูหนวกและเป็นใบ้ร่วมกัน เกิดขึ้นจากเด็กที่หูหนวกตั้งแต่กำเนิด (congenital deafness) หรือมีอาการหูหนวกก่อนถึงวัยที่จะมีพัฒนาการทางภาษาอย่างสมบูรณ์ (prelingual deafness) ในช่วงประมาณก่อน 3-4 ขวบ แม้คำว่า ‘หูหนวก-ใบ้’ ในภาษาอังกฤษปัจจุบันจะนิยมใช้คำว่า ‘deaf-mute’ แต่คำว่า ‘deaf-dumb’ ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกันก็ได้รับความนิยมมาจนถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 20

คำว่า ‘dumb’ ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า ‘โง่’ อย่างที่นิยมในปัจจุบัน แต่ความหมายเดิมในภาษาอังกฤษหมายถึง ‘เป็นใบ้ พูดไม่ได้ หรือพูดไม่ออก’ (To become dumb, speechless, or silent)[8] ถึงกระนั้นคำว่า ‘dumb’ ในภาษาอังกฤษสมัยกลาง (Middle English) ก็ยังมีนัยยะหมายถึงสัตว์ที่ไม่สามารถส่งเสียงออกมาเป็นภาษา (naturally incapable of articulate speech)[9] และในภาษาเยอรมันสูงยุคเก่า (Old High German) ซึ่งเป็นเครือญาติกับภาษาอังกฤษ คำที่ร่วมรากศัพท์เดียวกันกับคำว่า ‘dumb’ (คือคำว่า ‘dumm’ ในภาษาเยอรมันปัจจุบัน) ก็แปลได้ทั้ง ‘เป็นใบ้’ และ ‘โง่’ ดังนั้นแม้คำว่า ‘dumb’ ในภาษาอังกฤษจะหมายถึง ‘การเป็นใบ้’ แต่ก็อาจมีความหมายแฝงว่า ‘โง่’ มาตั้งแต่ต้น[10]

ความคิดที่ว่าคนหูหนวก-ใบ้ด้อยสติปัญญาหรือดำรงชีวิตไม่แตกต่างไปจากสัตว์ ไม่ได้มาจากการที่พวกเขา ‘ขาด’ ผัสสะอย่างใดอย่างหนึ่งไปในตัวมันเอง แต่มาจากการที่คนหูหนวก-ใบ้ไม่สามารถใช้เสียงสื่อสารออกมาเป็น ‘ภาษา’ ถ้าหากเราพิจารณาว่าภาษาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมนุษย์ และภาษาคือเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการส่งต่อวัฒนธรรมหรือแบบแผนของการเป็นชุมชนระหว่างสมาชิกของชุมชนด้วยกัน การถูกตัดขาดจากภาษา ก็ไม่ต่างจากการถูกตัดขาดจากความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมนุษย์

แม้ในที่นี้เราจะพูดถึง ‘ภาษา’ ในความหมายอย่างกว้าง แต่การที่ชุมชนของมนุษย์ถูกสร้างขึ้นบนฐานของภาษาพูดก็มีส่วนทำให้ความคิดที่ว่าคนหูหนวก-ใบ้ขาดความสามารถในการประมวลความคิดที่ซับซ้อนและเป็นนามธรรมถูกเน้นย้ำยิ่งขึ้นไปอีก ในรายงานของราชวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศส (Académie des Sciences) ปี ค.ศ.1703 เรื่อง ‘คนใบ้แห่งชาร์ตร์’ (sourd de Chartres) ซึ่งเล่าเรื่องเกี่ยวกับชายหนุ่มที่มีอาการหูหนวกตั้งแต่กำเนิด แต่กลับมาได้ยินเสียงเป็นปกติอย่างปาฏิหาริย์เมื่ออายุได้ 23-24 ปี ได้เขียนสรุปไว้ว่า “รากฐานที่สำคัญที่สุดของความเป็นมนุษย์คือความสามารถในการตอบโต้ระหว่างกัน” (The principal fund of the ideas of mankind is their mutual converse.)[11]

ในรายงานฉบับเดียวกันนี้ ยังมีการบรรยายถึงคำถามของนักเทววิทยาต่อ ‘คนใบ้แห่งชาร์ตร์’ เกี่ยวกับความทรงจำของเขาในช่วงก่อนที่จะเริ่มได้ยินเสียงและเริ่มพูดได้ แน่นอนว่าคำถามเหล่านี้อิงอยู่กับความสนใจที่ว่าคนหูหนวก-ใบ้จะสามารถประมวลผลความคิดที่ซับซ้อนและเป็นนามธรรมได้ไหม และพวกเขาจะสามารถแยกแยะผิดชอบชั่วดีได้หรือไม่

“…เหล่านักเทววิทยาต่างสอบถามถึงสภาพการณ์ของเขาในอดีตด้วยคำถามส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับพระเจ้า จิตวิญญาณ คุณธรรมความดีและความชั่วร้ายในการกระทำของมนุษย์ ดูเหมือนว่าเขาจะไม่ได้มีความคิดที่ลึกซึ้งขนาดนั้น แม้ว่าพ่อแม่ของเขาจะเป็นชาวคาธอลิค แม้ว่าเขาจะเข้าร่วมพิธีมิสซา แม้ว่าเขาจะถูกสอนให้รู้จักทำท่าไม้กางเขนและนั่งคุกเข่าในท่าสวดมนต์ แต่เขาก็ไม่เคยเชื่อมโยงความมุ่งหมายใดกับการกระทำเหล่านั้น หรือเข้าใจสิ่งอื่นใดที่เชื่อมโยงกับการกระทำเหล่านั้น เขาแทบไม่รู้ว่าความตายคืออะไร เขาไม่เคยคิดถึงมันมาก่อน เขาดำรงชีวิตเฉกเช่นสัตว์ตัวหนึ่ง…”[12]

เอเตียนน์ บอนโนต์ เดอ กงดิญัก (Étienne Bonnot de Condillac) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 มีความสนใจในรายงานเรื่อง ‘คนใบ้แห่งชาร์ตร์’ เป็นอย่างยิ่ง ในหนังสือเรื่อง ‘Essay on the Origin of Human Knowledge’[13] เดอ กงดิญักได้อภิปรายว่า ‘คนหูหนวก-ใบ้’ ไม่สามารถประมวลความคิดต่างๆ ขึ้นมาได้ด้วยตนเอง พวกเขาทำได้แค่ตอบสนองต่อการรับรู้และความต้องการทางกายภาพเฉพาะหน้า นั่นคือแม้คนหูหนวก-ใบ้จะสามารถ ‘สื่อสาร’ ด้วยการใช้สัญญาณมืออย่างง่ายๆ แต่สาเหตุที่พวกเขาไม่สามารถประมวลความคิดเชิงนามธรรม หรือสร้างความคิดที่เป็นหลักการทั่วไป (generalisation) ก็เพราะพวกเขายังขาด ‘ภาษาที่ได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์’ ซึ่งต้องการการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ซับซ้อนมากไปการสื่อสารอย่างง่ายๆ เท่านั้น[14]

สำหรับเดอ กงดิญัก ปัญหาของคนหูหนวก-ใบ้ไม่ได้อยู่ที่พวกเขา ‘เป็นคนหูหนวกและเป็นใบ้’ แต่เป็นเพราะพวกเขาขาดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ซับซ้อนมากพอจะยกระดับสัญญาณมือที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติให้กลายเป็น ‘ภาษาที่ได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์’ ความคิดของเดอ กงดิญักแตกต่างจากนักปรัชญาคนอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับ ‘ภาษาพูด’ มากเป็นพิเศษ ตรงที่เขาเสนอว่ามันมีความเป็นไปได้ที่คนหูหนวก-ใบ้จะมีพัฒนาการทางภาษาและสติปัญญาได้เป็นปกติ หากพวกเขามีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ซับซ้อนมากพอ

ต้นตอของปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่คนหูหนวก-ใบ้ แต่เป็นเพราะสังคมมนุษย์มีปราการขัดขวางการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนหูหนวก-ใบ้และสมาชิกคนอื่นๆ ในสังคม[15] เราอาจลองจินตนาการได้ว่าข้อจำกัดเช่นนี้อาจหมดไป หากคนหูหนวก-ใบ้สามารถรวมตัวกันสร้างชุมชนของผู้ใช้ ‘สัญญาณมือ’ ขึ้นมาเอง และพัฒนาจนกลายเป็น ‘ภาษามือ’ ที่ใช้สื่อสารความคิดที่ซับซ้อนและเป็นนามธรรมได้ หรือว่าข้อจำกัดเช่นเดียวกันอาจเกิดกับคนที่ได้ยิน ‘เป็นปกติ’ หากพวกเขาเกิดขึ้นมาท่ามกลางชุมชนของมนุษย์ที่ไม่ได้ยินเสียงและพูดไม่ได้

ในหนังสือเรื่อง ‘Observations of a Deaf Mute on An Elementary Course of Education for Deaf Mutes’ โดยปิแอร์ เดส์ลอจส์ (Pierre Desloges) หนังสือเล่มแรกที่เขียนขึ้นโดยคนหูหนวก-ใบ้ และตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1779 เดส์ลอจส์ได้บรรยายถึงประสบการณ์ของเขาต่อชุมชนคนหูหนวกที่ยากจนในปารีส ณ ที่นี้เองที่เขาได้รู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และเริ่มเรียนรู้ภาษามือซึ่งมีใช้กันอยู่แล้วในชุมชนคนหูหนวกของปารีส (รู้จักกันในปัจจุบันว่า ‘Old French Sign Language’) จากชายไร้การศึกษาที่หูหนวกตั้งแต่กำเนิดคนหนึ่ง

“…เมื่อคนหูหนวกคนหนึ่งได้พบกับคนหูหนวกคนอื่นๆ ที่มีการศึกษามากกว่า ดังที่ข้าพเจ้าได้ประสบมาแล้วนั้น คนหูหนวกคนนั้นย่อมเรียนรู้ที่จะผสมผสานและพัฒนาภาษามือของเขา และในการปฏิสัมพันธ์กับคนหูหนวกคนอื่นๆ นี่เอง ที่จะทำให้เขาได้มาซึ่งศาสตร์ชั้นสูงแห่งการแสดงความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ด้วยลำดับและความแม่นยำดั่งเข้าใจหลักไวยากรณ์ของภาษา …”[16]

ข้อความของเดส์ลอจส์ยิ่งเน้นย้ำให้เราเห็นว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในชุมชน คือหัวใจสำคัญของการสร้าง ‘ภาษาที่สมบูรณ์’ และภาษาที่ว่านั้นไม่จำเป็นต้องเป็น ‘ภาษาพูด’ เสมอไป

แม้อาจจะไม่มีการบันทึกถึงชุมชนของมนุษย์ที่สมาชิกส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดไม่ได้ยินเสียงและพูดไม่ได้ แต่ชุมชนของมนุษย์ที่สมาชิกส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดใช้ภาษามือที่พัฒนาขึ้นเองสื่อสารระหว่างกันโดยไม่มีอุปสรรคในการสื่อสารความคิดที่ซับซ้อนและเป็นนามธรรม และโดยไม่จำแนกแยกแยะว่าใครเป็นคนหูหนวก-ใบ้ และใครเป็นคนได้ยิน ‘ปกติ’ นั้นมีอยู่จริงที่มาร์ธาส์ วินยาร์ด (Martha’s Vineyard) เกาะเล็กๆ ใกล้กับแหลมค็อด (Cape Cod) ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา บางหมู่บ้านบนเกาะแห่งนี้เคยมีประชากรมากถึง 1 ใน 4 ที่มีอาการหูหนวกตามกรรมพันธุ์ (hereditary deafness) เพราะการสมรสระหว่างสมาชิกชุมชนที่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมใกล้เคียงกัน (endogamy)

ในปัจจุบัน มาร์ธาส์ วินยาร์ดมีการเชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่มากขึ้น ผู้คนบนเกาะสมรสกันเองน้อยลงจนทำให้แทบไม่มีคนที่สามารถใช้ภาษามือของมาร์ธาส์ วินยาร์ดเหลืออยู่แล้ว (คนหูหนวกแต่กำเนิดที่ใช้ภาษามือของมาร์ธาส์ วินยาร์ดได้คนสุดท้ายเสียชีวิตลงในปี ค.ศ.1952) แต่โอลิเวอร์ แซกส์ (Oliver Sacks) นักประสาทวิทยาชาวอังกฤษ ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง Seeing Voices[17] ถึงประสบการณ์เมื่อเขาเดินทางไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งบนเกาะมาร์ธาส์ วินยาร์ดในปีค.ศ.1986 และได้พบกับหญิงชราวัย 90 กว่าปีที่ไม่ใช่คนหูหนวก แต่ยังสามารถใช้ภาษามือของมาร์ธาส์ วินยาร์ดได้ในระดับเจ้าของภาษา (native signer)

ในระหว่างการพูดคุย บางครั้งหญิงชราจะตกอยู่ในห้วงภวังค์และทำมือคล้ายกับกำลังถักไหมพรม ลูกสาวของหญิงชราอธิบายว่า แม่ของเธอกำลังครุ่นคิดอยู่ (ใช่! คิดเป็นภาษามือ) และยิ่งไปกว่านั้นบางครั้งหญิงชรายังฝันเป็นภาษามือด้วยการวาดมือไปมาในอากาศ

หลักฐานการมีอยู่ของชุมชนเช่นมาร์ธาส์ วินยาร์ด บอกให้เรารู้ว่าการเป็นคนหูหนวก-ใบ้อาจไม่ใช่อุปสรรคในการดำรงชีวิตหากปราการที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนหูหนวก-ใบ้และสมาชิกอื่นๆ ของชุมชนถูกทลายลง การเป็นคนหูหนวก-ใบ้ไม่มีความหมายพิเศษอะไรบนมาร์ธาส์ วินยาร์ด เพราะไม่มีใครในชุมชนแห่งนี้รู้สึกว่าการไม่ได้ยินและการพูดเป็นข้อจำกัด

บางทีการเป็นชุมชนเล็กๆ บนเกาะที่ตัดขาดจากสังคมบนแผ่นดินใหญ่อาจมีส่วนช่วยให้มาร์ธาส์ วินยาร์ดกลายเป็นสังคมอุดมคติของคนหูหนวก-ใบ้ไปได้[18] เพราะการพังทลายปราการดังกล่าวในสังคมเปิดย่อมยากเย็นยิ่งกว่าหลายเท่านัก

 

สมภารเดอ เลเป ผู้บุกเบิกการเรียนการสอนสำหรับคนหูหนวก

 

“…Eternal stillness is your sanctuary
With your thought only if it will forsake;
It raises and brings down the curtain, free
In books or life to choose its oracle,
And but the elixir of all beauty takes…” [19]

 

ใครคือสมภารชาร์ลส์-มิเชล เดอ เลเป?

ต่อคำถามนี้ ฮาร์แลน เลน (Harlan Lane) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันและนักต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์ของคนหูหนวกได้กล่าวโดยสรุปไว้ว่า

“…สมภารเดอ เลเป บุตรชายของสถาปนิกหลวง เขาคือคนแรกที่เหลียวมองคนหูหนวกผู้ไม่รู้หนังสือ เป็นที่รังเกียจ และยากจน แล้วกล่าวกับพวกเขาว่า ‘ช่วยสอนฉันด้วย’…ความไม่ถือตัวประการนี้เองทำให้เขาเป็นที่สรรเสริญอยู่ตราบนานเท่านาน…คนหูหนวกทุกแห่งหนไม่คิดถือสาที่สมภารเดอ เลเปมองไม่เห็นว่าภาษามือของชุมชนคนหูหนวกฝรั่งเศสนั้นเป็นภาษาที่สมบูรณ์ในตัวของมันเองอยู่แล้ว หาใช่เพียงแค่กลุ่มของสัญญาณมือที่ไม่มีไวยากรณ์แต่อย่างใด…”[20]

ชาร์ลส์-มิเชล เดอ เลเป (Abbé Charles-Michel de l’Épée) เป็นบุตรชายของสถาปนิกหลวง ชาร์ลส์-ฟรองซัวส์ เดอ เลเป (Charles-François de l’Épée) เขาเกิดในระหว่างวันที่ 24-26 พฤศจิกายน ในปี ค.ศ.1712 ที่เมืองแวร์ซายส์ (Versailles) ศูนย์กลางอำนาจของราชสำนักฝรั่งเศส

ชีวิตด้านการศึกษาของสมภารเดอ เลเปในวัยหนุ่มไม่ได้แตกต่างไปจากบุตรหลานชนชั้นสูงในขณะนั้น เขาศึกษาปรัชญาและเข้าเรียนวิชากฎหมายที่ซอร์บอน (Sorbonne) หรือ มหาวิทยาลัยปารีส (Université de Paris) ในช่วงปี ค.ศ.1730-1733 จนได้ปริญญาด้านกฎหมาย (licencié ès loix) แต่ในปี ค.ศ.1731 นี่เองที่สมภารเดอ เลเปตัดสินใจละทิ้งชีวิตฆราวาส ก่อนจะย้ายมาประจำวิหารในปารีสตั้งแต่ปี ค.ศ.1947 เป็นต้นมา[21]

อาจเพราะการเป็นพระนี่เองที่ทำให้สมภารเดอ เลเปได้สัมผัสกับชุมชนคนจนของปารีส และท่ามกลางคนยากจนเหล่านั้น ก็คือชุมชนของคนหูหนวกที่ไม่รู้หนังสือ ตามซอกมุมของมหานครปารีส คนหูหนวกเหล่านี้ได้รวมตัวกันสร้าง ‘ชุมชน’ ของผู้ใช้ภาษามือขึ้นมา ปิแอร์ เดส์ลอจส์ซึ่งมีชีวิตร่วมสมัยกับสมภาร เดอ เลเปได้เล่าไว้ใน ‘Observations of a Deaf Mute on An Elementary Course of Education for Deaf Mutes’ ถึงชุมชนคนหูหนวกของปารีสและ ‘ภาษาของพวกเขา’

“…มีคนงานชาวปารีสที่หูหนวกแต่กำเนิดและไม่รู้หนังสือ แต่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาเป็นอย่างดีผ่านภาษามือจนสามารถเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาได้ เช่น พิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์ (eucharist) และการแต่งงาน พวกเรา (ชุมชนคนหูหนวกของปารีส) คุยกันได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในปารีส ฝรั่งเศส หรือจากทั่วทุกมุมโลก พวกเราแสดงความคิดเกี่ยวกับทุกเรื่องได้อย่างเป็นลำดับขั้นตอน ชัดเจน และคล่องแคล่ว ราวกับคนที่ได้ยินและพูดได้…” [22]

แม้สมภารเดอ เลเปอาจไม่ใช่ ‘คนนอก’ คนแรกที่พยายามจะสื่อสารกับชุมชนคนหูหนวกของปารีส แต่เขาเป็นคนแรกที่เลือกจะเรียนรู้ ‘ภาษา’ ของชุมชนนี้ ในหนังสือเรื่อง ‘โรงเรียนสอนคนหูหนวก-ใบ้ด้วยระบบสัญญาณมือ’ (Institution des sourds et muets, par la voie des signes méthodiques) ของสมภารเดอ เลเปซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1776 ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นงานด้านการศึกษาสำหรับคนหูหนวกเมื่อเขารับดูแลสองพี่น้องฝาแฝดที่หูหนวกแต่กำเนิดต่อจากหลวงพ่อวานัง (Vanin) ซึ่งเสียชีวิตไปอย่างกะทันหัน ในช่วงปี ค.ศ.1760-1762 สมภารเดอ เลเปเล่าว่าหลวงพ่อวานังได้เริ่มสอนเด็กฝาแฝดคู่นี้มาบ้างแล้วด้วยการใช้สื่อภาพพิมพ์ซึ่งไม่ค่อยประสบความสำเร็จ แตกต่างจากนักการศึกษาร่วมสมัยคนอื่น[23] แม้เขาจะไม่ได้มองว่า ‘ภาษามือ’ ของชุมชนคนหูหนวกเป็นภาษาที่สมบูรณ์ มีไวยากรณ์ในตัวเอง แต่สมภารเดอ เลเปเชื่อว่าวิธีการที่ดีที่สุดในการสอนคนหูหนวกให้รู้หนังสือก็คือการใช้ ‘ภาษาของพวกเขา’ เอง[24]

สมภารเดอ เลเปรวบรวมภาษามือที่มีการใช้กันอยู่แล้วในชุมชนคนหูหนวกของปารีส กำหนดสัญญาณมือให้กับตัวอักษรแต่ละตัว และดัดแปลงให้ระบบสัญญาณมือ (signe méthodique) ที่เขาคิดค้นขึ้นมีโครงสร้างไวยากรณ์ของภาษาฝรั่งเศส แม้ระบบสัญญาณมือนี้จะทำให้สมภารเดอ เลเปประสบความสำเร็จในการสอนเด็กหูหนวก-ใบ้ให้อ่านออกเขียนได้ แต่การเอาโครงสร้างไวยากรณ์แบบภาษาพูดไปสวมครอบภาษามือที่มีความสมบูรณ์ในตัวเองแล้วยิ่งสร้างความซับซ้อนที่ไม่จำเป็น (สำหรับคนหูหนวก) ให้กับระบบสัญญาณมือของเขา[25]

ความสำเร็จเบื้องต้นทำให้สมภารเดอ เลเป เริ่มรวบรวมวิธีการสอนของเขาขึ้นเป็นบทเรียน และตัดสินใจเปิดสอนแก่สาธารณะเป็นครั้งแรกโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในปี ค.ศ.1771 ที่บ้านซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากบิดาของเขาบนถนนเดส์ มูลังส์ (rue des moulins) โดยมีนักเรียนรุ่นแรก 30 คน

ด้วยแรงบันดาลใจทางศาสนาและด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม ตลอดเวลาหลายปีหลังจากนั้น สมภารเดอ เลเปจึงจัดการเรียนการสอนแก่เด็กหูหนวก-ใบ้เพื่อให้พวกเขาอ่านออกเขียนได้และเข้าใจคำสอนของคริสต์ศาสนา สมภารเดอ เลเปยังเผยแพร่แนวทางการสอนแบบใหม่ของเขาอย่างแข็งขัน[26] จนสามารถฝึกฝนอาจารย์ทั้งที่เป็นชาวฝรั่งเศสและชาวต่างชาติ รวมทั้งดึงดูดคนที่สมาทานแนวทางเดียวกัน เช่น สมภารโรช-อ็องบรวส กูกูร์รง ซิคาร์ด์ (Roch-Ambroise Cucurron Sicard) ผู้ซึ่งในภายหลังมีส่วนก่อตั้งโรงเรียนสอนคนหูหนวก-ใบ้ที่บอร์โดซ์ (Bordeaux) และดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนหูหนวก-ใบ้ปารีส[27] หลังการถึงแก่กรรมของสมภารเดอ เลเปในปี ค.ศ.1789

ความสำเร็จของสมภารเดอ เลเปทำให้เกิดโรงเรียนสอนคนหูหนวกที่ยึดแนวทางจัดการเรียนการสอนด้วยระบบสัญญาณมือขึ้นทั่วยุโรป อดีตเด็กนักเรียนหูหนวก-ใบ้ที่ไม่รู้หนังสือหลายคนกลายมาเป็นอาจารย์รุ่นบุกเบิกที่วางรากฐานสำคัญให้กับการศึกษาของคนหูหนวกทั่วโลก หนึ่งนั้นคือ โลร็องต์ เคลร์ค (Laurent Clerc) ผู้ที่ภายหลังจะมีส่วนบุกเบิกการเรียนการสอนสำหรับคนหูหนวกในสหรัฐอเมริกา

การจัดการเรียนการสอนสำหรับคนหูหนวกโดยไม่แยกชนชั้นวรรณะของสมภารเดอ เลเป ช่วยยกฐานะทางสังคมของคนหูหนวก การศึกษาทำให้พวกเขาไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบได้อย่างง่ายๆ อีกต่อไป สถานะความเป็นพลเมืองของคนหูหนวก-ใบ้ได้รับการการันตีอย่างเสมอภาคในคําประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ปี ค.ศ.1789 ในสมัยปฏิวัติของฝรั่งเศส

คุณูปการเหล่านี้ของสมภารเดอ เลเปทำให้เขาได้รับการขนานนามโดยคนทั่วไปว่าเป็น ‘บิดาของคนหูหนวก’ (Father of the Deaf) สาธารณรัฐฝรั่งเศสในสมัยปฏิวัติยกย่องว่าเขาเป็น ‘พลเมืองผู้มีคุณงามความดียิ่งต่อมนุษยชาติ และต่อประเทศชาติ’ ในขณะที่ชุมชนคนหูหนวกทั่วโลกจัดงานเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิดของสมภารเดอ เลเปตั้งแต่ ค.ศ.1834 มาจนถึงปัจจุบัน

หากถามว่าสมภารชาร์ลส์-มิเชล เดอ เลเปคือใคร?

เขาอาจจะเป็นแค่คนที่เชื่อในคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนชายขอบที่สุดของสังคม กล้าเดินเข้าไปหาและเรียนรู้ที่จะสื่อสารด้วยภาษาของพวกเขาเหล่านั้น

 

เชิงอรรถ

[1] « Le nom de l’abbé de l’Épée, premier fondateur de cet établissement, sera placé au rang de ceux des citoyens qui ont le mieux mérité de l’humanité et de la patrie» Prieur. Archives parlementaires. พระราชบัญญัติ สมัชชาแห่งชาติ วันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1791, หน้า 490. เข้าถึง https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k49543m

[2] การทลายคุกบาสตีย์เกิดขึ้นในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ.1789 เมื่อกองกำลังติดอาวุธของชาวปารีสต้องการปล้นดินปืนจากคลังแสงของคุกบาสตีย์เพื่อใช้ต่อสู้กับกองกำลังของรัฐบาล การทลายคุกบาสตีย์ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอันหนึ่งของการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ทำให้กษัตริย์ลุยส์ที่ 16 ต้องยอมรับอำนาจของผู้แทนจากสมัชชาแห่งชาติในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ

[3] การสังหารหมู่ที่ทุ่งพระอังคาร (Fusillade du Champ-de-Mars) คือเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มสาธารณรัฐนิยมที่ไม่เห็นด้วยกับการสถาปนาระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) หลังแผนการหลบหนีออกจากฝรั่งเศสที่ล้มเหลวของกษัตริย์ลุยส์ที่ 16

[4] สมัชชาแห่งชาติ (Assemblée nationale) คือสภาที่ก่อตั้งขึ้นในสมัยปฏิวัติของฝรั่งเศสหลังการเปิดประชุมสภาฐานันดรทั่วไป (États généraux) ผู้แทนของฐานันดรที่ 3 อ้างความชอบธรรมในฐานะผู้แทนของราษฎรฝรั่งเศสทั้งปวง และสาบานตนร่วมกันในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ.1789 ว่าจะไม่แยกย้ายกันจนกว่าฝรั่งเศสจะมีรัฐธรรมนูญ

[5] ระบบการสื่อสารด้วยมือ (manual communication) ที่สมภารเดอ เลเปคิดค้นขึ้น ไม่ใช่ ‘ภาษามือ’ (sign language) ที่แท้จริง (อันที่จริงคำแปลภาษาไทยว่า ‘ภาษามือ’ ก็เป็นการแปลที่ไม่ถูกต้อง เพราะ ‘sign language’ ที่แท้จริงคือการผสมผสานการแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง และมือเข้าด้วยกัน มีระบบการสร้างคำและ ‘ไวยากรณ์’ ของตนเอง – แต่ในบทความนี้ผู้เขียนจะเรียกว่า ‘ภาษามือ’ ตามที่สาธารณชนคุ้นเคย) แต่เป็นการ ‘แปล’ ภาษาพูดให้กลายเป็น ‘สัญญาณมือ’ โดยใช้ระบบไวยากรณ์ของภาษาฝรั่งเศส

[6] Aristotle (1964). On Sense and Sensible Objects, trans. W. S. Hett. Cambridge MA: Harvard University Press.

[7] “…For, as we assert, nature does nothing in vain; and man alone among the animals has speech […]. For it is peculiar to man as compared to the other animals that he alone has a perception of good and bad and unjust and other things of this sort…” – Aristotle (1984). The Politics, trans. C. Lord. Chicago and London: The University of Chicago Press.

[8] พจนานุกรม Oxford English Dictionary ฉบับที่ 1 ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1888 – คำว่า ‘dumb’ แปลว่า ‘to become dumb, speechless, or silent’ – ดูได้ที่ https://archive.org/details/oed03arch/page/n727/mode/2up

[9] “Dumb (n.) Applied to the lower animals (and, by extension, to inanimate nature) as naturally incapable of articulate speech.” – พจนานุกรม Oxford Dictionary of English ฉบับ ค.ศ.2009

[10] ในพจนานุกรม Oxford Dictionary of English ฉบับ ค.ศ. 2009 ได้ยกตัวอย่างการใช้คำว่า ‘dumb’ ในบริบทที่แปลว่า ‘โง่’ (stupid, senseless) ก่อนศตวรรษที่ 18 อยู่บ้างเช่นกัน เช่น ใน ค.ศ.1531: Tindale Exp. 1 John (1537) 53 “They wyl breake in to thy conscience, as the byshop of Rome doeth with his domme traditions.” (domme = dumb)

[11] รายงานของราชวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศส ในปี ค.ศ.1703 ได้กล่าวถึง ‘คนใบ้แห่งชาร์ตร์’ (sourd de Chartres) ว่า “It is not that he did not naturally have a mind, but the mind of a person who is deprived of human intercourse is so little exercised and cultivated that he does not think except when he is absolutely forced to do so by external objects. The principal fund of the ideas of mankind is their mutual converse.” – Histoire de l’Académie royale des sciences avec les mémoires de mathématique & de physique ฉบับปี ค.ศ. 1703 อ้างถึงคำแปลใน Condillac, E. B. (2001). Essay on the Origin of Human Knowledge, trans. H. Aarsleff. Cambridge: Cambridge University Press.

[12]  “…Good theologians immediately began to interrogate him on his past state, with questions chiefly about God, the soul, and on the moral good and evil of human actions. He did not seem to have carried his thoughts that far. Though his parents were Catholic, though he attended mass, was instructed in making the sign of the cross, and in kneeling in the posture of a person at prayer, he had never joined any intention to all those actions nor understood what others connected with them. He barely knew what death was, and he never thought about it. He led a mere animal life…”  – Histoire de l’Académie royale des sciences avec les mémoires de mathématique & de physique ฉบับปี ค.ศ.1703

[13] Condillac, E. B. (2001). Essay on the Origin of Human Knowledge, trans. H. Aarsleff. Cambridge: Cambridge University Press.

[14] Fulka, J. (2020). Deafness, Gesture and Sign Language in the 18th Century French Philosophy. John Benjamins Publishing Company. หน้า 33.

[15] ก่อนปลายศตวรรษที่ 18 เราไม่มีวิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างคนหูหนวก-ใบ้และชุมชนของคนที่ได้ยิน และเราไม่มีการเรียนการสอนที่ออกแบบมาจำเพาะสำหรับคนหูหนวก-ใบ้ – กล่าวอย่างรวบรัดก็คือ ชุมชนของคนที่ได้ยินไม่ได้คิดว่าพวกเขาจะต้องปรับตัว หรือเรียนรู้ที่จะสื่อสารกับคนหูหนวก-ใบ้

[16] “…when a deaf person encounters other deaf people more highly educated than he, as I myself have experienced, he learns to combine and improve his signs…In intercourse with his fellows he promptly acquires the supposedly difficulty art of depicting and expressing all his thoughts…with as much order and precision as if he understood the rules of grammar…” – Desloges, P. (2006). A Deaf Person’s Observations about An Elementary Course of Education for the Deaf. In H. Lane (ed.), The Deaf Experience. Classics in Language and Education. Washington: Gallaudet University Press.

[17] Sacks, O. W. (2012). Seeing Voices. Picador. – ดูบท ‘A Deaf World’ หน้า 28-30.

[18] นัยยะของสังคมอุดมคติ (utopia) มักมาพร้อมกับการเป็นพื้นที่ซึ่งตั้งอยู่โดดเดี่ยวในทางกายภาพ (physical isolation) เช่น เกาะยูโทเปียของโธมัส มอร์ (Thomas More) หรือ อุตตรกุรุทวีปในไตรภูมิพระร่วงที่ถูกรายล้อมด้วยภูเขาทอง

[19] ส่วนหนึ่งของบทกวี Aux Sourds-Muets (แด่คนหูหนวก-ใบ้) โดย Alfred de Vigny (1839) George Dillon แปล – ผู้เขียนพบว่ามีคนเขียนบทกวีนี้ไว้บนกำแพงของสถาบันเด็กหูหนวกแห่งปารีส (Institut National de Jeunes Sourds de Paris) บนถนนสมภารเดอ เลเป (Rue de l’Abbé de l’Épée)

[20]  “…it was Abbé de l’Epée, son of the king’s architect, who first turned to the poor, despised, illiterate deaf and said ‘teach me’. And this act of humility gained him everlasting glory. […] the deaf everywhere have always excused him for failing to see that the sign language of the French deaf community was a complete language in its own right, not merely a collection of signs…” – อ้างใน Fulka, J. (2020). Deafness, Gesture and Sign Language in the 18th Century French Philosophy. John Benjamins Publishing Company. หน้า 73.

[21] Bezagu-Deluy, M. (1990). L’Abbé de l’Épée, instituteur gratuit des sourds et muets, 1712-1789. Paris, Seghers.

[22] “…There are congenitally deaf people, Parisian laborers, who are illiterate […], who have been found so well instructed about their religion, simply by means of signs, that they have been judged worthy of admittance to the holy sacraments, even those of the eucharist and marriage. No event—in Paris, in France, or in the four corners of the world—lies outside the scope of our discussion. We express ourselves on all subjects with as much order, precision, and rapidity as if we enjoyed the faculty of speech and hearing...” – Desloges, P. (2006). A Deaf Person’s Observations about An Elementary Course of Education for the Deaf. In H. Lane (ed.), The Deaf Experience. Classics in Language and Education. Washington: Gallaudet University Press.

[23] ในบริบททางประวัติศาสตร์ การศึกษาสำหรับคนหูหนวก-ใบ้ได้มีมานานก่อนสมภารเดอ เลเปแล้ว แต่นักการศึกษาเหล่านี้มุ่งเน้นการสอนให้คนหูหนวก-ใบ้พูดได้อย่าง ‘คนปกติ’ และใช้การอ่านปาก (lip reading) ทดแทนการฟัง แนวคิดนี้เรียกว่า ‘นักวาทนิยม’ (oralism) – นักวาทนิยมที่มีชีวิตร่วมสมัยกับสมภารเดอ เลเป ก็เช่น ฌาคอบ โรดริก เปเรร์ (Jacob Rodrigue Péreire) ค.ศ.1715-1780 – แนวคิดนี้อาจได้รับอิทธิพลทางปรัชญาที่ให้ความสำคัญกับ ‘ภาษาพูด’ (speech) เช่น อริสโตเติล หรือ โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) – ฮอบส์ เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง ‘Leviathan’ ว่าภาษาพูด (speech) คือ “the most noble and profitable invention of all others.” ดู Hobbes, T. (1997). Leviathan. Touchstone. หน้า 19.

[24] «Tout sourd-muet qu’on nous adresse, dit-il, a déjà un langage […] Il a contracté l’habitude de s’en servir, pour se faire entendre des personnes chez qui il demeure, et il entend lui-même tous ceux qui en font usage. […] ce langage est le langage des signes. On veut l’instruire; & pour arriver à ce but, il s’agit de lui apprendre la langue Française. Quelle sera la méthode la plus courte & la plus facile ? Ne sera-ce pas celle qui s’exprimera dans la langue à laquelle il est accoutumé, & dans laquelle on peut même dire que la nécessité l’a rendu expert ? » – de l’Épée, C. M. (1776). Institution des sourds et muets, par la voie des signes méthodiques. หน้า 36-37.

[25] ยกตัวอย่างเช่น คำว่า Inintelligibilité (adv. อย่างเข้าใจไม่ได้) ที่ภาษามือของชุมชนคนหูหนวกในฝรั่งเศสใช้สัญญาณมือเพียง 2 ท่าเท่านั้น แต่ในระบบมือของสมภารเดอ เลเป จะต้องใช้สัญญาณมือถึง ๕ ท่า อันประกอบไปด้วย 1.) สัญญาณมือที่สื่อว่าเป็นคำเกี่ยวกับกระบวนการทางความคิด 2.) สัญญาณมือที่สื่อว่ากำลังอ่านอะไรบางอย่างอยู่ในใจ 3.) สัญญาณมือที่สื่อว่าเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปได้ (-able) 4.) สัญญาณมือที่สื่อว่าเปลี่ยนจากคำคุณศัพท์เป็นคำกริยาวิเศษณ์ (intelligible เป็น intelligibilité) และ 5.) สัญญาณมือที่สื่อว่าเป็นรูปคำปฏิเสธ (intelligibilité เป็น inintelligibilité) ด้วยเหตุนี้ การถ่ายทอดข้อความบางข้อความที่ในภาษามือใช้เพียง 5 ท่า ในระบบสัญญาณมือของสมภาร เดอ เลเปอาจต้องการมากถึง 50 ท่า

[26] สมภารเดอ เลเปตีพิมพ์หนังสือสำคัญของเขาสองเล่ม คือ ‘Institution des sourds et muets, par la voie des signes méthodiques’ ในปี ค.ศ. 1776 และ ‘Véritable manière d’instruire les sourds et muets, confirmée par une longue expérience’ ในปี ค.ศ.1784

[27] โรงเรียนสอนคนหูหนวก-ใบ้ที่ปารีสย้ายมาตั้ง ณ ถนนซังต์-ฌาร์กส์ (rue Saint-Jacques) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1794 จนถึงปัจจุบัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save