fbpx

บ้านที่ไกลจากบ้าน A Strangeness in My Mind (หากหัวใจไม่สามัญ)

ออร์ฮาน ปามุก นักเขียนชาวตุรกี ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมปี 2006 มีผลงานนิยายทั้งหมด 10 เรื่อง แปลเป็นไทยออกมาแล้ว 4 เรื่อง (และกำลังจะมีเพิ่มอีก 1 เรื่องในอนาคตอันใกล้) ประกอบไปด้วย My Name is Red (เรื่องนี้ไม่ได้ตั้งชื่อภาษาไทย), Snow (หิมะ), The Museum of Innocence (พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา) และ A Strangeness in My Mind (หากหัวใจไม่สามัญ) ที่ผมกำลังจะเล่าสู่กันฟังในครั้งนี้

A Strangeness in My Mind เป็นนิยายลำดับที่ 9 ของออร์ฮาน ปามุก ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2014

ส่วนฉบับภาษาไทยพิมพ์ออกมาในปี 2561 ปัจจุบันอาจจะไม่ได้มีวางขายในร้านหนังสือทุกแห่ง แต่ยังพอหาซื้อได้ตามร้านใหญ่ๆ      

งานเขียนของออร์ฮาน ปามุก (เท่าที่ผมมีโอกาสได้อ่าน) ทุกเรื่องมีความแตกต่างกันเด่นชัด ทั้งโดยพล็อต เทคนิควิธีการเล่าเรื่อง และประเด็นสาระสำคัญ แต่ในขณะเดียวกัน ทุกเรื่องก็มีจุดร่วมหลายอย่างละม้ายคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงความขัดแย้งระหว่าง ‘เก่า’ กับ ‘ใหม่’, ตัวเอกที่อยู่กึ่งกลางของความไม่ลงรอยทางการเมือง ศาสนา และวัฒนธรรม รวมถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับชายหนุ่มที่มีความหลงใหลฝังใจต่อบางสิ่ง และพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ความปรารถนาของตนบรรลุเป้าหมาย

พูดง่ายๆ คือ ออร์ฮาน ปามุก เก่งในการสร้างความสมดุลระหว่างความคิดสร้างสรรค์กับเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในด้านหนึ่งนิยายทุกเรื่องของเขามีความแปลกใหม่ พยายามฉีกหนีตัวเองอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งไม่ซ้ำรอยเดิม แต่ในอีกด้าน ทุกเรื่องก็ยังคงไว้ซึ่งเนื้อหา ทัศนคติ สาระสำคัญ ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าประจำตัวของเขาอย่างเหนียวแน่น

นี่ยังไม่นับรวมความใกล้เคียงในแง่มุมจุกจิกปลีกย่อย อย่างเช่น ทุกเรื่องมีความยาวเหยียดหลายร้อยหน้ากระดาษ มีการดำเนินเรื่องเนิบช้าค่อยเป็นค่อยไป เต็มแน่นไปด้วยรายละเอียดเฉพาะตัวเกี่ยวกับความเป็นตุรกี ตั้งแต่เหตุการณ์สำคัญทางสังคม วัฒนธรรม สถานที่ ผู้คนหลายแวดวงอาชีพ (ที่มีตัวตนอยู่จริง) ความขัดแย้งทางการเมืองและศาสนา ซึ่งยากที่จะเข้าใจได้กระจ่างสำหรับผู้อ่านที่ไม่ใช่ชาวตุรกี

ย่อหน้าข้างต้น ถือเป็นยาขมขนานใหญ่ และเป็นสาเหตุที่อาจทำให้บางท่านรู้สึกว่า นิยายของปามุกนั้นไม่สนุกและไม่น่าอ่าน

อย่างไรก็ตาม มันมาเป็นแพ็กเกจนะครับ ท่ามกลางหลายสิ่งที่ไม่เชิญชวน นิยายของออร์ฮาน ปามุกก็มีเสน่ห์ดึงดูดและความน่าสนใจอยู่เยอะแยะมากมาย

อย่างแรกสุดที่ผมนึกถึงก็คือ การสร้างตัวละครที่โดดเด่นมาก มีเลือดเนื้อ มีชีวิตจิตใจ มีปมขัดแย้งภายในอันสลับซับซ้อน และสมจริง ยิ่งไปกว่านั้น ปามุกยังเก่งมากในการทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกใกล้ชิดและผูกพันกับตัวละครของเขา กระทั่งเกิดความกระหายใคร่รู้ อยากติดตามเรื่องราวไปจนถึงที่สุด เพื่อที่จะได้ทราบความเป็นไปในชีวิตว่าจะสรุปลงเอยเช่นไร?

จุดเด่นต่อมาคือ เทคนิควิธีการนำเสนอ ปามุกถือเป็นนักเขียนจอมเทคนิคคนหนึ่ง โดยเฉพาะการใช้มุมมองผู้เล่าเรื่อง (point of view) ได้เก่งกาจมาก ทั้งในการทำให้มันสะดุดตาเร่งเร้าความสนใจ และการใช้ประโยชน์จากมุมมองในการเล่าเรื่องให้สอดคล้องกับประเด็นทางเนื้อหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

My Name is Red และ A Strangeness in My Mind เป็นตัวอย่างที่เด่นมากในแง่นี้

A Strangeness in My Mind เริ่มต้นด้วยมุมมองของ ‘ผม’ (ซึ่งน่าจะหมายถึงตัวปามุกเอง) บอกเล่าเหตุการณ์สั้นๆ เกริ่นนำไม่กี่หน้ากระดาษ พร้อมกับออกตัวว่าในเรื่องที่เหลือตามมา ‘ผม’ จะถอยห่าง ไม่นำตัวเองเข้ามาเกี่ยวข้อง และจะถ่ายทอดเรื่องราวตรงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (จริง) โดยเคร่งครัด

เรื่องราวส่วนใหญ่ใน A Strangeness in My Mind เล่าสลับไปมาระหว่าง 2 ส่วน

อย่างแรกเป็นการเล่าผ่านมุมมองตัวเอกของเรื่อง (ผ่านการถ่ายทอดโดย ‘ผม’ หรือปามุก) ส่วนที่สองเป็นการให้ตัวละครอื่นๆ ทั้งหมด ยกเว้นพระเอกของเรื่องเมฟลุต (อ่านออกเสียงว่า เมฟ-ลุต) พูดคุยกับผู้อ่าน เล่าเรื่องราวตามมุมมองของตนในลักษณะ ‘คำให้การ’

เทียบเคียงง่ายๆ ก็คล้ายกับเวลาดูหนังแล้วมีตัวละครพูดหน้ากล้อง สื่อสารเล่าเรื่องสู่ผู้ชม หรืออีกแบบหนึ่ง ก็เหมือนกับสารคดีที่แสดงบทสัมภาษณ์ผู้คนมากมาย

ความน่าสนใจในการสลับมุมมองผู้เล่าเรื่องดังกล่าวอย่างแรก คือการทำให้ตัวนิยายมีลีลากระเดียดไปทางงานเขียนประเภท non-fiction มีกลิ่นอายบรรยากาศแวดล้อมที่สมจริง

มุมมองของ ‘ผม’ บอกเล่าเหตุการณ์และอธิบายความรู้สึกนึกคิดของเมฟลุตโดยตรง เหมือนถ่ายทอดเรื่องราวของเขาผ่านการเรียบเรียงข้อมูลที่รับฟังมาจากเจ้าตัวโดยตรง

ขณะที่มุมมองของตัวละครรองลงมาทั้งหมด เล่าเสริมเหตุการณ์ เคียงข้างไปกับการให้ภาพของเมฟลุต ผ่านสายตาของคนอื่นซึ่งมีทั้งด้านบวกและด้านลบ

ถัดมาคือ ในเรื่องราวที่บอกเล่า เมฟลุตกับผู้คนรอบข้าง มีความสัมพันธ์ทั้งด้านบวกและด้านลบระคนปนกัน การใช้มุมมองของตัวละครอื่นๆ เปิดพื้นที่ให้เขาและเธอเหล่านั้นมีโอกาสได้ชี้แจง แก้ต่าง อธิบายพฤติกรรมของตนเอง หรือกระทั่งว่า แสดงความเห็นอกเห็นใจ ติเตียน วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเมฟลุต

พูดง่ายๆ เป็นการใช้ประโยชน์จากการเล่าสลับมุมมอง เพื่อเพิ่มมิติความลึกให้แก่ตัวละครทั้งหมดนะครับ รวมทั้งทำให้เหตุการณ์ส่วนใหญ่ เกิดขึ้นในลักษณะ ‘มองต่างมุม’

ประโยชน์สุดท้าย ทำหน้าที่คล้ายๆ กับการตัดต่อลำดับภาพในหนัง

A Strangeness in My Mind มีเนื้อเรื่องครอบคลุมระยะเวลายาวนานถึง 43 ปี (เรื่องเริ่มขึ้นในปี 1969 และจบลงในปี 2012) เหตุการณ์ในแต่ละบทแต่ละตอน เป็นไปตามสไตล์ของปามุก คือดำเนินเรื่องเรียบเรื่อย เนิบช้า ค่อยเป็นค่อยไป ให้ความสำคัญกับการพรรณนาสาธยายรายละเอียดเยอะแยะมากมาย

การตัดสลับไปมา ระหว่างมุมมองของผู้เขียนกับมุมมองจากหลากตัวละคร เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้การดำเนินเรื่องจากเหตุการณ์หนึ่งไปสู่เรื่องราวถัดมา เป็นไปอย่างกระชับฉับไว

เปรียบอย่างนี้ก็ได้ครับว่า ในแต่ละฉากนั้นผ่านไปอย่างเนิ่นช้า ทว่าระหว่างฉากต่อฉากกลับรุดหน้ารวดเร็ว

เทคนิคสำคัญอีกอย่างที่ออร์ฮาน ปามุก นำมาใช้ได้อย่างร้ายกาจมากใน A Strangeness in My Mind คือ การเรียงลำดับเหตุการณ์ว่าจะเล่าอะไรก่อน-หลัง

นิยายเรื่องนี้เปิดฉากเริ่มต้น ด้วยการเผยความลับสำคัญที่สร้างความประหลาดใจให้แก่ตัวละครและผู้อ่าน

เหตุการณ์มีอยู่ว่า เมฟลุตไปร่วมพิธีแต่งงานญาติ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ได้พบหญิงคนหนึ่ง (น้องเจ้าสาว) เขาตกตะลึงในความงามของเธอ ต้องมนต์สะกดตรึงใจจากสายตาที่เธอมองมา และตระหนักทันทีว่าตกหลุมรักเข้าให้แล้ว จึงสอบถามญาติถึงชื่อของเธอ จนทราบว่าชื่อรายิฮา

3 ปีถัดจากนั้น เมฟลุตเขียนจดหมายรักถึงรายิฮามากมายหลายฉบับ ฝากญาตินำไปส่ง โดยไม่เคยได้รับจดหมายเขียนตอบจากฝ่ายหญิง มีเพียงคำบอกเล่าจากญาติที่เป็นคนกลาง ยืนยันว่ารายิฮามีความพึงใจในตัวพระเอกของเรา จนนำไปสู่การวางแผน ‘พาหนี’

แผนสำเร็จลุล่วงด้วยดี แต่ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็คือ แท้จริงแล้วรายิฮาเป็นอีกคนหนึ่ง เป็นพี่สาวของผู้หญิงที่เมฟลุตเขียนจดหมายไปหา มิหนำซ้ำหน้าตาก็แลดูธรรมดา ไม่ได้สะสวยแต่อย่างไร

ปามุกทิ้งค้างเรื่องราวไว้เพียงเท่านี้ ทำให้ผู้อ่านเกิดความอยากรู้อยากเห็น 2 ประการ แรกสุดคือความสงสัยข้องใจว่า เหตุการณ์พลิกผันดังเช่นที่เกิดขึ้นได้เพราะเหตุใด ถัดมาคือเมฟลุตจะตัดสินใจเช่นไรกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

เรื่องที่เล่าในลำดับถัดมา ข้ามสู่อีกหลายปีต่อมา เมฟลุตแต่งงานอยู่กินกับรายิฮา มีลูกสาว 2 คน สิ่งสำคัญที่บอกเล่าคือวิถีชีวิตของพ่อค้าหาบเร่ขายโบซา (เครื่องดื่มพื้นเมืองของตุรกี หมักจากข้าวสาลี มีปริมาณแอลกอฮอล์เล็กน้อย) ซึ่งอยู่ในช่วงภาวะถดถอย ไม่ได้รับความนิยมเหมือนในอดีต การโดนหมาไล่กัด และโดนมิจฉาชีพจี้ชิงทรัพย์

จากนั้นเรื่องก็ย้อนถอยกลับไปยังจุดเริ่มต้นในปี 1969 เมฟลุตวัย 11ปี เดินทางจากบ้านเกิดแถบอนาโตเลียตอนกลางมายังอิสตันบูล เพื่อเรียนชั้นมัธยม ช่วยพ่อหาบเร่ขายโยเกิร์ตช่วงกลางวันและขายโบซาในยามค่ำคืน เคียงข้างกับเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตของตัวละคร รายละเอียดที่ได้รับการขับเน้นอย่างถี่ถ้วน ได้แก่ ห้วงเวลาที่การเร่ไปตามบ้านถิ่นย่านต่างๆ เพื่อขายโยเกิร์ตและโบซายังดำเนินไปด้วยดี และเรื่องราวของประดาผู้คนจากชนบท (เมฟลุตกับพ่อเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น) พากันหลั่งไหลอพยพเข้ามายังอิสตันบูล เพื่อแสวงหางานและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า การจับจองที่ว่างรกร้าง สร้างบ้านพำนักอาศัย (อย่างไม่ถูกกฎหมาย) กระทั่งกลายเป็นชุมชนแออัดจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว การสร้างเนื้อสร้างตัวของคนที่รู้จักฉกฉวยโอกาส

เรื่องราวส่วนนี้ดำเนินจนมาบรรจบกับเหตุการณ์ที่เมฟลุตพารายิฮาหนีตามกัน จากนั้นเหตุการณ์ทั้งหมดก็เล่าตามลำดับเวลา พูดถึงชีวิตคู่ของทั้งสอง ซึ่งค่อยๆ ข้ามผ่านความแปลกหน้าต่อกัน จนกลายเป็นความผูกพันลึกซึ้ง และเหตุการณ์อื่นๆ อีกสารพัดสารพัน รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงมหาศาลของอิสตันบูล

สรุปอย่างรวบรัด A Strangeness in My Mind เป็นเสมือนการบอกเล่าประวัติชีวิตตลอดสี่ทศวรรษของเมฟลุต ควบคู่ไปกับการสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ของอิสตันบูล (ผ่านสายตาของเมฟลุตและตัวละครอื่นๆ ทั้งหมด)

พูดง่ายๆ คือ เป็นการสะท้อนภาพประวัติศาสตร์อิสตันบูลจากสายตาและคำบอกเล่าของชาวบ้าน ซึ่งดิ้นรนกับการทำมาหากินเพื่อยังชีพ ได้รับผลกระทบ เผชิญความผันผวนขึ้นลงจากอำนาจรัฐ ความขัดแย้งทางการเมือง การเติบโตและถดถอยทางเศรษฐกิจ ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย การปะทะกันระหว่างขนบจารีตเก่าแก่ที่ยึดมั่นกันมาช้านานกับการไหลบ่าเข้ามาของอารยธรรมตะวันตก

สิ่งต่างๆ ข้างต้น สะท้อนผ่านการขายโบซาในยามค่ำคืนของเมฟลุต ตั้งแต่ช่วงที่ยังเป็นสินค้าได้รับความนิยม จนถึงวันหนึ่งที่เสื่อมถอยไร้คนเหลียวแล กลายเป็นเครื่องดื่มโบร่ำโบราณที่ผู้คนพากันเมินหน้าหนี

อีกแง่มุมที่ได้รับการขับเน้นมากเป็นพิเศษ คือภาพสะท้อนถึงการเติบโตขยายใหญ่พรวดพราดอยู่ตลอดเวลาของอิสตันบูล ทั้งในทางกายภาพ จากที่รกร้างกลายเป็นชุมชนแออัด จากบ้านสับปะรังเคที่พอให้หลบแดดหลบฝน กลายเป็นบ้านที่ถาวรมั่นคง แล้วกลายเป็นตึก กลายเป็นอาคารสูงในท้ายที่สุด รวมถึงการรื้อทุบบริเวณพื้นที่หลายๆ แห่งเพื่อตัดถนน เช่นเดียวกับการเพิ่มพูนของจำนวนประชากร จาก 3 ล้านคนมาเป็น 13 ล้านคน วิถีความเป็นอยู่ของผู้คนที่แปรเปลี่ยนไป ทั้งรูปแบบการใช้ชีวิต ค่านิยม การแตกสลายของความเป็นชุมชนและความเป็นครอบครัว

ทั้งหมดนี้ แจกแจงออกมาอย่างละเอียดยิบและถี่ถ้วน แสดงลำดับขั้นตอนค่อยเป็นค่อยไป และเป็นจุดเด่นที่เข้มข้นหนักแน่นมากของนิยายเรื่องนี้

ชื่อเรื่อง A Strangeness in My Mind หรือความรู้สึกแปลกประหลาดในใจของเมฟลุต ตามความเข้าใจของผม เบื้องต้นนั้นหมายถึงความรู้สึกแปลกแยกของตัวเอกที่มีต่อเมืองอิสตันบูล

หน้า 611 ในนิยาย เขียนเล่าไว้ว่า “…ในช่วงเวลาเหล่านั้น เขาตระหนักว่าเมืองที่เขาใช้ชีวิตอยู่สี่สิบปีนี้ ซึ่งเขาเดินผ่านประตูบ้านหลายพันหลายหมื่นบาน ได้เห็นภายในบ้านของผู้คน ก็เป็นสิ่งไม่จีรังมากไปกว่าชีวิตที่เขาดำเนินอยู่ในนั้นและความทรงจำที่เขามี”

เมฟลุตเป็นคนแปลกหน้าของอิสตันบูลเมื่อแรกเดินทางมาถึง ใช้เวลาปรับตัวทำความคุ้นเคยอยู่นานหลายปี จนวันหนึ่งเมื่อเขากลายเป็นคนคุ้นเคยของเมือง กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม เมืองนั้นก็เปลี่ยนแปลงจนผิดหูผิดตา ไม่ใช่เมืองที่เขารู้จักมักคุ้น (ซึ่งหลงเหลืออยู่เพียงในความทรงจำ) อีกต่อไป ท้ายที่สุดหลังจากใช้ชีวิตอยู่ในอิสตันบูลถึงสี่ทศวรรษ เมฟลุตก็ยังคงเป็นคนแปลกหน้า รู้สึกแปลกแยก และหา ‘บ้าน’ ที่แท้จริงในเมืองแห่งนี้ไม่เจอ

มีรายละเอียดหนึ่งซึ่งขานรับกับสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น หลายฉากหลายตอนพูดถึงการผจญภัยของเมฟลุตกับหมาข้างถนน ซึ่งพากันเห่าและแสดงอาการมุ่งร้ายต่อชายหนุ่มที่มีความหวาดกลัวอยู่ลึกๆ ในใจ

แง่มุมนี้นำไปสู่บทสนทนาสั้นๆ เมื่อเมฟลุตนำความไปปรึกษาหารือต่อผู้ทรงศีลที่ใครๆ เคารพนับถือ และได้คำตอบทำนองว่า ‘หมามันรู้ว่าใครเป็นพวกเดียวกัน ใครเป็นพวกอื่น’

ตลอดทั่วทั้งเรื่อง เมฟลุตเป็นตัวละครที่ ‘ไม่เข้าพวก’ แตกต่างและแปลกแยกจากส่วนรวมอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่ความล้มเหลวในการสร้างฐานะ มุมมองความคิดเห็นเรื่องการเมืองและศาสนา รวมถึงความซื่อและไร้เดียงสาในการใช้ชีวิต

อีกประเด็นสำคัญใน A Strangeness in My Mind พูดถึงข้อขัดแย้งระหว่างเจตนาส่วนตัวและเจตนาต่อส่วนรวม (หรือต่อผู้อื่น)

ประเด็นนี้ค่อนข้างสลับซับซ้อนและเป็นส่วนที่ยากสุด ผมเองก็ยังไม่เข้าใจดีนัก แต่ว่ากันตามที่ผมยังคิดได้กระท่อนกระแท่น  พอสรุปได้ว่า หมายถึงเจตนาหรือความปรารถนาอย่างหนึ่งที่อยู่ในใจ แต่กลับกับแสดงออกต่อผู้อื่นแตกต่างออกไป

เนื้อความในหน้า 567 ตัวละครหนึ่งพูดว่า “ฉันอาจมีความคิดเลวร้าย แต่โดยการกระทำแล้ว ฉันไม่เคยทำอะไรชั่วร้ายในชีวิตเลยนะ มีหลายคนที่ตั้งตนด้วยความตั้งใจดีแล้วลงเอยด้วยการทำชั่ว”

ข้อความนี้คล้ายๆ จะอธิบายประเด็นซับซ้อนที่ผมเกริ่นมา แต่ก็ไม่ครอบคลุมและไม่ตรงกันเสียทีเดียว

มีอีกตัวอย่างหนึ่งในหน้า 587 เมฟลุตพูดกับซามิฮาว่า

“ผมเขียนจดหมายพวกนั้นถึงคุณ และผมเขียนด้วยความรัก” เมฟลุตพูด แม้กระทั่งเมื่อเขาพูดถ้อยคำเหล่านี้ เขาก็นึกว่าการพูดความจริงและพูดอย่างจริงใจไปพร้อมๆ กันนั้นช่างยากเย็นเหลือเกิน

ขยายความเพิ่มเติมก็คือ ตอนที่พูดข้อความนี้ เมฟลุตผ่านการค้นพบภายในใจตนเองแล้วนะครับ ว่าแท้จริงแล้วเขารักใคร (ซึ่งไม่ใช่ซามิฮา)

การค้นพบนี้ส่งผลให้ชีวิตล้มเหลวไม่บรรลุตามความใฝ่ฝันของเมฟลุต (ในสายตาผู้คนทั่วไป) รวมถึงความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างตัวเขากับอิสตันบูล จบลงอย่างหม่นเศร้าแต่ก็สวยงาม เหมือนดังที่นิยายได้เล่าไว้ว่า

“เขารู้สึกเสียดายแปลกๆ ราวกับใช้ชีวิตโดยไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย กระนั้นเขาก็มีความสุขเหลือเกินกับราฮิยา”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save