fbpx

ผู้หญิงส่วนเกิน A Single Thread (เพียงหนึ่งไจเดียว)

เพียงหนึ่งไจเดียว

A Single Thread เป็นนิยายปี 2019 เขียนโดยเทรซี เชวาเลียร์ งานชิ้นนี้ยังคงไว้ซึ่งลักษณะเด่นเช่นเดียวกับนิยายเรื่องดังของเธออย่าง Girl With a Pearl Earring (1999) นั่นคือจินตนาการแต่งเรื่องลงไปในฉากหลังที่มีอยู่จริง (และมีบางตัวละครสำคัญเป็นบุคคลมีชื่อเสียงที่มีตัวตนอยู่จริง ใน Girl With a Pearl Earring คือศิลปินเฟอร์เมียร์ ส่วนใน A Single Thread คือหลุยซา เพเซล) รวมทั้งเล่าถึงเบื้องหลังที่มาของชิ้นงานศิลปะอันวิจิตรงดงามชวนหลงใหล และยืนยงคงทนมาจนถึงปัจจุบัน

แตกต่างเพียงแค่ภาพวาดของเฟอร์เมียร์เป็นงานชิ้นเอกในโลกศิลปะ มีชื่อเสียงขจรขจายแพร่หลายในวงกว้าง ขณะที่งานเย็บปักถักร้อยประดับลวดลายละเอียดประณีตบนเบาะรองเข่าและเบาะรองนั่งในมหาวิหารวินเชสเตอร์ เกิดขึ้นมีอยู่อย่างเงียบสงบ ไม่ได้โด่งดังเป็นที่รู้จักมากนัก เป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆ กลมกลืนไปกับความอลังการของทั่วทั้งมหาวิหาร และอาจสะดุดตาเป็นที่สนใจได้บ้างสำหรับผู้มาเยือนที่ช่างสังเกต

เรื่องราวใน A Single Thread เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงไปแล้วสิบกว่าปี (นิยายเริ่มต้นเหตุการ์ในปี 1932) ภาพรวมกว้างๆ แสดงถึงความบอบช้ำเสียหายทั่วไปในสังคมอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจถดถอย ตัวละครในเรื่องหลายรายสูญเสียสมาชิกครอบครัวจากการสู้รบ และยังคงเจ็บปวดร้าวรานกับบาดแผลทางที่ไม่มีวันลบเลือน

แต่ขมวดแคบจำเพาะเจาะจงลงไป A Single Thread เป็นเรื่องว่าด้วย ‘ผู้หญิงส่วนเกิน’ (surplus women)

ข้อมูลคร่าวๆ ที่ผมอ่านเจอเล่าไว้ว่า ชายอังกฤษ 700,000 คนเสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งผลให้สัดส่วนจำนวนเพศชายกับหญิงเกิดความแตกต่างเด่นชัด จากการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 1921 ระบุว่า ในสหราชอาณาจักร มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 1.75 ล้านคน

สื่อมวลชนนำเอาผลสำรวจดังกล่าวมาประโคมเล่นข่าวกันอย่างครึกโครม (แง่มุมนี้มีปรากฏให้เห็นในนิยาย) และไม่ปิดบังอำพรางน้ำเสียงท่าทีเย้ยหยัน รวมถึงทัศนะว่าพวกเธอเป็นภาระและปัญหาใหญ่ของสังคม

เมื่อประกอบกับความเป็นสังคมที่ยึดถือการแต่งงานเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเป้าหมายชีวิตของผู้หญิงทุกคน บรรดาสตรีที่ผ่านพ้นเลยวัยออกเหย้าออกเรือน ยังคงครองตัวเป็นโสด จึงมีสถานะยากลำบาก ตกเป็นเป้าเย้ยหยันดูแคลน กลายเป็นผู้มีชีวิตล้มเหลวพ่ายแพ้ เป็นหัวข้อซุบซิบนินทาอย่างสนุกปากของผู้คนรายรอบ กระทั่งว่าอาจเป็นเหยื่อของการคาดเดาทางลบสารพัดสารเพ ว่าเธอมีข้อบกพร่องเสียหายอันใดบ้าง จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถมีคู่รักเป็นฝั่งเป็นฝา

นี่ยังไม่นับรวมว่าในยุคสมัยช่วงเวลาดังกล่าว ‘ผู้หญิงส่วนเกิน’ เหล่านี้ (รวมถึงผู้หญิงอายุน้อยกว่าที่เป็นชนชั้นกลาง) มีโอกาสและทางเลือกในชีวิตไม่มากนัก การเล่าเรียนระดับสูงยังเป็นไปได้ยากและมีเพียงจำนวนส่วนน้อย อาชีพการงานส่วนใหญ่ที่เปิดกว้างต้อนรับ คือการเป็นเสมียน เลขานุการ ครู พยาบาล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นงานที่ได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าผู้ชาย

ข้างต้นเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับไวโอเลต สปีดเวลล์ นางเอกของ A Single Thread และนิยายเรื่องนี้เล่าถึงการต่อต้านขัดขืนของเธอให้หลุดพ้นจากสภาพดังกล่าวสู่ความเป็นอิสระ

ไวโอเล็ตเป็นหญิงสาววัย 38 ปี ยังครองตัวเป็นโสด โอกาสที่จะได้แต่งงานของเธอผ่านพ้นไปแล้ว เมื่อลอเรนซ์คู่หมั้นของเธอเสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 (ซ้ำร้ายก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี จอร์จ พี่ชายที่เธอสนิทสนมก็ตายในเหตุการณ์คล้ายๆ กัน) ทอม น้องชายของเธอรอดชีวิตมาได้ แต่ก็แตกสลาย ต้องใช้เวลาพักใหญ่ จนกระทั่งการแต่งงานและภรรยาค่อยๆ เยียวยา ประกอบเศษซากกอบกู้ชีวิตกลับคืนมาได้

ไวโอเลตเป็นพนักงานพิมพ์ดีดในบริษัทประกันภัย ใช้ชีวิตอยู่ในเซาแธมป์ตันกับแม่ ผู้มีปากคอเราะราย จู้จี้จุกจิก ช่างบ่นและชำนิชำนาญในการพูดจาถากถางเชือดเฉือนทำร้ายจิตใจได้ตลอดเวลา

สิ่งเดียวที่พอจะบรรเทาความทรมานในการอยู่ร่วมและรับมือกับคุณแม่สารพัดพิษได้บ้างก็คือ ความอ่อนโยนนุ่มนวลของพ่อ จนเมื่อพ่อเสียชีวิต ไวโอเล็ตร่วมทุกข์ไร้สุขกับแม่เป็นเวลาอีกหนึ่งปีครึ่ง ก่อนตัดสินใจ ‘ไปตายเอาดาบหน้า’ ย้ายออกจากบ้านที่เซาแธมป์ตันไปทำงานตำแหน่งเดิม บริษัทเดิม สาขาเมืองวินเชสเตอร์ (ซึ่งอยู่ห่างออกไป 12 ไมล์)

เวลาครึ่งปีในวินเชสเตอร์ผ่านไป ชีวิตของไวโอเลตไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก ยังเจ็บปวดกับอดีตและความทรงจำเก่าๆ เกี่ยวกับพ่อ พี่ชาย และคู่หมั้น มีปัจจุบันที่เปลี่ยวเหงา ยากไร้ขัดสนรายได้แทบไม่พอประทังชีวิต ต้องกระเบียดกระเสียรรัดเข็มขัดจนถึงที่สุด หิวโหย อดมากกว่าอิ่ม หนีไกลมาจากแม่เพื่อพบเจอคุณนายฮาร์วีย์ เจ้าของห้องเช่า ซึ่งจุ้นจ้านวุ่นวาย จนคล้ายเป็นเงาของแม่ แต่ร้ายกาจไม่มากเท่า และมีข้อดีกว่าอีกเล็กน้อยตรงที่เธอยังสามารถตัดรำคาญได้ด้วยการปลีกตัวหลบเข้าไปในห้อง

นิยายเรื่อง A Single Thread เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 19 พฤษภาคม 1932 ไวโอเลตใช้เวลาช่วงพักกลางวัน ออกจากที่ทำงานเพื่อซื้อผ้าหมึกพิมพ์ดีด และตั้งใจว่าจะถือโอกาสแวะชมโบสถ์น้อยฟิชเชอร์แมนในมหาวิหาร เพราะมีความเชื่อมโยงไปถึงความทรงจำรื่นรมย์เกี่ยวกับพ่อ

ก่อนถึงที่หมาย หญิงสาวผ่านเข้าไปยังบริเวณภายในมหาวิหาร พบเห็นว่ากำลังมีการประกอบพิธีบางอย่าง จึงเข้าไปดูด้วยความอยากรู้อยากเห็น จนกระทั่งทราบว่าเป็นพิธีถวายงานปักเบาะรองนั่งของกลุ่ม ‘ช่างปักภูษา’

ไม่นานหลังจากนั้น ไวโอเลตก็ตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มช่างปักภูษา

ข้างต้นที่เล่ามา กินใจความประมาณสามสิบกว่าหน้า เมื่ออ่านถึงตรงนี้ ผมก็นึกเดาล่วงหน้าว่าส่วนที่เหลือทั้งหมดของนิยาย คงเล่าถึงการเข้าไปเป็นอาสาสมัครทำงานเย็บปักถักร้อยของไวโอเล็ต ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตัวเธอทีละน้อย จนกระทั่งท้ายสุด ก็เปลี่ยนชีวิตทั้งชีวิต ตัวละครมีโอกาสได้สะสางคลี่คลายเงื่อนปมต่างๆ ที่มีอยู่ในใจ สมานแผลในอดีต สามารถเดินหน้าต่อไป เกิดการเรียนรู้และเติบโตทางความคิดอีกขั้น มีโอกาสจัดการปรับปรุงความสัมพันธ์อันย่ำแย่กับคนรอบข้าง จากร้ายกลายเป็นดี ได้ตระหนักถึงคุณค่าและความยิ่งใหญ่ของสิ่งเล็กๆ อย่างการเย็บปักถักร้อย รวมถึงการชี้ชวนชักนำผู้อ่านไปสู่โลกของนักปักภูษา เพื่อพบกับความล้ำลึกพิสดารที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนอย่างละเอียดถี่ถ้วน

ผมยังเดาไปถึงรายละเอียดปลีกย่อยทำนองว่า ไวโอเลตผู้ไม่เคยมีความรู้และทำงานปักผ้ามาก่อน ต้องพบกับความยากลำบากในเบื้องต้น (เธออาจไม่ชอบและฝืนใจเสียด้วยซ้ำ) ล้มเหลวซ้ำซากกับผลงานที่ออกมาไม่ได้ดังใจ จนถึงขณะหนึ่งโดยไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว เธอก็สัมผัสได้ถึงเสน่ห์ของการทำงานปัก จนกลายเป็นตกหลุมรัก และทุ่มเทอุทิศจิตใจให้กับงานเหล่านี้อย่างมีความสุข กลายเป็นช่างปักภูษาที่เก่งกาจ

พูดง่ายๆ คือ ดำเนินไปตามสูตรอันควรจะเป็นที่พบเห็นบ่อยๆ ในหนังและนิยายจำนวนมาก

จนเมื่ออ่านจบครบถ้วน ผมก็พบว่าเดาผิดไปเยอะเลยทีเดียว จริงอยู่ว่าการเป็นช่างปักภูษา คือจุดเริ่มต้นที่นำพาไปสู่ความเปลี่ยนแปลงหลายหลากมากมาย ดำเนินอยู่บนขนบโครงสร้างที่เป็นสูตร แต่เส้นทางในระหว่างนั้น รวมทั้งรายละเอียดปลีกย่อยที่บอกเล่า ควรเรียกได้ว่าเป็นนิยายตามสูตรที่ไม่เป็นไปตามสูตร

รายละเอียดเกี่ยวกับการเย็บปักถักร้อยเล่าไว้ถี่ถ้วนเป็นปริมาณพอสมควร (และน่าตื่นตาตื่นใจมากในขณะอ่านตามที่นึกคะเนไว้) แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมไปตลอดทั่วทั้งเรื่อง และไม่ใช่แก่นสารสำคัญเพียงหนึ่งเดียว นิยายเรื่องนี้ยังเล่าควบคู่ไปถึงอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งน่าประทับใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นั่นคือการตีระฆังในมหาวิหาร

ก่อนจะหลงลืม ผมควรรีบระบุไว้ตรงนี้ว่า ทั้งการเย็บปักถักร้อยและการตีระฆังเป็นจุดเด่นลักษณะเดียวกับที่เทรซี เชวาเลียร์ เคยฝากฝีมือเอาไว้อย่างน่าประทับใจมาแล้วใน Girl With a Pearl Earring เมื่อพรรณนาสาธยายถึงเบื้องหลังการวาดภาพของเฟอร์เมียร์ การผสมสีต่างๆ การจัดองค์ประกอบของภาพ การกำหนดท่วงท่าของนางแบบและข้าวของประกอบฉาก ได้อย่างมีชีวิตชีวาสมจริง

ใน A Single Thread มีการเขียนพรรณนาถึงงานปักผ้าและการตีระฆังได้อย่างยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน อย่างแรกเป็นการเขียนเพื่อให้ผู้อ่านที่ไม่เคยเห็นผลงานเหล่านี้มาก่อน อ่านแล้วเกิดจินตนาการนึกภาพคล้อยตามได้คร่าวๆ อย่างหลังเป็นการเขียนบรรยายถึงเสียง

ทั้งสองส่วนนี้ สะท้อนชัดถึงการค้นคว้าหาข้อมูลทำการบ้านอย่างหนัก และความเก่งในการเขียนเล่าออกมาผ่านถ้อยคำ

ทั้งสองส่วนนี้ ผมคิดว่าเขียนยากกว่าภาพวาดของเฟอร์เมียร์ ซึ่งผู้อ่านเคยผ่านตาและรู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี

ภาพและเสียงที่เกิดขึ้นในใจขณะอ่าน ไม่ตรงกับ ‘ของจริง’ และไม่ชัดกระจ่างหรอกนะครับ แค่อ่านแล้วพอจะจินตนาการได้เลาๆ คร่าวๆ พอประมาณ

อย่างไรก็ตาม เมื่ออ่านจบแล้วผมก็แก้สงสัยโดยการค้นหาภาพปักผ้าและการตีระฆัง (อย่างแรกนั้น สามารถเสิร์ชโดยพิมพ์คำว่า Louisa Pesel ในกูเกิล ส่วนอย่างหลังผมดูใน youtube โดยพิมพ์ว่า Bells at Winchester Cathedral)

ผลก็คือภาพและเสียงในใจขณะอ่านนั้นไม่ตรงหรือเหมือนหรอกนะครับ แต่พอจะเข้าเค้าอยู่บ้าง

ท่านใดที่อ่านจบแล้ว ขอแนะนำให้ลองดูลองฟังนะครับ ช่วยเพิ่มอรรถรสทำให้จับอกใจกับนิยายเรื่องนี้ขึ้นอีกเยอะเลย

กลับมายังสูตรที่ไม่เป็นไปตามสูตรอีกครั้งนะครับ พ้นจากเรื่องการเย็บปักและการตีระฆัง ซึ่งทั้งสองกิจกรรมบอกเล่าโดยมีความหมายสำคัญถึงการมีสมาธิจดจ่อในระหว่างลงมือทำ หลุดห่างจากความครุ่นคำนึงถึงชีวิตยากแค้นขัดสนของตนเองไปสู่การทำงาน ช่วยให้สามารถคลายทุกข์ไปชั่วขณะ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตัวละคร เพลิดเพลิน (และอาจจะมีความสุข) จนเกิดความรักชอบในสิ่งที่ทำแล้ว งานปักผ้าและการตีระฆังยังสะท้อนสู่อีกแง่มุมหนึ่ง นั่นคือการฝากร่องรอยตัวตนทิ้งไว้

งานปักเบาะรองนั่งนั้นชัดเจนว่าจะยังคงอยู่ไปอีกเนิ่นนานมากกว่าชีวิตของช่างปัก ขณะที่การตีระฆังนั้นไม่เหลือหลักฐานเป็นรูปธรรม ทว่าสิ่งที่ทิ้งค้างฝากไว้ คือเสียงที่จะติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้ฟัง

การฝากฝังร่องรอยไว้กับโลกเป็นแง่มุมหนึ่งที่นิยายเรื่องนี้ตอกย้ำ หน้า 46 เล่าบรรยายไว้ว่า “…ตอนนี้โอกาสที่เธอจะมีลูกดูยากเต็มที ถ้าเธออยากจะฝากร่องรอยไว้บนโลกก็ควรทำโดยวิธีอื่น เบาะรองเข่าอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยและไร้สาระก็จริง แต่มันก็อยู่ตรงนั้น”

ข้อความที่ผมยกมาเกี่ยวโยงไปถึงบทสรุปคลี่คลายในตอนจบด้วยนะครับ แต่มันเป็นความลับที่ผมขออนุญาตไม่กล่าวถึงว่า เชื่อมต่อกันอย่างไร

แต่กล่าวโดยอ้อมได้ว่า การเย็บปักถักร้อยและการตีระฆังมีความข้องแวะพัวพันนำไปสู่เหตุการณ์สำคัญ (ซึ่งเป็นส่วนที่ผมนึกไม่ถึงและรู้สึกประหลาดใจในระหว่างอ่าน) นั่นคือ A Single Thread เป็นนิยายว่าด้วย ‘รักต้องห้าม’

ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นรักต้องห้ามระหว่างสองคู่ตัวละคร คู่แรกคือไวโอเลตกับอาเธอร์ ซึ่งมีอุปสรรคสำคัญที่ฝ่ายชายแต่งงานมีภรรยาแล้ว ส่วนอีกคู่คือความสัมพันธ์รักชอบเพศเดียวกันระหว่างกิลดา (เพื่อนสนิทของไวโอเลต) กับโดโรธี

เงื่อนปมนี้ เมื่อผนวกรวมกับฉากหลัง ยุคสมัย และสถานะการเป็น ‘ผู้หญิงส่วนเกิน’ ของไวโอเลตและกิลดา ก็ส่งผลให้นิยายที่มีพล็อตเรียบง่าย ไม่หวือหวาโลดโผน ไม่ปรุงรสจัดจ้านอย่าง A single Thread มีความลึกและประเด็นเนื้อหาสาระคมชัดน่าสนใจ และเป็นได้ดีกว่านิยายรักพาฝันประโลมโลกย์ไปเหลือหลาย

ก่อนจะพูดถึงนิยายต่อไปอีก ขอแทรกคั่นนอกเรื่องเพื่อเทียบเคียงกัน ขณะอ่าน A Single Thread ผมได้ดูหนังปี 1945 เรื่อง Brief Encounter ผลงานกำกับของเดวิด ลีน ซึ่งมาเข้าฉายในบ้านเรา 8 รอบ

Brief Encounter เป็นเรื่องว่าด้วยชายหญิงคู่หนึ่ง พบเจอรู้จักกันในชั่วระยะเวลาสั้นๆ ไม่กี่สัปดาห์ ทั้งคู่ตกหลุมรักกันและกัน โดยมีอุปสรรคสำคัญคือต่างฝ่ายต่างแต่งงานแล้ว และต้องขับเคี่ยวกับความขัดแย้งในใจ ระหว่างความสุขเมื่อได้พบเจอใช้เวลาอยู่ด้วยกัน และทุกข์ทรมานใจกับความรู้สึกผิด การโกหกหลอกลวงคู่ชีวิตของตนเอง ความพยายามจะหักห้ามใจ ยุติความสัมพันธ์ต้องห้าม ก่อนที่ทุกอย่างจะบานปลายเลยเถิดเกินควบคุม จนกระทั่งท้ายสุดเรื่องก็จบลงแบบร้าวรานรันทด เมื่อตัวละครทั้งสองต้องพรากจากกันตลอดกาล

สิ่งหนึ่งที่หนังเรื่อง Brief Encounter กับนิยายเรื่อง A Single Thread พ้องพานตรงกันคืออุปสรรคและความเป็นเรื่องรักต้องห้าม รวมถึงสังคมรอบข้างที่ไม่ยอมรับต่อพฤติกรรมไม่ถูกทำนองคลองธรรมของตัวละคร

แต่จุดต่างสำคัญคือทัศนะของผู้สร้างงาน ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาที่ห่างไกลกัน Brief Encounter ดัดแปลงจากบทละครของโนเอล คาวเวิร์ด  ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อปี 1936 ขณะที่เทรซี เชวาเลียร์เขียน A Single Thread เรื่องราวแบบเดียวกัน จึงเล่าขับเน้นออกมาแตกต่างตรงกันข้าม

ขณะที่ตัวเอกใน Brief Encounter ยอมรามือจบสิ้นความสัมพันธ์ต้องห้ามตั้งแต่ยังไม่เผชิญกับแรงต่อต้านจากสังคมรอบข้าง (ซึ่งหนังแสดงเป็นนัยๆ ว่า ไม่น่าจะยอมรับพฤติกรรมที่เกิดขึ้น) เกิดความรู้สึกผิดบาปในใจ ตำหนิติเตียนตนเองอยู่ลึกๆ

ไวโอเลตและกิลดาเผชิญหน้ากลับขัดขืนต่อต้าน เผชิญหน้ากับการตั้งแง่รังเกียจ ดิ้นรนทำทุกวิถีทางที่จะมีชีวิตเป็นอิสระ ไม่ใช่เฉพาะเพียงแค่ให้หลุดพ้นจากการเป็น ‘ผู้หญิงส่วนเกิน’ เท่านั้น แต่ยังรวมความไปถึงการเป็นผู้หญิงที่เลือกกำหนดเส้นทางชีวิตได้ตามใจปรารถนา (พูดให้หรูดูดีและประจบประแจงตัวนิยาย พวกเธอสามารถเย็บปักถักร้อยออกแบบลวดลายในชีวิตของตนเองได้)

ผมคิดว่าเป็นที่การต่อต้านขัดขืนและการตัดสินใจของตัวละคร ทำให้นิยายที่มีพล็อตเรียบง่ายอย่าง A Single Thread น่าอ่านชวนติดตามเป็นที่สุด และกลายเป็นเรื่องรักหวานขมอมเศร้าที่จบลงอย่างซาบซึ้ง เจ็บสะเทือน บาดลึก ขณะเดียวกันก็สวยงาม ให้ความรู้สึกอิ่มเอมใจ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save