fbpx
A Short Film About Killing การฆ่าแบบไหนที่ชอบธรรม

A Short Film About Killing การฆ่าแบบไหนที่ชอบธรรม

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

 

30 กว่าปีที่แล้ว ผลงานหนึ่งของ คริสซ์ตอฟ เคียสลอฟสกี (Krzysztof Kieślowski) ผู้กำกับโปแลนด์ได้หยิบยกเรื่อง ‘การฆ่า’ ให้เป็นประเด็นถกเถียงในสังคม โดยเฉพาะในยุโรปตะวันตก เมื่อภาพยนตร์ไปคว้ารางวัล Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์

หากการฆ่านั้นไม่ได้ลงมือโดยรัฐ ความซับซ้อนในประเด็นนี้คงลดน้อยลง

A Short Film About Killing ฉายในปี 1988 ด้วยพล็อตที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมาอย่างไม่น่าเชื่อ โดยพูดถึงเรื่องของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ก่อเหตุฆาตกรรมและถูกลงโทษประหารชีวิต

เริ่มแรกเรื่องนี้เป็นตอนหนึ่งในซีรีส์ที่ฉายทางโทรทัศน์โปแลนด์ ในชื่อ Dekalog ซึ่งเป็นผลงานสร้างชื่อของเคียสลอฟสกี ต่อมาเป็นที่รู้จักกว้างขวางจากภาพยนตร์ไตรภาค Three Colors (Blue, White, Red)

Dekalog ประกอบด้วยภาพยนตร์สั้นสิบตอน ความยาวตอนละหนึ่งชั่วโมง แต่ละตอนนำบัญญัติสิบประการ (Ten Commandments) แต่ละข้อมาตีความและโยนคำถามกลับไปยังสังคม ตัวละครในแต่ละตอนอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์เดียวกัน เผชิญสถานการณ์ที่นำไปสู่ข้อถกเถียงทางศีลธรรม และแวดล้อมด้วยบริบทสังคมโปแลนด์ในช่วงท้ายของระบอบคอมมิวนิสต์

เคียสลอฟสกีทำสัญญากับสถานีโทรทัศน์ไว้ว่าจะนำสองตอนจากซีรีส์มาทำเวอร์ชันภาพยนตร์ที่ยาวขึ้น โดยเขาเลือกตอนที่ 5 (Thou shalt not kill) มาสร้างเป็นภาพยนตร์ A Short Film About Killing และอีกหนึ่งตอนกระทรวงวัฒนธรรมโปแลนด์เป็นผู้เลือกตอนที่ 6 (Thou shalt not commit adultery) จนนำมาสู่ภาพยนตร์ A Short Film About Love

 

A Short Film About Killing

 

A Short Film About Killing เล่าถึงสามชีวิตที่ดำเนินไปคู่ขนานกันในวอร์ซอว์ Jacek เด็กหนุ่มจากบ้านนอกที่เดินเที่ยวเตร่ในเมืองอย่างไร้จุดหมาย Waldemar คนขับแท็กซี่วัยกลางคนที่เพลิดเพลินกับอำนาจในการปฏิเสธผู้โดยสาร และ Piotr ทนายหนุ่มยึดมั่นในอุดมการณ์ที่เพิ่งสอบใบอนุญาตทนายผ่าน

เรื่องดำเนินไปอย่างเงียบเชียบ ผ่านภาพชีวิตของ Jacek ที่เพิ่งเดินทางเข้าเมืองหลวง เขาไม่เป็นมิตร ไม่ยี่หระกับการปฏิบัติตัวแย่กับคนอื่น ยกเว้นแต่เด็กผู้หญิงเล็กๆ ที่เขาดูจะคุ้นเคยและมีรอยยิ้มให้

วันที่ Piotr เพิ่งสอบผ่านใบอนุญาตทนาย เขาเล่าข่าวดีให้ภรรยาฟังในคาเฟ่ที่มี Jacek นั่งอยู่ด้วย ขณะที่เด็กหนุ่มนั่งม้วนเชือกในกระเป๋าพร้อมแผนในใจ เขาออกไปเรียกแท็กซี่มุ่งออกนอกเมือง และ Waldemar คือคนขับแท็กซี่คันนั้น เมื่อถึงที่ลับตาคน Jacek ก็ใช้เชือกรัดคอคนขับแท็กซี่อย่างทุลักทุเล เหยื่อไม่ตายในทันที แต่ดิ้นรนต่อสู้ยื้อชีวิตอย่างไม่มีโอกาสชนะ เด็กหนุ่มใช้ท่อนเหล็กฟาดจนเลือดท่วม ใช้ผ้าปิดตาแล้วลาก Waldemar ลงไปริมบึง ก่อนปลิดชีวิตด้วยก้อนหินใหญ่ที่ทุบเข้าไปที่หัว โดยไม่สนใจคำร้องขอสุดท้ายของเหยื่อที่ต้องการให้เอาเงินที่ซ่อนไว้ไปให้ภรรยา

Jacek กำจัดศพและขับแท็กซี่คันนั้นไปรับหญิงสาวที่เขารู้จักเพื่อไปเที่ยว และบังเอิญว่าหญิงสาวคนนั้นรู้จักกับ Waldemar และจำรถของเขาได้ในทันที

เด็กหนุ่มถูกจับและมี Piotr ว่าความให้ในฐานะลูกความคนแรกกับคดีที่ไม่มีโอกาสชนะเลย เขาถูกตัดสินประหารชีวิต ก่อนเดินเข้าสู่แดนประหาร เด็กหนุ่มเล่าให้ทนายฟังว่าเขามีน้องสาวที่ถูกรถแทรกเตอร์ทับเสียชีวิต และคนขับรถที่เมาจนก่อเหตุนั้นคือเพื่อนที่มาดื่มกับเขาเอง Jacek ไม่เคยก้าวออกจากความรู้สึกผิดนั้น และปล่อยให้มันผลักชีวิตเขาไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีจุดหมาย สิ่งมีค่าสิ่งเดียวที่เขาพกติดตัวคือรูปน้องสาวตัวน้อย

เด็กหนุ่มถูกนำตัวสู่แดนประหาร เจ้าหน้าที่ลงทัณฑ์ค่อยๆ ตรวจสอบความเรียบร้อยของอุปกรณ์ เจ้าหน้าที่นับสิบช่วยกันปิดตาแล้วปลุกปล้ำลาก Jacek ขึ้นแขวนคอ เขาดูปวกเปียก อ่อนแอ ไร้กระทั่งเรี่ยวแรงจะยืน เจ้าหน้าที่ขันเชือกอย่างขันแข็ง ทุกอย่างดำเนินอย่างเป็นระบบ ขึงขัง ไร้อารมณ์ จนเลือดหยดลงที่ถาดรองเบื้องล่างและตรวจสอบจนแน่ใจว่าตายแล้วอย่างแน่นอน ทุกอย่างจึงสิ้นสุด

 

A Short Film About Killing

 

ภาพยนตร์ไม่ได้ให้รายละเอียดเรื่องราวระหว่างทางมากนัก กระทั่งขั้นตอนการต่อสู้คดีก็ไม่มีปรากฏ สิ่งที่ถูกเน้นย้ำคือฉาก ‘การฆ่า’ สองครั้งที่เกิดขึ้นในเรื่อง

หนึ่ง คือ คนขับแท็กซี่ที่ถูกรัดคอและทุบด้วยหินอย่างเหี้ยมโหด

อีกหนึ่ง คือ เด็กหนุ่มที่ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์จับแขวนคอจนแน่นิ่ง

ฉากการฆ่าทั้งสองครั้งกินเวลาเนิ่นนานในสัดส่วนพอๆ กัน ค่อยๆ ขยายภาพให้เห็นวิธีการฆ่า ความทรมาน เลือดเนื้อ การอ้อนวอนของผู้ตาย

เด็กหนุ่มใช้เชือกมัดคอคนขับแท็กซี่จนตาย และถูกเชือกที่ผูกบ่วงฆ่าเขาเช่นกัน

แล้วการตายครั้งไหนที่เรียกได้ว่าเป็นสิ่งถูกต้องชอบธรรม?

A Short Film About Killing สร้างขึ้นเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว และฉายในปีเดียวกับที่มีการประหารชีวิตในโปแลนด์ครั้งสุดท้าย ซึ่งเป็นนักโทษคดีฆ่าข่มขืน หลังจากนั้นศาลยังคงมีการตัดสินให้ประหารชีวิตนักโทษอีกจำนวนหนึ่ง แต่ไม่มีการประหารชีวิตจริงจนถึงปี 1997 ที่โปแลนด์ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิต

หลังภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย เคียสลอฟสกีไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ชมโปแลนด์นัก โดยเฉพาะการหยิบเหตุฆาตกรรมมาเปรียบเทียบกับการฆ่าโดยโทษประหาร แต่นักวิจารณ์ภาพยนตร์ในต่างประเทศกลับยกย่องภาพยนตร์เรื่องนี้ นำไปสู่ข้อถกเถียงถึงการใช้โทษประหารชีวิต

A Short Film About Killing ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่เป็นมิตรนัก ทั้งบทพูดไม่มาก จังหวะค่อนข้างนิ่ง และที่หนักหนาที่สุดคือการใช้ฟิลเตอร์แต่งสีภาพอย่างหนักมือ ขมุกขมัวจนรบกวนสายตา เป็นความตั้งใจฉายภาพความอัปลักษณ์ของโลก โดยใช้สีเขียวที่ให้ความรู้สึกแปลกประหลาดในชีวิตประจำวันของตัวละครที่ดำเนินไปอย่างธรรมดา ในโลกอันสกปรกและสิ้นหวัง

 

A Short Film About Killing

 

ข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งกับผู้ที่ออกมาตั้งคำถามถึงโทษประหารในสังคมไทยคือ การกล่าวหาว่าเข้าข้างฆาตกร ภาพยนตร์เรื่องนี้ของเคียสลอฟสกีไม่ได้ชักจูงให้เห็นดีเห็นงามกับฆาตกรรมที่ก่อโดยเด็กหนุ่ม ภาพความโหดเหี้ยมของฉากฆาตกรรมคนขับแท็กซี่ที่ริมบึงสร้างความรู้สึกหวาดกลัวและไม่อาจชักจูงใครสักคนเดียวให้เห็นด้วยกับการทำเช่นนี้ได้ แต่ในทางกลับกันภาพยนตร์ก็ไม่ได้โน้มน้าวให้การฆ่าที่เกิดขึ้นโดยรัฐนั้นดูเป็นสิ่งอื่นที่ไม่ใช่การ ‘ฆาตกรรม’

แล้วเหตุใดเราจึงเลือกให้การฆ่าบางประเภทเป็นสิ่งถูกต้องชอบธรรมและยอมรับได้

หากกระบวนการยุติธรรมเป็นศัตรูกับอาชญากรรม เป็นศัตรูกับการฆาตกรรมแล้ว เหตุใดกระบวนการยุติธรรมจึงนำไปสู่การฆ่าครั้งที่สอง

เมื่อเป้าหมายของการป้องกันอาชญากรรมควรมุ่งไปยังอาชญากรรม ไม่ใช่อาชญากร

แน่นอนว่าผู้กระทำผิดมีหลายประเภท แต่ Jacek ที่ปรากฏในเรื่องเป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงได้ เขาทำผิดด้วยความอ่อนต่อโลก ขาดความยับยั้งชั่งใจ และการใช้เหตุผลที่หนักแน่น ซึ่งมีส่วนมาจากการเติบโตมาอย่างผิดทิศทาง จากปมในใจเรื่องครอบครัวที่ทำให้เขาลดทอนคุณค่าของตัวเองและคุณค่าในชีวิตอื่น

วันที่ Jacek ถูกนำตัวจากศาลขึ้นรถไปเรือนจำ ทนายตะโกนเรียกชื่อเขา ชายหนุ่มอายุ 20 ปีมองหาเสียงเรียกนั้นด้วยแววตาเป็นประกาย คล้ายเด็กเล็กหลงทางที่ได้ยินเสียงแม่เรียก

“ในศาลวันนั้นผมไม่ได้ฟังใครเลย จนกระทั่งคุณเรียกชื่อผมขึ้นมา ทุกคนในห้องนั้นอยู่ฝั่งตรงข้ามกับผมทั้งหมด เหมือนทุกคนที่เรือนจำนี้”

“พวกเขาอยู่ฝั่งตรงข้ามกับสิ่งที่นายทำต่างหาก” Piotr ตอบ

ก่อนถูกประหาร ชายหนุ่มเล่าให้ทนายของเขาฟังว่า “ตอนถูกขังผมคิดขึ้นมาได้ว่า ถ้าน้องสาวยังมีชีวิตอยู่ บางทีผมอาจจะไม่ออกมาจากบ้าน ผมน่าจะยังอยู่ที่บ้านกับน้องสาว ผมเป็นพี่คนโปรดของเธอ บางทีเรื่องทั้งหมดอาจไม่จบลงแบบนี้ ผมจะได้ไม่ต้องมาอยู่ที่นี่”

ปมในใจที่น่าสงสารของ Jacek ทำให้การฆ่าคนขับแท็กซี่ของเขาดูมีความชอบธรรมขึ้นหรือเปล่า ก็เปล่าเลย ไม่มีเหตุผลอะไรควรถูกใช้อ้างเพื่อทำลายชีวิตคนอื่น เพียงแต่เรื่องเล่านี้ทำให้เราเห็นชีวิตของเขาอย่างรอบด้านขึ้น เข้าใจที่มาที่ไปที่ทำให้คนคนหนึ่งออกจากบ้าน ใช้ชีวิตอย่างไม่มีความหมาย ไม่เห็นคุณค่าของชีวิต และเข้าใจว่า อย่างน้อยเขาก็เคยรู้จัก ‘รัก’ ไม่ได้เกิดมาไร้หัวจิตหัวใจโดยสันดาน

 

A Short Film About Killing

 

เคียสลอฟสกี เคยเขียนถึง A Short Film About Killing ในอัตชีวประวัติของเขาว่า “ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับโทษประหาร แต่มันพูดถึงการฆ่าทั่วไป ‘การฆ่า’ ที่เป็นความชั่วร้าย โดยไม่ได้คำนึงว่าทำไมจึงฆ่า ใครถูกฆ่า และใครเป็นคนฆ่า”

ย้อนกลับไปฉากแรกที่เคียสลอฟสกีเลือกใช้เปิดเรื่อง กล้องค่อยๆ เคลื่อนไปยังซากหนูตายในน้ำครำสกปรกน่าสะอิดสะเอียน ใกล้ๆ กันนั้นมีศพแมวถูกแขวนคอด้วยฝีมือของเด็กกลุ่มหนึ่ง

หากหนูตัวนั้นถูกแมวฆ่า แล้วแมวถูกแขวนคอ ความตายของหนูหรือแมวกันแน่ที่ถูกต้องชอบธรรม สังคมอาจมอง Jacek เป็นหนูที่สร้างความเดือดร้อนและควรถูกกำจัด แต่ใครกันเป็นผู้ตัดสินว่าใครคือหนูหรือแมว แล้วหากคนขับแท็กซี่ที่ถูกฆ่าเป็นคนเลว การฆาตกรรมของ Jacek จะดูชอบธรรมขึ้นและทำให้เขาไม่สมควรถูกแขวนคอหรือเปล่า

หรือแท้จริงแล้วไม่มีใครสมควรถูกผู้อื่น ‘ตัดสิน’ ให้ตาย

 

A Short Film About Killing

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save