fbpx
A Scandinavian’s Guide to Fight Corruption

A Scandinavian’s Guide to Fight Corruption

ถ้าเป็นสมัยก่อน บอกไปใครจะเชื่อว่าไอเดียและเทรนด์หลายอย่างที่คนทั่วโลกอินๆ กันอยู่จะถูกนำเข้ามาจากกลุ่มประเทศในดินแดนตอนเหนือของยุโรปอย่าง ‘สแกนดิเนเวีย’

ไล่ไปตั้งแต่นโยบายการศึกษาที่เด็กๆ หลายประเทศต่างอิจฉา วิธีจัดการกับผู้ทำผิดกฏหมายในเรือนจำที่ประเทศอื่นๆ เห็นเป็นต้องหงายหลัง หรือจะย้ายมาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต ที่ตอนนี้ปรัชญาแบบ Hygge (ฮุกกะ) หรือการใช้ชีวิตอย่างมีสุขจากกการหาความสุขจากสิ่งรอบตัวในปัจจุบันขณะกำลังแผ่ขยายไปในโลกที่ตึงเครียดอยู่แทบทุกวัน

และที่ขาดไม่ได้ คือความ ‘ใสสะอาด’ ของพวกเขากับสังคมที่มีอัตราคอร์รัปชันต่ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

 

ไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไปในการจัดอันดับ Corruption Perceptions Index (CPI) ขององค์กร Transparency International ที่วัดระดับภาพลักษณ์การคอร์รัปชันในแต่ละประเทศ อันดับต้นๆ ของตารางที่หมายความถึงประเทศที่ใสสะอาด อัตราการคอร์รัปชันต่ำ เรามักจะเห็นประเทศในกลุ่มสแกนดิแนเวีย ไม่ว่าจะเป็นเดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์ติดอยู่ในอันดับต้นๆ อยู่เสมอ

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

มีหลายปัจจัยทั้งทางประวัติศาสตร์และระบบทางการเมืองที่ช่วยกันทำให้สังคมสแกนดิเนเวียเป็นเลิศในการลดอัตราคอร์รัปชัน เริ่มต้นด้วยการสร้างกลไกที่เข้มแข็งในการทำงานของภาครัฐให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกจุด อย่างเช่นในสวีเดนที่สร้างกฏเกณฑ์ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ และส่งเสริมเสรีภาพสื่อมาตั้งแต่ปี 1766 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงข้อมูลด้านงบประมาณ พวกเขาก็เปิดให้ทุกฝ่ายตรวจสอบว่ารัฐบาลเอาไปใช้กับเรื่องอะไร เท่าไหร่ หรือที่เดนมาร์ก ก็บังคับให้รัฐมนตรีทุกคนต้องเปิดเผยงบเดินทางและซื้อของชำร่วยให้สาธารณะรับรู้ทุกๆ เดือนว่าใช้กับอะไรไปเท่าไหร่บ้าง

หรือถ้าจะย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ ขนาดและจำนวนประชากรของประเทศสแกนดิเนเวียก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฐานคิดเรื่อง ‘ความไว้ใจ’ ของพวกเขาเป็นอย่างทุกวันนี้ นั่นก็เพราะการมีประชากรที่น้อย ทำให้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูงหรือต่ำในสมัยนั้นต้อง ‘ตกลง’ เรื่องผลประโยชน์กันให้ลงตัวทั้งในกลุ่มและนอกกลุ่ม (เพื่อไม่ให้ตีกันเอง) ทำให้ตั้งแต่ช่วงปี 1840 เป็นต้นมา อำนาจของชนชั้นนำในการเป็นคนกำหนดฝ่ายบริหารประเทศก็ถูกทำลายกลายเป็นของประชาชน

ประวัติศาสตร์การแพร่กระจายศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ในแถบนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญ เพราะนิกายนี้มุ่งลดอำนาจของคริสตศาสนจักรคาธอลิกดั้งเดิม สนับสนุนแนวคิดให้มนุษย์รับผิดชอบชะตาชีวิต เข้าถึงพระเจ้าได้โดยตรง ด้วยการส่งเสริมให้คนชนชั้นล่างอ่านออกเขียนได้เพื่อเข้าถึงพระคัมภีร์

ประวัติศาสตร์ทางสังคมของสแกนดิเนเวียส่งผลให้ธรรมชาติของผู้คนที่นี่เป็นคนที่เชื่อในสิทธิของปัจเจก มีความเชื่อใจต่อกันในสังคมแม้จะไม่เคยรู้จัก ความเชื่อใจที่ว่าส่งผลให้พวกเขาวางใจกันและกันในการทำงาน จนไม่ต้องวิ่งหาสินน้ำใจ (ที่เป็นต้นเหตุหนึ่งของการคอร์รัปชัน) เพื่อการันตีให้อีกฝ่ายเร่งทำงานให้ แถมในภาพใหญ่ มันยังทำให้ทุกคนเล่นตามกติกา ประชาชนไว้ใจให้คนเก่งๆ เข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศ ในขณะที่ตัวเองก็จ่ายภาษีตามหน้าที่ที่ต้องทำไปด้วย

 

และอีกด้านหนึ่งที่มีบทบาทไม่แพ้กัน คือการส่งเสริมความโปร่งใสในธุรกิจภาคเอกชน ที่บรรจุเอาไว้เป็นหลักจริยธรรมในการดำเนินงาน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดอัตราคอร์รัปชันให้กับประเทศ (จากความโปร่งใสและหลักการทำงานที่ไม่ส่งเสริมการทำผิดในกรณีร่วมงานกับรัฐ) แล้ว ก็ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและประชาชนไปในเวลาเดียวกัน

สวีเดนเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียที่ส่งเสริมแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจหรือที่เราคุ้นกันในชื่อ CSR อย่างจริงจัง ถึงกับออกมาเป็นนโยบายจาก Ministry of Enterprise and Innovation ที่บอกเอาไว้ว่าเป้าหมายของการส่งเสริม CSR ในภาคธุรกิจ (ที่ไม่ใช่ออกไปปลูกป่าแจกผ้าห่มเหมือนแคมเปญแบบไทยๆ) คือการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันในตลาด ทำให้ธุรกิจเติบโต นำมาสู่การสร้างอาชีพให้ประชาชนเป็นวงจรต่อกันไป

นโยบายที่ว่าได้กำหนดให้แต่ละบริษัท ‘ควร’ จะเขียนหลักจริยธรรมอย่างจริงจัง นำไปปฏิบัติจริง และเปิดเผยข้อมูลรายงานผลการปฏิบัติสู่สาธารณะ ซึ่งหลักการที่ว่าก็ไล่ไปตั้งแต่ด้านความเท่าเทียม สิทธิมนุษยชนและแรงงาน ส่งเสริมความหลากหลายในองค์กร รวมไปถึงเรื่องสำคัญอย่างการต่อต้านคอร์รัปชันและนโยบายปกป้อง Whistleblower หรือผู้เปิดเผยข้อมูลการผิดจริยธรรมในองค์กรด้วย

จริงจังกันขนาดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจถ้าบริษัทเมดอินสแกนดิเนเวียหลายเจ้าจะนำเอาหลักการความโปร่งใสและต่อต้านคอร์รัปชันไปใช้ในองค์กรกันอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ยักษ์ใหญ่ด้าน Fast Fashion อย่าง H&M ที่ก่อตั้งในสวีเดนเปิดเผยข้อมูลซัพพลายเออร์ที่ใช้บริการลงในแผนที่ให้สาธารณะตรวจสอบ และตัดเกรดแต่ละเจ้าตามการบริหารงานที่ต้องเป็นไปตามหลักการความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เจ้าไหนทำดีก็จะได้โควตาผลิตมากขึ้น ในส่วนของนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันก็ไม่ได้ปฏิบัติแค่ในสำนักงานใหญ่ แต่ยังจริงจังกับการเฝ้าจับตาสาขาและซัพพลายเออร์ในประเทศกลุ่มเสี่ยงเช่นกัมพูชา บังคลาเทศ หรืออินเดีย ถ้าเจ้าไหนโดนจับได้ก็จะถูกตัดสัญญาการผลิตทันที

IKEA เจ้าแห่งเฟอร์นิเจอร์จากชาติเดียวกันก็มีหลักการทำงานที่เรียกว่า IWAY ซึ่งนอกจากจะพูดถึงสิทธิแรงงานและการรักษาสิ่งแวดล้อม หลักจริยธรรมที่ใช้ในการทำธุรกิจก็สำคัญพอๆ กัน โดยมีนโยบายว่าไม่ว่าจะเป็นพนักงานหรือคู่ค้ากับอิเกีย ก็ต้องยึดหลักต่อต้านคอร์รัปชัน ไม่จ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อผลประโยชน์ในการทำงาน รวมไปถึงไม่ให้หรือรับของขวัญหรือเงินสินน้ำใจใดๆ เป็นการส่วนตัว ที่อาจทำให้เกิดผลประโยชน์ในอนาคต

 

ในประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย เมื่อรัฐและเอกชนทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่และถูกต้อง สนามแข่งขันก็จะแฟร์กับทุกๆ ฝ่าย ธุรกิจจะแข่งขันกันที่การลงเม็ดเงินกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้น มากกว่าจะนำเงินไปใช้เพื่อการทำลับๆ ล่อๆ ให้ตัวเองเป็นฝ่ายได้เปรียบ หากเอาแนวคิดนี้มาใช้กับประเทศไทย เราสามารถขยับตัวเลขเม็ดเงินการวิจัยและพัฒนาของประเทศ จากปัจจุบันที่มีอยู่แค่เพียง 0.5% ของจีดีพี ให้สูงขึ้นเป็น 1.5% เหมือนกับประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางได้ มากกว่าจะแข่งกันที่ว่า ‘ใครทุ่มเงินไว้โกงเพื่อผลประโยชน์ได้มากกว่ากัน’

แต่ถึงแม้เราจะเห็นตัวอย่างขององค์กรของชาวสแกนดิเนเวียนที่เอาจริงกับการทำงานอย่างมีจริยธรรม ต่อต้านคอร์รัปชัน ก็ใช่ว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังมีข่าวทุจริตของบริษัทเอกชนออกมาเรื่อยๆ เช่นในปี 2004 Statoil บริษัทน้ำมันสัญชาตินอร์เวย์ถูกจับได้ว่าจ่ายเงินใต้โต๊ะว่า 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อทำสัญญาธุรกิจในอิหร่าน

จนบางคนก็บอกว่าพวกเขาออกจะ ‘ไร้เดียงสา’ อยู่บ้างกับเรื่องนี้ (เพราะไม่ค่อยมีเคสคอร์รัปชั่นมาให้รับมือเท่าไหร่)

สิ่งที่ชาวสแกนฯ ทำเมื่อเจอกับการคอร์รัปชันขึ้นมาจริงๆ คือการที่ภาคประชาชนและธุรกิจเตรียมพร้อมรับมือ เพิ่มความรู้ให้กับตัวเองว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก มากกว่าจะปล่อยไว้เฉยๆ เพราะคิดว่าตัวเองอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศไร้คอร์รัปชันอยู่แล้ว

ในสวีเดน ด้วยความคิดที่เชื่อว่าความพยายามที่จะหยุดยั้งการคอร์รัปชัน คือสิ่งที่ ‘เป็นไปได้’ เวิร์กช็อปเกี่ยวกับการป้องกันการโกงจึงเกิดขึ้นเรื่อยๆ เช่นในกลางเขตธุรกิจของกรุงสตอล์กโฮล์ม มีเสวนาเกี่ยวกับการป้องกันการติดสินบนในการทำธุรกิจที่มีผู้คนจากหลายบริษัทเข้าร่วมฟัง – สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การ ‘รักษา’ อาการคอร์รัปชันในสังคมสวีเดน (เพราะเอาเข้าจริงก็ไม่ได้มากมายเท่าเรา) แต่เป็นการ ‘ป้องกัน’ เพื่อให้วงการธุรกิจในสวีเดนใสสะอาด

เพราะพวกเขาเชื่อว่าวันหนึ่ง สวีเดนจะไปถึงจุดที่พูดได้อย่างเต็มปากว่าเป็นประเทศที่ทำธุรกิจอย่าง ‘โปร่งใส’ และ ‘ดีที่สุด’ ที่หนึ่งของโลก

 

หันกลับมามองประเทศไทยที่รู้กันว่าเต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน เมื่อคาดหวังให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนตัวเองได้ยากเหลือเกิน แล้วพวกเราทำอะไรได้บ้างในฐานะ ‘ผู้บริโภค’

เราอาจจะคิดว่าตัวเองก็เป็นแค่ผู้บริโภคตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ไม่น่าจะมีพลังอะไรที่จะผลักดันให้ภาคธุรกิจที่เราต้องซื้อต้องใช้บริการจากพวกเขาทำธุรกิจที่ดีต่อสังคมได้

แต่เอาเข้าจริง ในฐานะคนหนึ่งที่อาศัยและมีส่วนรับผิดชอบที่จะช่วยกันทำให้สังคมของเราดีขึ้น ถึงการตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้สิ่งที่ ‘ดีกว่า’ อาจจะทำได้ไม่ง่ายนักในโลกของความเป็นจริง เพราะฟังดูเป็นเรื่องที่ต้องอุทิศตัว เสียสละความสะดวกสบายเพื่อส่วนรวม แต่การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายล้วนแล้วแต่มาจากการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนตัวเล็กๆ อย่างเราทั้งนั้น

 

แค่ลองเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ผลักดันให้กลุ่มธุรกิจดำเนินงานอย่างโปร่งใส ไม่คอร์รัปชัน ไม่สนับสนุนบริษัทที่ทำให้สังคมของเราย่ำอยู่กับที่ พลังของผู้บริโภคอย่างเราก็จะเริ่มส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อประเทศไทยที่จะเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

เหมือนกับชาวสแกนดิเนเวียนที่ไม่หยุดนิ่งกับการทำสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อสร้างสังคมปราศจากคอร์รัปชัน แม้หลายคนจะมองว่าเป็นโลกอุดมคติก็ตาม

 

อ่านเพิ่มเติม

ข่าว เรื่อง The secret of their success จาก Economist

บทความ เรื่อง WHAT MAKES NEW ZEALAND, DENMARK, FINLAND, SWEDEN AND OTHERS “CLEANER” THAN MOST COUNTRIES? โดย Marie Chêne จาก Transparency International

รายงาน เรื่อง Private sector integrity จาก oecd

รายงาน เรื่อง The Swedish Government policy for corporate social responsibility จาก Government Offices of Sweden

รายงาน เรื่อง The H&M Group Sustainability Report 2016 จาก H&M

รายงาน เรื่อง IWAY Standard จาก ikea

ข่าว เรื่อง Extreme world: Is Sweden as clean as it seems? โดย Pascale Harter จาก BBC

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save