fbpx
A New Sun Rises Over the Old Land : แสงและเงาจากยุคทองของกัมพูชา

A New Sun Rises Over the Old Land : แสงและเงาจากยุคทองของกัมพูชา

แมท ช่างสุพรรณ เรื่อง

 

เมื่อปี 1961 นักเขียนชาวกัมพูชา สูน โสริน (Suon Sorin) ได้ตีพิมพ์บทประพันธ์ A New Sun Rises Over the Old Land (ตะวันดวงใหม่ปรากฎขึ้นเหนือดินแดนเดิม) ซึ่งเป็นนวนิยายเรื่องแรกและเรื่องเดียวของเขา โสรินเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสมาคมนักประพันธ์เขมร (Association of Khmer Writers) ที่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้านโรดม สีหนุ โดยนวนิยายเล่มนี้ประสบความสำเร็จจากการชนะเลิศรางวัลวรรณกรรมอินทรเทวี (Indradevi Literary Competition) อันเป็นรางวัลที่ก่อตั้งโดยเจ้านโรดม สีหนุเช่นกัน สิบปีแรกในยุคสมัยของพระองค์เป็นยุคทองของศิลปวัฒนธรรม เป็นการเปิดฉากยุคสมัยใหม่ของกัมพูชาหลังได้เอกราชจากฝรั่งเศส ยุคที่เรียกกันว่ายุคสังคมราษฎร์นิยม (Sangkum Reastr Niyum)

นวนิยาย A New Sun Rises Over the Old Land เป็นวรรณกรรมสมัยใหม่ชิ้นสำคัญของยุคดังกล่าวที่แสดงถึงชีวิตของผู้คนกับการสร้างชาติ หลังจากได้รับรางวัล งานเขียนของโสรินชิ้นนี้ก็ได้รับการเผยแพร่จนกลายเป็นต้นแบบของการเขียนวรรณกรรมในยุคนั้น ถึงแม้ว่าข้อมูลการเสียชีวิตของโสรินจะไม่ปรากฏแน่ชัด (ในปัจจุบันสันนิษฐานกันว่าเขาเสียชีวิตในยุคเขมรแดงที่มีการกวาดล้างนักคิด นักเขียน ปัญญาชนและศิลปินจำนวนมาก) แต่ทุกวันนี้นวนิยายของเขาก็ยังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในกัมพูชา ทั้งยังถูกเลือกให้ใช้เป็นแบบเรียนในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา

 

A New Sun Rises Over the Old Land

 

A New Sun Rises Over the Old Land เป็นนวนิยายกัมพูชาก่อนยุคเขมรแดงที่นำเสนอภาพชีวิตของสวน สัม (Suan Som) ชายหนุ่มกำพร้ายากไร้จากพระตะบอง ผู้อพยพเข้ามาหากินในกรุงพนมเปญด้วยการเช่ารถซิโคล่ (Cyclo) แบบจ่ายค่าเช่ารายวันมารับส่งผู้โดยสาร ในฐานะ ‘คนที่ยากจนที่สุดในหมู่คนจน’ (the very poorest of the poor) ชีวิตของสัมดำเนินไปอย่างยากลำบากเพราะรายได้ที่ต้องหาวันต่อวันเมื่อหักค่าเช่ารถแล้วเหลือเพียงเล็กน้อย ประกอบกับต้องจ่ายค่าเช่าที่พักอาศัยด้วย ก็ยิ่งทำให้สภาพชีวิตของสัมอยู่ในภาวะหาเช้ากินค่ำแบบอดมื้อกินมื้อ

สัมอยู่กินอย่างอดอยากกับสอย (Soy) หญิงสาวหน้าตาหมดจดที่มีฐานะยากจนเช่นกัน แม้ว่าทั้งสองจะพยายามต่อสู้กับความยากจนอย่างมานะเพียงใดก็ดูเหมือนว่าโชคชะตาจะไม่เข้าข้าง ความยากจนป้อนครอบครัวของเขาให้กับความโหดร้าย พวกเขาโดนรังแกจากนายทุนจนสัมต้องติดคุกเป็นครั้งแรก เมื่อออกจากคุกมาพบกับความโชคดีบ้างก็ต้องประสบกับอุบัติเหตุและเภทภัยต่างๆ อย่างต่อเนื่องจากผู้คนไร้น้ำใจในสังคม ชีวิตของสัมตกต่ำจนกลายเป็นคนไร้บ้าน ต่อมา ความอดอยากทำให้เขาต้องติดคุกอีกสองครั้ง ก่อนจะพบพานกับแสงสว่างทั้งจากเรื่องส่วนตัว และภาพใหญ่ของสังคมที่มีที่มาจากนโยบายการเปลี่ยนแปลงชาติจากพรรคสังคมราษฎร์นิยมของเจ้านโรดม สีหนุ

หากมองผาดเพียงปราดเดียวไปยังเรื่องราวโดยรวมของ A New Sun Rises Over the Old Land ก็จะเห็นภาพของนวนิยายเพื่อชีวิตที่ใช้ตัวละครแบบต่ำต้อยไร้อำนาจในทุกทาง ผจญภัยไปในความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจซึ่งเกิดจากความแตกต่างระหว่างชนชั้นในสังคมกัมพูชาที่เพิ่งผ่านพ้นการอยู่ใต้อาณานิคมฝรั่งเศส เป็นเรื่องเล่าซ้ำซากสุดเฝือที่มีเหล่านายทุนเป็นผู้ร้ายไม่รู้จบและชนชั้นกรรมาชีพจะเป็นฝ่ายดีที่ถูกรังแกเสมอ

แต่เมื่อมองพิศให้นานขึ้นจะเห็นว่าภายใต้รูปแบบของนวนิยายเพื่อชีวิตจำเจนั้นมีอย่างอื่นแฝงอยู่ ภาพของแต่ละชีวิตที่โลดแล่นอยู่ใน A New Sun Rises Over the Old Land สะท้อนให้เห็นความซับซ้อนของโครงสร้างทางสังคมโดยรวมที่เกิดขึ้นจากคนทุกชนชั้น ตัวละครเอกอย่างสัมแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกนึกคิดของคนจนที่ถูกปลูกฝังโดยความเชื่อทางศาสนาพุทธ ซึ่งแสดงออกมาผ่านคำพูดเมื่อครายามอับจนของตนด้วยประโยค “มันเป็นเวรเป็นกรรมของเรา” (This is our fate.) ความเชื่อในเรื่องของกรรมนี้เองที่คอยเตือนสติตัวเอกของเรื่องให้อดทนและหลีกเลี่ยงการประพฤติในสิ่งที่ขัดกับศีลธรรมอย่างถึงที่สุด

สภาพแวดล้อมและเหตุการณ์ขึ้นที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับสัมก็ให้ภาพความบกพร่องในคตินิยมของชนชั้นนายทุนในยุคนั้น ความทุกข์ยากและอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในเรื่องทำให้คนยากคนจนต้องการหาทางออกจากสิ่งที่ตัวเองแก้ไขไม่ได้ โลกที่ดีกว่าเป็นสิ่งน่าปรารถนา สิ่งใดที่หยิบยื่นโอกาสที่ดีกว่าจึงเป็นความหวังใหม่ของผู้คนในสังคม และสิ่งที่เป็นความหวังใหม่ในตอนนั้น คือระบอบการปกครองใหม่ที่เข้ามาลดความเหลื่อมล้ำในสังคม นั่นหมายความว่าสิ่งที่แนบสนิทอยู่ในเรื่องราวคืออุดมการณ์ทางการเมือง

และเมื่อพินิจให้ลึกซึ้งลงไปในการบอกเล่าจะเห็นว่า A New Sun Rises Over the Old Land คือการใช้ประสบการณ์ความผิดหวังในโลกแห่งความจริง และความเพียบพร้อมดีงามในโลกแห่งอุดมคติเป็นตัวกำหนดจุดหมายปลายทางของเรื่อง การที่ตัวละครต้องประสบเคราะห์กรรมซ้ำแล้วซ้ำอีก คือการทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกร่วมและเอาใจช่วยมากขึ้น ยิ่งเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจมากเท่าใด ผู้อ่านจะยิ่งมีความอ่อนไหวมากเท่านั้น เมื่อผู้อ่านอยู่ในห้วงของการรอคอยเหมือนตัวละคร ความระแวดระวังต่อสิ่งที่ความหวังเคลือบไว้ก็จะลดน้อยลงและคล้อยตามโดยง่าย ผู้อ่านจะติดอยู่กับภาพของการพรรณนาวิจารณ์สังคมโดยละเลยผลลัพธ์ที่แท้จริงของเรื่อง นั่นคือการใช้ความไม่สมบูรณ์สร้างความสมบูรณ์ในการปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ผ่านความคิดเชิงสังคมนิยมแบบพุทธ ภาพของสัมซึ่งถูกวาดขึ้นมาให้เป็นตัวเอกที่ผู้คนคล้อยตามเอาใจช่วยนี้ ท้ายที่สุดแล้วเป็นเพียงตัวรองที่ทำหน้าที่ไม่ให้ผู้คนตั้งคำถามต่อตัวเอกที่แท้จริงอย่างเจ้านโรดม สีหนุ ผู้ถูกปลูกฝังเข้าไปให้กลายเป็นสามัญสำนึก

จากประเด็นเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองเทียบกับบริบททางประวัติศาสตร์ในตัวนวนิยายจะเห็นได้ว่า จุดมุ่งหมายสำคัญของเรื่องคือการโน้มน้าวใจคนในชาติให้ร่วมกันสร้างชาติขึ้นมาใหม่จากเถ้าถ่านของเปลวไฟการตกอยู่ใต้อาณานิคม การปลูกฝังความคิดโดยใช้การเล่าเรื่องเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาได้ทำให้ผู้คนมีความเชื่อ เห็นค่าของการร่วมมือและคล้อยตามเพื่อชีวิตที่ดีกว่า โดยนัยนี้ นวนิยายได้ตั้งคำถามกับความเป็นยุคทองของยุคสังคมราษฎร์นิยมของเจ้านโรดม สีหนุไปในตัว

เพราะหากว่ากัมพูชาสมัยใหม่คือความรุ่งเรืองแล้ว เหตุใดกันความทุกข์ยาก ข้นแค้น และความไม่เท่าเทียมในสังคมยังดำรงอยู่เช่นเดียวกับยุคใต้อาณานิคมฝรั่งเศส? โรเจอร์ เนลสัน (Roger Nelson) ผู้แปลนวนิยายเรื่องนี้ได้เสนอไว้ในบทนำว่า คุณค่าของ A New Sun Rises Over the Old Land นั้นอยู่ที่การเป็นทั้งวาระเฉลิมฉลองยุคสังคมราษฎร์นิยมของเจ้านโรดม สีหนุและการวิพากษ์ยุคสมัยดังกล่าวไปพร้อมกัน

เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว ดินแดนเดิมจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่กัมพูชา หากเป็นชีวิตของคนทุกผู้ ตะวันดวงใหม่ไม่ได้เป็นแค่สังคมราษฎร์นิยมหรือเจ้านโรดม สีหนุ หากคือความเป็นอยู่และรูปแบบของสังคมที่พัฒนาขึ้นจากการแก้ปัญหาด้วยความรักใคร่ร่วมมือกันอย่างกลมเกลียวของคนในสังคม

แม้ว่าไทยและกัมพูชาจะเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ไม่บ่อยนักที่เราจะมีโอกาสได้อ่านวรรณกรรมสมัยใหม่ของกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวรรณกรรมที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นในยุคสร้างชาติซึ่งผ่านพ้นการลบล้างทางศิลปวัฒนธรรมของเขมรแดงมาได้ นี่จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เห็นความรู้สึกนึกคิดและสภาพบ้านเมืองของประเทศเพื่อนบ้านผ่านการบรรยายด้วยสายตาของคนในชาติเอง

แม้สิ่งต่างๆ ในหนังสือสำคัญเล่มนี้จะเกิดขึ้นในอดีตและดูเหมือนไกลตัว แต่ถ้ามองไปยังปัญหาความขัดแย้งในชาติ ความทุกข์ยากของผู้คนที่เกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง และค่านิยมที่มีร่วมกันของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว เรื่องราวกลับดูเหมือนจะใกล้กว่าที่คิด ซึ่งชวนให้จินตนาการต่อไปว่าแท้จริงแล้วดินแดนเดิมของเราก็ยังคงรอคอยตะวันดวงใหม่มาโดยตลอด

“Let us beware of common folk, of common sense, of sentiment, of inspiration, and of the obvious.”  – Charles Baudelaire

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save