1 เดือนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม ฉากและชีวิตของ(คณะ)ราษฎรผ่านหนังสือพิมพ์ศรีกรุง

ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของคณะราษฎรในทศวรรษ 2500-2530 และสารคดีการเมืองช่วงทศวรรษ 2490-2520 จากฝ่ายอนุรักษนิยม พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รวมถึงการเสนอข่าวจากหนังสือพิมพ์ฝ่ายตรงข้าม ได้เล่าประวัติศาสตร์คณะราษฎรและวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ไว้ในแง่ลบเป็นหลัก จนมาถึงปลายทศวรรษ 2540 จึงมีนักประวัติศาสตร์เสนอการตีความเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 อย่างครอบคลุมและเปิดมุมมองใหม่ถึง 4 แบบ [1]

อย่างไรก็ตาม จนถึงในปัจจุบันยังมีวาทกรรมหลักอย่างน้อย 4 ประการ ซึ่งมาจากงานศึกษาและเผยแพร่ข้างต้นที่ส่งผลให้คนจดจำภาพคณะราษฎรในทางลบ ได้แก่ การชิงสุกก่อนห่าม การเร่งรีบร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 27 มิถุนายน 2475 รัฐธรรมนูญเป็นลูกพระยาพหลฯ และราษฎรไม่ได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในข้อหลังนี้เองที่ผู้เขียนได้พบข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ว่าในช่วงหนึ่งเดือนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ราษฎรหลายกลุ่มได้สนับสนุนคณะราษฎรหลายรูปแบบ และยังค้นพบวิธีจัดรูปแบบการปกครองและควบคุมรัฐโดยคณะราษฎรอย่างเป็นระบบซึ่งจะนำเสนอไว้ในบทความชิ้นนี้

มานิตและเภา วสุวัต ถ่ายรูปร่วมกับคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่บ้านศรีกรุง บางกะปิ [2] แถวหน้า (จากซ้าย) – พันเอก ทวน วิชัยขัทคะ, มานิต วสุวัต, เภา วสุวัต (หลวงกลการเจนจิต) แถวกลาง – พลเรือตรี สงวน รุจิราภา, นาวาตรี หลวงนิเทศกลกิจ, ควง อภัยวงศ์ แถวหลัง – หลวงนฤเบศร์มานิต, จอมพล ป. พิบูลสงคราม, พลโท ประยูร ภมรมนตรี, พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย

งานศึกษาคณะราษฎรแง่มุมใหม่และราษฎรในการปฏิวัติ 2475

การศึกษาเรื่องคณะราษฎรที่แตกต่างออกไปจากเดิมคือวิพากษ์สถาบันการเมืองของชนชั้นนำหรือมองคณะราษฎรในเชิงบวก เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นของทศวรรษ 2520 จากงานเชิงประวัติศาสตร์ เช่นงานศึกษาของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่ชี้ให้เห็นว่างานศึกษาก่อนหน้านี้ที่เสนอว่ามีการร่างรัฐธรรมนูญในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเป็นธรรมนูญการปกครองที่ไม่ได้มีลักษณะประชาธิปไตยคือ เค้าโครงรัฐธรรมนูญที่รัชกาลที่ 7 ทรงโปรดให้ร่างขึ้น หรือ An Outline of Changes in the Form of the Government ฉบับของนายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) มีเนื้อหาที่จะทรงรักษาฐานะนำของกษัตริย์ในรูปแบบใหม่ หากชนชั้นนำที่เป็นที่ปรึกษาและข้าราชการตำแหน่งสูงก็ยังมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่จำกัดอำนาจของกษัตริย์มากเกินไป [3]

และงานศึกษาคณะราษฎรของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่เสนอว่ามี 4 กระบวนทัศน์ในการตีความ 24 มิถุนายน 2475 ได้แก่ “แบบที่หนึ่ง เชียร์คณะราษฎร โจมตีเจ้า แบบที่สอง เชียร์เจ้า โจมตีคณะราษฎร แบบที่สาม โจมตีทั้งเจ้า ทั้งคณะราษฎร แบบที่สี่ เชียร์ทั้งเจ้า ทั้งปรีดี (คณะราษฎร) ในปัจจุบัน” ซึ่งทั้ง 4 รูปแบบนี้ได้ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ศรีกรุงด้วย

ส่วนการเสนอว่ามีราษฎรสามัญในช่วงเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ปรากฏครั้งแรกในงานศึกษาของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ที่ศึกษาตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา โดยค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเภทฎีกาของชาวนา ใบร้องทุกข์ และข้อเสนอของชนชั้นกลางสยามที่เขียนจดหมายเล่าถึงความทุกข์ยากตามหน้าหนังสือพิมพ์ และเอก วีสกุล พ่อค้าในสมัยนั้นยังบันทึกไว้ว่าสโมสรสามัคคีจีนสยาม [4] ให้ความสนับสนุนคณะราษฎรตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 อาทิ “…พ.ศ.  2475 นายเต็ก โกเมศ เป็นนายก หลวงบำบัดคดี เป็นเลขานุการ และนายง่วนจั่ว ลิมทองขาว เป็นเหรัญญิก ปีนี้ได้มีการปฏิวัติและเป็นปีสำคัญในประวัติการของประเทศสยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ขณะที่คณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะสโมสรนี้ พร้อมใจกันเรี่ยไรเงินได้หลายร้อยบาท ซื้อขนมปังและผลไม้ไปแจกบรรดาทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ที่กระทำหน้าที่อยู่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม..” [5]

งานศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับราษฎรสามัญในการปฏิวัติ 2475 คืองานของศราวุฒิ วิสาพรหม ที่ชี้ให้เห็นภาพของ 2 กลุ่มที่สนับสนุนคณะราษฎร คือ ข้าราชการ เช่น ข้าราชการจากมณฑลราชบุรีและจากอยุธยา ขุนศิธรภูมาธิการ นายอำเภอท่าเรือ ที่ได้รับเงินเดือนเดือนละ 150 บาท มีความประสงค์ที่จะมอบเงินให้แก่คณะราษฎรทุกเดือนเดือนละ 20 บาท และพ่อค้าทั้งชาวจีน ชาวตะวันตก และชาวไทย รวมทั้งสื่อวิทยุ [6] และหนังสือพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  ที่นำ ‘ประกาศของคณะราษฎร’ มาตีพิมพ์ในหน้าแรกอย่างทันควัน นอกจากนี้ยังมีชาวจีนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองก้าวหน้า เช่น นายเซียวฮุดเสง ก็ส่งสารมาแสดงความยินดีในการปฏิวัติครั้งนี้ต่อรัชกาลที่ 7 อีกด้วย

หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
นายทหารเรืออ่านประกาศคณะราษฎรให้พระภิกษุสามเณรฟัง ภาพจากหนังสือพิมพ์ศรีกรุง วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475

และในงานวิชาการชิ้นล่าสุดที่ศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 คืองานของ Arjun Subrahmanyan ซึ่งเน้นศึกษาเรื่องอุดมคติประชาธิปไตยในทศวรรษ 2470 จากราษฎรกลุ่มต่างๆ ที่สนับสนุนคณะราษฎรทั้งได้รับผลดีหรือไม่ได้รับผลประโยชน์เท่าที่ควรจากการก่อการครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการระดับล่าง พระภิกษุ ชนชั้นนายทุนในชนบท ทนายความ ครู ที่เดิมไม่อาจมีบทบาททางสังคมการเมืองได้มากนักเนื่องจากระบอบเดิมปกครองโดยรวมศูนย์อำนาจ แต่ระบอบใหม่ของคณะราษฎรมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและราษฎรสามัญที่ไม่ใช่แค่ชนชั้นนำหรือข้าราชการระดับบนเท่านั้น

ข้อเสนอของ Subrahmanyan ที่แตกต่างจากงานของนครินทร์และศราวุฒิ คือชี้ว่าแนวความคิดเกี่ยวกับปัจเจกบุคคลสมัยใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมักผูกติดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และผู้ชายไทยมากกว่าผู้ชายเชื้อชาติจีน ดังนั้นผู้หญิงและผู้ชายเชื้อจีนในทัศนะของเขานั้นยังไม่ได้ยอมรับในสมัยนี้ [7] และยังเน้นศึกษาเรื่องประชาธิปไตยแบบพุทธในการปฏิวัติ 2475 กับบทบาทของพระสงฆ์ไว้อีกด้วย [8]

‘ศรีกรุง’ ฉากและชีวิตของหนังสือพิมพ์จากระบอบเก่าสู่ระบอบใหม่

ศรีกรุง ตีพิมพ์ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อ พ.ศ. 2469 ในช่วงแรกมีผู้ดำเนินงานส่วนใหญ่เป็นสมาชิกคณะ ร.ศ. 130 เช่น ร้อยตรีเนตร พูนวิวัฒน์ ร้อยตรีบ๋วย บุณยรัตพันธุ์ และร้อยตรีโกย วรรณกุล เป็นต้น ศรีกรุงค่อนข้างได้รับความนิยมจากผู้อ่านเนื่องจากมีทั้งบทความวิพากษ์การปกครองบ้านเมือง รายงานข่าวทั่วไป นิยายรัก และนิยายสะท้อนสังคม ปกติมียอดตีพิมพ์ประมาณ 3,000 ฉบับ แม้จะตีพิมพ์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่ภาพรวมของเนื้อหามีลักษณะเสรีนิยมจึงส่งผลให้ศรีกรุงเป็นหนังสือพิมพ์เพียงฉบับเดียวที่ถูกปิดในสมัยรัชกาลที่ 7 ส่งผลให้มานิต วสุวัต เจ้าของหนังสือพิมพ์ขณะนั้นต้องเข้าพบเจ้าหน้าที่ในกระทรวงมหาดไทยเพื่อทำความเข้าใจและเปิดทำการหนังสือพิมพ์ได้อีกครั้ง [9]

1 ปีก่อนการปฏิวัติ 2475 ร้อยตรีเนตร พูนวิวัฒน์ ได้กล่าวถึงบทบาทของศรีกรุงในการสนับสนุนคณะราษฎรไว้ว่า

“…ปลาย พ.ศ. 2474 ใกล้จะเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยท่านเจ้าคุณพหลฯ เป็นผู้นำคณะราษฎรอยู่แล้ว ซึ่งเกี่ยวกับข้าพเจ้าโดยตรง คือระหว่างนั้นกำลังเตรียมการจะเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าในเดือนเมษายน พ.ศ. 2475…ได้มีข่าวการปฏิวัติกระชั้นขึ้นทุกที คณะ ร.ศ. 130 ก็ตกอยู่ในข่าวสงสัยของรัฐบาลสมัยนั้น…

“เวลานั้นศรีกรุงกำลังโหมโรงโดยได้รับหน้าที่เป็นออร์แกน (organ) ของคณะราษฎรอยู่แทบตลอดเวลา หากคราวใดแสดงความเห็นและภาพรุนแรงจนรัฐบาลหรือราชบัลลังก์สั่น และพอเจ้าของโรงพิมพ์ได้รับคำตักเตือนมาจากบุคคลชั้นสูง ศรีกรุงก็เพลามือไปชั่วขณะ แล้วก็ค่อยๆ แรงขึ้นๆ ต่อไปอีกใหม่…จนมีบางคนในคณะราษฎรชั้นหัวหน้าไม่เข้าใจในศรีกรุงแน่นอน…ข้าพเจ้าเล็งถึงผลเลิศในวันข้างหน้ามากกว่าจะปล่อยให้ศรีกรุงถูกทำลายลงกลางคัน…” [10]

เมื่อก่อการสำเร็จลง บทบาทของศรีกรุงก็มีท่าทีชัดเจนขึ้นด้วยการนำเสนอข่าวคณะราษฎรรายวัน ตีพิมพ์ประวัติของคณะราษฎรคนสำคัญ และตีพิมพ์ภาพเหตุการณ์ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวก็ตีพิมพ์จดหมายและข้อเขียนที่วิจารณ์คณะราษฎร บทความที่ชื่นชมทั้งสถาบันกษัตริย์และคณะราษฎร บทความของนักเขียนคณะสุภาพบุรุษที่เป็นพันธมิตรกับคณะราษฎร อย่างกุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็มาเปิดตัวที่นี่เป็นที่แรกๆ ว่าสนับสนุนแนวคิดเรื่องความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคณะราษฎร ศรีกรุงหลังการปฏิวัติ 2475 จึงเป็นหนังสือพิมพ์ที่เปิดพื้นที่แก่ทุกฝ่ายความคิดไม่ว่าจะชื่นชมหรือวิพากษ์คณะราษฎร

หนึ่งเดือนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามใน ‘ศรีกรุง’

การสนับสนุนคณะราษฎร การเผยแพร่ระบอบรัฐธรรมนูญ และการจัดรูปแบบการปกครองในช่วงหนึ่งเดือน จากหนังสือพิมพ์ยังไม่ค่อยมีการเล่าถึงกันมาก และหนังสือพิมพ์ศรีกรุงเป็นฉบับสำคัญที่ทำให้เห็นว่ามีการสนับสนุนของคนธรรมดา นักเรียน นักศึกษา พ่อค้า และข้าราชการ รวมทั้งแนวร่วมของคณะราษฎรที่เผยตนอย่างเช่นกุหลาบ สายประดิษฐ์ และเซียวฮุดเสง สีบุญเรือง นอกจากนี้ยังนำเสนอนโยบายของคณะราษฎรที่จัดระบบการปกครองและแนวคิดรัฐธรรมนูญในเบื้องต้นตามต่างจังหวัดไว้ด้วย โดยผู้เขียนขอคงตัวสะกดจากหนังสือพิมพ์ศรีกรุงไว้ ดังนี้

การสนับสนุนคณะราษฎรของสามัญชน

การสนับสนุนคณะราษฎรจากกลุ่มคนหลากหลาย เริ่มปรากฏในหนังสือพิมพ์ศรีกรุงตั้งแต่ ฉบับวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ลงข่าวเรื่อง ‘ช่วยคณราษฎร ที่ ๔_๕ กรกฎาคม ๗๕’ ลงข่าวว่ามีผู้ให้ของคณะราษฎร 16 ราย สิ่งของที่มอบให้คณะราษฎรครั้งแรกนี้มักจะเป็นอุปกรณ์สำนักงาน พระพุทธรูป กับอาหาร และน้ำแข็งที่มีราคาแพงในสมัยนั้น ตัวอย่างเช่น

“๑. อู่สนิทผ่านฟ้า รถยนตร์โดยสาร ๑ คัน รับใช้ทุกวัน ๒. โรงน้ำแข็งตันซุ่นฮั้ว นายเสงี่ยม แซ่ตัน น้ำแข็ง ๕๐๐ ปอนด์ น้ำหวาน ๒ โหล ๓. เอส.วี.บราเดอร์ รถยนตร์บรรทุกรับส่งทหาร ๑ คัน ๑ วัน ๔. เด็กหญิงสมใจ ณ ป้อมเพ็ชร์ เลี้ยงเครื่องว่างกลางวัน ๑ วัน…๘. ส.อ. เงิน ปานใย ส.ท.ศิริ สังข์พิชัย พลทหารสงัด อากายี กรมทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์ น้ำหวานต่าง ๆ รวมกัน ๒๔๐ ขวด…๑๐. คณครู ร.ร. พาณิชยการวัดสามพระยาเปนผู้ออกเงิน คณฝึกหัดครู ร.ร. เพ็ชรบุรีวิทยาลัย เปนผู้ลงแรงทำขนมจีน ๑๕๖ ห่อ ๑๑. ไตรโปรมศิลป์ ช่างเขียนตำบลสำราญราษฎร์ พระนคร ขนมปังกรอบ ๑๐๐๑ ห่อ กับช่วยเขียนป้ายตามประสงค์ของคณราษฎรที่ต้องการ…๑๔. นายผัน พลางกูร ตรอกพระยาไกร เครื่องเขียนเงิน ๑ เครื่อง ตราทองแดงแกะว่า “สภาราษฎร” รับวันที่ // ๒ ตรา ๑๕. พระศรีพัฒนากร กระทรวงมหาดไทย พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ๑ องค์ ๑๖. คณครูและ น.ร. เบ็ญจมบพิตร เงิน ๓๖ บาท ๖๐ สตางค์[11]

หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันที่ 6 กรกฎาคม 2475

และในศรีกรุงฉบับวันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ลงข่าวอีกครั้งว่ามีผู้ให้ของคณะราษฎร 25 ราย จำนวนเพิ่มขึ้น มีทั้งรายเดิม และอาชีพหลากหลายขึ้น ตั้งแต่พ่อค้า แม่ค้า และชนชั้นกลาง และสิ่งของที่มอบให้คณะราษฎร ในครั้งนี้มักจะเป็นอาหาร ผลไม้ น้ำแข็ง และยังมอบยา บุหรี่ พระพุทธรูป รวมทั้งพิมพ์ดีด และอำนวยความสะดวกในการทำงานให้แก่คณะราษฎรด้วยเรือเร็วเพื่อส่งหนังสือต่างๆ ตัวอย่างเช่น

“ผู้ให้ของคณราษฎร  ๑. นายชาย ตฤษนานนท์ ช่วยน้ำแข็ง ๑๐๐ ปอนด์ ๒. นายเป้า ชินพานิช นางจู ชินพานิช นางสาวมาลัย ชินพานิช ให้ลิ้นจี่ดอง ๔๐ ไห ลิ้นจี่สด ๑ ปี๊บ…๖. นายเทียนเลี้ยง กรรณสูตร ห้างสุพรรณพานิช ให้หีรูปแบตเตอรีสำหรับใส่บุหรี่ 2 โหล และสมุดพก ๒ โหล ๗. นายชิต นภาศัพท์ ยานัตถ์หมอชิต ๕๐๐ ขวด กล้องเป่ายา ๔๕๐ อัน…๙. พระพิพัฒน์วรรณกิจ บุหรี่การิค ๒ กระป๋อง บุหรี่ไพ่ป็อก ๑๗ กระป๋อง…๑๑. ห้างบาโรเบราน์ ยินดีรับซ่อมรถยนตร์มอริสที่ซื้อจากห้าง ซึ่งใช้ชำรุดในคราวนี้…๑๔. นาย เอฟ. เอ. พีเบอร์สัน โรงน้ำแข็งสีลม น้ำแข็ง ๕๐๐ ปอนด์…๑๘. บริษัท สุพรรณพานิช ช่วยเรือเร็วสำหรับเดิรหนังสือไปจังหวัดพระประแดงทั้งไปและกลับ ๑๙. นายเส็ง เบ๊ยู่เส็ง ตำบลเวิ๊งนครเกษม ช่วยเงิน ๕ บาท ๒๐. พระพิพิธสาลี บ้านปากคลอง วัดดาวดึงส์…ได้มอบพิมพ์ดีดสมิทพรีเมีย ราคา ๑๐๐ บาท ๑ เครื่อง กับพระพุทธรูปทองคำหน้าตักกว้าง ๙ ม.ม. สูง ๑๕ ม.ม. ๗ องค์ ๒๑. บริษัทแมดฟาแลนด์พิมพดีด จำกัด ได้มอบเครื่องพิมพ์ดีดเรมิงตันขนาดใหญ่อักษรไทย ๑ เครื่อง อักษรฝรั่งเศส ๑ เครื่อง…๒๔. นายมังกร สามเสน เข้าห่อ ๑๐๐ ห่อ…” [12]

การสนับสนุนของราษฎรรูปแบบที่สองคือ สมัครเป็นสมาชิกคณะราษฎรที่แรกเปิดรับมีการประกาศในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง

ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 [13] และสมาคมคณะราษฎรยังให้ความสำคัญต่อการสมัครสมาชิกของสตรีซึ่งสะท้อนให้เห็นความตื่นตัวทางการเมืองของสตรีไทยครั้งแรกโดยงานศึกษาก่อนหน้านี้มักจะเน้นเสนอเรื่องการลงสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎรของสตรีที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2476 [14] สตรีที่มาสมัครสมาชิกฯ เป็นผู้หญิงสมัยใหม่ที่มีอาชีพพยาบาล ทำงานในโรงพิมพ์ และนักเรียน

สตรีไทยแสดงความกล้าหาญทวีมากขึ้นเปนลำดับล้วนแต่นางสาว

นับตั้งแต่คณราษฎรได้ประกาศรับสมาชิกคณราษฎร…แม้จะปรากฏว่าผู้สมัครโดยมากล้วนแต่บุรุษก็ดี กระนั้น สมาคมนี้ก็หาได้ปิดโอกาสสำหรับสตรีที่มีน้ำใจรักชาติ…เราจึงได้ข่าวว่าในเวลานี้มาสตรียื่นใบสมัครเปนสมาชิกของสมาคมคณราษฎรอยู่มิเว้นแต่ละวัน

ดังปรากฏว่าวานนี้มีสตรียื่นใบสมัครใหม่อีก 4 คน คือ นางสาวล้วน แก้วผลึก อายุ 21 อยู่บ้านเลขที่…ถนนนามบัญญัติข้างวัดมงกุฏกษัตริย์ ทำงานอยู่ที่โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์เสนาศึกษา กับนางสาวสังวาลย์ วามิศร์ อายุ 30 ปี นางพยาบาลประจำโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นางสาวพจน์ จุลมกร อายุ 27 ปี เปนพยาบาลประจำโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นางสาวอรุณ ทักกะยานนท์ อายุ 30 ปี เปนนางพยาบาลประจำโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สตรีผู้สมัครเหล่านี้คณราษฎรได้รับไว้พิจารณาทุกคน” [15]

 

“สมาคมคณราษฎรมีสตรีเข้าสมัครอีก 2 คน

เมื่อวันที่ 6 เดือนนี้(กรกฎาคม 2475-ผู้เขียน) นางสาวเจียน ศรีทองคำ อายุ 28 ปี กับนางสาวเพิ่น ปีตะนีละผลิน อายุ 26 ปี ซึ่งเปนนางพยาบาลประจำการอยู่ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ยื่นความจำนงต่อคณราษฎรขอสมัครเข้าเปนสมาชิกแห่งสมาคมคณะราษฎรต่อไป ทั้งนี้คณราษฎรได้รับความจำนงของสองนางสาวไว้แล้วเพื่อพิจารณาต่อไป” [16]

 

“นักเรียนหญิงที่สมัครเปนสมาชิกคณราษฎร

นางสาวศรีละออ ธรรมาทฤษณี อายุ 16 ปี นักเรียนในโรงเรียนสงวนศรี ชั้นมัธยมปีที่ 5 เปนบุตรหลวงประจงคดี ทนายความบ้านข้างหอทะเบียนที่ดิน จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ยื่นใบสมัครต่อคณราษฎร ขอสมัครเปนสมาชิกสมาคมราษฎร เจ้าหน้าที่รับลงชื่อไว้พิจารณาแล้ว” [17]

วิธีการดำเนินงานของคณะราษฎร: การเผยแพร่ระบอบใหม่และธรรมนูญการปกครอง

วิธีดำเนินงานจัดระเบียบการปกครองใหม่ [18] และการเผยแพร่หลักธรรมนูญการปกครอง ฉบับ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 กับหลัก 6 ประการ คืองานเร่งด่วนของคณะราษฎรที่เน้นการเผยแพร่ไปยังนักเรียน นักศึกษา ครู โดยให้ผู้แทนจากคณะราษฎร เช่น สงวน ตุลารักษ์ [19] และข้าราชการระดับสูงเป็นผู้ดำเนินการ

“ผู้แทนคณราษฎรแสดงปาฐกถาถึงวิธีดำเนิรการของคณแก่นักเรียนบ้านสมเด็จ 

เมื่อวันที่ 4 เดือนนี้ นายสงวน ตุลารักษ์ ผู้แทนคณราษฎร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่คณราษฎรอีกบางนาย ได้ไปเยี่ยมโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และได้แจ้งความประสงค์ต่อพระยาวิเศษศกวัตร์อาจารย์ใหญ่ ว่าจะแสดงปาฐกถาเกี่ยวด้วยระเบียบการปกครองของรัฐบาลใหม่…ต่อจากนั้นนายสงวน ก็ได้เริ่มแสดงปาฐกถามีใจความสำคัญแสดงถึงความประสงค์ของคณที่ได้กระทำไปและกิจการที่คณจะได้กระทำต่อไปข้างหน้าและอธิบายถึงหลักธรรมนูญการปกครองบางข้อที่สำคัญ ๆ เพื่อให้นักเรียนเข้าใจในวิธีดำเนิรการโดยแจ่มแจ้ง ตั้งแต่เวลา 11 น. ตลอดถึง 12 น. เศษ จึงเสร็จการแสดง…” [20]

ภารกิจที่สำคัญของคณะราษฎรนอกจากการเผยแพร่ระบอบใหม่แล้ว คือเร่งแจ้งต่อข้าราชการส่วนงานปกครองทั้งผู้ว่าราชการ และนายอำเภอทุกจังหวัดให้ทราบถึงระเบียบของระบอบใหม่เพื่อไม่ให้ข้าราชการตื่นตระหนกว่าตนเองต้องถูกยึดตำแหน่งหรือปลดออกภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ [21] จ.เชียงใหม่ ทางคณะราษฎรได้ส่งพระยาสุริยานุวัตร เดินทางไปชี้แจงแก่เจ้านายในมณฑลพายัพเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองเพราะเจ้านายต่างตกใจและกลัวว่าจะถูกยึดทรัพย์ [22]

หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 หน้า 9

ตัวอย่างเช่นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีการประชุมกรมการอำเภอตามระเบียบวาระเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 หลังจากที่กล่าวถึงงานตามหน้าที่เสร็จสิ้น ทางหม่อมเจ้าทองเติม ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้มีรับสั่งต่อกรมการอำเภอเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศสยามใหม่ มีใจความว่า

ตามที่รัฐบาลจัดตั้งธรรมนูญการปกครองเปลี่ยนแปลงใหม่นี้ได้ทราบว่าพวกราษฎรได้พากันเล่าลือต่างๆ นาๆ ซึ่งเกรงว่าอาจจะเกิดการเข้าใจผิดกันขึ้นมาได้ ฉะนั้นขอให้กรมการอำเภอจงเรียกประชุมราษฎรและชี้แจงกันให้เปนที่เข้าใจเสียให้ตรงต่อความจริง…”

สรุปหัวใจของการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามของหม่อมเจ้าทองเติมคือ คณะราษฎรต้องการให้สยามเจริญรุ่งเรืองทัดเทียบกับประเทศอื่น และให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกันทั้งการแสดงความคิดที่มีประโยชน์ และเพื่อให้ราษฎรมีช่องทางประกอบอาชีพรวมทั้งจะมีการลดหย่อนภาษีบางประเภท ที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้ตรงตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ [23] จะเห็นได้ว่าทัศนะของหม่อมเจ้าทองเติมเป็นรูปแบบที่เชียร์ทั้งเจ้าและคณะราษฎร

ราว 1 ปี ถัดมา ทางคณะราษฎรได้ใช้วิธีการเผยแพร่รัฐธรรมนูญด้วยจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ จัดตั้งสมาคมรัฐธรรมนูญ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับจำลอง และการพิมพ์ตัวบทรัฐธรรมนูญส่งไปยังจังหวัดต่างๆ อย่างเป็นระบบและกุศโลบายหลายรูปแบบเพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความสำคัญเสมอกับสถาบันพระมหากษัตริย์

กุหลาบ สายประดิษฐ์ แนวร่วมคณะราษฎร

กุหลาบ สายประดิษฐ์ แสดงตนเป็นแนวร่วมคณะราษฎรผ่านข้อเขียนในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 อย่างเด่นชัดในบทความเรื่อง ชาติกำเนิดไม่ใช่สมรรถภาพของคน พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ยึดบุคคลเปนหลัก พระราชวงศ์ อาจมีทั้งที่ฉลาดและโง่ [24] โดยกล่าวถึงความเสมอภาคและศักดิ์ความเป็นมนุษย์ผ่านชาติกำเนิดรวมทั้งวิจารณ์ชนชั้นนำไว้ว่า

“…การที่ข้าพเจ้ากล่าวความว่า ชาติกำเนิดมิใช่องค์วุฑฒิสำคัญในตัวบุคคล ข้าพเจ้ามิได้ตั้งใจจะลบหลู่พระมหากรุณาธิคุณของกษัตริย์แห่งราชวงศ์ใด ๆ ที่ได้มีอยู่กับประเทศสยาม…

ข้าพเจ้าเพียงแต่ตั้งใจจะแสดงให้คนทั้งปวงตระหนักในความจริงว่า ชาติกำเนิดมิได้เปนเครื่องวัดความดีความชั่วตามความสามารถ และไม่สามารถของบุคคล ชาติกำเนิดเปนแต่เครื่องหมายแสดงให้เห็นเพียงชาติกำเนิด…มิได้แสดงอะไรมากไปกว่านั้น…ชาติกำเนิดมิใช่มหาวิทยาลัยซึ่งมีสิทธิ์จะออกประกาศนียบัตรรับรองความเป็นบาปมุติของบุคคล…ชาติกำเนิดทำทีจะมีสิทธิอยู่บ้างในทางจารีตประเพณี แต่ในทางของความจริงแล้วชาติกำเนิดมิได้มีสิทธิเลย และสิ่งใดที่ดำเนิรไปโดยขัดกับความเปนจริง สิ่งนั้นย่อมขาดความบริสุทธิ์และจะยั่งยืนสืบไปมิได้…”

ภาพจากหนังสือพิมพ์ศรีกรุง วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2475

หนึ่งเดือนภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ได้เสนอภาพลักษณ์ของคณะราษฎรในเชิงบวกรวมทั้งเสนอข้อมูล และข้อแก้ต่างที่มีประชาชนส่งจดหมายวิจารณ์ให้แก่คณะราษฎรและศรีกรุง ทั้งยังเป็นสื่อกลางที่เสนอข้อเรียกร้องของประชาชนแก่คณะราษฎร เช่น ให้สภาฯ จัดทำบันทึกย่อการประชุมสภาฯ ในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ แล้วนำมาเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ ดังนี้ศรีกรุงจึงไม่ใช่เป็นเพียงหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนคณะราษฎรเท่านั้นแต่ยังสนับสนุนราษฎรสามัญอีกด้วย 


อ้างอิงเพิ่มเติม

– หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร. 0201.16/21 เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง คำสั่งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร คราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2475)

ศรีกรุง ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน 2475 และฉบับวันที่ 6-10,13, 27-30 กรกฎาคม 2475

– กษิดิศ อนันทนาธร, บรรณาธิการ, ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2565: บางเรื่องเกี่ยวกับคณะราษฎร 2475, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2565) 

– ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ, (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543)

– เบนจามิน เอ. บัทสัน, อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม, บรรณาธิการแปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ขันติวรพงศ์, ศศิธร รัชนี ณ อยุธยา,  (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560)

– ปรีดี พนมยงค์, คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน ความเป็นมาของศัพท์ไทย “ปฏิวัติ, รัฐประหาร, วิวัฒน์, อภิวัฒน์”, (กรุงเทพฯ มูลนิธิเด็ก, 2542)

– ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร,(กรุงเทพฯ : มติชน, 2562)

– นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “คำอธิบายของปัญญาชนฝ่ายที่สนับสนุนกับฝ่ายที่ต่อต้านการปฏิวัติสยาม 2475”, วารสารสถาบันพระปกเกล้า, 2: 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2547): 24-46.

References
1 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. (17 มิถุนายน 2549),  24 มิถุนา: การตีความ 4 แบบ.
2 ภาพนี้เกิดขึ้นในช่วงการภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ที่ถ่ายทำโดยพี่น้องตระกูลวสุวัต แห่งบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ดูเพิ่มเติมที่ หนังไทยในอดีต หนังเงียบวันปฏิวัติ โดย ขุนวิจิตรมาตรา
3 เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, “ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวของ 24 มิถุนายน 2475”, วารสารธรรมศาสตร์ 11, 2 (มิ.ย. 2525): 65-66.
4 เรื่องเซียวฮุดเสง สีบุญเรือง โปรดดูเพิ่มเติมที่ มูราชิมา, เออิจิ, การเมืองจีนสยาม การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเล ในประเทศไทย ค.ศ. 1926-1941, บรรณาธิการแปลโดย วรศักดิ์ มหัทธโนบล, (กรุงเทพฯ: ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539) และเพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์, “บทบาทและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเซียวฮุดเสง พ.ศ. 2450-2474,” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544)
5 เอก วีสกุล, “ประวัติย่อสโมสรจีนสยามจีนางกูร สโมสรสามัคคีจีนสยาม กรุงเทพฯ นันทาสมาคม.” ใน สหมิตรรำลึก. พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพ นายเฉลิม ปึงตระกูล วันที่ 27 ธันวาคม 2505, (พระนคร: สโมสรสหมิตร, 2505) อ้างใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, (กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2553), หน้า 153.
6 ศราวุฒิ วิสาพรหม, ราษฎรสามัญหลังวันปฏิวัติ 2475, (กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 2559), หน้า 39-41.
7 Arjun Subrahmanyan, Amnesia: a history of democratic idealism in modern Thailand, (NewYork : State University of New York,  2021), pp. 6-7
8 Ibid, 153-157.
9 สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ, สยามพิมพการ ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2565), น.191-199.
10 เสมียนอารีย์. (24 มิถุนายน 2565), “ศรีกรุง” ออร์แกนของคณะราษฎร หนังสือพิมพ์ที่ช่วยโหมโรงการปฏิวัติ 2475. 
11 ศรีกรุง, วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2475, หน้า 7.
12 ศรีกรุง, วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2475, หน้า 3.
13 ศรีกรุง, วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475, หน้า 8.
14 โปรดดูเพิ่มเติม ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, รายงานวิจัย เรื่อง การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยาม: บ่อเกิด โครงสร้างเชิงสถาบัน และปฏิกิริยาทางสังคม, (กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า, 2564)
15 ศรีกรุง, วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2475, หน้า 9.
16 ศรีกรุง, วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2475, หน้า 16.
17 ศรีกรุง, วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2475, หน้า 9.
18 โปรดดูเพิ่มเติมที่ เฮง สถิตถาวร, 150 ปี วิธีดำเนิรการของคณะราษฎร เล่ม 2, (พระนคร: โรงพิมพ์สิริชัย, 2475)
19 โปรดดูเพิ่มเติม ธีรัชย์ พูลท้วม, ประวัติคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475, ดร. เจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายธีรัชย์ พูลท้วม เป็นกรณีพิเศษ ณ ฌาปนสถานคุรุสภา วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร 11 มีนาคม 2539, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์บริษัทสหธรรมิก จำกัด, 2539)
20 ศรีกรุง วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2475, หน้า 9.
21 ศรีกรุง วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2475, หน้า 16.
22 ศราวุฒิ วิสาพรหม, ราษฎรสามัญหลังวันปฏิวัติ 2475, (กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 2559), หน้า 41.
23 ศรีกรุง วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2475, หน้า 9.
24 ศรีกรุง วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2475, หน้า 1, 5.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save