fbpx

‘ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย’ นับถอยหลังสู่บทอวสานแห่งการดูหนังในโรงใหญ่

ในช่วงที่วาทกรรม “โรงหนังและวัฒนธรรมการดูหนังกำลังจะตาย” กลับมาเป็นที่พูดถึงกันอีกครั้งหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในวงกว้างจนโรงหนังต้องปิดให้บริการ อภิชาติพงศ์  วีระเศรษฐกุล ก็ถือโอกาสพาเราไปย้อนรอยวาทกรรมดังกล่าวผ่านนิทรรศการศิลปะที่มีชื่อว่า ‘ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย – A Minor History’ ซึ่งจัดแสดง ณ มูลนิธิ 100 ต้นสน ซอยต้นสน ถนนเพลินจิต กรุงเทพมหานคร และเริ่มจัดแสดงมาตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2564 โดยในส่วนของนิทรรศการภาคแรกนี้จะเปิดให้ชมยาวไปจนถึงสิ้นปี

‘ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย’ เป็นนิทรรศการภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว โดยมีทั้งภาพถ่ายอาคารเก่าริมน้ำและภาพวิดีทัศน์โรงหนังร้างที่กำลังปรักหักพัง ณ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นส่วนประกอบของโมทีฟ (motif) สำคัญ สะท้อนห้วงแห่งความทรงจำจากประสบการณ์การชมภาพยนตร์ในโรงใหญ่ด้วยบรรยากาศคล้ายๆ กับยามที่ศิลปินยังใช้ชีวิตช่วงวัยเยาว์ ณ จังหวัดขอนแก่น

บริเวณโถงติดประตูและผนังกระจกใสใกล้ทางเข้ามูลนิธิฯ มีภาพถ่ายขนาดใหญ่ถ่ายจากภายในของอาคารร้างริมน้ำโขง จัดแสดงในลักษณะกลับหัวจำนวน 3 ภาพ แต่ละภาพล้วนสะท้อนสภาพแห่งการเป็นเศษซากที่ยากจะกู้คืนให้กลับมาดังเดิม เหลือเพียงร่องรอยหลักฐานแห่งความทรงจำต่อวันเวลาอันเคยรุ่งโรจน์ของมัน

ในส่วนพื้นที่หลักของการจัดแสดงอย่างบริเวณห้องมืด อภิชาติพงศ์ได้นำเสนอภาพฉายบนจอสามจอพร้อมๆ กัน คลอประกอบด้วยเสียงจากแหล่งหลากหลาย โดยผนังด้านในจะมีภาพแบ็คดรอปแสดงทัศนมิติเปอร์สเปกทิฟ (perspective) ของฉากการแสดงหมอลำด้วยรูปท้องพระโรงอันว่างเปล่า ส่วนภาพที่ปรากฏบนจอหลักทั้งสองเป็นการสำรวจมุมต่างๆ ของโรงภาพยนตร์ร้างว่ายังมีเรื่องราวในอดีตอันใดหลงเหลือทิ้งไว้เป็นหลักฐานอยู่บ้าง ซึ่งเมื่อพินิจโครงสร้างทั้งหมดของการจัดแสดงในห้องมืดแห่งนี้ ก็มีนัยยะเสมือนการเดินทางจากฉากของมหรสพพื้นบ้านถิ่นอีสานอย่างการแสดงหมอลำ มาสู่ผืนผ้าใบคล้ายเป็นภาพยนตร์จอคู่ดูพร้อมๆ กันอย่างโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ และมาจบที่จอสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่วางตัวในแนวบีบตั้งคล้ายหน้าจอสมาร์ตโฟนในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อฉายภาพลงไปแล้วจะให้ความรู้สึกแคบข้างแบบ TikTok Aesthetic จนบางครั้งก็ต้องแบ่งจอในแนวตั้งเป็นส่วนๆ เพื่อซอยเป็นกรอบจอแนวนอนเล็กๆ ที่เลื่อนไหลตามกันไป

อภิชาติพงศ์เคยเล่าว่าแรงบันดาลใจสำคัญของผลงานชิ้นนี้ คือการเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดแถบถิ่นอีสาน หลังจากที่ได้ไปถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Memoria ที่ประเทศโคลอมเบียมาเป็นเวลานาน โดยการเดินทางครั้งนี้ นอกจากจะได้ไปเยือนสถานที่เก่าๆ ที่คุ้นเคยแล้ว เขายังได้พบปะผู้คนและสถานที่ใหม่ๆ ในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะในจังหวัดริมแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นจิตอาสาผู้ขนลำเลียงศพชายปริศนาที่ถูกผ่าท้องแล้วยัดด้วยคอนกรีตที่ลอยมาตามลำน้ำโขง ซึ่งปัจจุบันก็ยังหาหลักฐานพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นใคร และเกี่ยวข้องกับกรณีการหายตัวไปของ สุรชัย แซ่ด่าน หรือไม่ การได้พบร่องรอยของคณะหมอลำแบงค์ ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองที่จังหวัดขอนแก่น รวมถึงการค้นพบซากอาคารโรงหนังเก่าแห่งความทรงจำในดินแดนอีสานแห่งนี้ 

เรื่องราวกระทบใจต่างๆ เหล่านี้เองที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการประกอบสร้างออกมาเป็นนิทรรศการ ‘ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย’ ที่มีน้ำเสียงโหยหาภาพอดีตแห่งความน่าตื่นเต้นของการชมภาพยนตร์ผ่านจอขนาดใหญ่ในอาคารมืด ไปจนถึงเทคนิคการพัฒนาบทและการสร้างภาพยนตร์โดยเฉพาะในแนวพาฝัน ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในยุคสมัยนั้น

นอกจากนี้ อภิชาติพงศ์ยังได้ประกอบสร้างเรื่องราวร่วมกับกวีอีสานนาม ‘เมฆ’ครึ่งฟ้า’ อาศัยความทรงจำเกี่ยวกับการพากย์หนังโดยนักพากย์ชายเพียงรายเดียวสำหรับตัวละครทุกราย ไม่ว่าหญิงชาย ดังที่ อภิชาติพงศ์เคยสัมผัสจากเสียงของคุณ โกญจนาท นักพากย์หนังชื่อดังแห่งจังหวัดขอนแก่นในอดีต มาสร้างเป็นบทหนังพากย์เล่าเรื่องราวความรักระหว่างชายและหญิงที่สนทนากันด้วยจริตคำพูดคำจาเมื่อสัก 40-50 ปีที่แล้ว พร้อมทั้งเล่าเรื่องราวจากจินตนาการ เมื่อพญานาคแห่งลำน้ำโขงไม่สามารถกลืนกินร่างของชายหนุ่มที่กัดทึ้งเข้าไปก็เจอแต่ก้อนคอนกรีตได้ กลายเป็นเรื่องราวอันประหลาดมหัศจรรย์ที่หลอมรวมข่าวความรุนแรงในชีวิตจริงกับนิมิตเชิงแฟนตาซีออกมาได้อย่างน่าพิศวง

หลังจากได้ชมนิทรรศการ ‘ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย’ ภาคแรกนี้แล้ว ชวนให้รู้สึกว่า อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กำลังนำพาผู้ชมไปร่วมหวนย้อนระลึกถึงอดีตอันแสนหวานของมหรสพการชมภาพยนตร์วิถีเก่าๆ ต่อเนื่องจากที่เขาเคยได้เล่าเอาไว้ในบทความชื่อ ‘โลงผีในความมืด’ จากหนังสือโฟโต้บุ๊ค ‘สวรรค์ 35 มม.‘ จัดพิมพ์โดย Filmvirus เมื่อปี 2557 ใครที่เกิดทันและพอจะมีประสบการณ์ร่วมก็คงอิ่มเอมไปกับบรรยากาศที่ไม่มีวันย้อนคืนมาเหล่านั้นได้ ส่วนผู้ชมรุ่นใหม่ๆ ก็คงพอจะเห็นภาพว่ามหกรรมการชมภาพยนตร์ในยุคสมัยอนาล็อกมีหน้าตาที่แตกต่างไปจากยุคปัจจุบันโดยสิ้นเชิงเพียงไร และถ้าใครโชคดี อยู่ในพื้นที่ที่สามารถหาโอกาสชมภาพยนตร์ในโรงเดี่ยวได้ ต่อให้มันจะกลายเป็นสถานฉายหนังโป๊ หรือหนังเก่าหลุดโปรแกรม ก็น่าจะลองดูให้รู้ว่าเป็นอย่างไรสักครั้ง ก่อนจะไม่มีโอกาส เพราะนวัตกรรมการฉายภาพยนตร์วิวัฒน์พัฒนามาอย่างเขย่งก้าวกระโดด จนเปลี่ยนโฉมไปมากมายในปัจจุบัน ทำให้วันเวลาเก่าๆ ต้องเลือนหาย กลายเป็นความทรงจำที่ถ้าอภิชาติพงศ์ไม่ได้บันทึกไว้ เราก็อาจไม่มีโอกาสให้เห็นร่องรอยกันอีก

แต่ส่วนที่ดูจะพีกที่สุดในนิทรรศการครั้งนี้ เห็นจะเป็นโปรแกรมสารคดีสั้นสามจอคั่นการแสดง เพื่อรำลึกถึงวาระครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ชื่อ ‘SILENCE’ ซึ่งอภิชาติพงศ์ ร่วมจัดทำในนาม Kick the Machine Documentary Collective กับ อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร, ฉัตรชัย สุบรรณ และปฐมพงศ์  มานะกิจสมบูรณ์ การแสดงนี้จัดขึ้นเป็นโปรแกรมพิเศษฉายเป็นรอบๆ ระหว่างวันที่ 6-10 ตุลาคม 2564 เท่านั้น

เนื้อหาของสารคดีกึ่งความเรียงขนาดสั้นความยาว 21 นาที ชิ้นนี้เป็นการนำภาพนิ่งและฟุตเทจไร้เสียงต่างๆ ที่บันทึกได้จากเหตุการณ์สังหารหมู่ผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนามหลวง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ยังคงเป็นภาพติดตาอันน่าสยดสยองของใครหลายๆ คน มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวที่เล่าใหม่ในบรรยากาศไซไฟแฟนตาซี เมื่อฉันและคนอื่นๆ ไม่ได้ยินเสียงใดๆ อีกต่อไป โลกทั้งใบอยู่ในความเงียบ โดยเราจะกลับมาได้ยินเสียงกันอีกครั้งเฉพาะเมื่อเราหลับฝัน การนอนจึงกลับกลายมาเป็นความสุขที่แท้จริง ที่ทุกสิ่งจะกลับมาดังชัดกระจ่างหู และไม่ต้องเรียนรู้โลกเพียงการใช้ตาดูอีกต่อไป

โดยความแสบร้ายชวนให้ต้องแสลงจิตแสลงใจในสารคดีเรื่อง SILENCE ชิ้นนี้ คือการตั้งใจตีความภาพจริงของเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ว่าช่างเป็นเรื่องน่าขันและไร้เหตุผล ที่ไม่น่าจะเคยเกิดขึ้นจริงบนผืนแผ่นดินไทย แล้วสร้างเรื่องเล่าใหม่ผ่านภาพเดิมๆ ที่เราเคยเห็น ราวกับพยายามทำเป็นไม่เชื่อว่าสิ่งนี้คือผลที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งของคนในชาติเดียวกัน เมื่อได้เห็นภาพคนนอนนิ่งในสภาพเปล่าเปลือยไร้ลมหายใจร่างกายเต็มไปด้วยบาดแผล หนังก็แปลความว่านี่พวกเขาคงกำลังหลับฝันกันอยู่สินะ หรือขณะที่คนหนุ่มสาวต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ที่ถืออาวุธปืนโดยไม่ขัดขืนดื้อรั้น ก็คงไม่ต่างไปจากการละเล่นในภาพเทียบจากสวนสนุก

แม้แต่ห้วงตอนที่โหดเหี้ยมรุนแรงจนสะท้อนใจมากที่สุด หนังก็ตั้งคำถามว่านี่คือการถ่ายหนังอยู่ใช่ไหม มีตัวประกอบเข้าฉากมากมาย พร้อมทั้งมีกล้องถ่ายอยู่ 10 ทิศ ซึ่งตลอดความยาว 21 นาทีไม่มีการพาดพิงอ้างอิงถึงสถานการณ์การเมืองครั้งนี้กันแบบตรงๆ มีแต่เพียงภาพข่าวสั้นๆ เมื่อครั้งที่ จอมพลถนอม กิตติขจร บวชเป็นสามเณรแล้วเดินทางกลับมาประเทศไทย และภาพจากงานอนิเมชันต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วยความรุนแรงเรื่อง ‘หนุมานเผชิญภัยครั้งใหม่’ ของ ปยุต เงากระจ่าง มาสื่อนัยเชื่อมโยงเป็นห้วงๆ เท่านั้น

SILENCE จึงเป็นเสมือนงานที่ส่องสะท้อนปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ภาพประวัติศาสตร์  มุมมองและการตีความในแบบส่วนตัว รวมไปถึงผัสสะแห่งความทรงจำจากเศษซากของสิ่งที่หลงเหลือ ซึ่งกลายมาเป็นธีมหลักของนิทรรศการ ‘ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย – A Minor History’  ประกาศฟ้องได้อย่างเด่นชัดว่า ‘ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย’ อันมีความเป็นปัจเจกส่วนตัวเหล่านี้ ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า ‘ประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ’ ที่ถูกบันทึกไว้ และแม้มันจะมาในรูปของทัศนะความคิดเห็นและภาพความทรงจำอันเลือนลางเพียงใด แต่มันก็เป็น ‘ประวัติศาสตร์’ ที่ชิดใกล้ต่อจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์มากกว่าการไล่เรียงลำดับเหตุการณ์อย่างแห้งแล้งและแข็งกระด้างจนไร้หัวใจ

ด้วยเหตุนี้ ‘ประวัติศาสตร์’ จึงสามารถเป็นงานสร้างสรรค์ที่สามารถนำมาแปรผันเล่าใหม่ได้อย่างไม่รู้จบ เพื่อเป็นการบันทึกไว้ว่าเราเคย ‘รู้สึก’ อย่างไรกับเหตุการณ์นั้นๆ อย่างที่หน้าข่าวหรือสารคดีใดๆ ก็คงไม่อาจจะถ่ายทอดได้เลย

นิทรรศการ ‘ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย’ ภาคแรกนี้ มีกำหนดการจัดแสดงที่มูลนิธิ 100 ต้นสน ไปจนถึงเดือนธันวาคม 2564 และจะเริ่มจัดแสดงนิทรรศการภาคที่สองในช่วงต้นปีหน้าเป็นต้นไป สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 100 Tonson Foundation

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save