fbpx

“ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย ภาคสอง: Beautiful Things” สิ่งงดงามในทัศนมิติแห่งความทรงจำ

อ่านบทความ “ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย ภาคแรก” ได้ที่ ‘ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย’ นับถอยหลังสู่บทอวสานแห่งการดูหนังในโรงใหญ่

หลังจากได้ขยายเวลาการจัดแสดงนิทรรศการ ‘ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย’ หรือ A Minor History ภาคแรก ที่มูลนิธิ 100 ต้นสน ณ ซอยต้นสน ถนนเพลินจิต กรุงเทพมหานคร จนถึงสิ้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมาแล้ว อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ก็ไม่รอช้าจัดแสดงนิทรรศการ ‘ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย ภาคสอง’ หรือ A Minor History Part II: Beautiful Things ณ สถานที่เดิมในเดือนต่อมา โดยได้เปิดงานให้ผู้สนใจเข้าชมได้ฟรี ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ประจวบเหมาะกับช่วงที่ผลงานภาพยนตร์เรื่องใหม่ Memoria ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กำลังจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ประเทศไทยในวันที่ 3 มีนาคม นี้ เนื่องจากนิทรรศการในภาคสองนี้ มีรายละเอียดที่เกี่ยวเนื่องกับตัวภาพยนตร์อยู่ด้วย

จากที่เคยนำเสนอภาพ เสียง และเรื่องราวเชิงอนุทินบันทึกการเดินทางกลับไปเยี่ยมถิ่นอีสานบ้านเก่าที่เคยเติบโตมา โดยเฉพาะการโหยหาถึงบรรยากาศโรงหนังจอเดี่ยวขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันไม่เหลือสภาพให้ใช้งานได้ต่อไปใน ‘ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย ภาคแรก’ นิทรรศการ ‘ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย ภาคสอง’ นี้ อภิชาติพงศ์ก็ได้ ‘รื้อสร้าง’ ภาพความทรงจำจากนิทรรศการในครั้งแรก และแต่งเสริมเพิ่มเติมด้วยรายละเอียดความทรงจำใหม่ๆ เพื่อสำรวจ ‘ทัศนมิติ’ หรือ perspective ที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งในแง่ของการย้อนมองผลงานเก่าของตนเองในต่างช่วงเวลา การมองผ่านสายตาและมุมมองของศิลปินคนอื่นๆ ภาวะซ้อนทับที่กำกับอำนาจในการถูกมองเห็นและการแสดงตน ไปจนถึงทัศนะความคิดใหม่ๆ ผ่านปรากฏการณ์ทางสังคมร่วมสมัย หรือการเดินทางครั้งใหม่ๆ ของศิลปินเอง

ผลงานที่เรียกได้ว่า ‘รื้อสร้าง’ จากนิทรรศการในภาคแรกอย่างชัดเจน ประกอบไปด้วยงานภาพถ่าย collage ชิ้นเด่นที่แสดงไว้ ณ โถงใกล้ทางเข้าห้องจัดแสดงชื่อ Of Love, Of Lights โดยอภิชาติพงศ์นำภาพถ่ายโรงหนังเก่าที่เหลือเพียงซากปรักหักพังจากนิทรรศการภาคแรกมาวางไว้เป็น background จากนั้นได้นำภาพการชุมนุมของฝ่ายรักประชาธิปไตยในช่วงหัวค่ำ ซึ่งผู้ชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นนั้น กำลังนั่งตั้งแถวเรียงรายอยู่บนถนน และพร้อมใจกันใช้ฟังก์ชั่นไฟฉายจากสมาร์ตโฟนส่องแสงเล็กๆ แห่งความหวังเปล่งประกายพลังของคนรุ่นใหม่ ให้ภาพของรังสีแห่งการร่วมแรงร่วมใจ มาทับเป็น foreground สะท้อนโลกใหม่ที่มาพร้อมความต้องการเปลี่ยนแปลง

งานภาพ collage อีกชิ้นภายในห้องแสดงที่ ‘รื้อสร้าง’ จากภาคแรกอย่างชัดเจน ก็คืองานที่ชื่อ ‘หมอลำ (ปรับองค์)’ ซึ่งอภิชาติพงศ์นำภาพฉากหลังทัศนมิติของท้องพระโรงในการแสดงหมอลำที่เคยปรากฏโดดเด่นเต็มผนังด้านลึกของห้องจัดแสดง มาพลิกแพลงปรับองค์ประกอบส่วนต่างๆ เสียใหม่ ย้อนทิศทางของฉากหลังให้กลับหัวบนล่างคล้ายการจัดแสดงภาพถ่ายหลายๆ ชิ้นในภาคแรก แต่ก็สร้างความแปลกด้วยการคงทิศทางของบางองค์ประกอบไว้ จนผู้ชมไม่อาจปักใจว่าสรุปแล้วงาน collage ชิ้นนี้มีลักษณะกลับหัวหรือวางตัวตรงตามแนวแรงโน้มถ่วงกันแน่

ส่วนงานภาพถ่าย collage ที่ชื่อ Mekong Murder Mystery และ Dreams and Illusions ที่เหมือนจะเป็นคู่กัน ก็เป็นการนำเอาภาพบรรยากาศจากนิทรรศการครั้งก่อน มาตัดแปะซ้อนวางจนกลายเป็นการสร้างความหมายใหม่ โดยในชิ้น Mekong Murder Mystery อภิชาติพงศ์ได้นำภาพลำน้ำโขงมาซ้อนทับกับภาพห้องนอนในโรงแรมชั้นสองราคาประหยัด แล้วใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษสีขาวแสดงข้อความ MEKONG MURDER MYSTERY ซ้อนทับกับข้อความตัวอักษรแดงว่า DREAMS AND ILLUSIONS ชื่อผลงานอีกภาพ ไล่ระดับสามบรรทัดกันพอดี สื่อถึงนัยยะแห่งการปิดบังแฝงเร้นข้อความและข้อมูลสำคัญแห่งปริศนาฆาตกรรม ที่บางครั้งความจริงเบื้องหลังซึ่งเคยได้ฟังจากนิทรรศการภาคแรกก็อาจถูกกลบฝังไว้อย่างง่ายดายในงานแสดงชิ้นนี้ ที่สำคัญและน่ากลัวกว่านั้นคือ เราไม่อาจมั่นใจได้เลยว่ายังมีภาพอื่นภาพใดถูกทัศนมิติซ้อนชั้นบดบังมิดชิดจนไม่เหลือเบาะแสเค้ารอยใดทิ้งไว้เลยอีกหรือไม่ ราวกับศิลปะแห่งการทำให้สูญหายมิใช่เรื่องยากอะไร และสามารถทำได้ง่ายๆ เพียงการกลบฝังบังทับ

ในขณะที่งานที่ชื่อ Dreams and Illusions ก็เป็นงานที่ใช้ทั้งภาพถ่ายห้องนอนโรงแรมชั้นสอง ภาพถ่ายลำน้ำจากตึกอาคารกลับหัว และซากปรักหักพังของขื่อเพดานโรงภาพยนตร์ จากนิทรรศการภาคแรกมาซ้อนทับกันด้วยทัศนมิติหลากหลายชั้น รวมกันเป็นภาพใหม่ที่ให้ความรู้สึกไม่น่าไว้วางใจของสถานที่แปลกตา ราวกับว่าเป็นการผสานรวมความทรงจำในภาพฝันและภาพลวงเข้าด้วยกัน

ภาพของห้องพักโรงแรมซึ่งเป็นโมทีฟสำคัญของภาพทรงจำจากการเดินทางจะปรากฏเด่นชัดอีกครั้งในงานที่ชื่อ Beautiful Things (Liberty) และ Memory of Solitude ซึ่งแสดงแสงที่ส่องผ่านหน้าต่างห้องพัก โดยใน Beautiful Things (Liberty) จะแสดงภาพการถ่ายภาพผู้แสดงงานแสดงเรียกร้องประชาธิปไตยในชุดหมีสีส้มและหน้ากากขาวซ้อนทับอยู่อีกชั้น ซึ่งดูจะเป็นการตอกย้ำภาพทรงจำแห่งความประทับใจที่ศิลปินมีต่อความเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่แม้ว่าจะไม่ได้แสดงออกมาแบบตรงๆ

งานที่สะดุดตามากอีกชิ้นคือ Signs and Illusions ซึ่งอภิชาติพงศ์ ใช้ภาพถ่ายของกนกซุ้มลายไทยเกริกเกียรติที่ถูกยกลงมาติดไว้กับรั้วข้างทางโดยจะเห็นเพียงด้านหลัง เปรอะเลอะด้วยหยดสีเหมือนปูนขาวซ้อนทับทัศนมิติชั้น ชวนให้รู้สึกอยากหันไปเห็นอีกด้านว่าคือสัญญะอวยยศสิ่งใด สะท้อนภาพกลับแห่งการเคารพสรรเสริญในแบบไทยๆ ที่ให้ความหมายในเชิงเสียดเย้ยได้อย่างน่าใคร่ครวญ

สำหรับจอแสดงภาพเคลื่อนไหวที่ในนิทรรศการภาคแรกมีแข่งประชันกันถึงสามจอ ใน ‘ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย’ ภาคนี้ อภิชาติพงศ์ก็คงเหลือไว้เฉพาะจอในแนวบีบตั้ง TikTok aesthetic ราวกำลังนั่งดูจอสมาร์ทโฟนขนาดใหญ่เพื่อใช้แสดงงานที่ชื่อ Beautiful Things (Desires) โดยในคราวนี้อภิชาติพงศ์ไม่ได้ใช้จอในการแสดงภาพใดๆ แต่จะมีข้อความจากความทรงจำเรื่องต่าง ๆ ทยอยขึ้นมาให้ผู้ชมได้อ่านตามคล้ายการชม end credit หนัง เล่าสถานการณ์และภาพฝังใจอันหลากหลายคล้ายส่วนเสี้ยวความทรงจำสั้นๆ ไม่ได้ผูกร้อยเชื่อมโยงกันเป็นเรื่องเป็นราวที่สมบูรณ์ ซึ่งก็มีจะมีตั้งแต่การเล่าภาพของสฤษดิ์ถูกห่มคลุมด้วยผ้าขาว เด็กหนุ่มที่กระหายยาจนต้องคว้ามีดมาทำร้ายคนในบ้าน ทหารที่เป็นฝ่ายส่งยาบ้าขึ้นดอย การยกย่องอัจฉริยภาพในการวาดภาพทัศนมิติมี perspective แบบ realist ของขรัวอินโข่ง การเล่นคำอย่าง ‘มายากลของประวัติศาสตร์องคชาติไทย’ ฯลฯ ราวต้องการให้ผู้ชมเกิดมโนภาพจากถ้อยคำบอกเล่า สะท้อนทัศนคติเชิงกวีที่ถ่ายทอดผ่านถ้อยคำ ที่ทำหน้าที่ในการสื่อสารในรูปแบบที่ต่างจากงานชิ้นอื่นๆ

ในส่วนของผลงานที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับภาพยนตร์เรื่อง Memoria โดยตรง ก็มีภาพถ่ายที่จัดแสดงไว้บริเวณภายนอกอาคาร ทั้งภาพถ่ายที่ชื่อ Memoria-Hernan และ Memoria-Jessica ซึ่งแสดงภาพตัวละครสำคัญจากภาพยนตร์ขณะนั่งและนอนหันหลังให้ผู้ชมในห้องพัก ราวต้องการสะท้อนว่าความทรงจำต่อบุคคลหรือตัวละครส่วนใหญ่ มักเป็นภาพด้านหลังที่ไร้รายละเอียดของใบหน้า แต่จะมาในรูปลักษณ์ของโครงสร้างสรีระที่สามารถจะบอกได้ทันทีว่าบุคคลที่เห็นนั้นคือใคร และภาพถ่ายคู่ที่ชื่อ Beautiful Things (Two Continents) ตรงโถงทางเข้า ที่อภิชาติพงศ์แสดงภาพภาพเทียบเคียงระหว่าง ซากอาคารโรงหนังเก่าร้าง ณ แดนอีสานผ่านรูปเหลี่ยม กับภาพช่องรับแสงวงกลมทะลุผ่านเพดานที่อภิชาติพงศ์ ได้ถ่ายไว้ในช่วงที่เดินทางไปถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Memoria ที่ประเทศโคลอมเบีย เชื่อมโยงภาพสถาปัตยกรรมระหว่างสองทวีปที่แฝงความงดงามในรูปทรงเรขาคณิตที่แตกต่างกัน นอกจากนั้น ข้อความที่ปรากฏใน Beautiful Things (Desires) ก็มีส่วนที่กล่าวถึงยาชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะยาอัลปราโซแลม ยี่ห้อ XANAX ที่ตัวละคร Jessica พยายามถามหาในหนังเรื่อง Memoria อีกด้วย

สิ่งที่พิเศษในนิทรรศการ ‘ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย’ ภาคสองนี้ ก็คือ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุลไม่ได้จำกัดทัศนะเชิงศิลปะและความทรงจำต่างๆ ผ่านตัวเขาเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ได้ขยายพรมแดนแห่งมุมมองทัศนมิติ หรือ perspective ด้วยการเชิญให้ศิลปินท่านอื่นๆ มาร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย ชิ้นที่โดดเด่นที่สุดก็เห็นจะเป็นภาพเขียนสไตล์ naïve art ชื่อ ‘การฉีกกรอบปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ สู่ธรรมชาติอันสงบสุข’ โดย ณฐนน แสนจิตต์ ซึ่งอภิชาติพงศ์จงใจนำมาวางซ้อนทับฉากท้องพระโรงของการแสดงหมอลำจากนิทรรศการภาคแรก แสดงภาพความวุ่นวายท่ามกลางความคิดเห็นแตกแยกแตกต่างทางการเมือง และสถานการณ์ร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นม็อบสามนิ้ว อำนาจในการบริหารวัคซีนโควิด-19 ทั้งยี่ห้อ Pfizer และ Sinovac การคอร์รัปชั่นคดโกงของคนในเครื่องแบบ ฝ่ายปกป้องสถาบันดั้งเดิม ขนาบข้างภาพธรรมชาติแดนสุขาวดีมีสายรุ้ง ที่สุดท้ายแต่ละส่วนก็เหมือนจะอยู่คนละโลกกัน นับเป็นภาพสะท้อนทางการเมืองที่อาจต่างทัศนมิติไปจากวิถีการมองในแบบอภิชาติพงศ์ 

ส่วนงานประติมากรรมเพียงชิ้นเดียวในงาน คือ Thep Nelumbo Nucifera ผลงานของ Methagod ก็แสดงรูปตุ๊กตาคล้ายทหารหน้าตาแปลกประหลาดสีแดงฉานมีนัยน์ตาซ้อนกันสี่ดวงและองคชาติชี้แหลมสองลำ ให้ความรู้สึก grotesque คล้ายภาพฝันที่ต่างสไตล์ไปจากงานของอภิชาติพงศ์ไปอย่างเด่นชัด และในงานชิ้นสุดท้าย ซึ่งเป็นภาพเขียนชื่อ Untitled โดยศิลปินนิรนาม ก็เป็นภาพวาดขนาดเล็กแสดงภาคตัดศีรษะมนุษย์จนเห็นเนื้อสมองสีชมพู พร้อมข้อความว่า ‘Last night I had a dream where I could see my own right cerebral hemisphere’ ซึ่งก็เป็นงานที่สะท้อนถึงภาพฝันที่ผสมผสานกับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยบรรยากาศแบบไซไฟ ที่เหมือนจะเป็นความสนใจหลักของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุลในงานเกือบทุกชิ้นของเขาเลยทีเดียว

ในภาพรวมแล้ว ‘ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย’ ภาคหลังนี้ จึงเป็นเหมือนการมองห้วงประสบการณ์และความทรงจำในอดีตช่วงเวลาเดียวกันกับในภาคแรก ด้วยทัศนวิถีและมุมมองที่แปลกต่างออกไป สำหรับใครที่พลาดโอกาสในการชมนิทรรศการภาคแรกไปแล้ว ก็อาจไม่ถึงกับต้องถอดใจ เพราะยังมีโอกาสในการตามชมภาพยนตร์เรื่อง Memoria ร่วมกับนิทรรศการในภาคที่สองนี้ ซึ่งก็มีจุดเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงอยู่ไม่น้อยเลยเหมือนกัน

นิทรรศการ ‘ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย ภาคสอง’ A Minor History Part II: Beautiful Things จะจัดแสดงที่ มูลนิธิ 100 ต้นสน ไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน นี้ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  https://100tonsonfoundation.org

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save