fbpx
อ่านบันทึกความทรงจำ ของ ศาสตราจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน

อ่านบันทึกความทรงจำ ของ ศาสตราจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง [1]

 

ผมอ่านหนังสือบันทึกความทรงจำของอาจารย์เบ็น แอนเดอร์สัน แบบคนอ่านทั่วไปที่ไม่ได้เป็นนักเรียนของอาจารย์ และเคยพบกับอาจารย์แอนเดอร์สันจริงๆ ก็เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ตอนมีโอกาสเข้าไปช่วยแปลงาน Imagined Communities ร่วมกับผู้แปลคนอื่นๆ

เมื่ออาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กรุณาชวนให้ไปร่วมเสวนาที่จัดขึ้นเมื่อ วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม 2561 เพื่อระลึกถึงอาจารย์แอนเดอร์สันผ่านหนังสือบันทึกความทรงจำ A Life Beyond Boundaries อาจารย์ชาญวิทย์ถามผมก่อนว่าผมอ่านบันทึกความทรงจำของอาจารย์เบ็นแล้วหรือยัง เรียนท่านว่าผมอ่านแล้ว และนึกถึงความหลังอะไรได้หลายอย่างจากเรื่องที่อาจารย์แอนเดอร์สันเล่า เช่น ผมเป็นคนเรียนในรุ่นที่ยังต้องอ่านงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากหนังสือของ Harry J. Benda อาจารย์แอนเดอร์สันได้เล่าถึงอาจารย์ Benda ให้ผมได้รู้จักมากขึ้นในบทที่ว่าด้วยอาณาบริเวณและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสมัยปฐมกาลหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือเล่าถึงเบื้องหลังงานวิชาการของท่านที่เขียนเรื่องความคิดเกี่ยวกับอำนาจในวัฒนธรรมชวา ซึ่งอาจารย์วิทยา สุจริตธนารักษ์ กำหนดให้พวกเราที่เรียนกับท่านในวิชาความคิดทางการเมืองไทยสมัยนั้นต้องอ่านทุกคน เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับการพิจารณาความคิดเรื่องอำนาจในสังคมไทยที่อาจารย์วิทยาเป็นผู้เสนอโดยใช้งานของอาจารย์แอนเดอร์สันเป็นจุดตั้งต้น  ผมจึงอ่านหนังสือบันทึกความทรงจำของอาจารย์แอนเดอร์สันด้วยความเพลิดเพลินใจมาก

แต่ผมเรียนอาจารย์ชาญวิทย์ถึงข้อจำกัดของผมว่า ผมรู้จักกับอาจารย์แอนเดอร์สันก็เฉพาะแต่จากงานเขียนทางวิชาการของท่านบางเรื่องบางเล่มเท่านั้น และไม่ได้ตามงานรุ่นหลังๆ ในชุดฟิลิปปินส์ของท่านเลย และคนทั่วไปที่รู้จักอาจารย์แอนเดอร์สันจากผลงาน ซึ่งรวมทั้งผมด้วย คงอยากจะฟังผู้ร่วมเสวนาที่เป็นลูกศิษย์หรือคนที่วิสาสะคุ้นเคยกับอาจารย์แอนเดอร์สันมาก่อนมากกว่า แต่เมื่ออาจารย์ชาญวิทย์ยกเรื่องการแปล “กิจการเดินสารข้ามผ่านภาษา” อันเป็นบทสุดท้ายของ Imagined Communities ที่อาจารย์แอนเดอร์สันและอาจารย์ชาญวิทย์ส่งมาให้ผมแปล ว่าการแปลเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่เป็นหัวใจในการทำงานของอาจารย์แอนเดอร์สัน ให้ผมมาพูดในฐานะคนเคยแปลงานให้อาจารย์เบ็นก็ได้ ผมก็เลยไม่รู้จะขัดท่านอย่างไร

 

คนแปลงานกับการเดินสารข้ามด่านภาษา

 

เมื่อรับปากกับอาจารย์ชาญวิทย์ไว้ดังนั้น ผมเลยมีโอกาสหยิบบันทึกการอ่านของผมที่เคยจดความคิดต่างๆ ที่ได้จากงานของอาจารย์แอนเดอร์สันมาพลิกอ่านทวนอีกรอบ ข้อสังเกตที่ได้จากการอ่านงานของอาจารย์แอนเดอร์สันทั้งจากเล่มนี้และเล่มอื่นๆ ผมจดได้หลายประเด็นทีเดียว แต่ผมขอพูดถึงบุคลิกของงานวิชาการของท่าน ที่น่าตั้งข้อสังเกตไว้สัก 3 ข้อ คือ

1. ผมสังเกตว่าอาจารย์เป็นนักคิดมากกว่าจะเป็นนักทฤษฎี หรือพูดอีกแบบ อาจารย์แอนเดอร์สันเป็นคนทำงานกับแนวคิด มากกว่าที่จะทำงานบนฐานของทฤษฎีที่จะนำไปสู่การเสนอข้อพิสูจน์ต่างๆ ในบันทึกความทรงจำอาจารย์ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าทฤษฎีผ่านมาแล้วก็ผ่านไป คนรุ่นหนึ่งฝึกวิทยายุทธลับเขี้ยวลับคมกับทฤษฎีหนึ่งสำหรับจะใช้โจมตีทฤษฎีเก่า แต่แล้วไม่นานต่อมา ทฤษฎีที่เคยใช้เป็นอาวุธนั้นก็ตกสมัยไปและถูกแทนที่โดยทฤษฎีอื่นที่ใหม่กว่า เป็นที่ฮือฮามากกว่า ก่อนที่มันเองก็จะถูกทฤษฎีที่ใหม่ยิ่งกว่าเข้ามาแทนที่ต่อไป ในงานวิชาการของอาจารย์อย่าง Imagined Communities ผมพบว่าเนื้อหาในแต่ละบทประกอบด้วยแนวคิดกลุ่มหนึ่ง เช่น เทวดาแห่งประวัติศาสตร์ และ homogeneous, empty time ที่อาจารย์นำมาใช้เป็นแนวพินิจเพื่อทำความเข้าใจเรื่องหนึ่งๆ มากกว่าที่จะเป็นการมุ่งเสนอคำอธิบายจากตัวบททฤษฎีอย่างเต็มพิกัด

2. เมื่ออาจารย์ไม่ใช้ทฤษฎี แต่ทำงานกับแนวคิด วิธีการศึกษาของอาจารย์แอนเดอร์สัน ที่จะโยงแนวคิดที่อาจารย์พอใจมาใช้พิจารณาปรากฏการณ์หรือให้ความหมายแก่เหตุการณ์การกระทำต่างๆ อาจารย์แอนเดอร์สันใช้และสนับสนุนให้ใช้การเปรียบเทียบเป็นวิธีศึกษาสร้างความรู้ หรือใช้ตั้งข้อเสนอข้อสังเกตแปลกใหม่ อาจารย์ได้ให้คำแนะนำไว้ในหนังสือบันทึกความทรงจำเล่มนี้ด้วยว่าเปรียบเทียบอย่างไรจึงจะเห็นอะไรแปลกใหม่ อาจารย์เกษียร เตชะพีระ แปลบทนั้นออกมาให้พวกเราในพากย์ไทยเรียบร้อยแล้ว [2] ผมเองในเทอมนี้รับสอนการเขียนงานวิชาการแก่นิสิตแรกเรียน คำชวนของอาจารย์ชาญวิทย์มาถึงผมในขณะที่กำลังมองหาตัวอย่างที่จะใช้เป็นต้นแบบแสดงโครงสร้างและองค์ประกอบของบทความวิชาการ ผมเลยนึกถึงบทความหนึ่งของอาจารย์แอนเดอร์สันขึ้นมาได้ ที่ผมเห็นว่าเข้าท่าดี คือบทความเรื่อง “Old State, New Society: Indonesia’s New Order in Comparative Historical Perspective” ของอาจารย์ ซึ่งเป็นบทความวิชาการที่มีโครงสร้างอันเด่นชัดสำหรับเป็นเครื่องมือสาธิตให้เห็นวิธีการแบบหนึ่งในการเสนอคำอธิบายทางวิชาการ และการที่เราจะคิดต่อจากวิธีการนั้นออกไปได้อีกอย่างไร ทั้งจากส่วนที่เป็นจุดเด่นและจากส่วนที่เป็นข้อจำกัดในวิธีเปรียบเทียบที่อาจารย์แอนเดอร์สันใช้เขียนในบทความนี้ แต่เรื่องนี้คงต้องเขียนเป็นสื่อการสอนออกมาต่างหาก เพราะอรรถาธิบายเกี่ยวกับพื้นฐานการเขียนบทความวิชาการแบบนี้ไม่เหมาะกับความมุ่งหมายของวงเสวนา

3. งานของอาจารย์สะท้อนความรอบรู้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นความรู้ประวัติศาสตร์ ประวัติบุคคล ภาษา วรรณกรรม ปรัชญาความคิด วัฒนธรรม ศิลปะหลากหลายแขนง การเมือง เรื่องราวร่วมสมัยและต่างยุคสมัย และอาจารย์เขียนด้วยภาษาอันมีบุคลิกพิเศษของคนที่ผ่านการเรียนวิชาคลาสสิคกรีก-ละตินมาอย่างดี การจะแปลงานเขียนของอาจารย์ให้ออกมาดีทัดเทียมกับต้นฉบับจึงเป็นบททดสอบที่ท้าทายคนแปลอย่างมากทีเดียว ที่จะรักษาอรรถรสถ้อยคำและการสื่อความให้ตรงให้ครบให้ออกมาเป็นที่เข้าใจและเป็นภาษาอันมีชีวิตเช่นต้นฉบับ แปลออกมาแล้วหลายแห่งยังต้องตามด้วยเชิงอรรถ การเขียนขยายความ หรือการไม่ซื่อต่อต้นฉบับเพื่อที่จะทำให้คนอ่านเห็นนัยที่ซ่อนอยู่ เข้าใจความคิดความเปรียบที่มีนัยประหวัดแฝงอยู่ หรือเห็นการล้อเลียนเสียดสีที่อาจารย์ซ่อนไว้ หรือไม่ได้ซ่อนแต่จะเข้าใจนัยนั้นได้หมดก็ต้องเป็นคนอ่านที่รู้เหมือนที่อาจารย์รู้

ที่ขำก็คือเมื่ออาจารย์ต้องมาเป็นคนแปลงานของตัวเอง หรือเป็นคนตรวจแก้งานแปลนั้นในภาษาอื่นที่อาจารย์รู้และอ่านเขียนเข้าใจได้ดี อาจารย์ก็ตัดสินใจที่จะทรยศต่อต้นฉบับของตัวเองเช่นกัน การแปลจึงเป็นกิจกรรมที่อาจารย์สนุกกับมันมากและอยากชวนใครๆ ให้เข้ามาสนุกด้วยเพราะมันเปิดให้แก่การเรียนรู้ได้มาก จากการเห็นการทำงานของโครงสร้างและป้อมปราการของความหมายที่มีอยู่ในภาษาหนึ่งๆ ซึ่งเราจะไม่มีวันเห็นหรือตระหนักจนกว่าเราจะได้ลงมือแปล และโดยการแปลนั้นเราได้พบกับความยากในการจะพาภาษาหนึ่งลอดเข้ามาหาความหมายในอีกภาษาหนึ่งที่จะตรงกับมันนั้น แล้วพบว่ามันมีด่านสกัดทางอยู่ ผมแปลบทสุดท้ายของหนังสือ Imagined Communities ให้อาจารย์เสร็จไปแล้วหลายปี ผมจึงเพิ่งนึกออกว่าชื่อบทนี้ควรแปลเสียใหม่ว่า “กิจการเดินสารข้ามด่านภาษา” ต่างหาก

ด่านอะไรบ้างน่ะหรือ ผมขอยกตัวอย่างสักเรื่อง

ในหนังสือ Imagined Communities อาจารย์ใช้แนวคิด homogeneous, empty time ในบทที่มีคำนี้ ผมเข้าใจว่าผู้แปลบทที่มีคำและแนวคิดนี้ปรากฏได้ส่งข้อหารือมายังบรรณาธิการแปลว่าควรแปลคำนี้เป็นภาษาไทยว่าอย่างไร อาจารย์แอนเดอร์สันเขียนคำอธิบายความหมายของแนวคิดนี้มาให้ในวงเล็บพร้อมกับขอความเห็นมาให้พวกเราลองเสนอว่าน่าจะแปลอย่างไร  บทที่ผมแปลไม่มีคำนี้จึงนึกสนุกช่วยคิดว่าถ้าเราจะไม่แปล empty time ว่า ‘เวลาว่าง’ หรือ ‘เวลาว่างเปล่า’ เราจะแปลว่าอะไร เพราะการที่เกิดประเด็นถามขึ้นมาแบบนั้น บ่งว่าคงไม่อยากจะแปลกันตรงๆ ลงไปว่าเวลาว่าง เพราะมันจะสื่อความไปเป็นเวลายามว่าง ส่วนเวลาว่างเปล่ามันก็มีนัยไปในทางไร้ความหมายหรือหมดไม่มีเหลือ นี่เรียกว่าด่านความหมายในภาษาปลายทางดักอยู่ ไม่อาจแปลคำที่ดูเหมือนจะง่ายอย่าง empty อย่าง time นี้ได้ง่ายๆ

ผมลองเปิดพจนานุกรมอังกฤษ-สันสกฤต เพื่อจะดูว่า empty emptiness void ภาษาสันสกฤตใช้คำว่าอะไร ก็เลยพบว่าใช้คำว่า สุญญตา แต่ก็เหมือนกับพบด่านสกัดอีกด่านหนึ่ง เพราะถ้าใช้ ‘สุญญตากาล’ หรือ ‘กาลสุญญตา’ แปล empty time คงไม่แคล้วที่คนจะนึกว่าคำนี้เป็นของท่านพุทธทาสภิกขุแน่แท้ เพราะท่านเป็นคนใช้คำนี้มากกว่าใครจนเป็นที่รับรู้กันว่าเมื่อพูดถึงสุญญตาก็จะพากันนึกถึงท่านพุทธทาสก่อนใคร ไม่นึกถึง Walter Benjamin ดังนั้นแม้ว่า empty ในภาษาสันสกฤตจะแปลว่าสุญญตา แต่ด่านของท่านพุทธทาสที่สกัดอยู่ทำให้ไม่อาจใช้คำว่าสุญญตามาแปล empty time ได้ถนัด

สุดท้ายบรรณาธิการแปลคืออาจารย์ชาญวิทย์และอาจารย์แอนเดอร์สัน ตัดสินใจเลือกแปล homogeneous, empty time ว่า ‘สุญกาล, สหมิติ’ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าการพามาออกที่ด่านนี้ ก็ยังไม่สื่อความหมายไปถึงคำต้นที่เป็นแนวคิดของ Benjamin ได้ยินว่าอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ทักท้วงการแปลคำ/ความคิดเรื่องนี้ของ Benjamin ออกมาแบบนี้ ขอให้ถือว่าผมมีส่วนรับผิดชอบก็แล้วกันนะครับ ที่เสนอสุญญตาไปแปล empty แล้วพอจะเลี่ยงด่านสกัดความหมายของท่านพุทธทาส จึงพากันมาลงเอยที่สุญกาล อย่าได้โทษท่านที่แปลบทที่มีคำนี้เลย

บทเรียนในทางบวกจากเรื่องนี้ก็คือว่า ภาษาเป็นหนทางในการเข้าถึงความหมาย ที่ต่อออกไปหาความรู้ความเข้าใจ และการถ่ายทอดสื่อสารความรู้ความเข้าใจที่ได้นั้นให้ออกมาเป็นคำและความหมายเพื่อให้คนอื่นรับรู้อีกทอดหนึ่ง และเรียนรู้ได้ต่อไป อาจารย์แอนเดอร์สันจึงเห็นความสำคัญของภาษาว่าเป็นหนทางสำหรับการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่ภาษาเดียว แต่เป็นการเรียนภาษาใหม่ๆ และการแปลจากภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่ง เพราะอาจารย์เชื่อว่าการหาทางเดินสารข้ามด่านภาษา มันจะพาเราไปสู่การสังเกตสิ่งที่เราไม่เคยมอง หรือเคยมองอีกแบบ หรือเคยมองข้ามไป หรือเห็นแปลกในสิ่งที่เราเห็นจนคุ้นชิน และเปิดสายตาเปิดการรับรู้รับฟังของเราให้พบกับอะไรแปลกใหม่และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อีกนานัปการ

ดังนั้นถ้าจะพูดถึงสิ่งที่ผมเรียนรู้จากงานของอาจารย์แอนเดอร์สัน ผมคงพูดได้ใน 3 เรื่องที่กล่าวมาข้างต้น คือแนวคิดต่างๆ ที่อาจารย์ใช้ในงานวิชาการ วิธีการศึกษาเปรียบเทียบในแบบของอาจารย์กับคำแนะนำที่อาจารย์ให้ไว้ และภาษาในฐานะหนทางของการเรียนรู้ โดยส่วนหนึ่งที่สำคัญในหนทางนี้คือการเดินสารข้ามด่านภาษา อันได้แก่การแปล

แต่เมื่ออาจารย์ชาญวิทย์ชวนให้มาพูดระลึกถึงอาจารย์แอนเดอร์สันจากหนังสือบันทึกความทรงจำ ซึ่งฉบับภาษาอังกฤษตีพิมพ์ออกมาหลังจากอาจารย์ที่ถึงแก่กรรมแล้ว ผมจึงจะขอพูดถึงความประทับใจที่ผมได้จากหนังสือ A Life beyond Boundaries หรือ ชีวิตข้ามพรมแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเนื้อหาในหนังสือบทแรก

 

อาจารย์แอนเดอร์สันในบันทึกความทรงจำ

 

ผมคิดว่าบทแรกของหนังสือคือ “Shifting Youth” เป็นบทที่ทำให้คนนอกซึ่งไม่ได้รู้จักกับอาจารย์เป็นส่วนตัว เห็นเบเนดิกต์ แอนเดอร์สันในเนื้อดินที่บ่มเพาะเด็กชายคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาก่อนที่เขาจะกลายมาเป็นนักวิชาการเจ้าของผลงานเกี่ยวกับชาตินิยมที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และผมคิดว่าถ้าเรามีโอกาสได้เห็นในขณะที่อาจารย์กำลังเขียนบันทึกความทรงจำบทแรกนี้อยู่ เราจะมองเห็นรอยยิ้มพึงใจของอาจารย์ในยามที่อาจารย์เล่าเรื่องในบทนี้ออกมา

ผมคิดว่าทัศนะต่อชีวิตและบุคลิกทางวิชาการของอาจารย์ที่รับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างถือเป็นโอกาสขยายพรมแดนของการเรียนรู้สิ่งใหม่ ภาษาใหม่ ผู้คนและความคิดทั้งเก่าและใหม่ด้วยมุมมองแปลกใหม่ มีจุดตั้งต้นที่ไหนสักแห่งในช่วงเวลาจากวัยเด็กจนถึงวัยเล่าเรียนที่ก่อรูปความรู้สึกนึกคิดของอาจารย์ขึ้นมา จนเรารู้จักอาจารย์ในภายหลังต่อมาว่าเป็นคนมองโลกด้วยสายตากว้างไกลด้วยความคิดลึกซึ้ง และด้วยความหวังในสติปัญญาและความกล้าหาญของคนรุ่นใหม่อย่างที่อาจารย์เป็น แต่เมื่ออาจารย์ระลึกย้อนกลับไปในเวลาแห่งความทรงจำในวัยเด็กและถ่ายทอดให้เราทราบ ผมคิดว่าผมรู้แล้วว่าจุดตั้งต้นนั้นอยู่ที่ไหน หรืออยู่ที่ใคร

คนที่ประทับใจผมเป็นพิเศษและนึกอยากรู้จักให้มากกว่าที่อาจารย์เขียนไว้ คือ มารดาของอาจารย์ อาจารย์จะเหมือนแม่ของอาจารย์เพียงใดผมไม่อาจบอกได้ แต่ผมคิดว่า ผมคล้ายจะมองเห็นเงาประพิมพ์ประพายของมารดาทาบซ้อนลงมาที่ตัวอาจารย์ จากที่อาจารย์เล่า แม่ของอาจารย์เป็นคนรักการเรียนและอยากเรียนให้มากและสูงกว่าที่สังคมอังกฤษสมัยนั้นจะอนุญาตให้ผู้หญิงเรียนได้ เมื่อไม่ได้เรียนถึงขั้นสูงอย่างที่ตั้งใจ ผมคิดว่าแม่ของอาจารย์ได้ถ่ายทอดความมุ่งหวังในการเรียนรู้นั้นมาไว้ที่ตัวลูกแทน รวมทั้งถ่ายทอดความรักในการอ่าน ความสามารถทางภาษา ความพอใจในการเดินทางและการอยู่ในสถานที่แปลกใหม่ ความชื่นชอบในศิลปะหลายแขนงเช่น ละคร วรรณกรรม และการถ่ายภาพ การใช้เวลาว่างบ่มเพาะสุนทรียภาพอย่างการฟังการอ่านวรรณกรรมจากรายการวิทยุ  ตลอดจนการถ่ายทอดทัศนะการมองโลกอย่างกว้างขวางไม่นำความแตกต่างมาตั้งเป็นข้อรังเกียจเดียดฉันท์เพื่อนมนุษย์ สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ที่อาจารย์แอนเดอร์สันเล่าเกี่ยวกับมารดาและชีวิตในวัยเด็กของอาจารย์ อาจารย์เล่าด้วยความสุขใจ ผมจึงคิดว่าคนที่ตั้งต้นชีวิตข้ามพรมแดนให้แก่อาจารย์ก็คือมารดาของอาจารย์นี่เอง

อาจารย์แอนเดอร์สันพูดถึงโอกาส และให้น้ำหนักแก่โชคและโชคชะตาที่ผ่านเข้ามาเปิดพลิกความเป็นไปได้ในเส้นทางชีวิตของอาจารย์ แต่ถึงแม้อาจารย์จะยอมรับบทบาทของโชคและโชคชะตาก็ตาม การเข้าใจโลกแบบนี้ยังต้องให้ความสำคัญแก่การวางเป้าหมายเมื่อพบทางเลือกและการตัดสินใจว่าจะเลือกอะไรและเลือกด้วยเหตุผลวิธีคิดแบบไหนเช่นกัน และในวัยเด็กเราไม่ได้เลือกอะไรได้ด้วยตัวเองสักกี่มากน้อย มีคนอื่นเลือกไว้ให้ทั้งนั้น อาจารย์ได้แม่เป็นคนเลือกเส้นทางการศึกษาให้ เมื่อมารดาอาจารย์ต้องเป็นคนตอบคำถามของรัฐ ที่ในเวลานั้น ในไอร์แลนด์ยังมีการกำหนดว่าเด็กทุกคน ถ้าไม่เลือกเรียนภาษาไอริชก็ต้องเรียนภาษาลาติน อาจารย์เล่าว่าในทางเลือกระหว่างชาตินิยม คือภาษาไอริช กับ Catholicism คือภาษาละติน มารดาของอาจารย์ตัดสินใจให้อย่างไม่มีลังเลที่จะให้อาจารย์เรียนภาษาละติน

อาจารย์เคยถามแม่ว่าทำไมจึงเลือกละติน มารดาของอาจารย์อธิบายให้ฟังว่าละตินเป็นภาษาสะสมภูมิปัญญาของโลกตะวันตกและเป็นรากฐานสำหรับเรียนรู้ภาษาอื่นๆ ในยุโรปได้อีกหลายภาษา จากเหตุผลที่มารดาของอาจารย์อธิบายและจากบุคลิกทางวิชาการตลอดจนทัศนะต่อชีวิตของอาจารย์ในเวลาต่อมา ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า Catholicism ที่อาจารย์เอ่ยถึงข้างต้นนั้น อาจารย์ไม่ได้จะหมายถึงศาสนาโดยนัยเดียวเสียแล้ว ทั้งมารดาของอาจารย์และตัวอาจารย์เองน่าจะเสนอให้เรามองความหมายของคำนี้ด้วยนัยอีกแบบหนึ่ง คือ catholic ในความหมายของการบ่มเพาะความมีจิตใจอันกว้างขวาง การเปิดใจให้แก่การเรียนรู้สิ่งต่างๆ ทั่วไปหมดอย่างไม่ปิดกั้นตนเอง และการทำงานในส่วนที่ตนเองสามารถทำได้ที่เอื้อเฟื้อเพื่อการมีชีวิตที่ดีของผู้คนวงกว้างทั่วไป เมื่อชีวิตการงานทางวิชาการของอาจารย์พาอาจารย์กลับมาหาชาตินิยมอีกครั้งหนึ่งเพื่อจับมันขึ้นมาศึกษาอย่างถ่องแท้ ข้อเสนออันเปี่ยมพลังของอาจารย์เกี่ยวกับชาตินิยมก็เป็นไปในทางที่ชี้ชัดผ่านภาษาเขียนอันมีสีสันแบบกระหวัดความหมายของอาจารย์ ในบทสุดท้ายของหนังสือ ชุมชนจินตกรรม อันเป็นบทที่อาจารย์กับอาจารย์ชาญวิทย์ส่งมาให้ผมเป็นคนแปล อาจารย์เขียนว่าชาตินิยมมี ‘คู่วิวาห์ที่ไม่มีวันหย่าขาดจากกัน’ คือ internationalism หรือนานาชาตินิยม/สากลนิยม ผมเห็นว่านี่คือการเขียนความเปรียบกระหวัดนัยเข้าหา Catholic แต่เป็น Catholic ที่พาเราข้ามไปหาความหมายตามบุคลิกทางวิชาการของอาจารย์คือความมีใจกว้างอีกเช่นกัน ไม่ใช่ Catholic โดยนัยที่เป็นศาสนา

และเป็นมารดาของอาจารย์อีกเช่นกันที่ผลักดันจนอาจารย์ได้ไปเรียนที่อีตัน และผมคิดว่าสายตาที่มองเห็นการเปรียบเทียบและความตั้งใจที่จะมองแบบเปรียบเทียบที่จะติดตัวอาจารย์ตลอดมาเริ่มต้นขึ้นจากสถานะของอาจารย์ในสภาพแวดล้อมของอีตัน รวมทั้งการรู้สึกตัวว่าไม่ใช่คนที่จะทำงานเพื่อจักรวรรดิอังกฤษได้ ระหว่างบรรทัดที่ผมอ่านได้จากเรื่องเล่าชีวิตที่อีตันของอาจารย์ซึ่งอาจารย์เข้าไปเรียนโดยเป็นนักเรียนที่ได้รับทุนการศึกษาชวนให้ผมนึกถึงความเห็นของ Matthew Arnold ในบทความ “An Eton Boy” เขาเขียนไว้อย่างนี้ครับ

“The aged Barbarian will, upon this, mumble to us his story how the battle of Waterloo was won in the playing-fields of Eton. Alas! Disasters have been prepared on those playing-field as well as victories; disasters due to inadequate mental training – to want of application, knowledge, intelligence and lucidity.”[3]

ในบทแรก ผมยังเห็นอารมณ์ขันของอาจารย์ จากเบาะแสที่อาจารย์ให้ไว้ทำให้ผมเข้าใจว่าอาจารย์ไม่ได้สนใจนักในเรื่อง identity ซึ่งการเมืองสมัยนี้โดยเฉพาะการเมืองอเมริกันกลายเป็นการเมืองที่นำโดย identity กันมาก แต่ผมเข้าใจว่าอาจารย์อยากบอกอ้อมๆ ด้วยอารมณ์ขันของอาจารย์ว่าถ้าเข้าไปยึดไปถือ identity ว่าเราเป็นแบบใดแบบหนึ่งและต้องเป็นแบบนั้นคิดอย่างนั้นโดยเคร่งครัดมิติเดียวเข้าแล้ว การยึด identity อย่างนั้นมันจะกลับมายึดกุม มาตรึงเราไว้กับมัน ไม่ให้เราเคลื่อนย้ายออกจากจุดนั้นไปไหนต่อไหน ไปมองเห็นอะไรใหม่ๆ ได้อีก ทั้งๆ ที่ชีวิตและการมีและใช้ชีวิตให้มีชีวิตชีวาคือการให้โอกาสชีวิตมีความเคลื่อนไหวมีความเปลี่ยนแปลงมีการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อาจารย์จึงล้อว่า identity ถ้าไม่อยู่ในโจทย์คณิตศาสตร์ ก็มีไว้สำหรับระบุตัวผู้ตาย

ข้อสังเกตที่ผมพบอีกเรื่องหนึ่งในบทแรกเกี่ยวกับลักษณะของเวลาในความทรงจำของอาจารย์ เวลาในความทรงจำที่อาจารย์รำลึกถึงและเล่าออกมาให้เราได้ฟังนั้น อาจารย์เห็นตัวเองอยู่ในรอยต่อของเวลาที่กำลังเปลี่ยนจากสภาวะเดิมของยุคสมัยหนึ่งไปสู่สภาวะใหม่ที่เปลี่ยนแปลงยุคสมัยไปด้วย และเมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาจริง และเปลี่ยนโลกที่อาจารย์เคยอยู่เคยเรียนเคยพบหรือเคยเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนั้นไปอย่างไม่หวนกลับคืน ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ทำให้อาจารย์นึกหวาดหวั่นหรือเฝ้าหวนนึกถึงโลกที่ผ่านเลยไปแล้วในแบบพาฝัน ตรงกันข้าม อาจารย์เดินหน้าเข้าหาความท้าทายใหม่ๆ ด้วยความสดชื่น แม้ว่าการทำอย่างนั้นอาจหมายถึงการต้องไปเริ่มต้นใหม่ เรียนภาษาใหม่ พบผู้คนใหม่ เปลี่ยนทางในการสร้างความรู้ใหม่ อาจารย์จึงเป็นผู้สังเกตการณ์ที่มีสายตาอันแหลมคมสำหรับมองความแตกต่างของยุคสมัย เพราะนอกจากอาจารย์จะเคยเห็นและมีโอกาสได้รับส่วนดีที่สุดของโลกที่ผ่านเลยไปแล้ว อาจารย์ยังมีแนวคิดแปลกใหม่ มีกรอบการเปรียบเทียบเป็นวิทยายุทธและมีหนทางการเรียนรู้ที่ช่วยให้มองเห็นและเข้าใจในตื้นลึกหนาบางที่มีอยู่ในความแตกต่างระหว่างผู้คน วิถีปฏิบัติ และห้วงเวลา เมื่ออาจารย์ถ่ายทอดความเข้าใจเหล่านั้นออกมา เราคนอ่านก็ได้ความเข้าใจเกี่ยวกับความคิดและวิธีคิดของอาจารย์จากแนวทางและผลของการศึกษา และจากท่าทีของอาจารย์ต่อความเปลี่ยนแปลง

บทแรกในหนังสือจึงให้เวลาในความทรงจำของอาจารย์ที่ทำให้คนอ่านอย่างผมประทับใจ ผมจึงอยากใช้เรื่องนี้ข้ามมาหาแนวคิดหนึ่งที่อาจารย์ชื่นชอบ คือ homogeneous, empty time ไม่ใช่เพื่อที่จะมาอธิบายตัวแนวคิด แต่ผมอยากยืมคำจากแนวคิดนี้มาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเวลาในความทรงจำ และความคิดของอาจารย์แอนเดอร์สันเกี่ยวกับเวลาในความทรงจำของสังคม

 

Empty Time กับเวลาในความทรงจำ

 

อาจารย์แอนเดอร์สันชอบใจแนวคิดสำนึกการมองเวลาของสังคมสมัยใหม่ในลักษณะที่เป็น homogeneous, empty time ที่ท่านได้มาจาก Walter Benjamin เป็นพิเศษ ผมขอนำคำ empty time (คราวนี้ขอคงคำไว้ ไม่แปลเป็นไทยละนะครับ) มาใช้ต่อนิดหน่อย เพื่อบอกว่า เวลาในความทรงจำเป็นห้วงเวลาเฉพาะพิเศษแบบหนึ่ง ที่ประกอบด้วยความว่าง พร้อมให้การย้อนรำลึกพาเอาผู้คน ความสัมพันธ์ เหตุการณ์ ประสบการณ์ ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดอันซ้อนซับหลายหลากนานาประการ ซึ่งสงบรออยู่ในคลังของความจำได้หมายรู้ของเรา ทั้งที่ชัดแจ่มและพร่าเลือน ให้เลื่อนเข้ามาเรียงลงไปในห้วงเวลาที่ว่างอยู่ และทำให้ภาพที่ปรากฏขึ้นมาจากห้วงเวลาในความทรงจำนั้น ก่อเป็นความหมายบางอย่างขึ้นมาในสำนึก ในอารมณ์ความรู้สึก และในความคิดอ่านของเราที่เป็นผู้ย้อนระลึก เวลาในความทรงจำจึงมีความเป็นไปได้ปานกันที่จะเป็นห้วงเวลาแสนวิเศษ หรือเป็นห้วงเวลาที่เล่นงานเราให้เกิดความทุกข์ทรมานใจไม่หยุด ตามแต่สิ่งที่การย้อนรำลึกจะเลื่อนอะไรเข้ามาบรรจุไว้ในนั้น—ในห้วงเวลาเฉพาะพิเศษที่มีไว้ให้เราระลึกรู้อย่างเงียบงัน-หรืออึงอล-อยู่คนเดียว

อย่างไรก็ดี เวลาในความทรงจำของสังคม มันจะเคยเป็นเวลาว่างเปล่ามาก่อนไหม ผมไม่แน่ใจ แต่จากประสบการณ์ที่ผมรับรู้มา มันมีเรื่องราวให้เราจดจำบรรจุไว้ในนั้นเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้ว และเป็นอาจารย์แอนเดอร์สันเองที่บอกว่าเวลาในความทรงจำของสังคมคือเวลาสำหรับการจินตนาการถึงชาติ มันจึงเป็นเวลาของชาติที่การระลึกถึงอดีตจะประกอบพร้อมด้วยบุคคล เรื่องราว และความหมายเกี่ยวกับชาติอันดำรงอยู่มาก่อนและได้รับการสืบทอดต่อมา

การระลึกถึงหรือการจินตกรรมเกี่ยวกับชาติจึงเป็นเครื่องจัดความทรงจำร่วมกันของสังคมว่าจะจดจำอะไร จะจดจำไว้แบบไหน และจะไม่จำอะไร เวลาในความทรงจำของชาติจึงไม่ใช่เวลาที่จดจำทุกสิ่งทุกอย่างไว้ อดีตส่วนที่ไม่ได้ถูกจดจำไว้ในชาติหรือไม่ได้ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของชาติ มันอาจพยายามเปล่งแสงจางเลือนที่จวนจะสูญหายแล้วออกมาเผื่อว่าจะมีคนเห็นและจดจำมันไว้ หรือแสงนั้นอาจจะลับหายไปตลอดกาล ถ้าหากไม่มีนักประวัติศาสตร์สักคนมองเห็นเข้าและหาทางรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับมันขึ้นมาเพื่อให้ใครๆ ย้อนระลึกถึงมันได้และเก็บมันไว้เป็นเรื่องราวที่มีความหมายอยู่ในห้วงเวลาหนึ่งในความทรงจำของสังคม อย่างเช่นที่อาจารย์แอนเดอร์สันทำและนำมาเล่าไว้ในบันทึกความทรงจำเล่มนี้ว่า อาจารย์พยายามตามหาจนพบว่าใครเป็นผู้เขียนงานบันทึกประวัติศาสตร์ชวาสมัยถูกญี่ปุ่นยึดครอง ที่สาบสูญจากความทรงจำของสังคมไปแล้วในช่วงรอยต่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การได้รับเอกราชของอินโดนีเซีย ในงาน ชุมชนจินตกรรม อาจารย์อ้างความคิดของ Jules Michalet ไว้ในบท “ความทรงจำกับการลืม” เพื่อบอกเราว่า ห้วงเวลาในความทรงจำของสังคมแบบนี้ ผู้คนธรรมดาสามัญจะถูกลืมเลือนไปโดยง่าย “เหมือนกับหยาดน้ำตาที่แห้งเหือดไปพลัน”[4]

 

จาก Lady Murasaki และอุชเชนี ถึงเบ็น แอนเดอร์สัน

 

นอกเหนือจากงานเขียนงานวิชาการแล้ว อาจารย์แอนเดอร์สันยังเป็นนักอ่านวรรณกรรมตัวยง เรื่องที่อาจารย์ชอบมากเป็นพิเศษเรื่องหนึ่งคือ The Tale of Genji ของ Lady Murasaki Shikibu นวนิยายเรื่องแรกของญี่ปุ่น ธีมสำคัญธีมหนึ่งของนวนิยายเรื่องนี้คือการแสดงให้เห็นการเปลี่ยนผ่านของเวลา ทั้งเวลาของฤดูกาลและช่วงวัยในชีวิตคนที่เตือนใจคนอ่านให้เห็นถึงเวลาอันแสนสั้นของชีวิตและการดำรงอยู่เพียงชั่วครู่ยามของความงามที่เราพบในดอกไม้ ในสวน ในธรรมชาติรอบตัวและในศิลปะ ผู้คนในนวนิยายที่อยู่ในยุคเฮอังของญี่ปุ่นต้นศตววรษที่ 11 สื่อสารกันด้วยบทกวี ซึ่งผู้เขียนนำมาถ่ายทอดไว้ในนวนิยาย บทกวีเหล่านี้บ่งบอกถึงชั่วขณะอันเป็นนิรันดร์ พร้อมๆ กับบอกถึงช่วงเวลาแสนสั้นของชีวิตคน เมื่อนึกถึงบทกวีกับช่วงเวลาผ่านเลยของชีวิตในนวนิยายของ Lady Murasaki ที่อาจารย์ชื่นชม ผมก็นึกถึง Leonard Cohen ขึ้นมา เขาเคยเขียนไว้ว่า “บทกวีใช้เป็นหลักฐานของชีวิตได้ ถ้าชีวิตของคุณโชนแสงดี มันจะทิ้งเถ้าไว้เป็นบทกวี”

ในฐานะคนที่ติดตามผลงานของอาจารย์จากประเทศไทย ผมขอเลือกบทหนึ่งในกวีนิพนธ์ของ อุชเชนี มาแทนเถ้าอันเกิดจากชีวิตที่โชนแสงงดงามของอาจารย์แอนเดอร์สัน เพราะผมเห็นว่าเชื้อไฟในชีวิตของอาจารย์คือ “…ความคิดอิสระใคร่ผละโผน กระเจิงโจนจากกรอบและขอบขัณฑ์ สู่ทุ่งกว้างกลางแจ้งแสงตะวัน บ่มความฝันเฟื่องฟ่องละล่องไกล”

เถ้าอัฐิของอาจารย์แอนเดอร์สันถูกนำไปลอยลงในทะเลชวา แต่ความคิดอิสระจากการงานแห่งชีวิตของอาจารย์ลอยล่องไกลทั่วน่านน้ำอุษาคเนย์สู่ห้วงทะเลไพศาล.

เชิงอรรถ

[1] สำหรับงานสัมมนา “ชีวิตข้ามเขตแดน: A Life Beyond Boundaries” เพื่อระลึกถึงศาสตราจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (1936 – 2015) จัดโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มธ. วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ที่ห้องริมน้ำ ศศ. 107-108 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2] “กรอบการเปรียบเทียบ”, ใน เกษียร เตชะพีระ, เกาะบ่าครูเบ็นส่องเลนส์ดูโลก (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560), หน้า 179-199.

[3] Matthew Arnold, “An Eton Boy,” in Matthew Arnold, Essays in Criticism Third Series, with an Introduction by Edward J. O’Brien (Boston: The Ball Publishing Co., 1910), p. 255.

[4] ผู้แปลข้อความส่วนนี้และบทนี้ของหนังสือ Imagined Communities คืออาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save