fbpx

‘ไกล กะลา’ ลดอัตตา สลายความคลั่งชาติ จากประสบการณ์ ‘เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน’

เมื่อไม่นานมานี้ในงานเสวนา ‘กบฏเงี้ยวกับความเปลี่ยนแปลงในรอบ 120 ปี (พ.ศ.2445-2565)’ ซึ่งเป็นการเปิดตัวหนังสือผลงานของ ดร. ชัยพงษ์ สำเนียง ในชื่อ “กบฏเงี้ยว” การเมืองความทรงจำ:ประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวของ “คนล้านนา” มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หนึ่งในผู้ร่วมวงเสวนาเล่าว่า ประปาของสยามมีต้นกำเนิดมาจากตอนที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ขึ้นไปดูต้นแบบการทำน้ำประปาที่ปีนังฮิลล์ ซึ่งสร้างโดยปู่ของเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน[1] ทำให้ผมได้ย้อนกลับไปเปิดดูหนังสือ ไกล กะลา (A Life Beyond Boundaries) ที่เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน เป็นผู้เขียน โดยไอดา อรุณวงศ์เป็นผู้นำมาแปลไว้ ก็พบว่า คำพูดของอาจารย์ชาญวิทย์ในวันนั้นเป็นจริงทุกประการ โดยเนื้อความในหนังสือคือ 

“คุณปู่แองโกล-ไอริชของผมซึ่งเสียไปนานแล้วก่อนผมเกิด ก็มีหน้าที่การงานอยู่ในกองทัพของจักรวรรดิอังกฤษเช่นกัน (ในสมัยนั้น สำหรับชาวแองโกล-ไอริช ลูกชายคนโตจะเป็นผู้รับมรดกทรัพย์สินของบิดา ส่วนลูกชายคนรองๆ มักกลายเป็นพระหรือไม่ก็นายทหาร) ปู่ของผมเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกที่วูลวิช ซึ่งเน้นผลิตวิศวกรส่งไปประจำการที่อินเดีย  พม่า และมลายา ที่ปีนังอันเป็นถิ่นเกิดของพ่อผมนั้น และปู่ได้สร้างอ่างเก็บน้ำจืดไว้ซึ่งยังคงใช้งานได้จนถึงทุกวันนี้ เช่นกันกับท่าเรือที่ก็ยังทันสมัย  ทุกวันนี้ถ้าสังเกตดีๆ ตรงปีนังไฮท์ก็จะเห็นส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่ของบ้านสไตล์ไอริชหลังเล็กๆ ที่ปู่ออกแบบให้ไว้แก่ธิดาของเพอร์เซลล์ โอ’กอร์แมนซึ่งก็คือภรรยาของปู่และคือย่าของผม” (เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, ‘ไกล กะลา A Life Beyond Boundaries’, หน้า 20-21)

หลังจากที่ได้ฟังการเสวนาในวันนั้น ผมถึงได้กลับมาทบทวนความทรงจำเกี่ยวกับ ‘ไกล กะลา’ อย่างสนิทชิดเชื้อเหมือนที่อาจารย์ชาญวิทย์ได้เคยพูดถึงเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน อีกครั้ง และอีกครั้ง

ในเบื้องต้นที่ได้อ่านไกล กะลา คำถามก็คือว่า แล้ว ‘กะลา’ ที่เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน หรือที่ผู้ที่ศึกษาเรื่องชาตินิยมเรียกว่า ‘อาจารย์เบน’ นั้นหมายถึงอะไร และทำไมเราจะต้องหนีไปให้ไกลจากมัน

ในฉบับภาษาไทยมีการกล่าวถึงคำว่า ‘กะลา’ ที่ได้หยิบฉวยมาจากสุภาษิต “กบในกะลา” โดยอธิบายว่าสำนวนนี้มีใช้ในภาษาไทยและภาษาอินโดนีเซีย พร้อมให้ความหมายว่า “ชีวิตที่ไปพ้นจากกรอบจำกัดของความเป็นเขตแดนหรือพรมแดน อันหมายรวมได้ในหลายแง่ รวมถึงในแง่ของความเป็นชาติ”[2]

ส่วนคำว่า ‘ชาติ’ นั้น ผู้อ่านส่วนใหญ่อาจรู้จักจากหนังสือ ‘ชุมชนจินตกรรม: บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม’ (Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism) ที่อธิบายคำว่าชาติได้อย่างน่าสนใจว่า “ชาติ (nation) หมายถึง ชุมชนจินตกรรมการเมือง และจินตกรรมขึ้นโดยมีทั้งอธิปไตย และมีขอบเขตจำกัดมาตั้งแต่กำเนิด ชาติถูกจินตกรรมขึ้นก็เพราะว่าสมาชิกของชาติที่แม้จะเล็กที่สุดก็ตาม แม้จะไม่เคยรู้จักเพื่อนสมาชิกร่วมชาติทั้งหมดไม่เคยพบเห็นพวกเขาเหล่านั้นทั้งหมด หรือไม่เคยแม้กระทั่งได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของพวกเขาเหล่านั้นก็ตาม กระนั้นในจิตใจของแต่ละคนก็มีภาพพจน์ของความเป็นชุมชนร่วม” ดังที่เออร์เนสต์ เกลล์เนอร์ (Ernest Gellner) ได้กล่าวว่า “ลัทธิชาตินิยมหาใช่เป็นการตื่นขึ้นมามีจิตสำนึกของตนไม่ หากแต่เป็นการประดิษฐ์ (invent) ชาติที่หามีตัวตนอยู่ก่อนนั้นไม่”[3]   

ถึงแม้ว่าภาษาไทยกับภาษาอินโดนีเซียจะไม่มีความเกี่ยวพันกันและมาจากคนละตระกูล แต่ทั้งสองภาษาต่างก็มีภาพชะตากรรมภาพหนึ่งมายาวนาน คือภาพของกบ ที่ตลอดชีวิตของมันอาศัยอยู่ใต้กะลามะพร้าวผ่าครึ่งอันเป็นภาชนะที่ใช้กันทั่วไปในสองประเทศนี้ นั่งอยู่เงียบงันใต้เปลือกฝา มิช้านานเจ้ากบเริ่มรู้สึกว่ากะลานั้นแลโอบไว้สิ้นแล้วทั้งจักรวาล คติสอนใจตามภาพนี้ก็คือว่า เจ้ากบนั้นจิตใจคับแคบ ตามโลกไม่ทัน อยู่แต่บ้าน และพอใจกับตัวเองโดยไม่มีเหตุผล ส่วนผมเองไม่ได้อยู่ที่ไหนนานพอที่จะลงหลักปักฐานอยู่เพียงที่เดียว ไม่เหมือนกบในสุภาษิตนั้น[4]

กะลาที่ผู้เขียนกล่าวถึงนั้นก็คือการครอบงำในด้านต่างๆ โดยไม่ใช่แต่จะหมายถึงเพียงเขตแดนหรือพรมแดนแห่งความเป็นรัฐชาติ

เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน เป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางภาษา เขาสนใจภาษาต่างๆ มากมาย นับตั้งแต่ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษารัสเซีย ภาษาสเปน ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาตากาล็อก ภาษาเวียดนาม และอื่นๆ รวมไปถึงภาษาไทย แต่ภาษาที่เขาสามารถพูดได้เต็มปากว่าเก่งรองมาจากภาษาอังกฤษก็คือภาษาอินโดนีเซีย ขนาดที่ว่าเวลาหลับฝันก็ฝันว่าสนทนาเป็นภาษาอินโดนีเซียเลยทีเดียว

“…ในช่วงหลังของชีวิตการงาน ผมใช้เวลาหลายปีศึกษาและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยกับฟิลิปปินส์ ทั้งสองแห่งเป็นที่ที่ผมตื่นตาตื่นใจ และทั้งสองแห่งเป็นที่ที่ผมรัก แต่อินโดนีเซียคือรักแรกของผม ผมพูดและอ่านภาษาไทยกับภาษาตากาล็อกได้ แต่อินโดนีเซียต่างหากคือภาษาที่สองของผม และยังคงเป็นภาษาเดียวที่ผมเขียนได้คล่อง และเขียนได้ด้วยความสำราญเป็นที่สุด บางครั้งผมยังฝันเป็นภาษาอินโดนีเซีย”[5] 

เมื่อลองย้อนดูความเป็นมาของเขา ก็เหมือนย้อนดูเส้นทางแต่ละช่วงอายุที่เขาต้องไปศึกษาเรียนรู้ภาษาต่างๆ อันจะโยงเข้ามาสู่คำว่า ‘ไกล กะลา’ อันเป็นชื่อหนังสือที่อยู่ในมือนี้

เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1936 ที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน ภาษาที่เขาพูดเป็นภาษาแรกคือภาษาเวียดนาม เพราะช่วงเวลานั้นมีพี่เลี้ยงเป็นหญิงชาวเวียดนาม โดยเขาเล่าว่า “ครั้งหนึ่งแม่เคยบอกผมว่า คำแรกๆที่ผมพูดนั้นเป็นภาษาเวียดนาม ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ เสียดายว่าเด็กๆ นั้นรับภาษาเข้ามาได้ไวมาก แต่ก็ลืมเร็วมากเช่นกัน”[6]

นอกจากนี้ ในวัยเด็ก แม่ของเขายังให้เขาเรียนภาษาละติน ซึ่งเปรียบเหมือนแม่ของภาษายุโรปตะวันตก อาทิ ภาษาฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส และอิตาลี[7]

“…เราถูกสอนอย่างจริงจังเรื่องการเขียน เราต้องฝึกเขียนบทกวีของตนเองเป็นภาษาละติน และแปลบทกวีภาษาอังกฤษเป็นภาษาละติน เรายังต้องศึกษางานร้อยแก้วชิ้นเอกในภาษาอังกฤษจากศตวรรษที่สิบหกถึงสิบเก้าด้วย และท้ายที่สุด เราต้องจดจำและท่องบทกวีจำนวนมากในภาษาต่างๆ ให้คนอื่นฟังให้ได้ จนทุกวันนี้ผมยังมีบทกวีอยู่ในหัวทั้งภาษาละติน กรีก ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย และกระทั่งชวา”[8]

เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน กล่าวถึงปูมหลังของความสนใจเรื่องภาษาไว้อย่างน่าสนใจว่า ด้วยสภาพความเป็นอยู่หรือที่เขาเรียกว่า ‘ในทางภูมิศาสตร์’ นั้น เขาถูกเตรียมพร้อมมาโดยไม่ทันรู้ตัวให้มีความคิดความอ่านแบบพลเมืองโลก…เขาได้อยู่ในพื้นที่ต่างๆ เช่น ยูนนาน แคลิฟอร์เนีย โคโลราโด ไอร์แลนด์ และอังกฤษ ประกอบกับการเลี้ยงดูโดยพ่อที่เป็นคนไอริช แม่ที่เป็นคนอังกฤษ และมีแม่นมที่เป็นคนเวียดนาม ขณะที่ภาษาในครอบครัวคือภาษาฝรั่งเศส และในห้องสมุดของพ่อแม่เขาก็ยังมีหนังสือมากมายที่เป็นของนักเขียนชาวจีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส รัสเซีย อิตาเลียน อเมริกัน และเยอรมัน เป็นต้น[9]

เขาผ่านช่วงชีวิตและการเดินทางไปหลายแห่ง เรียนหนังสือในไอร์แลนด์และบริเตน ไปทำงานทางวิชาการ โดยเป็นผู้ช่วยสอนที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล ในสหรัฐอเมริกา ด้วยวัยเพียง 21 ปี[10] รวมทั้งทำงานภาคสนามในอินโดนีเซีย สยาม และฟิลิปปินส์ กระทั่งได้เขียนหนังสือชุมชนจินตกรรม ที่ได้รับการแปลไปในหลายภาษาและหลายเวอร์ชัน ในโลกที่ต้องอ่านค้นคว้าด้วยหนังสือ ซึ่งเขาบอกไว้ว่าช่างเป็นความทรงจำที่งดงาม

แล้วอะไรกันเล่าที่ทำให้รู้สึกว่า โลกกำลังจะไปในทิศทางเดียวกัน และขาดความหลากหลายทางภาษา ในโลกสมัยใหม่ที่อยู่แค่ปลายนิ้วมือ โดยการค้นความหมายทำได้ด้วยกูเกิล (Google) ขณะที่ในอดีตการค้นคว้าต้องผ่านตำรับตำรามากมาย

ภาษานั้นมีอำนาจกว่าที่เราคิด ดังตัวอย่างที่เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน กล่าวถึงความรู้เกี่ยวกับภาษารัสเซียว่า “ผมเคยเริ่มเรียนภาษารัสเซียไว้ที่อีตัน ตอนที่ผมหวังจะอ่านงานของตูร์เกเนฟ, โกโกล, ดอสโตเยฟสกี้, กอนชารอฟ และเลสคอฟ ในภาษาต้นฉบับ”[11]

ส่วนในช่วงที่เขาเป็นอาจารย์ เขากล่าวว่า “ราวปี 2007 ผมไปที่เมืองเลนินกราดเพื่อช่วยสอนในชั้นเรียนระดับสูงว่าด้วยชาตินิยมให้แก่อาจารย์รุ่นใหม่ในมหาวิทยาลัยตามเมืองชนบทหลายแห่งในรัสเซีย…แต่เพื่อความเป็นพวกพ้อง ผมจึงเริ่มท่องบทสุดท้ายของกวีนิพนธ์ที่งดงามชิ้นหนึ่งของวลาดิมีร์ มายาคอฟสกี ฯลฯ”

นอกจากนี้ เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ยังกล่าวถึงความงดงามทางภาษาที่อยู่ในรูปแบบจดหมาย แต่ได้ถูกทำลายไปด้วยการเปิดดูความหมายทางกูเกิล ที่เขาเองได้กล่าวว่า “พวกเขายังเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการท่องจำที่กูเกิลกำลังมาปิดฉากมันลงไป แต่อย่างน้อยก็ยังมีพื้นที่สงวนบางแห่งซึ่งยังไม่ถูกแตะต้อง นั่นคือจดหมายที่เขียนด้วยลายมือของใครต่อใครก็ไม่รู้ที่เก็บอยู่ในห้องใต้หลังคาหรือหีบของครอบครัว ที่บางครั้งก็ยังยืนยงมาอย่างลับๆ นับทศวรรษหรือกระทั่งนับศตวรรษ อาจจะรู้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่กูเกิลคือสัญลักษณ์ของสิ่งที่เป็นลางหายนะกว่านั้นมากนัก นั่นคือการครอบงำในระดับโลกของรูปแบบ (อเมริกัน/กะลาแบบอเมริกา) ของภาษาอังกฤษที่เสื่อมลง ทุกวันนี้ ในสหรัฐฯ เองถือเป็นเรื่องปกติที่อ่านงานทฤษฎีต่างๆ ซึ่งฐานบรรณานุกรมอ้างอิงที่ใช้นั้นเป็นภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน…”[12]

เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ยังบอกเล่าถึงความหลงชาติคลั่งชาติเป็นระยะๆ ตั้งแต่เป็นเด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ นั่นก็คือกะลาที่คอยครอบเป็นช่วงๆ นั่นเอง แต่เขาก็ไม่ลดละ พยายามที่จะออกจากกับดักที่มองไม่เห็น (เหมือนกะลาที่ขยันหมั่นเพียรที่จะคอยครอบกบอยู่ร่ำไป) เช่น ช่วงที่เขาเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อเขาไปดูหนัง เขาก็ได้ลุกจากเก้าอี้เมื่อถึงช่วงที่ต้องยืนเคารพเนื้อหาของบทเพลงชาติขรึมขลัง ในช่วงเวลาดังกล่าว หลังจากหนังฉายจบนั้น เขาก็มักจะถูกลอบทำร้ายจากกลุ่มที่รักชาติบ้าบิ่นที่เห็นว่าเขาทำในสิ่งไม่ถูกกาลเทศะ ช่วงที่ออกมาจากโรงหนัง[13]

จุดเล็กจุดน้อยนี้ทำให้เขาเกิดความสนใจว่าทำไมผู้คนถึงให้ความสำคัญกับความเป็นชาติมากนัก เขามองว่าความเป็นชาตินิยม ความรักชาติอย่างไม่ลืมหูลืมตา ได้ทำให้เกิดสงครามเล็กๆ ไปจนถึงสงครามใหญ่ๆ หลายครั้งในโลก รวมไปถึงความขัดแย้งมากมาย หากมองย้อนกลับไป คนเราจะต่างอะไรกับกบที่โดดเดี่ยวเดียวดาย ที่คิดว่าอยู่ในกะลาที่เป็นโลกกว้างใหญ่ ดังนั้นกบจึงต้องเดินทางไกล เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน จึงออกเดินทางและค้นหาความหมายโดยผ่านการทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย การเขียน  การอ่านหนังสือวรรณกรรม เหมือนเช่นกบที่กระโดดผ่านยุคสมัย

เมื่ออ่านไกล กะลา จนถึงหน้าสุดท้าย หากคุณพลิกกะลา ก็จะเห็นกบตัวใหญ่ที่กำลังบรรยาย โดยมีกบตัวเล็กตัวจ้อยนั่งฟังคำบรรยายอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง บางทีคุณอาจรู้สึกขื่นขัน หากคุณมองให้ดีก็อาจคุ้นๆ กับกบตัวใดตัวหนึ่งที่กำลังชุมนุมอยู่นั้น เมื่อคุณลองสบตากบ แล้วนิ่งนึกว่าเคยเห็นกันที่ไหน ในโลกที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงนั้น ใช่จะหมายถึงแต่การครอบงำหรือ ‘กะลา’ ที่หมายถึงในแง่ความเป็นชาติหรือเส้นเขตแดน หากกบทุกตัวบนโลกนี้กระโดดไม่พ้นล้มหัวคะมำไปชนขอบกะลา หรือกระโดดออกจากกะลาหนึ่ง แล้วไปตกอีกกะลาหนึ่ง กระทั่งทุกอย่างได้กลายเป็นสิ่งที่อาจครอบงำทุกสรรพชีวิต

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน เผยความในใจออกมาว่า วิธีหนึ่งที่แต่ละคนจะออกมาจากสิ่งที่ถูกครอบงำได้นั้นก็คือการยอมรับความหลากหลาย เขาบอกว่าทุกวันนี้เป็นลางที่ดีที่จะละลายบางสิ่งบางอย่างให้เจือจางก่อนที่จะพัฒนามาเป็นกะลาครอบให้หมดไป นั่นคือการเรียนรู้ภาษา เพราะจะเป็นการช่วยให้ความคลั่งชาติลดน้อยลง  

“ข้อเท็จจริงที่ว่าคนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นกำลังเรียนภาษาพม่า คนรุ่นใหม่ไทยเรียนภาษาเวียดนาม  คนรุ่นใหม่ฟิลิปปินส์เรียนภาษาเกาหลี และคนรุ่นใหม่อินโดนีเซียเรียนภาษาไทยนั้น คือลางบอกเหตุที่ดี พวกเขากำลังเรียนรู้เพื่อจะหนีออกจากกะลา และแหงนมองฟ้าเบื้องบนแล้ว ณ จุดนั้นก็จะเห็นความเป็นไปได้ของการถอยระยะออกจากความรู้สึกสำคัญตนและอาการหลงตัวเอง การเรียนภาษานั้นไม่ใช่เป็นการเรียนรู้เครื่องมือภาษาศาสตร์เพื่อการสื่อสาร แต่ยังเป็นการเรียนรู้ถึงวิถีความคิดและความรู้สึกของผู้คนที่พูดและเขียนภาษาหนึ่งซึ่งต่างไปจากภาษาของเรานั้นคือการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานของความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของพวกเขา…”[14]

อย่างไรก็ตาม เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้มีอยู่สองแก่นเรื่องหลัก เรื่องแรกคือความสำคัญที่มีต่อปัจเจกบุคคลและต่อสังคม และเรื่องที่สองคืออันตรายของการมีทัศนะโลกแคบอย่างอวดดี หรืออันตรายของการลืมไปว่า ชาตินิยมที่จริงจังนั้นคือชาตินิยมที่ผูกกันเข้ากับความเป็นสากลนิยม[15]

ในส่วนเทคนิคการลดอัตตาและปรับลดระดับความเข้มข้นของความคลั่งชาติ เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน พร่ำว่าก็ไม่ต่างอะไรกับกบตัวจ้อยที่คิดว่าพลัดหลงอยู่ในโลกใบเขื่อง แต่ที่แท้ก็เป็นเพียงแค่อาณาบริเวณในกะลาผ่าซีก ฉะนั้นการเรียนรู้ภาษาของชาติอื่นๆ นั้น เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ และการเข้าถึงความคิดความอ่าน อันจะเป็นการเปิดโลกทัศน์ เพื่อกระโดดออกจากความคิดคับแคบและหลงชาติ

ปิดท้ายด้วยเหตุการณ์เปิดตัวหนังสือกบฏเงี้ยวฯ ในครานั้น อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เล่าว่า ด้วยความสนิทสนมส่วนตัวกับเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ผมจึงมักพูดหยอกเย้าอาจารย์เบนอยู่บ่อยๆ ว่า 

ชาญวิทย์: เฮ๊ย! ตระกูลของยูมันเป็นพวกจักรวรรดินี่หว่า!

เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน มีท่าทีหงุดหงิดและมีท่าทีที่ยืนยันว่า ไม่ใช่เช่นนั้น

ชาญวิทย์หัวเราะ


เอกสารประกอบการเขียนบทความ 

  • ไกล กะลา A Life Beyond Boundaries’ เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน: เขียน I ไอดา อรุณวงศ์: แปล (สำนักพิมพ์อ่าน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2562)
  • การธำรงชาติพันธุ์ของคนทวายในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า (THE  DAWEI  ETHNICITY  IN THE THAI-BURMESE BORDERLAND)’ ภูมิชาย คชมิตร: เขียน (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2558)

References
1 จากงานเสวนา ‘กบฏเงี้ยว กับความเปลี่ยนแปลงในรอบ 120 ปี (พ.ศ.2445-2565)’ จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-SAC ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ณ ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา ร่วมเสวนาโดย ศ.(พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการหนังสือชุมชนจินตกรรม Imagined Communities , รศ.ดร.อนุสรณ์  อุณโณ  อาจารย์ คณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง  ผู้เขียน “กบฏเงี้ยว” การเมืองความทรงจำ:ประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวของ “คนล้านนา”
2 เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, ‘ไกล กะลา (A Life Beyond Boundaries)‘, 2562: หน้า 4
3 เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน, ‘ชุมชนจินตกรรม: บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม’ (Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism)‘, 2552: หน้า 9-11 ใน ภูมิชาย คชมิตร, ‘การธำรงชาติพันธุ์ของคนทวายในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า (THE DAWEI  ETHNICITY IN THE THAI-BURMESE BORDERLAND)’, 2558: หน้า 1
4 เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, 2562: หน้า 4
5 เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, 2562: หน้า 85
6 เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, 2562: หน้า 85
7 เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, 2562: หน้า 29
8 เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, 2562: หน้า 33
9 เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, 2562: หน้า 42
10 เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, 2562: หน้า 42
11 เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, 2562: หน้า 37
12 เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, 2562: หน้า 234
13 เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, 2562: หน้า 37-38
14 เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, 2562: หน้า 231
15 เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, 2562: หน้า 16

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save