fbpx
คำให้การของผู้ใหญ่อายุสิบสี่ปี A Horse Walks into a Bar

คำให้การของผู้ใหญ่อายุสิบสี่ปี A Horse Walks into a Bar

‘นรา’ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพ

 

ครั้งแรกที่ผมอ่านนิยายเรื่อง ‘ม้าตัวหนึ่งเดินเข้ามาในบาร์’ (A Horse Walks into a Bar) เมื่อหลายเดือนก่อน ความรู้สึกรวมๆ ที่เกิดขึ้น ‘เกือบจะ’ ตลอดการอ่าน คละเคล้าปนเปกันอยู่หลายอย่างทั้งบวกและลบ

ในด้านบวก มันมีแรงเร่งเร้าให้อยากติดตามไปจนจบ ด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่า เป้าหมายปลายทางของเรื่องจะนำพาผู้อ่านไปพบเจอกับสิ่งใด ถัดมาคือน้ำเสียงลีลาในการเล่าที่ ‘จิกกัด’ แบบคนปากจัดระดับเกินกว่าจะเรียกว่า ‘ปากหมา’ ไปเยอะ และวิธีการเล่าในแบบ ‘เล่นท่ายาก’

ส่วนในด้านลบ บุคลิกนิสัย (รวมถึงรูปลักษณ์ที่ได้รับการพรรณนาไว้) ของโดวาเลห์ จี ตัวเอกผู้ทำหน้าที่เล่าเรื่อง ไม่ชวนให้ผู้อ่านรักใคร่ผูกพันเอาเสียเลย เขาเป็นชายวัย 57 ปี สารรูปทรุดโทรม เกลียดชังโลกรอบๆ ตัว มองทุกอย่างด้วยสายตาเย้ยหยัน พูดจาหยาบคาย อุดมไปด้วยอารมณ์ขันไร้รสนิยม แสดงออกด้วยท่าทีโฉ่งฉ่าง ค่อนข้างไปทางน่ารำคาญ บวกรวมกับสถานการณ์ตลอดรายทาง ที่เต็มไปด้วยเหตุน่าอึดอัด กระอักกระอ่วนอยู่เนืองๆ

ที่หนักหนาสาหัสสุด คือ ตัวละครดังกล่าวพยายามบอกเล่าเรื่องราวต่อผู้คน (รวมทั้งผู้อ่าน) แต่กลับถ่ายทอดด้วยลีลาอ้อมค้อม วกวน เฉไฉออกนอกลู่นอกทางอยู่ตลอดเวลา (แต่ในที่สุดแล้ว ก็มีคำอธิบายและเหตุผลรองรับว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น)

ในย่อหน้าแรก ผมใช้คำว่า ‘เกือบจะ’ นะครับ นั่นหมายความว่า เมื่อติดตามอ่านจนจบ ความรู้สึกที่มีต่อนิยายเรื่องนี้ได้เปลี่ยนไป กลายเป็นด้านบวกเต็มๆ เมื่อทุกอย่างคลี่คลายแจ่มชัดว่า นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร? บอกเล่าด้วยวิธีเช่นไร? และสะท้อนถึงสิ่งใด?

จากอารมณ์เพลินๆ ระคนรำคาญตลอดระหว่างทางในการอ่าน กลายเป็นความรู้สึกเจ็บปวดสะเทือนใจร้าวลึกเมื่ออ่านจบ

เมื่อผมเกิดความคิดที่จะหยิบ A Horse Walks into a Bar มาแนะนำเล่าสู่กันฟัง จึงหยิบมาอ่านซ้ำทบทวนอีกครั้ง แต่การอ่านแบบรู้ตอนจบแล้วในครั้งนี้ ก็ยังคงให้อรรถรสและอารมณ์ความรู้สึกเช่นเดิมไม่ผิดเพี้ยน คือ เริ่มต้นติดลบ อึดอัดคับข้องในระหว่างทาง และลงท้ายประทับใจ

เล่าอย่างผิวเผินที่สุด A Horse Walks into a Bar เป็นนิยายว่าด้วยการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนที่บาร์แห่งหนึ่งในเมืองเนทันยา เหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ กินเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงตามท้องเรื่อง

เป็นการแสดงโชว์ที่ดำเนินไปอย่างทุลักทุเล กระท่อนกระแท่นติดขัด ทั้งจากแก๊กตลกที่ไม่ได้ผล กลายเป็นตลกฝืด ปฏิกิริยาไม่พอใจของผู้ชมการแสดง สถานการณ์คับขันบนเวทีแบบพร้อมจะล่มและพังไม่เป็นท่าอยู่หลายครั้งหลายครา

นี่ยังไม่นับรวมแก๊กตลกจำนวนมาก ซึ่งเป็นตลกหยาบโจ๋งครึ่ม ลามกสัปดน และอีกไม่น้อยที่มีเนื้อหาพาดพิงถึงประเด็นเปราะบางอ่อนไหว เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ ความเชื่อทางศาสนา นำความโหดร้ายสูญเสียจากสงครามมาเล่าเป็นเรื่องสนุก ฯลฯ

แต่สิ่งที่ทำให้ผู้ชมการแสดงเกิดความไม่พอใจมากสุด คือ นอกจากความคาดหวังที่จะได้ยินได้ฟังเรื่องตลก อยากหัวเราะ จะไม่ค่อยสมปรารถนา เพราะการเล่าเรื่องตลกออกมาได้ไม่ตลกแล้ว ที่หนักหนาสาหัสกว่านั้นคือ เมื่อโชว์เริ่มดำเนินไปสักพัก ทั้งผู้ชม (และเราท่านในฐานะผู้อ่านนิยายเรื่องนี้) ก็เริ่มสังเกตพบความไม่ชอบมาพากล ว่ามันไม่ได้ดำเนินไปตามครรลองปกติของการแสดงเดี่ยวไมโครโฟน มันเป็นความพยายามที่จะเล่าประวัติชีวิตหนหลังของตนเอง

A Horse Walks into a Bar ใช้การแสดงเดี่ยวไมโครโฟนเป็นแกนกลางเส้นเรื่อง แต่พล็อตที่แท้จริงแทรกตัวอยู่ในนั้นอีกชั้น

พล็อตที่ว่า คือ ประวัติชีวิตอันเจ็บปวด น่าเศร้าสะเทือนใจเมื่อครั้งวัยเด็กของโดวาเลห์ จี (หรือชื่อจริงโดฟ กรีนสไตน์)

พูดอีกแบบ นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าในรูปแบบ ‘คำสารภาพ’ หรือ ‘คำให้การ’ ของตัวละคร เรื่องเล่านั้นอาจเกี่ยวข้องกับความผิดในอดีตที่ตัวละครคิดว่าตนเองเป็นคนก่อ รวมถึงความรู้สึกผิดที่ฝังลึกอยู่ในใจ เป็นสิ่งที่แม้กระทั่งตัวเขาเองก็ไม่อยากหวนคิดถึง ขณะเดียวกันกลับถูกโบยตี ทุกข์ทรมานกับเรื่องราวเหล่านี้ และปรารถนาอยากจะปลดเปลื้องมันออกไปจากใจ ด้วยการเล่าให้ผู้อื่นรับทราบ

ตรงนี้คือ คำอธิบายว่า เพราะเหตุใด เรื่องเล่าบนเวทีการแสดงของโดวาเลห์ จี จึงไม่ค่อยคืบหน้าไปถึงไหนเสียที ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมัน ‘เล่ายาก’ ไม่ใช่ด้วยความสลับซับซ้อนของตัวเหตุการณ์ แต่เป็นความยากที่จะนึกถึงมัน และพูดมันออกมาให้ใครฟัง

นี่ยังไม่นับรวมว่า สิ่งที่ยากที่สุดในเรื่องเล่าเหล่านี้ คือ การเล่าให้ผู้ฟังเข้าใจถึงอารมณ์ความรู้สึกพัวพันซับซ้อนหลายอย่าง ระหว่างความตื่นกลัว หวั่นไหว ความรู้สึกอยากหลบหนี ไม่เผชิญหน้ากับความจริง การโยงใยไปสู่ความทรงจำอื่นๆ ช่วงวัยเยาว์ เหลื่อมซ้อนกับความเจ็บปวดรวดร้าวเมื่อนึกถึงมันในช่วงวัยปัจจุบัน

ปลายทางของเรื่องเล่านี้เป็นความลับที่ไม่พึงเปิดเผย แต่พูดกว้างๆ คร่าวๆ ตามที่นิยายเกริ่นไว้ราวๆ ช่วงกึ่งกลางเรื่องได้ว่า เป็นการเดินทางจากค่ายฤดูร้อน (เพื่อฝึกเตรียมเยาวชนให้พร้อมสำหรับการเป็นทหารในอนาคตอันใกล้) ไปเข้าร่วมงานศพครั้งแรกในชีวิตของเด็กชายโดฟ กรีนสไตน์วัยสิบสี่ปี

A Horse Walks into a Bar เขียนโดยเดวิด กรอสแมน ได้รับรางวัล Man Booker Prize เมื่อปี 2017 ซึ่งยอดเยี่ยมสมราคา ในการเล่าเรื่องราวเหตุการณ์อันสุดแสนจะร้าวรานเศร้าลึกได้อย่างทรงพลัง

ผมประทับใจกับเรื่องที่บอกเล่ามากเท่าๆ กับวิธีเล่า ซึ่งได้เกริ่นไว้แล้วว่า ‘เล่นท่ายาก’

เดวิด กรอสแมนใช้การดำเนินเรื่องส่วนใหญ่ผ่านปากคำของโดวาเลห์ จี บนเวทีการแสดง เป็น monologue หรือ ‘การพูดคนเดียว’ ยืดยาว เหมือนนำพาผู้อ่านเข้าไปนั่งชมการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนจริงๆ

ความยากเบื้องต้นคือ การสร้างอรรถรสโชว์เดี่ยวไมโครโฟนให้ครบถ้วนนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับเนื้อหาถ้อยคำที่เล่าออกมาแล้ว ยังมีองค์ประกอบสำคัญอื่นๆ ที่จำเป็นยิ่งยวดไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นการได้เห็นลีลาท่าทางของนักแสดง รวมถึงน้ำเสียงที่แปรเปลี่ยนไปมาขณะเล่า การดึงจังหวะช้าเร็ว

เมื่อกลายเป็นนิยาย และมีข้อจำกัดว่าต้องเล่าผ่านการใช้ตัวหนังสือล้วนๆ ให้ผู้อ่านเห็นภาพคล้อยตาม (และได้ยินสารพัดน้ำเสียงสำเนียงพูด) ผมคิดว่าเป็นโจทย์ที่ยากมหาหิน แต่เดวิด กรอสแมนก็ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง ด้วยฝีมือการเขียนแบบควบคุมทุกสิ่งได้อยู่หมัด

ทางแก้ปัญหาที่เดวิด กรอสแมนใช้ คือ สร้างอีกตัวละครหนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่เล่าเรื่องในฝั่งผู้ชม เป็นอดีตผู้พิพากษาที่เกษียณแล้ว ชื่อ อะวิไช ลาซาร์ อดีตเพื่อนเก่าเมื่อครั้งวัยเด็ก (ซึ่งขาดการติดต่อกันมาเนิ่นนาน จนฝ่ายหนึ่งถึงขั้นจำไม่ได้โดยสิ้นเชิง) ผู้ได้รับการชักชวน (ถึงขั้นอ้อนวอน) ทางโทรศัพท์จากโดวาเลห์ จี  ให้มาดูโชว์ แลกเปลี่ยนกับทัศนะสั้นๆ หลังชมการแสดงจบ ว่าเขามองเห็นอะไร?

ในฐานะคนดู ผู้พิพากษาอะวิไชทำหน้าที่อธิบายให้ผู้อ่านเห็นภาพบรรยากาศในบาร์ ภาษากายและน้ำเสียงของโดวาเลห์ จี บนเวที ปฏิกิริยาตอบสนองของผู้ชมคนอื่นๆ รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ของตัวเขาเองที่มีต่อเรื่องเล่าบนเวที

อย่างไรก็ตาม การใช้ตัวละครผู้พิพากษามาช่วยเล่าเรื่องเป็นมุมมองอีกด้าน ยังทำหน้าที่ไปไกลกว่าการแก้ปัญหาเรื่องความสมจริงของโชว์เดี่ยวไมโครโฟนนะครับ มันทำให้การเล่าเรื่อง เป็นไปในทาง ‘เล่นท่ายาก’ (แต่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายในการติดตาม) มากขึ้นไปอีก

อันดับแรกคือ ก่อให้เกิดการ ‘เรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า’ หลายชั้น พูดให้เข้าใจง่ายๆ ตัวนิยายทั้งหมดที่เราได้อ่าน เป็นการบอกเล่าของผู้พิพากษา เล่าถึงการแสดงของโดวาเลห์ จี ซึ่งเล่าสิ่งละอันพันละน้อยในการแสดงของเขา

เขียนให้ปวดหัวเล่นๆ ขึ้นอีก ในโชว์ดังกล่าวยังแฝงไว้ด้วยเรื่องเล่าชีวิตวัยเด็กของโดวาเลห์ จี ที่เล่าพาดพิงไปถึงใครต่อใครอื่นอีก หนึ่งในจำนวนนั้น คือตัวละครสำคัญที่เป็นคนขับรถ ผู้เล่าเรื่องตลกต่างๆ มากมายระหว่างการเดินทางอีกทอดหนึ่ง

พ้นจากการเล่าทบซ้อนกันหลายชั้นแล้ว เรื่องเล่าบนเวทีของโดวาเลห์ จี กับเรื่องเล่าของผู้พิพากษา ทำหน้าที่เหมือนบทสนทนาโต้ตอบกันในหลายทิศทาง มีทั้งฝ่ายหนึ่งชวนคุย อีกฝ่ายหนึ่งหลบเลี่ยง มีทั้งการรับ-ส่งคล้อยตาม มีทั้งการขยายความเหตุการณ์เดียวกันต่างมุมมอง มีทั้งการสลับเปลี่ยนข้ามฟากไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน (คล้ายๆ การดำเนินเรื่องในหนัง ด้วยวิธีใช้ภาพ flash back) ฯลฯ

นี่ยังไม่นับรวมการสร้างพล็อตย่อยรองลงมา เกี่ยวกับเหตุการณ์ในชีวิตของตัวละครผู้พิพากษา ซึ่งมีเรื่องราวคร่าวๆ ของตนเองแยกต่างหาก (โดยเฉพาะแง่มุมเกี่ยวกับการสูญเสียภรรยา และยังคงจมดิ่ง ผูกติดอยู่กับความทรงจำที่มีต่อเธอ)

ถึงกระนั้น ผมคิดว่า บทบาทหน้าที่สำคัญสุดของการสร้างตัวละครผู้พิพากษานี้ขึ้นมา ก็เพื่อตอกย้ำน้ำหนักเกี่ยวกับประเด็น ‘ความรู้สึกผิดในใจ’ ของตัวเอกทั้งสอง

เรื่องเล่าในการแสดงของโดวาเลห์ จี รื้อฟื้นความทรงจำวัยเยาว์ของผู้พิพากษา ซึ่งมีหลายวาระที่เขาเลือก ‘ปลอดภัยไว้ก่อน’ ด้วยการแกล้งทำเป็นไม่รู้จักโดวาเลห์ จี หนักข้อถึงขั้นพยายามลืมจนไม่หลงเหลือเพื่อนวัยเด็กอยู่ในความทรงจำอีกเลย

ขณะเดียวกัน เรื่องเล่าของโดวาห์เล จี ก็ทำให้ผู้พิพากษารำลึกความหลัง รู้สึกผิด และสามารถคลี่คลายปมในใจต่างๆ สำเร็จ

ในทางตรงข้าม การปรากฎตัวของผู้พิพากษาในฐานะ ‘ผู้ชมผู้ฟัง’ ก็เป็นส่วนหนึ่งของแรงหนุน ทำให้โดวาเลห์ จี สามารถ ‘สารภาพ’ เรื่องที่ทำให้เขารู้สึกผิด (และทำให้ชีวิตวัยเด็กของเขาจบลง เป็นความตายของเด็กชายอายุสิบสี่ ซึ่งเปลี่ยนแปลงตัวเขากลายเป็นอีกคนที่ตรงกันข้ามไปตลอดชีวิต) ออกมาจนลุล่วงครบถ้วน

ตลอดการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนของโดวาเลห์ จี เรื่องเล่าต่างๆ ทั้งที่เป็นแก๊กตลกสั้นๆ การเฉไฉนอกเรื่องสู่ประเด็นนั้นประเด็นนี้ การวิพากษ์วิจารณ์เสียดสีแบบเหวี่ยงแหครอบจักรวาล การหันมาแว้งกัดงานผู้ชมไม่เลือกหน้า รวมถึงการเล่าเรื่องราวในชีวิตของตัวเขาเอง ทั้งหมดนำเสนอด้วยน้ำเสียง ‘ทีเล่นทีจริง’ แบบใส่สีตีไข่จนล้นเกินอยู่ตลอดเวลา ผู้อ่านต้องพิจารณากลั่นกรองเอาเองว่า ตรงไหนควรจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ตรงไหนเป็นเรื่องเล่นเหลวไหลไม่มีมูล

คำบอกเล่าทางฝั่งผู้พิพากษา จึงเป็นเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งในการช่วยให้ผู้อ่านสามารถแยกแยะได้ว่า อะไรจริง อะไรเท็จ

และเมื่อถอดรหัสออกมาได้ก็จะพบว่า ชีวิตของโดวาเลห์ จี ทั้งวัยเยาว์และวัยปัจจุบัน ล้วนเต็มไปด้วยความเจ็บปวดน่าเศร้า

ในวัยเด็ก โดวาเลห์ จี โดดเดี่ยว ขาดเพื่อน รูปลักษณ์ของเขามีส่วนทำให้ตกเป็นเป้าของการกลั่นแกล้งรังแกอยู่เนืองๆ ขณะที่ในปัจจุบัน เขาเป็นชายวัยกลางคนที่ชีวิตพังไม่เป็นท่า ชีวิตแต่งงานล้มเหลวจบลงด้วยการหย่าร้าง ลูกๆ วางตัวหมางเมินห่างเหิน ที่ย่ำแย่เลวร้ายสุด คือ ป่วยเป็นมะเร็งและเหลือวันเวลาในชีวิตอีกไม่นานนัก

มีเหตุการณ์หนึ่งซึ่งผมคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญ นั่นคือ ในวัยเด็ก ทุกครั้งที่พบเจอเรื่องยุ่งยากเดือดร้อนใจ หนทางเอาตัวรอดหรือป้องกันตนเอง (กระทั่งว่า อาจเป็นพื้นที่เล็กๆ ซึ่งทำให้เขามีความสุข) ของโดวาเลห์ จี ได้แก่ การใช้มือเดินแทนเท้า มองโลกกลับหัวกลับหาง การกระทำดังกล่าว นอกจากจะทำให้คนที่มากลั่นแกล้งรังแกทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้ว่าควรจะเล่นงานอย่างไรแล้ว พฤติกรรมดังกล่าวยังเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้แม่ของโดวาเลห์หัวเราะ (ซึ่งทำให้เด็กชายรู้สึกมีความสุข)

ผมคิดว่า ลักษณะกลับหัวกลับหาง และความเป็นคู่ขัดแย้งตรงข้ามซึ่งปรากฎผ่านรายละเอียดสารพัดสารพันตลอดทั้งเรื่อง เป็นกลวิธีทางศิลปะที่เดวิด กรอสแมนนำมาใช้อย่างเป็นเอกภาพในงานเขียนชิ้นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจับคู่ระหว่างผู้แสดงกับผู้ชม, อดีตกับปัจจุบัน, พ่อกับแม่ ( ในแง่ของเพศหญิงเพศชาย),  ความใสบริสุทธิ์ของวัยเยาว์กับวัยปัจจุบันที่ใช้ชีวิตผ่านโลกจนหยาบกร้าน

รวมถึงคู่ตรงกันข้ามที่เด่นชัดและมีน้ำหนักมากสุด คือ อารมณ์ขันกับโศกนาฏกรรม (แง่มุมนี้มีให้เห็นแม้กระทั่งบนหน้าปกฉบับแปลภาษาไทย ซึ่งเป็นภาพใบหน้ายิ้ม แต่เมื่อมองกลับหัว กลายเป็นภาพใบหน้าเศร้า)

ชื่อเรื่อง ‘ม้าตัวหนึ่งเดินเข้ามาในบาร์’ มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องน้อยมากครับ มันเป็นเรื่องตลกเรื่องหนึ่ง ซึ่งคนขับรถเล่าให้เด็กชายโดวาเลห์ จี ฟังขณะเดินทาง (มิหนำซ้ำ ยังเป็นเรื่องตลกที่เล่าไม่จบอีกต่างหาก เพราะโดวาเลห์ จี บนเวที หันเหเปลี่ยนไปพูดเรื่องอื่นโดยฉับพลัน และไม่ได้ย้อนกลับมาเล่าต่อให้จบครบถ้วน)

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าชื่อเรื่องนี้สะท้อนนัยยะสำคัญ มันเกิดขึ้นในสถานการณ์ผิดที่ผิดทาง ขณะตัวละครกำลังเดินทางไปงานศพเพื่อเผชิญหน้ากับความสูญเสีย พูดง่ายๆ คือ คนหนึ่งกำลังทุกข์โศก จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว อีกฝ่ายรู้สึกเป็นห่วง จึงพยายามปลอบโยนคลี่คลายสถานการณ์โดยเล่าเรื่องตลก

ส่วนผสมที่ขัดแย้งตรงข้ามดังกล่าว รวมถึงในรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ อีกมากมาย ส่งผลให้นิยายเรื่องนี้ อุดมไปด้วยอารมณ์ประหลาด ทำเรื่องเศร้าให้กลายเป็นเรื่องตลก ส่วนเรื่องที่ควรจะน่าขบขันกลับกลายเป็นหมองหม่น หดหู่ น่าเวทนา รวมทั้งเย้ยหยันเสียดสี ทำร้ายจิตใจกันอย่างไม่บันยะบันยัง

ลึกลงไปอีกระดับหนึ่ง เรื่องราวเหตุการณ์ส่วนบุคคลของตัวละคร มีความเป็นสากลมาก มันพูดถึงการก้าวข้ามผ่านวัย ความสูญเสียในชีวิต ความรู้สึกผิด และอะไรต่อมิอะไรมากมายที่ผู้อ่านทุกท่านสามารถเข้าใจและสัมผัสจับต้องได้ง่าย

แต่ในอีกขั้วหนึ่ง นิยายเรื่องนี้ก็เต็มไปด้วยรายละเอียดเฉพาะตัว เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ทางสังคม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวยิวในอิสราเอล ซึ่งผู้อ่านวงนอกยากที่จะเข้าใจกระจ่าง และรู้สึกร่วมคล้อยตามได้สนิท (แม้ว่าจะมีเชิงอรรถอธิบายอยู่เป็นระยะๆ แต่ก็ช่วยให้เข้าใจได้เพียงแค่คร่าวๆ ไม่สามารถเข้าถึงซาบซึ้งได้ทั้งหมด ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นธรรมชาติปกติของวรรณกรรมชั้นนำระดับโลก ซึ่งมักจะเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวไปกับสังคมที่นักเขียนใช้ชีวิตอยู่และสร้างผลงานออกมา)

กล่าวคือ ผมคิดว่าชะตากรรมของตัวละครในเรื่องกับชะตากรรมของประเทศชาติ มีความเกี่ยวโยงพัวพันส่งผลซึ่งกันและกันอยู่ แต่เชื่อมโยงส่งผลกระทบกันอย่างไรนั้น เกินความสามารถที่ผมจะทำความเข้าใจนะครับ

มีแง่มุมเล็กๆ อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งผมสะเทือนใจมาก คือ เมื่ออ่านจนจบแล้วผู้อ่านทราบว่า เกิดอะไรขึ้นกับตัวละคร (ที่ไม่สามารถระบุเปิดเผย)

นิยายได้เล่าแบบอมพะนำซ่อนความนัย ผู้อ่านรู้แค่เพียงว่า เกิดอะไรขึ้นกับตัวละครนี้ แต่ไม่บอกถึงที่มาที่ไปว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุใด มีรายละเอียดแน่ชัดอย่างไร

แต่จากรายละเอียดบางอย่างที่ได้เคยเล่าในระหว่างทาง ก็ชวนให้ผมคาดเดาเพิ่มเติม (ซึ่งอาจจะเดาถูกหรือผิดก็ได้)

และการคาดเดานั้นก็ทำให้ผมเศร้าสะเทือนใจหนักหนาสาหัสกว่าเดิมขึ้นไปอีก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save