fbpx

เยี่ยงอารยะ

ลอนดอน

22/05/2557


ตอนที่ได้ข่าวประยุทธ์ทำรัฐประหาร ผมกำลังนั่งรถไฟใต้ดินจาก zone 4 เข้าไป zone 1 ข่าวคราวจากเมืองไทยอัปเดตเป็นระยะบนหน้าจอโทรศัพท์ ยิ่งอ่านเสียงก่นด่าในใจก็ยิ่งหยาบคาย

ผมส่งข้อความไปบอกคนที่ร้านอาหารไทยที่ทำงานอยู่ว่ามีรัฐประหารแล้วนะ เธอถามกลับมาว่าแล้วค่าเงินจะเป็นอย่างไร เธอจะได้วางแผนเรื่องการแลกเงิน ก่อนจะลงท้ายว่า “อกหักใช่มั้ย? เป็นเสื้อแดงนี่”

ผมไม่ตอบอะไรเป็นการตัดบทสนทนา

วันนั้นที่ร้านยุ่งมาก ลูกค้าเข้าตั้งแต่เปิดประตู ผมต้องทิ้งงานในบาร์มาช่วยเสิร์ฟอาหารเป็นระยะ ตอนปิดร้านน้องชายเจ้าของร้านเดินไปซื้อเบียร์จากอีกฟากของถนนมาแจกคนละสองกระป๋องยาว “คลายเส้น” เราเรียกมันอย่างนั้นในวันยุ่งเหยิง เราจะไม่ดื่มเครื่องดื่มที่ขายในร้าน มันเป็นกฎที่ไม่เคยเขียนไว้ แต่ทุกคนรู้ดี

ปกติถ้าไม่ต้องไปนอนที่อื่น ผมจะนั่งเล่นและดื่มต่อจนกว่าจะแยกย้าย แต่คืนนั้นผมต้องไปจึงขอตัวกลับก่อน ลมเย็นในค่ำคืนของปลายฤดูใบไม้ผลิพัดมาบางเบา การเดินไปที่สถานีทำให้รู้สึกผ่อนคลาย

นั่นคือความรู้สึกของคนที่ไม่รู้ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นอีกไม่นานในนาทีต่อมา


23/05/2557


ประโยคแรกที่บิล หุ้นส่วนของร้านชาวมาเลเซียที่พูดไทยได้และคุ้นเคยกับลักษณะนิสัยของคนไทยกล่าวกับผมคือ “ทีนี้ประเทศยูแย่กว่าประเทศไอแล้วนะ” ก่อนจะวิจารณ์ลักษณะการพูดจาท่าทางของประยุทธ์ ผมจำรายละเอียดได้ไม่แน่ชัดนัก แต่ใจความสำคัญคือ “ดูแย่ ไม่มี charisma ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเลือกคนนี้มาเป็นผู้นำ”

หลังจากวันนั้นเขาก็วิจารณ์และพูดถึงประยุทธ์เหมือนพูดถึง a clown อยู่เสมอด้วยการเริ่มต้นประโยคว่า “ไอไม่เข้าใจว่าคนไทย…” ผมเองก็ตอบกลับไปด้วยการเริ่มต้นประโยคว่า “ไอก็ไม่เข้าใจว่าทำไม…” อยู่เสมอเช่นกัน

แต่สิ่งที่ค้างคาผมมาในใจตั้งแต่การรุกคืบอย่างไม่สนใจวิธีการของกลุ่มนกหวีดและผู้สนับสนุนคือความหมายและพฤติกรรมของคำว่า ‘คนดี’


กรุงเทพฯ 2564


ผมไม่แน่ใจนักว่าเห็นข่าวคราวของหนังสือ A History of Manners and Civility in Thailand จากใครเป็นครั้งแรก ทั้งชื่อเรื่องและภาพปกที่แสดงถึงสภาพความเป็นอยู่ของเจ้านายและบ่าวไพร่นั้นช่างชวนสะดุดใจ แต่ก็หาซื้อในเมืองไทยไม่ได้ (ไม่รู้ว่าจะมีใครแปลกใจเหมือนผมบ้างหรือไม่ว่าทำไม) ท้ายที่สุดผมก็ใช้บริการของ Amazon โดยยอมจ่ายค่าส่งพิเศษเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาการรอคอยที่ล่าช้าอันเนื่องมาจากโรคระบาด

ผมอยากรู้ว่า Patrick Jory ต้องการจะพูดอะไรกับสังคมไทยในเรื่องความเป็นมาของมารยาทและอารยะ ซึ่งเขาก็ไม่ทำให้ผมผิดหวัง



A History of Manners and Civility in Thailand เริ่มต้นด้วยการพาสายตากลับไปสู่เหตุการณ์การปะทะกันระหว่าง ‘เจ้า’ กับ ‘ราษฎร’ ในกรณีของนายจงใจภักดิ์และหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์เพื่อให้เห็นถึงระบบความคิดเรื่องที่สูงที่ต่ำของพวกเจ้าที่อยู่ในอำนาจนำก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 หลังจากนั้น แนวคิดเรื่องของ ‘มารยาท’ ซึ่งถือว่าเป็นคุณค่าสำคัญที่สังคมไทยยึดถือก็ค่อยๆ ถูกพินิจพิเคราะห์ ก่อนจะคลี่ออกมาให้เห็นองค์ประกอบสำคัญแห่งองคาพยพ

กลไกการจ้องมองไปยังมารยาท รวมไปถึงชุดคำศัพท์ในสาแหรกเดียวกันที่ Jory ใช้ประกอบไปด้วยกันมีสามมิติ (จากการจ้องมองด้วยสายตาของผม) มิติแรกคือแนวคิดทางมานุษยวิทยาเรื่อง Habitus (ซึ่งมีผู้ให้นิยามความหมายในทางวิชาการไว้แล้วมากมาย ตัว  Jory ได้เทียบเคียงคำนี้กับคำว่า ‘จริต’ ซึ่งผมเองค่อนข้างเห็นด้วย) แต่ในที่นี้ ผมขอเรียกมันว่า “นิเวศแห่งตัวตน” ซึ่งถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากแรงภายนอกของสังคม แรงภายในจากความคิดในสิ่งที่พบเห็น จนกลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของตนและของสังคม มิติที่สองคือแนวคิดเรื่อง The Civilizing Process หรือกระบวนการแห่งการสร้างอารยะของ Norbert Elias และมิติสุดท้ายคือแนวคิดเรื่องสถาบันกษัตริย์ไทยที่ผูกโยงอยู่กับความเชื่อด้านศาสนาใน Thailand’s Theory of Monarchy: The Vessantara Jākata and the Idea of the Perfect Man ซึ่งเป็นงานวิจัยในระดับปริญญาเอกที่ต่อมาพัฒนาขึ้นมาเป็นหนังสือของ Jory เอง

จุดตั้งต้นการสำรวจกระบวนการแห่งความเป็นอารยะจากมุมมองเรื่องมารยาทเริ่มต้นในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์และการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก อันเป็นจุดแรกเริ่มของการปะทะกันระหว่างค่านิยมของสยามเก่าและสยามใหม่

แต่เดิมรากฐานทางความคิดด้านการประพฤติตนของสังคมไทยนั้นวางตัวอยู่บนกรอบความคิดทางพุทธศาสนา การสำรวม กาย วาจา และใจ คือการขัดเกลาตัวตนเพื่อให้เป็นคนดีตามกฎและบทบัญญัติที่ทางศาสนาได้วางไว้เป็นแนวทางในการอยู่ร่วมกันและการปกครองสงฆ์ นอกจากนี้ การขัดเกลาตนคือการนำพาตัวตนให้พ้นไปจากกรรมเก่าที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน จนกว่าจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด การขัดเกลาหรือบำเพ็ญตนนี้มีความผูกโยงอยู่กับสถานะกษัตริย์ที่มีความเชื่อว่าเป็นสถานะสุดท้ายในการบำเพ็ญตนก่อนเข้าสู่การเป็นพระโพธิสัตว์หรือพระพุทธเจ้าในอนาคต ในแง่นี้ กษัตริย์จึงเป็นภาพแทนของความเพียบพร้อมไปด้วยบุญญาบารมีที่ผ่านการสั่งสมมาในแต่ละภพชาติ

อิทธิพลของกฎและบทบัญญัติอันเข้มงวดของพุทธศาสนาได้ถูกย่อเข้าสู่ทางโลกย์ผ่านการนำบางส่วนของธรรมวินัยที่เป็นข้อแนะนำสำหรับฆราวาสมาใช้ในการเรียนเกี่ยวกับความประพฤติหรือวิชาจรรยาโดยหม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล นักปฏิรูปการศึกษาคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5

ประเด็นสำคัญอีกประการที่ไม่สามารถละเลยได้คือประเพณีการบวชเรียนของชายไทย ซึ่งเป็นการนำตัวเองเข้าไปอยู่ภายใต้การขัดเกลาตนด้วยบทบัญญัติทางพุทธศาสนา เมื่อพวกเขาลาสิกขาออกมา อิทธิพลของความคิดเกี่ยวกับการปฏิบัติตนให้อยู่ในศีลในธรรมก็ติดตัวออกมาสู่สังคมทางโลกย์ด้วย แนวความคิดโดยย่อของพุทธศาสนาต่อการประพฤติตนต่อผู้อื่นในสังคมคือเรื่องของทิศ 6 

ต่อมาเมื่อสังคมไทยเริ่มได้รับอิทธิพลของตะวันตกพัดผ่านเข้ามากับสายลมแห่งการล่าอาณานิคม การเติบโตขึ้นของเศรษฐกิจและบทบาทของชาวต่างชาติได้ทำให้คุณค่าความคิดเรื่องการประพฤติตามลำดับขั้นที่แต่เดิมวางอยู่บนรากฐานของศาสนาเริ่มสั่นคลอน การพัฒนาที่รุดหน้าไปเรื่อยๆ ทำให้สิ่งที่มีคุณค่ามากขึ้นคือความสำคัญของการพึ่งพาอาศัยกันในกลุ่มต่างๆ ของสังคม แต่ในราชสำนักก็ยังมีบรรทัดฐานการประพฤติตนในรูปแบบของชนชั้นเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง

แนวคิดเรื่องสถานะกษัตริย์ที่เกี่ยวข้องกับคติเทวราชาอันสืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยาทำให้ราชสำนักไทยมีรูปแบบกฎเกณฑ์ในการวางตัวสำหรับข้าราชบริพารต่อกษัตริย์อย่างเคร่งครัด ข้อบังคับเหล่านี้ส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้ผ่านร่างกาย จึงทำให้เกิดธรรมเนียมของการหมอบราบ กราบกราน และคลานเข่า ที่มีศูนย์กลางของลำดับชั้นสูงสุดอยู่ที่กษัตริย์

กฎเกณฑ์อันเคร่งครัดต่อระเบียบพิธีต่างๆ ในราชสำนักได้เริ่มคลายตัวลงในสมัยกษัตริย์จุฬาลงกรณ์ที่ต้องการปรับรูปแบบของการปกครองให้ทัดเทียมกับอารยประเทศจากตะวันตกที่มองว่าเรื่องของการหมอบกราบและการมีทาสเป็นเรื่องพ้นสมัย โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้แก่การยกเลิกการหมอบคลานในปี 2416 และกระบวนการเลิกทาสและไพร่อย่างเด็ดขาดในปี 2488

อย่างไรก็ดี ยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าการหมอบกราบยังคงบังคับใช้นิยมใช้อยู่ในราชสำนักชั้นใน (ซึ่งในแง่นี้อาจตีความได้ว่าเป็นการสืบทอดราชประเพณีโบราณ และเป็นการเล่นบทบาทตีสองหน้าของราชสำนักต่อโลกภายนอก)

ผลสืบเนื่องจากการเลิกทาสและการคุกคามของกระแสล่าอาณานิคมทำให้กษัตริย์จุฬาลงกรณ์และราชสำนักต้องวางแผนปฏิรูปการปกครองใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมือง การลดอำนาจชนชั้นสูงหลายตระกูลที่อยู่รายรอบราชสำนัก การส่งลูกหลานว่านเครือในราชสกุลและราษฎรที่มีสติปัญญาไปเรียนรู้ศิลปวิทยาการจากยุโรป การขยายอำนาจการปกครองไปสู่หัวเมืองห่างไกลเพื่อสร้างขอบเขตดินแดนและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ ‘ความเป็นสมัยใหม่’ ต้องการพื้นที่ในการบริหารอำนาจเพิ่มขึ้น สิ่งที่ความเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นเรียกร้องออกมาอย่างเงียบๆ และค่อยๆ ดังขึ้นคือระเบียบสังคมแบบใหม่ในรูปของความประพฤติในระบบราชการของราชสำนัก

เมื่อสังคมการบริหารราชการที่แต่เดิมมีแต่ราชสกุลและชนชั้นสูงถูกกลุ่มสามัญชนที่มีความรู้ดีจากตะวันตกเข้ามามีส่วนร่วม ลำดับชั้นทางสังคมได้ถูกความรู้ท้าทายจนเกิดความปั่นป่วน ชนสูงศักดิ์เริ่มรับรู้แล้วว่าความเชื่อและคุณค่าเดิมเชิงพุทธศาสนา หน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ และลำดับชั้นทางสังคมนั้นไม่เพียงพอที่จะควบคุมความรู้อย่างใหม่ได้ จึงต้องมีการออกแบบคุณค่าอย่างใหม่เพื่อคงไว้ซึ่งสถานะสำคัญทางสังคมของสังคมลำดับชั้นแบบเดิม

สถาปนิกคนสำคัญที่เข้ามาดูแลระบบสถาปัตยกรรมอย่างใหม่ในการควบคุมปัญหาทางพฤติกรรมคือหม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล (อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการ) ผู้เป็นกำลังสำคัญในการวางระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่ในรัชสมัยของกษัตริย์จุฬาลงกรณ์ ผลที่ได้จากการออกแบบของหม่อมราชวงศ์เปียคือต้องมีการอบรมจริยธรรมผ่านการศึกษาเพื่อให้เป็น ‘พลเมืองดี’ และ ‘ผู้ดี’ (ขอให้จับตาคำหลังไว้อย่าให้คลาดสายตาเป็นอันขาด เพราะความหมายของคำนี้จะเริ่มเคลื่อนย้ายออกจากความมีชาติตระกูลที่ดีไปสู่ความหมายที่มาจากพฤติกรรมการครองตนในภายหลัง) สิ่งสำคัญที่แฝงอยู่ในสองคำนี้คือ ‘ผู้มีกิริยาดี’ โดยที่ ‘ผู้มีกิริยาดี’ นั้นครอบคลุมไปถึงการประพฤติตัวของข้าราชการที่ถือว่าเป็นผู้ช่วยแบ่งเบาการงานของกษัตริย์ในหัวเมืองห่างไกลด้วยเช่นกัน

ใจความสำคัญของการแต่งหนังสือสอนจริยธรรมอย่าง สมบัติของผู้ดี จรรยาแพทย์ พลเมืองดี เตือนเพื่อน และ ช่วยเพื่อน ของหม่อมราชวงศ์เปีย คือ “การผสมผสานความเป็นคนดีที่รู้จักที่สูงที่ต่ำในค่านิยมแบบเดิมของไทยเข้ากับศิลปวิทยาการสมัยใหม่ของตะวันตกที่เข้ามาพร้อมกับการปฏิรูปการศึกษาและการปกครอง” ทั้งนี้ก็เพื่อลดความขัดแย้งและเพื่อการควบคุมระเบียบของสังคมที่กำลังเกิดขึ้นบนพื้นที่หรือมิติใหม่ของสังคมไทย

สิ่งหนึ่งที่ควรหมายเหตุไว้เป็นสำคัญด้วยก็คือ โครงสร้างหนังสือสอนจริยธรรมของหม่อมราชวงศ์เปียนั้นพัฒนามาจากแนวคิดเรื่อง English Gentleman หรือสุภาพบุรุษชาวอังกฤษ ซึ่งต่อมาได้รับการพัฒนาให้มีความเป็นสากลมากขึ้น (อาจกล่าวได้อีกอย่างว่าซ่อนคุณค่าเดิมของเป็นไทยไว้ให้แนบเนียนมากขึ้น) โดย สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา นักเรียนนอกอีกคนหนึ่งที่เป็นเรี่ยวแรงหลักในการปฏิรูปการศึกษา

จริยธรรมที่แฝงความคิดเรื่องที่สูงที่ต่ำของผู้ดีนี้ได้แพร่หลายในหนังสือแนะนำคำสอนว่าด้วยความประพฤติทั้งในด้านการศึกษาและราชการอยู่เรื่อยมาจนกระทั่งการมาถึงของคณะราษฎร

การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยของคณะราษฎรได้ทำให้พลเมืองตระหนักถึงสิทธิของตนมากขึ้น ระบอบเก่าที่เป็นการปกครองในแนวดิ่งทั้งทางตรงและทางอ้อมซึ่งยึดถือกันมาถูกรื้อสร้างให้เป็นระบบในแนวราบ กิริยามารยาทกลายเป็นแนวรบสำคัญระหว่างชนชั้น เพราะคุณค่าของสังคมได้เน้นไปที่ความสำเร็จในเชิงปัจเจกบุคคลอันมาจากการศึกษาและการประกอบสัมมาอาชีวะมากขึ้น

การเข้ามาของคณะราษฎรทำให้สถานะของราชสำนักอ่อนแอลง ความสัมพันธ์แบบนายกับบ่าวก็คลายตัวตามไป ถึงกระนั้น การต่อสู้แย่งชิงสถานะ ‘ผู้ดี’ ก็ยังคงดุเดือดเมื่อมองไปยังการปะทะกันของข้อเขียนในทุกรูปแบบระหว่างนักเขียนที่ยังศรัทธาในระบอบเก่ากับระบอบใหม่ รัฐแบบประชาธิปไตยได้ให้คุณค่าแก่ความเป็นสากลที่อิงกับตะวันตก คู่มือต่างๆ อันเกี่ยวกับมารยาทและการวางตนในช่วงนี้ได้ถอยห่างออกมาจากพุทธศาสนาและเข้าสู่ความสัมพันธ์ทางโลกย์มากขึ้น มารยาทได้ครอบคลุมไปถึงการแต่งกาย การสนทนาที่เหมาะสมต่อสังคมที่ยึดถือความสำคัญของตัวบุคคลและการทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ จุดสูงสุดของการปลูกฝังมารยาทแบบตะวันตก (ที่ไม่ประสบความสำเร็จในขณะนั้น แต่เมื่อมองย้อนหลังกลับไปจากปัจจุบันจะเห็นความก้าวหน้าอย่างคาดไม่ถึงในหลายเรื่อง) คือ ‘รัฐนิยม’ ที่ท้ายสุดก็ไม่สำเร็จด้วยแรงต้านต่างๆ และการหมดอำนาจลงของแปลก พิบูลสงคราม

การเปลี่ยนแปลงการปกครองยังนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงสำคัญเกี่ยวกับความเป็นผู้หญิง ซึ่งแต่เดิมแนวคิดหลักในการวางตัวของผู้หญิงนั้นได้รับอิทธิพลจากราชสำนัก แนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยและพลเมืองทำให้สิทธิและเสียงของผู้หญิงมีมากขึ้น ข้อเขียนสอนหญิงที่สำคัญในอดีตอย่าง กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ หรือ สุภาษิตสอนหญิง ล้าสมัยไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอันรวดเร็ว สิ่งที่เข้ามาแทนที่คือคู่มือหรือคำสอนต่างๆ ที่ดัดแปลงหรือแปลมาจากภาษาอังกฤษอย่าง กฤษณาสอนน้อง ของกฤษณา เทวรักษ์ มีต้นเค้ามาจาก Manners Made Easy ที่ทำให้ผู้หญิงชนชั้นกลางตระหนักในคุณค่าของตน การเข้าสมาคม รวมไปถึงค่านิยมเรื่องเพศ ความเป็น ‘ผู้ดี’ ในแบบเก่าและแบบใหม่ของผู้หญิงปรากฏอยู่ในนวนิยายหลายเรื่องที่เขียนขึ้นในสมัยนั้น โดยเล่มสำคัญที่ Jory ยกขึ้นมาให้เห็นเป็นตัวอย่างได้แก่ บ้านทรายทอง ของ ก. สุรางคนางค์ ผู้ดี ของดอกไม้สด และ ชะรอยกรรม ของอัศนี พลจันทร

หลังจากที่คณะราษฎรมีชีวิตอยู่ได้ 15 ปี ราชสำนักและแนวความคิดอนุรักษนิยมแบบไทยก็ค่อยๆ กลับมาดำเนินการทวงความฝันคืน จนกระทั่งถึงการทำรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐราชการเต็มรูปแบบ กลุ่มคนที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้นในสังคมไทยคือชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพเข้ามาและประกอบธุรกิจจนได้รับความสำเร็จ ความรู้สึกไร้รากในสังคมใหม่ได้ถูกปรับตัวให้เข้ากับการปกครองที่กลับมายึดถือสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือสิ่งใดอีกครั้ง ส่วนหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงการปรับเข้าสู่ความเป็นไทยคือการแสดงความจงรักภักดีด้วยการสนับสนุนการนำของรัฐทหาร

ในช่วงนี้ อิทธิพลของโลกเสรีอันมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำแห่งการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ได้เข้ามามีบทบาท งบประมาณจำนวนมากถูกส่งต่อเข้ามาในประเทศไทยซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลยุทธ์หลักก็คือการฟื้นฟูและใช้สถาบันกษัตริย์เป็นภาพแทนของความดีและความงาม สังคมที่เคยถูกปรับให้เป็นแนวราบกลับสู่ระดับของที่สูงที่ต่ำอีกครั้ง และหัวหอกสำคัญในเชิงวัฒนธรรมที่หวนกลับมาด้วยคือมารยาทและความเป็นผู้ดี

สกุลที่ยังคงมีอิทธิพลในการออกแบบความคิดเรื่องผู้ดีในรูปแบบอนุรักษนิยมยังคงเป็น “มาลากุล” โดยผู้เล่นคนหนึ่งในยุคนี้คือหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล (ลูกชายของหม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผลงานสำคัญของหม่อมหลวงปิ่นในแวดวงการศึกษานั้นมีมากมาย หนึ่งในนั้นคือการก่อตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งกลายเป็นต้นแบบให้โรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ

จุดมุ่งหมายหลักในการทำงานของหม่อมหลวงปิ่น คือแนวคิดเรื่องจริยธรรมและความประพฤติอันดีงามของเยาวชน ซึ่งสอดคล้องไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมชาติของสฤษดิ์ หนังสือ สมบัติของผู้ดี ได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมพิมพ์เผยแพร่อีกครั้งในช่วงนี้

นอกจากตัวหม่อมหลวงปิ่นแล้ว ดุษฎีมาลา มาลากุล ผู้เป็นภรรยาก็มีบทบาทเป็นพิเศษในการนำแนวคิดมารยาทและความเป็นผู้ดีแบบอนุรักษนิยมกลับมาสู่สังคมไทย ผลงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งที่ยังมีความสำคัญต่อระบบการศึกษาไทยคือการแต่งบทไหว้ครูที่ยังคงใช้กันอย่างแพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน (มีเรื่องหนึ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับพิธีการไหว้ครูแบบปัจจุบันคือ แต่เดิม พิธีการไหว้ครูนั้นริเริ่มโดยหม่อมหลวงปิ่นในปี 2482 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก่อนมีการบังคับใช้ทั่วประเทศในปี 2490)

สำหรับพิธีการไหว้ครูนี้ Jory ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่สถานะของครู เพื่อทำให้นักเรียนอยู่ในสภาวะอ่อนน้อม และเป็นการทำให้การหมอบกราบครูมีสัญญะในการส่งเสริมช่องว่างระหว่างสถานะของข้าราชการครูกับนักเรียนในช่วงที่โรงเรียนเข้ามามีบทบาทแทนที่ครอบครัวและวัดในการศึกษาแบบเก่า

นอกจากนี้ ดุษฎีมาลายังได้แต่งหนังสือชื่อ มรรยาทเล่มน้อย ที่เสนอว่า การที่มาตรฐานของพฤติกรรมในเยาวชนไทยย่อหย่อนลงนั้นเป็นเพราะรัฐบาลแบบประชาธิปไตยอันเป็นผลพวงของคณะราษฎร และความเข้าใจผิดเรื่องความหมายของคำว่า ‘เสรีภาพ’

ความแตกต่างที่สำคัญของหนังสือ มรรยาทเล่มน้อย ที่พัฒนามาจากหนังสือ สมบัติของผู้ดี คือการที่ดุษฎีมาลาได้เพิ่มการสั่งสอนชี้แนะสำหรับผู้หญิงเข้าไปด้วย แต่ใจความหลักของหนังสือก็ยังคงเป็นการรู้จักที่สูงที่ต่ำ ผู้ใหญ่ผู้น้อยอยู่เช่นเดิม โดยคำอธิบายของความเป็นไทยนั้นจะอยู่คู่กับคำว่า ‘อ่อนน้อม’ และประเพณีนิยมที่มีอยู่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

จุดเปลี่ยนหนึ่งที่สำคัญมากในหนังสือ มรรยาทเล่มน้อย (ที่โดยส่วนตัวผมขอใช้คำว่า ‘รับไม่ได้’) คือดุษฎีมาลาอ้างว่ากษัตริย์จุฬาลงกรณ์ไม่ได้ยกเลิกการหมอบคลาน แต่แค่ปรับธรรมเนียมการถวายความเคารพแก่กษัตริย์และราชินี ดังนั้น การโค้งคำนับหรือถอนสายบัวแบบจึงเป็น ‘อีกวิธี’ อย่างตะวันตกในการถวายความเคารพ หลังจากนั้นในเล่มก็เป็นการแนะนำสั่งสอนถึงกาลเทศะแห่งการไหว้ หมอบราบ กราบกราน และคลานเข่า

สาเหตุอีกประการที่ทำให้การหมอบราบ กราบกราน และคลานเข่า กลับมาเป็นเรื่องปกติอีกครั้งสำหรับสังคมไทย คือการที่กษัตริย์ภูมิพลออกพบปะราษฎรและปรากฏพระองค์ในที่สาธารณะ (อันเป็นผลส่วนหนึ่งจากการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์) ควรทราบไว้ในที่นี้ก่อนด้วยว่า แต่เดิม กษัตริย์นั้นอยู่ห่างไกลจากประชาชน ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนักที่สามัญชนจะได้เห็นหรือเข้าใกล้กษัตริย์ ด้วยเหตุนี้เองจึงได้มีการเขียนระเบียบกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่จากสำนักพระราชวัง และมีการบรรจุคำสอนเรื่องการใช้ราชาศัพท์ไปในแบบเรียนขั้นพื้นฐาน (มาถึงตรงนี้อยากให้ลองพิจารณาถึงคำว่า “นิเวศแห่งตัวตน” ที่ผมเสนอไว้ข้างต้นอีกครั้ง)

ผู้คนในสังคมเหมือนจะรู้ตัวแต่ก็ไม่รู้ตัว เพราะแนวคิดเรื่องมารยาทแบบอนุรักษนิยมได้ใช้การศึกษา ภาษา และพิธีกรรมในรัฐนาฏกรรมกลบฝังแนวคิดเรื่องคนเท่ากันลงไปอย่างแนบเนียน วัฒนธรรมและประเพณีที่นิยมในราชสำนักก็ได้กลับและกลายมาเป็น ‘วัฒนธรรมไทยกระแสหลัก’ ในที่สุด

แต่เมื่อความคิดเรื่องคนเท่ากัน (ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ในสังคม) ได้ถูกสถาปนาขึ้นมาแล้ว โลกย่อมมีที่ทางให้กับมันเสมอ

ความเป็นรัฐราชการเต็มรูปแบบของไทยดำรงสืบเนื่องต่อมาอย่างยาวนาน สมดุลของการเมืองไทยถูกสั่นคลอนหลายครั้งจากเหตุการณ์ทางการเมือง ทหารถูกทำให้ถอยออกจากการเมืองจากเหตุการณ์พฤษภา ปี 2535 แต่สถาบันกษัตริย์ก็ยังคงมั่นคงแข็งแรง อยู่ในสถานะที่ถูกเทิดทูนสูงสุดบนอุดมการณ์สูงสุดอันเป็นผลมาจากการปลูกฝังความคิดด้านวัฒนธรรมและการวางตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์

จนกระทั่งทักษิณ ชินวัตร ผู้ซึ่งร่ำรวยจากการทำธุรกิจก้าวเท้าเข้ามาในการเมืองไทย ความนิยมที่เขาได้รับจากประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศทำให้คำตอบเก่าสำหรับสมการทางการเมืองเริ่มเสื่อมมนตร์ขลัง ผนวกเข้ากับอิทธิพลจากอินเทอร์เน็ตที่เปิดประตูหน้าต่างซึ่งเคยปิดกั้นการมองเห็นโลกภายนอกออก การเปรียบเทียบสังคมไทยกับสังคมต่างๆ ของชาติอื่นเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น แต่ชนชั้นนำและอำนาจเก่ายังคงใช้วิธีเดิมในการปลูกฝังเรื่องมารยาทและความประพฤติ ความอ่อนน้อมถ่อมตนและการเป็นผู้มีกิริยาดียังคงเป็นสิ่งสำคัญในการบงการความคิดเชิงวัฒนธรรมในการปกครอง

การเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจทำให้ความนิยมในตัวทักษิณในหมู่ชนชั้นกลางทั้งในเมืองและต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  จนกระทั่งผลประโยชน์และปัจจัยต่างๆ ทางการเมืองทำให้ทักษิณต้องถูกกำจัด (หนึ่งในข้อหาที่ขำขื่นมากเมื่อย้อนมองกลับไปจากตอนนี้คือการไม่รู้จักที่สูงที่ต่ำ ไม่มีมารยาทอันเป็นสมบัติของผู้ดี) การทำรัฐประหารในปี 2549 เปิดทางให้กลุ่มคนที่มีความเป็น ‘ผู้ดี’ ในรูปแบบของอนุรักษนิยมเข้ามาปกครองประเทศอีกครั้ง (ตรงนี้ขอถามจริงๆ อย่างตั้งใจไปยังนิเวศแห่งตัวตนของผู้อ่าน การยึดอำนาจโดยใช้กำลังทหารและอาวุธนี่ถือว่าเป็นการกระทำที่มีมารยาทอันดีของผู้ดีด้วยหรือ?)

หลังจากยึดอำนาจการปกครอง หนึ่งในภารกิจหลักของคณะรัฐประหาร (ดูเหมือนว่าจะเป็นอย่างนี้ทุกครั้งตั้งแต่จบยุคคณะราษฎร) ก็คือการปลูกฝังความดีความงามของการถ่อมตนและมารยาทอันดีจากคุณค่าของพุทธศาสนา

‘คนดี’ กลายเป็นคำสำคัญในการ ‘จำกัด’ และ ‘กำจัด’ ผู้เล่นที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารประเทศออกจากบริบททางการเมือง ‘ไพร่’ และ ‘ผู้ดี’ อันย้อนกลับไปสู่คุณค่า ‘ผู้มีกิริยาดี’ ในความหมายแบบราชสำนักและประชาชนทั่วไปได้มีบทบาทสำคัญในการเมืองสองขั้ว

การขับไล่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากอำนาจในปี พ.ศ. 2557 ได้เปิดเผยให้เราเห็น ‘ความมีกิริยาดี’ ของเหล่า ‘คนดี’ ที่ไม่เลือกวิธีใช้ในการโจมตีอย่างเด่นชัด (โดยเฉพาะการปราศรัยบนเวที) และสำหรับผมถือว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นการทำลายตัวเองของ ‘ผู้ดี’ ในแบบอนุรักษนิยมทั้งทางการเมืองและความหมายทั่วไปลงอย่างสิ้นเชิง (สำหรับท่านที่ต้องการหลักฐานเชิงประจักษ์ ผมอยากขอให้ท่านพิจารณารัฐบาลปัจจุบันด้วยนิเวศแห่งตัวตนของท่านเองด้วยใจที่เป็นธรรมที่สุดดู แล้วย้อนคิดกลับไปถึงความหมายของคนดีที่ย้อนมาจากความเป็นผู้ดีและความมีอารยะ)


Last but not least.


สิ่งสำคัญที่ A History of Manners and Civility in Thailand มอบให้ผ่านภาพรวมของประวัติศาสตร์มารยาทและความเป็นผู้ดี คือการเตือนให้เราสำรวจกระบวนการและองค์ประกอบจากแรงทั้งภายนอกและภายในแห่งการกล่อมเกลากาย วาจา ใจของเราให้เชื่องเชื่อโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวผ่านการปลูกฝังความคิดเชิงวัฒนธรรม ปัจจุบันขณะทำให้เราสายตาสั้นและความจำสั้นเสมอถ้าไม่มีการระลึกศึกษาให้ถ้วนถี่ถึงที่มาที่ไป

“This is Ennui! With a reluctant tear,

He dreams of scaffolds as he smokes his hookah.

You know him, reader, this fastidious monster

– Hypocrite reader – kindred spirit – brother!”

The Flower of Evil, Charles Baudelaire (Translated by Anthony Mortimer)



หมายเหตุ

My dear Maya (in every aspect of meaning),

I have tried my best to capture the idea from this great book to entertain your thought. I wish it could give you another direction/dimension to understand the grand narrative of cultural battle in Thai society. I hope you enjoy my writing as much as I enjoy the supernatural power from your snobbish eyes.

Dear Patrick Jory,

I would like to dedicate my writing to the brief encounter between us in Chiang Mai (2017). You might have already forgotten that speck of dust, but the expression of your sincerity still engraved in my mind. Wish I could see the Thai version of this book in any time soon.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save