fbpx
สวรรค์หาย A Hidden Life

สวรรค์หาย A Hidden Life

‘นรา’ เรื่อง

 

เทอร์เรนซ์ มาลิคไม่ใช่คนทำหนังยอดนิยมเป็นขวัญใจมหาชน ผลงานของเขาเข้าข่าย ‘คัดสรรและเลือกคนดู’ เต็มไปด้วยความไม่บันเทิง, เนื้อหาเป็นปรัชญาลึกซึ้งเข้าใจยาก รวมทั้งวิธีการเล่าเรื่องที่ไม่คำนึงถึงพล็อต แต่ให้น้ำหนักความสำคัญไปที่รูปแบบลีลาการนำเสนอ จนเกือบๆ จะมีลักษณะเป็นนามธรรม

พูดง่ายๆ หนังของเทอร์เรนซ์ มาลิคเปรียบได้กับ ‘ยานอนหลับ’ ชนิดออกฤทธิ์รุนแรง

ผมเป็นคนหนึ่งนะครับ ที่เคยผ่านประสบการณ์ ‘หลับสนิท กรนสนั่น ฝันสนุก’ ในการดูหนังของเทอร์เรนซ์ มาลิค จนกระทั่งกลายเป็นความยำเกรงเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความชวนหลับและดูยาก หนังของเทอร์เรนซ์ มาลิคก็มีสิ่งดึงดูด ท้าทาย และเชิญชวนให้นึกอยากดูมากพอกัน

เบื้องต้นเลยคือ หนังของเทอร์เรนซ์ มาลิค มีลายเซ็นเด่นชัด เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ดูจบแล้วอาจจะชอบหรือไม่ชอบ กระทั่งว่า อาจไม่เข้าใจอะไรเลย แต่ที่แน่ๆ มันเป็นประสบการณ์พิเศษที่น่าจดจำ และมีบางสิ่งติดค้างอยู่ในใจไปอีกนานหลังจากดูจบ เช่นเดียวกับผลงานของผู้กำกับชั้นครูระดับโลกสาขา ‘หนังดูยาก’ อย่างเช่น อิงมาร์ เบิร์กแมน, อังเดร ทาคอฟสกี, เฟเดอริโก เฟลลินี, ฌอง-ลุค โกดาร์ด, หลุยส์ บุนเยล ฯลฯ

ทั้งหมดที่เอ่ยนามมานี้ มีจุดร่วมตรงกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ ล้วนสร้างสรรค์นำพาศิลปะภาพยนตร์บุกเบิกไปสู่เขตแดนใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

เทอร์เรนซ์ มาลิคเริ่มทำหนังตั้งแต่ปี 1973 จนถึงปัจจุบันซึ่งกินเวลาเกือบๆ จะครบ 50 ปี เขาเพิ่งกำกับหนังรวมทั้งสิ้นแค่ 10 เรื่อง (ไม่นับหนังสั้นและสารคดี) ยิ่งไปกว่านั้น 7 เรื่องหลังสุด ยังสร้างขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมานี้เอง

ขณะที่ระยะ 32 ปีแรก เทอร์เรนซ์ มาลิคทำหนังเพียง 3 เรื่อง มิหนำซ้ำ ระหว่างหนังเรื่องที่สอง Days of Heaven กับเรื่องที่สาม The Thin Red Line ยังเว้นวรรคห่างกันเนิ่นนานถึง 20 ปี

ผมเดาว่า การทำหนังในปริมาณน้อย และใช้เวลาเนิ่นนานกว่าจะปรากฎออกมาสักเรื่องของมาลิค น่าจะเป็นผลจาก 2 สาเหตุ คือ ความยากในการดิ้นรนหาทุนสร้าง เพราะหนังในแบบที่เขาทำนั้น ปิดประตูล็อคกุญแจหนาแน่น ไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จทางธุรกิจโดยสิ้นเชิง ส่วนอีกสาเหตุคือ วิธีการทำงานของเขาเอง

หนังทุกเรื่องของเทอร์เรนซ์ มาลิค ได้ชื่อว่าเป็นที่สุดของความประณีตพิถีพิถัน ทั้งในส่วนของงานสร้างและการร้อยเรียงเรื่องราว จนเกิดกลิ่นอายบรรยากาศแบบบทกวี

เหตุผลง่ายๆ อย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผมตื่นเต้นได้เสมอกับหนังชวนหลับของเทอร์เรนซ์ มาลิค คือ ภาพในหนังของเขาทุกเรื่อง สวยงามวิจิตรบรรจง ไม่ใช่แค่ถ่ายสวย วิวสวยนะครับ แต่หลายๆ ฉากสวยแบบที่ชวนให้นึกฉงนว่า ถ่ายทำกันได้อย่างไร?

ตัวอย่างฉากหนึ่ง ซึ่งสวยจนเป็นที่ลือลั่นและกล่าวขวัญถึงกันมาก คือ ฉากสำคัญในเรื่อง Days of Heaven ตอนที่ฝูงตั๊กแตนมืดฟ้ามัวดินโจมตีพืชไร่ จากนั้นก็โผบินขึ้นสู่ท้องฟ้า ท่ามกลางบรรดาตัวละครที่ถ่ายย้อนแสงยามพลบค่ำ เดินเรียงรายจ้องมองอย่างสิ้นหวัง

 

ฉากในภาพยนตร์เรื่อง Days of Heaven

 

ผมอธิบายไม่ถูกนะครับว่าเพราะเหตุใด แต่ดูภาพที่ปรากฎบนจอแล้วก็รู้ชัดมั่นใจได้ว่า ไม่ใช่การใช้เทคนิคพิเศษอย่างแน่นอน

ผมสงสัยอยู่นานหลายปี เพิ่งจะมาอ่านเจอเบื้องหลังได้ไม่นานนัก ว่าในฉากดังกล่าว เขาใช้วิธีโปรยเปลือกถั่วลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ (เพื่อลวงตาว่าเป็นฝูงตั๊กแตน) และให้นักแสดงค่อยๆ เดินถอย จากนั้นจึงมาพิมพ์ฟิล์มย้อนกลับจากท้ายมาข้างหน้าอีกทีในตอนฉาย

รู้เบื้องหลังแล้วผมก็ยังทึ่งนะครับ วิธีการนั้นง่าย ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน แต่คิวและจังหวะในการถ่ายทำต้องแม่นมาก และยากมาก รวมถึงมีเวลาจำกัดในการทำงาน (เรื่อง Days of Heaven ขึ้นชื่อลือชาอีกประการหนึ่ง คือ ฉากกลางวันเกือบทั้งหมด เลือกถ่ายทำเฉพาะช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก ที่เรียกกันว่า magic hour นั่นหมายความว่า ในแต่ละวันจะมีชั่วโมงการถ่ายทำเพียงน้อยนิด)

A Hidden Life เป็นผลงานเรื่องล่าสุดของมาลิค มีเสียงตอบรับจากผู้ชมและนักวิจารณ์ดีสุด นับจาก The Thin Red Line เป็นต้นมา (งานอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างนี้ มักได้รับคำวิจารณ์ก้ำกึ่งทั้งในด้านบวกและติดลบ ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่า ไม่ใช่เพราะหนังอ่อนด้อยในเชิงคุณภาพ หรือเลวย่ำแย่ แต่เป็นที่ความลงตัวหรือไม่ลงตัวในการนำเสนอเนื้อหาสาระเสียมากกว่า)

หนังสร้างจากเหตุการณ์จริง ฟรันซ์ ยือเกอร์สแตทเทอร์ (Franz Jägerstätter) และฟรานซิสกา เป็นคู่สามีเกษตรกรชาวออสเตรีย ใช้ชีวิตสงบสุขอยู่ที่ราเดกันด์ หมู่บ้านกลางหุบเขาที่มีทิวทัศน์สวยงามราวกับสรวงสวรรค์ (และมีนัยยะชวนให้นึกถึงสวนอีเดน ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่เทอร์เรนซ์ มาลิคดูจะฝังใจ และสะท้อนผ่านในงานของเขาเสมอ)

 

 

ในปี 1939 สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้น ฟรันซ์ถูกเกณฑ์ไปฝึกทหารเตรียมความพร้อม

เมื่อเสร็จสิ้นการฝึก กลับมายังหมู่บ้าน ประสบการณ์เลวร้ายที่ฟรันซ์พบเจอในค่าย (จากการฉายหนังโฆษณาชวนเชื่อของนาซีในยามค่ำคืน) บวกรวมกับพื้นฐานความศรัทธาต่อคำสอนทางศาสนา ส่งผลให้เขาเกิดความคิดต่อต้านสงคราม

ฟรันซ์ไม่ยอมบริจาคให้แก่ทหารนาซีที่มาเรี่ยไรในหมู่บ้าน จนโดนสังคมรอบข้างตั้งแง่รังเกียจดูแคลน และอยู่ด้วยความหวาดผวาว่าจะโดนหมายเกณฑ์เรียกตัว ทุกครั้งที่เห็นบุรุษไปรษณีย์ขี่จักรยานผ่านหน้าบ้าน

สองสามีภรรยาปรึกษาหารือกันในแง่ต่างๆ นานา ตั้งแต่เสนอแนะให้ฟรันซ์หลบหนีไปซ่อนตัวในป่า กระทั่งว่ายินยอมโอนอ่อนตามสถานการณ์หากถูกเกณฑ์ทหาร แต่ทุกความคิดล้วนโดนชายหนุ่มปฏิเสธ จนท้ายที่สุด ฟรานซิสกาก็ปลงใจสนับสนุนความเชื่อของสามี

ชีวิตสงบสุขของฟรันซ์กับฟรานซิสกาถูกสั่นคลอนรอบทิศทาง ทั้งหวั่นต่ออนาคตที่ปราศจากความแน่นอน ขัดแย้งมีปากมีเสียงกับคนในหมู่บ้าน พบเห็นผู้คนที่เคยรู้จักหายหน้าหายตาเข้าสู่สงครามไปทีละคน ได้รับการปฏิบัติเสมือนถูกคว่ำบาตรจนโดดเดี่ยว

แต่ทั้งหมดนั้นเป็นแค่การชิมลาง ความเลวร้ายที่แท้จริงเริ่มขึ้นเมื่อฟรันซ์ได้รับหมายเกณฑ์ในอีกหนึ่งปีต่อมา เขาปฏิเสธที่จะกล่าวคำปฏิญาณตนตามกฎข้อบังคับว่าจะจงรักภักดีต่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จึงถูกจองจำในคุก ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสสารพัดสารพัน และบานปลายกลายเป็นคดีขึ้นโรงขึ้นศาล

ควบคู่กันนั้น หนังก็เล่าเทียบเคียงถึงชีวิตของฟรานซิสกาและครอบครัว ซึ่งเผชิญกับวิบากกรรมหนักหน่วงไม่แพ้กัน

พล็อตคร่าวๆ ของหนังมีประมาณนี้ เทอร์เรนซ์ มาลิคใช้เวลาช่วงต้นราวๆ 20 นาที แจกแจงพรรณนาถึงชีวิตแสนสุขของตัวละคร ซึ่งก็เก่งกาจมาก ในการทำให้ผู้ชมรู้สึกได้ว่า เป็นสภาพชีวิตที่มีความสุขอย่างถ่องแท้

ที่เหลือถัดจากนั้นไปจนจบ บนความยาวของหนังเกือบ 3 ชั่วโมง คือ รายละเอียดของการค่อยๆ เดินทางไกล ไปสู่ความเป็นโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าสะเทือนใจ

ข่าวดีสำหรับผู้ชมที่ไม่เคยดูหนังของเทอร์เรนซ์ มาลิค มาก่อน คือ A Hidden Life เป็นงานที่มีประเด็นทางเนื้อหาและเค้าโครงเหตุการณ์เด่นชัด จับต้องได้มากสุด เมื่อเทียบกับบรรดาผลงานอื่นๆ ทั้งหมดของเขา

ไม่อยากจะใช้คำว่า เป็นหนังดูง่ายที่สุดของมาลิคนะครับ เอาเป็นว่า มีความยากและสรรพคุณยานอนหลับน้อยสุดของเขา น่าจะตรงกับความจริงมากกว่า

 

 

ความโดดเด่นน่าสนใจของ A Hidden Life จำแนกกว้างๆ ได้ออกเป็น 2 ส่วน คือ เรื่องที่นำมาบอกเล่า และวิธีในการเล่า

ลักษณะเปรียบเปรยในลีลาบทกวี มีให้เห็นกันตั้งแต่เปิดฉากเริ่มเรื่อง ด้วยภาพจอหนังมืดสนิท และเสียงบรรยายของตัวละคร กล่าวว่า “ผมคิดว่าเราน่าจะสร้างรังบนต้นไม้ไว้ให้สูง แล้วโบยบินดังนกไปสู่ขุนเขา” ต่อเนื่องด้วยภาพขาว-ดำจากหนังข่าว เป็นการโบยบินอีกแบบที่ตรงกันข้ามของเครื่องบินทิ้งระเบิด บ้านเมืองที่พังทลายจากสงคราม การปราศัยต่อหน้าฝูงชนของฮิตเลอร์

ผมคิดว่าฉากเปิดเรื่องดังกล่าว เป็นการจัดวางขั้วตรงข้าม ระหว่างความฝันหรืออุดมคติอันสวยงามของปัจเจกบุคคล กับความเป็นจริงอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นในสังคมส่วนรวม

ภาพเปรียบทำนองนี้ มีอยู่ตลอดทั่วทั้งเรื่อง ผ่านรายละเอียดสารพัดสารพัน ตั้งแต่ภาพที่ผู้ชมเห็นกับเสียงบรรยายของตัวละครที่ได้ยิน เช่น เสียงบรรยายเนื้อความจดหมายที่สามีภรรยาเขียนถึงกันด้วยความรักผูกพันห่วงใย แต่ภาพที่เห็นกลับเป็นฟรันซ์โดนผู้คุมซ้อมในคุก หรือฟรานซิสกาโดนชาวบ้านกลั่นแกล้ง, บทสนทนาโต้ตอบระหว่างคู่ตัวละครที่มีความเชื่อแตกต่างกัน ฯลฯ

โดยแก่นเรื่องหลักแล้ว A Hidden Life บอกเล่าไว้ชัดเจนว่า พูดถึงการยืนกรานต่อความเชื่อ (ในสิ่งที่ตนเองคิดว่าเป็นความถูกต้องดีงาม) โดยไม่หวั่นไหวสั่นคลอน แม้ว่าผลลัพธ์ที่ติดตามมาจะเลวร้ายสาหัสเพียงไรก็ตาม

แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นไปตามธรรมเนียมของเทอร์เรนซ์ มาลิค ซึ่งนิยมชมชอบเสนอเนื้อหาสาระที่ซับซ้อน หนังจึงมีการแตกแขนงสานต่อสู่แง่มุมเคียงข้างอื่นๆ อย่างหลากหลาย ผ่านเสียงบรรยายและฉากพูดคุยถกเถียงระหว่างตัวละคร (ซึ่งผมอยากจะเรียกว่า ฉากสนทนาธรรม) ทั้งหมด

ไม่ว่าจะเป็นการตั้งโจทย์เกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารไปทำศึกสงครามกับความถูกต้องในเชิงศีลธรรม, พระเยซูในฐานะรูปเคารพกับพระเยซูในความหมายที่ลึกซึ้งจริงแท้ยิ่งกว่านั้น, การนำพาชีวิตตัวเองให้รอดพ้นปลอดภัย ด้วยการเข่นฆ่าทำร้ายผู้อื่น, การมีอยู่ของพระเจ้า, ความกล้าหาญและความแข็งแกร่งที่แท้จริง (โดยหยิบยกนิทานอุปมาอุปไมย ระหว่างฆ้อนกับทั่ง)

กล่าวได้ว่า การสื่อความหมายใน A Hidden Life มีอยู่ตลอดเวลา มีตั้งแต่ระดับง่ายไปจนถึงยากมาก แต่โดยรวมแล้ว แง่คิดประเด็นต่างๆ ที่สะท้อนไว้ ไม่ได้เสนอคำตอบเบ็ดเสร็จให้แก่ผู้ชม ตรงข้ามกลับเต็มไปด้วยการตั้งคำถามอย่างช่างคิด ชาญฉลาด และเฉียบแหลมคมคาย กระตุ้นเร้าให้ผู้ชมต้องนำไปขบคิดต่อ

ในระหว่างดูไปจนเกือบๆ จะจบ ผมนึกสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ทำไมจึงตั้งชื่อหนังเรื่อง A Hidden Life ทั้งๆ ที่โดยเหตุการณ์แล้ว ตัวละครไม่ได้หลบหนีหรือซ่อนเร้น ตรงกันข้าม กลับเผชิญหน้ากับสิ่งเลวร้ายอย่างทะนงองอาจ

ความหมายของชื่อเรื่องมาเฉลยหลังจากหนังจบ มีการขึ้นข้อความจากงานเขียน Middlemarch ของจอร์จ เอลเลียต ซึ่งอธิบายความจนกระจ่าง และทำให้รู้สึกว่า A Hidden Life เป็นชื่อที่เหมาะและดีจับอกจับใจเหลือเกิน

 

 

นอกจากจะมีเนื้อหาสาระที่เข้มข้นและลุ่มลึกแล้ว สไตล์หรือแบบแผนทางศิลปะในการเล่าเรื่องของ A Hidden Life ก็วิเศษมากพอๆ กัน ที่สำคัญคือ ทั้งรูปแบบและเนื้อหา เกื้อกูลหนุนส่งซึ่งกันและกันอย่างดียิ่ง

สไตล์หรือรูปแบบในหนังของเทอร์เรนซ์ มาลิค ดูเผินๆ เหมือนจะเล่าเรื่องอิสระ กระจัดกระจายตามใจชอบนะครับ แต่เมื่อดูซ้ำหลายๆ รอบ ผมพบว่า มันมีระเบียบแบบแผนทางศิลปะที่ออกแบบและจัดสรรอย่างประณีตมาก

กล่าวอย่างย่นย่อรวบรัด มันเริ่มต้นด้วยฉากตัวละครสนทนาพูดคุยกัน แต่ผ่านไปเพียงแค่ไม่กี่ประโยค บทพูดนั้นๆ โดยตัวละครเดิม ก็เปลี่ยนไปเป็นเสียงบรรยายรำพึงรำพัน (และมีลักษณะเป็นภาษาเขียนที่ไพเราะสละสลวย) พร้อมๆ กับที่ภาพเปลี่ยนไปเล่าเหตุการณ์อื่นๆ ได้อย่างลื่นไหล โดยไม่คำนึงถึงความต่อเนื่องของเหตุการณ์ สถานที่ และช่วงเวลา

นอกจากฉากสนทนาแล้ว ใน A Hidden Life ยังใช้เสียงบรรยายเนื้อความในจดหมายของฟรันซ์กับฟรานซิสกา ทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกัน

ความน่าทึ่งอยู่ที่ภาพเหตุการณ์สารพัดสารพันประกอบเสียงบรรยายนั้น ดูเผินๆ เหมือนสะเปะสะปะไร้ทิศทาง แต่เมื่อจับสังเกตกันจริงๆ กลับเป็นการเรียงร้อยจัดลำดับอย่างวิจิตรพิสดาร และตั้งอกตั้งใจมาก

ตามข้อมูลที่อ่านเจอ A Hidden Life ใช้เวลาถ่ายทำตามปกติ แต่ขั้นตอนตัดต่อลำดับภาพ กลับสิ้นเปลืองใช้เวลาเนิ่นนานถึง 3 ปี

ที่สำคัญคือ ภาพเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดทั้งเรื่องนั้น มีทีท่าเหมือน ‘ไม่เล่าเรื่อง’ ปราศจากความคืบหน้า แต่เอาเข้าจริง มันเล่าเรื่องนะครับ และเล่าอย่างขยันขันแข็งบ้าพลังมากๆ ด้วย (ตัวอย่างเช่น ภาพบุรุษไปรษณีย์ขี่จักรยานผ่านหน้าบ้านของตัวเอก ซึ่งปรากฎอยู่หลายครั้ง โดยมีบทพูดเพียงแค่การกล่าวทักทาย หรือบางครั้งไม่มีบทพูดเลย แต่ผู้ชมก็ทราบได้ทันทีว่า มันสะท้อนถึงความวิตก ความกลัว ตลอดจนความรู้สึกโล่งอกของฟรันซ์กับฟรานซิสกา)

ผมพบว่า ยานอนหลับยี่ห้อเทอร์เรนซ์ มาลิคนั้น ยิ่งดูซ้ำมากเท่าไร ก็ยิ่งสนุกเพิ่มขึ้นตามลำดับ เมื่อผู้ชมมีเวลามากพอที่จะจับสังเกตและทำความเข้าใจรายละเอียดต่างๆ ซึ่งอาจเผลอไผลมองข้ามหรือหลงหูหลงตาไปจากการดูครั้งแรก

ผมมีอาการสมาธิหลุดในการดูหนังของเทอร์เรนซ์ มาลิคอยู่เนืองๆ สาเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยสุด คือมัวแต่ตะลึงพรึงเพริดไปกับความสวยงามทางด้านภาพ (ใน A Hidden Life ก็เข้าขั้นสวยสุดๆ อีกแล้วครับ)

มีการใช้เทคนิคพื้นฐานทางภาพยนตร์ 2-3 อย่าง ทำให้หนังเรื่องนี้เกิดเป็นการปรุงรสที่แปลกประหลาด อย่างแรก คือ การใช้เลนส์มุมกว้าง เพื่อเก็บภาพทิวทัศน์ตระการตา พร้อมๆ กันนั้นก็ส่งผลให้ตัวบุคคลที่อยู่ใกล้ขอบเฟรม มีสัดส่วนบิดเบือนผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง

 

 

ถัดมาคือ การจับภาพใกล้ในมุมต่ำเหมือนผู้ชมแหงนเงยมองตัวละคร และการเคลื่อนกล้องเคลื่อนไหวติดตามตัวละครอย่างใกล้ชิดมาก จนผู้ชมรู้สึกเหมือนจะหลุดเข้าไปในหนังพุ่งชนตัวละครเลยทีเดียว (มีฉากหนึ่งที่เคลื่อนกล้องได้เร้าใจมาก คือ ฉากที่ฟรานซิสกาไปส่งสามีที่สถานีรถไฟ และวิ่งตามขบวนรถที่ค่อยๆ เคลื่อนห่างทีละน้อย กล้องนั้นใกล้จนอดนึกเป็นห่วงเกรงว่าทั้งนักแสดงและผู้กำกับภาพจะโดนรถไฟเฉี่ยว)

เทคนิคทั้งหลายประดามีที่กล่าวมา เคยใช้ในหนังหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้นหรอกนะครับ แต่ความไม่ธรรมดาเมื่อนำมาใช้โดยเทอร์เรนซ์ มาลิคก็คือ บางครั้งเขาใช้เทคนิคอย่างใดอย่างหนึ่งแบบแยกส่วนไม่เกี่ยวข้องกัน แต่บ่อยครั้งกว่านั้น เขาใช้เทคนิคทั้ง 2-3 อย่างไปพร้อมๆ กัน จนเกิดผลลัพธ์เป็นความแปลกใหม่

เรื่องการใช้เลนส์ ใช้มุมกล้อง ใช้การเคลื่อนกล้องที่ผมเล่าสู่กันฟังข้างต้น เป็นเรื่องหยุมหยิมปลีกย่อย ไม่ได้สลักสำคัญอะไรนัก แต่ผมคิดว่า มันคือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ในการอธิบายถึงลักษณะเฉพาะตัวของเทอร์เรนซ์ มาลิค

มีบทวิจารณ์ต่างประเทศหลายๆ ชิ้น ยกย่อง A Hidden Life ว่า พล็อตและสาระสำคัญในหนังเรื่องนี้ หากนำไปให้ผู้กำกับเก่งๆ คนไหนก็ได้มาทำ ก็จะกลายเป็นหนังดีมากๆ ได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย และไม่มีวันจะเกิดขึ้นเด็ดขาด คือ การที่มันออกมามีรสชาติยอดเยี่ยมเฉพาะตัว เหมือนกับที่เทอร์เรนซ์ฝากฝีมือขั้นเทพเอาไว้ให้เป็นที่ประจักษ์

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save