fbpx

ผีเสื้อกลางคืนแห่งเมืองแมนเชสเตอร์ A Gentleman in Moscow (สุภาพบุรุษในมอสโก)

ผมเริ่มอ่านนิยายเรื่อง A Gentleman in Moscow โดยไม่รู้เหนือรู้ใต้ใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อผ่านพ้นช่วงเกริ่นนำเริ่มเรื่องราวๆ สิบกว่าหน้า เหตุการณ์ (รวมถึงชื่อเรื่อง) ก็ชวนให้นึกคะเนไปว่าน่าจะมาทรงตื่นเต้นระทึกขวัญเกี่ยวกับจารชนหรือสายลับ

แต่ไม่ต้องใช้เวลามากนัก ก็ทราบโดยเร็วว่าเดาผิดชนิดห่างไกลสุดกู่ นับจากนั้นก็เลิกคาดหมายว่าเป็นเรื่องแนวไหน เกี่ยวข้องกับอะไร ปล่อยให้นิยายค่อยๆ พาไปสู่จุดหมายปลายทาง ด้วยความเพลิดเพลิน รื่นรมย์ และซาบซึ้งประทับใจ

ตอนที่ผมเลิกคาดเดาและรู้ตระหนักแน่ชัดว่า A Gentleman in Moscow ไม่ใช่เรื่องประเภทตื่นเต้นระทึกขวัญเกี่ยวกับจารชนสายลับ อีกความคิดหนึ่งก็วาบผ่านเข้ามา นั่นคือความรู้สึกนึกโยงไปถึงหนังปี 2004 เรื่อง The Terminal ผลงานกำกับของสตีเวน สปีลเบิร์ก

ข้อมูลคร่าวๆ สำหรับท่านที่ยังไม่เคยดูหนังมาก่อน The Terminal เป็นเรื่องราวเหลือเชื่อ (สร้างโดยได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริง) ของชายชื่อวิคตอร์ นาวอร์สกี ผู้เดินทางมาจากคราโคเชีย (ประเทศสมมติ) มุ่งสู่นิวยอร์ก ขณะผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ท่าอากาศยาน ก็เกิดปัญหาพิลึกกึกกือเป็นกรณีพิเศษที่ไม่เคยมีมาก่อน จนกระทั่งไม่อาจสรุปหาทางออก

ห้วงขณะดังกล่าวเกิดการรัฐประหารที่คราโคเชีย ทำให้ตกอยู่ในสภาพสุญญากาศทางการเมือง วีซ่าที่ออกโดยรัฐบาลเดิมกลายเป็นโมฆะ ขณะที่รัฐบาลใหม่ยังไม่เป็นที่รับรองในระดับนานาชาติ มิหนำซ้ำเหตุวุ่นวายในคราโคเชียยังยืดเยื้อบานปลาย มีการจลาจลไร้วี่แววจะจบสิ้น

วิคตอร์จึงกลายเป็นพลเมืองไร้สังกัด ถูกลอยแพเคว้งคว้างในต่างถิ่นต่างแดน ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าอเมริกา ขณะเดียวกันก็ไม่อาจเดินทางกลับบ้านเกิด กลายเป็นคนตกค้างที่ต้องยังชีพเหมือนโดนกักบริเวณอยู่ในสนามบิน จากแรกเริ่มที่กะเก็งกันว่า น่าจะกินเวลาแค่ไม่กี่วัน ลงท้ายก็เลยเถิดเนิ่นนานเป็นแรมปี

เรื่องราวทั้งหมดใน The Terminal จึงว่าด้วยการพยายามใช้ชีวิตและเอาตัวรอดในสนามบินของวิคตอร์ ซึ่งมีอุปสรรครอบทิศทาง ตั้งแต่ความแตกต่างด้านภาษาจนไม่อาจสื่อสารกับใคร การกินอยู่หลับนอน รวมถึงปัญหาเรื่องเงินทองที่มีอยู่จำกัด

ทั้งหมดนี้กลายเป็นการผจญภัยอัศจรรย์พันลึกราวกับเทพนิยาย

เงื่อนไขหลักที่พ้องพานกับ A Gentleman in Moscow ก็คือเป็นเรื่องของตัวเอกที่ถูกกักบริเวณเหมือนๆ กัน

ท่านเคานต์อเล็กซานเดอร์ อีลิช รอสตอฟ ชายหนุ่มสูงศักดิ์จากตระกูลผู้ดีวัย 32 ปี โดนพิษสงการเมืองเล่นงาน ศาลบอลเชวิกตั้งข้อหาว่าทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่ออุดมการณ์ปฏิวัติ นอกจากจะไม่แสดงทีท่าสำนึกผิดหรือยอมรับสารภาพในระหว่างการสอบปากคำแล้ว ท่านเคานต์ยังยืนกรานต่อปากต่อคำด้วยวาจาฉะฉานคมคาย จนเหมือนยั่วโทสะของอีกฝ่ายอย่างไม่ลดละ

ด้วยความผิดตามข้อกล่าวหา บวกกับพฤติกรรมไม่ยอมค้อมหัวให้ผู้มีอำนาจ ท่านเคานต์ควรจะได้รับโทษประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า แต่บทกวีชิ้นหนึ่งที่เขาเคยเขียนไว้เมื่อกาลก่อน ทำให้สมาชิกอาวุโสบางคนในพรรคยังคงถือว่าเขาเป็นวีรบุรุษในยุคก่อนการปฏิวัติ ดังนั้นบทลงโทษจึงเป็นว่า “คุณควรกลับไปยังโรงแรมซึ่งคุณชื่นชอบนักหนา แต่ขอให้เข้าใจตรงกันว่า หากคุณก้าวเท้าออกจากโรงแรมเมโทรโปลเมื่อใด คุณจะถูกยิงเมื่อนั้น”

พ้นจากเงื่อนไขตัวเอกต้องใช้ชีวิตโดนกักบริเวณ (อาจรวมถึงอารมณ์ความรู้สึก และการผจญภัยพิสดารของตัวละครในครรลองคล้ายคลึงกัน) อื่นๆ ที่เหลือระหว่าง The Terminal กับ A Gentleman in Moscow ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมของฉากหลัง เหตุการณ์ทางสังคม ยุคสมัย พื้นเพหนหลังของตัวละคร ระยะเวลาตามท้องเรื่อง รวมถึงบทเรียนบั้นปลายที่ตัวเอกได้รับ ทั้ง 2 เรื่องนี้แตกต่างผิดกันไกลลิบลับ

ก่อนจะถูกลงโทษ ท่านเคานต์รอสตอฟเคยพำนักในห้องชุดหรูหราของโรงแรมเมโทรโปลมาแล้ว 4 ปี คุ้นเคยกับสถานที่ พนักงาน รวมทั้งสถานที่จนเข้าขั้นสันทัดจัดเจน มิหนำซ้ำฐานะการเงินก็ไม่ได้ขัดสนยากไร้ แม้จะถูกบีบบังคับให้ออกจากห้องพักประจำไปอาศัยอยู่ในห้องเก็บของพื้นที่คับแคบ แต่โดยรวมแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ก็ไม่ได้ฝืดเคืองยากลำบากจนเหลือรับ

ความทุกข์แท้จริงนั้นอยู่ที่ว่า สัดส่วนระหว่างพื้นที่กับเวลานั้นไม่สัมพันธ์ไม่ลงรอยกัน กล่าวคือชายหนุ่มมีเวลาเหลือเฟือ แต่มีที่ทางให้ไปมาใช้ชีวิตได้จำกัด มิหนำซ้ำท่ามกลางบริเวณที่ปิดล้อมถูกพันธการไร้อิสรภาพนั้น กิจกรรมต่างๆ ประดามีล้วนเป็นสิ่งที่คุ้นเคยจนเจนใจ

ปัญหาใหญ่ของท่านเคานต์จึงเป็นว่า ทำอย่างไรจึงจะผ่านวันคืน (อันยืดเยื้อยาวนาน) ที่เต็มไปด้วยสิ่งเดิมๆ ซ้ำซากจำเจน่าเบื่อหน่าย และจะหลงเหลือสิ่งใดเป็นจุดหมายสำหรับการใช้ชีวิต

ความโดดเด่นประการแรกสุด คือมันเป็นนิยายที่เล่าเรื่องได้ชวนติดตามตลอดเวลา เข้าใจง่าย อัดแน่นด้วยรสบันเทิงหลากอารมณ์ แต่พร้อมๆ กันนั้นก็เล่าเรื่องย่อยาก

สาเหตุเพราะช่วงต้นๆ ในแต่ละบท เหมือนจะเล่าเหตุการณ์หนึ่ง ตัวละครหนึ่ง (ซึ่งท่านเคานต์พบเจอในโรงแรม และเกิดความสัมพันธ์ต่อกัน) แต่เมื่อเริ่มขึ้นสู่บทใหม่ (โดยที่เวลาผ่านไปแบบ “หลายปีต่อมา…”) เรื่องที่บอกเล่าก็เป็นอีกเหตุการณ์ที่ไม่ต่อเนื่องกัน

เรื่องเล่าใน A Gentleman in Moscow เป็นไปในรูปรอยเรื่องปลีกย่อย บอกเล่าไม่ปะติดปะต่อกันอยู่ร่วมๆ ครึ่งเล่ม (นิยายเรื่องนี้มีความหนา 500 กว่าหน้า) ระหว่างการอ่าน ผมหนักใจอยู่พอควรว่าจะแนะนำเชิญชวนอย่างไร เพราะครึ่งเล่มแรกนั้น ผมสรุปประมวลเล่าเรื่องย่อไม่ได้เลย

อันที่จริง ผมก็พอจะเคี่ยวเข็ญตัวเองให้เล่าเรื่องคร่าวๆ ได้อยู่นะครับ แต่ทำใจยากตรงที่ จะหยิบจับแตะต้องส่วนใดมาเล่าสู่กันฟัง แม้กระทั่งในช่วงตอนที่ไม่ได้เป็นความลับหักมุมใดๆ เลย ก็ให้นึกเสียดายไปหมด ด้วยเหตุว่าผมเล่ายังไงก็ไม่ได้รสเทียบเท่า และเป็นการบั่นทอนเสน่ห์ ซึ่งจะพบได้จากการอ่านเจอเองในนิยาย

จนเมื่อคืบหน้าลุล่วงเข้าสู่ครึ่งเรื่องหลัง รายละเอียดต่างๆ ที่หว่านโปรยไว้ ก็ค่อยๆ ประกอบรวมเชื่อมต่อกันเป็นเค้าโครงจับต้องได้ ถัดจากนั้นก็บันเทิงเริงรมย์ระดับ ‘วางไม่ลง’ แต่ข่าวร้ายยิ่งกว่าก็คือ เส้นเรื่องทั้งหมดล่วงเข้าสู่เขตแดนที่เป็น ‘ความลับ’ ไปเรียบร้อยแล้ว

ผมควรต้องรีบบอกไว้ตรงนี้ด้วยว่า ช่วงครึ่งเล่มแรกที่พล็อตดูเหมือนกระจัดกระจายนั้นสนุกชวนติดตามตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเล่าถึงภัตตาคารในโรงแรม ร้านตัดผม ร้านขายดอกไม้ การเทียบเคียงสถานที่ต่างๆ เหล่านี้ระหว่างวันคืนในอดีตครั้งยังรุ่งเรืองเฟื่องฟูกับสภาพปัจจุบันที่ความผันผวนทางการเมืองและสังคม นำพาความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่จนกลายเป็นอีกสภาพหนึ่ง

เอมอร์ โทวล์ส ผู้เขียนนิยายนี้ เป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งกาจสามารถยิ่ง ทั้งการบรรยายพรรณนาจนผู้อ่านเห็นภาพคล้อยตาม ความคมคายในการผูกแต่งบทสนทนา การเล่าสลับอดีตกับปัจจุบันได้ลื่นไหลชำนาญอยู่มือ การเร้าอารมณ์เพียงน้อยนิด แต่เต็มไปด้วยประสิทธิภาพ อารมณ์ขันที่แทรกและซ่อนอยู่ตลอดการเล่าเรื่อง

และที่ผมติดอกติดใจเป็นพิเศษคือการเริ่มแต่ละบท โดยเกริ่นถึงอะไรสักอย่างขึ้นมาลอยๆ แล้วลากโยงไปยังเนื้อความที่ต้องการบอกเล่าได้อย่างชาญฉลาด และเกี่ยวเนื่องกัน

นี่ยังไม่นับรวมการใส่เชิงอรรถ (โดยผู้เขียน) เข้ามาอย่างชาญฉลาด ช่างเสียดสี เล่าเรื่องรอบนอกที่ไม่เกี่ยวกับตัวละคร เร่งเร้าความสนใจให้ชวนติดตาม รวมทั้งให้รสแปลกและเปี่ยมเสน่ห์ (อีกส่วนหนึ่งที่คล้ายๆ กันคือ การใส่ ‘บทเสริม’ สั้นๆ ไว้ในช่วงท้ายของแต่ละภาค)

รวมความแล้ว เป็นวิธีเล่าเรื่องซึ่งออกรสโอชะ คาดเดาไม่ได้ คล้ายๆ หนังบางเรื่องที่คนทำเก่งฉกาจจนสามารถ ‘กำกับคนดู’ ได้อยู่หมัด

ที่เปิดเผยได้คือ นิยายเรื่องนี้กินความครอบคลุมระยะเวลา ตั้งแต่ ค.ศ. 1922-1954 (นี่ยังไม่นับรวมหลายๆ เหตุการณ์ในอดีตก่อนหน้านั้น) ในแง่หนึ่งจึงเป็นการเล่าประวัติศาสตร์รัสเซียแบบคร่าวๆ เคียงขนานไปกับเรื่องราวชีวิตของตัวเอก ระหว่างโลกภายนอกกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายในโรงแรม จนนำไปสู่แง่มุมประเด็นต่างๆ มากมาย

แง่มุมเบื้องต้นสุดคือการสูญสิ้นอิสรภาพของท่านเคานต์รอสตอฟ และสภาพชีวิตที่ถูกจองจำ กลายเป็นนักโทษที่โดนเนรเทศให้อยู่ในนิวาสสถานของตนเอง

ถัดมาคือ มิตรภาพ ครอบครัวและความรัก แง่มุมนี้เล่าผ่านความสัมพันธ์ระหว่างท่านเคานต์ ซึ่งเป็นตัวละครศูนย์กลางของเรื่อง กับผู้คนมากหน้าหลายตาที่เข้าออก พบและพรากตลอดชั่วระยะเวลาหลายสิบปี ไม่ว่าจะเป็นเด็กหญิงสองคน คือนีนากับโซเฟีย ซึ่งนำพาท่านเคานต์ไปสู่การแสดงออกถึงบทบาทความเป็นพ่อ ความผูกพันกับอันเดร (ผู้จัดการภัตตาคาร) เอมิล (หัวหน้าเชฟ) มารินา (ช่างเย็บเสื้อผ้า) จากแรกเริ่มที่ฝ่ายหนึ่งเป็นลูกค้า อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ให้บริการ กลายมาเป็นเพื่อนผู้รู้ใจ ความรักกับดาราสาวสวย อันนา อูร์บาโนวา ความทรงจำถึงเฮเลนา ผู้เป็นน้องสาว ซึ่งจากกันถาวรชั่วชีวิต มิชกา เพื่อนร่วมห้องในสมัยเรียนของท่านเคานต์ ซึ่งเป็นตัวละครเทียบเคียงอีกชีวิตที่โลดแล่นอยู่ในโลกภายนอก และอีกสารพัดตัวละครจำนวนมาก

กล่าวโดยรวมก็คือ A Gentleman in Moscow ใช้ตัวละครหลักและตัวละครปลีกย่อยจำนวนมาก บอกเล่าถึงความสัมพันธ์หลายระดับ หลากแง่มุม โดยรวมกว้างๆ สะท้อนถึงประเด็นมิตรภาพ ครอบครัว และความรัก พร้อมๆ กันนั้นก็ทำหน้าที่ขยายความไปสู่เนื้อหาใจความสำคัญอื่นๆ ทั้งหมดด้วยเช่นกัน

ประเด็นถัดมาได้แก่ โอกาส โชค และชะตากรรม พูดง่ายๆ คือในชีวิตหนึ่งมักประกอบไปด้วยเรื่องลึกลับยากอธิบาย ราวกับพระเจ้ากำหนดหรือพรหมลิขิต จึงเกิดเหตุการณ์เล็กๆ ที่ไม่น่าจะมีความสลักสำคัญอันใด แต่แล้วเรื่องหยุมหยิมปลีกย่อยซึ่งเกิดขึ้นโดยความบังเอิญประจวบเหมาะ กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสายโซ่ต่อเนื่องของเหตุการณ์มากมาย ใหญ่โตขึ้นและทวีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ กระทั่งเปลี่ยนแปลงชีวิตไปขนานใหญ่

หลายบทแรกๆ ใน A Gentleman in Moscow เล่าถึงจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์เล็กๆ ทำนองนี้ เมื่อติดตามไปจนถึงบทท้ายๆ แล้วคลี่เผยให้เห็นถึงเส้นทางความเชื่อมโยงทั้งหมด ผลลัพธ์ก็คือความน่าอัศจรรย์ใจ และทำให้ผมน้ำตาซึมด้วยความตื้นตันประทับใจ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผมคิดว่ามีน้ำหนักโดดเด่นมากสุดในนิยายเรื่องนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงสารพัดสารพัน และท่านเคานต์รอสตอฟคือตัวละครที่อยู่ตรงใจกลางของสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ตั้งแต่ความผันผวนทางการเมือง เหตุการณ์บ้านเมือง สถานะความเป็นอยู่จากผู้ดีมีชาติตระกูล ฐานะความเป็นอยู่เพียบพร้อม กลายเป็นนักโทษถูกจองจำกักบริเวณ ผู้คนในชีวิตที่หมุนเวียนเปลี่ยนไป

ความผันแปรทั้งหลายทั้งปวงก่อให้เกิดสิ่งสำคัญต่อมา คือการปรับตัวเพื่อให้ชีวิตอยู่รอดปลอดภัย นิยายได้แจกแจงสาธยายถึงการปรับเปลี่ยนชีวิตของท่านเคานต์อย่างละเอียดถี่ถ้วนทุกแง่ทุกมุม ทั้งผ่านตัวละครนี้โดยตรง และผ่านตัวละครสำคัญอื่นๆ รวมถึงตัวละครปลีกย่อยที่ไม่ได้มีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินเรื่อง (ที่โดดเด่นและน่าประทับใจมาก คือสถาปนิกหนุ่มที่ท่านเคานต์พบในบาร์หรือห้องอาหาร ผมจำได้ไม่แน่ชัด ต้องขออภัยด้วยครับ)

สาระสำคัญเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวได้รับการอธิบายอย่างแจ่มกระจ่าง ผ่านเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีเสื้อกลางคืนแห่งเมืองแมนเชสเตอร์

ผมคงไม่ขยายความว่าเรื่องเกี่ยวกับผีเสื้อกลางคืนแห่งเมืองแมนเชสเตอร์มีรายละเอียดเช่นไร แต่พูดกว้างๆ ได้ว่าเป็นลักษณะทางธรรมชาติของผีเสื้อพันธุ์ดังกล่าว ความเปลี่ยนแปลงในเมืองแมนเชสเตอร์ และผลพวงที่เกิดขึ้นกับผีเสื้อกลางคืนถัดจากนั้น

ความยอดเยี่ยมของเรื่องเล่านี้ก็คือ มันสร้างคำอธิบายให้กับประเด็นสำคัญในนิยายได้อย่างกระจ่างแจ้ง หลักแหลมคมคาย และเข้าใจง่าย

มีรายละเอียดในท่วงทำนองคล้ายๆ กันนี้อีกหลายอย่าง เช่น กุญแจพิเศษที่ใช้ไขทุกห้องในโรงแรม หรือขนมปัง ซึ่งผู้อ่านสามารถครุ่นคิดเชื่อมโยงไปสู่เนื้อหาสาระต่างๆ ได้อย่างเปิดกว้างตามอัธยาศัย

ประเด็นว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวใช้ชีวิตของท่านเคานต์รอสตอฟ แรกเริ่มก็ดูเหมือนจะเป็นไปเพื่อประคับประคองให้อยู่รอด ผ่านพ้นความเบื่อหน่าย แต่ถึงที่สุดแล้ว มันนำพาไปสู่สิ่งสำคัญกว่านั้น นั่นคือการแสวงหาจุดหมายในชีวิต

A Gentleman in Moscow เป็นเรื่องของบุคคลที่ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ มีชีวิตอยู่ภายใต้ข้อจำกัด ไม่อาจดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ ถูกผลักไสเข้าสู่มุมอับ จนชีวิตมีสภาพเหมือนต้องพยายามเค้นสมองครุ่นคิดหนักว่า จะ ‘ฆ่าเวลา’ เพื่อให้ล่วงผ่านวันต่อวันไปได้อย่างไร

ชีวิต ‘อยู่ไปวันๆ’ ดังเช่นที่ปรากฏ ไม่เอื้อให้เกิดความใฝ่ฝันใดๆ ร่ำรวยอดีต ปราศจากอนาคต และมีแต่ปัจจุบันซ้ำๆ ย่ำอยู่กับที่เดิม คุณค่าความหมายหรือเป้าหมายในการมีชีวิตแทบจะกลายเป็นเรื่องเลือนรางห่างไกลเกินกว่าจะจินตนาการ

ความวิเศษอัศจรรย์ของ A Gentleman in Moscow คือการเล่าเรื่องเหลือเชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้ว ตัวละครสามารถค้นพบคุณค่าความหมายของการมีชีวิตได้อย่างไร และสิ่งนั้นคืออะไร?

ระหว่างการอ่าน นอกจากผมจะนึกถึงหนังเรื่อง The Terminal ซึ่งมีทอม แฮงค์ส เป็นดารานำแล้ว พลันเมื่ออ่านจบ ผมก็เผลอรำพันออกมาเบาๆ ว่า “นิยายเรื่องนี้มีความเป็นหนังที่เล่นโดยทอม แฮงค์สจังเลย”

ถ้อยรำพึงข้างต้นนั้น ผมหมายความว่าเป็นนิยายที่อ่านแล้วเจริญใจ ให้ความรู้สึกที่ดีมากๆ นะครับ

รวมทั้งเป็นนิยายในหมวดหมู่เบสต์เซลเลอร์ ที่เขียนดีมากๆ สนุกมากๆ ด้วยครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save