fbpx
เมื่ออาหารที่ดีต่อสุขภาพไม่อาจเกิดขึ้นได้บนฐานการผลิตที่ทำลายสุขภาพ A Circular Economy for Food

เมื่ออาหารที่ดีต่อสุขภาพไม่อาจเกิดขึ้นได้บนฐานการผลิตที่ทำลายสุขภาพ A Circular Economy for Food

กรณิศ ตันอังสนากุล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

มีเพียงไม่กี่สิ่งที่เชื่อมโยงกับการดำรงอยู่ของมนุษย์ ขณะเดียวกันก็เป็นรูปแบบหนึ่งของวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติ อาหารก็เป็นหนึ่งในไม่กี่สิ่งเหล่านี้

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในขั้นพื้นฐานที่สุดเราต้องบริโภคเพื่อความอยู่รอด ในระดับที่เหนือกว่าความต้องการขั้นพื้นฐานแล้ว อาหารยังสามารถสร้างความสุข และบ่อยครั้งก็ปรากฏเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมโดยเฉพาะในวาระเทศกาลและงานเฉลิมฉลองต่างๆ อุตสาหกรรมอาหารนับเป็นภาคการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก สร้างการจ้างงานกว่าพันล้านคนและมีมูลค่าถึงร้อยละ 10 ของเศรษฐกิจโลก (มีสัดส่วนร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของทั้งโลก global GDP)

ระบบอาหารในปัจจุบันทำหน้าที่อย่างดีเยี่ยมในการรองรับประชากรโลกที่เติบโตอย่างรวดเร็วควบคู่ไปกับบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของเมือง อย่างไรก็ดี การได้มาซึ่งอาหารในปัจจุบันใช้วิธีที่ทั้งสิ้นเปลืองทรัพยากรและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แม้ว่าการพัฒนาของผลิตผลจะเพิ่มขึ้นในช่วงสองศตวรรษที่ผ่านมา แต่ก็มาพร้อมกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งดูจะไม่สมเหตุสมผลในระยะยาวเสียแล้ว การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบการผลิตอาหารบนฐานคิดแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอาจเป็นทางออกที่ตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่าและสร้างผลประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง

แน่นอนว่าระบบการผลิตอาหารทำงานอย่างน่าอัศจรรย์ในการผลิตอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากประชากรที่ขยายตัว หากจะกล่าวว่าผลิตภาพทางอาหารเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกคงจะไม่ผิดนัก เหตุการณ์สำคัญของภาคการผลิตอาหารคือการปฏิวัติเขียวหรือ Green Revolution ในช่วงทศวรรษที่ 1960 ที่การใช้ปุ๋ยเคมี ยากำจัดศัตรูพืช และเครื่องจักรกล ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรสูงขึ้นมาก แต่ผลเสียตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ระบบอาหารเช่นในปัจจุบัน ทุกๆ 1 เหรียญสหรัฐที่ใช้จ่ายไปกับอาหาร จะเกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมูลค่า 2 เหรียญสหรัฐ โดยครึ่งหนึ่งของต้นทุนเกินขึ้นที่ฝั่งการบริโภค เช่น โรคอ้วน ภาวะขาดสารอาหารและการขาดสารอาหาร ขณะที่ต้นทุนอีกครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นที่ฝั่งการผลิต เช่น มลพิษที่ปล่อยสู่ธรรมชาติ

การผลิตอาหารในปัจจุบันเป็นที่มาของปัจจัยต่างๆ ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลก ด้วยเหตุนี้เอง ภายใต้การผลิตอาหารที่เป็นอยู่เราไม่อาจจะ ‘กินเพื่อสุขภาพ’ ได้เลย รายงานของ The Ellen MacArthur Foundation พบว่าภายในปี 2050 การใช้สารกำจัดศัตรูพืชและยาปฏิชีวนะที่มากเกินไป การจัดการปุ๋ยที่ไม่เหมาะสม สามารถนำไปสู่การเสียชีวิตของประชากร 5 ล้านคน/ปี ทั่วโลก ซึ่งเท่ากับสองเท่าของผู้เสียชีวิตจากโรคอ้วนและคิดเป็นสี่เท่าของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในปัจจุบัน

นอกจากนี้รายงานยังกล่าวถึงหายนะทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลมาจากการผลิตอาหาร ปุ๋ยสังเคราะห์ ยากำจัดศัตรูพืช หรือแม้แต่การใช้ปุ๋ยคอกอย่างไม่ถูกวิธี ทำให้สถานการณ์มลพิษทางอากาศและการปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำรุนแรงขึ้น ในปัจจุบันเกือบ 1 ใน 4 ของก๊าซเรือนกระจกมาจากการผลิตอาหาร และแม้ว่าเราจะพยายามเลือกประเภทอาการที่ดีต่อสุขภาพ เราก็ไม่อาจเลี่ยงความเสี่ยงจากที่มาและวิธีการผลิตอาหารได้เลย

วิธีที่เราผลิตอาหารไม่เพียงแต่สิ้นเปลืองและทำลายสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพอีกด้วย มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะออกแบบระบบนี้ใหม่ เราทุกคนต้องการอาหารที่ไม่เพียงแต่มีคุณค่าทางโภชนาการ แต่การได้มาซึ่งอาหารเหล่านั้นต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขภาพ

 

แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ระบบอาหารสำหรับอนาคต

 

The Ellen MacAthur Foundation เสนอวิสัยทัศน์การออกแบบระบบการผลิตอาหารขึ้นใหม่บนฐานแนวคิดของระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ซึ่งเสนอให้ “อาหารมาจากแหล่งผลิตท้องถิ่น ในวิถีที่ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ของเสียถูกจัดการและนำไปใช้ให้เกิดมูลค่า อาหารที่ดีต่อสุขภาพต้องผลิตโดยไม่ใช้วิถีปฏิบัติที่เป็นอันตราย” หรือที่รายงานฉบับนี้ใช้คำว่า “Regenerative food production” โดยหลัก 3 ประการของการเปลี่ยนผ่านสู่แหล่งพลังงานหมุนเวียน ประกอบด้วย

การออกแบบการจัดการของเสียและมลพิษ ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนช่วยให้เรามองเห็นผลกระทบทางลบต่อสุขภาพและธรรมชาติที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ซึ่งต้นทุนที่เกิดขึ้นรวมถึงการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสารอันตรายสู่ภายนอก มลพิษที่ปล่อยสู่อากาศ ดิน และน้ำ ตลอดจนการสูญเสียที่รวมถึงการที่ของบางสิ่งไม่ได้ถูกนำไปใช้งานอย่างเต็มที่ เช่น อาคารและรถยนต์

การดูแลรักษาวัสดุและผลิตภัณฑ์ให้ใช้งานได้ สนับสนุนกิจกรรมที่อนุรักษ์พลังงานและทรัพยากรต่างๆ ทั้งแรงงานและสิ่งของ ดังนั้นการออกแบบเพื่อยืดอายุการใช้งาน การนำกลับมาใช้ซ้ำ (reuse) กานนำกลับมาผลิตใหม่ (remanufacturing) และการรีไซเคิลก็ดี เป็นการรักษาผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและวัสดุต่างๆให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจต่อไป

การฟื้นฟูระบบธรรมชาติ เศรษฐกิจหมุนเวียนหลีกเลี่ยงการใช้ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป ควบคู่กับการอนุรักษ์หรือยกระดับการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน เช่น การคืนสารอาหารกลับสู่ดินเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูธรรมชาติ

ระบบเศรษฐกิจที่จะอยู่รอดได้ในระยะยาวต้องอาศัยการมีส่วนร่วม และการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยธุรกิจทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ทั้งจากระดับประเทศ สู่ระดับเมือง สู่ระดับชุมชนท้องถิ่นไปจนถึงสมาชิกในชุมชน ระบบเศรษฐกิจที่กระจายอำนาจและครอบคลุมจะเป็นผลดีในการสร้างสรรค์และแบ่งปันผลประโยชน์จากระบบหมุนเวียน รายการให้ข้อสรุปว่าการจัดการของเสียและปรับปรุงปัจจัยด้านสุขภาพบนฐานแนวคิดแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะ…

  • สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากถึง 7 พันล้านเหรียฐสหรัฐ/ปี
  • ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เกิดจากการใช้ยากำจัดศัตรูพืช 550 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี
  • อาการดื้อยา มลพิษทางอากาศ การปนเปื้อนในแหล่งน้ำ และโรคที่เกิดจากอาหาร จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 3 พันล้านตันเทียบเท่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (เทียบเท่ารถยนต์ 1 พันล้านคันหายไปจากถนนอย่างถาวร)
  • ที่ดินราว 15 ล้านเฮกเตอร์จะรอดพ้นจากการเป็นที่ดินเสื่อมโทรม
  • ลดการใช้น้ำ 450 ล้านลิตร/ปี

 

การปฏิวัติระบบอาหารและบทบาทของเมือง

 

เมืองนับเป็นกุญแจสำคัญของกระบวนการปฏิวัติอาหารนี้ ภายในปี 2050 เมืองจะบริโภคอาหารคิดเป็นสัดส่วน 80% รายงานฉบับนี้ให้ความเห็นว่าเดิมทีเมืองมีสภาพไม่ต่างจากหลุมดำที่ดูดกินอาหาร พลังงาน และทรัพยากร จากภูมิภาคอื่นๆ แต่คงจะดีไม่น้อยถ้าหากเมืองจะใช้สินทรัพย์ ทรัพยากร และความสามารถอันเป็นเลิศ เปลี่ยนบทบาทตัวเองจากหลุมดำมาผลักดันระบบอาหารที่ฟื้นฟูธรรมชาติและเอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีได้

มีอย่างน้อย 3 แนวทางที่เมืองจะแสดงการสนับสนุนระบบอาหารแบบใหม่ที่ว่านี้

การเลือกใช้วัตถุดิบที่มาจากแหล่งผลิตท้องถิ่น ในวิถีที่ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ของเสียถูกจัดการและนำไปใช้ให้เกิดมูลค่า ไม่ใช้วิถีปฏิบัติที่เป็นอันตราย ซึ่งเมืองสามารถใช้ความต้องการทั้งของภาครัฐและเอกชนกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เมืองยังต้องจัดหาวัตถุดิบส่วนใหญ่จากภายนอกเพื่อตอบสนองความต้องการของชาวเมือง แม้การผลิตอาหารในพื้นที่เมือง เช่น การปลูกผักในบ้าน จะได้รับความนิยมและขยายตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ยังมีข้อจำกัดอยู่มากรวมถึงข้อจำกัดในการตอบสนองความต้องการในสารอาหารที่ควรได้รับจากพืชพรรณที่หลากหลาย ที่น่าสนใจคือพื้นที่เกษตรกรรมประมาณร้อยละ 40 ของโลกอยู่ในพื้นที่ชานเมือง (พื้นที่ในรัศมี 20 กิโลเมตรจากเมือง) ที่ซึ่งมีศักยภาพเป็นแหล่งอาหารให้กับเมืองได้หากได้รับการสนับสนุนสร้างแรงจูงใจให้เกิดการผลิตอาหารในวิถีที่ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ

ใช้อาหารให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นแนวทางที่ก้าวต่อจากการลด ‘food waste’ หรืออาหารเหลือทิ้งไปอีกขั้น โดยพิจารณาออกแบบแนวคิดคำว่า ‘waste’ เสียใหม่ กล่าวคือเราสามารถกินอาหารจนหมดจาน หรือประกอบอาหารโดยใช้ทุกส่วนประกอบอย่างคุ้มค่าแล้ว แต่แน่นอนว่าจะมีของเหลือทิ้งบางส่วน ซึ่งเป็นส่วนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ และต้องลงถังขยะในที่สุด แนวคิดใหม่เสนอให้เราพิจารณาเศษเหลือทิ้งเหล่านี้อีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าส่วนประกอบเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยอาจเปลี่ยนรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่หลากหลาย ตั้งแต่ปุ๋ยอินทรีย์ไปจนถึงวัสดุชีวภาพ (biomaterials) ที่นำไปใช้ทางการแพทย์หรือพลังงานชีวภาพ ท้ายที่สุดเมืองสามารถเป็นศูนย์กลางที่ผลพลอยได้จากเศษอาหารถูกแปรเป็นวัสดุที่มีมูลค่า ทำให้เกิดกระแสรายได้ใหม่อีกด้วย

การตลาดและการออกแบบอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน คำว่าสุขภาพไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแง่มุมทางโภชนาการเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงวิถีปฏิบัติทางการผลิตด้วย ลองคิดดูเล่นๆ ว่าปริมาณอาหารที่เรารับประทานในแต่ละวัน แท้ที่จริงแล้วถูกออกแบบโดยเจ้าของผลิตภัณฑ์ ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ ผู้เล่นเหล่านี้มีอิทธิพลต่อรูปแบบและอุปนิสัยการรับประทานของผู้คนมานานหลายสิบปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ผู้เล่นเหล่านี้สามารถสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น คิดค้นการผลิตโปรตีนจากพืชเป็นทางเลือกทดแทนผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพเหล่านี้  การพัฒนาผลิตภัณฑ์และสูตรอาหารที่ใช้ผลพลอยได้จากส่วนประกอบที่ไม่ใช้ (by-product) มาเป็นวัตถุดิบ ด้วยวิธีนี้นักออกแบบอาหารสามารถมีส่วนร่วมในการออกแบบ food waste ขณะที่ความเชี่ยวชาญทางการตลาดสามารถส่งเสริมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้นในแต่ละวัน

 

Source: Cities and Circular Economy for Food, The Ellen MacAthur Foundation

 

ระบบอาหารในปัจจุบันทำหน้าที่อย่างดีเยี่ยมในการรองรับประชากรโลกที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่อาหารที่ดีต่อสุขภาพจะเกิดขึ้นบนฐานการผลิตที่ทำลายสุขภาพได้อย่างไร ถึงเวลาแล้วที่เราควรยุติระบบอาหารที่ทั้งสิ้นเปลืองทรัพยากร ทำลายสิ่งแวดล้อม และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน การปลูกพืชในลักษณะที่ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่คำนึงถึงการใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น ปรับปรุงการจัดการของเสีย นำส่วนที่เหลือทิ้งไปใช้ประโยชน์สูงสุด สามารถเป็นทางของเราในระยะยาว

เมืองซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่สามารถช่วยผลักดันมีให้เกิดระบบอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการสนับสนุนผู้ผลิตในพื้นที่ชานเมือง การใช้อาหารให้เกิดประโยชน์สูงสุด และออกแบบอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การปฏิวัติทางอาหารจะสร้างความมั่นได้ใจว่าอาหารที่เข้าสู่เมืองจะมาจากการเพาะปลูกที่นอกจากจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยยกระดับฐานทรัพยากรและสุขภาพของผู้คนอีกด้วย

ในโอกาสหน้า ผู้เขียนจะเล่าถึงเมือง 4 แห่งที่เป็นพื้นที่โครงการนำร่องที่นำแนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนสำหรับอาหารไปใช้ ว่าประสบผลสำเร็จและเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

 

เอกสารประกอบการเขียน

https://www.ellenmacarthurfoundation.org/news/new-ellen-macarthur-foundation-report-finds-unhealthy-food-production-makes-healthy-eating-impossible

https://www.ellenmacarthurfoundation.org/assets/downloads/Cities-and-Circular-Economy-for-Food_280119.pdf

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save