fbpx
มหากาพย์ข้างถนน A Brighter Summer Day

มหากาพย์ข้างถนน A Brighter Summer Day

[et_pb_section transparent_background=”off” allow_player_pause=”off” inner_shadow=”off” parallax=”off” parallax_method=”on” make_fullwidth=”off” use_custom_width=”off” width_unit=”off” custom_width_px=”1080px” custom_width_percent=”80%” make_equal=”off” use_custom_gutter=”off” fullwidth=”off” specialty=”off” admin_label=”section” disabled=”off”][et_pb_row make_fullwidth=”off” use_custom_width=”off” width_unit=”off” custom_width_px=”1080px” custom_width_percent=”80%” use_custom_gutter=”off” gutter_width=”3″ allow_player_pause=”off” parallax=”off” parallax_method=”on” make_equal=”off” parallax_1=”off” parallax_method_1=”on” parallax_2=”off” parallax_method_2=”on” parallax_3=”off” parallax_method_3=”on” parallax_4=”off” parallax_method_4=”on” admin_label=”row” disabled=”off”][et_pb_column type=”4_4″ disabled=”off” parallax=”off” parallax_method=”on”][et_pb_text background_layout=”light” text_orientation=”left” admin_label=”Text” use_border_color=”off” border_style=”solid” disabled=”off”]

‘นรา’ เรื่อง

เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นยินดีที่ A Brighter Summer Day ผลงานกำกับปี 1991 ของเอ็ดเวิร์ด หยาง กำลังจะมีโอกาสเข้าฉายโรงบ้านเรา (เพียงแค่ 2 รอบเท่านั้น) ในเทศกาลหนังไต้หวันระหว่างวันที่ 18 มกราคม – 23 มกราคม 2561 นี้

ชื่อเสียงของหนังเรื่องนี้ไม่ได้ดังแพร่หลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ไม่เคยเป็นที่รู้จักของผู้ชมปกติทั่วไป เนื่องจากไม่ใช่หนังในสายตลาดเน้นความบันเทิง ประกอบกับตัวหนังเองมีความยาวเหยียดถึง 3 ชั่วโมง 57 นาที (และได้รับการออกแบบอย่างประณีต โดยเจตนาของผู้กำกับ ให้ฉายต่อเนื่องรวดเดียวจบ ปราศจากการพักครึ่ง) ก็ยิ่งชวนให้ใครและใครนึกท้อถอยถอดใจยอมแพ้เอาได้ง่ายๆ

อย่างไรก็ตาม นี่คือหนึ่งในงานระดับมาสเตอร์พีซที่โดดเด่นสุดเรื่องหนึ่งของโลกภาพยนตร์ตลอดช่วงระยะ 30 ปีที่ผ่านมา ยอดเยี่ยมในระดับใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์ และหลายคนลงความเห็นสอดคล้องตรงกันว่า เป็นหนังที่นักดูหนังสมควรหาโอกาสดูให้ได้สักครั้งในชีวิต

มหากาพย์ข้างถนน A Brighter Summer Day

พูดให้ฟังดูน่าเกรงขามขึ้นไปอีก A Brighter Summer Day เป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยความทะเยอทะยานและใช้วิธีการทางศิลปะ ‘เล่นท่ายาก’ อย่างถึงที่สุด ทั้งความยาวเกินมาตรฐานหนังทั่วไปร่วมๆ เท่าตัว จังหวะลีลาการเล่าเรื่องนิ่ง เรียบ หลีกเลี่ยงการเร้าอารมณ์ตลอดเวลา กำหนดระยะภาพส่วนใหญ่ให้อยู่ปานกลางและไกล จนยากจะจำแนกแยกแยะหน้าตาของตัวละครว่าใครเป็นใคร (มิหนำซ้ำยังมีหลายฉากที่ตัวละครคุยกันถึงคนนั้นคนนี้ โดยผู้ชมไม่ทันตั้งหลักหรือได้เห็นผู้ถูกพาดพิงปรากฏตัว) การปล่อยตัวละครจำนวนมากมายออกมาแบบปราศจากการแนะนำหรือคำอธิบาย ปล่อยให้ผู้ชมค่อยๆ ปะติดปะต่อทำความรู้จักด้วยตนเอง การถ่ายลองเทคหลีกเลี่ยงการตัดต่อในหลายๆ ฉาก บางขณะก็ตั้งกล้องแช่นิ่งๆ กินเวลานาน

แต่สิ่งที่เป็นที่สุดของการ ‘เล่นท่ายาก’ ผมคิดว่ามีอยู่ 3 ประการ หนึ่งคือ การเล่าเรื่องแบบจงใจละเว้นทิ้งให้คนดูคิดเองอยู่เป็นระยะๆ โดยปราศจากข้อสรุปแน่ชัด บางครั้งก็จงใจข้ามภาพหรือเหตุการณ์ที่มีความเข้มข้นในทางดรามา บางครั้งเป็นการละเว้นเพื่อให้ผู้ชมอยู่ในสภาพลังเลไม่แน่ใจเช่นเดียวกับตัวละคร (ตัวอย่างที่เด่นชัดก็เช่น สาเหตุที่แท้จริงซึ่งพ่อพระเอกถูกเรียกตัวไปสอบปากคำ) และการละเว้นแบบทิ้งให้คิดที่โดดเด่นสุด คือ ความรู้สึกภายในใจและตัวตนที่แท้จริงของนางเอกว่าเป็นคนอย่างไร?

ประการต่อมาคือ ตลอดทั้งเรื่องหนังไม่มีดนตรีประกอบในลักษณะที่เป็นสกอร์เลย มีเพียงแค่เพลงซึ่งแสดงที่มาของเสียงอย่างสมจริงเท่านั้น เช่น จากคอนเสิร์ต วิทยุ เครื่องเล่นแผ่นเสียงฯ (โดยธรรมชาติและความเข้าใจพื้นฐานทั่วไป หนังที่ปราศจากดนตรีมักส่งผลให้ผู้ชมรู้สึกอึดอัด และยากต่อการสร้างอารมณ์ให้คล้อยตามไปกับเรื่องราวเหตุการณ์นะครับ)

ประการสุดท้ายคือ เนื้อหาหรือเรื่องที่จะเล่าอยู่ในระดับ ‘คิดการใหญ่’ ทั้งเนื้อเรื่องเหตุการณ์และประเด็นสาระ ซึ่งผมคิดว่าหนังสะท้อนประเด็นอะไรต่อมิอะไรครอบคลุมเต็มไปหมด มีทั้งแง่มุมเกี่ยวกับความเป็นไปในชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ปัญหาวัยรุ่น แง่มุมในแบบ coming of age (หนังที่พูดถึงระยะเปลี่ยนผ่านจากช่วงวัยหนึ่งเติบโตไปสู่อีกช่วงวัยหนึ่ง) การสะท้อนภาพสังคมและการเมืองในไต้หวันช่วงต้นทศวรรษ 1960

ประเด็นทั้งหมดนี้ เอ็ดเวิร์ด หยาง แสดงไว้ในหนังแบบเหวี่ยงกระจายแทรกปนไปกับรายละเอียดมากมาย โดยไม่เน้นแง่มุมใดให้เด่นชัดเป็นพิเศษ ส่งผลให้ A Brighter Summer Day กลายเป็นหนังที่มีลักษณะเปิดกว้างมาก สุดแท้แต่ผู้ชมจะเลือกหยิบจับเนื้อหาในหนังมาพิจารณา ตามความเข้าใจของแต่ละบุคคล

มหากาพย์ข้างถนน A Brighter Summer Day

จากคุณสมบัติต่างๆ ข้างต้นที่กล่าวมาอันเป็นคำขู่ A Brighter Summer Day สมควรเป็นหนังที่น่าสะพรึงกลัว ไม่สนุก ชวนหลับ ดูยากไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจว่าจะสื่อสารสิ่งใด และสร้างความทุกข์ทรมานในขณะดู

แต่ข่าวดีก็คือ หนังออกมาตรงกันข้ามกับย่อหน้าที่แล้วโดยสิ้นเชิง พูดให้ฟังดูง่ายสุด มันเป็นหนังที่ผู้ชมจะตกหลุมรักและประทับใจเมื่อดูจบ และเกิดอาการสั่นสะเทือนภายในใจอย่างรุนแรง

ในความนิ่งเรียบห่างไกลจากรสบันเทิง มันเป็นหนังที่มีอิทธิฤทธิ์สะกดตรึงผู้ชมไว้ได้ตลอดทุกขณะ มีช่วงจังหวะดรามาดีๆ แบบไม่เร้าอารมณ์ แต่ค่อยๆ สะสมทีละนิดตามลำดับอยู่ตลอดเวลา จนถึงที่สุดก็กลายเป็นการเล่นงานผู้ชมขั้น ‘เอาตาย’ ที่แนบเนียน นิ่งลึก เปี่ยมด้วยชั้นเชิงทางศิลปะอันสูงส่ง

หมดจากคำขู่และคำปลอบ ต่อไปเป็นคำเตือน ท่านใดที่ตั้งใจจะดูหนังเรื่องนี้ พึงระมัดระวังและไม่ควรไปอ่านเรื่องย่อล่วงหน้าก่อนดู แม้หนังจะโน้มเอียงมาทางการบอกเล่ารายละเอียดในชีวิตประจำวันของตัวละคร ไม่ได้มีพล็อตโลดโผนโจนทะยาน แต่ก็มีความลับ จุดหักเห การสร้างความประหลาดใจ (แบบแสดงออกแต่น้อย) อยู่มากมายหลายครั้ง และส่งผลต่ออรรถรสในการดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงท้ายๆ ของหนัง เรื่องราวและเหตุการณ์ถึงขั้นต้องปกปิดเก็บงำกันอย่างเข้มงวดเลยทีเดียว

เรื่องย่อที่ผมกำลังจะเล่าสู่กันฟัง เป็นการเล่าอ้อมแบบขับรถบนถนนสายเลี่ยงเมือง นอกจากเพื่อการรักษาอรรถรสแล้ว ตัวหนังเองก็ใช้วิธีเล่าที่ไม่ได้มีเส้นเรื่องให้จับต้องได้เด่นชัด แต่ประกอบรวมด้วยชิ้นส่วนเหตุการณ์ย่อยๆ จำนวนมาก มิหนำซ้ำบางเรื่องที่เล่า ยังปรากฏขึ้นอย่างโดดๆ ดูไม่เกี่ยวข้องกับส่วนรวมทั้งหมด และทำให้ผู้ชมงุนงงในเบื้องต้น (ก่อนจะคลี่คลายในเวลาต่อมาจนคนดูเกิดความกระจ่าง) การร้อยเรียงเชื่อมโยงระหว่างฉากต่อฉากใน A Brighter Summer Day คล้ายๆ การต่อภาพจิ๊กซอว์ (ซึ่งมีจำนวนชิ้นส่วนมากมายมหาศาล) และน่าทึ่งที่ชิ้นส่วนหนึ่งเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับชิ้นส่วนอื่นๆ อย่างเหมาะเจาะ ขับเคลื่อนให้เรื่องปลีกย่อยมุ่งตรงไปข้างหน้าอยู่ตลอด จนทำให้หนังที่มีรูปลักษณ์แลดูนิ่ง ราบเรียบ อีกด้านหนึ่งก็กลับกลายเป็นว่า บอกเล่าอย่างกระชับรัดกุมและเดินหน้าไปไวไปเร็ว

ผมใช้คำว่าเป็นหนังเกี่ยวกับอะไร? น่าจะถูกต้องตรงกว่าคำว่า ‘เรื่องย่อ’ นะครับ

A Brighter Summer Day เป็นเรื่องเล่าสารพัดสารพันที่ปรากฏผ่านตัวละครจุดศูนย์กลาง คือ เด็กชายวัย 15 ปีชื่อเสี่ยวเส้อ ครอบครัวของเขาประกอบไปด้วย พ่อ แม่ พี่สาวคนโต พี่ชายคนรอง พี่สาวคนที่สาม และน้องสาวคนสุดท้อง (ชื่อเสี่ยวเส้อหมายถึงลูกคนที่สี่)

เมื่อจีนคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในปี 1949 เจียงไคเช็คและพรรคก๊กมินตั๋ง ร่นถอยมาตั้งหลักที่ไต้หวัน ชาวจีนหลายล้านคนที่มีทัศนะทางการเมืองเดียวกัน อพยพย้ายตามมาด้วย ครอบครัวของเสี่ยวเส้อเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น

ไต้หวันก่อนหน้านี้ เคยตกอยู่ใต้การปกครองของญี่ปุ่นมายาวนาน 50 กว่าปี (ตั้งแต่ปี 1895) ตลอดเวลาเหล่านั้นญี่ปุ่นตั้งเป้าจะผนวกไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอย่างถาวร ใช้ทั้งมาตรการเข้มงวดและประนีประนอมผ่อนปรน พัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ และพยายามครอบงำเปลี่ยนแปลงคนในท้องถิ่น แม้ว่าท้ายที่สุดจะไม่บรรลุตามเป้าหมาย แต่ก็เกิดผลอยู่พอสมควร นั่นคือ ผู้คนส่วนใหญ่ปฏิเสธความเป็นจีนและนิยมญี่ปุ่น

จากปี 1949 ถึงปี 1960 ที่หนังเริ่มเรื่อง ญี่ปุ่นถูกแทนที่ด้วยการเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องของสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวใน A Brighter Summer Day เริ่มต้นขึ้นด้วยพื้นเพหนหลังทางสังคมการเมืองเช่นนี้

มหากาพย์ข้างถนน A Brighter Summer Day

A Brighter Summer Day เป็นหนังเกี่ยวกับสภาพชีวิตในครอบครัวของเด็กชายตัวเอก ซึ่งมีสถานะเป็นคนพลัดถิ่น ต้องเผชิญกับปัญหาการปรับตัวให้เข้ากับสังคมและสภาพแวดล้อมใหม่, เป็นเรื่องว่าด้วยความสัมพันธ์ทั้งด้านขัดแย้งไม่ลงรอยและการยืนหยัดเคียงข้างกันระหว่างพ่อ แม่ ลูก, เป็นเรื่องมิตรภาพทั้งด้านบวกและด้านลบระหว่างเพื่อน, เป็นเรื่องการห้ำหั่นระหว่างสองแก๊งนักเลงที่มีความเป็นอริกันอย่างรุนแรง, เป็นเรื่องของความรักครั้งแรกในวัยเยาว์, เป็นเรื่องรักหลายเส้าเกินกว่าจะนับผู้เกี่ยวข้องพัวพันได้ครบถ้วน, เป็นเรื่องของโลกรอบข้างที่เต็มไปด้วยความผันผวนและการพยายามค้นหาตนเอง, เป็นเรื่องของเด็กชายผู้เติบโตในโลกที่โอบล้อมไปด้วยความรุนแรง, เป็นเรื่องของการขับเคี่ยวในใจของตัวเอก ระหว่างการใช้ชีวิตเพื่อมุ่งสู่ความดีงามกับการพลั้งเผลอถลำลึกไปสู่หนทางมิชอบฯ

แต่สรุปโดยย่นย่อสุด มันเป็นหนังรัก หนังครอบครัว หนังอาชญากรรม และหนังสะท้อนสังคมผสมรวมกันเป็นเนื้อเดียว จนทำให้เรื่องราวในชีวิตของปัจเจกชนธรรมดาสามัญ มีลักษณะเป็นมหากาพย์

หัวใจพื้นฐานในการทำหน้าที่ของหนัง อาจกล่าวแบบตีวงแคบได้ว่า คือ การเล่าเรื่อง การสร้างอารมณ์ร่วม ความงามในทางศิลปะ และการสื่อความหมาย

หนังบางเรื่องอาจเด่นในหลายด้าน บางเรื่องอาจเด่นในด้านใดด้านหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องมีครบหมด

ความน่าทึ่งของ A Brighter Summer Day ก็คือ มีทั้งสี่อย่างนี้ครบครัน และมีอยู่ในระดับที่สูงมากๆ

ความเด่นในการเล่าเรื่องนั้น อธิบายยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมลงสู่รายละเอียดได้ยากสุด แต่มันดีงามถึงขั้นสะกดตรึงผมให้ดู DVD แบบรวดเดียวจบ โดยไม่ยอมกดปุ่ม pause เพื่อหยุดพักเข้าห้องน้ำ และทำให้มนุษย์พันธุ์เกียจคร้านอย่างผม ดูซ้ำรอบสองในอีกไม่กี่วันถัดมาด้วยความกระตือรือร้น อีกทั้งยังเตรียมตัวรอดูในโรงให้เป็นบุญตา

เรื่องการสร้างอารมณ์ร่วม นี่คือหนังไม่พยายามเร้าอารมณ์ ที่มีครบทุกรส รุนแรง อ่อนโยน นุ่มนวล ซาบซึ้ง หม่นเศร้า โรแมนติก น่ารักน่าขบขัน และชวนให้ใจสลาย

มหากาพย์ข้างถนน A Brighter Summer Day

ส่วนความงามทางศิลปะนั้น A Brighter Summer เป็นหนังที่ครบเครื่องทั้งการถ่ายภาพ งานกำกับศิลป์ การออกแบบเสียงประกอบ การใช้เสียง บทภาพยนตร์ การแสดงชั้นดี (ยิ่งน่าทึ่งเมื่อมีข้อมูลระบุว่า นักแสดงเกือบทั้งหมดเป็นมือสมัครเล่นไม่ใช่ดาราอาชีพ) และยังไม่นับรวมการใช้สัญลักษณ์ที่ ‘น่าจะ’ มีอยู่แพรวพราวเต็มไปหมด (ตัวอย่างของสัญลักษณ์อันหนึ่งที่ค่อนข้างชัดคือ วิทยุในบ้านของตัวเอก ซึ่งผมคิดว่าใช่และเป็นสัญลักษณ์ แต่ยังไม่เคยครุ่นคิดและตีความอย่างจริงจังว่าหมายถึงอะไร?)

ความโดดเด่นสุดท้าย คือ การสื่อความหมาย A Brighter Summer Day สะท้อนแง่มุมมากมายและสลับซับซ้อนดังเช่นที่ผมได้เกริ่นไว้คร่าวในช่วงต้นบทความ และมีประเด็นหนึ่งซึ่งหนังเรื่องนี้เก่งอย่างฉกาจฉกรรจ์ นั่นคือ แง่มุมว่าด้วยการสะท้อนภาพสังคม

ตลอดความยาวแตะ 4 ชั่วโมง ยกเว้นข้อความตัวหนังสือตอนเริ่มเรื่องแล้ว หนังไม่ได้มีตรงไหนแห่งใด มุ่งเน้นไปแตะต้องการสะท้อนภาพสังคมโดยตรงเลย แต่ด้วยการใส่รายละเอียดต่างๆ (อย่างกลมกลืนกับเนื้อเรื่องเหตุการณ์) เช่น ภาพรถถังที่วิ่งไปมาบนท้องถนนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เหตุการณ์ไฟดับที่เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ รายงานข่าวจากวิทยุ ฯลฯ รวมทั้งสิ่งที่เรียกว่า ‘ความนัยระหว่างบรรทัด’ ผ่านเหตุการณ์ บทพูด พฤติกรรมของตัวละคร (สิ่งเหล่านี้ผู้ชมสามารถจับสังเกตได้ไม่ยาก)

ทั้งหมดนี้ ฉายภาพของสังคมไต้หวันช่วงต้นทศวรรษ 1960 ซึ่งเต็มไปด้วยความสับสน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ล้วนปราศจากความนิ่งและไร้ทิศทางที่แน่ชัด ผู้คนไม่มั่นใจอนาคต ไม่เชื่อมั่นต่อสถาบันหลักๆ ในสังคม เคว้งคว้างไม่มีที่ยึดเหนี่ยว หวาดระแวงหวั่นเกรงภัยคอมมิวนิสต์ จนนำไปสู่การรวมกลุ่มเป็นนักเลงอันธพาล และเกิดปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ติดตามมาเป็นระลอก

มหากาพย์ข้างถนน A Brighter Summer Day

ในอีกด้านหนึ่ง หนังก็เล่าถึงสังคมที่กำลังประสบปัญหาเรื่องรากเหง้าและตัวตน ทั้งร่องรอยอิทธิพลความเป็นญี่ปุ่นที่ยังหลงเหลือตกค้างอยู่ การไหลบ่าเข้ามาอย่างรวดเร็วและรุนแรงของวัฒนธรรมอเมริกัน

ตัวละครหลักซึ่งเป็นครอบครัวชาวจีนพลัดถิ่น ต้องละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนมาอยู่ในแผ่นดินใหม่ ซึ่งมีรายละเอียดวิถีชีวิตผิดแผกแตกต่างจากเดิมอยู่พอสมควร ประสบปัญหาเรื่องความแปลกแยกไม่เข้าพวก และยิ่งไม่แน่ใจต่อชะตากรรมของตนเอง ว่าควรจะปรับตัวเพื่อปักหลักใช้ชีวิตถาวร หรือพำนักอาศัยเพียงชั่วขณะ ด้วยความหวังว่าสักวัน พรรคคอมมิวนิสต์ในจีนแผ่นดินใหญ่จะพ่ายแพ้ และได้หวนคืนสู่มาตุภูมิ

พูดอีกแบบคือ ครอบครัวตัวเอกเป็นดังภาพตัวแทนของชาวจีนพลัดถิ่น ซึ่งตกอยู่ในสภาพอิหลักอิเหลื่อ จะเดินหน้าต่อก็ทำได้ไม่ถนัดราบรื่น ครั้นจะหันหลังกลับก็มองไม่เห็นวี่แววที่จะเป็นไปได้

หนังเสนอภาพบรรยากาศห้อมล้อมทางสังคมเช่นนี้ เคียงข้างไปกับการเล่าถึงความยากในการใช้ชีวิตและเติบโตของเด็กชายเสี่ยวเส้อ รวมทั้งการที่ทุกสิ่งรอบๆ ตัว ล้วนมีส่วนผลักดันทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อเส้นทางชีวิตถัดจากนั้นของเขา

[/et_pb_text][et_pb_text background_layout=”light” text_orientation=”left” admin_label=”box” background_color=”#eaeaea” use_border_color=”off” border_color=”#969696″ border_style=”solid” custom_margin=”|10px||10px” custom_padding=”10px|10px|10px|10px” disabled=”off”]

Taiwanese Film Festival in Bangkok 2018 – เทศกาลภาพยนตร์ไต้หวัน ประจำปี 2561 จัดฉาย 8 หนังไต้หวันและ 2 หนังไทย ระหว่างวันที่ 17-23 มกราคม 2561 ณ โรงภาพยนตร์ควอเทียร์ซีเนอาร์ต (ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์) ราคาบัตรที่นั่งละ 160 บาท ยกเว้นเรื่อง A Brighter Summer Day ราคา 250 บาท

A Brighter Summer Day ฉายรอบ 19.00 น. ของวันที่ 18 มกราคม และ 19.00 น. ของวันที่ 22 มกราคม

[/et_pb_text][/et_pb_column][/et_pb_row][/et_pb_section]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save