fbpx
A BEGINNER'S GUIDE TO CYBERBULLYING

A BEGINNER’S GUIDE TO CYBERBULLYING

เทพพิทักษ์ มณีพงษ์ เรื่อง

510,000 คอมเมนต์ / 293,000 สเตตัส / 136,000 รูปภาพ คือสิ่งที่เกิดขึ้นบนเฟซบุ๊กในทุกๆ 60 วินาที

บ้างแชร์รูปตลก วิดีโอหมาแมวแสนน่ารัก เมาท์มอยกับเพื่อนฝูง ถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างออกรส และอื่นๆ ที่เชื่อมต่อเราเข้ากับผู้คนทั่วโลกตามหน้าที่ของมันตามชื่อเรียกว่า ‘โซเชียลเน็ตเวิร์ก’

ในความเป็นสังคมจำลองที่กลายร่างมาอยู่บนคลาวด์ นอกจากด้านใสๆ ไร้พิษภัยที่ถูกยกมา ในอีกด้านหนึ่ง พื้นที่มืดมนของความรุนแรงจากการกลั่นแกล้งกันในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่เราเคยเห็น (หรืออาจจะเคยผ่าน – ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำ ถูกกระทำ หรือเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ก็ตามที) ก็พัฒนาการย้ายมาอยู่บนโลกออนไลน์ด้วยเหมือนกันในชื่อของ Cyberbullying

แม้จะวัดความถี่ของการกลั่นแกล้งผ่านโลกออนไลน์ได้ไม่ละเอียดเท่าตัวเลขที่เราบอกไป แต่ที่เราแน่ใจคือในทุกๆ 60 วินาที – หรือกระทั่งตอนนี้ – อาจมีใครบางคนต้องเจ็บปวดกับข้อความหรือรูปภาพที่ถูกส่งต่อเป็นทอดๆ ด้วยความไวเพียงปลายนิ้วแตะปุ่มแชร์บนหน้าจอ

และบางครั้ง มันอาจแลกมาด้วย ‘ชีวิต’

 

ถ้าแปลตรงๆ ตามตัวอักษร Cyberbullying มีความหมายเท่ากับ ‘การกลั่นแกล้งกันบนโลกไซเบอร์’ แต่ถ้าจะขยายให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น การกลั่นแกล้งที่ว่าคือการทำให้อีกฝ่าย (คนที่ถูกกลั่นแกล้ง) รู้สึกถูกคุกคาม ถูกดูหมิ่น ถูกทำให้อับอาย ถูกข่มขู่ หรือถูกทำให้ทุกทรมานจากการส่งข้อความ ภาพหรือคลิปวิดีโอผ่านช่องทางบนโลกอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะส่งหาเจ้าตัวเอง หรือจะส่งไปตามกลุ่มสังคมออนไลน์ต่างๆ

มีสามปัจจัยหลักที่เข้าลักษณะของการกระทำที่เรียกว่าเป็น Cyberbullying นั่นคือ ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูดทางวาจา หรือความรุนแรงทางกายภาพ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ระหว่างสองฝ่ายที่ไม่เท่ากัน เมื่อฝั่งหนึ่งไม่สามารถลุกขึ้นต่อสู้หรือขัดขืนกับการกลั่นแกล้งของอีกฝ่ายได้ ทำให้เกิดสภาวะที่ฝ่ายที่มีสถานะทางอำนาจที่ด้อยกว่าต้องตกอยู่ในภาวะจำยอมจนหนีจากการกลั่นแกล้งไม่ได้ สุดท้ายคือ ความถี่ ของการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบพุ่งเป้าหมายเจาะจง กระทำซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ

เมื่อพูดถึงคำว่าโลกไซเบอร์ ในที่นี้ก็ไม่ได้มีแค่สื่อที่เราคุ้นเคยอย่างเฟซบุ๊กเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ยูทูบ อีเมล ไลน์ เว็บบอร์ด หรือในเกมออนไลน์ก็นับเป็นขอบเขตของคำๆ นี้เหมือนกัน เช่นเดียวกับประเภทของการกลั่นแกล้งที่ถูกแบ่งออกเป็นหลายหมวด ไม่ว่าจะเป็นที่เราคุ้นเคยกันอย่างส่งข้อความเมาท์ให้เสียชื่อเสียง – กีดกันคนที่เราไม่ชอบออกจากกลุ่ม – แอบล็อกอินเข้าไปในแอคเคาต์ของคนที่จะแกล้งแล้วใช้ชื่อเขาทำเรื่องเสียหาย – ข่มขู่คุกคามซ้ำๆ ด้วยคำพูดรุนแรง – ยั่วโมโหหรือหลอกให้เผยความลับแล้วเอามาแชร์ต่อ – สตอล์กหรือสแปมข้อความคุกคามอีกฝ่าย และที่สำคัญคือการเข้าไปร่วมวงกลั่นแกล้งให้ความรุนแรงขยายตัวมากขึ้น

การกลั่นแกล้งที่แบ่งประเภทข้างบนแค่อ่านก็ดูรุนแรง (ซึ่งไม่แน่ว่าเราอาจเผลอทำไปบ้างก็ได้) และไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่ากับใครก็ตาม แต่เชื่อหรือไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ 7 ใน 10 ของเด็กและเยาวชนในสหรัฐอเมริกาต้องพบเจอกับความรุนแรงเหล่านี้ เช่นเดียวกับในประเทศไทย เด็กและเยาวชนไทย (พบมากในกลุ่มมัธยมปลายและอาชีวศึกษา) ถูกกลั่นแกล้งผ่านอินเทอร์เน็ตถึงร้อยละ 43.1 โดยส่วนมากเป็นการนินทาและด่าทอกัน รองลงมาคือการส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือ

สิ่งที่น่ากลัวคือในกลุ่มคนที่เป็นเหยื่อเอง พวกเขาก็เป็นผู้กระทำต่อผู้อื่นด้วยเช่นเดียวกัน และในสายตาของเด็กและวัยรุ่นจำนวนมากก็มองว่า Cyberbullying เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยเหตุผลว่าเป็นอิสระที่สามารถจะทำตามที่ต้องการ และเป็นการระบายความรู้สึกอย่างหนึ่ง

 

ขึ้นชื่อว่า ‘การกลั่นแกล้ง’ ก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลเสียตามมา

ในกรณีของ Cyberbullying มีหลายต่อหลายกรณีที่ทำให้เราตระหนักถึงผลเสียของพฤติกรรมแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียนหญิงวัย 12 ปีที่ต้องเข้ารับการบำบัดทางจิตจากอีเมลที่เต็มไปด้วยข้อความแสดงความเกลียดชังและข่มขู่คุกคาม เด็กหนุ่มวัย 17 ปีจากประเทศแคนาดาที่ถูกเพื่อนร่วมชั้นสร้างเว็บไซต์ให้คนเข้ามาโพสต์ข้อความล้อเลียนเขาโดยเฉพาะจนเขาอับอายจนไม่กล้าไปโรงเรียน หรือในประเทศไทยเอง เด็กสาวชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 คนหนึ่งก็ถูกกลั่นแกล้งด้วยสาเหตุที่เธอเรียนดีจนหลายคนอิจฉา ด้วยการเข้าไปเปลี่ยนแคปชั่นรูปภาพในเฟซบุ๊กส่วนตัวในเชิงยั่วยุทางเพศพร้อมลงเบอร์โทรศัพท์ จนเธอถูกเพื่อนล้อในชีวิตจริง แม้แต่อาจารย์เองก็ไล่ไม่ให้เข้าห้องเรียน

กรณีหลังสุดแม้จะจบลงไปได้จากความพยายามเข้มแข็งและต่อสู้กับการกลั่นแกล้ง แต่สิ่งที่เหยื่อเกือบต้องเสียไปคือชีวิตของเธอ จากความพยายามในการ ‘ฆ่าตัวตาย’

แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้มแข็งได้อย่างนั้น มีหลายเคสของพฤติกรรม Cyberbullying ที่ผู้ถูกกลั่นแกล้งได้รับผลกระทบทางจิตใจจนต้องฆ่าตัวตาย ที่โด่งดังที่สุดคือกรณีของ Amanda Todd เด็กสาวชาวแคนาดาวัย 15 ปี ที่ตัดสินใจจบชีวิตด้วยการผูกคอตาย หลังจากที่เธอแชทกับชายคนหนึ่งผ่านเว็บแคม และโดนเกลี้ยกล่อมจนยอมเปิดหน้าอกผ่านกล้องเว็บแคม แต่ภาพนั้นก็ถูกเผยแพร่ในเฟซบุ๊กจนในชีวิตจริงไม่มีใครกล้าคบเธอเป็นเพื่อน ไม่ว่าจะย้ายโรงเรียนไปที่ไหน มันก็ตามหลอกหลอนเธออยู่ทุกครั้ง พร้อมคำวิจารณ์จากคนอื่นๆ ว่าเธอควร ‘ตายเสียดีกว่าอยู่’

 

 

และไม่ใช่แต่เหยื่อเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากการกลั่นแกล้ง กลุ่มผู้กระทำเองก็ได้รับผลกระทบด้านจิตใจและพฤติกรรมด้วยเหมือนกัน ทั้งอาการวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า งานศึกษายังพบว่า ในระยะยาว คนที่ชอบรังแกผู้อื่นในช่วงที่ยังเป็นเด็กและวัยรุ่นมักจะมีพฤติกรรมเกเร ใช้ความรุนแรง และต่อต้านสังคมเมื่อเติบโตขึ้น

เมื่อรู้ทั้งรู้ว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นฝั่งเหยื่อหรือฝั่งผู้กลั่นแกล้งเองก็ตามที คำถามที่น่าสนใจคือ อะไรกันที่ทำให้เกิดเหตุการณ์การกลั่นแกล้งขึ้นในสังคม

ในการศึกษาด้านอาชญาวิทยา ทฤษฎีการกระทำที่เป็นกิจวัตร หรือ Routine Activity Theory ที่ Marcus Felson และ Lawrence E. Cohen ได้นำเสนอไว้ตั้งแต่ปี 1979 อธิบายถึงโอกาสของการเกิดอาชญากรรมในมุมมองของเหยื่อ ผ่านกิจวัตรประจำวันที่ทำให้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ซึ่งมีสามองค์ประกอบใหญ่ๆ คือ การเป็นเป้าหมายที่เหมาะสม การขาดการป้องกันตัวเอง และแรงจูงใจที่อาชญากรต้องการ

เมื่อลองนำทฤษฎีนี้มาใช้อธิบายการเกิดขึ้นของ Cyberbullying เราจะเห็นว่าเป้าหมายที่เหมาะสมที่ว่าก็คือเด็กและวัยรุ่นที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์มาก เข้าถึงได้ง่าย เมื่อผู้ปกครองไม่สามารถดูแลพฤติกรรมได้อย่างทั่วถึงเลยกลายเป็นการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างขาดการป้องกันตัวเอง พอมาเจอกับแรงจูงใจของคนที่อยากกลั่นแกล้งที่สามารถทำได้แบบนิรนามในโลกออนไลน์ หรือการแก้แค้นของคนรู้จัก พฤติกรรมกลั่นแกล้งแบบที่ว่าจึงเกิดขึ้นได้อย่างไม่ยากเย็น

 

หลังเกิดความสูญเสียหลากหลายกรณีจากพฤติกรรม Cyberbullying บางประเทศก็หันมาเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะที่จำเพาะเจาะจงมากขึ้นเพื่อลดความรุนแรงจากการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์

หลังจากเกิดกรณีที่เด็กสาววัย 17 ปีฆ่าตัวตายจากการถูกเผยแพร่ภาพที่เธอถูกล่วงละเมิดทางเพศบนอินเทอร์เน็ต รัฐโนวาสโกเชียในแคนาดาก็เริ่มบัญญัติกฎหมายเฉพาะเพื่อควบคุมกรณี Cyberbullying เป็นรัฐแรกของประเทศ ในชื่อ Cyber-Safety Act 2013 ที่ให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอคำสั่งคุ้มครอง ด้วยการห้ามผู้กลั่นแกล้งใช้อินเทอร์เน็ต อายัดอุปกรณ์สื่อสารที่ใช้กลั่นแกล้ง รวมถึงห้ามติดต่อสื่อสารกับผู้ร้องเรียน ถ้าฝ่าฝืนจะมีโทษทั้งจำและปรับ ซึ่งรวมไปถึงการเยียวยาทางแพ่งด้วยการชดใช้ค่าเสียหายด้วย

กฎหมายของรัฐโนวาสโกเชียยังครอบคลุมไปถึงเรื่องการศึกษา ที่กำหนดหน้าที่ของครูให้ลงโทษนักเรียนที่มีพฤติกรรมก่อความวุ่นวายตามระเบียบของโรงเรียน เช่น การสั่งให้ออกจากชั้นเรียน หรือดำเนินการพักการเรียน และยังมีการจัดตั้งหน่วยงาน Cyber-SCAN ขึ้นเพื่อสอบสวนกรณี Cyberbullying ที่ถูกร้องเรียนเข้ามาก่อนส่งเรื่องขอความคุ้มครองต่อศาลโดยเฉพาะด้วยอีกทางหนึ่ง

ประเทศไทยของเราเองอาจจะยังไม่ถึงขั้นที่เขียนกฎหมายเฉพาะเพื่อลงโทษในกรณี Cyberbullying ที่ใกล้เคียงที่สุดคงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทในประมวลกฎหมายอาญา แต่ก็เอามาปรับใช้ได้ในบางกรณี ตัวอย่างเช่น การส่งต่อเผยแพร่ข้อมูลที่หมิ่นประมาทโดยตรง หรือข้อมูลที่เป็นไปในเชิงลามกอนาจาร

แต่อย่างที่รู้กันว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทจะครบองค์ประกอบความผิดก็ต่อเมื่อมี ‘บุคคลที่สาม’ เข้ามารับรู้ ดังนั้นถ้าเหยื่อถูกกลั่นแกล้งจากการส่งข้อความโดยตรงก็ไม่ครบองค์ประกอบ หรือถึงจะมีบุคคลที่สามมารับรู้ แต่ถ้าเป็นแค่การทำให้เหยื่อรู้สึกหดหู่ ด้อยค่า แต่ไม่ได้เสียชื่อเสียง ก็ทำอะไรด้วยกฎหมายนี้ไม่ได้อยู่ดี

ส่วน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฉบับปี 2560 ที่มีการเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับการตัดต่อภาพให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง อับอาย ถูกเกลียดชัง ก็ยังมีข้อสังเกตว่าไม่ได้รวมการโพสต์ข้อความหรือภาพที่ทำให้รู้สึกหดหู่หรือด้อยค่า (แต่ไม่ได้เสียชื่อเสียงโดยตรง) ที่เป็นผลของการ Cyberbullying ที่เด็กและเยาวชนหลายคนถูกกระทำอยู่ดี

 

เมื่อเรายังต้องร้องเพลงรอให้กฎหมายแก้ไขจนครอบคลุมความเสียหายทั้งชีวิตและจิตใจจากการถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้คือการลดความเสี่ยงที่จะเกิดจาก Cyberbullying ให้น้อยที่สุดทั้งฝั่งคนที่เป็นเหยื่อ และฝั่งคนที่มีความเสี่ยงจะกลายเป็นคนกลั่นแกล้งไปพร้อมๆ กัน

ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ถึงมารยาทในการสื่อสารกับผู้อื่นผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือการคิดก่อนจะโพสต์อะไรซักอย่างลงไปบนโลกออนไลน์ที่อาจส่งผลกระทบกับชีวิตของคนๆ หนึ่งไปตลอดทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่นเดียวกับฝั่งพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องตระหนักถึงภัยที่อาจเกิดกับเด็กๆ พร้อมเรียนรู้โลกออนไลน์เพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับบุตรหลานของตัวเองเมื่อเกิดปัญหาไปด้วยกัน

ก่อนที่หนึ่งใน 510,000 คอมเมนต์ / 293,000 สเตตัส / 136,000 รูปภาพในทุกๆ 60 วินาทีบนโลกอินเทอร์เน็ตจะเป็นข้อความที่เป็นต้นเหตุของความเจ็บปวดและสูญเสีย

ที่จะคืบคลานมาทำร้ายคนที่เรารัก เหมือนหลายกรณีที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้

 

อ่านเพิ่มเติม

1. dtac Parent Guide คู่มือพ่อแม่ยุคดิจิทัล เข้าใจลูก เข้าใจโลกไซเบอร์ จัดพิมพ์โดย dtac และ unicef

2. รายงานรวบรวมผลการวิจัย ระหวางปพ.ศ. 2541-2552 โครงการสํารวจพฤติกรรมการขมเหงรังแกผานโลกไซเบอรของเยาวชนไทยในเขตกรุงเทพมหานคร จาก สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

3. เอกสารการประชุมวิชาการระดับชาติทางภาษาและการสื่อสาร นวัตกรรมกับความท้าทายทางภาษาและการสื่อสารในโลกไร้พรมแดน จาก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และคณะภาษาและการสื่อสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

4. บทความวิชาการ การรังแกกันผ่านพื้นที่ไซเบอร์ : ผลกระทบและการป้องกันในวัยรุ่น โดย สุภาวดี เจริญวานิช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จาก วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปีที่ 25 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม – สิงหาคม 2560

5. บทความวิชาการ เหยื่อการรังแกผ่านโลกไซเบอร์ในกลุ่มเยาวชน: ปัจจัยเสี่ยง ผลกระทบต่อสุขภาพจิตและการปรึกษาบุคคลที่สาม โดย อมรทิพย์ อมราภิบาล คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จาก วิทยาการวิจัยและวิทยาการปัญญา ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2559

6. บทความ Cyberbullying ถึงเวลาหรือยัง? ที่จะหยุดรังแกกันบนโลกออนไลน์ จาก School of Change Makers

7. บทความ What Is Cyber Bullying? จาก NoBullying.com

8. รายงาน Cyberbullying: ไม่ควรล้อเลียนให้คนอื่นเสียใจ (ออไรท์)? โดย พนัสดา อุทัยพิพัฒนากุล จาก ประชาไท

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save