fbpx

อภิชาต สถิตนิรามัย: 90 ปีเศรษฐกิจไทยหลัง 2475 ความฝัน ‘คนเท่ากัน’ ของคณะราษฎร ยังไม่เป็นจริง

ย้อนไปเมื่อ 90 ปีที่แล้ว ณ ย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ไม่เพียงเป็นจุดพลิกผันครั้งสำคัญของภูมิทัศน์การเมืองไทยเท่านั้น หากแต่ยังทำให้ภูมิทัศน์ ‘เศรษฐกิจไทย’ ต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล เมื่อกลุ่มคณะราษฎรก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พร้อมออกประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 อันสอดแทรกด้วย ‘หลัก 6 ประการ’ โดยมีใจความระหว่างบรรทัดว่า คณะราษฎรมีภารกิจทำให้ ‘คนเท่ากัน’ ไม่ว่าจะในทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ เพื่อหลุดพ้นจากยุคสมัยแห่ง ‘การทำนาบนหลังคน’ ที่เป็นมาตลอดเมื่อก่อนหน้านั้น

ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป ความฝันทำคนให้เท่ากันกลับไม่อาจตั้งมั่น ด้วยความพยายามโต้กลับกระชับอำนาจคืนของกลุ่มชนชั้นนำเก่า ความขัดแย้งและการตอบโต้ไปมาระหว่างกลุ่มอำนาจเก่ากับกลุ่มอำนาจใหม่อย่างคณะราษฎร ในช่วงเวลา 25 ปี นับจากปี 2475 จนถึง 2500 นี้เองถือเป็นรากแห่งปัญหาที่ทำให้ไทยไม่อาจมีประชาธิปไตยที่ลงหลักปักฐาน ทั้งยังเป็นเหตุแห่งพลวัตความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่สืบเนื่องต่อมาในระยะยาว และนี่ก็เป็นคำอธิบายของ รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนไว้ในหนังสือ ‘ทุน วัง คลัง (ศักดิ)นา: สมรภูมิเศรษฐกิจการเมืองไทย กับประชาธิปไตยที่ไม่ลงหลักปักฐาน’ ร่วมกับอิสร์กุล อุณหเกตุ

แม้เรื่องราวในหนังสือจะสิ้นสุดที่ปี 2500 แต่พัฒนาการเศรษฐกิจการเมืองไทยหลังจากนั้นก็ยังคงหลุดไม่พ้นอิทธิพลจากวังวนแห่งความขัดแย้งและการปะทะประสานพลังอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ เพียงแต่มีหน้าตาตัวละครที่เปลี่ยนไป และตัวละครหน้าตาใหม่ๆ ที่ขึ้นมามีบทบาท ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ เจ้าสัวนายธนาคาร และเทคโนแครต ซึ่งจับมือเป็นพันธมิตรกัน ภายใต้ชื่อที่อภิชาตตั้งว่า ‘พันธมิตรสามเส้า’ ไปจนถึงการก้าวขึ้นสู่หน้าฉากของประชาชนกลุ่มชนชั้นกลาง รวมไปถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เป็นตัวแปรสำคัญของภูมิทัศน์ความขัดแย้งแห่งเศรษฐกิจสังคมไทยมาถึงทุกวันนี้

ตลอดเส้นทาง 90 ปีที่ผ่านมาของเศรษฐกิจไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แม้จะเต็มไปด้วยเรื่องราวและตัวละครมากมาย หากแต่หัวใจสำคัญล้วนเชื่อมโยงไปที่ประเด็นเดียว

“เป้าหมายของคณะราษฎรที่ต้องการทำให้คนเท่ากันทางเศรษฐกิจ ยังไม่เกิดขึ้น ที่แย่ไปกว่าเดิมคือความเท่ากันทางการเมืองกลับลดถอยลงไปอีก” คือคำตอบของอภิชาต หรืออาจกล่าวแบบง่ายๆ จากที่เขาพูดได้ว่า “ตลอด 90 ปีของเศรษฐกิจไทย คนไทยยังคงไม่เท่ากัน” อันสะท้อนภาพถึงพลวัตความเหลื่อมล้ำ และลากโยงไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่เคยได้รับการปฏิรูปแก้ไขอย่างจริงจัง จนเป็นปัญหาที่กัดกินสังคมไทยช้าๆ โดยไม่รู้ตัว ดังที่อภิชาตใช้คำเปรียบเปรยว่า ไทยกำลังเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจแบบ ‘ต้มกบ’ นำมาสู่หนังสืออีกเล่มหนึ่งของเขาในชื่อ ‘เส้นทางเศรษฐกิจไทย: จากต้มยำกุ้งสู่ต้มกบ’ ซึ่งเปรียบเราเป็นเหมือนกบที่กำลังถูกต้มด้วยอุณหภูมิร้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่รู้สึกตัว จึงไม่กระโดดหนี จนกระทั่งตายไปในที่สุด

90 ปีที่ผ่านมาจากวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่ความฝัน ‘คนเท่ากัน’ ได้ถูกจุดประกายขึ้นในสังคมไทย กระทั่งค่อยๆ ถูกทำลายจางหายลงไปเรื่อยๆ จนมาสู่วิกฤตต้มกบในวันนี้ 101 ชวนอภิชาต สถิตนิรามัย ผู้เฝ้าติดตามศึกษาพัฒนาการเส้นทางเศรษฐกิจไทยมายาวนาน มาพูดคุยย้อนมองถึงเศรษฐกิจไทยตลอด 9 ทศวรรษที่ผ่านมา ท่ามกลางการต่อสู้คัดง้างระหว่างพลังอำนาจต่างๆ ในสังคม พร้อมมองปัจจุบันของเศรษฐกิจไทยอันกำลังอยู่ภายใต้จุดพลิกผันอันสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย และมองหาอนาคตของเส้นทางเศรษฐกิจไทยหลัง 90 ปี ที่อภิชาตบอกว่า “ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์”

ถ้าคุยเรื่อง 90 ปีอภิวัฒน์สยาม แน่นอนว่าต้องย้อนไปคุยตั้งแต่จุดเริ่มต้น ซึ่งก็คือการปฏิวัติ 2475 โดยคณะราษฎร นอกจากการปฏิวัติตอนนั้นจะพลิกภูมิทัศน์การเมืองไทยแล้วในด้านภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ มีความเปลี่ยนแปลงไปจากก่อนปี 2475 อย่างไร

ถ้าเราพูดถึงคณะราษฎร เราต้องพูดถึง ‘หลัก 6 ประการ’ ใจความของมันอย่างหนึ่งที่ไม่ได้เขียนไว้ตรงๆ ก็คือการมีเป้าหมายทำให้ ‘คนเท่ากัน’ มันคือการลดความเป็นอภิสิทธิชนจากระบอบ absolutism (สมบูรณาญาสิทธิ์) ก่อนหน้าที่คนไม่เท่ากัน

ในตอนนั้นผู้นำความคิดทางเศรษฐกิจคือปรีดี พนมยงค์ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่กี่เดือน ปรีดีก็จัดทำ ‘เค้าโครงการเศรษฐกิจ’ หรือ ‘สมุดปกเหลือง’ ซึ่งปรีดีเขียนไว้ชัดเจนว่าเป้าหมายของเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้คือ การเป็นระบบประกันสังคม แล้วก็เขียนไว้อีกว่าความร่ำรวยของคนไม่ได้เกิดจากความสามารถอย่างเดียว แต่เกิดจากสังคมด้วย อย่างเวลาคุณซื้อที่ดินหรือสินทรัพย์ต่างๆ เสร็จแล้วราคาเพิ่มขึ้น นั่นไม่ได้เป็นความสามารถของคุณ แต่ความร่ำรวยของคุณมาจากสังคม เพราะฉะนั้นคนรวยและคนจนจึงต้องพึ่งพาอาศัยกัน มันเป็นรากฐานที่มาของทัศนะของปรีดีเรื่องความเท่ากันทางเศรษฐกิจของคน

ประเด็นหลักของเค้าโครงเศรษฐกิจที่สุดโต่งที่สุดก็คือการปฏิรูปที่ดิน มันเป็นการกระจายการปกครองที่ดิน เบื้องหลังแนวคิดของมันก็คือต้องการไม่ให้ชนชั้นนำหรือผู้มีอำนาจทำการขูดรีดแบบทำนาบนหลังคน โดยให้รัฐมาเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดในยุคนั้น ซึ่งมันเท่ากับการยึดทรัพย์เจ้าเลย เพราะที่ดินคือทรัพย์สินหลักของชนชั้นนำในยุคนั้น นับมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่กรุงเทพฯ ถูกพัฒนาเป็นอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การถือครองของกรมพระคลังข้างที่ แล้วทำเงินโดยการปล่อยเช่า เพราะฉะนั้นก็แน่นอนว่าแนวคิดการปฏิรูปการถือครองที่ดินโดยรัฐทำให้ชนชั้นนำเสียประโยชน์ เลยเกิดการโต้กลับจนแผนปฏิรูปนี้ไม่สำเร็จ การกระจายการถือครองที่ดินครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์จึงไม่เกิดขึ้น และไม่สามารถเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองในเรื่องความเป็นธรรมในการถือครองที่ดินได้

แต่นโยบายด้านที่ดินเรื่องหนึ่งของคณะราษฎรที่ประสบความสำเร็จก็คือ การส่งเสริมการจัดสรรที่ดินแบบชาวนาหรือเกษตรกรรายย่อย ตอนนั้นชัดเจนว่าคณะราษฎรต้องการยุติระบบสัมปทานการถือครองที่ดินที่เคยมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่รัฐเข้าไปจับจองที่ดินรกร้างว่างเปล่าแล้วเปลี่ยนมาเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล เป็นเหมือนระบบเจ้าที่ดินรายใหญ่ ที่เห็นชัดๆ ก็อย่างโครงการทุ่งรังสิต ซึ่งรัฐจับจองแล้วให้สัมปทานเอกชนขุดคลอง เพื่อจุดประสงค์หลักในการพัฒนาที่ดินให้สัมปทานคนเข้าไปถือครอง หรืออย่างคลองที่เราเห็นเป็นร้อยสายในพื้นที่ราบภาคกลางตอนล่างทั้งหมดในปัจจุบัน ก็มาจากการขุดคลองภายใต้ระบบสัมปทานที่ดินในช่วงเวลานั้น แต่ต่อมาระบบนี้ก็ตายไปในทางปฏิบัติหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ทั่วโลก (The Great Depression) ในสมัยรัชกาลที่ 7 แล้วหลังจากนั้นเมื่อคณะราษฎรขึ้นมามีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นสมัยผู้นำคนไหนก็ตาม ก็ชัดเจนว่าต่อต้านระบบที่ดินแบบนั้น เพราะเป็นระบบที่ทำนาบนหลังคน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ สิ่งที่คณะราษฎรทำคือ การส่งเสริมให้ชาวบ้านมีที่ดินทำกินของตัวเอง และยังเปิดโอกาสให้ชาวบ้านสามารถเข้าไปจับจองที่ดินว่างเปล่าที่ยังมีอยู่เหลือเฟือ คุณอาจจะเคยได้ยินชื่อนิคมสร้างตนเองทั้งหลาย เช่น นิคมหนองโพ นั่นก็เป็นผลงานของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เอารถแทรกเตอร์ไปช่วยไถที่ดินจัดตั้งนิคมให้คนไทยมีที่ดินของตัวเอง ตรงนี้ถือได้ว่าเป็นคุณูปการทางเศรษฐกิจของคณะราษฎรบนหลักความเท่าเทียมกันเรื่องที่ดิน ทำให้ระบบเจ้าที่ดินหยุดอยู่แค่นั้น

นอกจากเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบที่ดิน มีอะไรอีกบ้างที่ถือว่าเป็นมรดกทางเศรษฐกิจของยุคคณะราษฎร

มรดกต่อมาเป็นเรื่อง ‘ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ’ ถ้าย้อนดูหลัก 6 ประการของคณะราษฎรจะเห็นข้อหนึ่งคือเรื่องเอกราช ซึ่งในนั้นรวมถึงเอกราชทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น นโยบายของคณะราษฎรตอนนั้นจึงเป็นการทำให้เศรษฐกิจไทยเป็นของคนไทย เพราะว่านับตั้งแต่สนธิสัญญาเบาว์ริงปี 2398 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยเป็นแบบอาณานิคม แม้จะเรียกว่าเป็นเอกราชทางการเมือง แต่ในทางเศรษฐกิจ เราเป็นแบบอาณานิคม อยู่ภายใต้การครอบงำของต่างชาติ ไม่ต่างอะไรเลยกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย หลังประเทศเหล่านั้นได้รับเอกราช ก็ใช้แนวเศรษฐกิจแบบชาตินิยมกันทั้งนั้น ถึงแม้ไทยจะไม่ได้เป็นอาณานิคมในทางการเมืองก็จริง แต่พอเกิดการปฏิวัติ 2475 มันก็เกิดแรงบันดาลใจในการไปสู่เอกราชทางเศรษฐกิจ

นี่เป็นที่มาของการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ หลังจากที่ผ่านมา สินค้าอุตสาหกรรมของเราเป็นการนำเข้าจากต่างชาติมาทั้งหมด โดยวิธีการก็คือรัฐต้องเข้าไปส่งเสริม แจกกรรมสิทธิ์ให้เอกชนไปลงทุน แต่ในช่วงปี 2475 มันไม่มีเอกชนที่เป็นคนไทย มีแต่คนต่างชาติอย่างคนจีน รัฐเลยต้องทำเองในตอนนั้น กลายเป็นต้นกำเนิดของรัฐวิสาหกิจจำนวนมหาศาลอย่างโรงฟอกหนังหรือโรงทอผ้า แล้วต่อจากนั้นในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังคณะราษฎรหมดอำนาจ ก็เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า มีวิทยานิพนธ์เล่มล่าสุดของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนหนึ่งที่ประเมินว่านโยบายชาตินิยมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า ประสบความสำเร็จแค่ไหน ซึ่งพบว่าทำได้เยอะพอสมควร คือมันสามารถทดแทนการนำเข้าจริงได้หลายเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ว่ามีต้นทุนแพง เพราะรัฐเป็นคนทำเอง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของทุกประเทศที่เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรม อย่างในยุคจอมพลสฤษดิ์ เราก็ประกอบรถยนต์เองแทนที่จะนำเข้ามาทั้งคัน มันเลยมีคุณภาพไม่ดีและแพง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับยุคแรกๆ ของการพัฒนา

ถ้าจะให้เครดิตในเรื่องนี้ ก็ต้องมองว่าจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าอยู่ที่ยุคคณะราษฎร แต่ต้องยอมรับว่ามันไม่ได้ประสบความสำเร็จเยอะ แต่มันก็เยอะกว่าที่พวกเราเคยเชื่อๆ กันมาจากหนังสือหรือสื่อสิ่งพิมพ์ จากนั้นการพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าไปเร่งสปีดและประสบความสำเร็จมากขึ้นในยุคจอมพลสฤษดิ์เป็นต้นไป

และอีกเรื่องหนึ่งที่เปลี่ยนไปก็คือเรื่อง ‘สวัสดิการสังคม’ โดยเฉพาะการศึกษากับระบบโรงพยาบาล ผมว่าแง่นี้สำคัญมาก เพราะถ้าย้อนไปในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แนวคิดของมันคือคนไม่สำคัญ เขาแค่ต้องการปกครองคุณ ไม่ได้ต้องการให้คุณมีกำลัง ไม่ใช้แนวคิดอย่างชาตินิยมที่มองว่าชาติจะแข็งแรงได้เมื่อคนมีสุขภาพ มีการศึกษาที่ดี และเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ เพราะฉะนั้น คณะราษฎรจึงลงทุนครั้งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลักดันการศึกษา ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในหลัก 6 ประการโดยตรงเลย แล้วตอนนั้นมีเป้าหมายด้วย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับแรกกำหนดให้มีสมาชิกสภาครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง ครึ่งหนึ่งจากการแต่งตั้ง และมีสัญญาแบบไม่เป็นทางการว่า ถ้าประชากรรู้หนังสือเกินครึ่งหนึ่งเมื่อไหร่ ก็จะปรับเป็น ส.ส. เลือกตั้งทั้งหมดทันที เพราะฉะนั้น มันเหมือนมีเป้าหมายว่าภายใน 10 ปีจะต้องทำให้ประชากรรู้หนังสือเกินครึ่งหนึ่งให้ได้ สิ่งที่คณะราษฎรทำทันทีหลังการปฏิวัติ 2475 จึงเป็นการเร่งขยายการศึกษามวลชนหรือการศึกษาภาคบังคับขนานใหญ่

ส่วนในแง่สาธาธารณสุข ในปี 2485 จอมพล ป. ซึ่งเป็นผู้นำตอนนั้น ได้ก่อตั้งกระทรวงสาธารณสุข จากเดิมที่เป็นเพียงกรมหนึ่งในกระทรวงมหาดไทย ยิ่งในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เรื่องสาธารณสุขยิ่งไม่เคยได้รับความสำคัญเลย และไม่ใช่แค่ไม่ให้ความสำคัญ แต่ยังไม่มีการผูกมัดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องให้บริการทางการแพทย์กับประชาชน ต้องดูแลประชาชนให้มีสุขภาพดี เพราะตอนนั้นคนไม่เท่าเทียม อย่างมากเขามองว่าสาธารณสุขคือเรื่องสังคมสงเคราะห์ เป็นการทำบุญทำทาน อย่างการสร้างโรงพยาบาลศิริราชหรือกระทั่งวชิรพยาบาลขึ้นมา ก็ทำเพื่อเป็นการทำบุญวันเกิดให้รัชกาลที่ 6 เพราะฉะนั้นในยุคคณะราษฎรเลยเกิดการผลักดันเรื่องนี้ครั้งใหญ่ การแพทย์สมัยใหม่ได้เริ่มต้นขึ้น แบบที่มีโรงพยาบาลเป็นศูนย์กลาง (hospital-based) จนปี 2499 เราถึงได้มีโรงพยาบาลประจำจังหวัดครบทุกจังหวัดเป็นครั้งแรก จากที่เมื่อก่อนต่างจังหวัดไม่มีโรงพยาบาลแบบการแพทย์สมัยใหม่เลย  

อาจารย์ได้อธิบายประเด็นเหล่านี้ไว้ละเอียดในหนังสือ ‘ทุน วัง คลัง ศักดิ(นา)ฯ’ ซึ่งในหนังสือก็คือช่วงเวลาของคณะราษฎรระหว่างปี 2475 ถึง 2500 ที่มีความพยายามโต้กลับทวงคืนของฝ่ายกษัตริย์นิยมอยู่ตลอด แต่หลังจากปี 2500 เรารู้กันว่าฝั่งกษัตริย์นิยมได้รับชัยชนะ และคณะราษฎรก็สิ้นอำนาจไป ภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปจาก 25 ปีนั้นเยอะมาก ถ้าสมมติชวนอาจารย์เขียนหนังสือ ทุน วัง คลัง (ศักดิ)นาฯ เป็นเวอร์ชันหลังจากปี 2500 อาจารย์จะเล่าได้ประมาณไหน

แน่นอนว่าตัวละครเปลี่ยนไป จริงๆ ผมเคยเขียนหนังสือไว้อีกเล่มหนึ่ง ‘รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจฯ’ มีบทหนึ่งที่ว่าด้วยจอมพลสฤษดิ์โดยเฉพาะเลย ผมเขียนเล่มนี้ก่อนจะเขียนเรื่องทุน วัง คลัง (ศักดิ)นาฯ โฟกัสของหนังสือสองเล่มนี้อาจเป็นคนละประเด็นกัน เพราะฉะนั้นถ้าจะให้เล่าเรื่องหลังปี 2500 ในแบบทุน วัง คลัง (ศักดิ)นาฯ จะต้องพูดถึงตัวละคร 3 กลุ่มที่เป็นพลังหลักของเศรษฐกิจไทยคือเจ้าสัวนายทุน เทคโนแครต และทหาร ผมเรียกว่าเป็น ‘พันธมิตรสามเส้า’ ซึ่งเกิดจากระบบทุนนิยมที่จัดตั้งขึ้นมาภายใต้ระบอบสฤษดิ์

ระบอบสฤษดิ์ที่เริ่มในปี 2500 เป็นหลักหมายการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งของภูมิทัศน์เศรษฐกิจไทย หลักหมายที่หนึ่งคือการเปลี่ยนไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่นำโดยทหาร โดยมีราชาเป็นพันธมิตร ไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่นำโดยราชา ด้วยว่าตอนนั้นกษัตริย์ก็ยังทรงพระเยาว์อยู่ ตอนนั้นระบอบทหารก็ร่วมมือกับกษัตริย์ภายใต้บริบทสงครามเย็น มีการใช้กษัตริย์เป็นเครื่องสร้างความชอบธรรมในทางการเมือง ขณะเดียวกันก็ค่อยคืนบทบาทและอำนาจให้กับกษัตริย์ในทางการเมืองเช่นกัน

ถ้าพูดอย่างหยาบๆ คือแต่ละกลุ่ม ทั้งชนชั้นนำเก่า ทหาร กับเจ้าสัว นายธนาคาร สามารถตกลงแบ่งผลประโยชน์กันได้ นำมาสู่การร่วมมือสร้างระบบทุนนิยมแบบใหม่ภายใต้ ‘แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ’ ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่ระบบการค้าเสรีแบบโลกาภิวัตน์เหมือนในยุคก่อนปี 2475 ที่รัฐไม่ได้มีบทบาทหน้าที่ทางเศรษฐกิจเลย คือเป็นรัฐเสรีนิยมคลาสสิก 100 เปอร์เซนต์ แต่พอเป็นหลังปี 2500 รัฐก็เปลี่ยนบทบาทไปจากตรงนั้น คือมาทำหน้าที่วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดการเติบโตของเอกชน มีการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต่างๆ

แล้วยังมีอีกตัวละครหนึ่งคือ สหรัฐอเมริกาที่ทุ่มความช่วยเหลือเข้ามาตั้งแต่ยุคปลายๆ ของจอมพล ป. และสฤษดิ์ก็เข้ามาสานต่อ เพราะถ้าจะเอาชนะคอมมิวนิสต์ ต้องชนะความยากจนด้วย สหรัฐฯ เลยเป็นพลังสำคัญของไทย ทั้งในแง่การทหารและเศรษฐกิจ อย่างตอนที่ทหารสหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพในไทยเพื่อไปรบกับอินโดจีน พอรบเสร็จเขาก็พักผ่อน ที่เขาเรียกว่า R&R (Rest and Recreation) ซึ่งมันก็คือการท่องเที่ยวในยุคสมัยนั้น ซึ่งทำรายได้ให้ไทยประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ตอนนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของไนต์คลับ บาร์ อาบอบนวด ที่เราเห็นกันแพร่หลาย

ถ้าให้สรุปความแตกต่างระหว่างยุคสฤษดิ์กับยุคคณะราษฎร จะสรุปได้ว่าอย่างไร อะไรคือความแตกต่างหลักๆ

สิ่งที่ต่างกันคือ ในยุคก่อนหน้า ชนชั้นนำทะเลาะกันทางการเมือง แต่ละอย่างเลยไปด้วยกันไม่ได้ ไม่เกิดความร่วมมือกัน ฝ่ายหนึ่งก็จ้องจะล้มอีกฝ่ายหนึ่งตลอดเวลา แต่พอเผด็จการทหารภายใต้การอุปถัมป์ของสหรัฐฯ ชนะขึ้นมาแล้วเตะกลุ่มคณะราษฎรออกไป มันทำให้ชนชั้นนำแต่ละกลุ่มมาร่วมมือกันได้ แล้วเป้าหมายแต่ละกลุ่มก็ตรงกัน อย่างกลุ่มเทคโนแครตก็ยินดีทำงานให้กับสฤษดิ์ แกนนำอย่างป๋วย อึ้งภากรณ์ตอนนั้นก็ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ ขณะที่สฤษดิ์เองก็ต้องการสร้างความชอบธรรมทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองและเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ชนชั้นเจ้าก็ได้ประโยชน์จากตรงนี้แน่นอน เช่นเดียวกับเจ้าสัวก็ได้ประโยชน์ชัดเจนจากการส่งเสริมเศรษฐกิจของรัฐ เห็นได้ว่าผลประโยชน์ของทุกฝ่ายไปด้วยกันหมด

เวลาผมสอนหนังสือ ผมมักจะอธิบายกลไกของพันธมิตรสามเส้าแบบง่ายๆ ว่า พวกภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ก็คือทารก เหมือนภาษาอังกฤษที่เขาเรียกกันว่า infant industry การพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าก็เปรียบเหมือนการพัฒนาทารกให้เติบโตขึ้นจนกระทั่งวันหนึ่งสามารถขึ้นมาแข่งขันได้ในตลาดโลก ในช่วงที่มันไม่โต เราก็ต้องค่อยๆ เลี้ยงมัน การเลี้ยงก็คือการสนับสนุนของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือการให้สิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ เพราะฉะนั้นเอกชนก็คือทารกที่ได้รับการป้อนนมอยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะโตขึ้น และเมื่อมันโตขึ้น เราก็เอานมออกจากปากมันได้ รัฐเลิกอุดหนุน ให้มันไปแข่งขันกันข้างนอกได้เอง แล้วถ้าถามว่าใครเป็นคนป้อนนมทารก ใครเป็นแม่นม ก็ป๋วยไง พวกเทคโนแครตคอยคิดว่าจะให้นมเท่าไหร่ ให้สูตรไหน คอยเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ พวกนี้เป็นแม่นมเฉยๆ นะ ไม่ได้เป็นแม่

ส่วนสฤษดิ์ก็ทำหน้าที่เป็นพ่อ เป็นผู้ให้กำเนิดอุตสาหกรรมทารก และในทางเดียวกันก็คอยปราบคอมมิวนิสต์ เป็นลูกสมุนให้สหรัฐฯ ในการรบ แลกกับการได้รับความช่วยเหลือทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ตอนนั้นสฤษดิ์ก็ปราบปรามพวกฝ่ายซ้าย ปราบปรามหนังสือพิมพ์ มีการห้ามจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อไม่ให้ค่าแรงแพง จะได้ไม่ขัดขวางการพัฒนาอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นความเหลื่อมล้ำยุคที่ 2 ของไทยต้องถือว่าเริ่มต้นตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับแรกนี่แหละ ส่วนยุคแรกก็คือเมื่อเราเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริง

ฟังดูขัดแย้งเหมือนกันที่การมีแผนพัฒนาฯ กลับเป็นที่มาของความเหลื่อมล้ำ ถ้าอย่างนั้นปัญหาของแผนพัฒนาฯ ของไทยที่เริ่มต้นในยุคสฤษดิ์คืออะไร ต่างจากแนวคิดการพัฒนาในยุคคณะราษฎรอย่างไร

มันต่างที่เป้าหมาย คือมันไปให้น้ำหนักความสำคัญกับคนละเรื่องกัน สำหรับยุคสฤษดิ์ เป้าหมายแรกสุดคือการทำให้เศรษฐกิจโต คำขวัญทางเศรษฐกิจของสฤษดิ์ในตอนนั้นคือ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” ซึ่งตอนนั้นอัตราเติบโตของไทยทำได้ที่ประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าสำเร็จมาก แล้วพอเศรษฐกิจโตไปได้ระดับหนึ่ง มันทำให้คนจำนวนมากหายจนได้ก็จริง แต่ความเหลื่อมล้ำกลับเพิ่มนะ มันคือความผิดพลาดจากความเชื่อในทฤษฎี ‘ไหลดินลงสู่เบื้องล่าง’ คือเชื่อว่าต้องทำให้ภาคเอกชนข้างบนโตก่อน แล้วถึงจะเกิดการจ้างงาน พอจ้างงานได้เยอะขึ้น ค่าแรงก็แพงขึ้น คนก็หายจน เหมือนว่าพัฒนาที่ข้างบนโดยเชื่อว่าจะดึงคนข้างล่างขึ้นมาด้วย ซึ่งแม้แต่ป๋วยเองก็เชื่ออย่างนั้น แต่ปรากฏว่าคนข้างล่างขึ้นมาได้ช้ากว่าคนข้างบน ช่องว่างก็ยิ่งห่างขึ้น จนความเหลื่อมล้ำหนักขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดหลังสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 ตอนนั้นป๋วยก็เริ่มรู้ตัวแล้วเริ่มเปลี่ยนเป้าหมายมามุ่งเน้นพัฒนาชนบทมากขึ้น พยายามชดเชยความผิดพลาดจากในอดีต ซึ่งก็ต้องชื่นชมป๋วยนะ

ถ้าถามว่ามันต่างจากยุคคณะราษฎรอย่างไร คือยุคคณะราษฎรมีเป้าหมายแรกที่ความเป็นธรรม ไม่ได้อยู่ที่การเติบโต มันมีเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อความเป็นเอกราช ความชอบธรรมทางการเมืองของยุคคณะราษฎรมาจากการทำให้คนเท่ากัน ต่างจากยุคสฤษดิ์ที่ใช้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องสร้างความชอบธรรม คือต้องการทำให้คนรู้สึกว่าไม่ต้องมีประชาธิปไตยก็ได้ แค่ยอมให้เขาปกครองแล้วเขาจะทำให้คุณรวย เหมือนเป็นเผด็จการที่กินได้คล้ายประเทศจีน  

แล้วแผนพัฒนาฯ ยุคหลังจากนั้น ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการแก้ความเหลื่อมล้ำมากขนาดไหน

แผนพัฒนาฯ ฉบับหลังๆ ก็แทบไม่พูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำนะ ตอนนั้นหลังสิ้นแผนฉบับที่ 3 ป๋วยก็ไม่ได้เป็นหัวเรือหลักของเทคโนแครตอีกแล้ว กว่าที่ความเหลื่อมล้ำจะอยู่ในแผนจริงๆ ก็ช้ามาก ถ้าจำไม่ผิดน่าจะยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หรือไม่ก็หลังจากนั้น น่าจะตั้งแต่แผนฉบับที่ 5

แต่ต้องยอมรับว่าผลพวงของระบบทุนนิยมโดยพันธมิตรสามเส้าจนถึงเมื่อสิ้นยุคเปรม การเติบโตทางเศรษฐกิจช่วยยกระดับให้คนพ้นความยากจนได้มหาศาล แล้วในช่วงตั้งแต่หลังยุคเปรมต่อเนื่องมาจนถึงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ความยากจนก็ลดลงเร็วมากนะครับ และถ้านับจากยุคเปรมจนถึงช่วงก่อนโควิด-19 ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ความยากจนลดลงเร็วที่สุดในโลก จาก 80-90 เปอร์เซ็นต์ เหลืออยู่แค่ 6-7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นถ้าจะบอกว่าระบอบสฤษดิ์กับระบอบทุนนิยมยุคหลังจากนั้นไม่ได้มีส่วนดีกับเศรษฐกิจไทยเลยหรือเปล่า ก็ไม่ถูก ต้องยอมรับว่ามันเป็นด้านบวกของการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยม แม้มันจะไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ตามแต่

ถ้าย้อนไปอ่าน ทุน วัง คลัง (ศักดิ)นา ในช่วงปี 2475-2500 เราจะเห็นว่ากลุ่มชนชั้นนำเก่าพยายามต่อสู้เพื่อกระชับอำนาจทางเศรษฐกิจของตัวเองคืนมาโดยตลอด แล้วหลังจากปี 2500 ที่ชนชั้นนำเก่าเป็นฝ่ายชนะ มีอำนาจทางเศรษฐกิจอะไรบ้างที่พวกเขากระชับเอาคืนได้สำเร็จอย่างชัดเจน

หลัง 2475 สิ่งที่คณะราษฎรสามารถทำได้ก็คือการนำอำนาจในการควบคุมพระคลังข้างที่หรือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกจากกษัตริย์ จากเดิมที่กษัตริย์มีอำนาจ 100 เปอร์เซ็นต์ ชัยชนะขั้นแรกก็คือปี 2478-2479 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงคือให้รัฐเข้ามาทำหน้าที่จัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คล้ายอังกฤษในปัจจุบัน โดยถือว่าเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน จึงต้องถูกบริหารด้วยตัวแทนของแผ่นดินที่มาจากการเลือกตั้ง

แต่ต่อมาหลักการนี้ที่คณะราษฎรตั้งไว้กลายเป็นว่าถูกทำลายไปทีละขั้น ขั้นแรกก็คือเมื่อปี 2490 ซึ่งเป็นความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญของฝั่งคณะราษฎร อย่างการให้รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเป็นประธานบอร์ดของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยตำแหน่ง ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งอะไรกับทรัพย์สินเลย แต่เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยในทางปฏิบัติ กฎหมายก็มีความกำกวมอยู่ ซึ่งเป็นอย่างนี้เรื่อยมาตลอดในสมัยรัชกาลที่ 9 จนกระทั่งมาถูกทำลายอีกขั้นหนึ่งในปี 2560-2661 ซึ่งมีการแก้กฎหมายเรื่องนี้ 2 ครั้ง จนเรียกได้ว่าตอนนี้ไม่เหลือมรดกคณะราษฎรในเรื่องทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อีกแล้ว กลับไปสู่รูปแบบ absolutism สมบูรณ์

การเปลี่ยนแปลงเรื่องทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปในทิศทางนี้ มีนัยอะไรต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์เศรษฐกิจไทยบ้างไหม

นัยทางการเมืองมีมากกว่าเยอะ ทางเศรษฐกิจมีไม่เท่าไหร่ ในแง่เศรษฐกิจก็มีแค่ในประเด็นที่ว่าขนาดของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ปัจจุบันใหญ่ขนาดไหน ซึ่งมันก็มี 2 ส่วนหลักๆ คือบริษัท SCG (ปูนซิเมนต์ไทย) และ SCB (ธนาคารไทยพาณิชย์) บวกกับที่ดินใจกลางเมืองกรุงเทพฯ อีกนิดหนึ่ง ซึ่งเราก็รู้ไม่ได้ว่ามูลค่าทั้งหมดของมันคิดเป็นเท่าไหร่ เป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี รวมถึงว่าใครเป็นคนบริหารโดยตรง ระหว่างรัฐหรือกษัตริย์ในฐานะส่วนบุคคล ในแง่เศรษฐกิจคงมีแค่เรื่องนี้ แต่นัยในทางอ้อมของมันใหญ่กว่านั้น คือมันสะท้อนถึงการเมืองที่ย้อนกลับไปเสมือนก่อนปี 2475 เรื่องหนึ่งคือเราแทบตรวจสอบอะไรในทางภาษีไม่ได้เลย อย่างในร่างงบประมาณล่าสุด ที่มีการระบุถึงงบส่วนราชการในพระองค์มาแค่ว่า 8 พันกว่าล้านบาทบรรทัดเดียว ไม่มีรายละเอียดอะไร แล้วเราก็ตรวจสอบไม่ได้ ตัวแทนจากการเลือกตั้งไม่สามารถแตะอะไรได้เลยในส่วน 3 หมื่นกว่าล้านบาทที่เป็นงบประมาณเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 3 ของจีดีพี นี่ก็เป็นเสมือนสมบูรณาญาสิทธิ์ที่มีปริมณฑลทางเศรษฐกิจชัดเจน

แล้วถ้าอาจารย์ต้องเขียนเรื่อง ทุน วัง คลัง (ศักดิ)นา ในเวอร์ชันยุคสมัยปัจจุบัน อาจารย์จะอธิบายประมาณไหน

คล้ายๆ ที่ผมพูดไป ตอนนี้มันย้อนกลับไปคล้ายสมัยโบราณ เป็นแบบกึ่งสมบูรณาญาสิทธิ์ โดยทหารกับเจ้าจับมือกัน แต่มันต่างกับยุคจอมพลสฤษดิ์ตรงที่ว่าตอนนี้เจ้าอยู่เหนือทหาร ขณะที่กลุ่มนายทุนก็เลือกเข้าหากลุ่มอำนาจพวกนี้ เพราะทำให้พวกเขาโตได้ง่าย นำไปสู่การผูกขาดทางเศรษฐกิจ และท้ายที่สุดมันหมายถึงความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นอีกรอบหนึ่งจากการที่การเมืองย้อนกลับสู่อดีต

แล้วความเหลื่อมล้ำที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้มีหน้าตาที่เหมือนหรือต่างจากในอดีตอย่างไร   

ที่ชัดๆ คือมันหนักขึ้น 7-8 ปีที่ผ่านมาเราก็เห็นอยู่ว่าเจ้าสัวรวยขึ้นมหาศาล เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าหน้าตาความเหลื่อมล้ำเปลี่ยนไปอย่างไร ก็คือดีกรีของมันชัดเจนขึ้น มันโหดขึ้นนะ แล้วที่ต่างจากเมื่อก่อนคือตอนนี้เป็นยุคการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีด้วย มันมีเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอย่างเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดการผูกขาดง่ายขึ้นด้วยซ้ำไป คนที่รวยก็จะรวยแบบกระโดด อย่างพวกบริษัทที่ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ ก็รวยเอาๆ และอีกอย่างหนึ่งคือการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีไปดิสรัปต์เศรษฐกิจรูปแบบเก่าๆ มันก็ทำให้คนบางส่วนหลุดออกมา นี่เป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่เห็นได้ชัดเจน

และสำหรับประเทศไทย มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่โบราณไปกว่านั้นอีก เพราะความเหลื่อมล้ำของเราที่เพิ่มขึ้นในรอบนี้เกิดจากการผูกขาดแบบชัดเจน ในหนังสือของผมก็แสดงตัวเลขไว้ชัดเจนอยู่ ประมาณว่าบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 5 เปอร์เซ็นต์ของไทย กุมยอดขายไปถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นความเหลื่อมล้ำในวันนี้เกิดจากการมีอำนาจเหนือตลาดของคนบางกลุ่ม ตัวอย่างหนึ่งที่คลาสสิกก็คือเรื่องการผูกขาดสุรา และที่เราเห็นได้ชัดอีกก็คือเรื่องการควบรวมธุรกิจอย่างทรู-ดีแทค หรือซีพี-เทสโก้

แล้วที่ผมพูดว่าโบราณหมายความว่ามันยังคงเป็นรูปแบบ ‘นายทุนยึดรัฐ’ แล้วทำให้นโยบายต่อต้านการแข่งขันเป็นหมันไปในทางปฏิบัติ หรืออย่างคนระดับรัฐมนตรีบางคนก็เป็นตัวแทนของกลุ่มนายทุนใหญ่ที่รวยมาจากการได้สัมปทานแบบนอนกิน นี่มันโบราณมาก

แปลว่าความเหลื่อมล้ำที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็สัมพันธ์กับระบบการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันด้วย

ถูก ก็เพราะการเมืองถอยหลังไง ทำให้คนพวกนี้รวยได้ง่ายๆ รวยแบบพุงปลิ้นเหมือนในยุคทุนสัมปทานที่ขุนศึกกับเจ้าสัวจิ้มก้องกัน

ถ้าอย่างนั้นที่เขากำลังเถียงกันระหว่างฝั่งหนึ่งที่บอกว่าต้องดูแลปากท้องคนให้ดีก่อนแล้วค่อยปฏิรูป กับอีกฝั่งหนึ่งที่บอกว่าอย่างไรก็ต้องปฏิรูปก่อน อาจารย์คิดอย่างไร

False dichotomy มากเลย ไร้สาระครับ (หัวเราะ) สมมติถ้าคุณบอกว่าต้องเอาเรื่องเศรษฐกิจก่อน คำถามคือมันแปลว่าอะไร แปลว่าต้องออกนโยบายประชานิยมหนักๆ หรอ ต้องถามก่อนว่าถ้าเศรษฐกิจไม่โต คุณจะเอาที่ไหนมาแจก ตอนนี้ fiscal space (พื้นที่การคลัง) ของเราแทบไม่มีแล้ว เพดานหนี้ก็ปาไปกว่า 60 เปอร์เซ็นต์แล้ว และในส่วนงบประมาณ เฉพาะงบข้าราชการก็ 40 เปอร์เซ็นต์ซึ่งตรงนี้ก็แตะไม่ได้ แล้วก็ยังตัดงบทหาร ตัดงบสถาบันฯ ไม่ได้อีก ถามว่าคุณจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้น มันเลือกอันใดอันหนึ่งไม่ได้หรอก ถ้าเลือกเศรษฐกิจแปลว่าอะไร ก็แปลว่าคุณยอมปล่อยให้เขาขี่คุณอยู่อย่างนี้

อาจารย์พูดถึงบทบาทในปัจจุบันของกลุ่มทหาร-เจ้า กับเจ้าสัวไปแล้ว แต่ยังมีอีกตัวละครหนึ่งในกลุ่มพันธมิตรสามเส้าที่อาจารย์ยังไม่พูดถึงคือเทคโนแครต บทบาทของเทคโนแครตในยุคสมัยนี้เหมือนหรือต่างจากเมื่อก่อนอย่างไร ความสัมพันธ์แบบพันธมิตรสามเส้าเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนขนาดไหน

เทคโนแครตทุกวันนี้เหลือแค่ TDRI (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) อย่างเดียวแล้วมั้ง แล้วผมว่าปัจจุบันนี้เทคโนแครตไม่ค่อยมีบทบาทสำคัญนะ เพราะรัฐบาลทหารตอนนี้ไม่ค่อยสนใจ อย่าว่าแต่เทคโนแครตเลย เขาถึงขั้นปราบคนได้ จับคนเข้าคุกได้ ใช้ระบบตุลาการแบบหน้าด้านๆ ขนาดนี้ ละเมิดกฎหมายเสียเองขนาดนี้ เขาจะมาแคร์อะไรกับเทคโนแครตที่เป็นคนกลุ่มหนึ่งหรือเป็นมูลนิธิหนึ่ง พูดแบบหยาบๆ คือ ‘ระบอบหน้าด้าน’ แบบนี้ไม่ได้แคร์ความชอบธรรม ไม่แคร์คน ไม่ฟังสังคม เลยไม่จำเป็นต้องแคร์เทคโนแครต เพราะฉะนั้น เทคโนแครตทุกวันนี้เลยเป็นแค่ think tank

มันต่างกับยุคป๋วยที่เทคโนแครตอยู่ในระบบราชการ เป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐโดยตรง นั่นเป็นยุคที่เทคโนแครตมีอำนาจเยอะมาก เพราะเป้าหมายของสฤษดิ์ตอนนั้นคือการใช้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องสร้างความชอบธรรมทางการเมือง เขาเลยต้องพึ่งเทคโนแครตสูงมาก ตอนนั้นเทคโนแครตสามารถจัดการเศรษฐกิจได้โดยตรง เพราะคุมทั้งแบงก์ชาติ ทั้งกระทรวงการคลัง เขาทำทุกอย่างได้เพียงแค่สฤษดิ์พยักหน้าเท่านั้น และต้องอย่าลืมว่ายุคนั้น นักเศรษฐศาสตร์ไทยที่จบปริญญาเอกมีน้อยมาก แค่ 5-10 คน มันก็พึ่งได้แค่คนกลุ่มนี้ จะไปหาใครที่ไหนไม่ได้แล้ว แล้วป๋วยก็ถือเป็นข้อต่อระหว่างธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ และรัฐบาลไทยในหลายเรื่อง สฤษดิ์ต้องใช้ป๋วยในแง่นี้ เช่น ช่วยกู้เงิน สฤษดิ์ไปกู้เองไม่ได้ เพราะธนาคารโลกไม่ไว้ใจ กลัวสฤษดิ์โกง เลยต้องเป็นป๋วย ทำให้ป๋วยมีอำนาจต่อรองเยอะ

แต่ทุกวันนี้เทคโนแครตภาครัฐตายไปหมดแล้ว เทคโนแครตที่เห็นอยู่ตอนนี้เทียบกับตอนนั้นไม่ได้เลย บทบาทและความสำคัญต่างกันมหาศาล ความแตกต่างนี้สำคัญนะ คือเทคโนแครตแบบ TDRI ตอนนี้จะผลักดันเรื่องอะไรสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อกระแสสังคมเอาด้วยกับเขา แล้วถึงไปบีบรัฐบาลได้ แต่พอเจอระบอบแบบนี้แล้ว TDRI ก็ทำงานยากขึ้น เพราะมันเป็นระบอบหน้าด้าน ไม่ฟังสังคมอยู่แล้ว รัฐบาลตอนนี้เลือกใช้นักเศรษฐศาสตร์ของตัวเองที่พร้อมจะให้คำแนะนำในแบบที่รัฐบาลต้องการเท่านั้น

ที่ภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเมืองของประเทศไทยเดินมาถึงจุดนี้ ซึ่งอาจารย์บอกว่าเป็นการเดินย้อนกลับ อาจารย์มองว่าแกนหลักของปัญหาคืออะไร แล้วทำไมความพยายามปฏิรูปต่างๆ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการปฏิรูปในช่วงทศวรรษ 2540 ที่มีทั้งความพยายามปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปการเมือง และปฏิรูปเศรษฐกิจ ถึงไม่สามารถตั้งมั่นได้ จนทำให้เราเด้งกลับไปที่จุดเดิม

มันเป็นความต่อเนื่องทางการเมืองมาตั้งแต่ช่วงปี 2500 ต้องอธิบายย้อนไปก่อนว่าหลังปี 2500 เจ้ากับทหารจับมือกัน โดยมีเจ้าอยู่ล่าง ทหารอยู่บน เป็นแบบนี้เรื่อยมาจนกระทั่งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มันเป็นจุดเริ่มต้นในการสลับตำแหน่ง คือกษัตริย์เริ่มขยับขึ้นมาอยู่เหนือทหาร กระทั่งคุมทหารได้ทั้งหมดในยุคเปรมเป็นต้นมา แล้วปัจจุบันนี้ก็สามารถคุมทหารได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์

นอกจากการสลับตำแหน่งระหว่าง 2 ขั้วนี้แล้ว การออกมาประท้วงของประชาชนตอนนั้นคือ การบ่งบอกว่าเผด็จการเบ็ดเสร็จอยู่ต่อไปไม่ได้ เพราะก่อนหน้านั้นมันเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมเลย มันจึงระเบิดออกมาเป็น 14 ตุลา โดยกลุ่มชนชั้นกลางรุ่นที่หนึ่ง ซึ่งเป็นผลผลิตจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1-3  กลุ่มนี้กลายเป็นตัวละครใหม่ที่โผล่ขึ้นมาจากกลุ่มพันธมิตรสามเส้า และมาต่อต้านกลุ่มพันธมิตรสามเส้า

หลังจาก 14 ตุลา พันธมิตรเจ้ากับทหารก็พยายามพากลับไปสู่เผด็จการเบ็ดเสร็จเหมือนเดิม เลยเกิดเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แต่ต่อมาเขาก็รู้ว่ามันกลับไปแบบนั้นไม่ได้ ถึงกลายเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบแทน คือต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง โดยที่นักการเมืองจากการเลือกตั้งอยู่ภายใต้นายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็คือเปรม ตอนนั้นเปรมไม่เคยลงเลือกตั้ง แต่เป็นนายกฯ ได้ 8-9 ปี เขาถึงได้เรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ โดยมีเจ้ากับทหารคุมอยู่ข้างบน แต่ยอมให้มีการเลือกตั้ง ยอมให้นักการเมืองจากการเลือกตั้งเข้ามาแบ่งเค้กได้บ้าง โดยที่อำนาจหลักยังคงคุมได้อยู่

แต่ต่อมาพอมีรัฐธรรมนูญ 2540 มันไปทำลายสมดุลอำนาจภายใต้ระบอบครึ่งใบ นักการเมืองจากการเลือกตั้งมีอำนาจขึ้นมา โดยเฉพาะในยุคทักษิณ ชินวัตร กลุ่มอำนาจนำคุมการเลือกตั้งไม่ได้อีกต่อไปแล้วจากการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งสู่บัตร 2 ใบ และด้วยผลงานส่วนตัวของทักษิณเอง ก็ทำให้เขาได้รับความนิยมสูงจากมวลชน มันเป็นครั้งแรกที่นโยบายกินได้ เป็นครั้งแรกที่นโยบายถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียง จากที่ก่อนหน้านี้การกำหนดนโยบายระดับประเทศทำโดยเทคโนแครตกับทหาร โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมเลย ทำให้การเลือกตั้งไม่มีความหมายเลยในการกำหนดนโยบายของประเทศ เพราะฉะนั้นในยุคทักษิณ นโยบายประชานิยมจึงเป็นตัวแทนของอำนาจในการกำหนดนโยบายระดับประเทศผ่านบัตรเลือกตั้ง และมันก็เป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งทางการเมืองที่ตามมา

การรัฐประหารปี 2549 ที่เกิดตามมาก็คือความพยายามที่จะทำให้การเมืองกลับไปอยู่ใต้คนที่ได้รับการแต่งตั้งเหมือนระบอบเปรม แต่มันไม่สำเร็จ เป็นรัฐประหารที่เสียของ มันก็เลยเกิดการรัฐประหารปี 2557 ตามมา จนเป็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาขึ้นมา ก็อยู่ใต้ระบอบเบ็ดเสร็จไปพักหนึ่ง แต่มันก็อยู่ไม่ได้ เลยต้องมีรัฐธรรมนูญ 2560 ขึ้นมา ซึ่งแย่กว่ารัฐธรรมนูญปี 2521 ที่เป็นต้นกำเนิดระบอบครึ่งใบ เพราะในทางปฏิบัติ มันพาประเทศย้อนกลับไปเป็นกึ่งสมบูรณาญาสิทธิ์

เพราะฉะนั้นที่ถามว่าทำไมการปฏิรูปช่วงปี 2540 ถึงไม่ตั้งมั่น ก็เพราะเขายังไม่ยอมไง ไม่ยอมให้ตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งมาได้มีบทบาทจริงๆ เพราะเขายังอยากกุมอำนาจอยู่ แล้วผลผลิตที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นก็คือการเมืองเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ส่วนหนึ่งมันเกิดจากความพยายามสร้างความขัดแย้งขึ้นมาเพื่อนำไปสู่เงื่อนไขในการเข้ามาทำรัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุด

แต่การเกิดขึ้นของมวลชนเสื้อเหลือง-เสื้อแดงก็เป็นผลผลิตของการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเมืองไทยด้วยใช่ไหม

อย่างที่ผมพูดไว้ ชนชั้นกลางรุ่นแรกโตอย่างรวดเร็วหลังแผนพัฒนาฯ ตอนนั้นเศรษฐกิจโตเร็วมาก มหาวิทยาลัยก็ขยายตัว เพราะมันมีแผนพัฒนากำลังคน แล้วการที่เศรษฐกิจโตก็ทำให้คนสามารถส่งลูกเรียนหนังสือได้ อย่างช่วงนั้นพ่อกับแม่ของผมเป็นคนจีนอพยพ พ่อเป็นกรรมกร แม่ขายก๋วยเตี๋ยว แต่สามารถส่งลูกเข้ามหาวิทยาลัยได้ 5-6 คน แน่นอนที่ทำอย่างนี้ได้เพราะเศรษฐกิจโต มันจึงผลิตตัวละครรุ่นใหม่ขึ้นมาอีกรุ่นหนึ่งเป็นชนชั้นกลางเก่า ก็คือพวกคนเดือนตุลาฯ ที่ทุกวันนี้เป็นเสื้อเหลืองนั่นแหละ เขาเป็นชนชั้นกลางระดับบนที่พ้นความยากจนมานานมากแล้วจากโอกาสเศรษฐกิจมีที่เยอะแยะในช่วงเวลานั้น เพราะเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง

หลังจากนั้น โดยเฉพาะหลังยุคเปรมเป็นต้นมา เศรษฐกิจก็โตต่อเนื่องมาอีก มันอาจจะมีสะดุดเล็กน้อยจากวิกฤตต้มยำกุ้งอะไรต่างๆ แต่ภาพรวมก็โตมาต่อเนื่องเฉลี่ยประมาณ 6-7 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ก่อนจะไม่โตต่อตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2552 ในช่วงที่เศรษฐกิจของเราโตก่อนเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ คนก็รวยขึ้นมาก อย่างที่ผมบอกว่าเราเป็นหนึ่งในประเทศที่ความยากจนลดลงเร็วที่สุดในโลก คนที่พ้นความยากจนออกมาในช่วงนั้นก็กลายเป็นชนชั้นกลางกลุ่มใหม่ ซึ่งผมเรียกว่าชนชั้นกลางระดับล่าง คือไม่จนแล้ว พอมีพอกิน แต่ชีวิตก็ยังไม่ได้มั่นคงเท่ากับกลุ่มชนชั้นกลางระดับบน เขาถึงได้ชื่นชอบพวกนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค หรือกองทุนหมู่บ้าน อะไรพวกนั้น เลยกลายเป็นกลุ่มคนเสื้อแดงที่ออกมาสู้เพื่อจะให้นักการเมืองจากการเลือกตั้งที่เขาชื่นชอบได้มีอำนาจ

ตรงนี้เลยนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลางบนกับชนชั้นกลางล่าง หรือระหว่างชนชั้นกลางเก่ากับชนชั้นกลางใหม่ เป็นความขัดแย้งของมวลชนจากการเกิดขึ้นของตัวละครใหม่ ถ้าให้สรุปคือตัวละครใหม่ตัวแรกที่เป็นชนชั้นกลางบน นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ขณะที่ตัวละครใหม่ตัวที่ 2 ที่เป็นชนชั้นกลางล่าง นำไปสู่การชุมนุมของคนเสื้อแดง

การเมืองเสื้อเหลือง-เสื้อแดงเด่นชัดในช่วงทศวรรษก่อนหน้า แต่ทุกวันนี้หลังจากที่ประยุทธ์ขึ้นมา เราเห็นว่าภูมิทัศน์ความขัดแย้งระดับมวลชนเปลี่ยนแปลงไปจากตอนนั้นมากเหมือนกัน อาจารย์มองเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรจากภาพความขัดแย้งในปัจจุบันนี้บ้าง มีตัวละครใหม่หรือความขัดแย้งรูปแบบใดเกิดขึ้นมาใหม่บ้าง

เราก็จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2563 มันเกิดการประท้วงของกลุ่มคนรุ่นใหม่ขึ้นมา อย่างกลุ่มคณะราษฎร 2563 ความขัดแย้งรุ่นนี้ไม่ได้แบ่งเหลือง-แดงเหมือนแต่ก่อน แต่คนรุ่นใหม่ไปทางเดียวกันทั้งรุ่นเลย เพราะฉะนั้น ในแง่นี้มันอาจอธิบายด้วยปัจจัยเชิงชนชั้นไม่ได้เหมือนอย่างช่วงเหลือง-แดง

มันต้องถามคำถามใหม่ว่า ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงลุกขึ้นสู้ ผมอาจจะไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้โดยตรง แต่ผมพอจะอธิบายได้ว่า มันก็เกี่ยวข้องกับประเด็นทางเศรษฐกิจอยู่ ตอนนี้เราอยู่ภายใต้ ‘วิกฤตต้มกบ’ ตัวนี้แหละที่ทำให้คนรุ่นใหม่มองไม่เห็นอนาคต เอาเข้าจริงคนรุ่นใหม่เก่งกว่าคนรุ่นผมมากนะ ถ้าเราอายุเท่ากัน พวกผมไม่มีทางสู้รุ่นพวกเขาได้เลย เพียงแต่ว่าโอกาสของคนรุ่นใหม่ตอนนี้มีน้อย

ถ้าอธิบายให้เห็นภาพก็คือ คนรุ่นผมขี่ฟองสบู่โตขึ้นมา อย่างผมเรียนจบมหาวิทยาลัยตอนปี 2530-2531 มันเป็นช่วงที่เศรษฐกิจพุ่งขึ้นมาพอดี ตอนนั้นเป็นยุคพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณไง เพราะฉะนั้น ต่อให้คนรุ่นผมจะเรียนแย่ขนาดไหน จบมาอย่างไรก็มีงานทำ อย่างคนมีฐานะเป็นลูกเจ๊กกลางตลาดแบบบ้านผม สามารถขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการได้ง่ายๆ เลย แต่คนรุ่นนี้แข่งกันให้ตายก็ไม่โต ก็เพราะโอกาสทางเศรษฐกิจต่างกันเยอะ คนรุ่นผมอยู่กับเศรษฐกิจที่โตปีละ 7 เปอร์เซ็นต์ แต่คนรุ่นนี้เจอเศรษฐกิจโตแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ก่อนโควิด-19 นะ หลังโควิด-19 ไม่ต้องพูดถึงเลย

นี่คือภาวะต้มกบไง คือเศรษฐกิจไม่ดี โอกาสน้อย เพราะไม่ได้เกิดการปฏิรูปอย่างจริงจัง แล้วยังมาเจอการเมืองที่ปิดกั้นอีก ทุกอย่างประกอบกันหมด เด็กรุ่นใหม่เลยคิดว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปแล้วพวกเขาจะอยู่อย่างไร เลยตาสว่างกันขึ้นมาเยอะแยะ

ในหนังสืออีกเล่มของอาจารย์ ‘เส้นทางเศรษฐกิจไทย: จากต้มยำกุ้งสู่ต้มกบ’ อาจารย์เขียนไว้ในส่วนสรุปว่า “ในช่วงเวลานี้สังคมไทยเดินมาถึงจุดพลิกผันที่สำคัญมากในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะตั้งแต่หลังปฏิวัติ 2475” จุดพลิกผันที่ว่านั้นคืออะไร ภาวะเศรษฐกิจการเมืองไทยตอนนี้กำลังพาเราไปสู่อะไร

ไม่รู้ (หัวเราะ) แต่ประเด็นก็คือว่า ตอนนี้เราเจอวิกฤตหลายลูกพร้อมกัน ต่อให้โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่ก็ยังเจอกับปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ที่เรากำลังเจอคือ stagflation (เงินเฟ้อสูง แต่การเติบโตต่ำ) ซึ่งมันไม่ใช่ว่าแป๊บเดียวหาย มันลากยาวเป็นปีๆ แน่ คุณลองนึกภาพดูว่า คนอ่อนล้าจากโควิด-19 มามากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แล้วต้องมาเจอ stagflation อีก นี่คือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่แย่ที่สุดตั้งแต่ผมมีชีวิตอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แย่กว่าตอนต้มยำกุ้งนะ ตอนนั้นมันแค่ไม่กี่ปี แล้วคนที่ได้รับผลกระทบหลักๆ คือผู้ประกอบการ ชาวบ้านโดนน้อยกว่าเยอะ แถมเกษตรกรรายได้ขึ้นด้วยซ้ำ เพราะค่าเงินอ่อน แต่ตอนนี้ถามว่าคนจนจะอยู่อย่างไร เจอทั้งโควิด-19 เจอทั้งข้าวของราคาขึ้น เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ค่าครองชีพก็พุ่งขึ้นไป 8 เปอร์เซ็นต์ มากที่สุดในรอบ 13-14 ปี ตรงนี้ยังไม่พีกด้วยนะ แล้วค่าแรงเราก็ไม่เพิ่มมาตั้งกี่ปีแล้ว รัฐก็ถังแตกอีก พื้นที่การเงินกับพื้นที่การคลังก็ไม่มี ตอนนี้จะลดดอกเบี้ยก็ไม่ได้แล้ว ต้องเพิ่มอย่างเดียว มาตรการเศรษฐกิจมหภาคเราไม่เหลือให้ทำอะไรแล้ว และอย่าลืมว่าเรามีปัญหาโครงสร้างอีก อย่างสังคมสูงวัย สังคมเราแทบไม่เหลือทุนอะไรเลยที่จะรองรับปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าตรงนี้

ส่วนการเมืองก็ย้อนยุค ผมตั้งคำถามง่ายๆ นะ ถ้ารัฐบาลประยุทธ์คงอยู่จนถึงหมดวาระแล้วมีเลือกตั้งใหม่ คราวนี้เขาจะคุมเลือกตั้งอย่างไร จะทำให้พันธมิตรทหารกับเจ้ายังอยู่ในอำนาจต่อไปได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 จะกล้าใช้ ส.ว. 250 คนโหวตเขากลับมาอีกไหม หรือจะเปลี่ยนตัวผู้เล่น ซึ่งก็ไม่ได้หาง่ายๆ นะ แล้วถ้าใช้ ส.ว. อีก คิดว่าคนจะไม่ประท้วงหรอ หรือต่อให้ในที่สุดเขาจัดการได้ แต่สิ่งที่เขาทำก็จะขัดกับความเป็นจริงโดยรากฐาน เพราะฉะนั้นที่ผมเรียกช่วงเวลานี้ว่าคือจุดพลิกผันหรือจุดวิกฤต เป็นเพราะระบบการเมืองข้างบนกับระบบเศรษฐกิจข้างล่างไปด้วยกันไม่ได้แล้ว ความคิดรากฐานของคนตอนนี้เปลี่ยนไปเยอะมาก มันไม่สามารถที่จะกล่อมเกลาความเชื่อทางการเมืองแบบเก่าให้อยู่ได้อีกต่อไปแล้ว ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจก็รอวันปะทุจนคนออกมาเคลื่อนไหว มันมีวิกฤตทั้งเศรษฐกิจและการเมืองซ้อนกันอยู่ภายใต้ระบอบหน้าด้านแบบนี้

ถ้าเขายังใช้เครื่องมือเก่าๆ คนเก่าๆ มาจัดการอยู่ ผมว่ามันจบไม่สวย แล้วถามว่าจบไม่สวยคือไม่สวยแบบไหน มันอาจจะออกมาเหมือนพม่าก็ได้นะ คือมีรัฐประหารอีกครั้งแล้วปราบเรียบ ไม่สนใจหน้าอินทร์หน้าพรหม ต่อให้โดนโลกคว่ำบาตรก็ไม่สนใจ ถามว่าถ้าไทยทำแบบเดียวกัน จะโดนคว่ำบาตรแบบพม่าไหม คงไม่แน่นอน เพราะเศรษฐกิจเราสำคัญกว่าเขา เขายังอยากค้าขายกับเราอยู่ แรงบีบจากข้างนอกคงไม่ได้ผลอะไรกับเราเท่าไหร่ สุดท้ายการเมืองจะชี้ขาดที่ภายในประเทศ

สรุปคือตอนนี้เรามาถึงจุดที่ ‘status quo is not an option’ คือมันพลิกผันแน่นอน แต่จะพลิกไปไหนไม่รู้ ออกหัวหรือออกก้อยไม่รู้ ซึ่งการพลิกไม่ได้แปลว่ามันต้องดีขึ้น แต่อาจจะแย่ลงก็ได้ มันถึงได้น่ากลัวไง

ฟังดูเหมือนเราไม่เห็นอนาคตเลย อาจารย์คิดว่าพอมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์บ้างไหม

ทุกคนถามผมอย่างนี้ เวลาที่ผมสอนในชั้นเรียนเรื่องเศรษฐกิจไทย ผมมักจะปิดคอร์สด้วยเรื่องนี้ ซึ่งก็ตอบเลยว่าผมยังไม่เห็น แล้วผมจะไปทำให้คุณมีความหวังได้อย่างไร (หัวเราะ)

ถ้าเราจะหลุดพ้นจากที่เป็นอยู่แบบนี้ได้ มันคงต้องแก้กันหลายเรื่อง ซึ่งต้องไล่กันอีกยาว ถ้าอย่างนั้นขอถามแค่ว่าบันไดขั้นแรกสุดที่จะช่วยพาเราหลุดพ้นจากสภาพนี้ไปได้คืออะไร

เขาต้องประนีประนอม หมายถึงว่าชนชั้นนำต้องประนีประนอม แต่สัญญาณที่เราเห็นปัจจุบันไม่มีความประนีประนอมใดๆ ทั้งสิ้นเลย ทุกวันนี้ก็ยังยัดข้อหามาตรา 112 ให้เด็กๆ อยู่ ไม่ยอมให้เขาประกันตัว มายอมเอาก็ตอนที่เขาอดอาหารเกือบตาย หรือขนาดว่า ส.ส. วิจารณ์งบสถาบันฯ ยังจะโดนมาตรา 112 มันน่าหดหู่มาก และเราก็ไม่เห็นสัญญาณการปรับตัวใดๆ จากชนชั้นนำเลย  

ที่เราคุยกันมาทั้งหมดคือเรื่องราวเศรษฐกิจไทยตลอด 90 ปีที่ผ่านมาหลังการปฏิวัติ 2475 ถ้าให้สรุปรวบตลอดทั้ง 90 ปีนี้ อาจารย์จะสรุปได้ด้วยคำอธิบายไหนหรือคำนิยามไหน ถามอีกแบบหนึ่งคือโจทย์อะไรที่ครอบคลุมเรื่องราวเศรษฐกิจไทยตลอด 90 ปี

ง่ายนิดเดียว คือเป้าหมายของคณะราษฎรที่ต้องการทำให้คนเท่ากันทางเศรษฐกิจ ยังไม่เกิดขึ้น ที่แย่ไปกว่าเดิมคือความเท่ากันทางการเมืองกลับลดถอยลงไปอีก

ประเด็นที่สำคัญตลอด 90 ปีก็คือ “ใครเป็นเจ้าของประเทศ?” มันเป็นคำถามมาตั้งแต่คณะราษฎรว่าตกลงแล้วประชาชนหรือใครกันแน่เป็นเจ้าของ นี่คือสิ่งที่เขาพยายามสู้กันมาตลอดให้อำนาจเกิดการแชร์กัน ซึ่งก็แล้วแต่ยุค ยุคหนึ่งก็เอนไปทางหนึ่ง บางยุคก็เอนไปอีกทางหนึ่ง จนกระทั่งความขัดแย้งหลักที่เราเห็นในปัจจุบันคือการที่เขากลับพาประเทศกลับไปสู่ระบอบกึ่งสมบูรณาญาสิทธิ์นี่แหละ ซึ่งมันแปลว่าประชาชนยังไม่ใช่เจ้าของประเทศ เมื่อชาติยังไม่เป็นของประชาชน เพราะฉะนั้นประเทศไทยเลยยังไม่เป็น ‘รัฐชาติ’ (nation-state) ที่แท้ทรู หลักรัฐศาสตร์พื้นฐานที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ยังไม่เกิดขึ้นจริงที่นี่ แล้วตอนนี้มันยังย้อนกลับไปก่อน 2475 อีก ซึ่งเป็นช่วงที่ว่าไม่จำเป็นต้องลงทุนระบบการศึกษา หรือระบบสาธารณสุข กูทำเพื่อไว้ทำทานก็พอ เพราะกูเป็นเจ้าของประเทศ ไม่ใช่มึง เพราะฉะนั้นความเหลื่อมล้ำของไทยก็จะเป็นอยู่อย่างนี้  

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save