fbpx

มองผ่านหน้าต่างรถเมล์ ความหมายของวันที่ 9 มิ.ย. เมื่อเจตนารมณ์การปฏิวัติ 2475 ถูกทำลาย

9 มิถุนายน – วันอานันทมหิดลเวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระหนึ่งและผ่านไปพร้อมด้วยความเคลือบแคลงสงสัยของผู้คนที่มีมาช้านานถึงประวัติศาสตร์อันคลุมเครือเกี่ยวด้วยเหตุแห่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อปี 2489

การสืบค้นตรวจสอบความจริงกระทำได้อย่างจำกัดจำเขี่ย หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในสังคมเผด็จการอำนาจนิยมแบบแพ็กคู่ อยู่ภายใต้กรอบขอบเขตประมวลกฏหมายอาญา ภาค 2 ลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ มาตรา 112

กระทั่งทุกวันนี้ ผ่านมา 75 ปีแล้ว เหตุการณ์ที่ยุวกษัตริย์ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 21 พรรษา สวรรคตลงด้วยอาวุธปืน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมหาราชวัง จึงยังคงเป็นปริศนาลึกลับดำมืด เต็มไปด้วยเงื่อนงำให้โต้แย้งถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ตามซอกหลืบมุมมืด

ปราศจากข้อยุติให้เป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่ายจวบจนปัจจุบัน

ภายหลังจากเกิดเหตุ รัฐบาลในขณะนั้นซึ่งมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้พยายามชี้แจงทำความเข้าใจต่อสาธารณชนว่า “…อธิบดีกรมตำรวจและอธิบดีกรมการแพทย์ได้ไปตรวจพระบรมศพและสอบสวน สันนิษฐานว่าคงจะทรงจับคลำปืนพระแสงตามพระราชอัธยาศัยที่ทรงชอบแล้วเกิดอุปัทวเหตุขึ้น” แต่ก็มิอาจจะคลี่คลายความคับข้องใจให้กับสังคมได้ ไม่สามารถดับข่าวลือซึ่งแพร่หลายกระจายขยายความออกไปแต่เพียงด้านเดียวว่า พระเจ้าอยู่หัวถูกลอบปลงพระชนม์  ตอกย้ำด้วยเสียงตะโกนในโรงภาพยนตร์ระบุ “ปรีดีฆ่าในหลวง”

นำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายปรีดี พนมยงค์ และรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 โดยกล่าวอ้างกรณีสวรรคตเป็นเหตุผลหนึ่งในการยึดอำนาจ ล้มล้างรัฐธรรมนูญ

ตามมาด้วยรัฐบาลใหม่ซึ่งเชิดนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี, การจับกุมตัว นายเฉลียว ปทุมรส ราชเลขานุการในพระองค์ฯ นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน สองมหาดเล็กหน้าห้องบรรทม, แต่งตั้งพระพินิจชนคดี พี่เขยม.ร.ว.คึกฤทธิ์-ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช สองสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เป็นประธานการสอบสวน

และคำพิพากษาในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ของศาลฎีกา วันที่ 12 เดือนตุลาคม พุทธศักราช 2497 ความอาญา ระหว่างพนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ นายเฉลียว ปทุมรส ที่ 1, นายชิต สิงหเสนี ที่ 2, นายบุศย์ ปัทมศริน ที่ 3 จำเลย เรื่อง ประทุษร้ายต่อพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

พิพากษาว่า จำเลยทั้ง 3 ได้กระทำความผิดจริงดั่งโจทก์ฟ้อง จึงพร้อมกันพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ให้ลงโทษประหารชีวิต นายเฉลียว ปทุมรส และคงให้ยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ประหารชีวิต นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน

แม้ศาลสูงสุดจะได้ตัดสินเป็นที่ยุติเด็ดขาด มีผู้ต้องโทษด้วยการยิงเป้าปลิดชีพตามคำพิพากษาไป 3 ชีวิต ทว่า มิได้ทำให้ความคลุมเครือเกี่ยวด้วยกรณีสวรรคตกระจ่างชัดขึ้นแต่ประการใด

ข้อเท็จจริงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายวัตถุพยาน สภาพการณ์แวดล้อมสถานที่เกิดเหตุซึ่งเปลี่ยนแปลงไปก่อนจะมีการชันสูตร จัดเก็บหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ รวมถึงเงื่อนปมใหม่ๆ ที่ปรากฏขึ้นในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นปากคำผู้เกี่ยวข้องที่แสดงให้เห็นว่ามีการสร้างพยานหลักฐานเท็จขึ้นปรักปรำจำเลย การปฏิบัติต่อครอบครัวผู้ต้องคำพิพากษาประหารชีวิต บันทึกรายงานของนักการทูตต่างประเทศ ฯลฯ ทำให้ยากจะปักใจเชื่อได้เลยว่า ทั้งสามคือผู้กระทำความผิดที่แท้จริง

กรณีสวรรคต ปี 2489 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมืองไทยเมื่อนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ ต้องหลบหนีลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศจนสิ้นชีวิต

เจตนารมณ์การปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ถูกทำลายลงย่อยยับนับตั้งแต่วันนั้นจนกระทั่งบัดนี้

กองทัพหรือทหารได้เข้ามาครอบงำอำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ ประเทศไทยตกอยู่ในวัฏจักร วังวนของการรัฐประหารยึดอำนาจ ล้มล้างรัฐธรรมนูญสลับกับการเลือกตั้ง พร้อมกับการพลิกฟื้นคืนสถานะกลับไปสู่สังคมแห่งการหมอบกราบอีกครั้ง

ต่างฝ่ายต่างสมประโยชน์ แอบอิงพึ่งพิงซึ่งกันและกัน

ถึงจะบริหารราชการแผ่นดินเละเทะ ล้มเหลว ผิดพลาดยังอย่างไรก็ลอยหน้าลอยตาอยู่ในอำนาจ สร้างความเสียหายให้กับชาติบ้านเมืองโดยที่ใครทำอะไรไม่ได้

ขับไล่ไสส่งอย่างไรก็ไม่ไป      

ขอเพียงดูแลน้ำเลี้ยงกองทัพมิให้เหือดแห้ง จัดสรรงบประมาณซื้อหาอาวุธยุทโธปกรณ์อย่าได้บกพร่อง คอยปกปักรักษาความมั่นคงและมั่งคั่งให้กับบางคน ไม่ปล่อยให้ใครมาท้าทาย

เท่านั้นเป็นพอ

เก่งแต่กู้เงิน ขายฝัน สร้างความหวังหลอกล่อประชาชนไปเรื่อยเปื่อย สลับกับแก้ตัวปกปิดบิดเบือนความผิดพลาดของตัวเอง

จะบ้อท่า ไร้ความรู้ความสามารถ นำพาประเทศชาติและประชาชนไปสู่ห้วงหายนะอย่างไร จะจัดหาวัคซีนล่าช้า มากะปริบกะปรอยราวกับปัสสาวะคนเป็นต่อมลูกหมากโต ชาวบ้านราษฎรจะเจ็บป่วยล้มตาย อดอยากยากลำบากจากภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองอย่างไร ฯลฯ ก็อยู่ได้ อยู่ทน

อ้างว่ารักประชาชน “ผมนั่งรถไปทุกวัน ผมมองนอกกระจกรถทุกวันว่า ผมจะทำอย่างไรให้คนที่ผมเห็น เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยที่ผมไม่ได้หวังผลประโยชน์จากเขาเลย”

เจ็ดปีผ่านไป ไพร่ฟ้าหน้าหมอง อมทุกข์กันถ้วนทั่ว ยกเว้นผู้ปกครอง บริวารแวดล้อมและชนชั้นนำ

ภายใต้ระบอบแบบนี้ ใครอย่ามาเพ้อเจ้อ ฝันเฟื่อง หลอกลวงคนอื่นหรือแม้แต่ตัวเองเลยว่า จะสามารถพลิกเปลี่ยนประเทศได้ด้วยลำพังเพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภา หรือปลุกม็อบขึ้นมาขับไล่ผู้ปกครองคนหนึ่งออกไปแล้วบ้านเมืองจะดีขึ้น ฯลฯ ตราบเท่าที่ไม่มีแมกนา คาร์ตา ยังทำให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเสมอภาค เท่าเทียมกันไม่ได้อย่างแท้จริง

ไล่นายกรัฐมนตรีมากี่คนแล้ว เป็นอย่างไรล่ะ

บนความเป็นจริง เพื่อชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดี มีความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ สังคมเหนือชนส่วนใหญ่ ยังมีผู้คนเลือกที่จะสวามิภักดิ์ต่อระบอบ ทำทุกอย่างได้แม้จะขัดต่อมโนธรรมสำนึก ความถูกต้องชอบธรรมใดๆ

นักการเมืองสอพลอประจบเอาใจ ข้าราชการก้มหน้าก้มตาทำงานรับใช้ พ่อค้านักธุรกิจจิ้มก้องส่งส่วย สื่อสารมวลชนคอยสรรเสริญเยินยอด้วยถ้อยคำวิจิตรพิสดาร ยิ่งวิปริตวิตถารได้เท่าไรยิ่งเป็นที่ชื่นชมนิยมยกย่อง อวยตามกันจนกลายเป็นแฟชั่นเว่อวังอลังการ

กระทั่ง ไทยบีพีเอสซึ่งอ้างว่าเป็นสื่อสาธารณะ ยังทำให้วันแรงงานสากล 1 พฤษภาคม ด้อยค่าไร้ความหมาย 

ช่วยกันคนละไม้คนละมือนำพาชาติกลับไปสู่สังคมดึกดำบรรพ์ จะคิดหวังให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าเฉกเช่นนานาอารยประเทศได้อย่างไร

มิพักมองไปอื่นไกล เอาแค่เมียนมาที่กำลังเผชิญวิกฤตการณ์ภายในประเทศ ประชาชนลุกฮือขึ้นมาต่อต้านการทำรัฐประหารของกองทัพ ต่อสู้กับทหารอย่างไม่ลดละในเวลานี้ ยังมีความหวัง น่าจะก้าวผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตยได้ก่อนเสียด้วยซ้ำ บนโครงสร้างทางการเมือง สังคม ชนชั้นที่ไม่ซับซ้อน

ชัดเจนว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย กับกองทัพซึ่งยอมรับไม่ได้กับการที่จะมีผู้ปกครองเป็นพลเรือน โดยตัวเองต้องสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ที่เคยอุดมสมบูรณ์ภายใต้ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม

ทนไม่ไหวกับที่ทหารจะต้องกลับไปมีสถานะเป็นข้ารัฐการ พนักงานคนหนึ่ง โดยปราศจากอภิสิทธิ์ใดๆ

ไม่มีอะไรยอกย้อนซับซ้อน คลุมเครือ สร้างความสับสนให้กับชาวบ้านราษฎร

ประชาชนชาวเมียนมาทุกหมู่เหล่า ทุกรุ่นทุกวัย ทุกสถานะอาชีพ ลุกฮือขึ้นต่อสู้กับกองทัพหรือทหาร ในขณะที่บ้านเรากลับมีแต่เด็กๆ เยาวชน นักเรียนนักศึกษา หนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ออกมาท้าทายเผด็จการอำนาจนิยมซึ่งมีความยอกย้อนซับซ้อน ดูดเลือดเชือดเนื้อเถือหนังราษฎรได้โดยที่ไม่มีใครรู้สึกตัว

เพียงแค่ลูกหลานจัดม็อบออกมาไฮด์ปาร์กก็ถูกปราบปรามจับกุมคุมขังกันถ้วนหน้า ตั้งเงื่อนไขแลกเปลี่ยนกับการปล่อยชั่วคราว

ถึงม็อบจะแผ่ว การเคลื่อนไหวจะฝ่อ แต่ก็ได้ทำให้ผู้คนล่วงรู้ว่าระบอบปกครองเผด็จการอำนาจนิยมของไทยกล่องดวงใจทศกัณฐ์อยู่ตรงไหน

บ้านเมืองสงบเงียบก็จริง แต่ก่อนพายุใหญ่จะมาคลื่นลมมักเงียบสงบเสมอ ประเทศชาติจะก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างไรเมื่อผู้คนหมดสิ้นศรัทธา

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save