fbpx

9 ทศวรรษ ส.ศิวรักษ์ 9 เรื่องของปัญญาชนสยามท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

ส.ศิวรักษ์

จำเดิมเริ่มความย้อนหลังกลับไปเมื่อวันจันทร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1933) นางสุพรรณ ภรรยานายเฉลิม ให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง ซึ่งให้ชื่อว่า ‘สุลักษณ์’

ผ่านมาแล้ว 90 ปี ทารกน้อยในวันนั้น กลายเป็นชายชราในวันนี้ ผู้ได้ยี่ห้อว่าเป็น ‘ปัญญาชนสยาม’ ในนามปากกา ‘ส.ศิวรักษ์’ เป็นนักคิด นักเขียน นักพูด นักขาย(หนังสือ) และอะไรต่อมิอะไรอีกหลายนัก

มีคนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ

ในโอกาส 9 ทศวรรษ ส.ศิวรักษ์ ขอนำเสนอ 9 เรื่องของเขา ที่แม้จะดูเหมือนว่าได้ทำอะไรเอาไว้ไม่น้อย แต่ก็คงอีกไม่นาน ที่ใครๆ ก็อาจจะไม่รู้จัก ส.ศิวรักษ์ อีกแล้ว


พิริยะ ไกรฤกษ์ วาดให้เมื่อ พ.ศ. 2558


1. เณรน้อยเจ้าปัญญา

สุลักษณ์เกิดในครอบครัวชาวจีนที่เคยมีอันจะกิน ถึงจะไม่ร่ำรวยเหมือนรุ่นก่อนหน้านั้น แต่ก็ถือได้ว่าพอมีฐานะ

ในวัยเด็กเขาเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ตามอย่างบิดาของเขา จนจบชั้นมัธยม 8 ที่นี่ทำให้เขาได้รู้จักมาสเตอร์และภราดาหลายท่านที่เป็นต้นแบบให้กับชีวิตเด็กหนุ่ม ทำนองเดียวกับที่อัสสัมชนิกรุ่นก่อนหน้าอย่างนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้รับอิทธิพลจากสถานศึกษาแห่งนี้มิใช่น้อย

สุลักษณ์สนิทสนมกับบิดาเป็นอย่างมาก เป็นลูกที่พ่อเอาใจและเลี้ยงอย่างเป็นเพื่อน ทำให้กล้าคิด กล้าคุย และเป็นตัวของตัวเอง

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แทนที่จะย้ายไปเรียนในต่างจังหวัด สุลักษณ์เลือกบวชเป็นเณรที่วัดทองนพคุณ โดยมีพระภัทรมุนี (อิ๋น ภทฺรมุนี) เป็นอาจารย์ การได้มาอยู่วัดทำให้สุลักษณ์เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาก ท่านเจ้าคุณอาจารย์ให้เกียรติเณรน้อยเป็นอย่างมาก ไว้ใจถึงขนาดให้ถือกุญแจกุฏิ

นอกจากท่านเจ้าคุณจะสอนเรื่องต่างๆ แล้ว เณรยังมีโอกาสฟังการสนทนาของญาติโยมที่ไปมาหาสู่กับท่านด้วย โดยเฉพาะขุนนางเก่าๆ และในวัดนี้เองที่เณรได้อ่านหนังสือ ‘ไทยรบพม่า’ จนเป็นแฟนหนังสือของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และรักการอ่านเรื่อยมา


สามเณร วัดทองนพคุณ


2. นักเขียน

ในฐานะ ‘แฟนคลับ’ ของสมเด็จกรมพระยาพระองค์นั้น เมื่อนายสุกิจ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีในเวลานั้น เขียนบทความโจมตี ‘บิดาของประวัติศาสตร์ไทย’ นักเรียนมัธยมปลายวัย 16 ปี จึงกล้าเขียนบทความตอบโต้ในชื่อ ‘เก็บอิฐสมัยใหม่เข้าใจเกินตำรา’ และได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร ‘ปาริชาต’

เมื่อสุลักษณ์นุ่งกางเกงขาสั้นไปรับค่าเรื่อง บรรณาธิการถึงกับตกใจ เพราะไม่คิดว่าผู้เขียนเป็นเด็กนักเรียน

ส่วนในโรงเรียนอัสสัมชัญเอง สุลักษณ์เคยทำหนังสือ ‘ยุววิทยา’ กับเพื่อนๆ และได้เป็นบรรณาธิการ ‘อุโฆษสาร’ ของโรงเรียนด้วย ทำให้มีโอกาสรู้จักกับศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงหลายคน เพราะต้องไปขอบทความจากท่านเหล่านั้นมาตีพิมพ์

ผ่านมาหลายทศวรรษจวบจนถึงปัจจุบัน สุลักษณ์ในนามปากกาตามยุคสมัยว่า ‘ส.ศิวรักษ์’ มีผลงานหนังสือจำนวนหลายร้อยปก (แม้ว่าเนื้อหาจะซ้ำกันบ้างก็ตาม! เพราะสุลักษณ์ชอบเปลี่ยนชื่อหนังสือใหม่อยู่เรื่อยๆ หากได้พิมพ์ครั้งที่ 2 อะไรทำนองนั้น) ซึ่งจัดกลุ่มได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นชีวประวัติ พุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ ปรัชญา วิพากษ์สังคม และหนังสือแปล


ภาพนี้มอบให้สุรัตน์ นุ่มนนท์ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2496 ก่อนไปเรียนต่อที่อังกฤษ


3. นักเรียนอังกฤษ


ครั้นจะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เพื่อนที่โรงเรียนอัสสัมชัญของเขา อย่างไมตรี ตันเต็มทรัพย์ กลับเลือกไปเรียนต่อที่อังกฤษ เมื่อสุลักษณ์ทราบว่าค่าใช้จ่ายไม่แพงเกินกว่าที่บ้านของเขาจะจ่ายไหว จึงไปขอให้มารดาส่งเขาไปเรียนที่อังกฤษบ้าง

จนในที่สุดสุลักษณ์จบปริญญาตรีทางปรัชญาและวรรณคดีจากมหาวิทยาลัยเซนต์ เดวิดส์ แคว้นเวลส์ และได้เนติบัณฑิตอังกฤษ ตามอย่างที่นายกรัฐมนตรีของไทยหลายคนสำเร็จการศึกษาเช่นนั้นมา

แต่แล้วความคิดในทางมักใหญ่ใฝ่สูงของเขาก็เปลี่ยนไป เมื่อได้ฟังพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน พระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต รับสั่งว่า “คุณสุลักษณ์รู้ไหมว่าฉันมี ambition อยากเป็นคนเฝ้าหน้าส้วมสาธารณะ เพราะที่ลอนดอน ส้วมสะอาด นั่งหน้าส้วมมีเวลานั่งถักเสื้อผ้าก็ยังได้ และยังได้ติ๊บอีกด้วย” 

สุลักษณ์เห็นว่าพระองค์ท่านเป็นเจ้านายผู้ใหญ่ ทั้งพระบิดาก็เป็นคนสำคัญในช่วงปลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่แล้วก็ต้องสิ้นพระชนม์ในต่างแดน จึงทำให้สุลักษณ์ฉุกคิดว่าถึงจะไต่เต้าเอาดีทางการเมือง แม้จะสำเร็จไปถึงไหน ก็เป็นการสนองอัตตาตัวเองยิ่งกว่าอะไรอื่น จึงหันหลังให้กับการเมือง แล้วแสวงหาเส้นทางอื่นแก่ชีวิต


ห้องสมุดที่บ้าน สถานที่บันทึกคลิปเพื่อลง YouTube : Dhanadis ธนดิศ


4. บรรณาธิการ


เมื่อกลับมาทำงานที่เมืองไทย สุลักษณ์ปฏิเสธที่จะไปรับใช้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะไม่ไว้ใจตนเองว่าจะไม่กลายเป็นคนเลวร้ายที่รับใช้ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองอย่างเซื่องๆ และมาได้งานที่สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่มีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นนายกสมาคม

ผลงานที่สำคัญของเขานอกเหนือไปจากการทำ ‘สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย’ เผยแพร่ผลงานทางด้านวิชาการและไทยคดีศึกษาแล้ว คือการเป็นบรรณาธิการ ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’ ที่เปิดพื้นที่ให้อาจารย์และปัญญาชนเสนอบทความในด้านต่างๆ ในยุคที่เผด็จการทหารจำกัดเสรีภาพอย่างเข้มงวด

การแสวงหาความรู้จากนักอ่าน ทำให้ ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี สร้างชื่อเสียงให้กับเขามิใช่น้อย ในฐานะบรรณาธิการคนแรก ตั้งแต่ปี 2506-2512 และมีนักวิชาการกล่าวยกย่องว่า ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความตื่นตัวทางการเมือง จนนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

อนึ่ง พึงตราไว้ด้วยว่า ในบรรดาหนังสือเล่มที่สุลักษณ์เป็นบรรณาธิการนั้น ‘บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ’ ที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ประทานพระยาอนุมานราชธน ที่นำมาจัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2506 ขณะที่เขาอายุ 30 ปีนั้น เป็นชุดหนังสือที่เขาภูมิใจที่สุดที่ได้ทำขึ้นในบรรณพิภพ


นอกจากถอดไพ่เป็นงานอดิเรก ก็ยังคงอ่านหนังสืออยู่เป็นประจำ


5. อาจารย์


สุลักษณ์เคยเป็นอาจารย์พิเศษ สอนวิชาปรัชญาอยู่หลายปี ทั้งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเหตุให้มีคนเรียกเขาว่า ‘อาจารย์’

ผลงานด้านปรัชญาของเขา นอกจาก ‘โสกราตีส’ ที่แปลเพื่อตีพิมพ์เป็นอนุสรณ์แด่มาสเตอร์เจือ ฉั่วประยูร ครูอาวุโสของโรงเรียนอัสสัมชัญแล้ว สุลักษณ์ยังเรียบเรียงหนังสือขึ้นประกอบการสอนอีกหลายเล่ม เช่น ‘นักปรัชญาการเมืองฝรั่ง’ ‘อธิบายแนวคิดปรัชญาการเมืองฝรั่ง’ ‘ปรัชญาการเมือง’ เป็นต้น

หลังจากนั้น สุลักษณ์ได้เป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยอีกครั้งในช่วงลี้ภัยการเมือง ทั้งเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และช่วงการรัฐประหาร รสช. ที่นำโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ทั้งมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น

สุลักษณ์เป็นตัวของตัวเองมาก โดยเฉพาะการแต่งตัวที่แปลกแหวกแนวชนิดที่ไม่น่าจะมีใครอยากเอาอย่าง มีเรื่องหนึ่งเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน สุลักษณ์นุ่งขาวห่มขาวไปกินข้าวที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง เมื่อเข้าไปในร้านมีคนยกมือไหว้ทักทายเรียก ‘อาจารย์’ อยู่หลายคน เชื่อว่าคงรู้จักบ้าง หรือไหว้ตามๆ กันบ้าง พอสุลักษณ์เดินผ่านไปแล้ว เด็กหนุ่มคนหนึ่งที่เดินมากับเขา ถูกคนที่ยกมือไหว้นั้นเรียกถามว่า “น้องๆ อาจารย์นี่ท่านแม่นด้านดูโหงวเฮ้ง หรือดูลายมือนะ”


ลงจากรถ เดินไปเยี่ยมเพื่อน พร้อมหมวก ย่าม และไม้เท้าคู่กาย


6. ร้านหนังสือ-สำนักพิมพ์


20 เมษายน 2510 สุลักษณ์เปิดร้านหนังสือศึกษิตสยาม ที่สามย่าน (ก่อนที่จะโดนไล่ที่ในเวลาต่อมา ปัจจุบันตั้งอยู่ตรงข้ามวัดราชบพิธ ถนนเฟื่องนคร) เพื่อขายหนังสือในด้านวิชาความรู้ให้สมกับชื่อศึกษิตที่หมายถึงผู้เป็นปัญญาชน

หลังจากนั้นในปี 2515 เขาร่วมทุนกับบริษัท Klett เยอรมนี ตั้งบริษัทสำนักพิมพ์ Klett Thai เพื่อผลิตตำราเรียนและหนังสือในด้านต่างๆ ครั้นเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ชาวต่างด้าวถอนหุ้นไป จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘เคล็ดไทย’ มาจนถึงปัจจุบันที่ประกอบธุรกิจสำนักพิมพ์และสายส่งมาเป็นเวลายาวนาน

ข้อดีอย่างหนึ่งของการที่เขาเป็นนักเขียนที่มีสำนักพิมพ์และสายส่งเป็นของตัวเอง ทำให้หนังสือของเขาได้รับการดูแลเป็นอย่างดี หนังสือบางเล่มผ่านมาแล้วกว่า 30 ปี 20 ปี ก็ยังคงเก็บไว้ในสภาพดีเหมือนใหม่ รอวันที่นักอ่านจะเห็นคุณค่าหาซื้อไปอ่าน

หนังสือขายดีของสุลักษณ์ไม่ใช่งานเขียนของเขา แต่เป็นงานแปล มิพักต้องพูดถึงหนังสือรวมบทความวิพากษ์วิจารณ์สังคมในช่วงราวๆ 20 ปีที่ผ่านมาที่ยังเหลืออยู่เป็นจำนวนไม่น้อย แต่สุลักษณ์ก็มีสุขอย่างพอเพียง เวลาขายได้สักเล่มหนึ่งก็ดีใจว่า มีสักคนที่ได้อ่านหนังสือของเขาแล้วได้ประโยชน์ แค่นี้ก็คุ้มแล้ว


“สถาบันพระมหากษัตริย์ : ความรู้ฉบับพื้นฐาน” หนังสือเล่มล่าสุดที่มาจากการปรับปรุงหนังสือเก่าหลายเล่ม


7. มูลนิธิต่างๆ


ในด้านองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สุลักษณ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลายมูลนิธิ เช่น มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ที่จำเดิมเริ่มแรกนั้นตั้งขึ้นเพื่ออุดหนุนนักเขียน-ศิลปินตกยาก จนในปัจจุบันขยายงานกว้างขวางออกไปหลากหลาย มีองค์กรใต้ร่มเป็นจำนวนมาก เช่น INEB (เครือข่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม) เสมสิกขาลัย อาศรมวงศ์สนิท ฯลฯ

หรืออย่างมูลนิธิโกมลคีมทอง ที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนอุดมคติของคนรุ่นใหม่ มูลนิธินี้มีสำนักพิมพ์ที่สุลักษณ์มีบทบาทอย่างมากในช่วงแรก

มิพักต้องเอ่ยถึงการช่วยเหลือด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวแก่นักเขียนตกยากในปัจจุบัน หรือนักเรียนนักศึกษารุ่นใหม่ที่สุลักษณ์คอยช่วยเหลือเกื้อกูล

นอกจากนั้นยังมีองค์กรอื่นๆ อีกที่สุลักษณ์เคยมีบทบาทเกี่ยวข้อง เช่น สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิจิม ทอมป์สัน รวมถึงมูลนิธิศึกษาปริยัติธรรมทองนพคุณ  


กับพระธรรมเจดีย์ (สมคิด เขมจารี) เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ เจ้าคณะภาค 11

8. นานารางวัล


จากผลงานด้านการเผยแพร่และสนับสนุนเรื่องทางพุทธศาสนา สันติวิธี รวมถึงการแสดงทัศนะวิพากษ์วิจารณ์ เตือนสติสังคมมาเป็นเวลายาวนานนั้น ทำให้สุลักษณ์ได้รับรางวัลจากนานาประเทศมิใช่น้อย เช่น รางวัลสัมมาอาชีวะ (Alternative Nobel Peace Prize) จากสวีเดน (2538) รางวัล UNPO (Unrepresented Nation and People Organization) จากไต้หวัน สำหรับการอุทิศตนเพื่อสันติภาพและสันติวิธี (2541) รางวัล Gandhi Millennium Award (2544) รางวัลอุบาสกผู้อุทิศชีวิตเพื่อความยุติธรรมและสันติภาพของสังคม โดย Amarapura Maha Sangha Sobha ศรีลังกา (2552) และรางวัลสันติภาพนิวาโน จากญี่ปุ่น (2552) ทั้งยังเคยได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอีกด้วย

ส่วนรางวัลในประเทศไทย เขาเลือกรับเฉพาะรางวัลที่คนให้คุณค่า เช่น รางวัลศรีบูรพา (2536) โดยปฏิเสธรางวัลต่างๆ ที่มีการให้กันเป็นโหลๆ อย่างเกลื่อนกลาด

นอกจากดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ที่เขาเคยได้รับอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก The Central Institute of Higher Tibetan Studies ณ สารนาถ พาราณสี ประเทศอินเดีย (2551) แล้ว ในประเทศ เขาได้รับปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2560) และล่าสุดคือ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญา ศาสนา และวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (2565)


สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญา ศาสนา และวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565
(ภาพจาก เพจสมเด็จพระมหาธีราจารย์)


9. คนสี่แผ่นดิน


นับแต่ปลายปี พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1933) ที่สุลักษณ์เกิดนั้น ก็เป็นระยะเวลาใกล้เคียงกับการสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยในสยามประเทศที่ล้มลุกคลุกคลานเรื่อยมา ชีวิตของสุลักษณ์เองก็เช่นเดียวกัน แม้จะทำอะไรๆ มาหลายอย่าง แต่ก็ประสบความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ องค์กรที่เขาเกี่ยวข้องด้วย ถ้าไม่ลงร่อง ก็เลิกกิจการไป ส่วนที่ยังดำเนินการกระชับกระเฉงอยู่นั้นก็น่าสงสัยว่าจะยั่งยืนแค่ไหน

แต่สุลักษณ์ก็ให้ข้อคิดอย่างแหลมคมว่า ความสำเร็จนั้นเรานิยามอย่างไร เขานิยามว่า ความสำเร็จก็เป็นเพียงความล้มเหลวที่ยังมาไม่ถึงเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืนเกินไป แม้ชื่อเสียงของเขาเอง ก็เชื่อว่าตายไปแล้ว 10-20 ปี คนรุ่นหลังก็จะไม่รู้จัก ส.ศิวรักษ์ อีกแล้ว

ครั้นจะหางานที่เป็นอมตะในบรรณพิภพ นักเขียนวัย 90 ปี ก็เชื่อว่าจะไม่มี เพราะงานเช่นว่านั้นพึงเป็นวรรณกรรม แต่เขาไม่เคยเขียนสำเร็จได้

สมัยหนึ่งสุลักษณ์เคยเป็นคนที่เกลียดนายปรีดี พนมยงค์ ในทุกทาง แต่ต่อมาเมื่อ ‘ตาสว่าง’ แล้ว ก็ยกย่องเชิดชูนายปรีดียิ่งกว่าใครๆ อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่สุลักษณ์ไม่เคยเปลี่ยน คือการเป็นอนุรักษนิยมที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เห็นคุณค่าของสถาบันนี้ที่พึงสถิตสถาพรคู่กับสยามรัฐสีมาตราบจิรัฏฐิติกาล โดยไปกันได้กับระบอบประชาธิปไตย

ในช่วงสุดท้ายของชีวิตเช่นนี้ ถ้าสุลักษณ์จะมีอายุยืนยาวเสมอพระมหากัสสปะ ถึง 120 ปี ชีวิตก็เหลืออีกเพียง 30 ปี สุลักษณ์คงไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าการเป็นคน ‘สี่แผ่นดิน’ ที่ได้อยู่ใต้ร่มพระบารมีตราบจนวันสุดท้ายของชีวิตเท่านั้นเอง


‘บิ๊กเซอร์ไพรส์’ ร่วมปราศรัยหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save