1

27 สิงหาคม 2566
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ, ลพบุรี
ในมุมอันเงียบเชียบของวัด ใกล้ต้นลั่นทม มีนักโบราณคดีและทีมงานกำลังขุดดินบนพื้นที่ 2×2.5 เมตร เพื่อเดินทางลงไปในอดีตเมื่อ 800 ปีที่แล้ว ยิ่งชั้นดินลึกลงเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเดินทางสู่อดีตไกลขึ้นเท่านั้น
วันนี้เป็นวันที่สองของการขุดค้น ‘น้องวัว’ ชื่อลำลองของโครงกระดูกวัวโบราณ ที่ไม่ได้หมายถึง ‘รกวัว’ วัตถุดิบอาหารขึ้นชื่อของแถบอีสาน
ย้อนไปเมื่อปี 2563 ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ นักโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์โบราณคดีในประเทศไทยช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19 (สมัยหลังวัฒนธรรมเขมร-อยุธยาตอนต้น) ขุดค้นเจอโครงกระดูกวัวด้วยความบังเอิญ ตรงบริเวณหน้าพระปรางค์ยอดกลีบมะเฟือง ที่ตั้งอยู่บริเวณมุมทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี
จากที่อยากตั้งใจหาชั้นดินเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19 (คริสตศตวรรษที่ 13-14) หรือที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่าช่วง ‘ยุคมืด’ ของประวัติศาสตร์ไทยก่อนการตั้งกรุงศรีอยุธยา ด้วยเพราะไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากนัก ทำให้ภาพชีวิตและประวัติศาสตร์ยุคนั้นยังคลุมเครือ
โครงการขุดค้นหาชั้นดินในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19 นี้เกิดขึ้นในสามพื้นที่คือ วัดพนัญเชิงที่อยุธยา วัดมหาธาตุที่ชัยนาท และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุที่ลพบุรี เพราะทั้งสามเมืองปรากฏในเอกสารเล่าถึงประวัติศาสตร์ในยุคสมัยที่ว่านี้ แม้มีเพียงน้อยนิด แต่ก็ยังเป็นไฟนำทางให้นักโบราณคดีคลำไปในความมืดมิดได้ และท้ายที่สุด นอกจากจะเจอโบราณวัตถุ เช่น หม้อและกระเบื้องเคลือบดินเผาแล้ว การขุดค้นที่ลพบุรียังเจอโครงกระดูกวัว ความยาวกระดูกสันหลัง 120 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายนอนตะแคงที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ปรากฏอยู่ในชั้นวัฒนธรรมสมัยก่อนอยุธยาหรือสมัยละโว้ ประเมินคร่าวๆ ว่าอยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ.1750-1820 หรือประมาณยุคปลาย-หลังของสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้ครองอาณาจักรเขมรโบราณในยุคที่รุ่งเรืองที่สุด
“เราค่อยๆ ขุดดินทีละชั้น จนเจอวัตถุคล้ายกระดูก ทีแรกไม่คิดว่าเป็นวัวหรอก เพราะเจอส่วนที่เป็นสะโพก ซึ่งดูคล้ายกับกะโหลกของสัตว์ชนิดหนึ่ง พอขุดไปเรื่อยๆ ก็เจอกระดูกสันหลัง และเจอซี่โครงส่วนลำตัว เลยถึงบางอ้อว่าน่าจะเป็นสัตว์สักชนิดหนึ่ง เลยส่งภาพถ่ายให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสัตว์ในงานโบราณคดีดู เขาก็บอกว่า ค่อนข้างมั่นใจสัก 90% ว่าเป็นกระดูกวัว จากลักษณะโครงสร้างของสะโพกและกระดูกสันหลัง” พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ เล่าให้ฟังถึงวินาทีแรกที่เจอกระดูกวัวปรากฏในหลุมขุดค้นเมื่อสามปีที่แล้ว
แน่นอนว่า การขุดค้นเจอสิ่งใหม่ย่อมทำให้นักโบราณคดีตื่นเต้น แต่ด้วยความยุ่งยากในการจัดการโครงกระดูกหลังจากนำขึ้นมา และประเด็นของการขุดค้นที่เพิ่มขึ้นจากที่เคยตั้งไว้ ทำให้พิพัฒน์ตัดสินใจหยุดการขุดโครงกระดูกวัวไว้ก่อน เลือกศึกษาเฉพาะชั้นดินและโบราณวัตถุในยุคสมัยที่ตั้งต้นไว้ แล้วฝังกลบโครงกระดูกวัวนี้ไว้กว่าสามปี

มาวันนี้ในปลายเดือนสิงหาคม ปี 2566 พิพัฒน์และทีมกลับมาใหม่ภายใต้ ‘โครงการหลักฐานดีเอ็นเอจากกระดูกวัวโบราณที่บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงชนิดของวัวเลี้ยง จากวัวทัวรีนมาเป็นวัวซีบู ที่ขุดพบในแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในประเทศไทยในสมัยทวารวดีจนถึงสมัยอยุธยา’ โดยมี รศ.วรรณรดา สุราช ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อดูว่าวัวไทยในปัจจุบันมีการข้ามสายพันธุ์อย่างไร และการเปลี่ยนสายพันธุ์ของวัวสะท้อนการเคลื่อนย้ายของประชากรในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไร
“อาจารย์วรรณรดามาถามผมว่า ‘เจอวัวใช่ไหม พอดีกำลังสนใจศึกษาดีเอ็นเอของวัว’ ผมเลยถามกลับว่า ‘ทำไม มีอะไรน่าสนใจเหรอ’ อาจารย์อธิบายว่า วัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบ่งออกเป็นสองสายพันธุ์หลัก คือ สายพันธุ์จีน กับ สายพันธุ์อินเดีย
“ถ้าย้อนไป 2,500 ปีที่แล้วหรือนานกว่านั้น วัวส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นวัวแบบไม่มีหนอก คือวัวหลังเรียบๆ ซึ่งเป็นวัวสายพันธุ์แบบจีน แต่ปรากฏว่าเมื่อคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มมีการติดต่อกับคนในอินเดีย ก็เริ่มมีการเคลื่อนย้ายของผู้คนและสัตว์ รวมถึงเอาความเชื่อเข้ามาในพื้นที่ด้วย เช่น โคนนทิ โคเผือกที่เป็นพาหนะของพระศิวะ ซึ่งเป็นวัวแบบมีหนอก เลยมีความน่าสนใจอยู่สองประเด็นว่า วัวแบบมีหนอกเข้ามาแทนที่วัวแบบไม่มีหนอกหรือเปล่า และการเข้ามาของวัวมีหนอก เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายของคนด้วยหรือไม่” พิพัฒน์เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการขุดโครงกระดูกวัวเพื่อนำไปตรวจดีเอ็นเอ ท่ามกลางเสียงจอบกระทบดินของเหล่าคนงานตรงหลุมขุดค้น
หากเราพอเคยเห็นตามปราสาทแบบเขมร จะเห็นว่ามีรูปปั้นโคนนทิ ซึ่งเป็นวัวมีหนอกนูนขึ้นมาบนหลัง เป็นลักษณะเฉพาะของวัวสายพันธุ์อินเดีย และถูกยกให้เป็นวัวศักดิ์สิทธิ์
“คนมาพร้อมวัว และมาพร้อมกับความเชื่อใหม่ จึงทำให้ฟังก์ชันเดิมของวัวที่อาจใช้สำหรับกิน กลายเป็นวัวศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา เราเอาวัวเข้ามาเพื่อรองรับความเชื่อ ดังนั้นเวลาเรามองความหลากหลายของสัตว์ เราจึงไม่ควรจะมองแค่ในเชิงของความหลากหลายทางพันธุกรรมโดยปราศจากซึ่งความเป็นมาทางประวัติศาสตร์” พิพัฒน์กล่าว
“แล้วเรารู้หรือยังว่าน้องวัวตัวนี้มีหนอกหรือไม่มีหนอก” ฉันโยนคำถาม พิพัฒน์ตอบแบบชวนให้ติดตามตอนต่อไปว่า “เรายังไม่รู้จนกว่าจะไปตรวจดีเอ็นเอ เพราะตัวหนอกเป็นโปรตีน ไม่ใช่กระดูก เราจึงยังมองไม่เห็นตอนนี้”
ภารกิจถัดจากนี้อีกสามวันของทีมขุดค้นคือการนำโครงกระดูกวัวขึ้นมาในสภาพสมบูรณ์ที่สุด เพื่อนำไปตรวจดีเอ็นเอ แม้จะมีเป้าหมายและความลึกของชั้นดินไว้เป็นปลายทางอยู่แล้ว แต่เรื่องราวตลอดการเดินทาง ‘ลงหลุม’ มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของประวัติศาสตร์ และการทำงานแบบหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินของนักโบราณคดีและเหล่า ‘ลุง-ป้า’ ที่มาเป็นแรงงานช่วยขุดค้น

2
“ที่เห็นเส้นขาวๆ นี่ไม่ใช่สายสิญจน์นะ” พิพัฒน์ชี้ไปยังเชือกป่านสีขาวที่ขึงอยู่รอบหลุม “คนชอบคิดว่าขุดค้นโบราณสถาน แล้วต้องทำพิธีศักดิ์สิทธิ์” จบประโยคนี้เรียกรอยยิ้มจากทีมขุดค้นได้หลายคน
“แล้วเชือกมีไว้ทำอะไร” ฉันถาม
“กั้นไว้เป็นตัวกำหนดขนาดหลุมเท่านั้นแหละ” พิพัฒน์ตอบพลางจดข้อมูลการขุดค้นในสมุด
แม้นักโบราณคดีจะเป็นคนคุมงานในภาพรวม แต่คนที่ขาดไม่ได้คือเหล่าแรงงานที่ขุดดินอย่างไม่รู้เหนื่อย ในการขุดค้นครั้งนี้ มี ‘พี่กาน’ หญิงวัยกลางคนนำทีมแรงงานทั้งชายหญิงห้าชีวิตมาช่วยกันอย่างแข็งขัน ตลอดการขุดค้นเต็มไปด้วยการพูดคุยหยอกล้อ แม้แดดจะแผดเผาอย่างไปปราณีปราศรัยมาตั้งแต่เช้า แต่ยังแว่วเสียงคุยถึง ‘อ่อมน้องวัว’ ที่หมายถึงเมนูอาหาร และ ‘แจ่วขม’ ตัวชูโรงชั้นดี – อาจเพราะเราพูดคำว่า ‘น้องวัว’ กันมาตั้งแต่เช้า
เหล่าทีมงานกำลังใช้เสียมและจอบขุดดินอย่างขะมักเขม้นและระมัดระวัง เศษดินที่ขุดได้จะถูกนำไปร่อนบนตะแกรงข้างหลุม เพื่อคัดเอาเศษหม้อดินเผาและกระเบื้องเคลือบออกมา โดยมีนักศึกษาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอาไปคัดแยกประเภทอีกครั้งตรงบริเวณใกล้เคียง
“ระหว่างการขุดค้นน้องวัว เราก็ต้องคัดโบราณวัตถุไปด้วย เพื่อดูความหนาแน่นของโบราณวัตถุในพื้นที่” พิพัฒน์อธิบาย เขาเล่าต่อว่า จากที่เขาขุดค้นในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุที่ลพบุรีมา 10 หลุม เจอโบราณวัตถุแล้วกว่า 60,000 ชิ้น ซึ่งถือว่าหนาแน่นมาก
ในภาพจำของคนทั่วไป คงเคยเห็นโบราณวัตถุแบบที่สมบูรณ์แล้ววางโชว์บนตู้กระจกในพิพิธภัณฑ์ แต่สำหรับหน้างานขุดค้นแล้ว นักโบราณคดีได้หม้อหรือกระเบื้องออกมาเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ชนิดที่ถ้าคนไม่รู้ก็สามารถโยนทิ้งได้ง่ายๆ
“มันมีวิธีแยกชิ้นส่วนของโบราณวัตถุ” พิพัฒน์เริ่มอธิบาย พร้อมหยิบเอาเศษหม้อเคลือบดินเผาขึ้นมาถือ นักศึกษาสาวสามคนที่นั่งฟังอยู่ด้วยจ้องตาไม่กะพริบ
“เห็นโค้งๆ ตรงนี้ไหม” พิพัฒน์ใช้นิ้วลากไปกับส่วนโค้ง “อันนี้คือปากหม้อ ถ้าเอามาต่อกัน จะเห็นภาพชัดขึ้นแบบนี้” เขาหยิบเอาเศษปากหม้ออีกอันมาวางชิดกันคล้ายต่อจิ๊กซอว์ ทันใดนั้น จากเศษหม้อก็กลายเป็นปากหม้อขึ้นมาให้เห็นชัดขึ้น แม้จะยังมาไม่ครบใบก็ตาม
พิพัฒน์อธิบายให้เห็นภาพรวมว่า โบราณวัตถุส่วนมากที่พบในการขุดค้นหลุมนี้มักเป็นพวกหม้อ กระเบื้อง และเครื่องถ้วยจีน โดยวิธีแยกประเภทคือ หม้อ-มักจะเนื้อบางและมีปากหม้อที่โค้ง กระเบื้อง-ใช้มุงหลังคามักจะหนา เผาแกร่ง และสุกทั่ว ส่วนเครื่องถ้วยจีน-เห็นได้ชัดเจน มีแหล่งเตาระบุตรงก้นถ้วย เตาบางแบบมีลักษณะเฉพาะ เช่น เคลือบด้านใน เป็นต้น
“การแยกชิ้นส่วนหน้าไซต์งานต้องตัดสินใจไปเลย แล้วค่อยไปทำละเอียดทีหลัง” พิพัฒน์พูดไปด้วยคัดเศษหม้อ-กระเบื้องลงตะกร้าไปด้วย โดยมีเหล่านักศึกษาคอยช่วยแยกอย่างคล่องแคล่ว


การขุดค้นในเชิงโบราณคดีครั้งนี้ แม้จะมีเป้าหมายชัดเจนว่าขุดเพื่อเอาโครงกระดูกวัวขึ้นมา แต่ก็ใช่ว่าจะขุดอย่างมุทะลุดุดันอย่างเดียว เพราะต้องมีการขุดแต่งแต่ละชั้น จดบันทึก และถ่ายรูปทุกชั้นดิน โดยประเมินชั้นดินว่าอยู่ในยุคสมัยใดได้จากการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์และโบราณวัตถุที่พบในชั้นดินนั้นๆ
“ตอนนี้เราอยู่ตรงชั้นดินประมาณสมัยพระนารายณ์” พิพัฒน์บอก หากมองด้วยตาเปล่า ชั้นดินถูกขุดลึกลงไปประมาณ 30-40 เซนติเมตรเท่านั้น โดยหากโครงกระดูกวัวอยู่ในสมัยปลายยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แปลว่ายังมีดินอีกกว่า 100 เซนติเมตรที่เราต้องขุดลงไปให้ถึง
กาลเวลาสร้างความอัศจรรย์ได้เสมอ จุดที่เรายืนอยู่ เคยมีคนใช้ชีวิต สร้างบ้านเรือน หุงหาอาหาร ไปจนถึงนั่งล้อมวงกินข้าว และมีบทสนทนาที่เราจินตนาการไม่ถึงอยู่ – สายฝน แสงแดด และลมหนาว เปลี่ยนทุกอย่างให้ต่างไป ชั้นดินถูกทับถมพร้อมๆ กับเวลาที่เคลื่อนตัวไปข้างหน้าอย่างเสมอต้นเสมอปลาย คนในอดีตทิ้งร่องรอยเอาไว้ให้คนในอนาคต แม้จะโดยตั้งใจหรือไม่ แต่ ณ วันนี้ นาทีนี้ มนุษย์สองช่วงเวลากำลังคุยกันผ่านวัตถุในชั้นดิน
“ในการขุดค้นทางโบราณคดี สิ่งสำคัญในลำดับต้นๆ คือการเซ็ตลำดับเวลา (chronology) ขึ้นมาก่อน ว่าสมัยไหนเป็นสมัยไหน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเราต้องดูว่าแต่ละในช่วงเวลา พฤติกรรมของคนในเรื่องการกินไปจนถึงการใช้ชีวิตเป็นอย่างไร”
พิพัฒน์ลงรายละเอียดให้ฟังว่า แบ่งพื้นที่การขุดค้นเป็นสามพื้นที่ รวมแล้วสิบหลุม โดยหลุมที่ขุดลึกลงไปที่สุดคือสี่เมตร ซึ่งลงไปจนถึงยุคทวารวดี เพื่อสร้าง chronology ขึ้นมาก่อน และขุดเพื่อให้แน่ใจว่าชั้นดินยุคเขมรและชั้นดินยุคหลังเขมรมีความต่อเนื่องอย่างไร
“ในช่วงทวารวดี เราพบว่าพฤติกรรมการกินของคนเป็นแบบกินดะ หมายความว่าในช่วงชั้นดินทวารวดี เราเจอกระดูกวัว กระดูกควาย หอยน้ำจืด หอยแครง ปลาทุกชนิด จระเข้ คือกินหมด กินไม่เลือก และภาชนะส่วนใหญ่จะเป็นการเผาง่ายๆ
“แต่พอเข้ามาสู่ช่วงวัฒนธรรมเขมร คนเริ่มมีวัฒนธรรมการใช้ไฟที่ดี เพราะฉะนั้นภาชนะจึงมีความแข็ง การตกแต่งลวดลายมีความประณีตสวยงาม บางส่วนนำเข้ามาจากที่พนมกุเลนในกัมพูชา บางส่วนเป็นเตาบ้านกรวดที่บุรีรัมย์ แสดงว่ามีการแลกเปลี่ยนที่เป็นเครือข่ายมากเลย โดยที่ลพบุรีคงมีทรัพยากรที่สำคัญ เช่น ทองแดงและเหล็ก อย่างทองแดงมีแหล่งสำคัญที่เขาวงพระจันทร์ ส่วนแหล่งแร่เหล็กมีอยู่ที่เขาทับควาย
“ในเอกสารจีนระบุว่า ละโว้เป็นเมืองที่ผลิตข้าวและของป่าได้เป็นจำนวนมาก ของส่งออกหลักๆ เป็นพวกนอแรด ขนนกกระเต็น จะเห็นว่าลพบุรีเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ จึงทำให้เป็นเมืองที่เติบโตขึ้นมาก” พิพัฒน์เล่า
เมืองลพบุรีหรือละโว้เป็นเมืองที่ตั้งดักอยู่บนเส้นทางการค้าทั้งทางเหนือและใต้ อยู่บริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ดังนั้นลพบุรีจึงเชื่อมไปที่เมืองศรีเทพได้ (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์) ขณะเดียวกันก็ควบคุมเส้นทางไปทางตะวันออก เช่นที่สระบุรี ต่อขึ้นไปยังลำสนธิ ผ่านไปด่านขุนทด ลพบุรีจึงกลายเป็นเมืองสำคัญ
ทั้งนี้ ในการจะทำความเข้าใจอดีต เราจำเป็นต้องปรับมุมมองต่อแผนที่และอาณาเขตแบบรัฐชาติในปัจจุบันเสียก่อน ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยยังไม่ถือกำเนิด ยังไม่มี ‘ขวานทอง’ ปรากฏรูปร่างแบบที่เป็นอยู่ และผู้คนหลายเชื้อสายมีการเคลื่อนย้ายและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันตลอดเวลา แต่ละเมืองขยายอิทธิพลออกเป็นเส้นรอบวง ทาบทับกันอย่างไม่เป็นทางการ ดังนั้นในช่วงวัฒนธรรมเขมรที่กล่าวถึง คือช่วงเวลาที่อาณาจักรพระนครหรืออาณาจักรเขมรขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นดินเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหมายรวมถึงพื้นที่ภาคกลางและอีสานตอนล่างของประเทศไทยในปัจจุบันด้วย
ละโว้เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรเขมร โดยปรากฏหลักฐานว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้พระโอรสพระนามว่า ‘นฤปตีนทรวรมัน’ (รู้จักอีกพระนามว่า อินทรวรมัน) มาปกครองเมืองโลฺวทยปุระหรือเมืองละโว้ จนมาถึงในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18-19 ที่มีปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุจีนในสมัยราชวงศ์หยวนว่า ละโว้แยกตัวออกจากอาณาจักรเขมรโบราณสมัยพระนคร แล้วมีการส่งทูตไปยังราชสำนักจีนในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันกับสุโขทัย
ละโว้มีการส่งทูตไปยังราชสำนักจีนครั้งแรกใน พ.ศ.1832 (ค.ศ.1289) และยังส่งไปอีกหลายครั้ง จากข้อมูลเหล่านี้ทำให้เห็นได้ว่าละโว้มีฐานะเป็นรัฐอิสระที่ปกครองตนเอง จนในเวลาต่อมาละโว้มีความสัมพันธ์กับสุพรรณภูมิ ซึ่งทำให้เกิดการรวมตัวสถาปนาเป็นกรุงศรีอยุธยาขึ้นใน พ.ศ.1893 (ค.ศ.1350)
อย่างที่ประเมินอายุวัวที่ขุดค้นเจอว่าน่าจะมีชีวิตอยู่ในช่วงราว พ.ศ.1750-1820 ก็ทำให้เราเชื่อมโยงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ไปจนถึงคาดเดาสาเหตุการเสียชีวิตของวัวตัวนี้ได้ พิพัฒน์เล่าให้ฟังว่า ส่วนมากกระดูกวัวที่ขุดค้นเจอมักมาในลักษณะแยกชิ้นส่วน คือคนแยกชิ้นส่วนมากิน กินเสร็จแล้วจึงทิ้งเป็นเศษกระดูก และอีกแบบหนึ่งคือตั้งใจฝังทั้งตัวเพื่อใช้สำหรับการบูชายัญ เช่น โครงกระดูกวัวที่เมืองดงละคร (เมืองโบราณสมัยทวารวดี) จังหวัดนครนายก เป็นต้น
“วัวตัวนี้ที่เรากำลังขุดค้น ลักษณะกระดูกค่อนข้างสมบูรณ์ แต่เดี๋ยวต้องรอขุดถึงแล้วดูอย่างละเอียดอีกครั้ง” พิพัฒน์กล่าว
ตลอดช่วงเช้า หลุมถูกขุดลึกลงไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับกองดินที่เพิ่มพูนขึ้นเป็นภูเขาขนาดย่อม ในฟากของคนแยกเศษโบราณวัตถุก็ยังทำงานอย่างต่อเนื่อง และเมื่อแดดตรงกลางหัว ทีมขุดค้นก็หยุดพักเพื่อกินข้าวกลางวัน ก่อนเอาแรงมาลุยต่อในตอนบ่ายที่ร้อนระอุ


พิพัฒน์เล่าให้ฟังว่านักโบราณคดีและคนขุดหลุม มีข้อห้ามคือห้ามทาครีมกันแดด เพราะเมื่อเหงื่อไหลก็จะพาสารเคมีลงไปในดินด้วย ดังนั้นฉันจึงได้ข้อสรุปเองว่า การขุดค้นหาอดีต นอกจากต้องมีความรู้และแรงแขนที่สุดยอดแล้ว ยังต้องห้ามกลัวดำด้วย – มากไปกว่านั้น คนสำคัญในการเปิดเผยอดีต ไม่ใช่แค่นักวิชาการผู้ทรงความรู้เท่านั้น แต่ยังมีแรงงานอีกหลายชีวิตที่ต้องทำงานใช้แรงไปพร้อมกับงานที่ละเอียดลออ เพราะสิ่งที่อยู่ใต้ดินนั้น ใช่เดินไปตลาดแล้วซื้อมาเปลี่ยนใหม่ได้เสียที่ไหน
“ตอนนี้เราต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะยิ่งเข้าใกล้โครงกระดูกวัว เพราะกระดูกส่วนที่เหมาะสำหรับการตรวจดีเอ็นเอมีสามชิ้นหลักๆ คือ หนึ่ง-กระดูกกกหู ซึ่งหมายถึงต้องได้มาทั้งกะโหลก สอง-กระดูกส่วนของฟัน โดยที่รากฟันต้องไม่หัก เพราะดีเอ็นเอในอยู่รากฟัน และสาม-ขา ซึ่งเป็นส่วนที่มีขนาดใหญ่ มักมีดีเอ็นเอตกค้างอยู่ ดังนั้นเราคาดหวังว่าเราจะได้สามส่วนนี้มา หรือไม่ก็ส่วนใดส่วนหนึ่ง” พิพัฒน์อธิบาย
มากไปกว่านั้น เมื่อเอากระดูกมาบดเพื่อไปทดลองสกัดดีเอ็นเอแล้ว ก็ใช่ว่าจะสกัดขึ้นทุกตัวอย่าง พิพัฒน์เล่าว่า ในปัจจุบัน มีการทดลองสกัดดีเอ็นเอไปประมาณ 40 กว่า samples พบว่าสกัดขึ้นแค่ 2 samples เท่านั้น ซึ่งสกัดได้แค่หนเดียว ทั้งนี้ ปกติแล้วการสกัดดีเอ็นเอ ใน sample เดียว ควรสกัดซ้ำแล้วได้สองตัวอย่าง เพื่อช่วยให้ตัวดีเอ็นเอเกิดความชัดเจนและแน่นอน
ความยากในการศึกษาดีเอ็นเอสัตว์คือ ต้องเจอตัวอย่างในเงื่อนไขที่ดี คือ ต้องไม่อยู่ในพื้นที่น้ำขัง ต้องไม่โดนไฟหรือความร้อนมากๆ และต้องอยู่ในที่แห้ง ซึ่งดูเหมือน ‘น้องวัว’ ที่เรากำลังขุดค้นอยู่นี้ใกล้เคียงกับบางคุณสมบัติที่ว่ามา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำอย่างระมัดระวัง
“บ้านเราเคยศึกษาดีเอ็นเอวัวที่ได้จากแหล่งเพิงผา เช่น ที่เพิงผาถ้ำลอด แม่ฮ่องสอน หรือที่บ้านเชียง แต่อายุอยู่ในช่วง 10,000-20,000 ปีที่แล้ว ซึ่งในภาพใหญ่ที่เราอยากตอบโจทย์เรื่องการเปลี่ยนผ่านของสายพันธุ์วัวในไทยคือ 2,500 ปีที่แล้วไล่มาถึงสมัยอยุธยา เรื่องนี้ยังไม่มีการศึกษา ก็เป็นความท้าทาย ขณะเดียวกันก็อาจเจอความผิดหวังด้วย” พิพัฒน์เล่า
“เราจะเจอความผิดหวังอะไรได้บ้าง” ฉันถาม
“สกัดแล้วไม่ขึ้น หรือ samples น้อยเกินไป ผมก็คุยกับหัวหน้าโครงการวิจัยว่า เราจะทำอย่างไรถ้าไม่เจอตัวอย่าง คือใน 100 ตัวอย่าง ถ้าทำได้สัก 5 ตัวอย่าง ในทางโบราณคดีถือว่าโอเค แต่ในทางวิทยาศาสตร์อาจจะไม่โอเค” เขากล่าวถึงอุปสรรคที่อาจมาถึงในวันข้างหน้า
แดดค่อยๆ ทำองศาเฉียงออกจากกลางหัว ยิ่งใกล้เย็น ลมดูเหมือนจะพัดโกรกมากขึ้น และแล้วเมื่อช่วงใกล้เลิกงาน เวลา 15.45 น. เราก็ขุดจนปรากฏส่วนบนของถุงที่คลุมทับโครงกระดูกวัวเอาไว้เมื่อสามปีที่แล้ว
“ใกล้ถึงน้องวัวแล้ว” พี่กานพูด พลางใช้หลังมือปาดเหงื่อตรงหน้าผาก หลุมลึกขนาดพ้นหัวเด็กเล็กแล้ว ลุงหมานกำลังใช้จอบแต่งชั้นดินให้เรียบ เพื่อเตรียมให้ถ่ายรูปและสเก็ตช์ลักษณะชั้นดิน
คุยกันเล่นๆ ว่า เราใช้เวลาสองวันในการเดินทางย้อนอดีตไปไกลเกือบ 800 ปี และวันพรุ่งนี้คงถึงเป้าหมาย – ความสามารถในการขับเคลื่อนของเสียมนั้นเร็วเหมือนไทม์แมชชีน


3
28 สิงหาคม 2566
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ, ลพบุรี
แปดโมงครึ่ง ทุกคนมาพร้อมกันที่หลุม วันนี้เป็นวันที่สามของการขุดค้น และหมายมั่นว่าจะได้เผยโฉมกระดูกวัวทั้งร่างอย่างสมบูรณ์ในวันนี้
ถุงซิปล็อกที่ไว้ใส่ชิ้นส่วนโบราณวัตถุ ค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เพราะเจอเครื่องถ้วยและหม้อตลอดการขุดค้น มาถึงช่วงสาย เราเดินทางถึงพื้นผิวของชั้นดินสมมติที่ 8 ซึ่งเป็นชั้นดินที่เริ่มเห็นโครงกระดูกวัว พิพัฒน์อธิบายวิธีการประเมินอายุของโครงกระดูกวัวด้วยการเปรียบเทียบกับโบราณวัตถุที่เจอในชั้นดินเดียวกัน เขาเดินไปหยิบเศษเครื่องถ้วยออกมาจากถุงซิปล็อกแล้วอธิบายให้ฟังว่า
“นี่คือเตาฉีสือ อยู่ในช่วงต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 19 (ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 ถึงต้นศตวรรษที่ 14) แนวโน้มน่าจะอยู่ในช่วง พ.ศ.1750-1850 แต่ถ้าเราดูระดับความลึกและอื่นๆ เครื่องถ้วยนี้อยู่ในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ ซึ่งหมดสมัยประมาณ พ.ศ.1780 เพราะฉะนั้นถ้าบีบอายุให้แคบสุดๆ วัวน่าจะอยู่ประมาณสักช่วง พ.ศ.1750-1780 ประมาณยุคชัยวรมันที่ 7 หรือหลังชัยวรมันที่ 7 นิดหนึ่ง”
พิพัฒน์อธิบายต่อว่าลักษณะสำคัญของเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาฉีสือคือด้านในเคลือบ ด้านนอกไม่เคลือบ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนแม้เป็นเพียงเศษเล็กเศษน้อย

ในขณะเดียวกันลุงหมานและลุงควนที่สวมเสื้อส้มสดใส ก็ง่วนอยู่กับการค่อยๆ เลาะดินรอบๆ ถุงดำด้วยเสียม และเมื่อเอาถุงดำออกจนเริ่มเห็นโครงลำตัววัวนั่นแหละ ที่อุปกรณ์เปลี่ยนจากเสียมเป็นเกรียงเพื่อเลาะเนื้อดินอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ในรายงานการขุดค้นครั้งก่อน พิพัฒน์เขียนถึงชั้นดินที่เจอโครงกระดูกวัวนี้ว่า “ดินมีลักษณะสีดำเข้มและมีถ่านปนจำนวนมาก ในขณะที่ตรงกลางของหลุม มีดินเผาไฟกั้นอยู่ระหว่างโครงกระดูกกับเศษภาชนะดินเผา คล้ายกับว่าบริเวณโครงกระดูกวัวเป็นพื้นที่เผาขยะ” ซึ่งใกล้เคียงกับภาพที่เห็นตอนนี้
ยิ่งขุดเจอโครงกระดูก ความเร็วของการขุดก็ยิ่งลดระดับลง เพราะนี่คือช่วงเวลาสำคัญที่สุดตลอดกระบวนการขุดค้นสามวันที่ผ่านมา
เวลาผ่านไปเกือบทั้งบ่าย โครงกระดูกวัวจึงค่อยๆ เผยโฉมทีละนิด จนเห็นเป็นกระดูกสันหลังโค้งยาวสมบูรณ์ ทอดส่วนหัวกะโหลกลึกเข้าไปในผนัง ตรงขั้นตอนนี้เองที่ลุงควนกับลุงหมานต้องเซาะเกรียงเข้าไปในกำแพงดิน เพื่อเปิดช่องให้เห็นกะโหลกวัว ระหว่างนี้เหล่านักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ที่มาดูการขุดค้นก็ยืนลุ้นอยู่ด้านบนว่าโครงกระดูกวัวจะสมบูรณ์แค่ไหน


ใช้เวลาขุดแต่งโครงกระดูกประมาณครึ่งชั่วโมง เซาะดินที่ปกคลุมออกไปจนหมด และกวาดชั้นผิวดินให้เกลี้ยงเกลา ภาพโครงกระดูกวัวทั้งร่างก็ปรากฏแก่สายตาของพวกเราพร้อมกัน และทำให้เห็นว่าแม้โครงกระดูกวัวตัวนี้จะค่อนข้างสมบูรณ์มาก แต่ไม่มีกระดูกขา นักโบราณคดีคาดเดากันว่าวัวตัวนี้อาจถูกมนุษย์ตัดชิ้นส่วนตรงขาไปกิน แต่ที่น่าตั้งข้อสังเกตคือ เพราะเหตุใดจึงเหลือกระดูกไว้เกือบทั้งตัวเช่นนี้ ในอีกทางหนึ่ง เป็นไปได้ไหมว่าวัวตัวนี้ป่วยจนเสียชีวิตหรือถูกเผา-ทิ้งไว้บนกองขยะ
เมื่อทุกอย่างพร้อม พิพัฒน์ นักโบราณคดีผู้ดูแลการขุดค้น ก็ปีนบันไดลงไปกลางหลุม ระยะความลึกที่ขุดลงไปจนเจอโครงกระดูกวัวเต็มร่างอยู่ที่ 130 เซนติเมตร เขาวางไวต์บอร์ดที่เขียนระบุเป็นพื้นผิวของชั้นดินสมมติที่ 9 ไว้บนพื้น ใช้ไม้สเกลวางตรงหลุมเป็นมุมฉากเพื่อไม่ให้การบันทึกภาพผิดเพี้ยน แล้วเริ่มสเก็ตช์ภาพโครงกระดูกในสมุด
“การวาดรูปดีกว่าถ่ายรูปตรงที่สายตาเราแยกแยะได้ดีกว่าว่าอะไรเป็นกระดูก อะไรเป็นกระเบื้อง เสร็จแล้วก็เอาไปวาดอีกครั้งในโปรแกรม Illustrator” พิพัฒน์พูดไปด้วย สเก็ตช์มือด้วยความว่องไวไปด้วย จริงดังว่า เมื่อมองด้วยตาเปล่า เราสามารถแยกได้ว่าเศษสีขาวที่อยู่บนดินเป็นเศษของอะไร แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการใช้กล้องถ่ายรูปบันทึกภาพไว้ด้วย




พิพัฒน์เล่าว่า เมื่อขุดค้นเสร็จแล้ว สามารถถมดินทับหลุมไปได้เลย โดยไม่ต้องแบ่งดินกลับที่เดิมตามชั้นอายุ เพื่อให้นักโบราณคดีในอนาคตรู้ว่าหลุมนี้เคยถูกขุดมาแล้ว ทั้งยังมีการบันทึกการขุดค้นไว้ในฐานข้อมูลของกรมศิลปากรด้วย
“แต่ยังมีอีกวิธีหนึ่งนะ” พิพัฒน์เว้นวรรค ทุกคนรอฟัง “เราใช้วิธีโยนเหรียญที่มี พ.ศ. ปัจจุบันลงที่มุมหลุม เสร็จแล้วค่อยเอาดินกลบ ทำแบบนี้เพื่อสื่อสารกับคนในอนาคต เผื่อเขามาขุดหลุมที่เราเคยขุด”
ฉันฟังแล้วคิด นี่คือการค้นหาอดีตและสื่อสารกับอนาคตไปพร้อมกันที่นับว่าชาญฉลาดยิ่ง
เมื่อการสเก็ตช์ภาพเสร็จสิ้น พิพัฒน์ และ ประเมศฐ์ วิชาชู นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มาสังเกตการขุดค้นอยู่ด้วยก็ลงไปถ่ายภาพสามมิติโครงกระดูกวัวโบราณทุกซอกทุกมุมด้วยโปรแกรม Polycam ก่อนจะไปแก้ไขไฟล์ให้สมบูรณ์ต่อในคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการจัดแสดงและเก็บเป็นคลังข้อมูล ก่อนที่กระดูกวัวบางส่วนจะถูกบดเพื่อไปสกัดตรวจดีเอ็นเอที่ห้องแล็บ



ใต้ต้นลั่นทมที่ลมร้อนพัดเอื่อยเฉื่อย ฉันถามพิพัฒน์ว่า “นอกจากเรื่องดูการเปลี่ยนสายพันธุ์ของวัวแล้ว เราได้ประโยชน์อะไรจากการขุดค้นและตรวจดีเอ็นวัวในครั้งนี้”
พิพัฒน์นิ่งคิด แล้วตอบว่า “วัวก็เหมือนคน ถ้าเราดูด้วยตา เราก็คิดว่าคนนี้คือคนไทย คนนี้คนจีน แต่พอตอนนี้มีชุดตรวจดีเอ็นเอ เราก็จะรู้ว่าเรามีเชื้อสายอะไรบ้าง แน่นอนว่าดีเอ็นเอช่วยบ่งบอกที่มาที่ไปของมนุษย์ แต่ที่สำคัญคือ มันสามารถลดอคติเชิงเชื้อชาติที่เป็นปัญหาในยุคสมัยหนึ่ง บางทีเราภูมิใจในความเป็นไทยแท้ แต่เราก็อาจพบว่าเรามีดีเอ็นเอคนเขมรปน คนอินเดียปน เป็นต้น วัวก็เช่นกัน พอเราเห็นว่ามันมีหนอก เราก็บอกว่ามันเป็นวัวอินเดีย แต่อาจจะไม่ใช่ วัวอาจผ่านกระบวนการผสมมาแล้ว จนหลอกตาเรา เพราะฉะนั้นวิทยาศาสตร์ก็ใช้เพื่อตอบคำถามในสิ่งที่เราโดนหลอกตานั่นแหละ”
“เอาจริงๆ แล้วเราค้นหาอดีตกันไปทำไม งานโบราณคดีสำคัญกับเราอย่างไร” ฉันถามต่อ
“งานโบราณคดีเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนของคนในปัจจุบัน อย่างเรามองวัว เราก็จะไม่มองด้วยสายตาว่ามันน่ากินนะ แต่ตั้งคำถามว่าอะไรที่ทำให้เราเห็นความเป็นมาของวัวสักตัวหนึ่ง หรือถ้าเรามองโบราณสถานสักแห่งหนึ่ง เราก็จะมองเรื่องความเชื่อ ความคิดของคน และความงามด้านศิลปะ งานโบราณคดีทำให้มนุษย์คิดและมองทุกสิ่งทุกอย่างด้วยสายตาที่พินิจพิเคราะห์มากขึ้น
“หรือบางทีก็เป็นเชิงจิตวิญญาณ มันทำให้เรารู้สึกว่ามีพื้นที่ของความคิดในการจินตนาการเกี่ยวกับอดีต และช่วยให้เราทำความเข้าใจความเชื่อหรือการเมืองสังคม ณ ปัจจุบัน โดยมองย้อนผ่านไปในอดีต” พิพัฒน์ตอบคำถามนี้ข้างหลุมขุดค้น หน้ากลุ่มปราสาทและปรางค์ที่ตั้งเด่นท้าลมฝนมาหลายร้อยปี
4
เราจัดการเก็บภาพและบันทึกข้อมูลของโครงกระดูกวัวจนเย็นย่ำ ด้วยพระอาทิตย์ที่เคลื่อนตัวลับขอบฟ้าอย่างไม่แคร์ใคร ทำให้พิพัฒน์ตัดสินใจว่าจะเอาโครงกระดูกวัวขึ้นในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการขุดค้นจากแผนที่วางไว้ กระบวนการถัดจากนี้ คือการนำกระดูกวัวเข้าห้องแล็บไปสกัดดีเอ็นเอในช่วงปลายปีนี้ (2566) และหวังว่าจะมีตัวอย่างมากพอในการหาคำตอบเรื่องสายพันธุ์ แต่ถึงไม่ได้ ก็เป็นเรื่องปกติในการหาความรู้มิใช่หรือ-เราได้รู้ว่าเราไม่รู้อะไรบ้าง
การเดินทางของน้องวัวลพบุรียังไม่จบ และเช่นกัน-มนุษย์อาจต้องเดินทางไปกับความไม่รู้จนเกินอายุขัยของเรา
