fbpx

8 ปี รัฐประหาร: จงเติม __ (ชื่อระบอบ) __ ในช่องว่าง

“เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว […] ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวก ทุกฝ่าย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ […] จึงมีความจําเป็นต้องเข้าควบคุมอํานาจในการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2557 เวลา 16.30″

นับตั้งแต่การออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557 เป็นเวลา 8 ปีแล้วที่การปกครองภายใต้คณะรัฐประหารนำไปสู่การสืบทอดอำนาจยิงยาวของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา

หนึ่งในการอ้างความชอบธรรมและเจตนารมณ์หลักของยึดอำนาจครั้งนี้คือการปฏิรูปเปลี่ยนผ่านประเทศกลับเข้าสู่สภาวะปกติ กระนั้นก็ตาม ดูเหมือนว่าการปฏิรูปที่คสช. สัญญาไว้จะนำไปสู่ความอปกตินานัปการ แปรธาตุระบอบประชาธิปไตยไปสู่ระบอบการเมือง-เศรษฐกิจที่ยากยิ่งจะนิยาม

8 ปีที่ผ่านมา อำนาจคสช. พาประเทศไทยไปสู่ระบอบการเมืองแบบไหน? เรากำลังอยู่ภายใต้ระบอบอะไรกันแน่?

ในวาระครบรอบ 8 ปีรัฐประหาร 101 ชวนสำรวจหลาก ‘นิยาม’ การเมืองการปกครองภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ ผ่าน 6 คำอธิบายจาก 6 นักวิชาการในเกือบรอบทศวรรษที่ผ่านมา

ระบอบประยุทธ์

การสร้างรัฐทหารและทุนนิยมแบบช่วงชั้น

ประจักษ์ ก้องกีรติ และ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

ประจักษ์ ก้องกีรติ รองศาสตราจารย์แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) นิยามการปกครองที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2557 ไว้ในนาม ‘ระบอบประยุทธ์’ กล่าวคือ เป็นระบอบที่พยายามให้กองทัพแทรกแซงเข้าสู่หน่วยงานรัฐทุกองคาพยพ โดยเอื้อผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มอำนาจเก่าและนายทุนให้มีสิทธิในการกำหนดบทบาทสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกันก็ลดอำนาจของพรรคการเมืองต่างๆ ด้วย

ประจักษ์และวีระยุทธตีพิมพ์แนวคิดดังกล่าวผ่านบทความ ระบอบประยุทธ์ : การสร้างรัฐทหารและทุนนิยมแบบช่วงชั้น ตีพิมพ์ลงในวารสารฟ้าเดียวกัน ฉบับ 16/2 : ระบอบประยุทธ์ ไว้ว่าในภาพรวมนั้น การรัฐประหารในปี 2557 คือการที่คณะรัฐประหาร คสช. พยายามกระจายอำนาจของตนลงในองคาพยพอื่นๆ ในรัฐผ่าน ครม. และรัฐสภา รวมทั้งออกแบบรัฐธรรมนูญที่เอื้ออำนาจให้แก่กองทัพกับชนชั้นนำ และสร้างหุ้นส่วนแบบรวมหมู่กับเหล่าบรรษัทธุรกิจต่างๆ

หากมองในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ-สังคม ประจักษ์และวีระยุทธชี้ว่าการรัฐประหารในปี 2557 นั้นเป็นภาคต่อของการรัฐประหารปี 2549 โดยกองทัพรัฐประหารผ่านเงื่อนไขสามข้อ ได้แก่ กระบวนการและผลของการสืบราชสันตติวงศ์ที่อาจกระทบต่ออำนาจของชนชั้นนำกับกองทัพ, พรรคการเมืองแข็งแกร่งที่มีฐานเสียงจากชนชั้นรากหญ้าและการถือกำเนิดของการเมืองมวลชนที่ทำให้มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ซึ่งเงื่อนไขทั้งสามข้อนี้ทำให้กองทัพกลัวการเกิดภาวะสุญญากาศและทำรัฐประหารเพื่อจัดระเบียบโครงสร้างทางการเมืองเสียใหม่ที่หวังผลระยะยาวได้ ด้วยการสร้างกลไกที่ควบคุมประชาธิปไตยเสียงข้างมากผ่านระบบรัฐสภาที่มี ส.ส. 500 ที่นั่งและมี ส.ว. จากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลประยุทธ์ 250 ที่นั่ง โดยในจำนวนนี้มีการแบ่งที่นั่งสำรองไว้ให้ด้านความมั่นคงและกลุ่มชนชั้นนำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งในแง่การดำรงตำแหน่งเป็น ส.ว. เองหรือในแง่ความสัมพันธ์สนิทสนมส่วนตัวกับชนชั้นนำก็ตามที อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลประยุทธ์ก็ได้จัดตั้งองค์กรอิสระต่างๆ ที่มีอำนาจยับยั้งการออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติต่างๆ

รัฐบาลประยุทธ์ยังออกแบบระบบการเลือกตั้งใหม่จากระบบผสมเสียงข้างมาก มาเป็นระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมซึ่งทำให้พรรคการเมืองไทยอ่อนแอและกระจัดกระจาย ขณะเดียวกันก็ก่อกำเนิดพรรคร่วมรัฐบาลที่อ่อนแอ รัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งจึงถูกจำกัดให้อยู่ภายใต้การควบคุมของชนชั้นนำกลุ่มน้อย

“ดังนั้น การออกแบบเชิงสถาบันที่รัฐธรรมนูญ 2560 สร้างขึ้นจึงอาจเรียกได้ว่ามีคุณสมบัติเป็นระบอบกึ่งเผด็จการที่มีทหารชี้นำ (military-guided semi-authoritarianism) ด้วยการออกแบบเชิงสถาบันอย่างบิดเบือน ชนชั้นนำฝ่ายทหารก็ทำให้ระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมาก เชื่องลงได้”

ประจักษ์และวีระยุทธเสนอว่า ระบอบประยุทธ์นั้นได้ทำให้ตัวประยุทธ์อยู่ในสถานะที่มอบตำแหน่งต่างๆ ให้แก่คนอื่นในกองทัพไปยังหน่วยงานต่างๆ ในระบบการเมือง ซึ่งทำให้กระทรวงเหล่านี้อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพ ทั้งระบอบประยุทธ์ยังมีลักษณะอุปถัมภ์พวกพ้อง อันจะเห็นได้จากการแต่งตั้งนายทหารใต้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมรุ่นและพี่น้องในตำแหน่งต่างๆ ทางการเมือง ทั้งยังเผยให้เห็นการพึ่งพากันและกันของกลุ่มกับสถาบันกษัตริย์ที่เหนียวแน่นมาก หากมีประชาชนที่ต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์ระบอบประยุทธ์ ก็จะถูกจับไปปรับทัศนคติหรือถูกตั้งข้อหา ดำเนินคดีทางกฎหมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับเป็นเจตนารมณ์ของรัฐบาลประยุทธ์ในการสร้างความหวาดกลัวและความเงียบให้เกิดขึ้นในสังคม และกีดกันประชาชนออกไปจากการเมือง

นอกจากนี้ หากพิจารณาในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับทุน ประจักษ์และวีระยุทธยังเสนอว่า ระบอบประยุทธ์นั้นสร้างสายสัมพันธ์อันแข็งแกร่งระหว่างตัวรัฐกลุ่มกลุ่มทุนจำนวนมหาศาล ผ่านนโยบายต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ด้านใดด้านหนึ่งให้แก่กลุ่มทุนใหญ่และละเลยผู้ประกอบรายย่อย เห็นได้จากโครงการใหญ่อย่างโครงการประชารัฐโดยรัฐบาล ซึ่งมีการลงนามข้อตกลงสนับสนุนโครงการดังกล่าวโดยกลุ่มทุน 24 กลุ่ม นับเป็นการสะท้อนความผูกพัน ใกล้ชิดกับกลุ่มทุนผ่านการเอื้อผลประโยชน์ต่างๆ จากรัฐ

“โครงการประชารัฐภายใต้รัฐบาลประยุทธ์สะท้อน ความพยายามร่วมกันของกลุ่มทุนใหญ่ในไทยที่อยากผลักดันเศรษฐกิจไปในทิศทางของทุนนิยมแบบช่วงชั้น ที่พวกเขาสามารถเลือกรูปแบบความสัมพันธ์ที่ต้องการกับรัฐ ผู้ประกอบการรายย่อย และแรงงานได้”

โครงการและนโยบายทางเศรษฐกิจของประยุทธ์ โดยเฉพาะโครงการประชารัฐจึงมีลักษณะสร้างรูปแบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เอื้อให้รัฐและกลุ่มทุนใหญ่ได้เกื้อหนุนกัน โดยปราศจากมาตรการลดการผูกขาดหรือส่งเสริมการแข่งขันอย่างเท่าเทียมในนโยบายสาธารณะ

บทความสรุปว่า เมื่อเป็นดังนี้ ระบอบประยุทธ์จึงเป็นการทำให้องคาพยพในสังคมตั้งแต่คณะรัฐมนตรีจนถึงรัฐวิสาหกิจเป็นของกองทัพ เขียนรัฐธรรมนูญที่เอื้อให้ทหารและชนชั้นนำยังดำรงอำนาจต่อไปได้และยังลดทอนพลังของพรรคการเมืองจากการเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน ระบอบประยุทธ์ยังเกื้อหนุน พึ่งพากันกับกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศอย่างเหนียวแน่น ยังผลให้เกิดการผูกขาดทางการค้าโดยไม่แยแสผู้เล่นรายย่อยในท้องตลาด ทำให้สภาพเศรษฐกิจในประเทศถูกกำหนดทิศทางไว้โดยกลุ่มทุนเพียงไม่กี่เจ้าเท่านั้น

ระบอบ (ที่ใหญ่กว่า) ประยุทธ์

แบบแผนทางการเมืองบนฐานสายสัมพันธ์ช่วงชั้นระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพ

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

คงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่ารัฐประหารปี 2557 คือการ ‘ล้างกระดาน’ เพื่อสร้างสูญญาการทางการเมือง  เปิดพื้นที่ให้คณะรัฐประหารคสช. และชนชั้นนำเก่ากระชับอำนาจและสร้างอำนาจนำทางการเมือง-เศรษฐกิจในระยะยาว ผ่านการแฝงอำนาจในคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และรัฐวิสาหกิจ การออกแบบกลไกรัฐธรรมนูญ-การเลือกตั้ง และการสร้างหุ้นส่วนร่วมกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่จนสถาปนา ‘ระบอบประยุทธ์’ ขึ้นมาและสืบทอดอำนาจได้อย่างสำเร็จลุล่วง ดังที่ประจักษ์ ก้องกีรติ และ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอ

อย่างไรก็ตาม สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิจัยวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสนอว่า การเมืองไทยอยู่ภายใต้ ‘ระบอบ (ที่ใหญ่กว่า) ประยุทธ์’ ซึ่งแม้ว่าจะยังนิยามชื่อได้ไม่ชัดเจน แต่ที่แน่นอนคือการเมืองไทยตกอยู่ใน ‘ระบอบแบบแผนทางการเมืองที่สร้างบนฐานของสายสัมพันธ์ช่วงชั้นระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพ’ (Military-Monarchy Hierarchical Nexus) กล่าวคือ องคาพยพในระบอบการเมืองทั้งหมดไม่ได้มีเฉพาะส่วนที่ออกแบบโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะเท่านั้น ตามที่เคยกล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ ขุนศึก ศักดินา ประชาธิปไตย: มองอำนาจและข้อเสนอปฏิรูปกองทัพ กับ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการเลือกตั้งก็ตามแต่ เมื่อพิจารณาพลวัตทางการเมืองภายใต้ระบอบประยุทธ์แล้ว เป็นที่ประจักษ์ชัดอย่างแน่นอนว่า ‘กองทัพและทหาร’ คือผู้เล่นที่มีอิทธิพลในการคุมทิศทางทางการเมืองผ่านกลไกเชิงสถาบันที่ออกแบบไว้อย่างแยบยล ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งวุฒิสภาหรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขณะเดียวกัน สุภลักษณ์ตั้งข้อสังเกตว่า กองทัพและเครือข่ายทหารระดับสูงมีความสัมพันธ์พิเศษต่อสถาบันกษัตริย์ในรัชกาลที่ 10 เช่นกัน และนั่นคืออีกแหล่งที่มาของอำนาจของกองทัพในการเมืองไทย

“ปัจจุบันในความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและสถาบันกษัตริย์ สถาบันกษัตริย์มีอำนาจในการบังคับบัญชากองทัพได้โดยตรงผ่านเครือข่ายที่มีอยู่ ในบรรดาทหารจะมีทหาร 2 กลุ่มที่ใกล้ชิดสนิทสนมกันมากคือ ทหารคอแดงและทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ทม.) ซึ่งเป็นทั้งมหาดเล็ก ราชองครักษ์ และนายทหารกลุ่มที่ทรงโปรดในเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้จะมีความใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์มากเป็นพิเศษ ทหารอีกส่วนหนึ่ง กษัตริย์จะบังคับบัญชาผ่านเครือข่าย ส่วนกองทัพที่เหลือซึ่งมีความสัมพันธ์ห่างไกลหน่อยก็บังคับบัญชาผ่านสายลำดับชั้นของระบบภายใต้กฎหมายกลาโหม”

การย้ายกรมการทหารราบที่ 1 และ 11 ซึ่งเป็นสองหน่วยรบหลักสำคัญที่รวมทหารชั้นหัวกะทิไว้และมีบทบาททางการเมืองตลอดประวัติศาสตร์ไทยเข้าไปอยู่ภายใต้สำนักพระราชวังและการบังคับบัญชาของกษัตริย์ ยิ่งส่งผลให้อำนาจกองทัพ-สถาบันกษัตริย์ขยับใกล้ชิดแนบแน่นแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และแข็งแกร่งยิ่งกว่าโครงสร้างการเมืองภายใต้ระบอบรัฐสภา

เมื่อมี ‘ระบอบ (ที่ใหญ่กว่า) ประยุทธ์’ ครอบ ‘ระบอบประยุทธ์’ ไว้อีกชั้น สุภลักษณ์สรุปข้อพิจารณาสำคัญต่อการเมืองไทยข้อหนึ่งไว้ในบทความ “ระบอบ (ที่ใหญ่กว่า) ประยุทธ์ : ข้อพิจารณาสถาบันกษัตริษ์และกองทัพในการเมืองไทย” ในวารสารฟ้าเดียวกัน ฉบับ 17/1 : ระบอบ(ที่ใหญ่กว่า)ประยุทธ์ ว่า

“กองทัพจะยึดโยงกับรัฐบาล [หลังเลือกตั้ง] เพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นหัวหน้ารัฐบาล ในทางกฎหมายแล้ว กองทัพจะต้องสนับสนุนรัฐบาลในทุกกรณี แต่กรณีของการเมืองไทยนั้น กองทัพอาจจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนรัฐบาลก็ได้ แต่จะสนับสนุนสถาบันกษัตริย์อย่างแน่นอน […] สิ่งที่สามารถกล่าวเป็นข้อสรุปได้ในที่นี้คือ กองทัพได้อาศัยความชอบธรรมจากอำนาจสถาบันกษัตริย์ ข้ออ้างว่าจะปกป้องคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ทำให้กองทัพรักษาสถานะและบทบาททางการเมืองของตนเองได้อีกต่อไป”

เสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์

เกษียร เตชะพีระ

“สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจ ซึ่งความจริงก็เกิดมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ คสช. ทำให้ชัดยิ่งขึ้น คือการแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตยให้ห่างจากกันมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

มาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางการเมืองที่เกิดขึ้นช่วง คสช. มาถึงรัฐบาลประยุทธ์ในปัจจุบันทำให้ความห่างระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตยไปถึงขั้นที่พูดได้ว่าเราอยู่ในระบอบที่เป็น ‘virtual absolutism’ คือระบอบสัมบูรณาญาสิทธิ์เสมือน ยังไม่ใช่ระบอบสัมบูรณาญาสิทธิ์จริง”

ครั้งหนึ่ง เกษียร เตชะพีระ ศาสตราจารย์แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยให้สัมภาษณ์ถึงความเปลี่ยนแปลงในระบอบการเมืองไทยหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และการปกครองภายใต้อำนาจพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยคำว่า ‘ระบอบสัมบูรณาญาสิทธิ์เสมือน’ ถูกใช้อธิบายสภาวการณ์ที่รัฐบาล “..ต้องการเป็นระเบียบการเมืองแบบเผด็จการ ไม่ต้องการทั้งสิทธิเสรีภาพแบบเสรีนิยมและอำนาจการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย มีการกระทำหลายอย่างเพื่อลิดรอนเสรีนิยมและประชาธิปไตยโดยอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์”

แนวคิดว่าด้วยลักษณะของระบอบ ‘เสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์’ ที่เกษียรกล่าวถึงในบทสัมภาษณ์ถือได้ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ ตรงกันข้าม ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์กลับมองว่ามันเป็นระบอบการเมืองทางเลือกที่แฝงฝังอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบไทยๆ มาตลอด เช่นเดียวกับอีกระบอบคือ ‘สาธารณรัฐจำแลง’

ต่อคำถามที่ว่า ‘เสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์’ และ ‘สาธารณรัฐจำแลง’ มีลักษณะเป็นอย่างไร? เกษียรได้อธิบายไว้ในบททัศนะวิพากษ์ชื่อ “สาธารณรัฐจำแลงกับเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์ สองแนวโน้มฝังแฝงที่ขัดแย้งกันในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญไทย” ตีพิมพ์ในวารสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม – ธันวาคม 2564) โดยหยิบยกแนวคิดวิเคราะห์การเมืองอังกฤษของวอลเตอร์ แบ็จชอต (Walter Bagehot) ผู้เขียนหนังสือ The English Constitution (1867) มากล่าวให้เห็นภาพ

แบ็จชอตวิเคราะห์ว่าระบอบรัฐธรรมนูญตามประเพณีของอังกฤษประกอบไปด้วย 1) ส่วนที่ทรงเกียรติศักดิ์ (The Dignified Parts) คือ “ส่วนที่กระตุ้นและผดุงไว้ซึ่งความเคารพยำเกรงในหมู่ประชากร” ได้แก่ สถาบันกษัตริย์ และสภาขุนนาง 2) ส่วนที่ทรงประสิทธิภาพ (The Efficient Parts) หรือ “ส่วนที่รัฐธรรมนูญอาศัยมันดำเนินงานและปกครองในทางเป็นจริง” ได้แก่ คณะรัฐมนตรี สภาสามัญ

เมื่อใดที่เหล่านักการเมืองในส่วนหลัง สามารถใช้ความเคารพและภักดีที่ประชาชนมีต่อส่วนแรกย้อนกลับมาเป็นประโยชน์ สร้างความมั่นคงให้แก่ตนเองภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอนบางประการ จนกลายเป็นผู้กุมอำนาจบริหารอย่างแท้จริง นั่นคือระบอบ ‘สาธารณรัฐจำแลง’

ในทางกลับกัน เกษียรตั้งข้อสังเกตว่าถ้าเกิดแนวโน้มกลับตาลปัตร ส่วนที่ทรงเกียรติศักดิ์มีอำนาจเหนือกว่าส่วนที่ทรงประสิทธิภาพของรัฐธรรมนูญ คงเป็นไปได้ที่จะเกิดระบอบ ‘เสมือนสัมบูรณาญาสิทธิราชย์’

อนึ่ง เกษียรได้เสนอถึงเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้เกิดระบอบ ‘เสมือนสัมบูรณาญาสิทธิราชย์’ ในสังคมการเมืองไทยไว้ 3 ประการ ประการแรก คือ ฐานะบทบาททางการเมืองที่เป็น ‘องค์ประธานผู้กระทำการ (Political Subject)’ หรือ ‘ผู้รับการกระทำ (Political Object)’ ของสถาบันกษัตริย์ ตามที่ศาสตราจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน เคยจำแนกลักษณะแตกต่างชี้ขาดระหว่างสถานภาพของจักรพรรดิญี่ปุ่นหลังการปฏิรูปเมจิกับสถานภาพของสถาบันกษัตริย์ไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

ประการที่สอง คือ กระแสสูงของอุดมการณ์และการเคลื่อนไหวของมวลชนกลุ่มไฮเปอร์รอยัลลิสต์ช่วงเปลี่ยนผ่านสิบกว่าปีที่ผ่านมา

ประการสุดท้าย คือ บุคคลที่มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญแบบไทยนี้ เก้าอี้นายกฯ ถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญ ทั้งต่อการปกครองและทิศทางพระราชอำนาจของกษัตริย์ในระดับหนึ่ง

เมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่ผ่านมา ทั้ง “วิธีใช้อำนาจของรัฐบาลอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินสถานการณ์ร้ายแรง” “เอาอำนาจความมั่นคงการปราบปรามขึ้นหน้า เอาสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ข้างหลังเสมอ” ที่สอดคล้องกับนิยามของระบอบสัมบูรณาญาสิทธิ์ว่า “เป็นระบอบที่มีอำนาจสมบูรณ์ ไม่เคารพสิทธิในร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน” และทำให้ “การวิจารณ์คุณประยุทธ์จึงอยู่ในวิถีเดียวกับการวิจารณ์การเมืองที่ขึ้นไปถึงพระมหากษัตริย์” ตามคำสัมภาษณ์ของเกษียร

การกล่าวว่าสังคมการเมืองไทยใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์กำลังโน้มเอียงเข้าสู่ระบอบ ‘เสมือนสัมบูรณาสิทธิ์’ ก็คงเป็นความจริงที่ไม่เกินเลย

ระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

“แม้การกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในเบื้องต้นจะมีลักษณะเป็นการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้นดังที่จำเลยอุทธรณ์ก็ตาม

แต่เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ… สถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทยในขณะนั้น ก็คลี่คลายเข้าสู่ความสงบเรียบร้อย ไม่มีการต่อต้านขัดขืนจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ … อันถือเป็นการใช้กำลังยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามนัยของระบอบแห่งการรัฐประหารได้เป็นผลสำเร็จแล้ว คณะรักษาความสงบแห่งชาติย่อมมีอำนาจที่จะออกประกาศหรือคำสั่งใดๆ อันถือเป็นกฎหมายตามระบอบแห่งการรัฐประหารมาใช้ในการบริหารประเทศ…”

เมื่อปี 2561 ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดง 2247/2561 ปรากฏข้อความที่น่าสนใจคือ ‘ระบอบแห่งการรัฐประหาร’ และการตีความที่ราวกับประกาศแก่ประชาชนว่าในระบอบนี้ ผู้ใดกระทำการยึดอำนาจสำเร็จแล้ว สิ่งที่สั่งออกมาล้วนกลายเป็นกฎหมายทั้งสิ้น นั่นทำให้บรรดาคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แลดูมีความชอบธรรมเพิ่มมากขึ้น

ทว่า สำหรับศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า “รัฐประหารไม่ใช่ ‘ระบอบ’ (regime) รัฐประหารเป็น ‘ระบบ’ ใน ‘ระบอบ’ ต่างหาก” ตามคำสัมภาษณ์ที่เคยให้ไว้ในซีรีส์ ‘มอง 2019’ ของ The101.world

กระนั้น “ถ้าถามต่อว่า แล้ว ‘ระบอบ’ ที่สังคมไทยใช้ชีวิตอยู่ในตอนนี้เป็นระบอบอะไร ก็สุดปัญญาที่จะอธิบาย ผมขอเรียกระบอบนี้ว่า ‘ระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้’ เพราะเราไม่สามารถอธิบายตัวระบอบได้ภายใต้กฎกติกาในระบอบที่เป็นอยู่ในตอนนี้”

ระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้’ ของวรเจตน์เป็นระบอบที่ประกอบด้วย ‘ระบบรัฐประหาร’ และ ‘ระบบเลือกตั้ง’ สลับกันค้ำจุนการปกครองประเทศ ภายใต้ระบอบนี้ รัฐประหารเป็นสิ่งที่พร้อมจะเกิดขึ้นเสมอเมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการช่วงชิงอำนาจในหมู่ผู้นำกองทัพ หรือความขัดแย้งที่รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถรับมือตอบสนอง รัฐประหารถือเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เป็นแบบแผน และมีกลไกบังคับทางกฎหมาย

“ฝ่ายที่ถืออาวุธและฝ่ายที่ถือกฎหมายต่างพร้อมกันดำเนินการให้เป็นไปตามการสั่งการ นักกฎหมายและศาลต่างก็ปรับตัวจนคุ้นชินกับการรัฐประหาร ระบบรัฐประหารมีการพัฒนาตัวเองจากช่วงแรกที่เน้นกำลังของฝ่ายถืออาวุธ มาเป็นการใช้อำนาจในนามของสิ่งที่ถูกเรียกว่า ‘กฎหมาย’ มากขึ้น เพราะระบบนี้พัฒนาจนถึงระดับที่นักกฎหมายเริ่มคุ้นชินแล้ว”

แม้วรเจตน์จะไม่สามารถระบุว่า ‘ระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้’ นี้ก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใด แต่สรุปได้ว่ารัฐประหารปี 2549 และ 2557 คือเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เราเห็นลักษณะของระบอบดังกล่าวชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะรัฐประหารปี 2557 ที่แตกต่างไปจากคราวก่อนๆ กล่าวคือ “เราเห็นการกำหนดกติกาหลังรัฐประหารที่ไม่สนใจหลักการอะไรในทางกฎหมายชัดเจนขึ้น และเห็นการกำหนดกติกาที่พยายามพรางตัวให้ในทางรูปแบบรับกับสิ่งที่เป็นสากลมากขึ้น”

วรเจตน์ยกตัวอย่างถึงการไม่ยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เป็นศาลที่ถือกำเนิดจากรัฐธรรมนูญโดยตรง และรัฐธรรมนูญถูกฉีกด้วยการรัฐประหารไปเรียบร้อยแล้ว “เราจะอธิบายมันได้อย่างไร จะอธิบายว่าเพราะคณะรัฐประหารเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่ขัดขวางความต้องการของคณะรัฐประหารแน่ๆ จึงไม่จำเป็นต้องยุบ หรือจะอธิบายว่าจริงๆ แล้ว ในบ้านเราศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่พิทักษ์สิ่งที่อยู่เบื้องหลังรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นอะไรบางอย่างที่ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ

“เป็นอันว่าระบอบนี้ก็เผยตัวออกมาว่า รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรไม่ได้มีคุณค่าความหมายเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ”

ภายหลัง วรเจตน์ได้เอ่ยถึงประเด็นนี้เพิ่มเติมในงานเสวนา 40 ปีนิติปรัชญา ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า “ตอนนี้โดยระบบของเรา มันกำลังมีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ใช่กฎหมาย แต่มีผลเสมือนเป็นกฎหมาย ที่เกิดขึ้นมาคู่ขนานกันในแง่การใช้กฎหมายในทางเป็นจริง” สิ่งนั้นคือประเพณี ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมบางอย่างที่องค์กรทางกฎหมายนำมาใช้ตีความคดีทางการเมืองเพิ่มขึ้นในระยะหลัง

คำถามสำคัญที่วรเจตน์เคยทิ้งท้ายไว้คือสุดท้ายแล้ว “ระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้นี้จะดำรงอยู่ต่อไปอีก หรือจบลงแล้ว และกำลังแปลงร่างเป็นอีกระบอบหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ต้องมีรัฐประหารเป็นระบบในระบอบนี้”

ทุนพันลึก 

ผาสุก พงษ์ไพจิตร

เมื่อพิจารณาภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจการเมืองหลังการรัฐประหารปี 2557 กล่าวได้ว่าการปกครองภายใต้การนำของรัฐบาลคสช. เผยให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทหารและกลุ่มทุน ‘อย่างตรงไปตรง’ มา ผ่านโครงการ ‘ประชารัฐ’ ที่เข้ามาทดแทนนโยบายประชานิยมในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอประเด็นดังกล่าวไว้ในงานศึกษา ทุนพันลึก บรรยายครั้งแรกในหลักสูตร Deconstruct โดย TCIJ School Season 5 ปี 2561

ในความเป็นจริง ความสัมพันธ์ทุนกับรัฐเป็นเรื่องปกติ ทว่าหากมีระบบประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ นิติธรรมที่เข้มแข็ง มีความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมและประชาชน จนนำไปสู่การตรวจสอบความโปร่งใสและความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ ทุนกับรัฐจะไม่ใกล้ชิดและเป็นเนื้อเดียวกันจนเกินไป และย่อมทำให้ดอกผลของการพัฒนาเศรษฐกิจกระจายตัวอย่างเสมอภาคพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ผาสุกเสนอว่า การที่ระบบประชาธิปไตยยังไม่ได้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงนักประเทศไทยส่งผลให้ปรากฏสภาวะ ‘ทุนพันลึก’ ผ่านการร่วมมือระหว่างรัฐกับทุนหลายรูปแบบ โดยเฉพาะ ระบบอุปถัมภ์ที่มีการแข่งขัน (competitive clientism) ที่ไม่มีใครเป็นศูนย์กลางอำนาจเพียงบุคคลเดียวหรือกลุ่มเดียว จนทำให้เกิดการแข่งขันสร้างคอนเนกชันในหมู่นักธุรกิจข้าราชการ และนักการเมือง ดังเช่นที่เคยเกิดภายใต้รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ทุนกับรัฐยังคงสัมพันธ์-พันลึกกันอย่างแนบแน่นใน ‘ระบอบทักษิณ’ ที่เกิดจากการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่เครือข่ายของทักษิณ แม้ว่าจะมีนโยบายประชานิยมที่ทำสำเร็จในเวลาอันรวดเร็วจนประชาชนเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตยในรัฐสภาก็ตาม

หลังรัฐประหารปี 2557 ‘นโยบายประชานิยม’ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากฝั่งคณะรัฐประหาร และมีการนำเสนอทางเลือกขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ภายใต้รัฐบาลคสช. คือ ‘ประชารัฐ’ ซึ่งมีต้นธารความคิดมาจากนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป มูลนิธิชุมชนท้องถิ่น อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ทั้งนี้เอกสาร ‘ขบวนการประชารัฐ เพื่อเศรษฐกิจฐานราก’ ของนายแพทย์พลเดชระบุว่า “ประชานิยมเอาเงินไปแจกชาวบ้าน ประชารัฐเสริมความเข้มแข็งของประชาชนฐานรากให้หายจน มีเกียรติ พึ่งตน และควบคุมนักการเมืองได้”

แต่ผาสุกกลับพบว่า เนื้อในของ ‘ประชารัฐ’ ช่วง 4 ปีแรกของการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาล คสช. คือการสานสัมพันธ์ให้รัฐและทุนมีความใกล้ชิดกันอย่างตรงไปตรงมา เช่น มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนประเทศ 12 ชุด โดยให้นักธุรกิจรายใหญ่จับคู่ทำงานกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ, การยกเลิกข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์ 70 : 30 ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน โดยชาวไร่อ้อยไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพราะมองว่าการยกเลิกข้อตกลงนี้จะทำให้ชาวไร่อ้อยเสียเปรียบ แม้โรงงานจะได้ผลประโยชน์ 30% แต่ก็สามารถนำวัสดุเหลือใช้จากอ้อยไปสร้างพลังงานและรายได้เพิ่มได้อีก, การก่อตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) โดยมีบริษัทลูก 77 จังหวัดเพื่อให้คำปรึกษาผู้ประกอบการท้องถิ่น ซึ่งบริษัทใหญ่ที่มาเข้าร่วมทุนในการก่อตั้งจะได้รับการยกเว้นภาษี รวมไปถึงการใช้มาตรา 44 ผลักดันโครงการขนาดใหญ่ โดยไม่มีการรายงานวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

“ถ้าสรุปกลับไปตอนต้นที่พูดถึงทุนพันลึก ตอนนี้ไม่ลึกแล้ว มีการเปิดตัวอย่างเต็มที่ บทบาททุนในรัฐบาลนี้ (คสช.) แตกต่างจากรัฐบาลก่อนๆ มาก มีการเลือกข้างชัดเจน”           

นอกจากนี้ ยังมีบางนโยบายที่กีดกันคนตัวเล็กตัวน้อยจากการเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เช่น การจัดระเบียบทางเท้า กำจัดหาบเร่ แผงลอย โดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือรองรับที่เหมาะสม ทำให้คนซื้อจำเป็นต้องเลือกใช้จ่ายในร้านสะดวกซื้อแทน โครงการเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางรายงานอันดับความเหลื่อมล้ำในไทย โดยนิตยสาร Forbes จัดอันดับ 50 เศรษฐีไทยในปี 2561 พบว่ามีมูลค่า 5 ล้านล้านบาท โดยผาสุกกล่าวว่า ถ้าย้อนกลับไปดูสถิติของ Forbes เมื่อปี 2557 จะเห็นว่านักธุรกิจที่ติดอันดับร่ำรวย 4 คนแรกมีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว

“กล่าวได้ว่า ประชารัฐเป็นความพยายามที่จะทดแทนประชานิยมในยุคสมัยของพรรคเพื่อไทยและพรรคพวก แล้วก็พยายามดึงมวลชนออกจากความยึดแน่นในระบบรัฐสภาประชาธิปไตย มาสู่ความเชื่อถือในระบบการกุศลกับภาครัฐ อาจจะเป็นในรูปของบัตรคนจน หรืออะไรก็ตาม โดยที่ประชาชนไม่ได้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง”

รัฐอากาศยาน 

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

โดยทั่วไป การเมืองเชิงอุปลักษณ์หรือการเปรียบเทียบการปกครองมักเปรียบผ่านอุปลักษณ์ ‘การเดินเรือ’ หรือ ‘รัฐนาวา’ เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ทางอำนาจการปกครองระหว่างรัฐ-รัฐบาล-ประชาชน  และเมื่อเทียบอุปลักษณ์รัฐนาวาในบริบทการเมืองไทยหลังการรัฐประหารปี 2557 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เปรียบไว้ว่า “วันนี้ทุกคนลงเรือลำเดียวกันแล้ว เหมือนคำโบราณที่ว่า ‘ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ’ ไม่เช่นนั้นจะถูกไล่ลงจากเรือ ดังนั้นก็ต้องตามใจแป๊ะ” 

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาและเฝ้ามองสถานการณ์สังคมการเมืองไทย ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าในบริบทการเมืองไทยร่วมสมัย ‘รัฐนาวา’ อาจไม่ใช่อุปลักษณ์ที่อธิบายความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการปกครองรัฐได้ครอบคลุมมากนัก จึงเสนอคำว่า ‘รัฐอากาศยาน’ (Aircraft of State) เพื่อทำความเข้าใจระเบียบอำนาจของรัฐ ณ ปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ในงาน ดิเรกทอล์ค 2562’ ภายใต้หัวข้อ ‘รัฐศาสตร์ในยุคสมัยของความท้าทายและทางเลือก

ชัยวัฒน์เปรียบอำนาจอธิปไตยเหมือนลักษณะการปกครองในสนามบิน ซึ่งถือเป็น ‘พื้นที่พิเศษ’ ที่มีความเสี่ยง ต้องมีการกำหนดพื้นที่หวงห้ามและควบคุมกิจกรรมเพื่อรักษาความปลอดภัย นับตั้งแต่จุดตรวจค้นไปจนก้าวขึ้นสู่ ‘รัฐอากาศยาน’ การใช้พื้นที่ทั้งหมดต้องถูกควบคุมผ่าน ‘ระบบอนุญาต’ กล่าวคือ มีการกำหนดให้เฉพาะผู้ที่แสดงตั๋วโดยสารและพาสปอร์ตเท่านั้นที่ผ่านเข้าสู่พื้นที่ได้ หรือมีการกำหนดให้ผู้โดยสารนั่งตามเลขที่นั่งที่กำหนดไว้เท่านั้น นอกจากนี้ สนามบินยังเป็นพื้นที่ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เช่น ห้ามร้องคำว่า ‘ระเบิด’ 

และเมื่ออากาศยานอยู่ระหว่างการบิน อำนาจอธิปไตยก็ได้เคลื่อนจากรัฐไปสู่ ‘กัปตันบิน’ หรือ ‘ผู้ควบคุมอากาศยาน’ ซึ่งมี ‘สมบูรณาญาสิทธิ์’ เพียงหนึ่งเดียวที่สามารถควบคุมทุกอย่างบนเครื่องบินได้ เนื่องจากถ้าเกิดอุบัติเหตุ การเดินทางด้วยเครื่องบินจะมีเปอร์เซ็นต์ของการรอดชีวิตต่ำเมื่อเทียบกับการเดินทางอื่นๆ กัปตันจึงมีหน้าที่รับผิดชอบให้ผู้โดยสารเดินทางอย่างปลอดภัย ผู้โดยสารต้องปฏิบัติตามคำสั่งของกัปตันทุกอย่าง ทำให้การใช้ชีวิตในเครื่องบินถูกควบคุมในระบบอนุญาต ตั้งแต่อากาศ ความดันอากาศ การเคลื่อนไหวภายในอากาศยาน ไปจนถึงการทานอาหารตามที่ได้รับอนุญาต 

ข้อพิเศษอีกอย่างคือ อำนาจของกัปตันจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เรียกว่า ‘อากาศยานระหว่างการบิน’ หมายความว่า ไม่ว่าเครื่องบินจะขึ้นสู่น่านฟ้าแล้วหรือไม่ ถ้าหากประตูอากาศยานได้ปิดแล้ว ถือว่าอำนาจตกอยู่กับกัปตันทันที และความผิดต่างๆ ที่ขัดต่อคำสั่ง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นแล้วหรือมีข้อสันนิษฐานว่าจะเกิดก็ตามจะถือว่าเป็นความผิดทั้งหมด แม้ว่าจะยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม

“กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ไม่ว่ากัปตันหรือผู้ควบคุมอากาศยานจะมีที่มาจากไหน จะผ่านการคัดเลือกการเห็นชอบจากคนส่วนใหญ่ก็ตาม แต่เมื่อรัฐทะยานขึ้นฟ้าเป็นรัฐอากาศยานแล้ว ระบอบการปกครองในรัฐอากาศยานก็จะแปลงร่างเป็นระบอบอำนาจสมบูรณาญาสิทธิในมือของผู้คุมอากาศยานนั้นเอง”

แนวคิดของรัฐอากาศยานสะท้อนถึงแนวคิดของนักปรัชญาการเมืองคอร์แนลอย่างซูซาน บัค มอร์ส (Susan Buck-Morss) ที่เสนอในงาน Dreamworld and Catastrophe ว่า “รัฐทุกรัฐที่อ้างในอำนาจอธิปัตย์ของตนย่อมมีศักยภาพที่จะครอบครองเขตอำนาจเถื่อน ที่ไม่จำกัดและไร้การควบคุมทั้งนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดผลสำคัญ ไม่ว่าธรรมนูญของระบอบรัฐจะมีความเป็นประชาธิปไตยเพียงใด รัฐก็จะเป็นอะไรที่มากกว่าประชาธิปไตย และดังนั้นก็จะเป็นอะไรที่น้อยกว่าประชาธิปไตยไปมากเสมอ”

ชัยวัฒน์จึงตั้งคำถามต่อว่า “เพราะความเป็นรัฐนั้นเองทำให้โอกาสที่จะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จแฝงอยู่ในตัวเสมอ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงและถ้าโลกเข้าใกล้ความเป็นรัฐอากาศยานด้วยแล้ว จะมีหนทางใดที่มนุษย์จะหลุดพ้นจากกับดักอันตรายแห่งอำนาจเบ็ดเสร็จที่มากับรัฐอากาศยาน”

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว ชัยวัฒน์เล่าถึงภาพยนตร์ Wall-E ที่ตัวละครพยายามร่อนอากาศยาน ซึ่งรวบรวมสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีโอกาสได้มีชีวิตจริงๆ ลงพื้นดิน เพื่อปลดปล่อยอิสรภาพและคืนสู่สังคมที่คนใช้ชีวิตกันปกติ

 “บางทีคำตอบต่อการจำกัดอำนาจสมบูรณาญาสิทธิของรัฐอากาศยานอาจอยู่ที่การฟื้นความเป็นจริงให้เห็นว่า แม้อำนาจรัฐอากาศยานจะดูเหมือนเบ็ดเสร็จแต่ก็เป็นเช่นนั้นเฉพาะเมื่อขึ้นฟ้า เพราะรัฐอากาศยานไม่สามารถล่องลอยอยู่ในอากาศตลอดไปได้ เมื่อใดอำนาจรัฐอากาศยานลงสู่พื้นดิน เมื่อนั้นอำนาจรัฐอากาศยานน่าจะสิ้นสุดลงเมื่อประตูของอากาศยานนั้นเปิดออก และเมื่อลมหายใจของเสรีภาพคืนกลับมา”

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save