fbpx

“ถ้ามีรัฐประหาร เราคงใส่ชุดข้าราชการไปขวางแล้วชู 3 นิ้ว” 8 ปีระบอบประยุทธ์สู่การเลือกตั้ง – ความในใจข้าราชการรุ่นใหม่ 

ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 มาจนถึงวันนี้ เป็นระยะเวลากว่า 8 ปีที่ ‘ระบอบประยุทธ์’ เข้าควบคุมอำนาจการปกครองของประเทศไทย กว่า 8 ปีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลายเป็นผู้กำหนดนโยบายที่ส่งผลต่อชีวิตคนทั้งประเทศ และนานถึง 8 ปีแล้วที่ข้าราชการพลเรือนถูกสั่งการจากรัฐบาลทหารอย่างมิอาจมีข้อโต้แย้ง

จากผลงานแสนเน่าเฟะที่เราเห็นจากฉากหน้า แท้จริงแล้วระบบการทำงานภายในก็ค่อยๆ กัดกร่อนชีวิตและจิตใจของข้าราชการรุ่นใหม่ไปทีละนิด ด้วยระบอบเผด็จการทหาร ระบบอำนาจนิยม และกระบวนการทำงานราชการแบบไทยๆ ที่รอวันยกเครื่องขนานใหญ่ สู่คำถามสำคัญที่ว่า 8 ปีที่ผ่านมา อำนาจ คสช. กำลังพาประเทศไทยไปสู่จุดไหน และเรามีความหวังได้แค่ไหนต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะถึงนี้

101 ชวนข้าราชการไทยรุ่นใหม่จาก 4 สังกัด – บอย (นามสมมติ) ครูรุ่นใหม่ในระบบการศึกษาไทย, ฟิล์ม (นามสมมติ) จากแวดวงยุติธรรม, น้ำ (นามสมมติ) บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ และตั้ม (นามสมมติ) คนรุ่นใหม่ผู้ทำงานด้านธุรกิจและเศรษฐกิจ มาบอกเล่าถึงสิ่งที่ต้องพบเจอในฐานะคนทำงานรุ่นใหม่ในระบบราชการคร่ำครึ พร้อมมองภาพอนาคตของตัวเองในการเลือกตั้งใหญ่ และความเป็นไปที่เกิดขึ้นในระบอบประยุทธ์กว่า 8 ปีที่ผ่านมา

“ถ้าหลังจากการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการรัฐประหารขึ้นอีก เราก็คงขับรถไปขวางรถถังไว้เหมือนกัน หรือไม่ก็คงใส่ชุดข้าราชการออกไปขวางแล้วชู 3 นิ้ว” คือความในใจจากข้าราชการคนหนึ่งต่อการเลือกตั้งครั้งนี้

“8 ปีที่ผ่านมาไม่ต่างอะไรจากการสร้างระบบทหารในวงการการศึกษา” – เมื่อ ‘ระบบ’ เป็นตัวกัดกร่อนศักยภาพครูรุ่นใหม่

“การเป็นข้าราชการครูทุกวันนี้ต้อง ‘ลู่ลมให้เป็น’ ต้องดูว่ารากเหง้าของผู้บริหารคนนี้มาจากไหน และพรรคพวกของเขาเป็นอย่างไร ต้องปรับตัวเยอะ ต้องอยู่แค่ในที่ของเรา อย่าไปข้ามเส้น ถามว่าเครียดบ้างไหม ก็เครียดแหละ เพราะหากเราจะไม่ลู่ตามลมก็คงไม่มีพลานุภาพมากพอจะไปต่อสู้กับผู้มีอำนาจ เช่น สมมติเป็นครูผู้ช่วยธรรมดาแล้วไม่ลู่ตามลม คุณก็อาจจะถูกประเมินไม่ผ่าน” 

“ในระบบนี้หากคุณรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ต้องไปยื่นฟ้องที่ศาลปกครอง แต่คำถามคือต้องใช้เวลาต่อสู้กี่ปี ต้องเสียทั้งแรงกาย แรงเงิน และเสียเวลาในการขึ้นศาล และในระบบราชการสำคัญมากว่าคุณมีเครือข่ายมากขนาดไหน หากคุณมีเครือข่ายที่ดี คุณก็จะไม่มีปัญหาอะไร”

“ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ระบบการศึกษาไม่ต่างอะไรจากการสร้างระบบทหาร-ตำรวจในวงการการศึกษา มีระบบสายนั้นสายนี้ หากคุณพินอบพิเทาถูกฝั่ง คุณก็จะได้อยู่ยาวและเป็นใหญ่เป็นโต ถ้า ‘อยู่เป็น’ ในหนึ่งวัน สิ่งที่ต้องทำมีแค่ไปอบรมบรรยาย จากนั้นผ่านไปอีกสัปดาห์ก็ได้เลื่อนขั้นไปไกลแล้ว”

“หนึ่งสิ่งที่เกิดในรัฐบาล คสช. คือการตั้งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ทั้งๆ ที่โรงเรียนก็อยู่ภายใต้เขตพื้นที่การศึกษาอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการรัฐประหารก็อ้างว่าต้องการปฏิรูประบบการศึกษา อีกทั้งเขตพื้นที่การศึกษาได้ใช้อำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายภายใต้อำนาจของนักการเมืองท้องถิ่น จึงตั้งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดขึ้นภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดเป็นประธาน คำถามคือผู้ว่าฯ อยู่ภายใต้ใคร ก็คือพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่เป็นเหมือนพี่ชายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ่งนี้เป็นคำตอบในตัวมันเอง”

“ที่ผ่านมาระบบการศึกษาเละเทะมาก เก่งแต่เรื่องการสร้างผู้บริหาร แต่จะยุบผู้บริหารกลับยุบไม่ได้ อีกทั้งด้วยสำนักที่ตั้งใหม่อย่างสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ก็ส่งผลให้ตำแหน่งผู้บริหารผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดในทุกๆ จังหวัด การกระจายอำนาจในมุมของข้าราชการการศึกษาในยุคนี้คือการเพิ่มตำแหน่งผู้บริหาร แต่คำถามคือเพิ่มแล้วทำอะไรได้บ้าง”

“หากวันนี้เราจะพูดถึงการปฏิรูประบบการศึกษา เรามักจะไปหยิบยกโมเดลจากประเทศฟินแลนด์บ้าง สิงคโปร์บ้าง แต่ด้วยประเทศอย่างฟินแลนด์หรือสิงคโปรมีขนาดพื้นที่ทางภูมิศาสตร์แตกต่างจากประเทศไทย ด้วยความที่สิงคโปร์เป็นเกาะจึงสามารถออกคำสั่งให้ครูเวียนไปสอนตามโรงเรียนต่างๆ ในระยะเวลา 3-4 ปีก็ต้องวนแล้ว เพื่อให้ครูพัฒนาตัวเองและคุณภาพของการศึกษา เราจึงไม่สามารถนำโมเดลเหล่านั้นมาใช้ได้ทั้งหมด” 

“ทุกวันนี้ระบบครูไม่ได้แยกข้าราชการครูกับข้าราชการพลเรือนออกจากกัน ทำให้หลายโครงการเกิดความซ้ำซ้อน อย่างโครงการโรงเรียนคุณธรรมกับโครงการโรงเรียนสีขาว ทั้งสองโครงการจะเห็นได้ว่าเน้นเรื่องคุณธรรมเหมือนกัน แต่เกิดจากคนละสำนัก ซึ่งจะรวมสองโครงการนี้เข้าด้วยกันเพื่อความคล่องตัวก็ไม่ได้ เพราะเดี๋ยวแต่ละสำนักจะไม่มีผลงาน แล้วงบประมาณจะถูกตัดลง” 

“เพราะข้าราชการพลเรือนและข้าราชการครูมีวิธีการวัดผลที่แตกต่างกันไป ข้าราชการพลเรือนวัดจากมิติเชิงปริมาณ แต่ครูเน้นมิติเชิงคุณภาพ ปัจจุบันระบบการศึกษาจึงเละเทะ เพราะระบบข้างนอกโรงเรียนอยากได้ KPI (Key Performance Indicator) แต่ข้างในอยากได้คุณภาพของเด็ก กลายเป็นว่าครูเองต้องสนองทั้ง KPI และสนองทั้งคุณภาพของเด็ก ระบบจึงพัง”

“ที่ผ่านมาระบบการศึกษาเหมือนใช้เด็กเป็นเครื่องมือ ชัดเจนที่สุดเมื่อต้องการเขียนโครงการต่างๆ อย่างล่าสุดผมต้องเขียนแผนงบประมาณของโรงเรียนว่าต้องการฝึกฝนนักเรียนเพื่อแข่งศิลปหัตถกรรม ที่ต้องเขียนแบบนี้เพราะหนึ่งในเครื่องมือโยกย้ายจากโรงเรียนขนาดกลางไปใหญ่หรือจากใหญ่ไปใหญ่พิเศษได้ ต้องพึ่งผลงานเหล่านี้ เช่น โรงเรียนคุณได้เหรียญรางวัลกี่เหรียญ คุณไปแข่งระดับชาติกี่เหรียญ หากได้รับเหรียญทองเยอะก็จะมีคะแนนเพื่อโยกย้ายมาก”

“การดำเนินนโยบายทางการศึกษาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปได้ยากมาก ใช้เวลากี่ปีก็ไม่รู้เหมือนกัน และต้องเป็นรัฐบาลเดิม คนเดิม พรรคร่วมรัฐบาลสัดส่วนเหมือนเดิมด้วย เพราะหากรัฐมนตรีเป็นคนหนึ่ง แต่รัฐมนตรีช่วยเป็นคนอีกพรรค ก็จะส่งผลไปยังทิศทางของนโยบาย ทำให้การดำเนินนโยบายด้านการศึกษาเป็นไปได้ยาก”

“ทุกวันนี้กระทรวงศึกษาธิการเองไม่ต่างอะไรจากการใช้คนที่เรียนบริหารธุรกิจมาเป็นครู นายกรัฐมนตรีไม่สนใจอยู่แล้วว่าจะต้องเอาคนที่เป็นครูหรือคนที่มีประสบการณ์ด้านการศึกษาขึ้นมาเป็นรัฐมนตรี ทั้งหมดล้วนแต่เป็นเพียงการเกลี่ยเก้าอี้ตามเกรดของกระทรวงเท่านั้น” 

“ถ้าอยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ เราต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญก่อน” – มองกระบวนการยุติธรรมไทยผ่านสายตาคนในระบบ

“ปัญหาสำคัญในกระบวนการยุติธรรมไทยคือการที่เราไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของศาลได้เลย เพราะตามกฎหมายศาลต้องได้รับการคุ้มครองและมีหลักความเป็นอิสระในการตัดสินและพิจารณาคดี ศาลจะต้องตัดสินคดีโดยไม่มีประชาชนชี้นำหรือควบคุม แต่ในขณะเดียวกันหลักการนี้ก็เป็นดาบสองคมที่ว่าไม่มีใครสามารถตรวจสอบศาลได้ว่าใช้อำนาจอย่างชอบธรรมหรือไม่ และทำให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยาก”

“ที่เห็นได้ชัดคือคดีทางการเมือง โดยเฉพาะคดี ม.112 การยังไม่มีการตัดสินคดีจากศาล ก็ถือว่าจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ด้วยหลักการของการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ที่ระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ศาลกลับทำกับพวกเขาเหมือนตัดสินคดีไปแล้ว ซึ่งขัดต่อหลักการอย่างมาก”

“ถ้าอยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ เราต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญก่อน ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญถูกออกแบบโดยระบอบอำนาจนิยมและไม่มีความเป็นธรรม แม้แต่การเลือกตั้งที่ให้ ส.ว. มาโหวตเลือกนายกฯ 250 เสียง สิ่งนี้ถูกต้องแล้วหรือ เพราะจริงๆ แล้วที่มาของ ส.ว. ไม่ได้มาจากการเป็นตัวแทนของประชาชนโดยตรง แต่มาจากการแต่งตั้ง แล้วคนกลุ่มนี้จะมีอภิสิทธิ์เลือกคนที่จะมาเป็นผู้แทนประเทศให้ประชาชนได้อย่างไร”

“อย่างที่รู้ๆ กันว่าที่มาของ ส.ว. ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือมาจากการแต่งตั้งของคณะ คสช. เพราะฉะนั้นประชาชนย่อมมีข้อกังขาอยู่แล้ว เรามองว่าควรมีการปรับที่มาของการคัดเลือกหรือสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งให้โปร่งใสขึ้น ไม่ควรมีการเลือกผู้แทนประชาชนที่ไม่ค่อยยึดโยงกับประชาชนสักเท่าไหร่”

“ในการเลือกตั้งครั้งนี้เราหวังแค่ให้ได้คนที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้มาพัฒนาประเทศเพื่อนำทางไปสู่ทิศทางที่ดีมากขึ้น และเชื่อว่าถ้าเราได้รัฐบาลประชาธิปไตยแล้ว อะไรต่อมิอะไรจะมีความเป็นประชาธิปไตยตามมา”

“ถ้าพูดถึงความคาดหวังในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย เราคิดว่าคงต้องรอเวลา อาจจะดูเป็นคำพูดปลอบใจ แต่เราก็ต้องทำ เราทุกคนคงอยากเร่งรัดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไวๆ แต่ในความเป็นจริงเราอาจไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองหรือแม้แต่ระบบยุติธรรมในทันที เราเกษียณแล้วจะได้เห็นหรือเปล่าก็ไม่รู้”

“แต่ถ้าเรามองไปเมื่อ 10-20 ปีก่อน แล้วมามองดูปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงเหมือนกันนะ ไม่ใช่ว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ความรับรู้และตื่นรู้ของประชาชนมีมากขึ้น เราเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงมีอยู่เสมอ แต่อาจจะไม่เห็นทันตาในชั่วข้ามคืน เรายังต้องสู้กันอีกยาว เพราะเรื่องการเมืองเป็นเกมระยะยาว แต่ถ้าถามว่าอยากเห็นประเทศดีขึ้นไหม แน่นอนว่าอยากเห็น แต่เราก็ต้องอดทนรอเท่าที่ทำได้”

“อยากได้คนที่มีความรู้ทางการแพทย์มาเป็น รมต.สาธารณสุข” – ความหวังของพยาบาลต่อการเลือกตั้ง

“เราทำงานตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการในโรงพยาบาลรัฐ หน้าที่หลักคือเข้าเวรในห้องผ่าตัด และด้วยเป็นโรงพยาบาลใหญ่ ทำให้ต้องรับคนไข้จำนวนมาก คือรับทุกเคส ทำงานทั้งคืน งานเยอะแต่ค่าตอบแทนน้อย ถึงจะได้ค่าทำงานนอกเวลาแต่ก็ยังถือว่าค่าตอบแทนไม่ซัพพอร์ตคนทำงานอย่างเหมาะสม เงินค่าทำงานนอกเวลาของพยาบาลเป็นค่าคงที่มาตั้งหลายสิบปีแล้ว เพิ่งมาปรับขึ้นเมื่อปีที่แล้ว (2565) แต่ถึงอย่างนั้น ค่าครองชีพก็ยังสูงขึ้นเรื่อยๆ เราต้องทำงานหนักมาก” 

“ถ้าย้อนไปช่วงโควิดที่ผ่านมา เราเจอเรื่องอุปกรณ์ไม่เพียงพอ ทั้งแมสก์ ชุด PPE ชุดตรวจ ATK หมอพยาบาลต้องหาซื้อเอง คือเขาอยากให้คนทำงาน แต่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันให้ ส่วนเรื่องเงินสนับสนุนพิเศษสำหรับตอนดูแลผู้ป่วยโควิด มีให้ก็จริงอยู่ แต่ตอนนี้หลายคนยังไม่ได้เงินเลย นานมากกว่าจะได้เงิน บางคนรอเป็นครึ่งปี”

“ตัวเราก็ต้องเข้าไปช่วยที่ห้องไอซียู ดูแลผู้ป่วยโควิด ถามว่าได้เงินพิเศษแล้วคุ้มไหมสำหรับทำงานนี้ ไม่คุ้มนะ เพราะตอนนั้นเป็นช่วงที่โควิดหนักมากๆ แล้วคนทำงานไม่ได้วัคซีนที่มีคุณภาพ มีอะไรให้ฉีดก็ฉีดไปก่อน แต่คุณไม่ได้เอาวัคซีนที่ทั่วโลกยอมรับมาให้ ตอนหลังค่อยเอาวัคซีนคุณภาพมาให้ช่วงที่เหตุการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว เราเลยรู้สึกว่าเขาทำงานล่าช้า ไม่ซัพพอร์ตคนทำงาน ทั้งเรื่องอุปกรณ์และวัคซีน คนทำงานต้องดูแลตัวเอง

“แต่พูดไม่ได้นะ ใครโพสต์บ่นลงโซเชียลฯ จะโดนผู้ใหญ่บอกว่าให้ลบโพสต์ หรือถ้าจะโพสต์ขอรับบริจาคก็ไม่ได้ เพราะจะดูเหมือนว่ากระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนให้โรงพยาบาลไม่พอ ซึ่งก็ไม่พอจริงๆ ไงถึงต้องประกาศขอรับบริจาค จริงๆ ผู้บริหารโรงพยาบาลเขาก็ไม่ได้เห็นด้วยกับกระทรวงฯ ทั้งหมดนะ แต่พอเราทำงานใต้อำนาจคน เราอาจไม่เห็นด้วยก็จริง แต่เราก็ต้องทำตาม เขาให้ทำอะไรก็ต้องทำ” 

“ต่อมามีนโยบายปลดล็อกกัญชาออกจากสารเสพติด คนทำงานหลายคนก็ไม่เห็นด้วย คือมันอาจจะมีประโยชน์ แต่ในภาพรวมแล้วเหมือนจะมีโทษมากกว่า กลายเป็นเพิ่มภาระงานให้กระทรวงสาธารณสุขมาก เพื่อนบางคนทำงานที่โรงพยาบาลจิตเวชก็เล่าให้ฟังว่ามีคนไข้แอดมิดเพิ่มขึ้นจากการใช้สารเสพติด พอตรวจแล้วก็เจอว่าเป็นกัญชา หมอทุกคนก็บ่น”

“เราเข้าใจว่าทุกวันนี้อาจจะลดงานไม่ได้หรอก เพราะคนป่วยเยอะ แต่ในเมื่อลดภาระงานไม่ได้ คุณก็ต้องซัพพอร์ตคนทำงานในด้านอื่นๆ เช่น อุปกรณ์การแพทย์ เงิน ขวัญกำลังใจ ฯลฯ หรือถ้าอยากแก้ที่ต้นเหตุ ไม่อยากให้คนป่วยเยอะ ก็ต้องให้ความรู้ประชาชนในการดูแลตัวเอง หรือมีสวัสดิการฉีดวัคซีนสำหรับป้องกันโรคต่างๆ ยังไม่นับว่าเรามีปัญหาเรื่องฝุ่น คุณภาพน้ำดื่ม หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้คนมีสุขภาพดี ซึ่งเราก็ต้องไปแก้ที่ต้นเหตุด้วย โยงกันทุกเรื่อง”

“ในฐานะพยาบาลคนหนึ่ง สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ เราก็อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง อยากให้คนที่มีความรู้ทางการแพทย์มาบริหาร ไม่ใช่แค่กระทรวงสาธารณสุขหรอก ทุกกระทรวงนั่นแหละ อยากได้คนที่มีความรู้ความสามารถตรงด้านไปบริหาร ไม่ใช่เอาใครขึ้นมาก็ได้ ประเทศเราอยู่นิ่งมาสักพักแล้ว ไม่ไปข้างหน้าเลย พูดตรงๆ ว่าเราไม่ชอบรัฐบาลที่ทหารมาบริหาร สิ่งที่ควรซื้อไม่ซื้อ เช่นอุปกรณ์การแพทย์ แต่ดันไปซื้อเรือดำน้ำ ใช้งบประมาณไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่เรียงลำดับความสำคัญ เป็นการใช้อำนาจในทางที่ผิด”

“ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีการโกงเลือกตั้งเหมือนครั้งก่อนๆ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมเรามาก ถ้าได้รัฐบาลชุดอื่นมาบริหาร ประเทศน่าจะก้าวหน้าได้มากกว่านี้”

“เราต้องไล่ประยุทธ์ออกไปให้ได้จากการเลือกตั้งครั้งนี้” – ภาพฝันอนาคตไทยในมุมมองข้าราชการรุ่นใหม่

“ปัญหาอย่างแรกที่ต้องเจอจากรัฐบาลชุดปัจจุบันที่อยู่มา 8 ปี คือการทำงานไม่ตรงตามพันธกิจของหน่วยงาน และกระบวนการสื่อสารภายในองค์กรผ่านหนังสือราชการที่มีความแข็งทื่อตายตัว ยิ่งเป็นรัฐบาลลักษณะปัจจุบันที่ไม่ได้มีความชอบธรรมนัก ทำให้แต่ละหน่วยงานไม่กล้าทำอะไรมาก พยายาม play safe ทำเฉพาะที่ตัวเองถูกเขียนอำนาจให้ทำ และบางครั้งก็ไม่ได้ทำ คือปล่อยเกียร์ว่างไปเลย เพราะกลัวว่าถ้าทำอะไรผิดไปอาจจะโดนเล่นงานในด้านต่างๆ ได้เสมอ เลยเหมือนหน่วยงานราชการไม่ฟังก์ชัน เหมือนไม่ได้ดำรงอยู่ ไม่ได้ทำอะไรเลย”

“ด้วยความที่ระบบของราชการไทยค่อนข้างมีความอำนาจนิยม ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ว่านายกฯ เป็นคนอย่างไร ผู้ใหญ่ที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับเขา อำนาจนิยมก็ส่งต่อเป็นทอดๆ และในแต่ละหน่วยงาน คนที่จะเป็นข้าราชการได้ไม่ใช่คนธรรมดานะ ถ้าคุณอยากอยู่ยาวและเติบโตก็ควรจะมีที่มาที่ไป พูดง่ายๆ คือต้องมีนามสกุลเป็นที่รู้จัก ระบบอำนาจนิยมหรือโซตัสจึงเป็นปัญหาทำให้ไม่มีการเจริญเติบโตทางสายงานตามความสามารถที่แท้จริง”

“นอกจากนี้ที่ผ่านมายังมีการขอความร่วมมือข้าราชการให้ทำเรื่องต่างๆ เช่น ให้ลงพื้นที่ไปเป็นจิตอาสา ใส่ผ้าพันคอสีเหลือง หมวกสีฟ้า แต่ละหน่วยงานจะเวียนกันหรือมีการสุ่มผู้โชคดี แต่พอไปทำก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกลับมา”

“ครั้งหนึ่งเป็นช่วงที่มีการประท้วงเยอะๆ ก็มีการขอความร่วมมือข้าราชการให้ไปแสดงตัว จนมีช่วงที่เกือบจะไปปะทะกับผู้ชุมนุม ล่าสุดมีการขอความร่วมมือให้ใส่ผ้าไทยสองวันต่อสัปดาห์ ถ้าใครสนใจเขาจะสั่งตัดชุดให้ และแน่นอนว่าในทุกกิจกรรมไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ต้องใช้งบประมาณของส่วนกลาง”

“งบประมาณเป็นเรื่องของการเมืองและเป็นเหตุผลในการทำทุกเรื่อง ชัดเจนว่าประเทศเรามีงบประมาณจำกัด เรารายได้น้อยและต้องไปกู้เพิ่มด้วย ซึ่งจะเป็นภาระทางการคลัง ความจริงแล้วงบของประเทศเราก็พอมี เพียงแต่ว่าถ้าเราจะเอางบที่มีมาใช้ก็จะมีคนเสียผลประโยชน์ และคนเหล่านี้มีเสียงค่อนข้างดังในสังคม และเขาก็คงไม่ยอมเสียผลประโยชน์ของเขาไป”

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าในประเทศเราเงินก็คืออำนาจ ถ้าเขาได้เงินเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็คืออำนาจที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น นโยบายปลดล็อกท้องถิ่น กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เราพูดประเด็นนี้กันได้เรื่อยๆ แต่ในความเป็นจริงถ้าเงินไม่ไปหรือโครงสร้างรายได้ไม่เปลี่ยนแปลง ท้องถิ่นก็ไม่มีวันได้อำนาจจริงๆ ถ้าเราติดตามเรื่องการอภิปรายในสภาก็มีความพยายามแก้ไขกระบวนการจัดสรรงบประมาณอยู่ตลอด เพราะต้องให้รัฐสภาลงมติก่อนจะได้ผ่านเป็นกฎหมาย แต่เราจะเห็นความไม่สมเหตุสมผลในการทำงานของรัฐสภาอยู่เสมอ”

“ข้อจำกัดหลักของนโยบายในปัจจุบันคือการดำเนินการโดยอิงกับโครงสร้างงบประมาณของปีก่อนหน้า หมายความว่าเราต้องดูว่าปีก่อนหน้ามีรายการอะไร และแต่ละรายการนั้นมีวงเงินเท่าไหร่ วิธีหนึ่งที่มีคนเสนอคือการออกแบบนโยบายงบประมาณในแต่ละปีให้เริ่มใหม่ตั้งแต่ต้นและพิจารณาตามความจำเป็น แปลว่าหน่วยงานที่ได้งบประมาณเยอะมาตลอดไม่ได้หมายความว่าจะต้องได้เยอะตลอดไปถ้าไม่จำเป็น ซึ่งถ้าทำได้จริงคงแก้ปัญหาได้หลายเรื่อง”

“ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศไทยถ้าพิจารณาในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง สัดส่วนผลประโยชน์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยไปลงที่กลุ่มนายทุนมากกว่ากลุ่มลูกจ้างมาโดยตลอด ผลประโยชน์ของแรงงานเรียกได้ว่าคงที่ ไม่เพิ่มขึ้นเลย หรือแม้กระทั่งวิกฤตเงินเฟ้อทำให้มูลค่าที่แท้จริงเมื่อหักด้วยเงินเฟ้อลดลงไปอีก เป็นปัจจัยที่ยิ่งไปลดทอนผลประโยชน์ที่กลุ่มแรงงานควรจะได้รับ”

“ถ้าให้มองอนาคต เราคาดหวังความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอีก 50 ปี ส่วนตัวเรามองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นแค่ฉากหนึ่ง เพราะกลไกเดิมที่มีอยู่คือของ ส.ว. ยังคงอยู่ ทำให้แต่ละคนไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองของตัวเองได้อย่างเต็มที่ แต่เราเชื่อว่าทุกคนมีบทเรียนจากรอบก่อน เพราะฉะนั้นเราต้องไล่ประยุทธ์ออกไปให้ได้จากการเลือกตั้งครั้งนี้”

“ตอนนี้มีปัจจัยเชิงสถาบันที่ทำให้เราไม่สามารถไว้วางใจต่อสถาบันหลักของสังคมได้เลย อีกอย่างที่เราเป็นกังวลคือบางทีคนเราอาจจะความจำสั้น จะเห็นว่าตอนนี้นักการเมืองบางพรรคหาเสียงแบบขายฝันราวกับ 8 ปีที่ผ่านมาไม่เคยเกิดอะไรขึ้น เป็นการชุบตัวที่น่าเกลียดเกินไป อยากให้ทุกคนพิจารณาดีๆ ว่าเขาเคยทำในสิ่งที่พูดสักครั้งไหม”

“เราน่าจะคิดตรงกันว่ารัฐบาลที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้จริงต้องเป็นรัฐบาลที่จริงใจกับประชาชน อาจจะฟังดูซ้ำซากจำเจแต่เราต้องการรัฐบาลแบบนี้จริงๆ ชัดเจนว่าเราต้องการรัฐบาลที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องออกไปตะโกนหรือต่อสู้จนสูญเสียความเป็นมนุษย์ ถ้ามองไปในอดีต อย่างเรื่องวัคซีนช่วงโควิด-19 ที่เราได้มาก็ล้วนเกิดจาการเรียกร้องของประชาชน เพราะคนที่อยู่บนหอคอยงานช้างจะมองเห็นความลำบากของประชาชนได้น้อยที่สุด”

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save