ในบางสังคม บางชนเผ่า กว่าที่เด็กคนหนึ่งจะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ใหญ่ ต้องผ่านการพิสูจน์ตัวเองหลายต่อหลายอย่าง และหนึ่งในบททดสอบยอดฮิต ก็คือการรับมือกับ ‘ความเจ็บปวด’
เราจะพาคุณไปสำรวจพิธีกรรมสำหรับวัยเปลี่ยนผ่านหรือ Coming of age ที่ได้ชื่อว่า ‘โหด’ ที่สุด
แล้วคุณจะรู้ว่าการเป็นผู้ใหญ่สำหรับบางคนนั้น หนักหนาสาหัสถึงขั้นที่ต้องเอาชีวิตเข้าเสี่ยง จนคุณอดคิดไม่ได้ว่า กว่าจะเป็นผู้ใหญ่ได้นี่มันต้องทำกันถึงขนาดนี้เชียวหรือ?
1. ชนเผ่า Sateré-Mawé : ทดลองความแกร่งด้วย ‘ถุงมือมดกระสุน’

ในบราซิล เด็กหนุ่มชนเผ่า Sateré-Mawé ที่มีอายุครบ 13 ปี ต้องผ่านพิธีกรรมที่เรียกว่า Bullet and Ant Initiation โดยการใส่ถุงมือที่เต็มไปด้วยมดกระสุน (Bullet Ant) เป็นบททดสอบความแข็งแกร่งของกายและใจ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นนักรบแบบเต็มตัว
พิธีกรรมนี้เริ่มต้นด้วยการให้เด็กหนุ่มผู้มีอายุถึงเกณฑ์ ตามหัวหน้าชนเผ่าเข้าไปในป่าเพื่อรวบรวม ‘มดกระสุน’ มาให้ได้มากที่สุด จากนั้นก็นำพวกมันมาวางยาให้สลบไปชั่วคราว แล้วเอาไปยึดติดกับถุงมือที่ทำจากใบไม้ โดยฝังเหล็กในให้ทะลุเข้าด้านในของถุงมือ จากนั้นก็รอให้ฟื้นจากฤทธิ์ยา ซึ่งพวกมันจะก้าวร้าวและดุร้ายเป็นพิเศษ ก่อนจะให้เด็กหนุ่มใส่ถุงมือนั้นค้างไว้ประมาณ 10 นาที โดยมีกฎว่าห้ามร้องไห้และห้ามเอามือออกจากถุงเป็นอันขาด
แต่เท่านั้นยังไม่โหดพอ เพราะพิธีกรรมที่ว่านี้กินเวลาเป็นเดือน และเด็กหนุ่มต้องใส่ถุงมือที่ว่านี้ราวๆ 20 ครั้ง จึงจะถือว่าผ่านการทดสอบโดยสมบูรณ์
ทั้งนี้ พิษจากเหล็กในอาจทำให้มือของเด็กเป็นอัมพาตชั่วคราว จับไข้กะทันหัน หรือมีอาการตัวสั่นแบบควบคุมไม่ได้ แต่ไม่ร้ายแรงถึงชีวิต
เห็นอย่างนี้แล้ว ประโยคที่ชอบเราพูดกันว่า ‘เจ็บเหมือนมดกัด’ คงใช้ไม่ได้กับน้องๆ ของชนเผ่านี้อย่างแน่นอน
2. หนุ่มสาวชาวเอสกิโม : สู่ความหนาวเหน็บและดิบเถื่อน

บนเกาะบัฟฟินแถบขั้วโลกเหนือ หนุ่มสาวชาวเอสกิโม หรืออินูอิต (Inuit) ที่มีอายุครบ 11 ปี ต้องออกไปเผชิญชีวิตกลางป่าอันหนาวเหน็บ เพื่อเรียนรู้วิธีการล่าสัตว์และเอาตัวรอดท่ามกลางภูมิอากาศอันเลวร้าย นับเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กที่ยังไม่มีภาระ สู่วัยผู้ใหญ่ที่สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้
เนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศที่ปกคลุมด้วยหิมะและมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี แหล่งอาหารสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนในแถบนี้ก็คือสัตว์ทุกชนิดที่หาได้ ไล่ตั้งแต่ กวางเรนเดียร์ หมีขาว วอลรัส แมวน้ำ ไปจนถึงวาฬ ฉะนั้นการล่าสัตว์จึงเป็นทักษะสำคัญที่ชายหนุ่มชาวเอสกิโมทุกคนต้องเรียนรู้และฝึกฝนจนชำนาญ
เมื่อถึงเวลาอันควร พ่อจะพาลูกชายออกตระเวนล่าสัตว์ที่หากินอยู่ตามหลืบเขาและพงไพรในดินแดนอาร์คติกอันหนาวเหน็บ นอกจากการล่าเพื่อเอามาประกอบอาหารแล้ว พวกเขายังต้องเรียนรู้วิธีการสื่อสารกับสัตว์เหล่านี้ด้วย โดยในขั้นตอนหนึ่งของพิธี จะมี ‘หมอผี’ ที่เข้ามาช่วยเปิดกำแพงการสื่อสารระหว่างคนและสัตว์
ปัจจุบันประเพณีนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเด็กผู้ชายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเด็กสาววัยแรกรุ่นด้วย ผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า ‘Outcamps’ ที่คล้ายๆ การไปออกค่ายกลางป่า โดยมีผู้ใหญ่คอยบ่มเพาะทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
3. พีธี ‘เอนกิปาตะ – เอมูราตาเร่’ ของชนเผ่ามาไซ

ชนเผ่ามาไซได้ชื่อว่าเป็นชนเผ่าที่มีพิธีกรรมแปลกๆ หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือพิธีที่ทำขึ้นสำหรับเด็กหนุ่มโดยเฉพาะ เพื่อเป็นหมุดหมายแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่วัยผู้ใหญ่ พ่วงด้วยการเป็นนักรบประจำเผ่า
เริ่มจากพิธีก่อนสุหนัด หรือที่เรียกว่า เอนกิปาตะ (Enkipaata) ซึ่งเด็กผู้ชายกลุ่มอายุ 14 – 16 ปี จะต้องเดินทางท่องดินแดนของเผ่าตนเพื่อแนะนำตัวเองเป็นเวลา 4 เดือน หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่พิธีสุหนัต หรือที่เรียกว่า เอมูราตาเร่ (Emuratare) เป็นพิธีที่ทั้งหญิงและชายชาวมาไซต้องผ่าน เพื่อจะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ใหญ่
สำหรับผู้ชาย พิธีนี้จะเป็นขั้นตอนแรกของการเข้าสู่วิถีแห่งนักรบ โดยในคืนก่อนที่จะเริ่มพิธี เด็กหนุ่มทั้งหลายต้องเข้าไปนอนค้างในป่า จนกระทั่งฟ้าสางจึงกลับมายังหมู่บ้านเพื่อร่วมกันร้องรำทำเพลง จากนั้นก็ดื่มน้ำร่วมสาบานที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ นม และเลือดวัว
เมื่อเสร็จสิ้นการฉลองจึงเข้าสู่ขั้นตอนสำคัญ ก็คือการทำสุหนัตหรือขริบปลายองคชาต อันเป็นเครื่องหมายแห่งการเติบใหญ่อย่างสมบูรณ์ โดยหลังจากนี้พวกเขาจะต้องเข้ารับการอบรมฝึกฝนทักษะการเป็นนักรบอีก 8-12 ปี ก่อนที่จะได้เลื่อนขั้นเป็นนักรบรุ่นใหญ่ของชนเผ่าต่อไป
นอกจากนี้ยังมีตำนานที่เล่ากันว่า สมัยก่อนชาวมาไซจะทดสอบความเป็นผู้ใหญ่ของเด็กหนุ่ม ด้วยการปล่อยให้ออกไปล่าสิงโตเพียงลำพัง และสยบมันให้ได้ด้วยปลายหอก
4. การกระโดดหอคอย ของชาววานูอาตู

ว่ากันว่า นี่คือต้นแบบของการดิ่งพสุธาหรือกีฬาบันจี้จัมพ์ที่เราเห็นกันในทุกวันนี้
การกระโดดจากหอคอยสูง หรือที่เรียกว่า นากอล (Naghol) ถือเป็นพิธีกรรมเก่าแก่ของชาววานูอาตูที่จะจัดขึ้นในทุกฤดูใบไม้ผลิ โดยหอคอยที่ว่านี้ ประกอบขึ้นจากไม้เนื้อแข็งและเถาวัลย์ ต่อกันเป็นชั้นๆ จนได้ความสูงประมาณ 25 เมตร ใช้เถาวัลย์ที่มีความยาวเท่ากับระนาบพื้นดิน ผูกรั้งกับข้อเท้าทั้งสองข้างของผู้กระโดด ส่วนพื้นด้านล่างก็คือลานดินที่ลาดไปตามไหล่เขา
เมื่ออายุได้ประมาณ 6-7 ขวบ เด็กหนุ่มบนเกาะเล็กๆ แห่งนี้ จะได้รับอนุญาตให้สัมผัสกับพิธีกรรมอันน่าหวาดเสียวนี้เป็นครั้งแรก ร่วมกับชายคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน เริ่มจากระดับความสูงประมาณ 6 เมตร โดยแม่ของเด็กจะถือเครื่องรางไว้ในมือ แล้วรอจนกระทั่งลูกของตัวเองดิ่งหอคอยลงมาได้อย่างปลอดภัย จากนั้นจึงโยนเครื่องรางทิ้งไป เป็นเครื่องหมายว่าเด็กคนนี้ได้เปลี่ยนผ่านสู่วัยผู้ใหญ่อย่างเป็นทางการ
นอกจากมีไว้เพื่อพิสูจน์ความเป็นชาย พิธีกรรมนี้ยังเป็นการทำนายความอุดมสมบูรณ์ของพืชผลในปีนั้นๆ ด้วย ถ้าคนที่กระโดดลงมาสามารถเอาศีรษะและช่วงไหล่สัมผัสพื้นดินได้พอดี หมายความว่าปีนั้นพืชผลจะงาม
แต่ถ้าเกิดเถาวัลย์สั้นหรือยาวเกินไป นอกจากแปลว่าพืชผลจะไม่งามแล้ว คนที่กระโดดลงมาก็อาจได้รับบาดเจ็บถึงขั้นกระดูกหักหรือเสียชีวิตได้เลย
5. พิธี ‘Cow Jumping’ ของชนเผ่าฮามาร์

ชนเผ่าฮามาร์ ในเอธิโอเปีย เป็นอีกชนเผ่าที่มีพิธีกรรมส่งท้ายวัยเด็กที่โหดไม่แพ้ใคร พิธีที่ว่านี้ก็คือการกระโดดข้ามวัว
อาจฟังดูเหมือนไม่ยาก แต่จริงๆ แล้วยากกว่าที่คิด เพราะเจ้าวัวที่ว่านี้ไม่ได้มีแค่ตัวเดียว แต่คือวัวสามสี่ตัวที่ยืนเรียงกันเป็นตับ ก่อนจะถูกชโลมผิวหนังด้วยมูลสัตว์เพื่อเพิ่มความลื่น สิ่งที่เด็กหนุ่มชาวฮามาร์ต้องทำ ก็คือการกระโดดข้ามวัวทั้งแผงให้สำเร็จภายใต้สภาพเปลือยเปล่าและใช้เพียงสองเท้าเท่านั้น ให้อารมณ์คล้ายๆ พระเอกหนังแอคชั่นที่ตะกายไปบนบ่าของบรรดาลูกสมุนไม่มีผิดเพี้ยน
แต่ใช่ว่ากระโดดผ่านรอบเดียวแล้วจะเป็นอันเสร็จพิธี เพราะพวกเขาต้องกระโดดแบบนี้ให้ได้ 4 ครั้งติดต่อกัน จึงถือเป็นอันเสร็จสิ้น
นัยยะที่ซ่อนอยู่ใต้พิธีกรรมนี้ก็คือการละทิ้งวัยเด็กอันสดใสไว้เบื้องหลัง และพร้อมจะเผชิญกับชีวิตเบื้องหน้าที่เต็มไปด้วยอุปสรรค เด็กหนุ่มที่ผ่านพิธีกรรมนี้ไปได้ ก็จะถือว่าได้รับการเปลี่ยนผ่านเป็นผู้ใหญ่แบบเต็มตัว สามารถมีครอบครัวและสืบลูกสืบหลานต่อไปได้โดยไม่ขัดข้อง ส่วนคนที่ไม่ผ่าน ก็ต้องทำใหม่จนกว่าจะผ่าน เรียกว่าเป็นงานที่สร้างความบอบช้ำให้ทั้งคนทั้งวัวเลยทีเดียว
6. การดวลแส้ ของชนเผ่าฟูล่า

ชนเผ่าฟูล่า (Fula) ที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกของแอฟริกา อาจมีวิธีการวัดความเป็นชายที่เจ็บแสบที่สุดในโลกก็ว่าได้
เด็กชายที่มีอายุประมาณ 10-12 ปี ต้องเข้าพิธีดวลแส้กับเด็กชายจากต่างหมู่บ้าน กติกาก็ง่ายๆ คือแต่ละคนจะได้หวดแส้ใส่คู่ต่อสู้แบบเต็มแรงคนละ 3 ครั้ง โดยคนที่โดนหวด ต้องพยายามเก็บอาการให้ได้มากที่สุด ส่วนคนที่ฟาด ก็ต้องฟาดให้แรงที่สุด ฝ่ายไหนเก็บอาการได้ดีกว่าถือว่าชนะ และจะได้รับการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นผู้ใหญ่อย่างเป็นการ ส่วนคนที่แพ้ก็ต้องกลับบ้านไปฝึกฝนมาใหม่
ในสารคดีของ National Geographic ที่ลงไปถ่ายทำพิธีกรรมนี้ เผยให้เห็นแผลเหวอะหวะบนแผ่นหลังของเด็กชายซึ่งเป็นฝ่ายชนะ เด็กคนนั้นมีสีหน้าเรียบเฉยและเอ่ยประมาณว่า “มันโคตรเจ็บเลยคุณรู้ไหม แต่ผมก็ภูมิใจและมีความสุขที่เป็นฝ่ายชนะ”
ขณะเดียวกัน เด็กสาวชาวฟูล่าก็ต้องผ่านพิธีกรรมอันเจ็บแสบไม่แพ้พวกผู้ชาย โดยพวกเธอต้องอดทนกับความเจ็บปวดจากการสักสัญลักษณ์ประจำเผ่าลงบนใบหน้า ซึ่งใช้เวลาราวๆ สองชั่วโมง แน่นอนว่าพวกเธอต้องไม่แสดงความเจ็บปวดใดๆ ออกมาจนกว่าการสักจะเสร็จสมบูรณ์
7. ‘ทริปลบความจำ’ ของชนเผ่าอัลกอนควิน

หนึ่งในวิธีการเปลี่ยนเด็กน้อยให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ใครหลายคนคงคิดไม่ถึง ก็คือการลบความทรงจำในวัยเด็กทิ้งเสีย
อาจดูโหดร้ายและเย็นชา แต่มันคือพิธีกรรมที่เด็กหนุ่มชนเผ่าอัลกอนควิน ในอินเดีย ยังต้องเผชิญอยู่จนถึงปัจจุบัน
พิธีกรรมนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘Algonquin Drug Trip’ โดยเด็กหนุ่มที่มีอายุถึงเกณฑ์ จะถูกพาออกไปนอกเมืองเสมือนการไปทัศนศึกษา ทว่าก่อนจะได้กลับเข้ามา พวกเขาจะถูกจับขังไว้ในกรงขนาดใหญ่เป็นเวลา 20 วัน และถูกบังคับให้กินยาที่มีชื่อว่า ไวซอแคน (Wysoccan) ที่มีฤทธิ์หลอนประสาทเหมือน LSD แต่แรงกว่าประมาณ 100 เท่า
ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เด็กเหล่านี้จะลืมครอบครัวของตัวเอง ลืมวิธีการพูดหรือการสื่อสารบางอย่างที่เคยทำได้ และถ้าหนักหน่อยก็อาจจำไม่ได้แม้กระทั่งชื่อตัวเอง ส่วนเด็กคนไหนที่กลับมาแล้วยังจำพ่อแม่พี่น้องของตัวเองได้ ก็จะโดนส่งไปทัศนศึกษาอีกรอบ รับรองว่ากลับมาคราวนี้จำไม่ได้แน่ๆ
จุดประสงค์ของพิธีกรรมนี้ก็เพื่อทำให้พวกเขาลืมทุกสิ่งทุกอย่างในวัยเด็ก และสามารถโฟกัสกับการเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างเต็มที่นั่นเอง
8. ‘Helot Killing’ ของชาวสปาร์ตัน

ในสมัยกรีกโบราณ ชาวสปาร์ตันคือกลุ่มคนที่ขึ้นชื่อเรื่องความแข็งแกร่ง ดุดัน และเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณนักสู้ ทั้งนี้ก็เพราะพวกเขาถูกปลูกฝังและเคี่ยวกรำมาตั้งแต่เด็กๆ
เมื่ออายุได้ 7 ขวบ เด็กชายชาวสปาร์ตันจะถูกส่งเข้าไปอยู่ในศูนย์ฝึกนักรบ หรือที่เรียกว่า คริพเทีย (Krypteia) ในสถานที่แห่งนี้ พวกเขาจะได้ฝึกฝนวิชาทหาร ควบคู่ไปกับการปลูกฝังความจงรักภักดี และจะได้เรียนรู้กลวิธีการต่อสู้ การเอาตัวรอด และการทดสอบความอดทนต่างๆ นานา ต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี
จนกระทั่งอายุย่างเข้า 18 ปี ก่อนจบหลักสูตรการเป็นนักรบ พวกเขาจะต้องพบบททดสอบที่จะชี้เป็นชี้ตายว่าจะเปลี่ยนผ่านจาก ‘a boy’ เป็น ‘a man’ ได้หรือไม่ ผ่านขั้นตอนที่เรียกว่า Helot Killing
พวกเขาจะถูกพาไปทิ้งไว้กลางชนบทโดยมีมีดพกแค่เพียงเล่มเดียว และจะต้องหาทางกลับมายังศูนย์ฝึกให้ได้อย่างปลอดภัย โดยระหว่างทางพวกเขาจะต้องฆ่าเฮล็อต (ทาสที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ) ทุกคนที่พบเจอด้วย อันเป็นแผนของรัฐอีกชั้นหนึ่งซึ่งต้องการปรามพวกทาสไม่ให้คิดก่อการกบฏ
หากพวกเขาทำได้สำเร็จ ก็ถือว่าผ่านหลักสูตร และจะได้รับการเลื่อนขั้นเป็นนับรบอย่างเป็นการ ขณะเดียวกันก็จะได้รับอนุญาตให้แต่งงานและสร้างครอบครัวได้
น่าเสียดายที่ชายหนุ่มจำนวนไม่น้อยต้องตายระหว่างการต่อสู้ แต่ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรสำหรับชาวสปาร์ตัน เพราะที่นั่นไม่เคยมีที่ว่างหรือความเห็นใจให้กับคนที่อ่อนแออยู่แล้ว
แม้หลายพิธีกรรมจะดูโหดร้ายและไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ และหลายพิธีกรรมก็สาบสูญไปแล้วในปัจจุบัน แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านั้นเคยเกิดขึ้นจริง และมรดกตกทอดของการใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือหรือข้ออ้างให้การสร้างคน ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอๆ ภายใต้รูปแบบที่ต่างออกไป
แถมบางครั้งยัง ‘โหดร้าย’ ไม่ต่างจากพิธีกรรมโบร่ำโบราณที่ยกมาให้อ่านกันเลย
อ่านเพิ่มเติม
-บทความเรื่อง ’25 Crazy rite of passage’ ของ Brian Pegg จาก list25, March 29, 2017