fbpx

75 ปีแห่งอิสรภาพ: ก้าวย่างสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วของอินเดีย

“การบริการของอินเดีย หมายถึงการรับใช้ประชาชนนับล้านที่ยังตกทุกข์ได้ยาก มันคือการขจัดความยากจน ความเขลา โรคภัย และความไม่เท่าเทียมกันทางโอกาส ความทะเยอทะยานที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ในยุคเราคือการเช็ดทุกคราบน้ำตาของประชาชน ตราบใดที่น้ำตาและความทุกข์ยังมีอยู่ ตราบนั้นงานของพวกเราก็ยังไม่สิ้นสุด”

บัณฑิตชวาหะร์ลาล เนห์รู, นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย

ประโยคดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์สุดอมตะที่ถูกกล่าวในวันที่สำคัญที่สุดของอินเดีย นั่นคือวันที่ 15 สิงหาคม 1947 วันที่อินเดียปลดแอกตัวเองออกจากการปกครองที่กดขี่และอยุติธรรมของอังกฤษที่ยาวนานเกือบ 200 ปี นับตั้งแต่ยุคบริษัทอินเดียตะวันออกสู่ระบอบบริติชราช

ที่เลือกหยิบประโยคนี้ขึ้นมา เพราะนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์ ‘A tryst with destiny’ สุนทรพจน์แรกของบัณฑิตชวาหะร์ลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียในค่ำคืนวันเปลี่ยนผ่านสู่เอกราชแล้ว ข้อความนี้ยังบอกเล่าภาระหน้าที่อันหนักอึ้งและเป้าหมายสูงสุดของรัฐบาลในการพัฒนาอินเดียสู่ความเป็นรัฐทันสมัยในอนาคตอีกด้วย

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยพยายามอยากหนักเพื่อขจัดปัญหาต่างๆ  ทั้งความยากจน การส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษา การพัฒนาสวัสดิการด้านสาธารณสุข ไปจนถึงการส่งเสริมระบบสำรองที่นั่งและกำหนดนโยบายเฉพาะสำหรับกลุ่มคนชายขอบ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นไปเพื่อเช็ดคราบน้ำตาและความทุกข์ยากของคนอินเดียทุกคน

เป็นเวลากว่า 75 ปีเต็มแล้ว นับตั้งแต่อินเดียเริ่มก้าวย่างสู่อิสรภาพและการปกครองตนเอง เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองเดือนแห่งเอกราชของอินเดีย จึงอยากชวนคุณผู้อ่านทุกท่านวิเคราะห์ก้าวย่างบนเส้นทางสู่อนาคตของอินเดีย ผ่านสุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ณ ป้อมแดง เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2022 ที่ผ่านมา

อดีตคือบทเรียนและพื้นฐานของประเทศ

นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอินเดียได้กล่าวสุนทรพจน์ด้วยการเอ่ยชื่อผู้นำและนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพหลากหลายคน ไม่ว่าจะเป็นบัณฑิตชวาหะร์ลาล เนห์รู วัลลัภไบ ปาเตล และภิมราว รามยี อัมเบดการ์ เพื่อย้ำเตือนให้เห็นถึงความสำคัญและคุณูปการของบุคคลเหล่านี้ที่นำพาอินเดียสู่เอกราช เพราะพวกเขาคือผู้ปูทางและวางรากฐานอันมั่นคงให้กับอินเดียสมัยใหม่ ทั้งการออกแบบรัฐธรรมนูญ การผนวกรวมดินแดนต่างๆ ไปจนถึงการจัดระเบียบทางสังคมเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคม ซึ่งแต่ละยุคสมัยนั้น ผู้นำแต่ละคนได้ลองผิดลองถูกและวางรากฐานการพัฒนาไว้มากมายเพื่อส่งต่อให้คนยุคหลัง

ในยุคสมัยของเนห์รู อินเดียได้เรียนรู้บทเรียนมากมายจากช่วงตั้งไข่ ทั้งการบริหารเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาอย่างหนัก จนเกิดสภาพทุกข์ยากในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ไปจนถึงความคิดแบบอุดมคตินิยมที่ครอบครองนโยบายต่างประเทศและการทหารของอินเดีย ซึ่งนำพาอินเดียสู่การสูญเสียดินแดนแคชเมียร์และความเสียหายอย่างหนักในสงครามอินเดีย-จีนปี 1962 บทเรียนเหล่านี้นำมาซึ่งการปฏิรูปนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของอินเดียในเวลาต่อมา แต่ยุคสมัยนี้ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการวางระบบสวัสดิการต่างๆ เพื่อคุ้มครองคนชายขอบ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบสำรองที่หนังให้กลุ่มคนวรรณะล่างและชนพื้นเมืองซึ่งถูกกดทับมาโดยตลอด และขาดโอกาสในการเข้าถึงนโยบายของรัฐ

ในขณะที่ยุคสมัยของอินทิรา คานธี ถือเป็นช่วงสำคัญที่เป็นบทเรียนชิ้นใหญ่สำหรับอินเดีย เพราะมีการประกาศสภาวะฉุกเฉิน งดการเลือกตั้ง รวมไปถึงการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนอินเดีย สั่นคลอนอุดมการณ์ประชาธิปไตยของอินเดียอย่างมหาศาล แต่คนอินเดียก็ได้เรียนรู้ว่า หนทางที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยไม่เหมาะสมกับประเทศอย่างยิ่ง ฉะนั้นตลอดหลายปีมานี้คนอินเดียจึงหวงแหนเสรีภาพของตัวเองอย่างมาก

ยุคสมัยของราจีพ คานธี นรสิงห์ ราว พิหารี วาชเปยี และมานโมหัน สิงห์ ถือเป็นอีกช่วงสำคัญที่อินเดียเปลี่ยนผ่านประเทศและเปิดประตูสู่โลกภายนอกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษา วิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีทางการทหาร ซึ่งกลายเป็นเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน

อดีตสำหรับอินเดียจึงเต็มไปด้วยบทเรียนมากมายที่ทำให้คนรุ่นปัจจุบันได้เรียนรู้ทั้งความสำเร็จและความผิดพลาดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยอีกครั้ง ในทำนองเดียวกัน อดีตก็คือรากฐานของประเทศที่นำพาให้อินเดียก้าวเดินมาถึงปัจจุบัน และถือเป็นทรัพยากรทางปัญญาที่สำคัญยิ่งที่จะพัฒนาอินเดียสู่อนาคตของสังคมอันไร้ซึ่งคราบน้ำตาของคนทุกข์ยาก

อินเดียในวันนี้

หากเทียบกับอายุขัยของคน อายุ 75 ปีอาจถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาของไม้ที่ใกล้ฝั่งแล้ว แต่สำหรับความเป็นรัฐ-ชาติสมัยใหม่แล้ว ระยะเวลาเท่านี้อาจไม่ได้มากมายอะไรนัก เพราะหลายประเทศในโลกก็มีอายุเกินหลักร้อยกันไปมากแล้ว ฉะนั้นอินเดียในวัยนี้ เรียกได้ว่ายังอ่อนไวอยู่มากเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ อินเดียในวันนี้ที่ผ่านการพัฒนามาร่วม 7 ทศวรรษจึงมีทั้งสิ่งที่ประสบความสำเร็จ ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีอีกหลากหลายปัญหาที่รอวันแก้ไขอยู่ในอนาคต

หนึ่งเรื่องที่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอินเดียมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดคือ การขยายการพัฒนาเศรษฐกิจไปยังรัฐต่างๆ ทั่วทั้งอินเดีย แนวนโยบายเช่นนี้ส่งผลให้ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของอินเดียไม่ได้กระจุกอยู่เพียงใเมืองหลวง หรือเมืองท่าเดิมในยุคอาณานิคม หลายรัฐของอินเดียประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการลงทุนและผันตัวเองกลายเป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆ ของประเทศ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างห่วงโซ่อุปทานในภาพรวม

เช่นรัฐเตลังคานา ที่วันนี้กำลังเป็นที่จับตามองในฐานะศูนย์กลางผลิตยานยนต์และนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์ของอินเดีย หรือรัฐสิกขิมที่วันนี้กลายเป็นศูนย์กลางทางด้านเกษตรปลอดสารพิษที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เป็นต้น ความสำเร็จเหล่านี้ส่งผลให้อัตราการเคลื่อนย้ายของผู้คนไปหางานในเขตเมืองใหญ่ อย่างมุมไบ นิวเดลี หรือกัลกัตตา มีแนวโน้มค่อยๆ ลดลง

ในมิติทางด้านสังคม อินเดียในวันนี้ได้ลบคำสบประมาทหรือแม้กระทั่งภาพจำหลายอย่างจากภายนอก โดยเฉพาะการที่อินเดียสามารถมีประธานาธิบดีที่มาจากชนชั้นล่างสุดในระบบสังคมวัฒนธรรมแบบฮินดู หรือแม้กระทั่งล่าสุดการขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีหญิงเชื้อสายชาวพื้นเมืองคนแรก ภาพเหล่านี้สะท้อนภาพยอมรับและการสร้างสังคมที่เท่าเทียมกันในหมู่ประชาชนที่มีความหลากหลายอย่างอินเดีย ทั้งที่ในอดีตกลุ่มชาติพันธ์หรือชนชั้นเหล่านี้ในสังคมอินเดียดั้งเดิมนั้นถูกกีดกันออกจากทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม นี่จึงเป็นหนึ่งก้าวสำคัญในระบบสังคมอินเดียในปัจจุบันเช่นเดียวกัน

สำหรับในทางการเมือง ระบบการเมืองอินเดียในวันนี้เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเปิดโอกาสให้คนที่มีความหลากหลายภูมิหลังเข้าสู่อำนาจการปกครองมากยิ่งขึ้น เพราะหากย้อนไปในอดีต ระบบการเมืองของอินเดียนั้นถูกผูกขาดอยู่ในวังวนของระบบตระกูลการเมือง ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ส่งผลให้เกิดการเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องและการทุจริตจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน แต่ในทุกวันนี้ ผู้นำทางการเมืองของอินเดียมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น หนึ่งในตัวอย่างสำคัญก็คือนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ที่เริ่มต้นเส้นทางการเมืองจากคนธรรมดาที่มาจากชนวรรณะล่างเสียด้วยซ้ำ แน่นอนว่าระบบตระกูลการเมืองนั้นไม่ได้หายไปจากการเมืองอินเดียเสียทีเดียว แต่ความเข้มแข็งของมันก็ไม่ได้เป็นดังเช่นในอดีตอีกแล้ว

ฉะนั้นเมื่อพิจารณาทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จึงเห็นได้ว่าอินเดียในวันนี้ไม่ได้หยุดนิ่งและประสบความสำเร็จอย่างมากในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศที่เกาะกินไม่ให้สังคมอินเดียได้เติบโต ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ การแบ่งชั้นวรรณะ หรือการทุจริตและระบบตระกูลการเมืองได้หายไปจากอินเดียแล้ว แต่ที่ต้องการจะสื่อให้เห็นคือปัญหาเหล่านี้เริ่มเบาบางลงมากแล้วเมื่อเทียบกับอดีต และในวันข้างหน้า อินเดียก็คงหวังว่าเรื่องเหล่านี้จะไม่ปรากฏขึ้นมาอีกเลยในสังคมอินเดียเช่นเดียวกัน

ก้าวสู่อินเดียที่พัฒนาแล้ว

“ข้าพเจ้าขอเรียกร้องไปยังเยาวชนทุกคนที่จะมีอายุครบ 50 ปี ในปี 2047 ให้สาบานว่าจะนำพาอินเดียสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ในโอกาสที่อินเดียจะครบรอบ 100 ปีแห่งอิสรภาพ”

นเรนทรา โมดี, นายกรัฐมนตรีอินเดีย

สุนทรพจน์ ณ ป้อมแดง, 15 สิงหาคม 2022

สำหรับถ้อยคำในสุนทรพจน์ดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีโมดี อาจเรียกได้ว่าคือหมุดหมายสำคัญและเป็นความฝันอันยิ่งใหญ่สำหรับอินเดียที่ต้องการก้าวออกจากวังวนแห่งความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ และนำพาชาวอินเดียสู่สังคมกินดีอยู่ดีที่ทัดเทียมกับบรรดาชาติตะวันตกที่ในวันหนึ่งเคยดูถูกและกดขี่พวกเขา แน่นอนว่าการมุ่งหน้าสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วของอินเดียจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต้องทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้อินเดียสามารถผลักดันตัวเองขึ้นมาเป็นแนวหน้าทางเศรษฐกิจของโลกได้ภายในระยะเวลาที่ยังคงเหลืออีก 25 ปีเท่านั้น

ภายหลังจากการประกาศความฝันและเป้าหมายของอินเดียในการเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปีที่ 100 แห่งอิสรภาพออกสู่สาธารณะ สิ่งที่ตามมาก็ย่อมมีทั้งคำชื่นชมและคำวิจารณ์ โดยเฉพาะคำวิจารณ์จากภายนอกอินเดีย หลายฝ่ายมองว่าเป็นเพียงการขายฝันของนายกรัฐมนตรีโมดีเท่านั้น เป้าหมายเหล่านี้ยากที่จะบรรลุยิ่ง เพราะระยะเวลาเพียง 25 ปี นั้นน้อยเกินกว่าที่อินเดียจะสามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเดิมที่มีปัญหาสะสมอยู่มาก ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ

ในทางกลับกัน บทวิเคราะห์บางส่วนก็สะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่อินเดียจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนาแล้วในอีก 25 ปีข้างหน้า เพราะมีตัวแปรและตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายตัวที่ช่วยผลักดันให้เห็นว่าสิ่งที่อินเดียฝันนั้นเป็นจริงได้ ยกตัวอย่างเช่น ตัวเลขทางเศรษฐกิจของอินเดียที่ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ที่สำคัญ ณ วันนี้รัฐบาลอินเดียกำลังให้การสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมทันสมัยรูปแบบต่างๆ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมสีเขียว นวัตกรรมและเทคโนโลยี ตลอดจนอุตสาหกรรมทางการทหาร เป็นต้น ยังไม่นับรวมว่าในเวลาอันใกล้นี้อินเดียจะขึ้นแท่นเบอร์ 1 ที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแซงหน้าจีน ซึ่งประชากรที่มากขึ้นก็คือทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันหากพัฒนาผู้คนเหล่านี้ให้มีศักยภาพที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ ไม่ว่าเป้าหมายสู่การกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วของอินเดียจะสามารถเป็นจริงได้หรือไม่ ในโอกาสฉลอง 100 ปีแห่งอิสรภาพ คงมีเพียงระยะเวลา 25 ปีที่เหลือนี้เท่านั้นที่จะตอบคำถามเราทุกคนได้อย่างชัดเจน แต่ที่แน่ๆ มันไม่ใช่ความผิดอะไรเลยที่อินเดียจะมีความฝันที่ยิ่งใหญ่และต้องการบรรลุเป้าหมายสูงสุดนี้

ต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้ ไม่มีใครคาดคิดว่า อินเดียจะเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และสามารถประสบความสำเร็จในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ หรือก่อนหน้านี้ที่อินเดียเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนักหลังปี 2008 ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าเศรษฐกิจอินเดียในวันนี้จะเติบโตและฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเช่นกัน ฉะนั้นตลอดระยะเวลาแห่งอิสรภาพ 75 ปีที่ผ่านมา อินเดียได้สร้างความประหลาดใจหลายเรื่องให้กับประชาคมโลกเสมอมา สมดั่งสโลแกน ‘Incredible India

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save