7 แนวโน้มเด็กและเยาวชนไทยในวิกฤตเหลื่อมล้ำ โรคระบาดและการเมือง

ปี 2021-2022 เป็นปีที่ท้าทายสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวไทย วิกฤตสามด้าน – ทั้งวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 (COVID-19) วิกฤตความเหลื่อมล้ำและการพัฒนา และวิกฤตสังคมและการเมือง – ยังคงทอดเงาทะมึนยาวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ทาบทับและท้าทายชีวิตของเด็ก เยาวชน และครอบครัวอย่างน่าวิตก

วิกฤตโรคระบาดทำให้เด็กและเยาวชนไทยหายไปจากห้องเรียน โรงเรียน และสนามเด็กเล่น และถูกผลักให้เข้าสู่โลกออนไลน์อย่างไม่ทันตั้งตัว วิกฤตความเหลื่อมล้ำซ้ำเติมให้ทุกปัญหาที่มีเกี่ยวกับเด็กรุนแรงเพิ่มเป็นทวี ในขณะที่วิกฤตการเมืองก็เป็นเหตุให้เยาวชนจำนวนมากลุกขึ้นมายืนตระหง่านในสนามความคิด พร้อมกับข้อเสนอด้านการเมืองที่ท้าทายแหลมคม

‘เด็กสมัยนี้’ เผชิญอะไร ครอบครัวไทยต้องเจอกับความท้าทายแบบไหน และสังคมไทยควรจะตั้งหลักนโยบายเด็ก เยาวชน และครอบอย่างไร ถูกสั่นคลอนจากปัจจัยใดบ้างในโลกที่สั่นไหว

ฉัตร คำแสง วรดร เลิศรัตน์ และเจณิตตา จันทวงษา นักวิจัยจากศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) เปิดเผยรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัวปี 2022 ที่สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่ครอบครัวไทยต้องเผชิญ  ณ งานเสวนาสาธารณะ ‘เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022

YouTube video


3 วิกฤต 7 แนวโน้มสำคัญของเด็ก เยาวชนและครอบครัวไทย

ระหว่างปี 2021-2022 วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่โลกและไทยต้องเผชิญ ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ราว 4.6 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าวเป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 0-19 ปีถึง 800,000 คนโดยประมาณ แม้ส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่พวกเขาก็ได้รับผลกระทบมาตรการควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการสั่งปิดศูนย์เด็กเล็กและสถานศึกษา

สำหรับวิกฤตความเหลื่อมล้ำและการพัฒนา ซึ่งเป็นบาดแผลเรื้อรั้งของสังคมไทยยิ่งรุนแรงมากขึ้น เมื่อเจอโควิด-19 เข้ามาถ่างช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้กว้างยิ่งขึ้น จากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2021 เด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 21 ปี จำนวน 2.9 ล้านคน จากทั้งหมด 14.0 ล้านคน หรือคิดเป็น 20.7 % อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 10 % ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนเพียง 2,577 บาท ในขณะที่เด็กและเยาวชนไทย 4.4 แสนคน หรือ 3.2% อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด 10%  ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อคนถึง 38,699 บาท หรือกว่า 15 เท่าของครัวเรือนที่ยากจนที่สุด นอกจากนี้ หากพิจารณาตามข้อมูลบัญชีการโอนประชาชาติในปี 2019 พบว่า 61.4% ของเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 21 ปีอาศัยอยู่ในครอบครัวที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กโดยเฉลี่ย  ซึ่งอนุมานได้ว่าพวกเขามีเงินสำหรับใช้จ่ายด้านการเรียนรู้ ซื้ออาหารบริโภค ดูแลสุขภาพ และสนับสนุนพัฒนาการด้านอื่น ไม่เพียงพอตามมาตรฐานเฉลี่ยของประเทศ  

ในส่วนวิกฤตสังคมและการเมือง เด็กและเยาวชนตื่นรู้ทางด้านการเมืองและต้องการส่งเสียงเรียกร้องถึงผู้กำหนดนโยบาย พวกเขาจัดชุมนุม 193 ครั้งในปี 2020 มีส่วนร่วมในการชุมนุม 1,838 ครั้งตั้งแต่ปี 2021-พ.ค. 2022 และมีคนถูกดำเนินคดีแล้ว 279 คน

ไม่เพียง 3 วิกฤตที่โหมกระหน่ำชีวิตเด็กและเยาวชน โลกแห่งอนาคตยังอยู่ในสภาวะ VUCA ที่ผันผวน-ซับซ้อน-ไม่แน่นอน-คลุมเครือ ทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม – ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มิติเศรษฐกิจ – วิกฤตหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะ มิติสังคม – ความเป็นปึกแผ่นของสังคมพังทลายลง มิติการเมืองระหว่างประเทศ – ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และมิติเทคโนโลยี – การเข้ามาแทนที่การทำงานของหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ส่งผลให้ชีวิตของเยาวชนแขวนอยู่บนอนาคตที่สั่นไหว

“วิกฤตและความท้าทายที่พูดถึงเป็นทั้งแผลสด และอาจจะเป็นแผลเป็นได้ในอนาคต ถ้าหากไม่ได้รับการบริหารจัดการที่ถูกต้อง” ฉัตรกล่าวและเสริมว่าจากความท้าทายที่เกิดขึ้นนำมาสู่แนวโน้มสำคัญของสถานการณ์เด็ก เยาวชนและครอบครัวในปีที่ผ่านมา 7 ประการ ดังต่อไปนี้

1. เด็กและเยาวชนเผชิญกับภาวะการเรียนรู้ถดถอย พัฒนาการหยุดชะงัก

2. เด็กและครอบครัวเข้าถึงบริการของรัฐได้ยากขึ้น ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด

3. เด็กและเยาวชนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดฐานที่จำเป็น

4. เด็กและเยาวชนเครียดและมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น

5. เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ภาครัฐสกัดกั้นด้วยความรุนแรงมากขึ้น

6. โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ ครอบครัวมีขนาดเล็กและเปราะบางยิ่งขึ้น

7. ความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นรุนแรงขึ้น บั่นทอนความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

สถานการณ์ที่ 1 เด็กในวัยเรียนเผชิญภาวะการเรียนรู้ถดถอยหลังนโยบายการปิดสถานศึกษาในช่วงโควิด                 

ที่ผ่านมารัฐบาลมีคำสั่งปิดสถานศึกษาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด ตั้งแต่ปี 2020-2022 โดยเป็นการปิดสถานศึกษาทุกพื้นที่รวม 16 สัปดาห์และปิดบางพื้นที่รวม 53 สัปดาห์ มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบด้านลบต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กและเยาวชน ทั้ง 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการ – ทักษะอ่าน เขียนและคำนวณ ด้านพัฒนาการ – ทักษะทางร่างกายและความสามารถในการจดจำ รวมถึงด้านอารมณ์และสังคม เด็กมีความเครียดและขาดทักษะการสื่อสาร

เด็กทุกช่วงวัยมีแนวโน้มเรียนช้าลง เด็กปฐมวัย 2-7 ปีพลาดช่วงโอกาสทองในการพัฒนาสมองส่วนหน้า (EF) ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ในระยะยาว สูญเสียความสามารถในการหารายได้ทั้งชีวิต คิดเป็นมูลค่าทั้งชีวิตราว 850,000 บาท รวมไปถึงนักเรียนจำนวนหนึ่งหลุดออกจากระบบและอาจจะกลับมาได้ยาก โดยเฉพาะในครอบครัวเปราะบาง ในปีที่ผ่านมามีเด็กที่หลุดออกจากระบบ 2.3 แสนคน มีเด็กนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้น และในจำนวนเด็กนักเรียนยากจนพิเศษดังกล่าว 14.6% ตัดสินใจไม่กลับมาเรียนต่อ

“การปิดโรงเรียนแม้เป็นเพียงเวลาสั้นๆ ก็สร้างความสูญเสียทางการเรียนรู้มหาศาลให้กับเด็กและเยาวชนไทย หากเกิดโรคระบาดอีกครั้งในอนาคต รัฐบาลควรดำเนินมาตรการนี้อย่างจำกัดที่สุด เฉพาะเมื่อเกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างและรุนแรงเท่านั้น หรืออาจให้อำนาจท้องถิ่นประเมินและพิจารณาปิดโรงเรียนในพื้นที่ด้วยตนเอง แทนการออกคำสั่งปิดทุกพื้นที่โดยรัฐบาล” เจณิตตา กล่าว

สถานการณ์ที่ 2 เด็กและครอบครัวเข้าถึงบริการของรัฐได้ยากขึ้น

โรคระบาดโควิด-19 เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทำให้ผู้กำหนดนโยบายต้องระดมสรรพกำลังในการแก้ปัญหา ดำเนินนโยบายที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพื่อชะลอความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน นั่นส่งผลให้บริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัวถูกลดทอนความสำคัญ จำกัดการเข้าถึง และมีประสิทธิภาพในการบริการที่ต่ำลง

เด็กและครอบครัวเข้ารับบริการสุขภาพได้ยากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยปัจจัยด้านบุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์ที่ขาดแคลน ข้อจำกัดในการเดินทางมาเข้ารับบริการ รวมถึงความกังวลว่าจะติดเชื้อโควิด-19 ของประชาชน จากข้อมูลพบว่าเด็กอายุ 1 ปีในช่วงไตรมาส 4/2019 มีอัตราการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ลดลงจากช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ราว 10.8% ขณะที่เด็กอายุ 7 ปีที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ในอัตราที่ช้าลงในช่วงระลอกที่ 3 ของการแพร่ระบาดในปี 2021 นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์และเด็กในครรภ์ยังเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการฝากครรภ์ครั้งแรกลดลงในไตรมาส 3/2021 และอัตราหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการดูแลสุขภาพก่อนกำหนดคลอดครบตามเกณฑ์จาก 79.5% ในไตรมาส 4/2020 ลดลงเป็น 56.1% ในไตรมาส 3/2021

ไม่เพียงเท่านั้น การปิดบริการสาธารณะอย่างโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งเป็นทั้งสถานศึกษาและแหล่งอาหารกลางวันให้กับเด็กในครัวเรือนเปราะบางในช่วงโควิด-19 ส่งผลให้เด็กเหล่านี้เผชิญภาวะทุพโภชนาการ โดยในปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณเด็กสูงดีสมส่วนในช่วงอายุ 6-14 ปีลดลงราว 5%

“บริการสาธารณะที่ถูกลดทอนประสิทธิภาพและเข้าถึงได้ยากขึ้นนั้นส่งผลให้คุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัวไทยย่ำแย่ลง มาตรการเร่งด่วนที่สุดที่รัฐควรดำเนินการคือ เร่งเยียวยาและให้ความช่วยเหลือกับประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ ทั้งการสร้างฐานข้อมูลระดับพื้นที่ของประชาชนอย่างเป็นระบบ เพื่อวิเคราะห์ความต้องการและจัดสรรบริการได้อย่างตรงจุด” เจณิตตา กล่าวเสริม


สถานการณ์ที่ 3 เด็กและเยาวชนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดทักษะและเครื่องมือ

ผลจากการวิกฤตโรคระบาด ทำให้ห้องเรียนในโลกจริงถูกโยกย้ายไปยังโลกออนไลน์ เด็กและเยาวชนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์ ไม่ว่าจะใช้ในการเรียน ทำงาน และสื่อสาร เร็วและนานมากขึ้น  โดยผู้ปกครองเริ่มให้เด็กอายุเพียง 2-3 ปีใช้สื่อดิจิทัล และเยาวชนอายุ 15-25 ปีใช้เวลาผ่านหน้าจอเฉลี่ยสูงถึง 12 ชั่วโมง

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลพบว่าเด็กและเยาวชนไทยกระโจนเข้าสู่สังคมดิจิทัลโดยขาด 2 ฐานสำคัญ ได้แก่ (1) ฐานทักษะ เยาวชนไทยอายุ 15-25 ปีขาดทักษะรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัล หรือที่เรียกว่า (MIDL) โดยให้คะแนนประเมินตนเองว่ามีทักษะการใช้งานคอมพิวเตอร์ เครื่องมือดิจิทัลเฉลี่ยทั้งประเทศ 3.23 (คะแนนเต็ม 5) และทักษะการประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูล 3.27 (คะแนนเต็ม 5) ทั้งนี้ คะแนนมีแนวโน้มลดต่ำลงตามระดับรายได้ครอบครัว และปัญหาน่ากังวลคือครู และผู้ปกครอง โดยเฉพาะในครอบครัวข้ามรุ่นมีทักษะจำกัดในการเข้าไปช่วยสนับสนุนเด็กและเยาวชน (2) ฐานอุปกรณ์ เด็กและเยาวชนอายุ 6-24 ปีมี 2.1% เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต และครัวเรือนถึง 42.8% ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงใช้ ส่วนใหญ่พึ่งพาอินเทอร์เน็ตในมือถือเฉลี่ย 453 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นรายจ่ายที่ค่อนข้างสูงคิดเป็น 13.8% ของรายได้ต่อหัวประชากร อีกทั้งครัวเรือนจำนวนมากเผชิญเรื่องจำนวนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟนที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนเยาวชนในบ้าน

“การถูกผลักเด็กและเยาวชนเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดทักษะและเครื่องมือที่เพียงพออาจส่งผลร้ายในระยะยาวต่อตัวเด็กและเยาวชน ตัดขาดพวกเขาออกจากปฏิสัมพันธ์ในโลกจริง เพิ่มความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมและผลิตซ้ำข้อมูลเท็จ รวมไปถึงส่งผลให้พวกเขาต้องเผชิญปัญหาเรื่องการพัฒนากล้ามเนื้อ สายตา สติปัญญา อารมณ์และบุคลิกภาพ” วรดร กล่าวถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนที่เป็นเหตุมาจาการถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยไม่พร้อม


สถานการณ์ที่ 4 เด็กและเยาวชนเครียดและมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น

การจดจ่อผ่านหน้าจอเป็นประจำและการอยู่ในโลกที่ผันผวนส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนอย่างยิ่งยวด ในปีที่ผ่านมาเด็กและเยาวชนมีความเครียด วิตกกังวล เสี่ยงซึมเศร้าและเสี่ยงฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น โดยสาเหตุความเครียดส่วนใหญ่มาจากประเด็นด้านการศึกษา การทำงานและสถานะทางการเงินของครอบครัว

ปัญหาสุขภาพจิตไม่เพียงแสดงอาการช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตเด็กและเยาวชน แต่ยังมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องตลอดชีวิตของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพทางกายที่ย่ำแย่อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า มีปัญหาในการพักผ่อนนอนหลับ ทั้งยังมีโอกาสที่จะเผชิญอุปสรรคในการเรียนรู้มากกว่าเด็กและเยาวชนที่ไม่เผชิญปัญหาทางสุขภาพจิต พวกเขามีประสิทธิภาพการเรียนรู้ลดลง เสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้น ท้ายที่สุดแล้วอาจบั่นทอนความฝันและเป้าหมายของพวกเขาในระยะยาวอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทั่วถึง ปัจจุบันเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิตรายงานว่ามีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นกระจายตัวใน 55 จังหวัด ครอบคลุม 3,444 โรงเรียนหรือคิดเป็น 10.9% ของโรงเรียนทั่วประเทศ และถึงแม้ว่ากรมสุขภาพจิตจะมีแพทย์เพิ่มการกระจายตัวเป็น 63 จังหวัดภายในปี 2025 แต่แผนการนี้อาจจะล่าช้าไม่ทันต่อความต้องการของเด็กและเยาวชนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา

“รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้เพียงพอต่อความต้องการเข้ารับบริการของเด็กและเยาวชนที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งเพิ่มกำลังจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น พยาบาลจิตเวช รวมถึงวิชาชีพอื่นๆ ที่สามารถทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและบำบัดเบื้องต้นได้ เช่น นักจิตวิทยา ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต และนักบำบัด เป็นต้น” เจณิตตา กล่าวถึงข้อเสนอเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน


สถานการณ์ที่ 5 เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ภาครัฐสกัดกั้นด้วยความรุนแรงมากขึ้น

เด็กและเยาวชนตื่นตัวและมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเด่นชัดในรอบหลายทศวรรษ จากผลสำรวจอายุ 15-25 ปี เยาวชน 68.8% สนใจติดตามข่าวสารการเมือง นอกจากนี้เยาวชน 3 ใน 4 ยังรายงานว่าตนให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพทางการเมืองทั้งหมาย ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพทางความคิด เสรีภาพในการรวมตัวและชุมนุม และสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง สอดคล้องกับสถิติชุมนุมประท้วงของเยาวชนในปี 2021- พ.ค. 2022 ที่เกิดขึ้นอย่างน้อย1,838 ครั้ง

เยาวชนจำนวนไม่น้อยรวมกลุ่มกันออกมาเคลื่อนไหว เช่น นักเรียนเลว ทะลุฟ้า ทะลุวัง ทะลุแก๊ส เยาวชนปลดแอก เพื่อร้องเรียนและเรียกร้องในประเด็นสิทธิเด็กและเยาวชน ปัญหาในระบบการศึกษาไปจนถึงผลประโยชน์ภาพกว้างของสังคม อย่างเรื่องประชาธิปไตย ปัญหาการพัฒนาประเทศ

ยิ่งเมื่อรัฐบาลใช้มาตรการในการกดปราบเสียงอนาคตของชาติอย่างละเมิดมนุษยชน โดยใช้กำลังสลายการชุมนุมอย่างน้อย 60 ครั้ง ส่งผลให้เยาวชนอายุ 15 ปีเสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บอย่างน้อย 88 คนในช่วง 2021- พ.ค. 2022 และดำเนินคดีเยาวชน 279 รายก็ทำให้ซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรง รอยร้าวระหว่างรุ่นแพร่ขยายและทำลายความกลัวเกลียวในสังคม กระตุ้นให้เกิดการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรง ตลอดจนส่งผลให้เยาวชน ทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าสิ้นหวังกับประเทศ และมีความฝันในการย้ายไปอยู่ต่างประเทศ

“การเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนปัญหาที่ซ่อนเร้นอย่างเด็กและเยาวชนขาดช่องทางการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เป็นทางการและมีความหมาย โดยมีเพียงคณะกรรมการส่งเสริมกิจการเด็กและเยาวชนแห่งชาติชุดเดียว ซึ่งมีเด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และในปี 2021 มีการประชุมเพียงครั้งเดียว ขณะที่กลไกสภาเด็กและเยาวชนที่ไม่สามารถเป็นผู้แทนที่สะท้อนเสียงของเยาวชนได้อย่างแท้จริง” วรดร กล่าวย้ำ


สถานการณ์ที่ 6 โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ ครอบครัวมีขนาดเล็กและเปราะบางยิ่งขึ้น

ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญความท้าทายทางด้านโครงสร้างประชากร ปรากฎการณ์ ‘เกิดน้อย อายุยืน’ ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดมากขึ้น ประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าผู้เสียชีวิตเป็นครั้งแรก และเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ (aged society) เร็วที่สุดในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก เมื่อสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด

ครอบครัวไทยตัดสินใจมีลูกน้อยลงจากหลายปัจจัย ทั้งเศรษฐกิจและค่านิยมที่เปลี่ยนไปนำไปสู่ขนาดครอบครัวไทยเล็กลงจากต่อเนื่องจากสมาชิกในครอบครัวราว 5-6 คนในช่วงปี 1990 เหลือเพียง 2.4 คนในปี 2020 นอกจากนี้ เดิมทีสังคมไทยมีเด็กกำพร้า เด็กถูกทอดทิ้ง และต้องอยู่คนเดียวตามลำพังอายุต่ำกว่า 18 ปีมากถึง 5,594 คน และมีเด็กที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของพ่อแม่อีก 4,978 คน แต่จากวิกฤตโรคระบาดได้พรากชีวิตของผู้ปกครองหลายครัวเรือน ทำให้เกิดเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้นอย่างเฉียบพลัน 448 คนซึ่งในจำนวนนี้ 157 คนอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

เมื่อโครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนไป เด็กย่อมได้รับผลกระทบหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเด็กกำพร้า ถูกทอดทิ้งขาดการดูแลทั้งร่างกายและพัฒนาการอย่างเหมาะสม  ได้รับผลกระทบด้านจิตใจจากการสูญเสีย ขณะที่เด็กไทยในครอบครัวข้ามรุ่นก็เผชิญความเปราะบางยิ่งกว่า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านพัฒนาการและการเรียนรู้ที่ไม่เท่ากับครัวเรือนแบบอื่น และมีความขัดแย้งทางความคิดกับผู้ปกครองในครัวเรือนมากกว่า

“สุดท้ายปัญหาสังคมสูงวัยและเด็กเกิดน้อยยังเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่ทิ้งภาระให้กับเด็กรุ่นใหม่ขับเคลื่อนประเทศท่ามกลางโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง แบกรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุและเด็ก ซึ่งเป็นประชากรวัยพึ่งพิงมากกว่าเดิม” เจณิตตา กล่าวสรุปสถานการณ์ในประเด็นนี้


สถานการณ์ที่ 7 ความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นรุนแรงขึ้น บั่นทอนความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และเทคโนโลยีที่รวดเร็วส่งผลให้คนต่างรุ่นมีคุณค่า ทัศนคติ และความคิดขัดแย้งกันมากขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งคนต่างรุ่นในครอบครัวเดียวกัน ความขัดแย้งดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัวจำนวนมาก และเป็นเหตุให้ครอบครัวไม่ใช่พื้นที่สบายใจที่สามารถสนับสนุนพัฒนาการและสุขภาวะของเด็กและเยาวชนได้เท่าที่ควร

ผลสำรวจเยาวชนอายุ 15-25 ปีพบว่า เยาวชนจำนวนมากมีความขัดแย้งทางความคิดกับผู้ใหญ่ในครอบครัวของตนเอง โดยการศึกษา/การทำงานเป็นประเด็นที่มีความขัดแย้งมากที่สุดคิดเป็น 30.8% โดยเฉลี่ย นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งรูปแบบความขัดแย้งทางความคิดเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) ประเด็นที่ความขัดแย้งทวีความรุนแรงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น เช่น การศึกษา/การทำงาน สังคม/การเมือง ศาสนา/ศีลธรรมจริยธรรม และ (2) ประเด็นที่มีความขัดแย้งมากที่สุดในช่วงราว 19-22 ปีหลังจากนั้นเมื่ออายุมากขึ้นจะมีความขัดแย้งน้อยลง เช่น ชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อน/คนรัก

เยาวชนที่ตอบแบบสำรวจทุกกลุ่มอายุ ทุกกลุ่มรายได้และระดับการศึกษา 23.2% เห็นด้วยว่าความขัดแย้งทางความคิดระหว่างรุ่นถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ยกเว้นเพียงกลุ่มเยาวชนที่มาจากครัวเรือนที่ยากจนที่สุดและเด็กและกลุ่มประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่จะรายงานว่าความยากจนเป็นรอยร้าวที่สำคัญของครอบครัว รองลงมาคือขัดแย้งทางความคิด

“ผลกระทบของความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นส่งผลให้ครอบครัวไม่ใช่พื้นที่สบายใจสำหรับเด็กและเยาวชน พวกเขาสนิทสนมและเชื่อใจผู้ปกครองในครอบครัวน้อยกว่าครัวเรือนที่ไม่มีความขัดแย้ง ไม่กล้าที่จะปรึกษา และมีแนวโน้มที่จะเผชิญความรุนแรงในครอบครัวมากกว่าครอบครัวที่มีความสัมพันธ์แนบแน่น” วรดร กล่าวทิ้งท้าย


3 เสาหลักนโยบายจากคิด for คิดส์: ตั้งหลักคิดใหม่นโยบายสำหรับเด็กและครอบครัวไทย


“ประเทศไทยควรจะเปลี่ยนจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จับต้องได้เป็นการลงทุนในคน เงินเหล่านี้สามารถเปลี่ยนได้ เราไม่จำเป็นต้องพัฒนาชาติด้วยถนน พัฒนาคนด้วยตึก” ฉัตร กล่าวพร้อมเพิ่มเติมว่าคิด for คิดส์ได้เสนอให้รัฐบาลตั้งหลักคิดใหม่ ปรับแนวคิดและวิธีดำเนินนโยบายครั้งใหญ่ เพื่อเป้าหมายในการเติมเต็มความฝันให้เด็กและเยาวชนได้เติบโตเป็นพลเมืองในโลกใหม่อย่างเต็มศักยภาพ ผ่าน 3 เสาหลักนโยบาย ได้แก่

1.จัดหาทรัพยากรให้เพียงพอและทั่วถึงสำหรับการดูแลพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว

นโยบายเด็กและครอบครัวต้องมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของครอบครัวไทยด้วยการขยายตาข่ายทางสังคม (social safety net) ครอบคลุมคนทุกวัย โอบอุ้มเด็กไทยทุกคนผ่านการผลักดันเงินอุดหนุนเด็กเล็กให้ถ้วนหน้า ปรับเพิ่มเงินอุดหนุนจาก 600 บาทต่อเดือนเป็น 1,200-1,500 บาทต่อเดือน ซึ่งจะช่วยครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กในครอบครัวรายได้ต่ำได้ราวครึ่งหนึ่ง อีกทั้งยังเสนอให้รัฐบาลส่งเสริมความมั่นคงทางการเงินสู่เด็กและเยาวชนอายุมากกว่า 6 ปี อาจเป็นในรูปแบบของเงินโอน หรือการส่งเสริมให้หารายได้เสริมหรือฝึกงาน เพื่อให้เยาวชนจากครอบครัวเศรษฐฐานะล่างได้มีทุนในการศึกษาเล่าเรียนและลดค่าเสียโอกาสในการหารายได้มาจุนเจือครอบครัว

นอกจากนี้การเพิ่มสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุให้ถ้วนหน้า ขยายสวัสดิการแรงงานและการว่างงาน เพื่อให้พวกเขาได้มีทรัพยากรในการดำรงชีวิตอย่างมั่นคง และเพิ่มทรัพยากรที่ไม่ใช่ตัวเงิน ไม่ว่าจะเป็นการขยายสิทธิลาคลอดของพ่อแม่ กลไกการช่วยเหลือด้านอาหารและโภชนาการเชิงรุกในช่วงวิกฤต ตลอดจนชุดความรู้สำหรับพ่อแม่เพื่อเลี้ยงลูกยุคใหม่ช่วยยังส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว

2.เพิ่มทางเลือกและคุณภาพของบริการสาธารณะให้เป็นทางเลือกคุณภาพที่เข้าถึงได้จริง

บริการสาธารณะของรัฐสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นบริการสาธารณสุข การศึกษาและสุขภาพจิตจะต้องเข้าถึงได้ง่าย ใกล้บ้าน มีคุณภาพเสมอหน้าและตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากการลงทุนในเด็กเล็กเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ที่ยิ่งลงทุนเร็ว ยิ่งได้รับตอบแทนสูง หากพัฒนาการของเด็กและเยาวชนไปในทิศทางที่ดีมีแนวโน้มจะมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น และสร้างสังคมเท่าเทียมได้ดียิ่งขึ้น

ข้อเสนอในการพัฒนาคุณภาพของบริการสาธารณะ มี 2 แนวทาง ได้แก่ (1) รัฐบาลกลางควรจะกระจายอำนาจการตัดสินใจและทรัพยากรสำหรับจัดบริการสาธารณะไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อให้รัฐบาลท้องถิ่นมีศักยภาพในการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน (2) รัฐบาลกลางควรเชื่อมโยงและพัฒนาฐานข้อมูลด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัวในเชิงลึกเพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ

3.ส่งเสริมสิทธิเด็กและการมีส่วนร่วมของเด็กตลอดกระบวนการนโยบาย

เด็กและเยาวชนควรจะเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศมากยิ่งขึ้น รัฐบาลต้องเคารพสิทธิเด็กในฐานะพลเมืองที่เท่าเทียม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม สำหรับการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางตรง รัฐบาลควรลดอายุขั้นต่ำในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ลงสมัครตำแหน่งการเมือง และเพิ่มความสะดวกในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น การเข้าชื่อเรียกร้องออนไลน์ การงบประมาณแบบมีส่วนร่วม การเสนอโครงการทางสังคม เพื่อขอรับงบประมาณไปดำเนินการเองโดยตรง ฯลฯ

อีกทั้งรัฐบาลควรปรับปรุงกลไกสภาเด็กและเยาวชนให้ทำงานได้อิสระ จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอและมีความแน่นอน เปลี่ยนที่มาของสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนให้มาจากการเลือกตั้ง เพื่อสะท้อนเสียงของเยาวชนที่แท้จริงและขับเคลื่อนสังคมที่เยาวชนต้องการเห็น

………………………………………………………………………..

เอกสารและฐานข้อมูล

ดาวน์โหลด ‘รายงานสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัว ประจำปี 2022’ ได้ ที่นี่

ดาวน์โหลด ‘ชุดข้อมูลจากผลสำรวจเยาวชนไทย (Youth Survey 2022)’ ได้ ที่นี่

ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการนำเสนอได้ ที่นี่

ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการเสวนาทั้งหมดและผลงานวิเคราะห์นโยบาย 4 เรื่องได้ ที่นี่

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save