สันติธาร เสถียรไทย เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ
วันก่อนผมได้มีโอกาสได้เข้าร่วมอภิปรายเรื่องอนาคตของการลงทุน นวัตกรรมและผลิตภาพในโลกหลังโควิด-19 ภายในกลุ่มประธานทีมเศรษฐกิจจากภาคเอกชนและองค์กรนานาชาติทั่วโลก คิดว่ามีหลายประเด็นที่สำคัญสำหรับประเทศไทย จึงขอหยิบข้อคิด 7 ข้อที่กลั่นออกมาได้มาเล่าให้ฟังครับ
นวัตกรรมคือหัวใจของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว
ก่อนอื่นต้องขอปูพื้นว่าทำไมนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกกลุ่มนี้ถึงมาถกกันเรื่องการลงทุนและนวัตกรรม
นวัตกรรม คือการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่ได้หมายถึงแค่เทคโนโลยีหรือสิ่งประดิษฐ์เท่านั้น แต่อาจหมายรวมถึงกระบวนทำงาน การผลิต ให้บริการ ขายของแบบใหม่
นักเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญต่อนวัตกรรมมาก เพราะนวัตกรรมขับเคลื่อนผลิตภาพ (productivity) ของแรงงาน แปลว่าเราสามารถทำอะไรมากขึ้นในปริมาณคนงานเท่าเดิม
ผลิตภาพของแรงงาน ถือว่าเป็นตัวขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว และยิ่งมีความสำคัญในเศรษฐกิจที่ไม่สามารถโตโดยการเพิ่มจำนวนแรงงานเข้าไปในภาคเศรษฐกิจได้เรื่อยๆ เช่น เศรษฐกิจพัฒนาแล้วที่พบปัญหาสังคมสูงอายุ รวมถึงเศรษฐกิจไทยด้วย
1. การลงทุนจะซึมยาว
ปกตินักเศรษฐศาสตร์มักจะไม่ค่อยจะเห็นอะไรตรงกันเท่าไร แต่ครั้งนี้กลับมองเห็นภาพคล้ายกันว่า การลงทุนภาคเอกชนน่าจะซึมยาว
เหตุไม่ใช่แค่เพียงเพราะว่างบการลงทุนลดลงจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเท่านั้น แต่เหตุผลสำคัญคือ ‘ความไม่แน่นอน’ ที่สูงขึ้นยิ่งกว่าแต่ก่อน
นักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรนานาชาติท่านหนึ่งบอกว่า จากการสำรวจ บริษัทส่วนใหญ่มองว่าโจทย์ในอนาคตจะยากขึ้นกว่าก่อนมาก เพราะความไม่แน่นอนไม่ได้มีเพียงแค่ว่าโควิดจะผ่านไปเมื่อไร แต่บริษัทเหล่านี้ยังไม่แน่ใจอีกด้วยว่าโลกหลังโควิดจะหน้าตาเป็นอย่างไร
นับว่าเป็นเรื่องบังเอิญ เพราะในสัปดาห์เดียวกัน ผมเพิ่งมีโอกาสได้ไปวิพากษ์งานศึกษาเรื่องเศรษฐกิจไทยท่ามกลางความไม่แน่นอน: ปรับกระบวนทัพ รับความท้าทายในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งน่าสนใจมาก
หนึ่งในหลายข้อคิดที่ได้จากงานชิ้นนี้คือ การลงทุนเอกชนในประเทศไทยมีความอ่อนไหวต่อสภาวะความไม่แน่นอนสูง รวมทั้ง ‘แผล’ ของการลงทุนที่เกิดจากความไม่แน่นอนนั้น ไม่เพียงแค่ ‘ลึก’ เท่านั้น แต่ยัง ‘เรื้อรัง’ อีกด้วย
หมายความว่า เมื่อไรที่ความไม่แน่นอนพุ่งขึ้นสูง การลงทุนจะตกต่ำต่อไปอีกหลายปี นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ประเทศไทยมีสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ลดลงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2555 และจนถึงตอนนี้ เรียกได้ว่าเกือบจะต่ำสุดในภูมิภาคเสียด้วยซ้ำ
ดังนั้น เมื่อโควิดเป็นความไม่แน่นอนระดับตัวแม่ การลงทุนในประเทศก็อาจตกต่ำไปอีกยาว
ประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์ในที่ประชุมเป็นห่วงคือ การลงทุนที่อ่อนแรงอย่างต่อเนื่องอาจมีผลต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ในอนาคต เพราะในอดีต นวัตกรรมมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีการลงทุนวิจัยพัฒนา หรือลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต-ให้บริการ
2. การลงทุนอาจมี ‘ประสิทธิภาพ’ มากขึ้น
แต่ก็มีนักเศรษฐศาสตร์ในกลุ่มเห็นแย้งขึ้นมาว่า แม้การลงทุนอาจลดลงก็จริง แต่อาจไม่ได้ทำให้การสร้างนวัตกรรมลดลงตามไปด้วย เพราะการลงทุนจะมี ‘ประสิทธิภาพ’ สูงขึ้น
เพราะภาพหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนจากหลายภูมิภาคเห็นตรงกันคือ การหันมาลงทุนในระบบไอทีและระบบดิจิทัลของบริษัทต่างๆ ในสัดส่วนที่สูงขึ้น (แม้การลงทุนโดยรวมอาจจะลดลงก็ตาม) โดยการลงทุนด้านดิจิทัลเช่นนี้ มักมากับการปรับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น
ยกตัวอย่างในภาคบริการที่เมื่อก่อนต้อง ‘ลงทุน’ สร้างออฟฟิศขนาดใหญ่ ซื้ออุปกรณ์อย่างคอมพิวเตอร์ โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ แต่หลังจากผ่านช่วงโควิดที่คนทำงานกันจากบ้านมากขึ้น อาจพบรูปแบบการทำงานแบบใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเก่าโดยไม่ต้องอาศัยการมาทำงานที่ออฟฟิศ
เมื่อคนทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น บริษัทหรือธนาคารต่างๆ อาจไม่จำเป็นต้องเปิดสาขาเพื่อให้บริการ แต่ต้องหาช่องทางใหม่ๆ ในการเข้าถึงและให้บริการลูกค้า นำไปสู่การเกิดนวัตกรรมการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ได้
เพราะฉะนั้น ในอนาคต การลงทุนที่ลดลงอาจไม่ได้แปลว่านวัตกรรมและผลิตภาพต้องลดลงด้วยกันเช่นกัน
3. การวัดการลงทุนยุ่งยากขึ้น
สิ่งที่ตามมาคือ การวัดการลงทุนในระดับประเทศอาจยุ่งยากขึ้นในอนาคต
เมื่อก่อน หากบริษัทซื้อคอมพิวเตอร์ให้ผมจะถูกนับเป็นการลงทุน แต่หากผมซื้อของตัวเองไว้ใช้ส่วนตัวจะนับว่าเป็นการบริโภค (consumer durable) แต่ในอนาคตที่พรมแดนระหว่างบ้านและออฟฟิศอาจเริ่มจางไป ผมอาจจะทำงานอยู่ที่บ้านโดยใช้คอมพิวเตอร์ของตัวเองมากขึ้น เส้นแบ่งที่เริ่มเลือนลางทำให้ไม่มีความชัดเจนอีกต่อไปว่าอะไรคือการลงทุน อะไรคือการบริโภค
นอกจากนี้ เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น การวัดการลงทุนก็ยากขึ้นเช่นกัน ตามที่อธิบายในข้อ 2 ว่า ในยุคดิจิทัล บริษัทต่างๆ สามารถขยายการบริการให้ลูกค้าโดยไม่ต้องเปิดสาขาใหม่ เพียงแค่ต้องให้ความรู้ อบรม สอนทั้งพนักงานและลูกค้าให้ใช้แอปพลิเคชันต่างๆ เป็น
คำถามคือ แล้วการอบรมในลักษณะนี้ควรจัดเป็น ‘การลงทุน’ หรือไม่ เพราะงบในการทำกิจกรรมเหล่านี้มักไม่ถูกนับรวมเป็นการลงทุน
4. ประดิษฐกรรม vs นวัตกรรม
ชะตากรรมของทั้งคู่อาจไม่เหมือนกันในโลกหลังโควิด
‘ประดิษฐกรรม’ (Invention) คือ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ เทคโนโลยีใหม่ที่ค้นพบเป็นครั้งแรก เช่น รถยนต์ วัคซีน อินเทอร์เน็ต บล็อกเชน ซึ่งมักเกิดจากการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างเข้มข้น
‘นวัตกรรม’ (Innovation) คือ การนำไอเดียความรู้มาใช้พัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการเดิมๆ เช่น การนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ รวมกันให้ใช่ง่ายสะดวกแบบไอโฟน หรือรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ๆ ที่ใช้อินเทอร์เน็ต
นวัตกรรมมักเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่มีทั้งสถานการณ์บังคับ ประกอบกับองค์ความรู้ที่ถูกแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ทำให้คน-องค์กรเอาไปปรับใช้กับปัญหาที่ตนเองเผชิญได้
นักเศรษฐศาสตร์ในห้องประชุมวันนั้นต่างมองว่า โควิดอาจทำให้เกิดประดิษฐกรรมใหม่ๆ ทางการแพทย์ได้ ซึ่งไม่ได้จำกัดเพียงแค่วัคซีนโควิดเท่านั้น แต่อาจเกิดวัคซีนหรือยาใหม่รักษาโรคอื่นๆ ที่คล้ายกันด้วย เนื่องจากทุกคนทุ่มเททรัพยากรลงไปที่จุดนี้อย่างเต็มที่ทั่วโลก
แต่นอกจากวงการแพทย์แล้ว อนาคตของประดิษฐกรรมอาจไม่สดใสนัก เพราะสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำอาจทำให้งบ R&D หลายแห่งถูกตัด แม้กระทั่งในภาครัฐเอง จุดโฟกัสก็จะหันไปอยู่ด้านการช่วยพยุงเศรษฐกิจและคนงานแทน
ในทางกลับกัน แนวโน้มด้านนวัตกรรมอาจมาแรงขึ้นหลังโควิด ส่วนหนึ่งเพราะสถานการณ์บังคับให้ปรับตัว แต่อีกส่วนเพราะว่าคนคุ้นเคยกับการเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้องค์ความรู้กระจายเร็วขึ้น นอกจากนี้ การทำธุรกิจในโลกดิจิทัลยังมีต้นทุนคงที่ (Fixed cost) ต่ำ ทำให้มีความยืดหยุ่นสามารถทดลองโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ได้ง่าย
จากการศึกษาคนรุ่นใหม่ของ Sea และ World Economic Forum (2020) ชี้ให้เห็นว่านักธุรกิจในอาเซียนที่ประสบความสำเร็จในช่วงนี้ มักมีการหาความรู้ใหม่จากช่องทางออนไลน์แล้วเอามาปรับปรุงธุรกิจตนเองจนค้นพบตลาดใหม่
นักเศรษฐศาสตร์บางท่านยังมองด้วยว่า การเรียนออนไลน์ที่แพร่หลายขึ้นหลังจากนี้ น่าจะมีผลบวกต่อนวัตกรรมและผลิตภาพของแรงงานในอีก 10 ปีข้างหน้า
5. นวัตกรรมอาจแพร่หลายเร็วขึ้น แต่ก็มีคนตามไม่ทัน
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่พร้อม มีทรัพยากรพอที่จะปรับตัว เรียนรู้และใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมได้
สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ทุกคนห่วงเหมือนกันก็คือ ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นเมื่อคนกลุ่มเปราะบางเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีในยุคโควิด แต่ทั้งนี้ทุกคนก็ย้ำว่า ทางออกคงไม่ใช่การปฏิเสธเทคโนโลยีหรือการเปลี่ยนแปลง (เช่น บอกว่าการเรียนออนไลน์ไม่ดี) แต่คือการหาทางเติมเต็มช่องว่างที่ทำให้คนบางกลุ่มที่เสียเปรียบ
ในกรณีประเทศไทย การศึกษาของ Sea และ World Economic Forum (2020) พบว่ามีอย่างน้อยสองช่องว่างใหญ่ที่ทำให้คนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากดิจิทัลได้เต็มที่ในช่วงโควิด
หนึ่ง การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่สัญญาณดีพอ โดยเฉพาะนอกกรุงเทพฯ ที่แม้จะดูเหมือนมีอินเทอร์เน็ตใช้ แต่สัญญาณไม่ดีพอที่จะใช้ต่อเนื่องเพื่อการทำงานและศึกษา
สอง ทักษะดิจิทัลพื้นฐาน (Basic Digital Literacy) ที่ไม่ใช่ถึงขั้นต้องทำ programming เป็น แต่ก็ไม่ใช่เพียงแค่ใช้โซเชียลมีเดียเป็น ต้องสามารถนำทักษะดิจิทัลมาประกอบอาชีพได้ ซึ่งแม้แต่คนรุ่นดิจิทัลเองก็ใช่ว่าจะเชี่ยวชาญเรื่องนี้
6. การแข่งขันกระตุ้นนวัตกรรม
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ในที่ประชุมยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการแข่งขันเพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม
เศรษฐกิจที่มีการแข่งขัน มีผู้ท้าชิงโค่นผู้เล่นใหญ่ได้ตลอดเวลา (contestable) จะทำให้ผู้เล่นปัจจุบันต้องตื่นตัว รีบพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ดังที่เราเห็นกระแสดิจิทัลดิสรัปชันกระตุกให้บริษัทใหญ่ๆ เริ่มปรับตัวตั้งแต่ก่อนโควิด
ในขณะเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้ผู้ท้าชิงรุ่นใหม่ที่มีนวัตกรรมกระโดดขึ้นมาเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดได้ ทำให้มีคนและธุรกิจที่มีความสามารถหน้าใหม่ๆ กระโดดเข้ามาแข่งขันอยู่ตลอด เพราะพวกเขารู้ว่าแม้จะตัวเล็ก แต่ก็อยู่ได้
ในมุมนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หลังโควิดอาจมีธุรกิจจำนวนมากต้องปิดตัวไป โดยเฉพาะ SMEs หรือแม้แต่สตาร์ตอัป รวมทั้งภาครัฐอาจจะเข้ามีบทบาทในเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งอาจลดการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ลง
7. บทบาทรัฐ เดินหน้าในวันที่คนอื่นถอย เติมเต็มในสิ่งที่ขาด
ส่งท้ายด้วยการคุยกันเรื่องบทบาทของภาครัฐ
ทุกคนเห็นตรงกันว่า รัฐจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมนวัตกรรมในอนาคต แต่อาจไม่ได้แตกต่างจากสิ่งควรทำอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนโควิดเพียงแค่ต้องตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างเร่งด่วนมากขึ้น
โดยส่วนตัว ผมถอดบทเรียนสามข้อสำหรับหลักที่ภาครัฐควรจะยึดเพื่อการพัฒนานวัตกรรมในยุคหลังโควิด
หนึ่ง รัฐอาจต้องเดินหน้าในวันที่คนอื่นถอย เช่น มีบทบาทมากขึ้นในส่วนการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา และพัฒนาคนที่อาจแผ่วลงในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำและมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น
สอง รัฐต้องคอยเติมเต็มส่วนที่ขาดหายเพื่อให้ทุกคน โดยเฉพาะให้ธุรกิจขนาดเล็กและกลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึงนวัตกรรมที่อาจแพร่กระจายเร็วขึ้นในยุคดิจิทัล โดยเริ่มจากการเพิ่มการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การสร้างทักษะดิจิทัลพื้นฐานให้ผู้คน
ข้อสุดท้ายที่มักจะถูกมองข้ามคือ รัฐต้องสร้างกฎ กติกาและสภาพแวดล้อมในภาคเอกชนให้มีการแข่งขัน ให้ผู้ท้าชิงมีที่ยืน และให้ผู้เล่นปัจจุบันถูกกระตุ้นให้ค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ
แม้เราจะอยู่ในสภาวะที่ต้องเน้นการ ‘อยู่รอด’ แต่ต้องไม่ลืมหาแนวทางที่จะทำให้เรา ‘อยู่ยืน’ ได้ในโลกใหม่ที่เปลี่ยนไปถาวร
มีนักเศรษฐศาสตร์ท่านนึงพูดว่า อย่าคิดถึงแค่ ‘Economic Recovery’ ในการฟื้นเศรษฐกิจคืนกลับมาเหมือนเดิม แต่ให้ถามว่าทำอย่างไรเราถึงจะมี ‘Smart and Green Recovery’ หรือการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการขับเคลื่อนนวัตกรรมและความยั่งยืนให้ดียิ่งกว่าเดิม